fbpx
เปิดเทอมใหม่ สร้างโรงเรียนปลอดภัยให้ ‘ครู’

เปิดเทอมใหม่ สร้างโรงเรียนปลอดภัยให้ ‘ครู’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

กำหนดการเปิดเทอมใหม่ใกล้เข้ามาทุกที ในขณะที่ร่องรอยของโควิด-19 ยังไม่จางหายจากสังคมอย่างหมดจด ทำให้เราเห็นเค้าลางว่า การเปิดเรียนครานี้คงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เหมือนเดิม

หนึ่งในนั้น คือ โจทย์เรื่องการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ภายในโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างสภาพแวดล้อมปลอดโรคระบาดเพื่อให้ ‘เด็ก’ กลับมาเรียนได้อีกครั้ง แต่ยังหมายถึงการสร้างบรรยากาศและสังคมภายในสถานศึกษาที่เหมาะกับ ‘ครู’ ผู้เป็นแกนหลักสำคัญของระบบ

เพราะการปิดโรงเรียนที่ผ่านมา อาจเป็นเหตุให้ครูต้องเผชิญภาวะกดดันจากการปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนกะทันหัน แบกรับความคาดหวังจากนักเรียนและผู้ปกครอง อีกทั้งต้องดูแลตนเองและครอบครัวให้ห่างจากโรคเช่นเดียวกับคนอื่นๆ การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปจนถึงความมั่นคงในหน้าที่การงานของครู จึงเป็นพื้นฐานแรกเริ่มสุดที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับการขับเคลื่อนระบบการศึกษาในยุคหลังวิกฤตโควิด-19

แต่ทำอย่างไร ครูถึงสามารถกลับมาสอนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ? ในรายงานเรื่อง “Supporting teachers in back-to-school efforts: guidance for policy-makers” ของ UNESCO ซึ่งจัดทำร่วมกับ International Task Force on Teachers for Education 2030 และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ได้เสนอแนวทางดูแลครูเมื่อกลับสู่โรงเรียนแก่ผู้กำหนดนโยบาย 7 ด้าน ประกอบด้วย…

 

[box]

:: HAPPY SCHOOL MODEL KIT : 7 ตัวต่อชิ้นใหม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ครู ::

ร่วมคิดโดย ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร, ศศิกานต์ นารถดิลก

ภาพประกอบโดย ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า

เปิดเทอมใหม่ครั้งนี้ มาประกอบโรงเรียนปลอดภัย ด้วย ‘HAPPY SCHOOL MODEL KIT’ สำหรับ ครู กันเถอะ!

กำหนดการเปิดเทอมใหม่ใกล้เข้ามา พร้อมกับโจทย์การสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ภายในโรงเรียน ที่ไม่ใช่แค่การสร้างสภาพแวดล้อมปลอดโรคระบาด เพื่อให้ ‘เด็ก’ กลับมาเรียนได้อีกครั้ง

แต่ยังหมายถึงการสร้างบรรยากาศและสังคมภายในสถานศึกษาที่เหมาะกับ ‘ครู’ ผู้เป็นแกนหลักสำคัญของระบบอีกด้วย

ทำอย่างไรครูถึงสามารถกลับมาสอนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ? 101 ชวนอ่านมาตรการดูแลครู ทั้งเรื่องสุขภาพกายใจ ช่วยเหลือแผนการสอน และความมั่นคงในหน้าที่การงานหลังวิกฤต COVID-19

 

[/box]

 

ด้านที่ 1 การมีส่วนร่วมและการสื่อสาร

 

ก้าวแรกของการสร้างนโยบาย ทั้งในระดับประเทศ จังหวัด หรือกระทั่งภายในโรงเรียนแต่ละแห่ง  คือ การฟังเสียงคนทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง บุคลากรในสถานศึกษา ตัวแทนของชุมชน องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กยากจน ผู้หญิง เพื่อสะท้อนปัญหาให้รอบด้าน

จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบมาตรการดูแลความปลอดภัยและอนามัยภายในโรงเรียน วางแผนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เพื่อเติมเต็มช่องว่างการเรียนรู้ที่ขาดหายไปในช่วงปิดสถานศึกษา และไม่ลืมที่จะสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลอย่างชัดเจนถ้วนหน้าหลังกำหนดกรอบนโยบายผ่านการใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น โซเชียลมีเดีย ทีวี วิทยุ ฯลฯ

 

ด้านที่ 2 ความปลอดภัยและอนามัย

 

สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนที่ปลอดภัยและปลอดโรคจะทำให้ครูเกิดความวางใจ และสามารถสอนนักเรียนได้เต็มที่ สำหรับแนวทางการดูแลความปลอดภัยนั้น ทางโรงเรียนสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นในรายงานเรื่อง “Considerations for school-related public health measures in the context of COVID-19” ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ใจความว่า ควรให้ความรู้เรื่องโควิด-19 ทั้งวิธีสังเกตอาการ และการป้องกันแก่ทุกฝ่ายในโรงเรียน ทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียน สถานที่ต่างๆ เป็นประจำ จัดเครื่องป้องกันที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สบู่ ให้เพียงพอต่อบุคลากรของสถานศึกษา และรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างเคร่งครัด หรือ เลือกประยุกต์จากมาตรการระดับประเทศมาปรับใช้มาให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนตนเองก็ได้

ทั้งนี้ หากมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงติดโรคภายในโรงเรียนแก่ครู ปรับเปลี่ยนโครงสร้างห้องเรียนใหม่ เช่น ลดจำนวนนักเรียน สร้างระยะห่างภายในชั้นเรียน รวมไปถึงการสร้างระบบรายงานผู้ป่วยที่น่าสงสัย หรือตรวจโควิด-19 ให้ฟรี จะยิ่งทำให้ครูปลอดภัยและมั่นใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น

 

ด้านที่ 3 สุขภาพจิต และชีวิตความเป็นอยู่ในโรงเรียน

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ครูรู้สึกหม่นหมองและเคร่งเครียด ด้วยความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนวิธีสอน และความไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการสอนใหม่ๆ จนสุดท้าย คุณครูอาจเหน็ดเหนื่อย ลางาน หรือแย่ที่สุด คือลาออกจากอาชีพครู

เพื่อป้องกันกรณีเหล่านั้น ทางโรงเรียนจึงควรให้ความสำคัญกับอารมณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของครูเป็นอันดับต้นๆ โดยมอบเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ ตามปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ครูว่ามีความมั่นคงด้านอาชีพการงาน และอาจลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสารบางประเภท เพื่อช่วยแบ่งเบาความเครียด

นอกจากนี้ สถานศึกษาควรจัดฝึกอบรมบุคลากรให้คอยสังเกตสภาพจิตใจของกันและกัน พร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่เพื่อนร่วมงานเมื่อเห็นความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฝ้าสังเกตกลุ่มครูที่มีความเสี่ยง เช่น ครูผู้หญิง ครูสูงอายุ หรือครูที่มีโรคประจำตัว และที่สำคัญ ต้องต่อต้านการกดขี่รังแก กีดกัน หรือตีตราทางสังคม ซึ่งเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคระบาดภายในโรงเรียนอย่างเด็ดขาด

 

ด้านที่ 4 การจัดเตรียมแผนการเรียนการสอน

 

การปิดโรงเรียนอาจทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่หลากหลายประเภท แต่ไม่ว่าจะเรียนด้วยวิธีใด หัวใจสำคัญในการให้ความรู้แก่นักเรียนก็ยังอยู่ที่ตัวครู ดังนั้น เมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึง ผู้กำหนดนโยบายควรให้อิสระแก่ครูในการวางแผน และทำหน้าที่ช่วยเหลือ สนับสนุนด้านทรัพยากร องค์ความรู้

เริ่มจากเปิดโอกาสให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลักสูตรและการบ้าน ให้สอดคล้องกับปฏิทินกิจกรรมของโรงเรียน เพราะครูเป็นผู้ที่เข้าใจดีที่สุด ว่าควรปรับหรือเพิ่มเติมบทเรียนส่วนใดเพื่อให้เติมเต็มช่องว่างการเรียนรู้ที่ขาดหายไปของเด็ก

ครูบางคนอาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างของห้องเรียน เพื่อให้เกิดการสอนแบบตัวต่อตัวมากขึ้น จัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบพบปะต่อหน้า ผสมผสานกับการศึกษาทางไกล เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง หรือกระทั่งตัวครูที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความสะดวกด้านการเดินทาง เวลา และความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดนอกบ้าน หน้าที่ของโรงเรียน คือ การสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ และช่วยสร้างแนวทางเรื่องการดูแลนักเรียนในห้องกับนักเรียนที่เรียนทางไกลแก่ครูเหล่านี้

ข้อเสนอเพิ่มเติม คือ ควรเลื่อนการประเมิน หรือปรับเปลี่ยนแผนประเมินศักยภาพครูให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ประเมินว่าครูสามารถช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาหรือไม่ ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ดูแลสภาพอารมณ์และจิตใจนักเรียนอย่างไร

ในระยะยาว สิ่งที่จะช่วยเหลือครูได้มากขึ้น คือ การจัดฝึกอบรมครูเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต เตรียมแผนสำรองสำหรับการสอนในกรณีที่โรคระบาดกลับมาเยือนอีกครั้ง ด้วยการมอบความรู้ – โดยเฉพาะความรู้ด้านไอที ทักษะด้านดิจิทัล (digital literacy) และทักษะการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (child-centred teaching skills) รวมถึงการสร้างชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างครู แบ่งปันเคล็ดลับ วิธีการสอนใหม่ๆ ให้แก่กัน ทั้งในระดับโรงเรียน จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศและระดับโลก

 

ด้านที่ 5 ส่งเสริมการทำงาน สิทธิ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับครูในโรงเรียน

 

โจทย์เรื่องการสร้างโรงเรียนปลอดภัยเมื่อเปิดเทอมใหม่ ทั้งในแง่การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจของผู้เรียนและบุคลากร สร้างพื้นที่เว้นระยะห่างทางสังคม จัดหาทรัพยากรด้านการศึกษาเพิ่มเติม ฯลฯ อาจทำให้บางโรงเรียนประสบปัญหาเรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย จนนำมาสู่การลดทอนสิทธิ หรือละเลยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำงานของครู

ผู้มีอำนาจในสถานศึกษาจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าวและให้ความสำคัญต่อการดูแลครูตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการจัดเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ โควต้าวันลาหยุด ลาป่วย แก่ครูอย่างครบถ้วน ปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารและการสอนที่ยืดหยุ่น เช่น แบ่งกลุ่มนักเรียนเพื่อสลับกันเข้าเรียน สร้างทางเลือกการสอนแบบอื่นๆ รวมถึงช่วยเหลือครูไม่ให้รับภาระหนักเกินไป หากครูเริ่มทำงานหนักจนรับไม่ไหว ทางโรงเรียนอาจพิจารณาจ้างครูชั่วคราวมาทำหน้าที่ช่วยสอนเพิ่มเติม โดยคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถ และคุณสมบัติเหมาะสม ไม่ย่อหย่อนกับเกณฑ์การคัดเลือกเพียงเพื่อรีบเร่งหาคน

นอกจากนี้ บางโรงเรียนสามารถเลือกช่วยเหลือครูด้านภาระครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มครูผู้หญิงซึ่งมักเหน็ดเหนื่อยกับการดูแลครอบครัวมากกว่าคนอื่นๆ ในช่วงโควิด-19  เช่น กำหนดให้เวลาเข้าทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นต้น

 

ด้านที่ 6 การเงินและการลงทุนด้านการศึกษา

 

หากมองในภาพรวมของระบบการศึกษา จะพบว่าต้นทุนส่วนใหญ่ในระบบเกี่ยวข้องกับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ของครู ยิ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ จะยิ่งมีต้นทุนส่วนนี้สูง แต่เมื่อแทบทุกประเทศต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 จึงเป็นไปได้ว่างบประมาณสนับสนุนการศึกษาอาจลดน้อยลง จนส่งผลถึงคุณภาพชีวิตครูไปโดยปริยาย

ในที่นี้ ข้อแนะนำสำหรับผู้กำหนดนโยบาย คือ ควรพิจารณาผลกระทบด้านระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโรคระบาด เรียงลำดับความสำคัญของปัญหาและจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม ควรเลือกลงทุนกับครูและบุคลากรด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพจิต การศึกษาทางไกล โครงสร้างพื้นฐานภายในโรงเรียน ปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเรียนการสอน ไปจนถึงลงทุนด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค อย่างหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ถุงมือ แก่ครูและผู้เรียน

สำหรับบางภาคส่วนที่ขาดแคลนเงินทุน อาจเลือกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารใหม่ หรือขอรับบริจาคเพิ่มเติม และถ้าต้องมีการตัดงบประมาณหรือลดต้นทุน ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพการทำงานของครูในปัจจุบันว่ามากน้อยเพียงใด ไม่ควรลดคุณภาพด้านการศึกษาด้วยการเพิ่มชั่วโมงการสอนจนครูเหน็ดเหนื่อย หรือจ้างครูที่ขาดความสามารถมาสอนเพื่อจ่ายเงินเดือนน้อยลง

 

ด้านที่ 7 การติดตามและประเมินผล

 

การติดตามและประเมินผลเพื่อปรับปรุงข้อบกพร่องเป็นเรื่องสำคัญ ภาครัฐควรกระจายอำนาจให้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่พัฒนาเกณฑ์การประเมินที่สอดคล้องกับบริบทและความคืบหน้าของตนเอง ทั้งนี้ หลักการใหญ่ที่ทุกโรงเรียนควรยึดถือไว้ คือ การดูแลพลานามัยของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง คอยตรวจสอบว่ามีครูหรือนักเรียนหยุดเรียนเพราะป่วยหรือไม่ มีใครต้องการการดูแลด้านสุขภาพจิตหรือไม่ พัฒนาและสร้างระบบติดตามสถานการณ์ความเครียด ชีวิตความเป็นอยู่ในที่ทำงานของครู

สุดท้ายคือคอยรับฟัง รวบรวมข้อมูลความต้องการจากกลุ่มคนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กผู้หญิง ผู้พิการ ชนส่วนน้อย หรือกลุ่มที่เคยประสบปัญหาในสถานศึกษามาก่อนหน้าอย่างครอบคลุมและใกล้ชิด

 

หากมองไปในอนาคต แนวคิด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับครูอาจไม่ใช่เพียงเพื่อสนับสนุนครูกลับสู่โรงเรียนหลังวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของระบบการศึกษา ที่เริ่มต้นจากสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความมั่นคงปลอดภัยของคนทำงาน จนนำไปสู่การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ และพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ ในสังคมก็เป็นได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save