fbpx
รู้ทัน "ความไม่รู้" เรื่อง "โรคหัวใจ" กับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

รู้ทัน “ความไม่รู้” เรื่อง “โรคหัวใจ” กับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

 

คุณรู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 37,000 ราย ในแต่ละวันมีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ 1,185 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตโรคหัวใจกำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามสังคมไทยและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือสาเหตุอะไรที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจมากขึ้นทุกวัน และทางออกของวิกฤตการณ์นี้อยู่ตรงไหน?

101 คุยกับ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราจะพาคุณย้อนอดีตไปค้นหาต้นตอปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่วิวัฒนาการร่างกายมนุษย์ไปจนถึงหนทางสู่สุขภาพที่ดีขึ้น

แล้วคุณจะพบว่า “โรคหัวใจป้องกันได้โดยเริ่มต้นจากตัวคุณเอง”

 

ภาพจากเฟซบุ๊กนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

 

ปัจจุบันเราได้ยินคนรอบตัวป่วยเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น อยากให้คุณหมออธิบายคำว่า “โรคหัวใจ” เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน 

เวลาคนพูดว่าเป็นโรคหัวใจมักเหมารวมว่าโรคหัวใจมีอยู่ชนิดเดียว ซึ่งความจริงมีหลายชนิดมาก ถ้าไม่เจาะจงชนิดให้ชัดเจนจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย แม้แต่คนไข้เอง นั่งคุยกันบอกว่าเธอเป็นโรคหัวใจ ฉันก็เป็นโรคหัวใจ กินยาตัวนี้ดีนะ แล้วก็แนะนำยากันเองก็มี ซึ่งจริงๆ อาจป่วยเป็นโรคหัวใจคนละแบบกัน เพราะแต่ละโรคมีรายละเอียดอาการแตกต่างแยกย่อยกันไปเยอะมาก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราแบ่งประเภทโรคหัวใจตามส่วนประกอบของหัวใจ อาทิ ลิ้น กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ ก็มีรายละเอียดอาการและการรักษาแตกต่างกันไป

 

โรคหัวใจที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด คือโรคหัวใจประเภทไหน

ในอดีตเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีที่แล้ว คนไทยป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรูมาติกมากที่สุด แต่ปัจจุบันป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าใช้คำอธิบายภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Coronary Artery Disease หรือ โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตันจากการสะสมพอกพูนของไขมันที่ผนังหลอดเลือด มีผลให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแคบลง ทำให้เลือดที่ขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปสู่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกขนส่งผ่านไปได้น้อยลงหรืออาจผ่านไม่ได้เลย ผู้ป่วยมีอาการแสดงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

 

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากอะไรบ้าง

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากความเสื่อมสภาพของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออายุเยอะขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมไปตามสภาพ

ในอดีตมนุษย์ยุคโบราณมีอายุขัยระหว่าง 40-50 ปีเท่านั้น เพราะมักจะเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ ไปก่อน เช่น โรคติดเชื้อ ฝี หรือถูกเสือกัดตาย พอมีวิวัฒนาการก้าวหน้าทางสาธารณสุขทำให้คนอายุยืนขึ้น หลอดเลือดก็เสื่อมไปตามวัย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในสภาพสังคมปัจจุบัน เราพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ ทำให้คนป่วยเป็นโรคหัวใจมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

 

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ

มี 5 ปัจจัย คือโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง และภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเกิดมาจากวิถีชีวิตในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางร่างกายมนุษย์ซึ่งยังเป็นร่างกายเดิมเมื่อสองแสนปีที่แล้ว ถ้าเราย้อนกลับไปดูวิถีชีวิตมนุษย์ยุคโบราณจะพบว่า ร่างกายต้องปรับตัวกับภาวะความอดอยาก กว่าจะได้อาหารแต่ละมื้อต้องออกไปล่าสัตว์ หาอาหารจากธรรมชาติ ปริมาณแคลอรี่จากอาหารที่ได้รับกับปริมาณพลังงานในแต่ละวันจึงพอๆ กัน

แต่นับตั้งแต่มีการปฏิวัติเกษตรกรรมและปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เราพบว่ามีโรคใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะการปฏิวัติดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตของมนุษย์จนต่างไปจากเดิมมาก

การปฏิวัติเกษตรกรรมทำให้มนุษย์เปลี่ยนจากการเร่ร่อนหาของป่ามาเริ่มต้นทำฟาร์ม ส่งผลทำให้มนุษย์กินพืชผักที่ไม่หลากหลายเหมือนในอดีต ได้กินข้าวหรือแป้งซ้ำกัน จนทำให้ร่างกายเริ่มได้รับแคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ส่วนสารอาหารอื่นๆ ที่เคยได้จากความหลากหลายของธรรมชาติก็ลดน้อยลง

พอมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชีวิตมนุษย์ก็สะดวกสบายมากขึ้น การใช้พลังงานในแต่ละวันลดน้อยลงเรื่อยๆ ผลก็คือมีพลังงานมากเกินกว่าการใช้งาน สะสมจนทำให้เกิดโรคใหม่ๆ ตามมา ทั้งโรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ซึ่งทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วขึ้น และกลายเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่ชัดเจนมาก คือ น้ำตาล ตามปกติยีนมนุษย์ได้ถูกออกแบบให้เราวิ่งไปหาน้ำตาลเพื่อสะสมพลังงานเอาไว้ในภาวะอดอยาก แต่เนื่องจากทุกวันนี้ เราไม่ต้องออกไปล่าสัตว์หาของป่า ร่างกายของเราจึงสะสมพลังงานเหล่านี้มากจนเกินสภาพร่างกายต้องการ ถ้าย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มการผลิตน้ำตาล คนยากจนจะยังเข้าไม่ถึง เพราะเป็นของหายาก ราคาแพง แต่ปัจจุบันน้ำตาลกลายเป็นแคลอรี่ราคาถูกที่หาซื้อง่ายมาก

เมื่อร่างกายมนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาให้เจอน้ำตาลเยอะขนาดนี้ เราจึงต้องเผชิญกับภาวะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเกิดขึ้นอย่างมโหฬารเลย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง อย่างการสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน

 

กลุ่มอายุและเพศของผู้ป่วยโรคหัวใจในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

ปัจจุบันมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อก่อนเวลาตรวจคนไข้จะพบตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ตอนนี้อายุ 20 กว่าๆ ก็เริ่มพบเป็นโรคหัวใจกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น พันธุกรรมบางอย่าง หรือการใช้สารเสพติดบางชนิด ซึ่งทำให้เส้นเลือดหดเกร็ง สำหรับผู้หญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าเพศชาย เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนปกป้องอยู่ แต่ถ้าหมดวัยประจำเดือนแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงเท่ากับผู้ชาย

 

จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเป็นอย่างไร

ในอดีตประเทศตะวันตกจะแซงหน้าไปก่อน ตอนนี้อุบัติการณ์ในประเทศเหล่านั้นเริ่มนิ่งแล้ว แต่ประเทศแถบเอเชียกำลังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ  และมีแนวโน้มจะแซงหน้าแล้ว อย่างเช่น จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังเพิ่มขึ้น

 

โอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจระหว่างคนในเมืองกับคนชนบทแตกต่างกันไหม

คนมักเข้าใจว่า โรคหัวใจเป็นโรคของคนรวยมีอันจะกิน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะโรคนี้ไม่จำเป็นต้องกินอาหารปริมาณเยอะ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหารมีแคลอรี่สูงแต่ไม่มีประโยชน์ ทุกวันนี้คนยากจนสามารถหาซื้อแคลอรี่ราคาถูกมากินได้ง่ายเหมือนกัน อย่างเช่นแป้งหรือน้ำตาล โดยเฉพาะขนมเด็ก นอกจากนี้ปัญหาการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนชนบทที่สูงมากก็ส่งผลต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจเช่นกัน

ดังนั้น อย่าไปคิดว่าชาวบ้านชาวดอยออกกำลังกายเยอะไม่เป็นโรคนี้ เพราะชาวบ้านที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ป่วยเป็นโรคหัวใจจำนวนไม่น้อยเช่นกัน คนรวยคนจนจึงมีความเสมอภาคต่อการเป็นโรคหัวใจด้วยกันทั้งนั้น แต่อาจด้วยปัจจัยที่ต่างกัน

 

 

เราจะสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคหัวใจได้อย่างไร

วิธีสังเกตอาการหลักของโรคหัวใจโดยรวมจะมีอยู่ 4 อาการ คือ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ใจสั่น เป็นลมหมดสติ หากมีอาการเหล่านี้จำเป็นต้องมีการซักประวัติและการตรวจพิเศษเพื่อยืนยันเพิ่มเติม เพราะอาการบางอย่างอาจคล้ายกับโรคหัวใจ แต่ไม่ใช่โรคหัวใจ

แพทย์บางคนที่ขาดประสบการณ์อาจให้การวินิจฉัย และการรักษาที่ผิด ยกตัวอย่างเช่น อาการใจสั่น เหนื่อยง่าย อาจเกิดจากความเครียดหรือวิตกกังวล คนไข้บางคนกินยาผิดกันมาเยอะแยะเพราะเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจก็มี

กรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีกลุ่มอาการประมาณสามอย่าง คือ หนึ่ง เจ็บหน้าอกแบบคงที่ สอง เจ็บหน้าอกแบบเฉียบพลันรุนแรง และสาม หลอดเลือดตีบแต่ยังไม่เคยมีอาการ ซึ่งกลุ่มที่สามจะพบมากสุด เพราะเหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ข้างใต้ทะเล เป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้ตัว

 

เราควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อหาหลอดเลือดหัวใจตีบที่ยังไม่แสดงอาการไหม

นี่เป็นปัญหาที่คนเข้าใจผิดเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีกันมาก เราจะเห็นโฆษณาโรงพยาบาลเอกชนเชิญชวนให้ทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ หรือฉีดสีเพื่อรู้ให้แน่ว่าหัวใจตีบหรือเปล่าทั้งๆ ที่ยังไม่มีอาการใดๆ ผมไม่แนะนำให้ไปตรวจเช็คอัพในลักษณะนี้ เพราะคุณจะได้รับความเสี่ยงต่อการรับกัมมันตภาพรังสี และสารเคมีที่ไม่จำเป็นเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก

คำถามคือ ถ้าคุณฉีดสีแล้วเจอหลอดเลือดตีบ คุณจะต้องทำบอลลูนหรือไม่ เพราะยังไม่มีหลักฐานทางงานวิจัยทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่า การไปขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูนโดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีอาการใดๆ จะไปช่วยลดอัตราการตายได้เลย

วิธีเดียวในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจสำหรับคนทั่วไป คือ การค้นหาความเสี่ยง และรักษาควบคุมความเสี่ยงเหล่านั้น ผมแนะนำให้ตรวจสุขภาพเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน สูบบุหรี่ มากกว่าการมองหาว่า คุณมีหลอดเลือดหัวใจตีบนิดๆ หน่อยๆ แอบซ่อนอยู่หรือเปล่า เพราะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ

 

ปัจจุบันมีการส่งต่อข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดเรื่องโรคหัวใจผ่านสังคมออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

สิ่งที่พึงระวังมี 5 ข้อ คือ หนึ่ง ข่าวสารที่แอบแฝงโฆษณาสินค้าธุรกิจสุขภาพ สอง ข่าวสารที่ไม่มีที่มาที่ไป สาม ข่าวสารที่อ้างอิงเสมือนวิทยาศาสตร์ สี่ ข่าวสารที่โน้มน้าวให้เชื่อ และห้า ข่าวสารจากหมอออนไลน์ที่ไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง

ตัวอย่างข้อความในไลน์ที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคหัวใจ เช่น หลังจากการเสียชีวิตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มีคนส่งต่อข้อความจากบุคคลท่านหนึ่งว่า เขาโชคดีที่เพื่อนแนะนำให้ไปตรวจสุขภาพโดยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แล้วเจอว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ หมอเลยสวนหัวใจ ใส่ขดลวด หรือ stent ให้ 3 อัน ทุกวันนี้เขาเลยมีชีวิตอยู่ และแนะนำให้ทุกคนไปตรวจ จะได้มีชีวิตรอดเหมือนอย่างเขา

นี่คือการสร้างความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะคุณได้รับการใส่ stent แก้ไขการตีบของหลอดเลือดหัวใจแค่จุดเดียวเท่านั้น บริเวณอื่นของหลอดเลือดหัวใจที่คุณไม่ได้แก้ไขก็อาจตีบหรืออุดตันภายหลังได้อยู่ดี  โรคหลอดเลือดเสื่อมสามารถเกิดขึ้นกับเส้นเลือดทั่วร่างกาย อย่างเช่นหลอดเลือดสมองก็ยังมีโอกาสอุดตัน และทำให้คุณเป็นอัมพาตได้เหมือนกัน

ดังนั้น การใส่ stent ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการใดๆ จึงไม่ใช่การป้องกันหรือช่วยลดอัตราการตายของบุคคลนั้นแต่อย่างใด หากยังใช้ชีวิตอย่างประมาท ไม่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายที่กล่าวไปแล้ว

 

ภาพจากเฟซบุ๊กนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

 

ขั้นตอนในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ถ้ากินยาเต็มที่แล้วยังมีการเจ็บหน้าอกบ่อยอยู่ เราก็จะแนะนำให้ไปสวนหัวใจฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจว่าตีบเยอะไหม ถ้าตีบตำแหน่งสำคัญ เราจะแนะนำให้ทำบอลลูน ใส่ขดลวดหรือ stent แต่ถ้าเป็นหลายที่มาก ใส่ stent ไม่ไหวก็ต้องทำ by pass หรือการผ่าตัดเบี่ยงเส้นเลือด แต่ทำไปแล้วก็ยังต้องกินยาไปตลอดชีวิตและยังต้องรักษาเรื่องปัจจัยเสี่ยงด้วยเช่นกัน การผ่าตัดเบี่ยงเส้นเลือดถ้ายิ่งทำหลายครั้งก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะรอยแผลผ่าตัดจะมีพังผืด ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย

 

ทำไมบางคนไม่เคยมีอาการโรคหัวใจมาก่อนจึงเสียชีวิตกะทันหัน

กรณีนี้จะเกิดจากผนังไขมันปริจะทำให้หลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันและหัวใจขาดเลือดรุนแรงทันที ผู้ป่วยบางคนอาจมีเส้นเลือดตีบไม่เยอะ ทำให้ไม่เคยมีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาก่อน แต่ถ้ามันปริเมื่อไหร่ก็จะเกิดอาการรุนแรงเฉียบพลัน เมื่อวานอาจแข็งแรงดี แต่วันนี้เสียชีวิตไปแล้ว

อีกสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตกะทันหันมาจากจากภาวะแทรกซ้อนของการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ นั่นคือมีจังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

ในภาวะปกติ หัวใจเราจะถูกกระตุ้นให้บีบตัวโดยมีกระแสไฟฟ้าถูกส่งต่อเป็นระลอกคลื่นกระจายไปทั่วหัวใจอย่างเป็นจังหวะ แต่ในกรณีที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การเดินทางของไฟฟ้าหัวใจไม่ราบรื่น คล้ายกับกระแสน้ำที่ไหลมาเจอก้อนหินขวางกลางแม่น้ำจนเกิดน้ำวน ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีการขาดเลือดเกิดขึ้นแม้เพียงบริเวณเล็กๆ ก็จะทำให้เกิดการหมุนวนของกระแสไฟฟ้าได้ ส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง ถ้าไม่มีเครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจเพื่อหยุดการหมุนวนของสัญญาณไฟฟ้า ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตทันที

 

การช่วยเหลือผู้ป่วยที่หมดสติจากภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันต้องทำอย่างไร

ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้ อันดับแรก ต้องรีบโทร 1669 ขอความช่วยเหลือ และเริ่มปั๊มหัวใจโดยการกดหน้าอก (CPR) จนกว่าความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินจะมาถึง แล้วทำการช็อคไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง AED (Automatic External Defibrillator) เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติอีกครั้ง เพราะเรามีเวลาไม่เกินสี่นาทีเท่านั้น ถ้าสมองขาดออกซิเจนเกินสี่นาทีเซลล์สมองก็จะตาย

ในต่างประเทศมีความพยายามติดตั้งเครื่อง AED นี้ให้มากที่สุด และฝึกอบรมให้คนทั่วไปสามารถใช้เครื่องนี้เป็นมากที่สุด ประเทศไทยเองมีการฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นให้กับประชาชนเยอะมากขึ้นเช่นกัน เพราะเราเดาไม่ได้เลยว่ามันจะเกิดเมื่อไหร่ ปัจจุบันเราจะสังเกตเห็นว่าตามสนามบิน หรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านจะมีการติดตั้งเครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED เอาไว้ ถ้าทำได้ทันอย่างถูกวิธี คนไข้ก็รอด

แต่ปัญหาคือ มันจะเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ คนที่ปั๊มหัวใจและใช้เครื่อง AED เป็นจะมีสักกี่คน และหากไม่มีเครื่อง AED อยู่บริเวณนั้น การเอาเครื่อง AED ไปถึงจุดเกิดเหตุได้เร็วขนาดไหน เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการ เพราะเรามีเวลาสั้นมาก

 

ตัวอย่างเครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED ที่ติดตั้งไว้ในอาคารสนามบิน

 

หากเกิดอาการเจ็บหน้าอกกะทันหันต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ถ้ามีอาการแน่นหน้าอก ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที โดยเรียกรถพยาบาล 1669 ไม่ควรขับรถมาเอง เพราะถ้าเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หัวใจเต้นผิดจังหวะก็จะเสียชีวิตเลย จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจ พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างทันเวลา

 

ตอนนี้ประเทศไทยมีการเตรียมการป้องกันโรคหัวใจมากน้อยแค่ไหน

การรักษาโรคหัวใจในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา เราพัฒนาด้านเทคโนโลยีการรักษาเท่าเทียมอารยะประเทศ และมีหมอหัวใจเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่หมอมักจะไปกระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ คำถามคือ ในเมื่อเราไม่สามารถมีหมอหัวใจกระจายอยู่ทุกที่ได้ แต่โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีโอกาสเกิดทุกที่ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้คนได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันเวลา

ปัจจุบันผมพยายามทำแคมเปญเรื่องเวลาของการรักษามากที่สุด โดยเปลี่ยนวิธีการรักษาจากศูนย์กลางเป็นการกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการมุ่งพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งให้สามารถรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ โดยแพทย์หัวใจตามโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ เป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาตลอดเวลา เราใช้วิธีการให้คำปรึกษาเคสทางไลน์

การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันให้ได้ผลดีต้องรักษาภายใน 2-3 ชั่วโมงนับแต่เริ่มอาการเจ็บหน้าอก เราจึงต้องรักษา ณ ที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด ถ้ามีผู้ป่วยปุ๊บ เจ้าหน้าที่ในชุมชนต้องตัดสินใจว่าจะให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือส่งมาทำบอลลูนที่ศูนย์โรคหัวใจ

ถ้าจำเป็นต้องใช้การแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบันสามารถร้องขอใช้เฮลิคอปเตอร์ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสร้างระบบการรักษาจะดีขึ้นมาก แต่คนก็ป่วยเป็นโรคนี้มาขึ้นเรื่อยๆ เราจะถมช่องโหว่อย่างไรก็คงไม่เต็ม และจะสูญเสียทรัพยากรในการรักษามาก ดังนั้น ควรเน้นที่การป้องกัน นั่นคือต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ อันได้แก่การค้นหาและควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ดี

 

จากประสบการณ์เป็นหมอรักษาหัวใจมายี่สิบปี มีคนไข้กี่เปอร์เซ็นต์ที่กินยาแล้วปรับพฤติกรรมถูกต้อง

ถ้าเรื่องการกินยามีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ปฏิบัติตัวถูกต้อง แต่เรื่องปรับพฤติกรรมเป็นสิ่งที่แก้ยากมาก ถ้าพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยน ยาก็จะได้ผลไม่เต็มที่

 

อาหารเสริมที่มีขายในท้องตลาดช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ไหม

ผมบอกได้เลยว่าการกินอาหารเสริมเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะสุขภาพดีไม่มีทางลัดหรอก ถ้าอาหารเสริมเหล่านี้ดีจริง และได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์จนเป็นที่ยอมรับ ผมรับรองว่าแพทย์เขาสั่งให้คุณกินแล้ว

กว่ายาแต่ละชนิดจะหลุดเข้ามาอยู่ในมาตรฐานการรักษาของสมาคมแพทย์หัวใจทั่วโลกได้ ต้องถูกพิสูจน์อย่างแท้จริงว่ารักษาแล้วได้ประโยชน์ แต่อาหารเสริมพวกนี้ไม่ผ่านมาตรฐานการรักษา เขาก็พยายามหาทางที่จะขายเป็นอาหารเสริม ถามว่างานวิจัยมีไหม ตอบได้ว่า “มี” แต่เป็นงานวิจัยที่ระดับหลักฐานงานวิจัยอ่อนมาก คนที่ไม่ได้เรียนมาเรื่องการวิจัยทางการแพทย์ก็จะตกเป็นเหยื่อ อ่านแล้วแปลไม่ออกว่าน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ

สมมติคนขายอาหารเสริมอัดเม็ดเพื่อลดคอเรสเตอรอล ถามว่ามันลดได้ไหม มันอาจลดได้จริง แต่แค่นิดเดียวเท่านั้น และมันไม่ได้ช่วยลดอัตราการตายของคุณได้เลย แล้วจะกินไปทำไมให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

 

อาหารประเภทไหนที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดเพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงแบบไร้ข้อโต้แย้ง คือ Transfat หรือ ไขมันทรานส์ คือไขมันผ่านกระบวนการความร้อน พวกอาหารที่ผ่านการทอดหรือเบเกอรี่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในอาหารประเภท Junk Food

อีกอย่างที่ต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดคือ น้ำตาล  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำตาลฟรุคโตส ที่ทำจากข้าวโพดหรือ corn syrup เพราะสามารถทำลายหลอดเลือดได้มากกว่าสารให้ความหวานประเภทอื่น เนื่องจากดูดซึมเร็ว ส่งผลให้อินซูลินพุ่งพรวด มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้ง่าย

ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การปรับรูปแบบการรับน้ำตาลให้เป็นอาหารจากธรรมชาติ คือ ผลไม้ที่มีไฟเบอร์ เพราะจะใช้เวลาในการดูดซึมนานขึ้น ต่างจากน้ำตาลหรือสารให้ความหวานสำเร็จรูปที่ดูดซึมเร็ว แป๊บเดียวย่อยหมดแล้ว ทำให้เสพติดความหวาน อยากกินบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน และเสี่ยงต่อโรคหัวใจตามมา

 

คนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง

ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ความเสี่ยงอาจสูงกว่าคนทั่วไป เพราะพันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น แต่ก็ต้องไปดูว่า ถ้าพ่อแม่เป็นโรคหัวใจตอนอายุ 70 ปี ก็ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยง เพราะถือว่าเป็นตอนอายุมากแล้ว แต่ถ้าพ่อเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 45 ปีหรือแม่เป็นก่อนอายุ 55 ปี ถือว่าเป็นความเสี่ยง ถ้าแม่เป็นตอนอายุ 60 ไม่นับเป็นความเสี่ยง ถ้าใครอยู่ในกลุ่มนี้สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเจาะเลือด เช็คหาปัจจัยเสี่ยงจากโรคเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง

 

อายุขัยของคนเป็นโรคหัวใจมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน

มีปัจจัยเยอะมากที่มีผลต่ออายุ ถ้าโรคหัวใจตีบเฉยๆ เพียงเส้นเดียว ไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย อายุของผู้ป่วยจะเท่ากับคนธรรมดาเลย แต่ถ้าเคยมีหัวใจอุดตันมาแล้ว กล้ามเนื้อหัวใจตาย บางส่วนพังไปแล้วก็จะมีแผลเป็นในหัวใจ ถ้าการทำงานของหัวใจลดลงก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถ้ารอบแรกมารักษาช้า คนไข้ก็จะอยู่ในภาวะหัวใจทำงานไม่ปกติ มีแผลเป็น มีพังผืดในหัวใจ ซึ่งมีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจล้มเหลวตามมา โอกาสรอดชีวิตก็ลดลง

การรักษาในปัจจุบันสามารถยืดอายุคนไข้ออกไปได้ยาวขึ้นมาก แต่ก็ควรรักษาที่การปรับพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาร่วมด้วย ไม่ใช่การกินยาเพียงอย่างเดียว

 

ภาระค่าใช้จ่ายที่ประเทศชาติต้องแบกรับจากโรคหัวใจเป็นอย่างไร

ปัจจุบันค่ารักษาโรคหัวใจนับเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะโรคที่มีอัตราตายสูงสุด 3 โรค คือ หัวใจ มะเร็ง และอุบัติเหตุ

ยกตัวอย่างค่าใช้จ่าย ถ้าเป็นชนิดเฉียบพลัน ยาละลายลิ่มเลือดอย่างถูกก็ 6,000-7,000 บาท ค่าสวนหัวใจ บอลลูนก็อาจถึง 40,000-50,000 บาท แค่เหตุการณ์วันเดียวก็หลายหมื่นแล้ว ยาก็ต้องเอามาจากต่างประเทศทั้งหมด เม็ดละ 70-80 บาท คิดดูว่าไทยเราต้องนำเข้ายาเหล่านี้มหาศาล แทนที่จะใช้ทรัพยากรส่วนนี้ไปพัฒนาเรื่องการศึกษา การดูแลสุขภาพ ก็ต้องใช้ดูแลรักษาความเจ็บป่วยของพวกเรา

การรักษาโรคหัวใจต้องกินยาตลอดชีวิต ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย เราสามารถสั่งลดจำนวนยาลงหรือหยุดยาบางตัวได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตโรคหัวใจของประเทศไทยอยู่ตรงไหน

ทางออกที่ดีที่สุด คือ การแก้ที่ต้นเหตุความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ ทั้งโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ภาวะโรคอ้วน และการสูบบุหรี่

เราต้องแก้เชิงนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การขึ้นภาษีน้ำตาล โดนัทบางยี่ห้อที่หวานมากไป ยอมให้ขายได้ไหม เพราะจริงๆ มันเป็นพิษต่อร่างกาย รวมไปถึงการรณรงค์เรื่องการบริโภคซึ่งเป็นนโยบายเชิงป้องกันมากกว่าการรักษาที่ปลายเหตุ และการส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจดังที่กล่าวมาแล้ว

 

ภาพจากเฟซบุ๊กนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save