fbpx
#savechiangmai ในวิกฤตไฟ ฝุ่น โควิด กับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

#savechiangmai ในวิกฤตไฟ ฝุ่น โควิด กับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง

 

 

เชียงใหม่เจอวิกฤตทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ — ฝุ่น PM 2.5, ภัยแล้ง, COVID-19 ระบาด และไฟป่า วิกฤตต่างๆ ที่เชียงใหม่สะท้อนปัญหาอะไรในสังคมไทย และทางออกในเชิงโครงสร้างและคำตอบระยะยาวที่ยั่งยืนอยู่ตรงไหน

101 ชวน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณหมอนักอนุรักษ์ นักดูนก และนักสื่อสารเรื่องธรรมชาติ มาสนทนาเรื่องทุกข์ชาวเชียงใหม่ที่เป็นเรื่องใหญ่ของทั้งสังคมไทย

ฟังรายการ 101 One-on-One Ep.117 : “ทุกข์สามเท่าชาวเชียงใหม่ : ไฟ ฝุ่น โควิด”

 

ไฟป่าเชียงใหม่ : หนักขึ้น นานขึ้น รุนแรงขึ้น และไหม้ในส่วนที่ไม่ควรจะไหม้

 

สถานการณ์ไฟป่าปีนี้หนักหนาครับ จริงๆ ปีที่แล้วก็ถือว่าหนักมากแล้ว แต่ปีนี้มันไหม้ที่ดอยสุเทพซึ่งอยู่ใกล้เมืองมาก ไหม้กันเห็นๆ อยู่หน้าบ้านคน ควันก็รุนแรง ทำให้คนรู้สึกถึงผลกระทบเยอะ แต่ถ้าเราไม่ได้มองในมุมคนเมือง จุดความร้อนที่เกิดรอบนอกตัวเมืองก็มีมาก เทียบกับในอดีตรูปแบบไฟป่าถือว่าหนักขึ้น นานขึ้น รุนแรงขึ้น เฉพาะที่เชียงใหม่ตอนนี้บางวันไฟไหม้ 200 กว่าจุด และเกิดในป่าซึ่งไม่ควรจะเกิด

บ้านเรามีป่าหลายประเภท ป่าที่เกิดไฟไหม้เป็นเรื่องปกติคือป่าเต็งรัง (dry dipterocarp forest) มีอยู่เยอะทางภาคเหนือและภาคอีสาน เป็นป่าที่เกิดขึ้นและปรับตัวตามปัจจัยไฟป่าและมนุษย์มาเป็นหมื่นๆ ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีไฟเกิดขึ้นในป่าประเภทเต็งรัง แต่สิ่งที่ผมแปลกใจคือ ป่าดิบเขาที่มีระดับความสูง 1,000 กว่าเมตรขึ้นไป เป็นพื้นที่ที่มีความชื้นพอจะไม่เกิดไฟป่า และไม่ใช่ป่าที่ปรับตัวกับไฟ  ปีนี้เกิดไฟไหม้ด้วย  อาจจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่มาก แต่มันเยอะและถี่กว่าทุกที แม้ปีนี้ความแล้งจะรุนแรงมาก แต่แล้งอย่างเดียวเกิดไฟป่าไม่ได้ ต้องมีชนวนที่ไปจุดด้วย

การเกิดไฟในป่าสงวนถือว่าเป็นจุดที่ค่อนข้างปกติ ป่าสงวนบ้านเราอยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ และมีคนอยู่ในป่าเต็มไปหมด ใกล้กับพื้นที่ของการเกษตรของชาวบ้าน แต่เขตอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นป่าอนุรักษ์ โดยทั่วไปจะอยู่ห่างไกลจากชุมชน เพราะฉะนั้นก็มักจะไหม้อยู่เฉพาะตรงขอบพื้นที่ แต่ปีนี้กลับไปไหม้อยู่ในส่วนลึกของเขตอุทยาน หรือในป่าส่วนที่ไม่ควรจะไหม้

ในเชิงนิเวศไฟป่าก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ปีที่แล้วเราเจอปรากฏการณ์เอลนีโญมาสองปี เป็นปัจจัยที่ทำให้ป่าแล้งกว่าปกติ ยิ่งก่อนหน้านั้นเรามีฝนดีมาหลายปี มันก็จะมีใบไม้ กิ่งไม้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงเหลืออยู่เยอะมาก เวลาไฟไหม้ทีก็จะรุนแรง แต่สาเหตุของไฟป่า 99.9 เปอร์เซ็นต์มาจากคน เรื่องอื่นๆ เช่น การลุกลามขยายพื้นที่การเกษตรเข้าไปในป่าเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเหตุผลในการจุดไฟในแต่ละพื้นที่ก็คงหลากหลาย คงไม่ได้มีคำตอบเดียว ดังนั้นจะใช้วิธีการเดียวแก้ปัญหาทุกพื้นที่คงจะไม่ได้

 

#savechiangmai

รัฐต้องเอาจริงเอาจัง และแก้ปัญหาที่ต้นตอ

 

ผมไม่ไช่ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์แก้ปัญหานะ แต่เท่าที่ฟังจากหลายเวทีที่ประชุมหาทางออก ผมว่าเราต้องเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว และความต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์อันดับหนึ่ง รัฐควรมีนโยบายลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวบ้าน เพราะวิธีที่ง่ายที่สุดในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกสำหรับชาวบ้านที่ไม่มีรถไถ ไม่มีเครื่องจักรหนักต่างๆ คือการเผา รวมถึงต้องมีกลไกทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ช่วยปรับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การเปลี่ยนชนิดของพืชที่จะปลูก อันนี้คือแก้ที่ต้นเหตุ แต่การแก้ปัญหาเมื่อไฟป่าเกิดขึ้นแล้ว หรือการควบคุมไฟ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และดูแลเฝ้าระวังในระดับชุมชนแต่ละที่ หรือตามจุดความร้อนต่างๆ อาจจะสร้างดัชนีวัดผลขึ้นมา แล้วให้รางวัลหรือมีบทลงโทษ

รัฐยังไม่ได้ประเมินความรุนแรงของปัญหานี้ในระดับที่มันเป็นจริงๆ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก็เลยเหมือนไฟไหม้ฟาง เน้นไปที่การแก้ภาพลักษณ์มากกว่าการแก้ต้นตอปัญหา ผมคิดว่าทรัพยากรที่ลงไปไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับระดับของปัญหาและผลกระทบมโหฬารที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เรายังไม่เห็นเจตจำนงทางการเมืองใดๆ ที่จะแก้ปัญหานี้ จนภาคประชาชนท้อ มันติดอยู่ที่ความเอาจริงเอาจังของภาครัฐ

ในระดับหน้างาน ทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่รัฐในระดับปฏิบัติการที่ทุ่มเทก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงมากมาย แต่ความสนับสนุนจากระดับบริหารหรือส่วนกลางมันน้อยไป คือต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่านี้ มากกว่าการส่งเฮลิคอปเตอร์มาสองสามลำ หิ้วน้ำกันไปทีละกระบุง

การช่วยเหลือของภาคประชาชนก็ไม่ได้รับการประสานงานจากภาคจังหวัดหรือภาคส่วนที่ใหญ่ไปกว่านั้น กลับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่สื่อสาร จริงๆ ประชาชนพร้อมมากที่จะช่วย ไม่ว่าจะช่วยเฝ้าไฟ หรือเอาน้ำดื่มและอาหารไปให้ กระทั่งการส่งเงินให้ก็ติดระเบียบข้าราชการ จึงไม่สามารถทำได้ กลายเป็นว่า ภาคประชาชนอยากจะช่วย แต่ภาครัฐบอก เอาอยู่ ไม่มีปัญหา เพราะถ้าบอกว่ามีปัญหา จะต้องตอบผู้ใหญ่อีกว่าทำไมมีปัญหา แล้วก็รู้สึกเสียหน้า

ผมคิดว่าในทางการเมือง รัฐยังไม่มีความรับผิดรับชอบ (accountability) ทำดีหรือไม่ดีก็อยู่ในอำนาจได้ หากสังคมโดยรวมให้ความสำคัญและน้ำหนักกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องสุขภาพมากขึ้น พวกนักการเมืองต่างๆ ก็จะขยับมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น ยิ่งถ้าภาคการเมืองเป็นระบบเปิด รัฐบาลก็จะมีความรับผิดรับชอบ น่าจะตอบโจทย์ให้กับประชาชนได้ดีขึ้น

 

PM 2.5 ในเชียงใหม่ = บุหรี่วันละซอง

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นมีอยู่หลักๆ ประมาณสักสามสี่อย่าง 1.ไฟจากป่า 2.การเผาในที่โล่งของภาคการเกษตร 3.ภาคอุตสาหกรรมและคมนาคม แน่นอนว่า แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ในกรุงเทพฯ ปัจจัยเรื่องการคมนาคมอาจจะสูง แต่ของเชียงใหม่มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในเมือง มันคือทั้งจังหวัด และยิ่งหนักในชนบท บทวิเคราะห์ออกมาแล้ว สองปีมานี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน เป็นสัดส่วนของไฟป่าสูงที่สุดประมาณ 50% และการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรประมาณ 30-40% ซึ่งแต่ละปีสัดส่วนก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ปัญหาฝุ่นเป็นตัวสะท้อนของความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูล คนในเมืองทราบค่าฝุ่นที่เป็นพิษอันตรายได้ง่าย มีแอปพลิเคชันในมือถือ รู้ว่าเช้าสายบ่ายเย็นอากาศเป็นอย่างไร จะออกไปเมื่อไหร่ แต่ในชนบท แค่การเข้าถึงข้อมูลยังทำได้ยาก การป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งยากใหญ่เลย แอร์ไม่มี เครื่องฟอกอากาศไม่ต้องพูดถึง ศูนย์เด็กเล็กต่างๆ ก็มีสภาพน่าสงสารมาก

ฝุ่น PM 2.5 ทุก 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่ากับการสูบบุหรี่หนึ่งมวน เพราะฉะนั้นบางวันที่ค่าเฉลี่ยขึ้นไปถึง 400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็เท่ากับสูบบุหรี่กันคนละซอง เด็กเกิดมาก็สูบวันละซองแล้วนะ คือเราจะปล่อยให้ลูกเด็กเล็กแดงเติบโตมาด้วยสภาพนี้หรือ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลอย่างแม่แจ่ม สะเมิง หรือแถววัดจันทร์ เป็นพื้นที่ซึ่งหนักหนามาก ผมเป็นห่วง ไอคิวของเด็กในพื้นที่ก็น่าจะไม่ดีด้วย เพราะการเติบโตของสมองและปอดไม่เป็นปกติ ซึ่งมีงานวิจัยออกมาทั่วโลก

ผลกระทบจาก PM 2.5 มีสองแบบ คือผลกระทบระยะสั้นกับผลกระทบระยะยาว ถ้าเปรียบเทียบกับบุหรี่ เราสูบบุหรี่วันนี้ซองนึง เราอาจจะเจ็บคอ แต่เรายังไม่เป็นมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคอัลไซเมอร์ แต่ถ้าเราสูบนานๆ เป็นเวลาสิบปีขึ้นไป มันจะมีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนของร่างกายมากมาย อนุภาคเล็กๆ ของมันผ่านถุงลมในปอดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบ และการเสื่อมของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคหัวใจ โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ ตัวของ PM 2.5 เอง ก็มีสารก่อมะเร็ง ไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ ของเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินหายใจ เป็นตัวก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ใช่แค่มะเร็งปอดอย่างเดียว เนื่องจากมันกระจายไปทั่วร่างกายจึงสามารถทำให้เกิดมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ทุกวันนี้อัตราการเกิดมะเร็งปอดในภาคเหนือสูงที่สุดในประเทศอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นผลจากพันธุกรรมที่แตกต่างจากคนภาคกลางหรือภาคใต้ แต่เป็นผลจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง เรามีมะเร็งปอดในคนไข้ซึ่งไม่เคยสูบบุหรี่เลยในสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าอดีต สมัยก่อนเวลาเราซักประวัติคนไข้ จะถามว่าสูบบุหรี่หรือไม่ ถ้าไม่สูบบุหรี่อาจจะไม่สงสัยว่าเป็นมะเร็งปอดมากนัก แต่ปัจจุบันคนเหนือไม่ใช่แล้วนะ เหมือนคุณถูกบังคับให้สูบบุหรี่โดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้

แล้วคนที่อยู่ในอำเภออย่างกัลยาณิวัฒนา แม่แจ่ม เสียงเขาไม่ดังหรอก ถ้าเขาจะโวยวายอะไร ก็ไม่มีใครได้ยิน อาศัยคนในเมืองเชียงใหม่อาจจะเสียงดังนิดนึง แต่ก็ยังไม่ดังเท่าคนกรุงเทพฯ จริงๆ เชียงใหม่เจอ PM 2.5 มาสิบปี พยายามตะโกนมาตลอด เสียงแหบเสียงแห้ง แต่ทางรัฐไม่เคยฟัง ส.ส.ไม่เคยมาสนใจ นักการเมืองไม่เคยบินมาดู ก็ได้ปีที่แล้วที่กรุงเทพฯ โดนด้วย ถึงมีคนเริ่มสนใจบ้าง เราก็ต้องขอบคุณคนกรุงเทพฯ ที่ทำให้เราได้รับความสนใจมากขึ้น (หัวเราะ)

เวลาได้ยินคนใหญ่คนโตในกรมควบคุมมลพิษหรือจากภาครัฐบอกว่า นี่ไง เขาอยู่มาได้ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ผมรู้สึกเศร้าใจ ถ้ามีทัศนคติแบบนี้ผมก็ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงยังมองว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่

 

ใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหา PM 2.5 และปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยรัฐธรรมนูญ

 

ในฝั่งปัญหาการเผาของภาคการเกษตรต้องเปลี่ยนตั้งแต่นโยบายส่งเสริมพืชที่ปลูก เมื่อไหร่ที่ราคาข้าวโพดขึ้น ฝุ่นควันก็จะสูงตามไปด้วย ควรจะมีกลไกทางเศรษฐกิจ หรือการตรวจสอบว่ามีการเผาหรือไม่ รวมถึงเรื่องที่เราเลี่ยงไม่ได้เลยคือฝุ่นควันข้ามชาติ ถ้าวันนี้เราไปรัฐฉาน จะเห็นว่าภูเขากลายเป็นทะเลข้าวโพดไปแล้ว ซึ่งรัฐฉานหรือในลาว ก็บริษัทไทยนี่แหละที่เข้าไปโดยไม่ต้องใช้วีซ่าพาสปอร์ต ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็รับเคราะห์ร่วมกัน แต่ไม่มีการคุยกันอย่างเป็นรูปธรรมในระดับอาเซียนเลยว่าปีนี้เราจะทำอะไร ถ้าทำไม่ได้ จะเกิดมาตรการอะไรขึ้น

แต่แน่นอนครับ นอกจากเราจะโยนทุกอย่างไปให้รัฐ ตัวเราเองก็คงจะต้องมองว่าเราเป็นจำเลยคดีนี้ด้วยรึเปล่า ในแง่ของคนเมืองก็ต้องพยายามลดการเกิดมลพิษทางอากาศที่คนเมืองลดได้ อย่าไปโยนความผิดให้กับคนในพื้นที่ชนบททั้งหมด เราต้องสำรวจว่าตัวเองมีบทบาทอะไรมั้ยที่ส่งเสริมทำให้เกิดอุปสงค์อุปทานของสิ่งเหล่านี้ การบริโภคเนื้อสัตว์อย่างมาก การกินเห็ดถอบ ก็มีผลต่อการก่อให้เกิดการบุกรุก มันกลายเป็นอุปสงค์อุปทานกันไป ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะเราแชร์ทรัพยากรด้วยกัน

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ทำได้ในฐานะประชาชนคือการเรียกร้องสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ในลักษณะที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทำให้รัฐเห็นหัวเรา ผมคิดว่าเราต้องเรียกร้องสิ่งนี้ แล้วการแก้ไขปัญหาหลายเรื่องที่เราคุยกันมาจะผ่านไปได้ การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีปากมีเสียงมากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหา

ผมเองในฐานะเป็นแพทย์ก็คิดว่าต้องทำหน้าที่ให้คนตระหนัก สร้างความเข้าใจว่าผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างไร ผมไม่อยากให้ตระหนกนะ แต่ตอนนี้ยังไม่ตระหนักเลย ปัจจุบันคนทางเหนือชีวิตสั้นลงไปประมาณสี่ปีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยพื้นที่อื่น เนื่องมาจากทุกคนยังมองไม่เห็นผลกระทบระยะยาวของ PM 2.5 ซึ่งจะต้องใช้ทรัพยากรมากมายในการดูแลคนเจ็บป่วยเหล่านี้ แล้วเราสูญเสียคุณภาพชีวิต สูญเสียกำลังในการพัฒนาประเทศชาติไปอีกเท่าไหร่ถ้าคนต้องเจ็บป่วย

เราเกิดมาน่าจะมีสิทธิในการหายใจอากาศที่ดีพอ สะอาด และต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเลย แต่รัฐปกป้องเราไม่ได้ ผมรู้สึกว่าเป็นความล้มเหลว การแก้ปัญหาหลายอย่างประชาชนทำไม่ได้ สัดส่วนไปอยู่ที่ระดับการเมืองเยอะมาก ต้องใช้กลไกของรัฐ และการพูดคุยระดับภูมิภาค สมัยก่อนผมเป็นนักชีววิทยาที่เคยมองว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่พอเข้าไปคลุกคลีจนถึงขั้นที่ต้องแก้ปัญหาจริงๆ ผมพบว่ามันเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแยกไม่ออก

ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญจะต้องปกป้องสิทธิของธรรมชาติ จะต้องเขียนไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ และต้องมีกลไกในการปกป้องสิ่งแวดล้อม หลายครั้งในกระบวนการพัฒนา เราลืมเอาต้นทุนทางธรรมชาติเข้ามาคิดด้วย ทำให้เราคิดบัญชีผิด เรานึกว่าส่งออกเนื้อไก่อันดับหนึ่งได้กำไรมา แต่จริงๆ เราติดลบเพราะไม่ได้ดูต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและทางสุขภาพเลย ตรงนี้ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญคงช่วยได้ การกระทำใดๆ ที่สร้างความเสื่อมโทรมแก่สิ่งแวดล้อมในระยะยาวต้องไม่เกิดขึ้น

 

โควิด-19 ในเชียงใหม่ & บทเรียนสำคัญ

รัฐต้องลงทุนกับความมั่นคงทางสาธารณสุข

 

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่เชียงใหม่ ตอนนี้ยังไม่เข้าสู่วิกฤต ทรัพยากรทางโรงพยาบาลเรายังรองรับได้อยู่ มีเตียงสำหรับเตรียมไอซียูคนไข้หนักในอัตราที่พอเพียง เราก็เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเต็มที่

ผมเป็นหมอโรคหัวใจเลยไม่ได้ดูคนไข้โควิดโดยตรง แต่ว่ามีคนไข้ในตึกที่เป็น ตอนนั้นเป็นโดยที่ไม่มีใครทราบ เนื่องจากการตรวจเบื้องต้นมีผลออกมาเป็นลบ ทุกคนก็เลยต้องกักตัวกันหมด ต้องระดมทรัพยากรต่างๆ อย่างมาก แพทย์ก็ต้องจัดเวรกัน พยายามไม่ขึ้นเวรพร้อมกันเนื่องจากว่าถ้ามีคนไข้บางคนปิดบังขึ้นมา แล้วแพทย์สัมผัสเชื้อโดยที่ไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ก่อน ก็จะต้องถูกกักตัวทั้งทีม เพราะฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายโรงพยาบาลคือบุคลากรต้องผลัดเวรกัน ช่วงที่อยู่ก็จะหนักหน่อยเพราะมีคนน้อย แต่อย่างน้อยถ้าเกิดอะไรขึ้นก็จะไม่ต้องถอนทั้งทีม

ความน่ากลัวคือการมีคนไข้ที่ไม่มีอาการจำนวนมาก อาการน้อยก็มาก ฉะนั้นเราจะต้องคอยเฝ้าระวัง มองไว้ก่อนว่ามีโอกาสจะเป็นได้เกือบทุกราย ทำให้มีการป้องกันตัวสูง แล้วหมอพยาบาลโดยเฉพาะน้องๆ ที่อยู่หน้างานเขาก็มีครอบครัวที่ต้องกลับไปดูแล  ที่ผ่านมาสังคมก็ให้กำลังใจอย่างดีมาก รวมทั้งผู้บริหารต่างๆ ของกระทรวงหรือทางคณะแพทย์ก็ให้ความใส่ใจ ขวัญกำลังใจก็ยังโอเคอยู่ครับ

นโยบายการรับมือโควิดในแง่สาธารณสุข ผมคิดว่าเรามาถูกทาง สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาคือการเตรียมพร้อมในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับคนหาเช้ากินค่ำ คนที่ไม่ได้มีทุนมากมาย ตรงนี้ผมคิดว่ายังทำได้ไม่ดี มันจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยแบ่งเบาความทุกข์ของคน มาตรการต่างๆ ของเราผมคิดว่าอาจจะดูช้าไปสักเล็กน้อย

นอกจากนี้เราต้องอย่าเพิ่งลดการ์ดลงเร็ว แม้ตัวเลขดูจะลดลงบ้างแล้ว สถานที่บางแห่งอาจจะต้องปิดไปยาวๆ เลย เช่น บ่อน สนามมวย แต่ธุรกิจบางอย่างที่ควรจะเปิดให้ก่อนก็อาจจะพิจารณาเป็นระดับขั้นไป ถ้าเขาได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง แต่มีผลกระทบน้อยต่อการระบาดก็ควรได้รับการเปิดก่อน

วิกฤตคราวนี้สอนผมว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ หลายเรื่องที่เราคิดว่าจัดการได้ ถึงจุดนึงที่มันไม่ได้จริงๆ เราก็เป็นแค่ตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งในห้วงเอกภพ ผมมองว่ามนุษย์ต้องได้บทเรียนจากเรื่องนี้ มีหลายเรื่องซึ่งมนุษย์เราทำให้สมดุลธรรมชาติมันเพี้ยน และเราก็ได้รับผลกระทบ ทั้งภาพใหญ่ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ การบริโภคสัตว์ป่า การเข้าไปทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้เราเข้าใกล้โรคมากขึ้น สูญเสียกันขนาดนี้แล้ว ถ้าเรายังดื้อดึงทำต่อไป ผมว่าคงไม่ฉลาดอย่างยิ่ง ก็คงต้องถอดบทเรียนกันอย่างจริงจัง

บางทีแทนที่เราจะเตรียมกองทัพไว้รบกับอะไรก็ไม่รู้ เราอาจต้องเตรียมคน เตรียมอุปกรณ์เอาไว้สำหรับสู้กับโรคระบาดแล้ว ประเทศไทยต้องมีความมั่นคงทางสาธารณสุขของเราเอง ในมุมมองแพทย์สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ ยารักษาโรค วัคซีน อุปกรณ์ ชุด PPE เวชภัณฑ์ต่างๆ ประเทศไทยแทบจะไม่ได้ผลิตเองเลย หมอพยาบาลบ้านเราถือว่ามีขีดความสามารถดีเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่เราพึ่งพาตัวเองไม่ได้ในแง่ของทรัพยากรด้านเวชภัณฑ์ทั้งหลาย อันนี้อันตราย

ภาครัฐต้องหันกลับมาสนใจ ที่คิดว่าถ้าเกิดสงครามขึ้นมาประเทศไทยจะต้องมีกองทัพพร้อมรบ คนจะมายิงกันแบบสมัยเก่าหรอ มันก็อาจจะไม่ใช่แล้วนะ แต่ถ้าเกิดโรคระบาดขึ้น เราพร้อมจริงรึเปล่า เหตุการณ์โควิดชี้ชัดเลยว่าไม่พร้อม ประเทศไทยเราไม่เคยลงทุนกับความมั่นคงทางสาธารณสุขเลย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save