fbpx
ในวันที่รวันดาพัฒนาแล้ว!

ในวันที่รวันดาพัฒนาแล้ว!

เมื่อกล่าวถึงรวันดา เราอาจคิดถึงภาพการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความทารุณโหดร้าย ฆ่าข่มขืน ปล้นชิง สงครามชนเผ่าระหว่างฮูตูและทุตซี่ ทหารเด็ก และสภาพบ้านป่าเมืองเถื่อนไร้ขื่อแปกฎหมาย เหมือนที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Hotel Rwanda

 

แต่ตอนนี้ ในปี 2017 รวันดาเริ่มแตะระดับของประเทศชนชั้นกลาง และกำลังจะก้าวพ้นความยากจนกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในเขตแอฟริกากลางแล้ว เป็นประเทศที่สงบสุข มีความปลอดภัยสูง และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ประชุมสัมมนา และทำธุรกิจแห่งใหม่ในแอฟริกา โดยมีวิสัยทัศน์คือการก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางในปี 2020

ภายใน 20 ปี อะไรที่ทำให้รวันดาพ้นจากภาวะรัฐล้มเหลว และก้าวมาเป็นประเทศที่มีการจัดการสมัยใหม่ได้?

 

จากสถิติปัจจุบัน พบว่ารวันดา

 

  • เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจง่ายที่สุดอันดับ 2 ของแอฟริกา และอันดับ 42 ของโลก (สะดวกกว่าไทยที่ 46)
  • อินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดในแอฟริกา ดาวน์โหลดเฉลี่ย 7Mbps
  • อัตราอาชญากรรมต่ำมาก ดัชนีอาชญากรรมอยู่ที่ 16.18 ซึ่งต่ำกว่าไทย!! (อัตราดัชนีอาชญากรรมไทยอยู่ที่ 51.2)
  • คนอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นจาก 56% เป็น 71%
  • อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 42 ปี เป็น 56 ปี
  • GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น $2,014
  • อัตราการเข้าถึงน้ำสะอาดอยู่ในระดับ 100% ของประชากรทั้งหมด จากเดิมมีไม่ถึง 13%
  • นักท่องเที่ยวปีละ 9 แสนคนสร้างรายได้ 303 ล้านเหรียญ
  • สนามบินคิกาลีมีเที่ยวบินนานาชาติมากกว่า 500 ไฟลท์/สัปดาห์
  • ไร่ชาและไร่กาแฟส่งออกและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
  • ระบบจัดการสหกรณ์ท่องเที่ยวท้องถิ่นดีที่สุดในแอฟริกา ไม่มีคนมาวิ่งไล่ขายของและขอทาน

 

หากจะศึกษาแล้ว รวันดามีปัจจัยหลายประการที่แตกต่างจากรัฐแอฟริกาอื่นที่ตกในวังวนการยึดอำนาจและคอรัปชัน โดยเฉพาะการที่รวันดาไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุมีค่าให้แย่งชิงมากนัก แต่ก็ไม่ใช่เหตุทั้งหมดเพราะก่อนหน้านี้ รวันดาก็รบราฆ่าฟันกันแย่งอำนาจมาตลอด

แต่ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ ประธานาธิบดี พอล คากาเม่ (Paul Kagame) ซึ่งมุมหนึ่งก็เป็นประธานาธิบดีผู้ทรงคุณ ผู้ดับไฟสงครามกลางเมืองและสถาปนารัฐสมัยใหม่ พัฒนาชาติให้ก้าวหน้าแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นเผด็จการที่กดขี่สิทธิทางการเมืองของคู่แข่งอย่างรุนแรงและปิดกั้นสื่ออย่างมาก

ว่ากันว่า โมเดลที่คากาเม่นับถือและเอาเป็นต้นแบบ คือสิงคโปร์ และเคยขอคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยในช่วงหลังสงครามกลางเมืองเพื่อฟื้นฟูชาติ

พอล คากาเม่ เกิดเมื่อปี 1957 ในครอบครัวชนเผาทุตซี่ ที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์รวันดาและกษัตริย์มูตาราที่ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเบลเยี่ยมที่เป็นเจ้าอาณานิคมขณะนั้น ชาวทุตซี่ที่มีน้อยกว่า แต่อยู่ในระดับสูงกว่า ปกครองชาวฮูตูด้วยระบบชนชั้นที่ขูดรีดอย่างรุนแรง บ่มเพาะความไม่พอใจในชาวฮูตูที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศยาวนาน

เมื่อรวันดาประกาศเอกราช ชนเผ่าฮูตูก่อกบฎและรัฐประหารยึดอำนาจ เริ่มกดขี่และกวาดล้างชนชั้นนำเผ่าทุตซี่ระลอกแรก ครอบครัวของพอล ได้อพยพลี้ภัยมาที่ประเทศอูกันดา ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการของอีดี้ อามิน

พอลเข้าเรียนมัธยม และได้พบกับเพื่อนสนิท เฟรด รวิกเยม่า ผู้ที่จะเป็นเพื่อนตายสหายศึกเข้าปฏิวัติอูกันดาและยกทัพกลับไปกอบกู้รวันดาด้วยกันในโรงเรียน รวมถึงรุ่นพี่อย่างโยเวรี มูเซเวนี่ ที่จะเป็นประธานาธิบดีของอูกันดาในอนาคต

หลังจากพ้นมัธยม สภาพการข่มเหงและเผด็จการของอีดี้ อามิน ก็เลวร้ายลงทุกที อีดี้ อามิน ถูกมิลตัน โอโบเต้ โค่นล้มแต่การข่มเหงก็ไม่แตกต่างกัน มูเซเวนี่ตัดสินใจจับอาวุธและระดมพลเข้าต่อสู้ล้มล้างอีดี้ อามิน กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า อูกันดา บุช วอร์ ยาวนาน 5 ปี และเฟร็ด รวิกเยมา ก็กลับมาชักชวนเอาเพื่อนรักอย่างพอล คากาเม่ที่เฉลียวฉลาดเข้าร่วมในกองทัพของตนเอง

พอล คากาเม่ และเฟร็ด รวิกเยม่า ได้รับความเชื่อถือจากมูเซเวนี่ในทัพกบฎอย่างรวดเร็ว ด้วยฝีมือการรบที่เด็ดขาด และกลยุทธที่เฉียบคม ในที่สุด มูเซเวนี่ก็ได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง และขึ้นเป็นประธานาธิบดีของอูกันดาอย่างเด็ดขาด

ทั้งเฟร็ดและพอลเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลของมูเซเวนี่ แต่ด้วยความเป็นชาวรวันดา ทั้งสองคนถูกเซาะเลื่อยขาเก้าอี้ และถูกลดตำแหน่ง

ในที่สุด พวกเขาก็ได้เวลาทำตามปณิธาน โดยการตั้งกองกำลัง Rwandan Patriotic Front (RPF) เพื่อกลับไปยึดประเทศบ้านเกิดของตัวเอง โดยระดมพลจากชาวรวันดาอพยพ โดยเฉพาะชาวทุตซี่ที่ถูกกวาดล้างไล่ล่ามาโดยตลอด

ในการเปิดศึกกับรัฐบาลรวันดาใต้การนำของประธานาธิบดีฮับยาริมานา พอล คากาเม่ ใช้กลวิธีกองโจร และสร้างฐานที่มั่นในป่าดงดิบทึบชายแดนรวันดา โดยได้รับอาวุธสนับสนุนผ่านทางอูกันดาที่เป็นพันธมิตรกันมายาวนานและเชื่อใจกันมาก่อน แต่ในการเปิดศึกนี้ เฟร็ด รวิกเยม่า เพื่อนรักสนิทตั้งแต่วัยเรียน ก็ถูกสังหารไป และพอล คากาเม่ ก็ขึ้นเป็นผู้นำของ RPF เต็มตัว

สงครามกลางเมืองรวันดาหยุดลงชั่วคราวในปี 1993 จากการเจรจาต่อรองร่วมกับสหประชาชาติในสนธิสัญญาอารูชา (Arusha Accord) แต่สิ่งที่เกิดหลังจากนั้นคือมหันตหายนะของชาวรวันดา

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมา 3 ปีเต็ม และมีผู้นำเป็นชาวทุตซี่ ทำให้ชาวฮูตูเกิดความคลั่งแค้นและบ้ารวมหมู่ ผสมโรงกับสื่อวิทยุ Radio Télévision Libre des Mille Collines (RTLMC) ที่พร่ำคำโฆษณาชวนเชื่อให้ทำลายล้างชนเผ่าทุตซี่ ในที่สุด กลุ่มทหารหัวรุนแรงก็ปฏิบัติการลอบสังหารประธานาธิบดีฮับยาริมานาด้วยการยิงจรวดต่อต้านอากาศยานเข้าใส่เครื่องบินโดยสาร จากนั้น ก็เข้าสังหารคณะรัฐมนตรีและรัฐประหารยึดอำนาจ ตามด้วยเปิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 100 วัน ที่ทำให้มีคนตายอย่างทารุณมากถึง 800,000 คน

พอล คากาเม่ ส่งสารเตือนถึงคณะทหารที่ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และแจ้งต่อสหประชาชาติว่า การหยุดยิงชั่วคราวตามสนธิสัญญาอารูชาจะหมดลงหากกองทัพรวันดายังปลุกระดมให้เผ่าฮูตูออกสังหารชาวทุตซี่อยู่ และในที่สุด พอล คากาเม่ ก็เริ่มปฏิบัติการตีโอบล้อมจากทุกทาง จนกระทั่งล้อมกรุงคิกาลี และยึดอำนาจสำเร็จภายใน 3 เดือน ปิดฉากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งรวันดาลงในวันที่ 4 กรกฎาคม 1994 และสถาปนารัฐบาลใหม่ที่มีทั้งชาวฮูตูและทุตซี่ขึ้นปกครองร่วมกัน โดยมีปาสเตอร์ บิซิมุงกู เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวฮูตูตามสัดส่วนประชากร

ยุทธการศึกของคากาเม่ ที่ได้รับการฝึกมาจากวิทยาลัยทหารฟอร์ท ลีเวนเวิร์ธ ของอเมริกา ได้รับสมญาว่าเป็นเจ้าแห่งการรบเชิงจิตวิทยา ทหารของ RPF น้อยกว่ากองทัพรวันดาถึงครึ่งเท่าตัว แต่ด้วยการปิดล้อมและกำลังใจที่เหนือกว่า และการช่วยเหลือผู้ที่หนีตายจากการถูกไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นชาวทุตซี่ ชาวฮูตูฝ่ายกลาง หรือแม้แต่ชนเผ่าพื้นเมืองอื่นเข้ากับคากาเม่และ RPF กองทัพของ RPF ถูกห้ามไม่ให้ฆ่าพลเรือน ให้ความช่วยเหลือสตรีและเด็ก แต่ไม่ปรานีกับศัตรู โดยเฉพาะผู้ที่เห็นว่ากำลังทำการทารุณอยู่

คากาเม่เข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดี และรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลชั่วคราว แก้ไขปัญหาความมั่นคงด้วยกลยุทธทั้งในและนอกรูปแบบ แม้กระทั่งการยุยงและช่วยเหลือกองกำลังกบฎในซาอีร์ (คองโก DRC) เข้าโค่นล้มรัฐบาลที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อรวันดา จนกระทั่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นสงครามห้าฝ่าย ระหว่างรวันดาและอูกันดา กับคองโก DRC ที่ได้รับความช่วยเหลือจากอังโกล่าและซิมบับเว นอกจากนั้น ยังดำเนินนโยบายการต่างประเทศจนได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติจำนวนมาก

หลังสิ้นสุดสงครามกับคองโก พอล คากาเม่ เริ่มขัดแย้งกับบิซิมุงกู เพราะเห็นว่าประธานาธิบดีบิซิมุงกูและคณะรัฐมนตรี บริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพและคอรัปชันสูง คากาเม่ใช้หลายวิธีบีบให้บิซิมุงกูลาออก และศาลสูงรวันดากำหนดให้คากาเม่รักษาการประธานาธิบดี ซึ่งงานที่เขาทำเป็นอันดับแรกคือร่างรัฐธรรมนูญถาวรขึ้นใหม่

รัฐธรรมนูญปี 2003 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยชาวรวันดา โดยอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศและแบบสอบถามประชาชน ปฏิเสธความช่วยเหลือจากนักวิชาการต่างชาติเว้นด้านการเงิน รัฐธรรมนูญนี้มีจุดเด่นสำคัญคือ “ห้ามการจับกลุ่มการเมืองอันมีที่มาจากเชื้อชาติ เพศ ศาสนา ชนเผ่า สายตระกูล หรือการแบ่งแยกใดที่อาจก่อให้เกิดการเหยียดชั้นแบ่งชน” ซึ่งรัฐธรรมนูญข้อนี้ถูกวิจารณ์ว่า ปิดกั้นสิทธิทางการเมือง และทำให้รวันดากลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียว

หลังจากรัฐธรรมนูญ 2003 พอล คากาเม่ เข้ารับสมัครเลือกตั้งและได้รับตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงกว่า 95% ซึ่งผู้สังเกตการณ์จากยุโรปตั้งคำถามถึงตัวเลขนี้ แต่โดยทั่วไปก็ชมเชยและถือว่าเป็นการก้าวไปในทางที่ดี และในปี 2010 คากาเม่ลงสมัครเลือกตั้งในวาระที่สอง และชนะด้วยคะแนน 93% ท่ามกลางการครหาว่า ไม่มีคู่แข่งที่ทัดเทียม และมีความพยายามทำลายคู่แข่งทางการเมืองทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยภาพฉาวภาพเปลือย การฟ้องร้องโดยใช้กฎหมายต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือแม้แต่ข่าวลือการลอบสังหารในต่างแดน

อย่างไรก็ตาม ในสองวาระของคากาเม่ที่มีอำนาจเด็ดขาดปกครองรวันดา ประเทศรวันดาได้เปลี่ยนจากประเทศแอฟริกาทั่วไปที่วุ่นวายยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ อาชญากรรมชุกชุม ป่าถูกโค่นทำลายและสัตว์ป่าโดนล่า กลายเป็นประเทศที่สงบปลอดภัยเหมาะกับนักท่องเที่ยว โดยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือการเข้าไปชมลิงกอริลล่าอย่างใกล้ชิดในป่าดงดิบโดยใช้อดีตพรานล่าสัตว์ผิดกฎหมายเปลี่ยนมาทำงานสุจริต คิดค่าใบอนุญาตชมกอริลล่าแพงถึงคนละ $750 และจำกัดจำนวนคนเข้าชมต่อวัน ด้วยมาตรการดังกล่าว ทำให้ป่าฟื้นตัวพร้อมกับสัตว์ป่าที่ชุกชุม รัฐบาลมีงบประมาณใช้จ่ายพัฒนาสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิตของประชาชนรวันดาดีขึ้นเกินมาตรฐานเฉลี่ยของแอฟริกา

และแม้จะเป็นเผด็จการในทางการเมือง แต่ทางเศรษฐกิจ คากาเม่ได้ปฏิรูปขั้นตอนกระบวนการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น ลดระเบียบยุ่งยากจากทางภาครัฐ ทั้งการประกอบกิจการส่วนตัวและการลงทุนจากต่างชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดรับทุนจีนเข้ามาต่อรองในการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา เขื่อนและถนน ร่วมกับการปฏิรูปโรงเรียนและส่งเสริมการศึกษาให้คนอ่านออกเขียนได้ แต่ฝังเรื่องการห้ามดูหมิ่นแบ่งเผ่ากันอย่างเข้มข้นในโรงเรียน

สิ่งที่พอล คากาเม่ แตกต่างออกไปจากผู้นำเผด็จการคนอื่นของแอฟริกา คือวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีและไอที รวันดาเปิดเสรีโทรคมนาคมและลงทุนสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่ใหญ่ที่สุดในแอริกากลางและตะวันออกความยาวถึง 2,300 กิโลเมตรทั่วประเทศ ทำให้รวันดามีความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในแอฟริกา รวมถึงมีระบบสี่จีใช้งานก่อนเพื่อน ตัวประธานาธิบดีเองมีทั้งไอดีเฟซบุ๊ก Flickr อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ระบบการเงินและธนาคารในรวันดาสามารถเข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ตมือถือ ต่างจากประเทศใกล้เคียงอย่างอูกันดา เคนย่า หรือเอธิโอเปีย ที่ยังปิดกั้นอินเทอร์เน็ตและโครงข่ายคุณภาพย่ำแย่ (ผมไปเอธิโอเปีย เน็ตมือถือแพงมากและไม่ค่อยขายให้นักท่องเที่ยว บล็อกเว็บ และเน็ตโรงแรมก็ช้าสุดๆ) เป้าหมายของคากาเม่คือทำให้รวันดาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของแอฟริกาในอนาคต

พอล คากาเม่ กลายเป็นผู้นำที่ชาวแอฟริกาจำนวนมากใฝ่ฝันถึง และการที่เขาพารวันดาเข้าร่วมเครือจักรภพ และสหภาพแอฟริกา รวมถึงกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก ทำให้หลายคนคาดหวังถึงการรวมตัวกันเป็นสหรัฐแอฟริกา (United States of Africa) ที่มีคากาเม่เป็นประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม พอล คากาเม่ ก็ไม่ใช่ผู้นำที่ประเสริฐสมบูรณ์แบบ แม้ระดับการคอรัปชันในประเทศรวันดาจะไม่สูงเท่าประเทศแอฟริกาอื่น (อันดับที่ 50/176 คะแนน 54 เทียบกับไทยที่อันดับ 101/176 คะแนน 35) แต่การปิดกั้นสื่อมวลชนถือว่าร้ายแรงด้วยการใช้กฎหมายต่อต้านการเหยียดผิวและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปิดปาก รวมถึงเครือข่ายตระกูลของคากาเม่ ก็ร่ำรวยขึ้นจากการพัฒนาประเทศตามนโยบาย ประมาณการว่า พอล คากาเม่ มีทรัพย์สินราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจคริสตัล คอร์ป ซึ่งญาติพี่น้องบริหารงาน

ในทัศนะด้านสังคม พอล คากาเม่มีแนวคิดค่อนข้างเสรี รวันดาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของแอฟริกาที่สนับสนุนสิทธิ์ LGBT ตามปฏิญญาสหประชาชาติ และรัฐสภาของรวันดาก็เป็นหนึ่งในสภาที่มีสตรีดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากที่สุดในโลก สิทธิสตรีรวันดามีสูงมากและผู้หญิงก็ปลอดภัยที่สุดในแอฟริกา ติดอันดับความเท่าเทียมระดับโลก

 

แต่พอล คากาเม่ ปัจจุบันเพิ่งอายุ 59 ปี และเพิ่งแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จาก 7 เหลือ 5 ปี ซึ่งทำให้เขาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกสองสมัย เป็นเวลาถึงสิบปี ผู้นำที่ดีนั้นไม่ได้ดูแค่ปัจจุบันและวิธีได้อำนาจมา แต่ต้องดูกันว่าจะลงจากอำนาจไปได้อย่างไร หากพอล คากาเม่ ประธานาธิบดีรวันดาชาวคาทอลิกที่ศรัทธาเคร่งครัดผู้นี้ รู้จักพอเพียงในอำนาจ ประเทศรวันดาคงจะก้าวหน้าไกลตามเป้าหมายในอนาคต แต่ถ้าเขาตกหล่มวังวนหวงอำนาจแบบเดียวกับผู้นำเผด็จการรายอื่นในประวัติศาสตร์ อนาคตของรวันดาก็คงไม่ต่างจากที่เคยเป็นมาและจะเป็นไป

 

เอกสารอ้างอิง

-ประวัติของพอล คากาเม่ จาก เว็บไซต์ Biography

-Profile: Rwanda’s President Paul Kagame ของ Farouk Chothia จาก เว็บไซต์ BBC

-ประวัติของพอล คากาเม่ จาก Encyclopædia Britannica

-บทความเรื่อง Is Kagame Africa’s Lincoln or a tyrant exploiting Rwanda’s tragic history? โดย Chris McGreal จาก The Guardian, May 19, 2013

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save