fbpx
จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สู่มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ลลิตา หาญวงษ์

หฤหรรษ์รวันดา: จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สู่มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ (1)

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

เมื่อกล่าวถึงรวันดา หลายคนคงให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์การเมืองและความโหดร้ายในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Rwanda Genocide) มากกว่าแง่มุมอื่นๆ โดยรวันดาเป็นประเทศขนาดเล็กในแอฟริกาตะวันออก[1] ขนาบด้วยประเทศขนาดใหญ่ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทางทิศตะวันตก แทนซาเนียทางทิศตะวันออก ยูกันดาทางทิศเหนือ และบุรุนดีทางทิศใต้ เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกา รวันดาไม่มีทางออกสู่ทะเล และพึ่งพาการส่งออกทรัพยากรประเภทสินแร่ โดยเฉพาะดีบุก โคลัมไบต์-แทนทาไลต์ (ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์) และทังสเตน เป็นหลัก แม้จะมีขนาดเล็ก แต่รวันดามีประชากรมากถึง 12 ล้านคน มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สู่มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ , Rwanda Genocide
ที่มา: https://www.shadowsofafrica.com

ในบรรดาประเทศในทวีปแอฟริกาทั้งหมด 54 ประเทศ ผู้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกน่าจะรู้จักรวันดามากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเคยได้ยินเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Rwanda Genocide) ซึ่งเป็นเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตมากถึง 800,000 คน ในเวลาเพียง 3 เดือนเศษ ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ยังกลายเป็น ‘ซิกเนเจอร์’ ที่ติดตรึงในความทรงจำของทั้งผู้นำและประชาชนทุกเหล่าในรวันดา และกลายเป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนให้รวันดาในปัจจุบันมุ่งหน้าสู่อนาคต และยังทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมในปี 1994 เกิดขึ้นอีก โดย พอล คากาเม (Paul Kagame) ประธานาธิบดีรวันดาคนปัจจุบันเคยกล่าวไว้ว่า “เราสามารถหมุนนาฬิกากลับไปได้ และไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขความเสียหายได้ แต่เรามีพลังที่จะกำหนดอนาคตและสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก”[2]

การสังหารหมู่ในรวันดามีรากเหง้าจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ (ethnic conflict) ที่มีมานานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มในรวันดา ได้แก่ ชาวฮูตู (Hutu) ที่มีจำนวนร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด ชาวทุตซี (Tutsi) ที่มีจำนวนร้อยละ 14 และอีกร้อยละ 1 เป็นชาวทวา (Twa) ความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่มใหญ่ในรวันดาไม่ได้มาจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม หากแต่เป็นการปะทะกันด้านชนชั้น กล่าวคือ ในขณะที่ชาวทุตซีเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดา แต่กลับมีความมั่งคั่งมากกว่า และมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าชาวฮูตู

ที่มาของความขัดแย้งระหว่างฮูตูกับทุตซี

ชาวฮูตูและทุตซีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะในรวันดา บุรุนดี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์ คองโก) คนทั้งสองกลุ่มมีวัฒนธรรมร่วมหลายอย่าง ทั้งศาสนาคริสต์ และภาษาในกลุ่มบันตู (Bantu)[3] นอกจากนี้ ทั้งชาวฮูตูและทุตซีส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ว่ากันว่าการแบ่งแยกชาวฮูตูและทุตซีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนเป็นผลจากการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมจากเบลเยียมที่เข้าไปปกครอง และเยอรมนีในรวันดา บุรุนดี และแทนซาเนีย แนวคิดแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) ของเจ้าอาณานิคมตะวันตกมีอิทธิพลกับการมองชาวฮูตูและทุตซีว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างเด็ดขาดในเวลาต่อมา[4]

ความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ในรวันดา
ความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ในรวันดา

ความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในรวันดา (หรือหากจะกล่าวให้กว้างกว่านั้นคือในรวันดาและประเทศอื่นๆ โดยรอบ) มีความเป็นมาที่สลับซับซ้อน มิได้เป็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์แบบแข็งทื่อ แต่ยังมีปัจจัยทางการเมืองแวดล้อมอื่นๆ โดยความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูและชาวทุตซีได้เกิดขึ้นมาตลอดศตวรรษที่ 20 กลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 2 กลุ่มเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญทั้งในรวันดาและประเทศเพื่อนบ้านอย่างบุรุนดีและยูกันดา ว่ากันว่าแหล่งกำเนิดของชาวทุตซีมาจากเอธิโอเปีย หรือในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ ทางตอนเหนือของรวันดาในปัจจุบัน ในขณะที่ชาวฮูตูอพยพมาจากชาด (Chad) ในพื้นที่ติดทะเลทรายซาฮารา ดินแดนของชาวทุตซีในรวันดาและบุรุนดีเคยมีกษัตริย์ปกครองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เมื่อเบลเยี่ยมเข้าไปปกครองรวันดาและบุรุนดีต่อจากเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เรียกพื้นที่นี้ว่า รวนดา-อุรุนดี (Ruanda-Urundi) ซึ่งรัฐบาลเบลเยียมไม่ได้ส่งข้าหลวงใหญ่จากบรัสเซลส์มาปกครอง แต่แต่งตั้งชาวทุตซีขึ้นเป็นผู้ปกครองรวนดา-บุรุนดี

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 รวันดาปกครองโดยกษัตริย์ที่เป็นชาวทุตซีมาโดยตลอด แม้รวันดาจะตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนีและเบลเยียม สถาบันกษัตริย์ทุตซีก็ไม่ได้หายไป หากแต่มีความเข้มแข็งขึ้น พร้อมกับนโยบายโปรทุตซีที่เจ้าอาณานิคมส่งเสริมในช่วงแรก ท่ามกลางการบริหารของราชวงศ์ทุตซี ซึ่งการขึ้นมามีอำนาจของชาวทุตซีได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวฮูตูเรื่อยมา และระเบิดเวลาลูกนี้ก็ระเบิดขึ้นจริงในปี 1957 เมื่อชาวฮูตูรวมตัวกันและตั้งกองกำลังทหารของตนขึ้น มีผู้เขียนแถลงการณ์ฮูตู (Hutu Manifesto) ว่า นับจากนี้ ชาวฮูตูจะเริ่มปฏิบัติการกำจัดผู้นำที่เป็นชาวทุตซี จนทำให้กษัตริย์คิเกลีที่ 5 (Kigeli V) กษัตริย์ทุตซีองค์สุดท้ายต้องหลบหนีออกจากรวันดา

ขณะที่ในปี 1959 เมื่อเกิดการโจมตีโดมินิก เอ็มบอนยูมุทวา (Dominique Mbonyumutwa) ชาวฮูตูเพียงคนเดียวที่ได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมกับหมู่บ้านชาวฮูตูอื่นๆ โดยกลุ่มทุตซีหัวรุนแรง ความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองก็ปะทุขึ้น และนำไปสู่ความพยายามของชาวฮูตูเพื่อทวงสิทธิอันชอบธรรมใน ‘ดินแดน’ ของตน และจะล้มล้างกษัตริย์คิเกลีที่ 5 ซึ่งเป็นกษัตริย์ทุตซีให้จงได้ ในส่วนของบุรุนดี ความพยายามแบบเดียวกันของกองกำลังฮูตูไม่ประสบความสำเร็จ ชาวทุตซียังอยู่ในอำนาจต่อมา

ในช่วงปลายยุคอาณานิคม รัฐบาลเบลเยียมเริ่มมีนโยบายโปรฮูตู และแต่งตั้งชาวฮูตูให้ดำรงตำแหน่งในส่วนของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นมากขึ้น และในปี 1961 เบลเยียมได้จัดให้มีการเลือกตั้งในรวันดาครั้งแรกเพื่อกรุยทางไปสู่เอกราช ซึ่งพรรคของชาวฮูตูชนะแบบถล่มทลาย มี เกรกัวร์ กายิบันดา (Grégoire Kayibanda) นักชาตินิยมฮูตู ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรก และรวันดาก็ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปีถัดมา

จากการปฏิวัติของชาวฮูตูในครั้งนั้นทำให้ประชาชนทุตซีหลายแสนคนต้องอพยพเข้าไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ความโกรธแค้นของชาวทุตซีนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ RPF (Rwandan Patriotic Front) หรือแนวร่วมรักชาติแห่งรวันดา มีแกนนำเป็นชาวทุตซี 2 คน ได้แก่ เฟรด กิซา รวิกเยมา (Fred Gisa Rwigyema)  และพอล คากาเม (Paul Kagame) มีฐานที่มั่นอยู่ในยูกันดา บทบาทของแกนนำแห่ง RPF และ NRA ไม่ได้หยุดอยู่ที่การต่อสู้กับรัฐบาลฮูตูในรวันดาเท่านั้น แต่ยังเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของยูกันดา และเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏยูกันดาภายใต้การนำของโยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) เพื่อล้มล้างการปกครองของประธานาธิบดีมิลตัน โอโบเต (Milton Obote) ที่มีนโยบายต่อต้านกลุ่มผู้ลี้ภัยทุตซีจากรวันดา ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลยูกันดากับผู้ลี้ภัยรวันดาในยูกันดามีมากขึ้น ทำให้ผู้ลี้ภัยทุตซีในยูกันดาถูกผลักกลับเข้าไปในรวันดาเพิ่มขึ้น

เฟรด กิซา รวิกเยมา
เฟรด กิซา รวิกเยมา (ที่มา: wikipedia)

อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยทุตซีที่ต้องกลับไปรวันดาก็ถูกกีดกัน และต้องอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยทุตซีที่รู้สึกสิ้นไร้ไม้ตอกจึงทยอยเข้าร่วมกับกองกำลัง NRA ในขณะเดียวกัน กองกำลังทุตซีในรวันดาก็เป็นเรี่ยวแรงหลักให้กองกำลังของโยเวรี มูเซเวนี ยึดอำนาจจากโอโบเต และขึ้นเป็นประธานาธิบดีของยูกันดาได้ในปี 1986 ความสำเร็จนี้ทำให้ทั้งรวิกเยมาและคากาเมเล็งเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้กองกำลังที่ตนมีอยู่กลับเข้าไปยึดอำนาจในรวันดา โดยมีเป้าหมายหลักคือ ให้ผู้ลี้ภัยทุตซีในยูกันดาและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ กลับเข้าไปในรวันดาอย่างสมศักดิ์ศรีให้ได้ก่อน[5] ในระหว่างนี้ รัฐบาลรวันดา ที่นำโดยประธานาธิบดียูเวนัล ฮาบยาริมานา (Juvénal Habyarimana) ตระหนักดีว่า กองกำลังของทุตซีในยูกันดาเข้มแข็งขึ้นมาก และผู้นำทุตซีหลายคนก็มีตำแหน่งระดับสูงในกองทัพของยูกันดา อีกทั้งประธานาธิบดีฮาบยาริมานาเคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับประธานาธิบดีมูเซเวนี ประกอบกับทหารในกองทัพยูกันดาก็เริ่มไม่พอใจที่ทหารทุตซีมีตำแหน่งแห่งที่เหนือชาวยูกันดา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รวิกเยมาและคากาเมต้องเร่งแผนการยึดรวันดาให้เร็วที่สุด

ในปลายปี 1990 กองกำลัง RPF หลายพันนายเริ่มปฏิบัติการบุกยึดรวันดา ระหว่างที่ประธานาธิบดีของรวันดาและยูกันดา (ทั้งสองคนเป็นชาวฮูตู) เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมขององค์การสหประชาชาติที่นิวยอร์ก แต่กองกำลังของ RPF เป็นรองกองทัพฝ่ายรัฐบาลรวันดาอยู่หลายขุม เพียงหนึ่งวันหลัง RPF บุกรวันดา รวิกเยมาถูกลอบสังหารโดยฝ่ายตรงข้ามภายใน RPF ที่เขาสร้างมากับมือ กองทัพที่ขาดแม่ทัพคนสำคัญไปเริ่มเป๋ ทำให้กองทัพรัฐบาลรวันดาสามารถยึดพื้นที่เกือบทั้งหมดที่ RPF เคยยึดได้ในเวลาไม่ถึงเดือน RPF จึงต้องถอยเข้าไปในชายแดนยูกันดา-รวันดา

ขณะเดียวกัน ในช่วงนับจากนี้ไปจนถึงปี 1994 รัฐบาลฮูตูก็ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง เพราะไม่ทราบว่าฝ่าย RPF จะเปิดการโจมตีอีกเมื่อไหร่ จึงสั่งจับกุมนักการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุตซี อีกทั้งรัฐบาลยังใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ชาวฮูตูเกลียดชังชาวทุตซี จนทำให้เกิดการจลาจลทางเชื้อชาติ และเกิดการสังหารหมู่ชาวทุตซีหลายครั้งตั้งแต่ 1990 เรื่อยมา

พอล คากาเม อดีตผู้บัญชาการ RPF และประธานาธิบดีรวันดาคนปัจจุบัน
พอล คากาเม อดีตผู้บัญชาการ RPF และประธานาธิบดีรวันดาคนปัจจุบัน (ที่มา: wikipedia)

หลังรวิกเยมาเสียชีวิต พอล คากาเมขึ้นมาเป็นผู้นำ RPF อย่างเต็มตัว เมื่อได้ข่าวว่ารวิกเยมาถูกลอบสังหาร คากาเม ซึ่งกำลังฝึกอบรมด้านการทหารอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้กลับมานำทัพในขณะที่ RPF กำลังตกต่ำสุดขีด และไม่มีทีท่าว่าจะเอาชนะกองกำลังฝ่ายรัฐบาลฮูตูได้ ด้วยความที่เขาเป็นแม่ทัพที่ได้รับการฝึกด้านการวางแผนการรบมาอย่างดี คากาเมจึงย้ายฐานที่มั่นของ RPF ไปอยู่ในเขตภูเขาสูง บริเวณเขตชายแดนยูกันดา-ดีอาร์ คองโก โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายทหารในกองทัพยูกันดา ที่เคยทำงานร่วมกับทั้งคากาเมและรวิกเยมามาก่อน

ตั้งแต่ปลายปี 1990-1994 RPF ใช้ปฏิบัติการแบบกองโจร โดยซุ่มโจมตีกองกำลังฝ่ายรัฐบาลหลายครั้ง จน RPF ภายใต้การนำของคากาเมเริ่มเป็นกองกำลังที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการดี และได้รับการสนับสนุนจากชาวทุตซีที่กระจายตัวอยู่แทบทุกประเทศในแอฟริกาและทั่วโลก รวมถึงจากนักการเมืองและนักธุรกิจฮูตูที่ไม่พอใจการบริหารงานของประธานาธิบดีฮาบยาริมานา อีกทั้ง RPF ยังได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนฮูตูที่เห็นอกเห็นใจชาวทุตซี และเลื่อมใสในตัวคากาเมด้วย

ปฏิบัติการยึดรวันดาของ RPF เริ่มอีกครั้งในต้นปี 1991 ที่เมืองรูเฮนเกรี (Ruhengeri) ใกล้ชายแดนคองโกและยูกันดา อันเป็นเมืองยุทธศาสตร์และฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีฮาบยาริมานา ทั้งยังเป็นเมืองที่มีเรือนจำขนาดใหญ่ที่สุดในรวันดาด้วย หลัง RPF ยึดรูเฮนเกรีสำเร็จ พวกเขาก็ได้ตัวอดีตนักโทษการเมืองและคู่ปรับหลายคนของฮาบยาริมานามาเป็นพวก ซึ่งในการโจมตีครั้งนั้น RPF ใช้การโจมตีแบบสงครามกองโจรต่อเนื่องและยุทธการแบบดาวกระจาย คือการโจมตีหลายๆ เมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้าศึกต้องกระจายสรรพกำลังไปรบในหลายพื้นที่ คากาเมเน้นว่า การซุ่มโจมตีของ RPF ต้องเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะแม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายให้ข้าศึกหรือทำให้อีกฝ่ายล้ามากนัก แต่ก็เพียงพอจะตัดขวัญกำลังใจของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ ด้วยความที่คากาเมเป็นแม่ทัพที่เฉลียวฉลาด เขาจึงได้ระดมกำลังส่วนหนึ่งที่มีไปปิดเส้นทางการค้าหลักด้านตะวันออกของรวันดาที่มุ่งหน้าสู่มอมบาซา (Mombasa) เมืองท่าการค้าขนาดใหญ่ในเคนยา ทำให้การค้าภายในรวันดาเริ่มรวน

กองกำลัง RPF ยึดครองพื้นที่ในรวันดาตอนเหนือได้มากขึ้น บรรดากลุ่มฮูตูหัวรุนแรงที่เกลียดชังชาวทุตซีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ยิ่งโหมกระพือโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความเกลียดชัง จึงเกิด องค์กรอากาซู (Akazu) ที่รวมชาวฮูตูหัวรุนแรง มีเป้าหมายกำจัดชาวทุตซีทั้งหมดออกไปจากดินแดนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของชาวฮูตู เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการของ RPF ด้วยการสังหารหมู่ชาวทุตซีหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน ระหว่างปี 1991-1992 ขบวนการนี้กลายเป็นแกนกลางของเหล่าฮูตูคลั่งเชื้อชาติ และจะขึ้นไปนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลของฮาบยาริมานา ต่อมา ในต้นปี 1993 รัฐบาลฮาบยาริมานาพยายามเจรจากับคากาเมเพื่อให้ RPF เข้าสู่โต๊ะเจรจาและลงนามในข้อตกลงหยุดยิง แต่ความเกลียดชังของชาวฮูตูไม่สามารถหยุดยั้งได้อีกต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามประนีประนอมอย่างไรก็ตาม

ในต้นปีเดียวกันนั้นเอง คากาเมประกาศยอมวางอาวุธ เมื่อ RPF เดินทัพมาประชิดคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของรวันดาได้เป็นผลสำเร็จ แต่คากาเมไม่ต้องการเข้าไปบุกยึดคิกาลีโดยตรง เขาจึงเลือกตั้งทัพไว้รอบๆ เมืองหลวง และต่อสู้เพื่อตัดกำลังกองทัพรวันดาเท่านั้น ในการลงนามข้อตกลงหยุดยิงที่จัดขึ้นที่ยูกันดา รัฐบาลรวันดายอมให้ RPF ยึดครองพื้นที่ส่วนหนึ่งทางเหนือของรวันดาไว้ และรัฐบาลก็ให้คำมั่นว่าจะไม่รุกรานฐานที่มั่นของ RPF อีก

แน่นอนว่า การลงนามในข้อตกลงแบบ ‘กลางๆ’ ระหว่างคากาเมและฮาบยาริมานาย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาหัวรุนแรงของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายขวาของฮูตูได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองขึ้นมาในนาม ‘อิมพูซามูกัมบี’ (Impuzamugambi) และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอื่น ๆ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสถาปนา ‘อำนาจฮูตู’ (Hutu Power) เพื่อการสังหารชาวทุตซี รวมทั้งชาวฮูตูที่เห็นใจชาวทุตซี ให้หมดไปจากรวันดา เมื่อการเจรจาสันติภาพในรวันดาไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในปลายปี 1993 แต่ความขัดแย้งระหว่างฮูตูและทุตซีทั้งในรวันดาและประเทศรอบข้างกลับแย่ลงตามลำดับ

ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ มีผู้นำประเทศหลายคนที่เป็นชาวฮูตูถูกลอบสังหาร เริ่มจากประธานาธิบดีเมลเคียว เอ็นดาดาเย (Melchior Ndadaye) ประธานาธิบดีชาวฮูตูคนแรกของบุรุนดีในเดือนตุลาคม 1993 และต่อด้วยโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญที่เป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีหลายล้านคน ได้แก่ การลอบยิงเครื่องบินที่มีประธานาธิบดีฮาบยาริมานา และซิเปรียน เอนตายามิรา (Cyprien Ntaryamira) ประธานาธิบดีคนใหม่ของบุรุนดี ระหว่างกลับจากการเจรจาสันติภาพที่กรุงดาเอสซาลาม (Dar es Salaam) เมืองหลวงของแทนซาเนีย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนออกคำสั่งให้ยิงเครื่องบินของฮาบยาริมานาและเอนตายามิรา แต่ฝ่ายหัวรุนแรงฮูตูได้ตัดสินใจไปแล้วว่า ต้องเป็นฝีมือของฝ่ายตรงข้าม และเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่ ‘การแก้ปัญหาครั้งสุดท้าย’ (Final Solution) ในแบบของชาวฮูตู นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีหลายล้านคนในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งเราจะมาพูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดากันอย่างละเอียดในตอนต่อไป


[1] รวันดามีพื้นที่เล็กเป็นอันดับที่ 46 จากประเทศในแอฟริกาทั้งหมด 54 ประเทศ มีพื้นที่ 26,798 ตารางกิโลเมตร เทียบได้กับพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมารวมกับจังหวัดชุมพร

[2] “Major General Charles Karamba, Rwandan High Commissioner to the United Republic of Tanzania speech on 26th Commemoration of the 1994 Genocide in Rwanda against the Tutsi,” United Nations Tanzania website:เข้าถึงได้ที่ https://tanzania.un.org/en/40255-major-general-charles-karamba-rwandan-high-commissioner-united-republic-tanzania-speech-26th

[3] ภาษาบันตู เป็นกลุ่มภาษาใหญ่ที่ใช้ในแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ภาษาคินยาร์วันดา (Kinyarwanda) ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติภาษาหนึ่งของรวันดา และภาษาคิรุนดี (Kirundi หรือ Rundi) อันเป็นภาษาราชการในบุรุนดี ล้วนเป็นภาษาในกลุ่มภาษาบันตู

[4] Bridget Johnson, “Why Is There Conflict Between Hutus and Tutsis?,” ThoughtCo., 13 กุมภาพันธ์ 2020: เข้าถึงได้ที่ https://www.thoughtco.com/location-of-conflict-tutsis-and-hutus-3554918

[5] “Rwanda: How the genocide happened,” BBC News, 11 May 2011: เข้าถึงได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-africa-13431486

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save