fbpx

ไม่มีรัสเซียในอุตสาหกรรมหนัง เกม และฟุตบอล เมื่อโลกพร้อมใจกันหันหลังให้รัสเซีย

เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการบุกรุกยูเครนของรัสเซียซึ่งถึงเวลานี้ก็ดำเนินมาจนครบหนึ่งเดือนแล้ว โลกจึงยื่นคำขาดด้วยการโดดเดี่ยวแดนหมีขาวด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ยังผลให้หลังวันที่ 22 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันที่วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีวัย 69 ของรัสเซีย ประกาศรุกคืบเข้าสู่ยูเครนอย่างเป็นทางการ รัสเซียก็กลายเป็นประเทศที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุดในโลกจากจำนวนประเทศที่หันหลังให้ 5,000 กว่าราย (รองลงมาคืออิหร่าน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ ตามลำดับ)

สหรัฐอเมริกาเตะตัดขาด้วยการประกาศยกเลิกการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย ซึ่งถือเป็นกล่องดวงใจกล่องใหญ่เพราะเศรษฐกิจหลักของรัสเซียนั้นพึ่งพิงอุตสาหกรรมพลังงานเป็นหลัก ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรถีบขาคู่ใส่ด้วยการประกาศแผนลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในเวลาไล่เลี่ยกัน ปิดท้ายด้วยการทิ้งศอกใส่ของ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) เครือข่ายการเงินระดับโลกที่ตัดธนาคารใหญ่ของรัสเซียออกจากระบบ ส่งผลให้ชาวรัสเซียไม่สามารถทำธุรกิจใดๆ กับธนาคารต่างชาติได้ และนั่นหมายรวมถึงการไม่อาจค้าขายระหว่างประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย

มองจากภาพรวม หนึ่งเดือนที่ผ่านมา รัสเซียก็เผชิญสภาวะสาหัสสากรรจ์ไม่น้อย และคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชนรัสเซียที่ตื่นมาพบว่าเศรษฐกิจติดลบกว่าที่เคยเป็นมาหลายเท่า ราคาข้าวของต่างๆ กระฉูดขึ้นทันตาเห็น (ดังที่ปรากฏเป็นคลิปวิดีโอชาวรัสเซียต่อแถว-ยื้อแย่งน้ำตาลซึ่งมีจำนวนจำกัดเพื่อเอากลับบ้านไปประกอบอาหาร) เป็นข้อพิสูจน์ว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของโลกนั้นส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรง

และในสังเวียนของการคว่ำบาตรนี้ หมัดเล็กๆ แต่ทรงพลังไม่ต่างกัน คือการคว่ำบาตรทางวัฒนธรรม รวมทั้งสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทฟุ่มเฟือยอื่นๆ

อุตสาหกรรมฮอลลีวูดรับไม้ต่อด้วยการที่สตูดิโอใหญ่ๆ ประกาศไม่ส่งภาพยนตร์ในเครือตัวเองเข้าฉายในรัสเซีย ประเทศซึ่งบ็อกซ์ออฟฟิศนั้นคิดเป็น 3% จากรายได้ทั่วโลก แม้จะไม่ได้เป็นตลาดใหญ่เทียบกับจีน แต่ปีที่ผ่านมารายได้ในแวดวงภาพยนตร์รัสเซียทั้งปีก็อยู่ที่ 445 ล้านเหรียญฯ ซึ่งนับว่าไม่ขี้เหร่อะไรสำหรับช่วงเวลาที่คนยังดิ้นรนต่อสู้กับไวรัสโควิด (อย่างไรก็ดี รัสเซียเคยทำสถิติไว้ลิบลิ่วที่ 1.3 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2013) ดิสนีย์ถือเป็นสตูดิโอใหญ่เจ้าแรกที่แสดงจุดยืนต่อต้านการรุกรานครั้งนี้ว่า “การตัดสินใจทางธุรกิจของเรานั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ปรากฏตรงหน้าเป็นหลัก ในเวลาเช่นนี้ เมื่อพิจารณาถึงการขยายตัวของวิกฤตผู้ลี้ภัย เราได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเอ็นจีโอเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ แก่ผู้ลี้ภัยอย่างเร่งด่วน”

กล่าวจากภาพรวม หนังของดิสนีย์ซึ่งรวมถึงบรรดาแฟรนไชส์ซูเปอร์ฮีโร่จากมาร์เวลด้วย ถือเป็นลูกรักของโรงหนังรัสเซีย ที่ผ่านมา Spider-Man: No Way Home (2021) ทำเงินอย่างบ้าพลังไปทั่วโลกที่ 1.8 พันล้านเหรียญฯ ก็กวาดรายได้จากรัสเซียมาราวๆ 50 ล้านเหรียญฯ หลังออกฉาย และเป็นไปได้มากทีเดียวที่หากดิสนีย์ยังดำเนินนโยบายนี้อยู่ ชาวรัสเซียเป็นอันหมดหวังจะได้ดูหนังภาคต่อ Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) ซึ่งเตรียมออกฉายทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน 

ภายหลังแถลงการณ์ของดิสนีย์ สตูดิโอใหญ่อื่นๆ ก็รับลูกต่อ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ตัดสินใจไม่นำ The Batman (2022) เข้าฉาย เช่นเดียวกับโซนีและพาราเมาต์ ที่ทยอยหยุดทำการตลาดเพื่อโปรโมตหนังของตัวเองในรัสเซีย ฟากสตรีมมิง เน็ตฟลิกซ์ก็ประกาศหยุดให้บริการในรัสเซีย ซึ่งหากดูจากตัวสเลขสมาชิกแล้วอาจไม่ส่งผลกระทบมากนักเพราะมีชาวรัสเซียไม่ถึงหนึ่งล้านคนที่สมัครเป็นสมาชิกของเน็ตฟลิกซ์ 

ฟากวงการฟุตบอล แม้ฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 นี้จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม แต่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ก็ประกาศให้รัสเซียตกรอบก่อนหน้านัดเตะคว้าตำแหน่งไปแข่งฟุตบอลโลกที่การ์ตา โดยให้ประเทศคู่แข่งอย่างโปแลนด์ชนะบายไปก่อน รับไม้ต่อด้วยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (EUFA) ยื่นคำขาดไม่ให้ทีมชาติหรือสโมสรใดๆ จากรัสเซียลงแข่งขันในรายการแม้แต่นัดเดียว ส่วนสมาคมฟุตบอลอังกฤษแถลงการณ์ไม่ลงแข่งขันแม็ตช์ในอนาคตใดๆ กับรัสเซียเด็ดขาด

เรื่อยไปจนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่ออกนโยบายว่าการกีฬาใดๆ ก็ตามนั้น หากจะจัดการแข่งขันต้องไม่เชิญหรือไม่อนุญาตให้มีนักกีฬาจากรัสเซียกับเบลารุส (ซึ่งลงเสียงสนับสนุนการบุกรุกยูเครน) ตลอดจนเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในการแข่งขัน และฟอร์มูลาวัน (F1) ที่ก่อนหน้านี้ทำสัญญารัสเซีย กรังปรีซ์ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ก็ประกาศฉีกสัญญานั้นทิ้งเป็นที่เรียบร้อย ด้วยเหตุผลว่าคงเป็นไปไม่ได้แล้วที่เราจะไปจัดการแข่งขันใดๆ ในรัสเซีย อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการรุกคืบสู่ยูเครน 

เช่นเดียวกับจักรวาลเกมทั้งหลายต่างประกาศจุดยืนต่อต้านสงคราม EA ค่ายเกมใหญ่ที่ประกาศถอดทีมชาติและสโมสรจากรัสเซียทุกทีมออกจากเกม FIFA 22 ที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา, ยูบิซอฟต์ (Ubisoft) บริษัทเกมสัญชาติฝรั่งเศสออกแถลงการณ์ระงับการจำหน่ายเกมทุกชนิดในรัสเซียชั่วคราว, 11 bit studios เจ้าของเกมสงครามชวนจิตตก This War of Mine (2014) ประกาศยกกำไรและรายได้จากเกมให้กาชาดยูเครนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อสงคราม ขณะที่แอปพลิเคชันยอดนิยมของเกมเมอร์อย่าง ทวิตช์ (Twitch) ชี้แจงว่าผู้เล่นชาวรัสเซียทุกรายที่มีบัญชีผูกโยงกับธนาคารรัสเซีย ไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ผ่านทวิตช์ได้ เช่นเดียวกับนินเทนโดที่ระงับการชำระเงินสกุลรูเบิลในระบบชั่วคราว

ยังไม่นับบริษัทเกมเล็กใหญ่อีกหลายเจ้า ที่แสดงจุดยืนต้านสงครามด้วยการคว่ำบาตรผู้เล่นจากรัสเซีย (รวมถึงเบลารุส) ครั้งใหญ่ อาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกๆ ที่อุตสาหกรรมเกมในรัสเซียและเกมเมอร์เจอกับ ‘ตอยักษ์’ เข้าอย่างจัง ประมาณการจากปี 2021 ตลาดเกมในรัสเซียทำเงินไปทั้งสิ้น 3.4 พันล้านเหรียญฯ นิวซู (Newzoo) บริษัทการตลาดสัญชาติเนเธอร์แลนด์วิเคราะห์ว่า หากวัดกันในตลาดเกมมิงแล้ว รัสเซียถือครองตลาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ในยุโรป และนับเป็นอันดับที่ 15 ของโลก การคว่ำบาตรจากอุตสาหกรรมเกมจึงเป็นอีกหนึ่งหมัดหนักที่ส่งผลต่อเกมเมอร์ชาวรัสเซียโดยตรง

ยาสมีน แชร์ฮาน แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ลงในเว็บไซต์ The Atlantic ว่า แม้การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะด้านกีฬา ภาพยนตร์หรือเกม อาจไม่ส่งแรงกระเพื่อมต่อองคาพยพใหญ่ของรัสเซียเท่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหรือด้านการธนาคาร แต่ถึงที่สุด คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดคือประชาชนชาวรัสเซีย ที่วันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าโอนเงินไปต่างประเทศไม่ได้ หนังที่รอให้เข้าฉายมาแรมปีก็ไม่มีมาให้ดู หรือภาพฝันที่อยากเห็นทีมชาติตัวเองลงแข่งในสังเวียนสากลก็กลายเป็นหมันดื้อๆ จากการตัดสินใจของผู้นำปูติน 

โดยเฉพาะกับเรื่องกีฬานี่เอง ที่แชร์ฮานเสนอว่า “ถึงที่สุด ไม่น่าจะมีใครหลงใหลและรักการแข่งขันได้มากเท่าปูติน ผู้ซึ่งใช้เวลาบ่มเพาะภาพลักษณ์ความเป็นชายชาตินิยม (macho-nationalist) มายาวนาน อย่างภาพมีม (meme-ภาพล้อ) ที่ถูกจดจำมากๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขาเล่นฮ็อกกี้น้ำแข็ง มวยปล้ำ หรือเปลือยท่อนบนขี่ม้า การที่องค์กรระหว่างประเทศตัดรัสเซียออกจากอาณาจักรการกีฬา ไม่เพียงแต่เป็นการตัดพื้นที่สำหรับการสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อของปูติน แต่ยังเป็นการทำลายภาพความแข็งแกร่งที่เขาสร้างขึ้นมาด้วย”

“กีฬานั้นสำคัญต่อชาติรัสเซียอย่างแน่นอน – อย่างมากด้วย – เมื่อปี 2010 เมื่อรัสเซียได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลเวิลด์คัพ ประธานาธิบดีปูตินเล่าถึงช่วงเวลาที่ฟุตบอลส่งผลกระทบต่อวัยเยาว์ที่เลนินกราด ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของเขาว่า ‘มันทำให้ผู้คนยืนตรงอย่างสง่าผ่าเผยและเอาตัวรอดมาได้'”

ในด้านกลับของการคว่ำบาตร คอลัมนิสต์ สเปนเซอร์ โบคัต-ลินเดลล์ แสดงความเห็นลงในเว็บไซต์ The New York Times ว่าภายหลังจากสตูดิโอหนังในฮอลลีวูดแถลงการณ์ไม่ส่งหนังมาฉายในรัสเซียนั้น แม็กโดนัลด์ สตาร์บัคส์ก็ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ตลอดจนสหรัฐฯ ที่ถอนวอดก้าจากรัสเซียออกจากห้างสรรพสินค้าทั้งยวงนั้น มาตรการคว่ำบาตรก็ดำเนินไปยังมิติอื่นๆ ซึ่งยังเป็นที่น่ากังขาว่าเหมาะควรหรือไม่ เช่น The Times รายงานว่าองค์กรที่ทำงานด้านสื่อและศิลปะหลายๆ แห่งถูกแหล่งทุน ผู้สนับสนุน หรือคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนโซเชียลมีเดีย กดดันให้ปลดพนักงานที่เป็นชาวรัสเซียคนใดก็ตามที่ยังไม่ออกมาแถลงการณ์ประณามปูติน (ในเวลาต่อมา แซ็กคารี วูลฟ์ บรรณาธิการคอลัมน์ดนตรีคลาสสิกของ The Times ออกมาตั้งคำถามว่า แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรหากนักวาดชาวรัสเซียต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปูตินแล้วทำให้ครอบครัวตลอดจนตัวเองต้องตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่งยวด) 

อีกด้านหนึ่ง อีกอร์ เลวิต นักเปียโนชาวรัสเซียไม่ได้มองว่าการคว่ำบาตรเป็นรายบุคคลเช่นนี้ซับซ้อนอะไร “การเป็นนักดนตรีไม่ได้ทำให้คุณแยกห่างออกมาจากการเป็นพลเมือง หรือความรับผิดชอบใดๆ สักหน่อย การทำตัวเป็นกลางจากพฤติกรรมของคนคนหนึ่ง -โดยเฉพาะเมื่อคนคนนั้นเป็นผู้นำในประเทศบ้านเกิดคุณ – ก่อสงครามกับประเทศอื่นๆ ซึ่งยังผลให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าในประเทศและต่อประชาชน ย่อมเป็นการกระทำที่รับไม่ได้อยู่แล้ว”

และจนถึงเวลานี้ ซึ่งรัสเซียยังไม่ถอนกำลังจากยูเครน ภายใต้บรรยากาศที่โลกทั้งใบพร้อมใจกันบีบเค้นให้รัสเซียหมดที่ทางมากขึ้นเรื่อยๆ การคว่ำบาตรทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอาจยังดำเนินต่อไป ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันไม่เพียงกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นชายที่ปูตินสั่งสมมาทั้งชีวิต แต่เหนืออื่นใด คือมันส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะในยูเครนหรือรัสเซียเองก็ตามที

และหากว่าปูตินยังตะบี้ตะบันลุยยูเครนต่อไป ปลายทางที่ว่ารัสเซียจะถูกโลกโดดเดี่ยวอย่างสมบูรณ์แบบคงไม่ไกลเกินความจริงนัก และนั่นก็อาจไม่ใช่ปลายทางที่ปูตินหรือใครต่อใครวาดฝันไว้ด้วย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save