fbpx

จงฟังข่าวลือ มาร์ติน ชมิด หนุ่มน้อยที่ถูกลือว่าตายจนกลายเป็นชนวนปฏิวัติของเชโกสโลวาเกีย

ลองนึกดูว่าคุณแค่ใช้ชีวิตง่วนอยู่กับการสอบในมหาวิทยาลัย แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็มีคนรายงานว่าคุณถูกตำรวจตีจนตาย ประชาชนจึงโกรธจัดและลงถนนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้คุณ เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ในประเทศที่ในเวลาต่อมาได้รับการขนานนามว่าการปฏิวัติกำมะหยี่ของเชโกสโลวาเกีย

แต่ฮัลโหล! กูยังไม่ตายจ้า!

ในบรรดาวีรบุรุษ วีรสตรี ที่เป็นชนวนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของแต่ละประเทศด้วยการจับปืน นำทัพผู้คน หรือแม้แต่เสี่ยงตายสู้อำนาจรัฐนั้น มาร์ติน ชมิด นักศึกษาหนุ่มน่าจะเป็นชนวนที่มีประวัติเรียบง่ายและหวือหวาน้อยที่สุด เพราะแรงกระเพื่อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศบ้านเกิดนั้นมาจาก ‘ข่าวลือ’ ว่าเขาถูกตำรวจซ้อมจนเสียชีวิต อันส่งผลให้ผู้คนซึ่งแค้นเคืองรัฐบาลอยู่ก่อนแล้วลงถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจและกดดันให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ในแง่นี้ ข่าวลือจึงส่งผลสะเทือนถึงระดับโครงสร้างของสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของนายชมิดและการปฏิวัติของเชโกสโลวาเกีย ขอชวนกลับมาพินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ในบ้านเรา เมื่อราวสามสัปดาห์ก่อนแฮชแท็ก #ข่าวลือ สะพัดไปทั่วทวิตเตอร์จนคนกดค้นหาและรีทวิตในหัวข้อเดียวกันกว่าหนึ่งล้านครั้งในเวลาเพียงข้ามคืน กว่าครึ่งถามไถ่และตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้โดยไม่ได้ระบุหัวข้อโดยตรง แต่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไร เป็นบรรยากาศรวมหมู่ที่คุกรุ่นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่ทุกคนขยิบตาเป็นนัยว่าเข้าใจกันและกันดี ขณะที่สื่อกระแสหลักหลายเจ้า – ซึ่งปกติก็ ‘ไว’ ต่อประเด็นในทวิตเตอร์ ขนาดแฮชแท็กไหนพุ่งขึ้นหลักแสนยังคว้ามาเขียนเป็นเรื่องเป็นราว – พร้อมใจกันปล่อยมือจากประเด็นนี้

ปรากฏการณ์ ‘ข่าวลือ’ ที่เกิดขึ้นหนาหูจนอาจจะเรียกได้ว่าเอิกเกริกนั้น ถูกบ่มเพาะและให้อาหารโดยสภาวะไร้การตรวจสอบและปราศจากความโปร่งใสของบ้านเมือง ข่าวสารบางประเด็นซึ่งเอาเข้าจริงก็น่าจะพูดได้ว่าอยู่ในฐานะ ‘ไม่อาจตรวจสอบได้’ จึงล่องลอยอยู่ในหมู่ประชาชน ขยับขยายพื้นที่ด้วยความใคร่รู้และกระหายอยากเข้าใจ ปนเปด้วยความไม่มั่นคงและความหวาดหวั่น เกิด ‘วงใน’ ขึ้นมาอีกราวๆ ยี่สิบกว่าวง ที่นอกจากจะต้องฟังหูไว้หูแล้ว ก็ไม่รู้ว่าต้องฟังใครบ้าง ลำพังในค่ำคืนเดียวนั้นเข้าใจว่ามีวงในเกิดขึ้นจำนวนมหาศาล ราวกับคนครึ่งประเทศทำงานอยู่ในอาคารเดียวกัน และฝากฝังเพื่อนพ้องน้องพี่มากระจายข่าว บวกรวมกับยุคสมัยที่การส่งต่อข้อมูลนั้นง่ายดายแค่ปลายนิ้วคลิก เลยกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้เปลวเพลิงโหมกระหน่ำอยู่ในนามของข่าวลือ

อันที่จริง ก่อนหน้านี้สังคมไทยกับ ‘ข่าวลือ’ ไม่ได้แยกขาดจากกันในเสียทีเดียว เราอาจจะคุ้นเคยกับข่าวลือที่ปรากฏในรูปแบบของข่าวไกลตัวและไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เป็นข่าวซุบซิบที่ล่องลอยโดยยังไม่มีใครยืนยันความจริงให้เราได้ และบางทีเราก็อาจไม่อยากได้รับการยืนยัน เพราะไม่ได้ส่งผลใดๆ กับเรา อย่างข่าวดาราไม่กินเส้น ลือกันว่าคนนั้นบาดหมางกับคนนี้ หรือข่าวลือการย้ายทีมของนักฟุตบอล ที่อาจจะส่งผลต่อความรู้สึกมากขึ้นมาหน่อยหากคุณเชียร์ทีมใดทีมหนึ่งเป็นพิเศษ (ขยิบตาให้นายแฮร์รี เคน หนึ่งที) ไล่เรื่อยไปจนถึงในระดับที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตเราอย่างข่าวลือในทำเนียบกับการแตกหักหรือหันมาจูบปากของผู้คนที่อยู่กินได้ด้วยภาษีจากประชาชน ที่มักจะมีนักข่าวอาวุโสออกมาแก้ข่าวให้อยู่เนืองๆ

ตลอดจนข่าวลือในเดือนพฤษภาคมนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากความอยากรู้อยากเห็นของประชาชน ยังมีความหวาดหวั่น มีความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงบางประการ ความพยายามควานหาคำตอบที่แน่ชัดเป็นหลักแหล่งก็เพื่อให้ตัวเองได้อิงแอบกับข้อเท็จจริงนั้น ซึ่งคำตอบอย่างเป็นทางการและแน่นอนเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้เลยในสังคมที่ปราศจากความโปร่งใส อีกทั้งเผลอๆ ยังอาจจะยินดีปล่อยให้ ‘ข่าวลือ’ ได้กระจายตัวต่อไป เพื่อกลบ ‘ข่าวจริง’ บางอย่าง ซึ่งเอาเข้าจริงก็นับเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งของการสร้างกระแสข่าวลือขึ้นมาด้วย

ไฮเฟิง ฮวาง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเคยตั้งข้อสังเกตไว้ในงานวิจัย A War of (Mis)Information: The Political Effects of Rumors and Rumor Rebuttals in an Authoritarian Country เมื่อปี 2015 ว่า ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ข่าวลือต่อต้านรัฐบาลมักแพร่หลายอยู่ในหมู่ประชาชน และเป็นต้นธารสำคัญที่ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐบาลนั้นลดน้อยถอยลงไป จนบีบให้รัฐบาลต้องปราบต้นตอข่าวลือนี้ไว้ เพื่อยึดเอาความรู้สึกเชื่อมั่นไปจนถึงภักดีของประชาชนกลับมาให้ได้ เพราะหลายครั้งหลายหนที่ข่าวลือกลายเป็นต้นตอสำคัญของการล่มสลายของรัฐบาล หรือเป็นต้นธารในการลุกฮือขึ้นประท้วง

และเรื่องของชมิดก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของความทรงพลังจากข่าวลือ

ปี 1989 เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองของเชโกสโลวาเกียในนามของการปฏิวัติกำมะหยี่ (The Velvet Revolution) ที่ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกีย ซึ่งปกครองอยู่พรรคเดียวเป็นเวลานาน 41 ปีเต็ม ถึงจุดจบและผลัดใบไปสู่การปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐระบบรัฐสภา โดยปราศจากการเสียเลือดเสียเนื้อ จนได้ชื่อว่าเป็นการปฏิวัติอันอ่อนโยน หากแต่ต้นธารที่ส่งผลให้มวลชนแค้นเคืองและลงถนนร่วมแสนคนมาจากข่าวลือที่ว่า มีนักศึกษาถูกนายตำรวจสังหารหลังเข้าร่วมการประท้วง ส่งผลให้ประชาชนที่อัดอั้นอยู่แล้วรู้สึกว่าพวกเขาไม่อาจอดทนได้อีกต่อไป และกลายเป็นชนวนการประท้วงครั้งใหญ่กลางกรุงปราก 

ทั้งนี้ ชาวเช็กนั้นอ่อนไหวกับข่าวสารเรื่องการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจต่อประชาชนอยู่แล้ว เนื่องจากพวกเขาเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเมื่อครั้งที่พรรคนาซีเยอรมันบุกเข้าปกครองในปี 1939 การปฏิวัติกำมะหยี่ในครั้งนี้จึงเริ่มขึ้นในวันรำลึกครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์ที่ทหารนาซีปราบผู้ต่อต้านในมหาวิทยาลัยกลางกรุงปรากเมื่อปี 1939 จนมีนักศึกษาถูกจับไป 1,200 คนและถูกสังหาร 9 ราย

เมื่อมีข่าวลือว่าการลงถนนเพื่อประท้วงพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียส่งผลให้ มาร์ติน ชมิด นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งเสียชีวิตจากการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงกลายเป็นการโหมเชื้อเพลิงเข้าสู่สภาวะอารมณ์อันคุกรุ่นของพวกเขา จนมีผู้คนเข้าร่วมการชุมนุมเรือนแสนในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น

แต่เรื่องของเรื่องคือ นายมาร์ติน ชมิด ไม่ได้ถูกสังหาร อันที่จริง ระหว่างที่ข่าวลือว่าเขาถูกนายตำรวจฆ่าตายแพร่สะพัดไปทั่วประเทศ ข้ามพรมแดนไปยังยุโรปและอเมริกา เจ้าตัวยังง่วนอยู่กับการเข้าชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย รู้ตัวอีกที เขาก็ถูกรัฐบาลที่กำลังจนตรอกจากพลังความกราดเกรี้ยวของมวลชนลากให้ไปออกรายการต่างๆ เพื่อยืนยันว่าเขายังไม่ตาย แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปแล้ว

มาร์ติน ชมิด นักศึกษาชั้นปีที่สอง ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขากำลังจะกลายเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการปกครองครั้งใหญ่ของเชโกสโลวาเกีย จากการให้ข่าวของ ดราโฮมินา ดราซกา พนักงานยกกระเป๋าที่หอพักนักศึกษาย่านโทรยา กรุงปราก ไปยังสถานีวิทยุ Radio Free Europe ก่อนจะรับไม้ต่อโดยสำนักข่าวใหญ่อย่าง BBC กับ Voice of America จนกลายเป็นว่า คนที่จับตาดูชะตากรรมการตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง) ของเจ้าหนุ่มชมิดไม่ได้มีแค่ชาวเช็กเท่านั้นแล้ว แต่ยังหมายรวมถึงคนยุโรปและคนอเมริกาที่เอาใจช่วยให้ผู้ประท้วงบรรลุสิ่งที่เรียกร้อง

ข่าวลือในครั้งนั้นส่งผลรุนแรงมากเสียจนเกิดคลื่นมหาชนลงถนนเพื่อกดดันรัฐบาลร่วมสองแสนคน (บางที่บอกว่าถึงห้าแสน) อีกสองวันถัดมา ชมิดจึงถูกรัฐบาลควานหาตัวแทบพลิกแผ่นดินเพื่อเอาเขาไปออกรายการโทรทัศน์ และยืนยันว่ายังปลอดภัยดี ไม่ได้ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อนิจจาที่ระบบการบันทึกเสียงและภาพของรายการต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากเสียจนดูและฟังแทบไม่รู้เรื่อง คนดูจึงไม่อาจรู้ได้เลยว่าเจ้าหนุ่มน้อยในโทรทัศน์นี้เป็นใคร การนำชมิดมาออกรายการโทรทัศน์เพื่อ ‘ยืนยัน’ ว่าข่าวลือไม่เป็นจริงของรัฐบาลจึงล้มเหลวในเวลาเพียงไม่กี่นาที เมื่อประชาชนไม่เชื่อและยังคงออกมาสมทบกันที่ถนนอย่างหนาตา จนในอีกไม่กี่วันต่อมา ไมลอส ยาเกส ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เป็นอันสิ้นสุดการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวที่กินเวลามาร่วมสี่ทศวรรษ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ภายใต้บรรยากาศของการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของยาเกสที่ปิดกั้นสื่อทุกชนิดมาอย่างยาวนาน ช่วยไม่ได้เลยเมื่อในที่สุดแล้วมันได้สร้างมวลบรรยากาศความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ และสิ่งนี้ปรากฏออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อคำแถลงการณ์ว่าชมิดไม่ได้ตายของรัฐบาลยาเกสนั้นไร้ราคาในสายตาของประชาชน สภาวะการปิดกั้นข่าวสารที่รุนแรงและเข้มข้นมาอย่างยาวนานได้ฝังรากความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวงจากประชาชนสู่ผู้ปกครอง ซึ่งระเบิดตัวกลายเป็นการเรียกร้องให้ยาเกสลาออกในที่สุด

กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาร์ติน ชมิด ก็ยังไม่เข้าใจว่าตัวเองถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร และภายหลังก็ให้สัมภาษณ์อย่างงุนงงว่า “ผมกลายเป็นจุดสนใจของคนทั้งประเทศ โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าทำไม และทำอะไรเพื่อชาติได้บ้าง” เขายังพูดอีกว่า “และไอ้ความย้อนแย้งอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ คือการบอกความจริงเพื่อสยบข่าวลือก็อาจสร้างผลประโยชน์ให้ระบอบคอมมิวนิสต์ตอนนั้น แต่ในอีกด้าน ถึงอย่างไรก็ต้องมีคนออกมาบอกความจริงสิ”

และแน่นอนว่าเขาตัดสินใจให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในตอนนั้น ก็เพื่อเผยแพร่บทสัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้ตาย หรือไม่ได้ถูกทำร้าย เพียงแต่ระบบการอัดภาพและเสียงนั้นย่ำแย่มากเสียจนนอกจากคนดูจะไม่รู้ว่าอีหนุ่มนี่เป็นใคร มาออกรายการทำไม แล้ว พวกเขายังเชื่อว่ารัฐบาลพยายามจะโกหกอีกต่างหาก

“ญาติๆ ผมสักโหลนึงได้ยินข่าวลือนี้เหมือนกัน พวกเขากลัวจนไม่กล้าโทรศัพท์มาที่ครอบครัวผมเพื่อตรวจสอบข่าวด้วยซ้ำ ผมเลยต้องพยายามยืนยันว่าผมสบายดี แต่ดันทำให้พวกเขาคิดว่าผมเป็นนายตำรวจสายลับที่ฝั่งคอมมิวนิสต์ส่งมา แล้วสร้างเรื่องให้ตัวเองตายเพื่อจะได้สืบคดี” ชมิดเล่า

“และเอาเข้าจริงๆ ช่วงเวลาเดียวที่ผมได้คุยกับตำรวจ คือตอนที่พวกเขาบอกให้ผมหยุดเล่นกีตาร์บนรถไฟสักทีเท่านั้นเอง” ปัจจุบันชมิดอายุราวห้าสิบปี มีครอบครัวเป็นเรื่องเป็นราว และแทบไม่ปริปากให้สัมภาษณ์เรื่องที่เขาเคยต้องเจอเมื่อปี 1989 อีกเลย

อย่างไรก็ดี กลับมายังบ้านเรา ‘ข่าวลือ’ กลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์และการเมืองไทยเสมอมา มันเคยล่องลอยอยู่ในวงกินข้าวเย็นในครอบครัว วงเหล้ากับเพื่อนฝูง และค่อยๆ ทวีบทบาทอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต กลายเป็นแฮชแท็กที่เห็นอยู่ตำตาแต่ยากจะพูดถึงโดยตรง ซึ่งเพียงเท่านี้คงพิสูจน์ถึงเสรีภาพอันจำกัดจำเขี่ยและความโปร่งใสที่ลดน้อยถอยลงตามความเติบโตของวัฒนธรรมข่าวลือไปได้ในตัวอยู่แล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save