fbpx
ผิดที่ไว้ใจ? รัสเซียกับสหภาพยุโรปในภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวง

ผิดที่ไว้ใจ? รัสเซียกับสหภาพยุโรปในภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวง

;จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

การประชุม G-7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในช่วงเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดภายในระเบียบโลกแบบเสรีนิยมอย่างมีนัยสำคัญ เราคงได้เห็นความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรอยร้าวในความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก การก่อตัวของสงครามกำแพงภาษีการค้าและลัทธิการปกป้องการค้า รวมทั้งการไม่มีฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับประเทศสมาชิกที่เหลือ จนมีบางคนมองว่าการประชุมนี้กลายเป็นการประชุม G-6 + 1 ไปเสียแล้ว

แต่ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะถูกกลบลบลืมไปคือ ข้อเสนอของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เสนอให้รับรัสเซียกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่ม G-7/G-8 อีกครั้ง เมื่อรัสเซียถูกขับออกจากการประชุมนี้หลังวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในปี 2014 แต่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

กระนั้นก็ดี วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ก็ได้ออกมากล่าวชื่นชมทรัมป์ และยินดีที่จะพบปะหารือกับทรัมป์ในอนาคตอันใกล้ ถ้าหากว่าผู้นำสหรัฐฯ พร้อม

กรณีดังกล่าวชวนให้ผมตั้งคำถามให้ท่านทั้งหลายลองขบคิดกันต่อว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหภาพยุโรปจึงดำเนินมาสู่จุดนี้? ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด และมีที่มาที่ไปอย่างไร?

หลายคนมองว่า วิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในปี 2014 เป็นหมุดหมายสำคัญ หรือกระทั่งมองว่า เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปต้องยุติลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า วิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียนั้นเป็นเพียงผลลัพธ์หนึ่งของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทั้งสองหน่วยทางการเมืองซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาพอสมควร อย่างน้อยก็ราวๆ หนึ่งทศวรรษ

แต่ผู้เขียนมองอีกมุมหนึ่งว่า ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปนั้นมาจากความแตกต่างขั้นพื้นฐานระหว่างสองมหาอำนาจ ทั้งในด้านคุณค่า ปทัสถาน และอัตลักษณ์ในการเมืองโลก ซึ่งทำให้ช่องว่างของการรับรู้และผลประโยชน์ถ่างออกจากกัน จนความสัมพันธ์ทวิภาคีดำเนินเข้าสู่ภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวงในปัจจุบัน

 

จากความไว้เนื้อเชื่อใจสู่ความคลางแคลงใจ

 

ในยุคสงครามเย็น ภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวงขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและยุโรป ทั้งนี้เนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์และระบบเศรษฐกิจการเมือง แม้ว่าอาจมีการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างประเทศในบางช่วงเวลา แต่ต้องรอจนกระทั่งการขึ้นมาของ Mikhail Gorbachev ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ซึ่งทำให้รัสเซียกับโลกตะวันตก รวมทั้งยุโรป เริ่มสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศใหม่อีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏให้เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมของรัสเซียที่มีต่อยุโรป

Gorbachev เรียกยุโรปว่าเป็น ‘บ้านแห่งยุโรปร่วมกัน’ (Common European Home) กล่าวคือ รัสเซียได้มองตัวเองใหม่ในฐานะ ‘มหาอำนาจของยุโรป’ ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป

ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น อัตลักษณ์ของรัสเซียในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของยุโรปนี้ ได้กำหนดหรือสถาปนาแนวนโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์แห่งชาติของรัสเซียที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งการรวมกลุ่มภูมิภาค ที่ต่อมาเรียกว่าเป็นสหภาพยุโรป หรือ EU อย่างน้อยที่สุดในช่วงสมัยแรกของประธานาธิบดี Boris Yeltsin รัสเซียถึงกับเสนอว่ารัสเซียจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วยซ้ำ

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ความไว้เนื้อเชื่อระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปค่อยๆ พัฒนาขึ้นจากการพบปะเจรจาและการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำรัสเซียและยุโรปอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งรัสเซียและสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ในปี 1994 ซึ่งมุ่งเน้นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependence) ในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง เป็นต้น Yeltsin ได้กล่าวว่า “รัสเซียจะเป็นหุ้นส่วนที่ซื่อสัตย์ เชื่อถือได้และไว้ใจได้”

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ระหว่างประเทศเช่น วิกฤตการณ์ในภูมิภาคบอลข่าน โดยเฉพาะสงครามโคโซโวในปี 1999 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกไม่ได้ราบรื่นเหมือนแต่เดิม ทั้งนี้เพราะคุณค่าและผลประโยชน์ของทั้งสองมหาอำนาจมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ในมุมมองของผู้นำรัสเซีย สงครามโคโซโวนั้นแสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติตามสัญญาของผู้นำโลกตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเคยได้ให้คำมั่นว่าจะมีการปรึกษาหารือกับรัสเซีย ก่อนที่จะดำเนินปฏิบัติการทางการทหารใดๆ รัสเซียยังมองว่าการแทรกแซงทางการทหารแต่ฝ่ายเดียวหรือเอกภาคีนิยมของโลกตะวันตก ไม่ได้รับอาณัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซ้ำร้ายยังมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของรัฐอื่น

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรปดูเหมือนชะงักงันไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 กระนั้นก็ดี เมื่อวลาดีมีร์ ปูติน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของรัสเซียอย่างเต็มตัวในปี 2000 ปูตินยังคงมุ่งความสำคัญต่อยุโรปและสหภาพยุโรป ดังที่เขากล่าวว่า รัสเซียนั้นเป็นมหาอำนาจตะวันตก ที่มีผลประโยชน์สำคัญร่วมกับประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น ด้านพลังงาน และการค้า

ในปี 2003 รัสเซียและสหภาพยุโรปได้จัดตั้งสภาหุ้นส่วนถาวร (Permanent Partnership Council : PPC) เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือระหว่างประเทศ และกำหนดแนวคิดเรื่อง ‘พื้นที่ร่วมกันสี่ด้าน’ (Four Common Spaces) ได้แก่ พื้นที่ร่วมทางด้านเศรษฐกิจ พื้นที่ร่วมทางด้านเสรีภาพ ความมั่นคงและความยุติธรรม พื้นที่ร่วมทางด้านความมั่นคงภายนอก และพื้นที่ร่วมทางด้านการวิจัย การศึกษาและวัฒนธรรม

ปูตินยังได้สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับผู้นำยุโรปหลายคน เช่น Gerhard Schröder แห่งเยอรมนี Silvio Berlusconi แห่งอิตาลี และ Nicolas Sarkozy แห่งฝรั่งเศส เป็นต้น โดยเฉพาะ Schröder นั้นยังคงเป็นสหายสนิทของปูติน โดยมีบทบาทสำคัญในธุรกิจภาคพลังงานของรัสเซีย อีกทั้งยังเป็นประธานบอร์ดบริหาร Rosneft และ Nord Stream AG ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกพลังงานไปยังยุโรปผ่านท่อส่งก๊าซใต้ทะเลบอลติกด้วย

นอกจากนั้น ในช่วงสมัยแรก ปูตินได้ร่วมมือกับยุโรปและสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) โดยสนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของโลกตะวันตกในอัฟกานิสถาน และความร่วมมือทางด้านการข่าวกรอง อย่างไรก็ตาม นิยามของการก่อการร้ายระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกก็มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ สำหรับรัสเซีย การก่อการร้ายหมายถึงกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่ใช่รัฐ ไม่ได้รวมถึงรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย รัสเซียจึงไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้งกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง (regime change) โดยรัฐภายนอกเข้าไปแทรกแซงทางการทหารในอีกรัฐหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองภายในของรัฐนั้น หรือเปลี่ยนแปลงผู้นำของรัฐดังกล่าว

การปะทะกันของนิยาม (clash of definitions) ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก ปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงสงครามอิรักในปี 2003 ซึ่งปูตินต่อต้านอย่างเด่นชัด และมองสงครามนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองภายใน ไม่ใช่การต่อต้านการก่อการร้ายโดยกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ

ภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวงเริ่มก่อตัวขึ้นมา ความกังขาและการลดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อโลกตะวันตกทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงการปฏิวัติสี (colored revolutions) ในบริเวณ ‘หลังบ้าน’ ของรัสเซีย ได้แก่ จอร์เจีย (ปี 2003) ยูเครน (ปี 2004) และคีร์กีสถาน (ปี 2005) ตามลำดับ ในมุมมองของรัสเซียแล้ว นี่คือการแผ่ขยายอำนาจของโลกตะวันตกและการส่งออกประชาธิปไตยในบริเวณที่รัสเซียถือว่าเป็นเขตอิทธิพลของตน หรือที่ในเวลาต่อมา Dmitry Medvedev เรียกว่า ‘เขตผลประโยชน์ที่มีอภิสิทธิ์’ ของรัสเซีย

แม้ว่าความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของรัสเซียจะพุ่งเป้าไปที่สหรัฐฯ เป็นสำคัญ แต่สหภาพยุโรปเองในฐานะมหาอำนาจทางด้านปทัสถาน (Normative Power) ที่มุ่งส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและตลาดเสรี ก็เริ่มที่จะเผชิญหน้ากับความตึงเครียดกับรัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ยังมุ่งเน้นการปกป้องอำนาจอธิปไตยของรัฐ และไม่สนับสนุนการแทรกแซงทางการทหารเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของรัฐอื่น รวมทั้งต่อต้านการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมด้วย อาจกล่าวได้ว่า ถ้ารัสเซียยังอยู่ในระเบียบโลกแบบเวสต์ฟาเลีย (Westphalian World Order) ยุโรปก็ดูเหมือนจะเคลื่อนตัวออกจากระเบียบดังกล่าวไปสู่โลกยุคหลังเวสต์ฟาเลียนั่นเอง (Post-Westphalian World Order)

ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป ซึ่งค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงประมาณปี 2004 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างคุณค่า ปทัสถาน อัตลักษณ์และผลประโยชน์ของทั้งสองมหาอำนาจในการเมืองโลก

โจทย์สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์รัสเซีย-สหภาพยุโรป ตกต่ำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน คือโจทย์ของเพื่อนบ้านร่วมกัน (common neighborhood) ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป ได้แก่ ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ซึ่งถือเป็น ‘หลังบ้าน’ ของรัสเซีย

ในด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปได้เริ่มกระบวนการขยายสมาชิกภาพในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา สหภาพยุโรปประกาศนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านยุโรป (European Neighborhood Policy: NEP) ขึ้นมา เพื่อที่จะ “พัฒนาโซนแห่งความมั่งคั่งและความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” ซึ่งสหภาพยุโรปมี “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด สันติ และร่วมมือ”

ในปี 2009 สหภาพยุโรปตอบรับข้อเรียกร้องจากรัฐต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น จอร์เจีย และยูเครน ที่ต้องการที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ด้วยการเสนอกลไกพหุภาคีที่เรียกว่า ‘หุ้นส่วนภาคตะวันออก’ (Eastern Partnership หรือ EaP) ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐเหล่านี้สามารถบรรลุข้อตกลงความร่วมมือ (Association Agreements) รวมทั้งความตกลงเขตการค้าแบบสมบูรณ์แบบ (Deep and Comprehensive Free Trade Areas: DCFTAs) กับสหภาพยุโรปได้

อาจกล่าวได้ว่า นโยบายหุ้นส่วนภาคตะวันออกของสหภาพยุโรป เป็นกลไกเพื่อการบูรณาการกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยปราศจากการเข้าเป็นรัฐสมาชิกในสหภาพยุโรปนั่นเอง

ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียมองการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปด้วยสายตาที่ค่อนข้างหวาดระแวง โดยรัสเซียพิจารณาว่าสหภาพยุโรปต้องการแข่งขันเชิงอำนาจ/ภูมิรัฐศาสตร์ในบริเวณที่รัสเซียถือว่าเป็น ‘เขตอิทธิพล’ ของตน ทั้งยังกังขาต่ออัตลักษณ์เชิงปทัสถานของสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมตลาดเสรี ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัสเซียมองการส่งออกประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในหลายกรณีเช่น การปฏิวัติสีส้มในยูเครน ว่าเป็น ‘การสมคบคิดของโลกตะวันตก’

Sergey Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวว่า ถึงแม้ “เราจะได้รับฟังคำยืนยันจากบรัสเซสส์ [สหภาพยุโรป] ว่านี่ไม่ใช่ความพยายามที่จะสร้างเขตอิทธิพลใหม่ขึ้นมา หรือไม่ใช่กระบวนการที่มุ่งหมายต่อต้านรัสเซีย” และ “เราก็ต้องการที่จะเชื่อสิ่งที่เราได้ยินจากบรัสเซสส์เกี่ยวกับหุ้นส่วนภาคตะวันออก” แต่ “ความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับความริเริ่มนี้” ก็ทำให้รัสเซียต้องพิจารณาข้อเสนอของสหภาพยุโรป “อย่างระแวดระวัง”

ในมุมมองของรัสเซีย โจทย์ว่าด้วยเพื่อนบ้านร่วมกันเป็นโจทย์ที่รัสเซียต้องการสถาปนา ‘เขตอิทธิพล’ ในบริเวณอดีตสหภาพโซเวียต และมุ่งหมายให้สหภาพยุโรปรวมทั้งสหรัฐฯ ยอมรับสถานะดังกล่าวของรัสเซียด้วย เราอาจกล่าวได้ว่า สำหรับรัสเซียแล้ว ปัญหาในความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก คือการที่โลกตะวันตกไม่ยอมรับหรือเคารพความเป็นมหาอำนาจของรัสเซีย รวมถึงสถานะพิเศษของรัสเซียในบริเวณเครือรัฐเอกราช

เมื่อปี 2005 ปูตินได้กล่าวว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้นเป็น “โศกนาฏกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20” แม้ว่า ณ ขณะนี้ รัสเซียจะไม่ได้มีเป้าหมายที่จะรื้อฟื้นจักรวรรดิแบบสหภาพโซเวียตขึ้นมา แต่รัสเซียต้องการเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคที่มีอำนาจและอิทธิพลเหนือเพื่อนบ้าน หรืออย่างน้อยก็ไม่ปรารถนาให้มหาอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงหรือกำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจการเมืองในบริเวณ ‘หลังบ้าน’ ของรัสเซีย

ในด้านหนึ่ง รัสเซียพยายามบูรณาการรัฐต่างๆ ในเครือรัฐเอกราช เข้ามาอยู่ภายใต้โครงการที่ชื่อว่าสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) โดยมียูเครนเป็นหัวใจสำคัญในการบูรณาการเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคยูเรเชีย เมื่อยูเครนเลือกที่จะหันไปหาโลกตะวันตก จึงสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อรัสเซีย นักวิชาการบางคนเสนอว่า ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นมาจากการที่รัสเซียไม่สามารถที่จะยอมรับสถานะของยูเครนในฐานะรัฐเอกราชได้ และยังคงมองว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย กระแสชาตินิยมภายในรัสเซียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายิ่งโหมวาทกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ทว่าอีกด้านหนึ่ง รัสเซียก็แสวงหาการธำรงรักษาสถานภาพเดิมของ ‘ความขัดแย้งแช่แข็ง’ (frozen conflicts) ในภูมิภาคนี้เอาไว้ เช่น Transnistria, Nagorno-Karabakh, Abkhazia, South Ossetia, Donetsk หรือ Luhansk เป็นต้น แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียเริ่มดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว ในบางกรณีก็อาศัย ‘สงครามลูกผสม’ (hybrid war) ในการธำรงรักษาสถานภาพเดิมในบริเวณ ‘หลังบ้าน’ ของตน

โดยทั่วไป สงครามลูกผสมนั้นเป็นการสนธิกำลังของปัจจัยทางการทหาร กับปัจจัยที่ไม่ใช่ทางการทหาร เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์บางประการ โดยวิธีการที่แตกต่างต่างกันไป ตั้งแต่การใช้กองกำลังรบพิเศษ สงครามข่าวสาร สงครามไซเบอร์ การจารกรรมข่าวกรอง การขู่ว่าจะใช้ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ (เช่น การขู่ว่าจะตัดการส่งออกพลังงาน) การใช้อิทธิพลทางการเมือง รวมทั้งการแทรกแซงทางการเมือง เช่น การยึดสถานที่ราชการสำคัญ การก่อการร้าย การลอบสังหาร การโฆษณาชวนเชื่อ เป็นต้น

นอกจากนี้ การแทรกแซงทางการทหารโดยตรงยังปรากฏให้เห็น ได้แก่ กรณีสงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย หรือบางท่านเรียกว่า ‘สงครามห้าวัน’ ในเดือนสิงหาคม 2008 หรือกรณีสงครามในยูเครนภาคตะวันออกตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา

หากมองพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปตั้งแต่ช่วงสองทศวรรษ (ตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนและความร่วมมือในปี 1994 จนกระทั่งปี 2014) เราอาจกล่าวได้ว่า มุมมองของรัสเซียที่มีต่อ EU ค่อยๆ แปรเปลี่ยนจากโลกทัศน์ของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไปสู่โลกทัศน์ของภูมิรัฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นการแข่งขันช่วงชิงเชิงอำนาจและความหวาดระแวงระหว่างกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำไม่ได้ยกระดับไปสู่การสร้างความไว้วางใจในระดับสถาบันระหว่างประเทศ ความแตกต่างทางด้านคุณค่าและปทัสถานเป็นข้อจำกัดในเชิงโครงสร้างที่ทำให้รัสเซียและสหภาพยุโรปไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงแรกของยุคหลังสงครามเย็น

 

ความสัมพันธ์รัสเซีย-ยุโรป ยุคหลังวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมีย : ฟางเส้นสุดท้าย?

 

วิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในปี 2014 เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจนี้มุ่งเข้าสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น

ในมุมมองของรัสเซีย ฟางเส้นสุดท้ายในวิกฤตการณ์ยูเครน คือการตกจากอำนาจของ Viktor Yanukovych ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ซึ่งรัสเซียมองว่ารัฐบาลของ Yanukovych เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความชอบธรรมทางการเมือง และมองกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง Euromaidan ว่าเป็น “พวกฟาสต์ซิสม์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากโลกตะวันตก โดยรัสเซียได้วิพากษ์สหภาพยุโรปที่ให้การรับรองรัฐบาลใหม่อย่างทันทีทันใด

อนึ่ง ชนวนเหตุสำคัญของการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล Yanukovych นั้นมาจากโจทย์ว่าด้วยเพื่อนบ้านร่วมกัน กล่าวคือ การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเอกราชในกรุงเคียฟ เริ่มต้นมาจากการต่อต้านรัฐบาล Yanukovych ที่ไม่ยอมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับสหภาพยุโรป แต่กลับไปทำความตกลงกับรัสเซียแทน

หากจะกล่าวว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยิ่งทำให้ยูเครนตกอยู่ภายใต้กับดักมหาเกมภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างโลกตะวันตกกับรัสเซียอย่างเต็มตัวก็คงได้

ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสหภาพยุโรปกับรัสเซียยิ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อรัสเซียเข้าไปแทรกแซงทางการทหารในยูเครนภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น Donetsk และ Luhansk รวมทั้งการลงประชามติแยกตัวของไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โลกตะวันตกตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย และขับรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่ม G-8 จนกระทั่งปัจจุบัน

ความตึงเครียดในความสัมพันธ์รัสเซีย-สหภาพยุโรปยังคงดำเนินต่อไป และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบในอนาคตอันใกล้นี้ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันยังถูกเสริมแรงด้วยกระแสอำนาจนิยมผูกขาดอย่างเข้มข้นของระบอบปูติน ซึ่งครองอำนาจนำในการเมืองรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ การจัดการกับฝ่ายต่อต้านปูตินอย่างเด็ดขาด การจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สหภาพยุโรปวิพากษ์ระบอบปูตินมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์เชิงลบของรัสเซียยังทำให้ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในยุโรปไม่ได้มีทีท่าจะลดน้อยถอยลง ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาที่รัสเซียเข้าไปพัวพันกับกระบวนการเลือกตั้งในหลายประเทศ (เช่น สหรัฐฯ) การลอบสังหารอดีตตำรวจลับชาวรัสเซียในยุโรป หรือแม้กระทั่งข้อหาการใช้สารเพิ่มกำลังหรือ ‘ยาโด๊ป’ ของนักกีฬาชาวรัสเซียในการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมา เป็นต้น

 

บทสรุป

 

การเมืองโลกในวันนี้ดูเหมือนจะตั้งอยู่บนภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ระเบียบโลกแบบอเสรีนิยม ปรากฏการณ์ทรัมป์ ความอ่อนแอของระบบประชาธิปไตย การก่อตัวของระบอบฝ่ายขวาประชานิยมหรือเผด็จการอำนาจนิยม ลัทธิการปกป้องทางการค้า และต่างๆ นานา

ภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวงไม่เอื้ออำนวยให้แก่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศเท่าที่ควร แม้ว่าเราอาจเห็นความพยายามในการปรับความสัมพันธ์บนคาบสมุทรเกาหลี แต่กระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือระหว่างประเทศก็ยังคงเปราะบาง และยังต้องอาศัยเวลา

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทวิภาคีคู่หนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อการธำรงรักษาและเสริมสร้างระเบียบโลก อย่างเช่นรัสเซียกับสหภาพยุโรป เป็นกรณีศึกษาที่ย้ำเตือนสภาพความเป็นจริงระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น มากกว่าเป็นข้อยกเว้น ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันไม่ได้เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศใดวิกฤตหนึ่ง แต่มาจากความแตกต่างร้าวลึกระหว่างสองมหาอำนาจ ทั้งในด้านคุณค่า ปทัสถานและอัตลักษณ์ รวมทั้งผลประโยชน์ซึ่งก่อตัวและทวีความสลับซับซ้อนตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา

วิกฤตการณ์ใหญ่อย่างเช่นวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมีย เป็นเพียงภาพสะท้อนของความแตกต่างดังกล่าว และยิ่งทำให้ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจถ่างออกจากกันมากขึ้น

นอกจากนี้ วิกฤตและความตึงเครียดในความสัมพันธ์รัสเซีย-สหภาพยุโรป ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นพ้องต้องกันขั้นพื้นฐานว่าระเบียบระหว่างประเทศในยุโรปควรมีหน้าตาเป็นเช่นใด ในด้านหนึ่ง รัสเซียมุ่งหมายที่จะสถาปนาระเบียบที่ตนเป็นมหาอำนาจที่มีสิทธิยับยั้งเหนือเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และแสวงหาการยอมรับระหว่างประเทศเหนือเขตอิทธิพลในบริเวณ ‘หลังบ้าน’ ของตน ในขณะที่สหภาพยุโรปมุ่งส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศอีกชุดหนึ่ง ที่มีคุณค่าปทัสถานทางการเมืองแบบเสรีนิยมและตลาดเสรี รวมทั้งสิทธิมนุษยชน

การปะทะกันระหว่างระเบียบที่แตกต่างไม่ลงรอยกันดังกล่าวนี้ จะยังคงเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นแรงขับเคลื่อนของภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวง และเป็นข้อจำกัดในการปรับความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปในอนาคตอันใกล้นี้

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save