fbpx

ข่าวลือและการสืบราชการลับในโมงยามหลังการปฏิวัติสยาม

ปฏิวัติสยาม

ผู้อ่านเคยสังเกตหรือไม่ ในห้วงเวลาที่สังคมเผชิญกับความผันผวนสูงจนยากจะคาดเดาว่าแนวโน้มทางสังคมจะดำเนินไปในทิศทางใด ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้อให้เกิดการรับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา มักเกิดข่าวลือคำซุบซิบนินทาแพร่กระจายไปทั่วสังคม ยากที่จะแยกแยะว่าเรื่องใดจริงหรือปลอม

พระนครหลังการปฏิวัติเมื่อ 90 ปีที่แล้วก็เต็มไปข่าวลือต่างๆ นานา ที่ส่งผลต่ออุณหภูมิและบรรยากาศทางการเมืองหลังการปฏิวัติสยาม บทความนี้ผู้เขียนจะทำหน้าที่พาผู้อ่านไปสอดส่องข่าวลือในพระนครยุคดังกล่าว ผ่านการอ่านเอกสาร “รายงานสืบราชการลับ” ซึ่งเป็นเอกสารการจดบันทึกของบรรดาสายลับฝ่ายคณะราษฎรที่ปรากฏขึ้นหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 (ในข้อเท็จจริงแล้ว การมีสายลับนั้นมีทั้งฝ่ายผู้นำใหม่และผู้นำในระบอบเก่า)[1] นอกจากนี้ยังมีการรายงานจากผู้ประสงค์ดีต่อคณะราษฎรที่เตือนว่าจะเกิดเหตุร้ายอย่างไรต่อกลุ่มผู้นำใหม่

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ประสงค์ให้ผู้อ่านเชื่อถือหลักฐานหรือการบันทึกเหล่านั้น เนื่องจากอาจเป็นการเล่าปากต่อปากแล้วนำมาเขียนรายงาน หรืออาจจะปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อรายงานก็ย่อมได้ แต่ความสำคัญของหลักฐานเหล่านี้คือทำให้เห็นบรรยากาศหลังการปฏิวัติสยามที่มีความหวาดระแวงกันสูงมาก มีการแพร่สะพัดของข่าวลือ รวมถึงทำให้เห็นว่าคนกลุ่มใดหรือประเด็นใดเป็นที่จับตามองของกลุ่มผู้นำใหม่ซึ่งเข้ามากุมอำนาจบริหารประเทศ

ในทศวรรษ 2470 บรรยากาศในสยามแพร่สะพัดด้วยข่าวลือที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายเรื่องด้วยกัน บ้างก็ว่า ‘เจ๊กจะลุก’ เพื่อล้มระบอบกษัตริย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 มีดาวหางดวงหนึ่งหัวพุ่งไปทางทิศตะวันออก มีหางยาวพาดผ่านท้องฟ้ากรุงเทพฯ น่าหวั่นว่าจะเกิดเหตุร้าย บ้างก็ลือกันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตเช่นเดียวกันกับในตอนปลายรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้างก็ว่าจะเกิดโรคห่า ข้าวยากหมากแพง[2]

ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่ามีคนเจอผู้เฒ่าหนวดเครายาวสีขาว แต่งตัวเหมือนชีปะขาว เดินถือไม้เท้าอยู่แถวสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ จากนั้นหายตัวไป บ้างตีความว่านั่นคือพระวิญญาณของรัชกาลที่ 1 อันถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี บ้างก็ตีความว่าเป็นพระวิญญาณของพระเจ้าตากสินและถือว่าเป็นลางร้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ดี เมื่องานสมโภชพระนครและเฉลิมฉลองพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 ผ่านพ้นไปในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 โดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ข่าวลือต่างๆ ก็ดูจะสงบลง[3]

กระทั่งย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรยึดอำนาจรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สำเร็จและเร่งควบคุมสถานการณ์ให้เข้าสู่ความเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว ในเย็นวันดังกล่าวได้มีการประชุมร่วมกับคณะเสนาบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ และตกลงกับคณะราษฎรถึงวิธีปฏิบัติราชการ[4] ต่อมามีคำสั่งออกมาว่า เปิดรับสมัครราษฎรเพื่อช่วยเหลือคณะราษฎรโดยให้ “สมาชิกคณะนี้มีหน้าที่ชี้แจงปลุกใจให้ประชาชนเข้าใจความหวังดีของคณะ แลสืบหาทางที่จะปลอดภัยของคณะ[5] ซึ่งผู้เขียนมีสมมุติฐานว่าบางส่วนของกลุ่มนี้จะกลายเป็นสายลับทำหน้าที่สืบเสาะหาข่าวแก่คณะราษฎร

ถัดมาอีก 2 วันหลังการปฏิวัติ ในวันที่ 26 มิถุนายน ปรากฏว่ามีคำสั่งไปยังเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ให้จัดทำ ‘คำแถลงการณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้’ ส่งทางโทรเลขไปยังสถานทูตสยาม ณ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อทราบทั่วกันเสียและปฏิบัติการไปตามหน้าที่ โดยกระทรวงการต่างประเทศต้องส่งร่างคำแถลงการณ์นั้นมายังพระที่นั่งอนันตสมาคมก่อน[6] ดังนั้นพอจะเห็นได้ว่าในช่วงต้นปฏิวัติไม่กี่วัน ภารกิจของฝ่ายคณะราษฎรส่วนหนึ่งคือความพยายามจัดการให้เกิดความสงบ ชี้แจงทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อไม่ให้เกิดความแตกตื่น

ต่อมาเพียง 4 วัน มีการลงบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์ โดย หลวงอนุรักษ์รัถการ ได้เขียนบทความ ‘พฤตติภาพแห่งการกระทำของคณะราษฎร’ เนื้อหาแสดงให้เห็นการแพร่สะพัดของข่าวลือที่ไม่ได้ส่งผลดีต่อกลุ่มผู้นำใหม่ พร้อมทั้งพยายามชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องการกระทำของคณะราษฎรแก่ผู้อ่าน ส่วนหนึ่งในบทความมีความว่า

“การกระทำของคณราษฎรที่ได้ปรากฏมาแล้วในครั้งนี้ สำหรับราษฎรผู้ที่มีสติหรือสมองไตร่ตรองหาเหตุผลก็จะทราบเรื่องอันเปนจุดหมายของคณโดยแท้ แต่ทว่าในเมืองไทยมีราษฎรจำนวนไม่น้อยที่ยังชอบลือและชอบกระจายข่าวลือหรือชอบเชื่อข่าวลืออาจทำให้ความคิดแปรปรวนไปต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่าในขณะนี้มีข่าวลือกันว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมรวบรวมตำรวจและทหารจะมาจู่โจมคณราษฎร และทางฝ่ายเหนือลือกันว่า พระราชายากับพระองค์ทศศิริวงศ์รวบรวมกำลังทหารภาคเหนือจะมาปราบปราม ข่าวลือทั้งสองเรื่องนี้เปนการตรงกันข้ามกับความจริงทั้งสิ้น กลายเป็นว่าทั้งฝ่ายเหนือและใต้ต่างยินดีสนับสนุนให้กิจการของคณราษฎรดำเนิรไปโดยเรียบร้อย…”[7]

ส่วนถัดมาของบทความมีความพยายามชี้แจงต่อผู้อ่านว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยทรงรับรองด้วยพระราชหัตถเลขา และแม้ว่าจะมีการยึดอำนาจ แต่ก็ไม่มีการกระทำรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความหวาดระแวงเรื่องกลุ่มพระราชวงศ์จะถูกทำร้ายนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ในส่วนสุดท้ายของบทความนี้ยังบรรยายให้เห็นถึงบรรยากาศในพระนครขณะนั้นว่า  “กรมกองต่าง ๆ แผนกตำรวจทำงานกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา”   เนื่องจากกรมกองต่างๆ ของแผนกตำรวจในกระทรวงมหาดไทยต้องทำหน้าที่ระวังรักษาการณ์อย่างเข้มงวด จนส่งผลให้หัวหน้าและพนักงานต้องอยู่ประจำสำนักงาน แทบไม่ได้กลับบ้าน[8]

ส่วนบรรดาหลักฐาน ‘รายงานสืบราชการลับ’ มีลักษณะเขียนด้วยลายมือ ใช้ทั้งนามแฝง นามจริง และหมายเลขแทนตัวสายลับ จดหมายหลายฉบับเรียนไปยังหลวงนฤเบศร์มานิต และสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ  มีการรายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ  เช่น กรรมกร นักหนังสือพิมพ์ ข้าราชเก่าที่ถูกปลด และกลุ่มเจ้านาย เป็นต้น ซึ่งเหล่าสายลับจะกระจายสอดส่องทั่วพระนคร บ้างอยู่ตามหน้าบ้านของบุคคลต้องเฝ้าระวัง บ้างอยู่ตามร้านกาแฟ เช่น ร้านกาแฟนรสิงห์ที่เป็นแหล่งหาข่าวในยุคนั้น โรงพิมพ์ สถานที่ทำงานของชาวจีน ราชกรีฑาสโมสร และตามต่างจังหวัดในบางจังหวัด

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพระสงฆ์เป็นผู้ส่งจดหมายมารายงานด้วย เช่น จดหมายลงลับของ พระครูมหาโต ความในจดหมายเล่าเรื่องราวในต่างจังหวัดโดยมีผู้มาเล่าให้ท่านฟัง ว่า

“…อาตมาภาพได้ทราบว่าเวลานี้มีพวกข้าราชการในตำแหน่งและนอกตำแหน่ง คบคิดกันจัดคนที่มีปากออกไปเที่ยวปลุกใจราษฎรตามจังหวัดต่างๆ โดยอ้างเหตุว่าเจ้าคุณแลพวกคณราษฏรทำการเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัว…แลเขายังพูดให้ฟังว่าเวลานี้มีคนใช้ของนายพลนอกราชการหลายคนแยกย้ายกันไปทางจังหวัดอ่างทอง เพื่อปั่นแลปลุกใจราษฎร แลเขาพูดว่าที่จังหวัดอ่างทองนั้น มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แลเจ้านายเปนกำลังอยู่หลายคนซึ่งไม่มีความซื่อตรงต่อคณะราษฎร ส่วนเจ้านั้นเกี่ยวแก่ฝ่ายตำรวจ แลมีการส่งข่าวติดต่อกับกรุงเทพฯ โดยเหตุนี้อาตมาจึงเสนอข่าวส่งมาให้เจ้าคุณและทางคณะราษฎรทราบ เพื่อจะได้คิดจัดการป้องกันแก้ไข… แลอาตมาภาพยังได้เห็นใบปลิวแลข่าวที่เขาติเตียนพวกคณราษฎรต่างๆ นาๆ แลยังมีพวกคณเจ้าเขาตั้งขึ้นกับมีพวกราษฎรแลจีนรวมกัน ตั้งเปนคณอั้งยี่เวลานี้มีอยู่หลายตำบล ขอให้ท่านเจ้าคุณแลพวกของคณราษฎรระวังให้ดี…”[9]

แม้ว่าเรื่องราวที่มีการบันทึกเหล่านี้ยากจะพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ แต่ก็ชี้ให้เห็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริงหลังการปฏิวัติว่ามีการส่งข่าวลือและสืบเรื่องราวไม่ชอบมาพากลส่งมายังคณะราษฎร ประเด็นที่น่าสนใจคือมีการรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับการรวมกลุ่มหรือการริเริ่มสมาคมที่เกิดขึ้น เช่น รายงานฉบับหนึ่งแจ้งมายังหลวงนฤเบศร์มานิต หัวหน้ากองสืบในขณะนั้น บรรยายว่ามีการเริ่มตั้งสมาคม เช่น ‘สมาคมช่วยอาชีพทหารกองหนุน’ ‘สมาคมทหารกองหนุน’ [10]  และ ‘สมาคมคณะชาติ’ [11]

บางรายงานแสดงให้เห็นการสอดส่องเรื่องคอมมิวนิสต์และชาวจีนในสยาม มีการตามสืบตามแหล่งโรงเลื่อย โรงสี ท่ารถ และโรงน้ำแข็งอันเป็นแหล่งที่มีชาวจีนทำงานอยู่ เช่น มีการรายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ว่า “…ไม่กี่วันก็เกิดทิ้งใบปลิวคอมมูนิตนั้น ….จึงเขียนมาให้ทราบว่าทำลายคอมมูนิสต์นั้นทำไม่ถูกมาก บ่อเกิดอยู่ปากคลองสานธนบุรี…”[12] และบางรายงานก็มีการโยงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับชาวจีนจนเนื้อหาดูน่าเหลือเชื่อ ว่า

“…ผมได้ทราบความมาว่าจีนชาติไหหลำเจ้าของโรงสีไฟยี่ห้อฮงลี ตั้งอยู่ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนาน้อย อยุธยา เป็นคนชอบพอมีความสนิดสนมกันมากกับกรมพระกำแพงเพ็ชร์จนเป็นที่ไว้วางใจที่เกี่ยวตลอดจนทรัพย์สมบัติ จึงน่าสงสัยว่าเจ้านายไทยกับจีนไหหลำทำไมจึงมีการสนิดสนมกันเช่นนั้น

ในเรื่องที่จับพวกคอมมูนิสที่ถนนบรรทัดทองก็ได้ความว่าเป็นพรรคพวกอำเภอนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกัน จึงเรียนมาเพื่อเป็นทางดำริห์สืบสวนคิดว่าถ้าตรงก็จะสาวเข้าไปถึงต้นเข้าของพวกหนุ่มสยามได้”[13]

รายงานประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะส่งผลต่อกลุ่มผู้นำใหม่อย่างมาก คือรายงานที่บ่งบอกว่าจะเกิดการลอบสังหารหรือลอบทำร้ายคณะราษฎร เช่น รายงานของ นายสม สายะวิบูลย์ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 เตือนว่า

 “…กระผมได้ยินข่าวเล็กน้อยโดยหวังดีให้ทราบว่า ใต้เท้าแลคณอย่าไปไหนโดยลำพังเปนอันขาด ตลอดจนหลวงประดิษฐฯ แลอย่าได้วางใจว่าจะไม่มีอันตราย เพราะพวกรักเจ้ามีมากมายที่ไม่ควรวางใจ พระภิกษูซึ่งปล่อยให้เดิรในระยะใกล้ชิดอีกต่อไป โดยที่อาจจะมีผู้รับสินจ้างหาโอกาสปลอมแปลงกระทำการมิดีมิร้ายขึ้นได้…”[14]

อีกฉบับที่ปรากฏในเอกสารรายงานเรื่องสืบราชการลับเป็นจดหมายวางแผนกำจัดพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่ง และไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่คาดว่าการปรากฏของจดหมายดังกล่าวอาจส่งผลต่อความตึงเครียดทางการเมืองอยู่บ้าง

“…เรื่องที่จะกำจัดพระยาพหลฯนั้น เจ้าคุณจงกราบทูลท่านว่าอย่าวิตกเลย สิ่งของสำเร็จอยู่ใกล้พระองค์ท่านแล้ว โดยให้ช่างทำหีบเหล็กลงยาสลักลวดลายอย่างวิจิตเปนของมีค่า ขนาดกว้างหกนิ้ว ยาวสี่นิ้ว สูงเท่าด้านกว้าง ภายในหีบบรรจุวัดถุระเบิดชนิดแรง กลไกที่จะทำให้ระเบิด ซ่อนอยู่ที่รูกุนแจ ไขเมื่อไรจะระเบิดเมื่อนั้น เอาหีบนั้นบรรจุหีบไม้ส่งถึงพระยาพหลฯ ในจดหมายนำส่งให้ลงนามชายเยอรมันผู้หนึ่งที่ชอบกับพระยาพหลฯ เมื่อครั้งอยู่นอก ในจดหมายบอกว่าส่งของขวัญมาให้ในการคิดการสำเหร็จ ทำอย่างไรพระยาพหลต้องเปิด ในวังปารุสต้องระเบิดพังพินาจ…”[15]

ทั้งนี้ ไม่ใช่แต่เพียงฝ่ายคณะราษฎรที่ได้รับการรายงานว่าจะถูกลอบทำร้ายไปจนถึงลอบสังหาร ฝ่ายเจ้านายเองก็อยู่ในภาวะหวาดระแวงเช่นกัน เช่น การที่เจ้านายบางพระองค์ได้ยินข่าวลือว่า ‘จะจับเจ้าเอาไปฆ่า’ ทำให้มีการย้ายออกจากวัง หรือเสด็จไปอยู่ต่างจังหวัดกันจำนวนมาก[16]

จากที่กล่าวมาผู้อ่านอาจจะพอเห็นภาพบรรยากาศของการแพร่สะพัดของข่าวลือ และประเด็นที่กลุ่มผู้นำใหม่ให้ความสนใจและระมัดระวัง ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานการสืบราชการลับอันเป็นเอกสารที่ผู้เขียนค้นพบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จึงนำมาเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อยเพื่อให้เห็นเหตุการณ์บางอย่างในห้วงเวลาที่สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเมื่อ 90 ปีที่แล้ว



[1] เช่น การเขียนบันทึกของ โพยม โรจนวิภาต ที่เล่าว่าฝ่ายเจ้านายก็มีสายลับไว้เพื่อสอดส่องเช่นกัน โปรดดู อ.ก. รุ่งแสง (นามแฝง), พ.27 สายลับพระปกเกล้า : สารคดีประวัติศาสตร์เรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยาย, (กรุงเทพฯ : วสี ครีเอชั่น, 2547).

[2] แถมสุข นุ่มนนท์, ละครการเมือง 24 มิถุนายน 2475, (กรุงเทพฯ: หอรัตนชัยการพิมพ์, 2545), หน้า 1.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2.

[4] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.16/21 เรื่อง คำสั่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร คราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475).

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.16/6 เรื่อง ให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งข่าวเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง.

[7] ศรีกรุง 28 มิถุนายน 2475.

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.16/28.  เรื่อง พระครูมหาโต.

[10] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.16/25. เรื่อง รายงานผู้สืบราชการลับ.

[11] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.16/27 เรื่อง รายงานผู้สืบราชการลับ.

[12] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.16/30   เรื่อง รายนามผู้สืบราชการลับ.

[13] เรื่องเดียวกัน.

[14] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.16/26 เรื่อง รายงานผู้สืบราชการลับ.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร. 0201. 16/ 22 เรื่อง รายงานผู้สืบราชการลับ.

ปฏิวัติสยาม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save