fbpx
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ และรัสเซีย: ข้าม(ไม่)พ้น ความตึงเครียดร้าวลึก?

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ และรัสเซีย: ข้าม(ไม่)พ้น ความตึงเครียดร้าวลึก?

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

ทรัมป์กับปูติน

รัสเซียตกเป็นหนึ่งในประเด็นด้านการเมืองและนโยบายต่างประเทศที่ร้อนแรงที่สุดในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่การแฮกอีเมลของพรรคเดโมแครตในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ข้อครหาเรื่องการแทรกแซงระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ จนทำให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะ  มาจนกระทั่งวาทศิลป์ช่วงหาเสียงของทรัมป์ที่ดูเหมือนจะ “นิยมปูติน” เกินงาม

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทรัมป์ทวิตข้อความว่า “การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียนั้นเป็นสิ่งดี ไม่ใช่สิ่งแย่ มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่คิดว่ามันแย่” นักวิชาการบางคน เช่น โรเบิร์ต อิงลิช (Robert D. English) วิเคราะห์ว่า นี่เป็นการกรุยทางสู่การปรับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ หรือ new détente

ในทางปฏิบัติ แนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นดูเหมือนจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราเห็นท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาลทรัมป์ต่อรัสเซีย

การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ต่อซีเรีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย) ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2017 นั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลาง กระนั้น รัสเซียก็ไม่ได้ตอบโต้ด้วยการยิงเครื่องบินสหรัฐฯ ที่บินผ่านน่านฟ้าของซีเรีย ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เองก็ไม่ได้ยกเลิกข้อเสนอของเขาที่จะสร้างพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านกลุ่ม ISIS

การเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ในวันที่ 12 เมษายน 2017 ก็ไม่ได้มีการยกเลิก ทิลเลอร์สันได้เข้าพบหารือกับปูตินนานถึงสองชั่วโมง รวมทั้ง เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย

ลาฟรอฟ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ความร่วมมือสหรัฐฯ-รัสเซียนั้นจะ “เป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนชาวรัสเซีย และโลกทั้งมวล” แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น ใครควรถูกประณามจากการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย หรือคำถามว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในซีเรีย เป็นต้น

ดมิทรี เทรนนิน (Dmitri Trenin) ผู้อำนวยการศูนย์มอสโกของคาร์เนกี เสนอว่า ในช่วงหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประชาคมโลกเคยหวาดกลัวการสมรู้ร่วมคิดระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย แต่ขณะนี้ เรากำลังหวาดเกรงการเผชิญหน้าของทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น

ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามสำคัญหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ ความสัมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐฯ ที่ดิ่งเหวในช่วงที่ผ่านมา จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ และจะมีลักษณะเช่นใด?

การตอบคำถามดังกล่าวอย่างชัดแจ้งอาจจะยากลำบาก แต่ในเบื้องต้นนี้ เราอาจจะลองตั้งหลัก ย้อนพินิจ และตั้งคำถามว่า ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียเป็นอย่างไรในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา?

ย้อนทวนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย

ในยุคหลังสงครามเย็น

หากเราย้อนกลับไปดูแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียในช่วงปี 1991-2017 เราจะเห็นว่าในช่วงแรกของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีใหม่มักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย ตั้งแต่สมัยบิล คลินตัน (สมัยแรก) จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (สมัยแรก) และบารัก โอบามา (สมัยแรก) แต่เมื่อถึงปลายสมัยแรกหรือขึ้นสมัยที่สองของประธานาธิบดีทั้งสามท่าน ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศกลับย่ำแย่ลงอย่างมากมาโดยตลอด

อะไรคือสาเหตุของความล้มเหลวในการปรับความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย หรือที่เรียกว่านโยบาย “reset”?

สาเหตุสำคัญเกิดจาก “ความตึงเครียดร้าวลึก” ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ โดยอาจเป็นผลมาจากกระบวนการ 3 ประการที่ไม่ชัดเจนลงตัว นั่นคือ

ประการแรก กระแสชัยชนะนิยมของสงครามเย็น (Cold War Triumphalism) เมื่อโลกตะวันตกประกาศมีชัยเหนือรัสเซียภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุด กระแสนี้สั่นคลอนสถานะความเป็นมหาอำนาจของรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ

ประการที่สอง การปราศจากการจัดระเบียบระหว่างประเทศอย่างชัดเจนภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุด โดยเฉพาะการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเชิงสถาบันระหว่างมหาอำนาจ และรัฐอื่นๆ ในยุโรปว่าพึงเป็นเช่นใด แม้ว่าจะมีการบูรณาการในระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป แต่โดยรวมนั้นก็มุ่งเน้นมิติทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ส่วนประเด็นปัญหาทางด้านดินแดนในยูเรเชียยังไม่มีการเจรจา บริหารจัดการ หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ เช่น กรณี Nagorno-Karabakh, Abkhazia, Transdniestria เป็นต้น

ประการที่สาม ในสายตาของรัสเซีย รัสเซียรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับในระบบการเมืองและความมั่นคงในโลกตะวันตกอย่างเท่าเทียม

หากเราลองพิจารณาแนวคิดและการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย จะพบว่า รัสเซียหวาดระแวงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสามมิติสำคัญ ได้แก่

(1) unipolarity หรือโลกขั้วอำนาจเดียวที่สหรัฐฯ เป็นใหญ่

(2) การขยายอำนาจและอิทธิพลทางการทหารของ NATO เข้ามาในบริเวณติดพรมแดนรัสเซีย และการติดตั้งระบบขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก

และ (3) การส่งออกประชาธิปไตยหรือการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง (regime change) บริเวณรอบบ้านและในบ้านของรัสเซีย ซึ่งรัสเซียต่อต้านนโยบายดังกล่าวอย่างแข็งกร้าว

ทั้งหมดนั้นยิ่งสร้างความหวาดระแวงให้รัสเซีย ในขณะที่โลกตะวันตกเองก็มองว่า รัสเซียไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบเสรี

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ในช่วงที่ บิล คลินตัน และ บอริส เยลต์ซิน เป็นประธานาธิบดี เริ่มต้นด้วยดี แต่พอถึงช่วงกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมากลับเผชิญกับความตึงเครียดระหว่างกัน เริ่มตั้งแต่วิกฤตการณ์ในบอลข่าน การขยายสมาชิกภาพของ NATO ไปยังประเทศยุโรปตะวันออก รวมทั้งการขยายอิทธิพลเข้าไปในเอเชียกลาง และการสร้างท่อส่งก๊าซเส้นใหม่ BTC (Baku-Tbilisi-Ceyhan) ที่ท้าทายการผูกขาดการส่งออกพลังงานของรัสเซียสู่ตลาดยุโรป

ในสมัยจอร์จ บุช คนลูก นั้นก็เริ่มต้นด้วยความหวานชื่นระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ ถึงขนาดบุชเคยกล่าวว่า เขามองตาปูตินก็รู้ใจเสียด้วยซ้ำ ผู้นำทั้งสองต่างร่วมมืออย่างแนบแน่นในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ปูตินให้การสนับสนุนการทำสงครามของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน โดยอนุญาตให้มีการส่งกำลังบำรุงต่างๆ ผ่านประเทศพันธมิตรในเอเชียกลาง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจขยายขอบเขตสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไปสู่สงครามอิรักในปี 2003 นั่นเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายมอง “ภัยคุกคาม” การก่อการร้ายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง รัสเซียมองการก่อการร้ายเฉพาะโดยกลุ่มหรือหน่วยทางการเมืองที่ไม่ใช่รัฐ ในขณะที่สหรัฐฯ มองการก่อการร้ายที่เหมารวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายและรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย

ผู้นำรัสเซียมองว่า แนวทางของสหรัฐฯ เป็นส่วนต่อขยายยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมือง ซึ่งจะกระทบต่อการเมืองภายในของรัสเซียเอง

นอกจากนั้น รัสเซียยังมองบทบาทของสหรัฐฯ ที่แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในบริเวณหลังบ้าน หรือที่รัสเซียเรียกว่า “เมืองนอกใกล้” (near abroad) ซึ่งคือกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชทั้งหลาย [รัสเซียเรียกตะวันตกว่า “เมืองนอกไกล” (far abroad)] ทั้งการส่งเสริมการปฏิวัติสีต่างๆ ได้แก่ การปฏิวัติดอกกุหลาบในจอร์เจีย (ปี 2003) การปฏิวัติสีส้มในยูเครน (ปี 2004) และการปฏิวัติดอกทิวลิบในคีร์กีสถาน (ปี 2005) รวมทั้งการขยายสมาชิกภาพของ NATO ในบริเวณดังกล่าว

ในช่วงนี้ วาทกรรม “สงครามเย็นครั้งใหม่” (New Cold War) ก็ถูกปลุกขึ้นมาพูดถึงบทบาทที่แข็งกร้าวของรัสเซีย สำหรับรัสเซียแล้ว นี่คือการตอบโต้กลับต่อการแผ่ขยายอำนาจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคยูเรเชีย

โอบามา กับ นโยบาย reset รัสเซีย

ในช่วงรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา สมัยแรก ก็ริเริ่มนโยบาย “reset” กับรัสเซีย และการสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างประธานาธิบดีโอบามากับประธานาธิบดี(ขัดตาทัพ)ของรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) แต่แล้ว reset ก็ค่อยๆ หมดบทบาทไป เมื่อปูตินกลับมาดำรงประธานาธิบดีสมัยที่สาม (2012-2018)

เค้าลางของความผิดพลาดของนโยบาย “reset” ดูเหมือนจะล้มเหลวตั้งแต่เริ่มแรก

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2009 ที่เจนีวา ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ในขณะนั้น) ได้พบกับเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย (2004-ปัจจุบัน) อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อปรับความสัมพันธ์ที่ตกต่ำหรือหมางเมินกันไปในช่วงรัฐบาลบุช

ฮิลลารี คลินตัน ได้มอบ “ปุ่ม reset” ให้แก่ลาฟรอฟ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปรับความสัมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐฯ เสียใหม่ โดยปุ่มดังกล่าวมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษ “reset” และภาษารัสเซียคือ “peregruzka”

ลาฟรอฟกล่าวขอบคุณพร้อมบอกว่าในภาษารัสเซียนั้น คำว่า “reset” คือ “perezagruzka” ส่วน “peregruzka” หมายถึง “คิดราคาแพงเกินไป” ต่างหาก

กล่าวคือ reset คือ “perezagruzka” ไม่ใช่ “peregruzka”!

ในช่วง Obama สมัยสองนั้น เราเห็นวิกฤตการณ์กับรัสเซียทวีความรุนแรงขึ้น เริ่มตั้งแต่วิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในช่วงปี 2013-2014 ตามมาด้วยการที่สหรัฐฯ และพันธมิตรดำเนินนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจนกระทั่งปัจจุบัน และวิกฤตการณ์ในซีเรียในช่วงปี 2015-2016 ซึ่งรัสเซียใช้กำลังทางอากาศถล่มฐานที่มั่นของกลุ่ม ISIS และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลของบาชา อัล-อัสซาด (Bashar Al-Assad) ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงกับกองทัพสหรัฐฯ ในบริเวณดังกล่าว

วิกฤตซีเรียเป็นสภาวะตึงเครียดในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนมีการกล่าวถึงวาทกรรม “สงครามโลกครั้งที่ 3” ขึ้นมาในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง

อนาคตความสัมพันธ์สหรัฐฯ และรัสเซีย

ความสัมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐฯ ในยุคหลังสงครามเย็นมีแบบแผนของทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยมี “ความตึงเครียดร้าวลึก” เป็นพื้นฐานในความสัมพันธ์ ถ้าหากทั้งสองรัฐยังไม่สามารถก้าวข้ามความตึงเครียดร้าวลึกดังกล่าวไปได้ ความสัมพันธ์ทวิภาคีก็จะยังคงมีความเป็นอริต่อกันอยู่ และย่อมกระทบต่อระเบียบโลกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ปัจจัยด้านผู้นำไม่เพียงพอต่อการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย แต่ทั้งสองมหาอำนาจจำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้งตึงเครียดเชิงโครงสร้างที่กำหนดกำกับมุมมองและทัศนคติของผู้นำของทั้งสองประเทศอีกด้วย

ผู้นำประเทศ รวมทั้งประธานาธิบดี ในฐานะดีลเมกเกอร์ (deal maker) อาจจะทำได้แค่เพียงช่วยเสริมสร้างบรรยากาศของความเข้าใจระหว่างกันได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

ความสามารถในการเจรจาระหว่างกันได้และกลไกในการสื่อสารระหว่างกัน (ซึ่งหายไปในช่วงหลังวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมีย) อาจช่วยบรรเทาหรือรักษาสถานะเดิมในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาคลาสสิกในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย เช่น

(1) การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์

(2) การบริหารจัดการความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เช่น ปัญหาซีเรีย, อิหร่าน เป็นต้น

(3) การต่อต้านการก่อการร้าย เช่น ISIS

(4) โครงสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงในยุโรป

(5) ความมั่นคงด้านพลังงาน

การหวนคืนกลับสู่โต๊ะเจรจาต่อรองกันอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่มีแนวโน้มเชิงบวก แต่นั่นก็แลกมาด้วยผลกระทบอื่นๆ หรือการละเลยคำถามเชิงคุณค่าหรือปทัสถาน เช่น ประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน ด้วยเช่นกัน

แม้ประเด็นหลังนั้นยังคงเป็นความลักลั่นของนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ที่มีต่อโลกและต่อรัสเซียก็ตาม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save