fbpx
โวหารของแกะ

โวหารของแกะ

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ภาพเล่าเรื่องการสังเวยอิสมาอีล
ภาพเล่าเรื่องการสังเวยอิสมาอีล ในหนังสือ Anthology of Sultan Iskandar, ศิลปะสมัยราชวงศ์ Timurid, ค.ศ. 1410-11, ชิราซ, เปอร์เซีย (อิหร่าน), ปัจจุบันอยู่ที่ Calouste Gulbenkian Museum ในเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส | ที่มาภาพ https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d9/jpg

ดังนั้น เราจึงแจ้งข่าวดีแก่เขา (ว่าจะได้) ลูกคนหนึ่งที่มีความอดทนขันติ (คือ อิสมาอีล)

ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? “เขากล่าวว่า “โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่าฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน”

ครั้นเมื่อทั้งสอง (พ่อและลูก) ได้ยอมมอบตน (แด่อัลลอฮฺ) อิบรอฮีมได้ให้อิสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น

และเราได้เรียกเขาว่า “โอ้ อิบรอฮีม” เอ๋ย!

“แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามฝันแล้ว” แท้จริง เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย

แท้จริง นั่นคือการทดสอบที่ชัดแจ้งแน่นอน

และเราได้ให้ค่าไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง

และเราได้ปล่อยทิ้งไว้ (เกียรติคุณ) แก่เขาในกลุ่มชนรุ่นหลังๆ

ศานติจงมีแต่อิบรอฮีม

เช่นนั้นแหละ เราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย

แท้จริง เขา (อิบรอฮีม) เป็นคนหนึ่งในปวงบ่าวของเราผู้ศรัทธา

คัมภีร์อัลกุรอาน (สูเราะฮฺ อัศ-ศอฟฟาต 182: 101-111)

ภาพสลักเล่าเรื่องการสังเวยอิสอัค บนโลงหินอ่อนของ Junius Annius Bassus, ค.ศ. 359
ภาพสลักเล่าเรื่องการสังเวยอิสอัค บนโลงหินอ่อนของ Junius Annius Bassus, ค.ศ. 359, ปัจจุบันอยู่ที่ Museo del Tesoro di San Pietro ในนครวาติกัน | ที่มาภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Isaac_sarcifice_Pio_Christiano_Inv31648.jpg

ต่อมาไม่นาน พระเจ้าทรงลองใจอับราฮัม พระองค์ตรัสเรียกเขาว่า “อับราฮัมเอ๋ย” อับราฮัมทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่นี่” พระเจ้าตรัสว่า “จงพาอิสอัคบุตรของท่าน บุตรคนเดียวที่ท่านรักไปยังดินแดนโมริยาห์ แล้วถวายเขาเป็นเครื่องเผาบูชาบนภูเขาที่เราจะบอกให้ท่านรู้”

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น อับราฮัมใส่อานบนหลังลา พาผู้รับใช้สองคนและอิสอัคบุตรชายไปด้วย เขาผ่าฟืนสำหรับใช้เผาบูชา แล้วออกเดินทางไปยังสถานที่ที่พระเจ้าทรงบอกให้รู้ ในวันที่สาม อับราฮัมเงยหน้าแลเห็นที่นั้นแต่ไกล อับราฮัมจึงพูดกับผู้รับใช้ว่า “จงอยู่ที่นี่เฝ้าลาไว้ด้วย ส่วนเรากับลูกจะไปนมัสการพระเจ้าที่โน่นแล้วจะกลับมา”

อับราฮัมให้อิสอัคแบกฟืนสำหรับใช้เผาบูชา ส่วนตนถือไฟและมีด แล้วทั้งสองเดินทางไปด้วยกัน อิสอัคพูดกับอับราฮัม บิดาของตนว่า “พ่อครับ” อับราฮัมถามว่า “อะไรหรือลูก” อิสอัคพูดต่อไปว่า “ดูซิ ที่นี่มีไฟและฟืน แต่ลูกแกะที่จะใช้เผาบูชาอยู่ที่ไหน” อับราฮัมตอบว่า “ลูกเอ๋ย พระเจ้าจะทรงจัดหาลูกแกะสำหรับเผาบูชาให้เอง” แล้วทั้งสองก็เดินทางต่อไป

เมื่อทั้งสองคนมาถึงสถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงบอกให้รู้แล้ว อับราฮัมก่อแท่นบูชาขึ้น จัดเรียงฟืนไว้บนนั้น แล้วมัดอิสอัคนำมาวางไว้บนกองฟืนบนแท่นบูชา อับราฮัมยื่นมือออกไป เงื้อมีดจะฆ่า บุตร แต่ทูตขององค์พระผู้เป็นเจ้าร้องเรียกจากสวรรค์ว่า “อับราฮัมเอ๋ย อับราฮัม” อับราฮัมตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่นี่” ทูตสวรรค์กล่าวว่า “อย่าลงมือฆ่าเด็กหรือทำร้ายเขาเลย บัดนี้ เรารู้แล้วว่า ท่านยำเกรงพระเจ้า และมิได้หวงบุตรคนเดียวของท่านไว้ ไม่ถวายแก่เรา” อับราฮัมเงยหน้าขึ้น แลเห็นแกะตัวผู้ตัวหนึ่ง เขาของมันติดอยู่ในพุ่มไม้ อับราฮัมจึงไปจับมันมาฆ่าเผาถวายบูชาแทนบุตรชาย อับราฮัมเรียกสถานที่นั้นว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมไว้” แม้กระทั่งทุกวันนี้คนทั้งหลายก็ยังพูดกันว่า “บนภูเขาองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมไว้”

ทูตขององค์พระผู้เป็นเจ้าจากสวรรค์เรียกอับราฮัมเป็นครั้งที่สองว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส” เพราะท่านได้ทำดังนี้ คือมิได้หวงบุตรชายคนเดียวของท่านไว้ เราสาบานต่อเราเองว่าเราอวยพรให้ท่านอย่างมาก จะให้ลูกหลานของท่านทวีจำนวนมากเท่ากับดวงดาวบนท้องฟ้า และเม็ดทรายตามชายทะเล ลูกหลานของท่านจะได้เมืองของศัตรูเป็นกรรมสิทธิ์ ชนทุกชาติบนแผ่นดินจะได้รับพระพรเพราะลูกหลานของท่าน ทั้งนี้ เพราะท่านเชื่อฟังคำสั่งของเรา”

อับราฮัมจึงกลับไปหาผู้รับใช้ แล้วพากันเดินทางกลับไปเบเออร์เชบา อับราฮัมอาศัยอยู่ที่เบเออร์เชบานั้น

พระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม (ปฐมกาล 22: 1-19)

เรื่องราวของนบีอิบรอฮีมกับบุตรชายอิสมาอีล หรืออับราฮัมกับอิสอัคในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ปรากฏเป็นภาพเล่าเรื่องในงานศิลปะเนื่องในศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์มาช้านาน หัวข้อที่เรียกกันในโลกภาษาอังกฤษว่า The Binding of Isaac, The Sacrifice of Isaac หรือ The Sacrifice of Abraham มีความสำคัญในฐานะ sacrifice theme ที่แสดงถึงศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อพระเจ้า นั่นคือบิดาเต็มใจที่จะสละชีวิตของบุตรชายเพื่อถวายเป็นพลี ส่วนบุตรชายเองก็ยินดีสละชีวิตของตนเช่นกัน (ในกรณีของคริสต์ศิลป์ เรื่องดังกล่าวยังถูกเทียบเคียงเข้ากับการสละพระชนม์ชีพของพระเยซูอีกด้วย) ศิลปกรรมนานารูปแบบเลือกเล่าฉากไคลแมกซ์ของเรื่องนี้ด้วยการแสดงภาพนบีอิบรอฮีมถือมีดอยู่ในมือ อิสมาอีลในท่ายินยอม เทวทูตมีปีกกำลังเข้ามาห้ามปราม และแกะตัวหนึ่ง ลักษณะทางประติมานวิทยาดังกล่าวมีความแน่นอน เคร่งครัด คงเส้นคงวา เพื่อให้ภาพเล่าเรื่องได้ (สำหรับผู้ที่รู้จักเรื่อง – ซึ่งโดยหลักก็คือผู้มีจิตศรัทธา) เพียงแค่ชั่วขณะที่ตาเห็น

ภาพเล่าเรื่องการสังเวยอิสมาอีลในนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562)
ภาพเล่าเรื่องการสังเวยอิสมาอีลในนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562) โดยสมัคร์ กอเซ็ม | ที่มาภาพ Preecha Pattara

นิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” โดยสมัคร์ กอเซ็ม แสดงภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน หากแต่มีการสลับตำแหน่งของอิสมาอีลกับแกะ ในห้องเล็กๆ ที่มืดสลัวของ Gallery VER Project Room ภาพจิตรกรรมขนาดกลางวางตั้งเอียงบนพื้นกึ่งกลางห้อง เห็นด้านหน้าเข้าหาผู้ชมที่เดินอ้อมผนังกั้นจากประตูเข้ามายังพื้นที่จัดแสดง ภาพแสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตที่ถูกล็อคคอ คมมีดจ่อจนมองเห็นเลือดสีแดงไหลเปรอะคอสีขาวคือแกะ ส่วนอิสมาอีลกลับยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามภายใต้การคุ้มครองของเทวทูต นี่คือเรื่องเล่าเดิมแต่ขยับจุดเวลาเป็นช่วงหลังจากที่นบีอิบรอฮีมผ่านบททดสอบความศรัทธาจากอัลลอฮฺ แล้วเทวทูตจึงปรากฏขึ้นพร้อมกับแกะเพื่อใช้เป็นสัตว์สังเวยแทนตัวอิสมาอีล?

จิตรกรรมชิ้นนี้ของสมัคร์มีต้นแบบมาจากภาพประกอบหนังสือ Anthology of Sultan Iskandar น่าสนใจว่า ในขณะที่เรื่องนี้เป็นที่นิยมในคริสต์ศิลป์มานานตั้งแต่ยุค Early Christian (ปลายศตวรรษที่ 2 ถึงต้นศตวรรษที่ 6) เรื่องเดียวกันเพิ่งจะปรากฏในศิลปะอิสลามในสมัยราชวงศ์ Timurid แห่งศตวรรษที่ 15 หนังสือ Anthology of Sultan Iskandar ที่กำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1410-11 ที่ชิราซในเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดตัวอย่างหนึ่งที่แสดงภาพการพลีตนของอิสมาอีลในศิลปะอิสลาม

ในภาพต้นฉบับ เรามองเห็นนบีอิบรอฮีมวัยชราในเสื้อคลุมสีฟ้า มือขวาถือมีดจ่อที่ลำคอของอิสมาอีล มือซ้ายจับศีรษะที่มีผ้าปิดตาไว้อีกชั้นหนึ่ง อิสมาอีลคุกเข่าลงกับพื้น แขนทั้งสองยื่นไปข้างหน้า ฝั่งตรงข้ามของทั้งสองเป็นเทวทูตปีกหลากสีในเสื้อคลุมยาว เทวทูตยื่นมือไปด้านหน้าเช่นกัน ราวกับจะส่งแกะตัวผู้สีขาวที่มีเขาดำยาวไปแลกเปลี่ยน ฉากหลังมีเทวทูตสี่องค์มองลงมาจากภูเขา ภาพของสมัคร์ถอดองค์ประกอบเดียวกันออกมา หากแต่ว่ามีการสลับตำแหน่งของอิสมาอีลกับแกะ เพิ่มความสยดสยองของเหตุการณ์ด้วยเลือดบนลำคอแกะ และตัดเทวทูตสี่ด้านบนกับพื้นหญ้าและดอกไม้บางส่วนด้านล่างออกไป ราวกับโคลสอัพเข้าไปใกล้และเจาะกึ่งกลางภาพเดิมออกมาเป็นภาพใหม่ ขยับเวลาเคลื่อนไปข้างหน้า เปลี่ยนจากตอนเทวทูตเร่งรุดเข้ามาห้ามการสังเวยอิสมาอีลเป็นการเชือดแกะ สัตว์สังเวยที่แท้แทนที่มนุษย์ที่ผ่านการพิสูจน์ศรัทธาเรียบร้อยแล้ว

ภาพนิ่งจากวิดีโอ Sheep (2560)
ภาพนิ่งจากวิดีโอ Sheep (2560) โดยสมัคร์ กอเซ็ม ในนิทรรศการ The Enmeshed ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ | ที่มาภาพ สมัคร์ กอเซ็ม
ขนแกะในกรอบทอง โดยสมัคร์ กอเซ็ม
ขนแกะในกรอบทอง โดยสมัคร์ กอเซ็ม ในนิทรรศการ The Enmeshed ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ | ที่มาภาพ ธนาวิ โชติประดิษฐ

“แกะ” คืออะไรในงานศิลปะของสมัคร์? นิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” ไม่ใช่ครั้งแรกที่แกะโผล่มาให้เห็น เมื่อปี 2560 สมัคร์แสดงผลงานวิดีโอสารคดีว่าด้วยแกะเร่ร่อนในตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และขนแกะในกรอบสีทองอีกสองชิ้นในนิทรรศการกลุ่ม The Enmeshed ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ แกะเร่ร่อนขนสกปรกเป็นสังกะตัง ไม่ขาวสะอาดเหมือนแกะในภาพเขียน

สมัคร์ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาและศิลปินผู้นับถือศาสนาอิสลาม อธิบายว่าในรูสะมิแล แกะอยู่ในลำดับชั้นต่ำสุดของสัตว์ที่ใช้เชือดกุรบาน (กุรบานคือการเชือดสัตว์พลีทานเพื่ออัลลอฮฺ ในโอกาสแห่งวันเฉลิมฉลองวันเทศกาลอีดิลอัฎฮา) รองจากวัวและแพะ เนื่องจากแกะเป็นสัตว์ที่เปราะบางที่สุดต่อการเสียความบริสุทธิ์จนไม่มีคุณสมบัติของสัตว์พลีทาน (สมบูรณ์ สวยงาม ไม่พิกลพิการ ไม่มีตำหนิเป็นที่น่ารังเกียจ) แกะตัวใดถูกดุด่าสาปแช่ง ถูกหมาชำเรา แกะตัวนั้นจะไม่ควรค่าแก่การเชือดเป็นพลี และจะเปลี่ยนจากแกะบ้านไปเป็นแกะเร่ร่อน เที่ยวคุ้ยหาขยะกิน เป็นสัตว์สกปรกและไม่พึงปรารถนา

สมัคร์ใช้แกะเร่ร่อนเป็นอุปลักษณ์ของสถานะของสามจังหวัดภาคใต้ในสังคมไทย – สิ่งแปลกปลอมในสังคมพุทธ – ปัญหาความรุนแรงที่ยืดเยื้อในสามจังหวัดที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งกับรัฐไทยอันมีฐานมาจากความแตกต่างทางศาสนา เป็นประเด็นที่ศิลปินร่วมสมัยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ แต่แทนที่จะพูดถึงความรุนแรงผ่านสัญลักษณ์อย่างกระสุน ปืน หรือภาพความรุนแรงลักษณะอื่น สมัคร์เลือก “อมนุษย์” สี่ชนิด อันได้แก่ แกะ ด่าน คลื่น และญิน เป็นตัวเล่าเรื่อง ไม่ว่าปลายทางจะถูกเชือดหรือไม่ แกะในฐานะอุปลักษณ์ของมุสลิมสามจังหวัดคือสัตว์ที่ต้องพลีตน ทั้งพลีเพื่ออัลลอฮฺ และพลีให้กับอคติทางศาสนาที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการปกครองของรัฐ การทดสอบเพื่อพิสูจน์ศรัทธาที่ไม่รู้วันสิ้นสุด

วิดีโอสารคดีวิถีชีวิตของผู้คนในปัตตานี ในนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562)
วิดีโอสารคดีวิถีชีวิตของผู้คนในปัตตานี ในนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562) | ที่มาภาพ Preecha Pattara

ใน Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” แกะยังคงสัมพันธ์กับสามจังหวัดผ่านการเชื่อมโยงกับวิดีโอสารคดีแสดงวิถีชีวิตของคนในปัตตานีที่ตั้งอยู่มุมห้องด้านหน้า ในขณะที่นัยยะทางศาสนาของแกะชัดเจนขึ้นเมื่อผลงานอ้างอิงไปยังภาพจากศิลปะอิสลามในอดีต เราก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าสมัคร์เป็นศิลปินที่ทำงานแนวเชิดชูศาสนา ถึงแม้ว่าเขาจะทำงานศิลปะว่าด้วยความเชื่อและศรัทธาในศาสนาอิสลามก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ผลงานชิ้นนี้ของสมัคร์ได้สำแดงความ “เควียร์” (queer) อันซับซ้อนหลายระดับ

ประการแรก คือเพศสถานะของศิลปินเอง สมัคร์เป็น “ปอแน” (Pondan – กะเทย/เกย์) มาตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนปอเนาะ เขาเป็น “เควียร์มุสลิม” คือมีเพศวิถีที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทั้งในระดับสังคมไทยและในทัศนะของอิสลาม เป็น “คนนอก” ประเภทหนึ่ง ความเป็นคนนอกนี้ยังมีความหมายเชิงพื้นที่อีกด้วย เพราะเขาเป็นคนนอกสามจังหวัด เป็นเควียร์มุสลิมจาก “ที่อื่น” ที่เข้ามาศึกษาและทำงานเกี่ยวกับสามจังหวัด

ประการต่อมา ภาวะความเควียร์ ความผิดไปจากขนบนี้ สะท้อนออกมาในมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาและทำงานศิลปะว่าด้วยความรุนแรงในสามจังหวัดของเขา ผ่านการใช้แกะเป็นอุปลักษณ์ ซ้ำเข้าไปอีกด้วยการเขียนภาพที่แหวกขนบทางประติมานวิทยา ไม่ว่าจะในศิลปะอิสลามหรือในคริสต์ศิลป์ ในงานศิลปกรรมนับร้อยนับพันรูป ฉากการสังเวยอิสมาอีลหรืออิสอัคล้วนแสดงจังหวะแห่งการเตรียมเชือดสังเวย ฉากอันดราม่าเร้าอารมณ์ว่าศรัทธาต่อพระเจ้าอยู่เหนือความรักของบิดาต่อบุตร เพื่อที่ผู้ชมจะได้เห็นเทวทูตที่รุดเข้าห้าม พร้อมกับสัตว์พลีที่แท้จริงคือแกะที่เทวทูตนำมาให้ ผลงานของสมัคร์ขยับไปอีกชั่วขณะหนึ่งหลังจากนั้น ขยับจากห้วงแห่งความอัศจรรย์ที่ปรากฏต่อหน้าผู้ศรัทธาเป็นห้วงแห่งการเชือดพลี การฆ่าแกะที่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเต็มใจสละชีพตนเฉกเช่นอิสมาอีล (หรืออิสอัค) หรือไม่

ภายในห้องนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562)
ภายในห้องนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562) | ที่มาภาพ Preecha Pattara
อีกด้านของผ้าใบ นิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562)
อีกด้านของผ้าใบ นิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562) | ที่มาภาพ ธนาวิ โชติประดิษฐ
อีกมุมภายในห้องนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562)
อีกมุมภายในห้องนิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” (2562) | ที่มาภาพ Preecha Pattara

การแหวกขนบทางประติมานวิทยาของสมัคร์ ชวนให้ก่อกวนใจเช่นเดียวกับความเป็นเควียร์มุสลิมของเขาเอง แกะถูกยกเป็นตัวเอก ตั้งเด่นเป็นประธานของวัตถุหลากหลายชิ้นภายในห้อง ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม้แกะในภาพจะมีข้อบ่งชี้ว่าตายแน่ แต่แกะที่ด้านหลัง ของภาพดังกล่าวเป็นแกะที่ยังไม่ตาย (ขนของแกะที่ถูกเชือดกุรบานจะถูกฝังกลบพร้อมกระดูกและส่วนอื่นที่กินไม่ได้) เมื่อผู้ชมเดินอ้อมมาข้างหลังภาพ จะพบว่าด้านหลังของผ้าใบไม่ได้เป็นเพียงด้านหลังของผ้าใบที่เป็นตัวรองรับภาพด้านหน้าเหมือนงานจิตรกรรมทั่วไป ด้านหลังของผ้าใบของสมัคร์มีสถานะเป็นงานจิตรกรรมอีกชิ้นหนึ่งโดยตัวมันเอง เป็นงานนามธรรมขนแกะเรืองแสง ขนแกะผืนนี้ไม่ได้มาจากซากแกะ แต่ตัดมาจากแกะเลี้ยงที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีชีวิตใหม่ผ่านการกลายเป็นงานศิลปะ เรื่อเรืองด้วยแสงไฟ อะไรคือด้านหน้า-ด้านหลังของงานชิ้นนี้กันแน่ในเมื่อการจัดวางเปิดโอกาสให้ผู้ชมมองได้จากรอบด้าน? แกะตายหรือไม่ตาย? หรือทั้งตายและไม่ตาย?

'Other Sheep (not of this fold)' โดยสมัคร์ กอเซ็ม และศรภัทร ภัทราคร ในนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒
‘Other Sheep (not of this fold)’ โดยสมัคร์ กอเซ็ม และศรภัทร ภัทราคร ในนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์ (Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร | ที่มาภาพ สมัคร์ กอเซ็ม

“เควียร์” ไม่ได้หมายถึงแค่เพศวิถีที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐาน แต่ยังหมายถึงความแปลกประหลาด ความผิดไปจากปกติ ความพิสดารแหกคอก อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ขึ้นกับ “พื้นที่” เช่นกัน การนำเสนอ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” ที่หอศิลป์ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อาจไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเควียร์มากนัก เพราะความเควียร์ของภาพแกะในนิทรรศการนี้ขึ้นกับฐานความรู้ในวัฒนธรรมและศิลปะอิสลามอย่างยิ่งยวด

แต่จะด้วยจังหวะความบังเอิญอันใดก็ตาม สมัคร์ก็มีผลงานศิลปะอันประกอบด้วยฝูงแกะที่แสดงความเควียร์ในอีกความหมายหนึ่ง เป็นความหมายที่ผูกโยงกับเพศสภาพ จัดแสดงอยู่ในอีกที่หนึ่ง ผลงานชื่อ Other Sheep (not of this fold) ซึ่งเป็นการร่วมงานกันระหว่างสมัคร์ กับศรภัทร ภัทราคร เป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์ (Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดร่วมกับ SUNPRIDE Foundation มูลนิธิที่ส่งเสริมความเท่าเทียมของชาว LGBTQ จากฮ่องกง

ท้ายที่สุด แกะอาจไม่ใช่แค่อุปลักษณ์ของสามจังหวัดอันเป็นจุดตั้งต้นของการทำงานศิลปะเมื่อสองปีก่อน แต่หมายถึงตัวสมัคร์เอง แกะคือร่างจำแลงของเควียร์ที่ปรากฏตัวเพื่อความหลากหลายของความหมาย เพื่อท้าทาย เพื่อก่อกวน เพื่อขับเน้นบางอย่าง และเพื่อผลักดันขอบเขตของนานาเขตแดน


นิทรรศการ Sacrifice Chapter 1 “พลีตน” โดยสมัคร์ กอเซ็ม คิวเรทโดย อารีแอน คุปเฟอร์แมน สุทธวงษ์ จัดแสดงที่ Gallery VER Project Room ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน-22 ธันวาคม 2562 และจะตามด้วย Chapter 2 “สละตน” ที่ Cartel Artspace โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

นิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์ (Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดร่วมกับ SUNPRIDE Foundation จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7-8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562-1 มีนาคม 2563

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save