fbpx
กฎแห่งการมีกิริยาเป็นที่รัก

กฎแห่งการมีกิริยาเป็นที่รัก

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

Barack Obama, Bill Gates, Bill Clinton และ Mozart มีสิ่งหนึ่งร่วมกัน นั่นก็คือ การถนัดมือซ้าย ส่วนพระพุทธเจ้าและประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา คือ George Washington ก็มีสิ่งหนึ่งร่วมกัน ได้แก่ การมี “กฎกติกา” ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อ “ความสำเร็จ”

​เมื่อประมาณ 270 ปีก่อน George Washington เมื่อครั้งเป็นเด็กหนุ่มอายุ 12-16 ปี สนใจ “กฎเกณฑ์” ชุดหนึ่งที่แต่งโดยพระฝรั่งเศสในคริสต์ศาสนา ตั้งแต่ ค.ศ. 1595 เขาชอบมากจนถึงกับคัดลอกด้วยลายมือตนเอง

“กฎกติกา” นี้มีชื่อว่า “ Rules of Civility and Decent Behavior in Company and Conversation” (กฎของการมีพฤติกรรมที่งดงามเหมาะสมในการสังคมและการสนทนา) ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 110 ข้อ ​

คำที่น่าสนใจก็คือ “civility” ซึ่งไม่มีคำแปลตรงกับภาษาไทย แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมของเรามายาวนานแล้ว ความหมายสั้นๆ ของคำนี้ก็คือ ความสุภาพในกิริยามารยาทและคำพูด ให้เกียรติผู้อื่น ตลอดจนมีทัศนคติที่ดี คำในภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ การมี “ความเป็นผู้ดี” ซึ่งมิได้หมายถึงการเป็นคนชั้นสูง มียศถาบรรดาศักดิ์ มีเงินมีทอง ฯลฯ กฎกติกานี้สำคัญเพราะจะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในชีวิต ​

“civility” มาจากคำว่า “civilis” ในภาษาละติน ซึ่งหมายถึง “citizen” (พลเมือง) รากของคำนี้นำไปสู่การตีความที่หลากหลายตามแต่ยุคสมัย เป็นคำที่มีนัยยะกว้างขวางและถกเถียงกันได้เสมอเหมือนคำว่า “ประชาธิปไตย” (democracy) ​

ตัวอย่างของ Rules of Civility หรือ“กฎเกณฑ์” ของความงดงามและเหมาะสมข้างต้น เช่น (1) ทุกการกระทำในทางสังคมควรคำนึงถึงการให้เกียรติคนทั้งหลายเสมอ (2) เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น อย่าฮัมเพลงให้ตนเอง หรือเคาะนิ้ว หรือขยับเท้า (3) เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น อย่าเอามือไปวางบนส่วนลับของร่างกาย (4) หากไอ จาม ถอนหายใจ หรือหาว อย่ากระทำด้วยเสียงอันดังและอย่าพูดขณะที่หาว ฯลฯ

เหตุใด “กฎเกณฑ์” เหล่านี้จึงมีความสำคัญขนาดต้องบันทึกไว้ถึง 110 ข้อ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในโลกตะวันตก คำตอบก็คือเพราะ “ความงดงามและเหมาะสม” ในการปรากฏตัวต่อหน้าผู้อื่นและการเข้าสังคมมีผลอย่างสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ในสายตาผู้อื่น ตลอดจนมีผลต่อการมีทัศนคติและการสร้างความประพฤติของตนเอง

​คำสำคัญสองคำใน “กฎกติกา” แห่งความงดงามและเหมาะสม คือ “politeness” (ความสุภาพ) และ “courtesy” (การมีมารยาท และการให้เกียรติผู้อื่น) สองสิ่งนี้เมื่อประกอบกันจะทำให้บุคคลหนึ่งเป็นที่น่าคบหาสมาคม

คนโบราณมองเห็นว่า civility เป็นคุณลักษณะสำคัญของมนุษย์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ใครก็ตามที่ไม่มี “กฎกติกา” นี้ ยากที่จะบรรลุซึ่ง “ความสำเร็จ” ได้ เพราะไม่มีใครชอบความหยาบ ความไร้มารยาท การไม่ให้เกียรติ ความแข็งกระด้าง ฯลฯ ​

สิ่งนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้ากับ George Washington ยึดถือร่วมกัน กล่าวคือ พระสงฆ์ก็มี “กฎกติกา” แห่งความงดงามและเหมาะสมเช่นกัน พระสงฆ์ต้องมีศีล 227 ข้อไว้กำหนดการดำรงชีวิต เพราะพระพุทธเจ้าทรงต้องการให้สมมติสงฆ์ หรือหมู่ภิกษุเป็นตัวอย่างของกลุ่มผู้หลุดพ้นแล้วจาก “โลภะ โทสะ โมหะ” ให้ปรากฏเป็นที่เลื่อมใสต่อสายตาฆราวาส และในการจะบรรลุ “ความสำเร็จ” นี้ “กฎกติกา” 227 ข้อนี้เป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง

​ตัวอย่างของศีล 227 ข้อ ซึ่งถือได้ว่าเป็น rules of civility ได้แก่ (1) ห้ามปล่อยที่นอนไว้ไม่เก็บงำ (2) ห้ามรับบิณฑบาตเกิน 3 บาตร (3) ห้ามจี้ภิกษุให้หัวเราะ (4) ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว (หรือตกใจ) (5) ห้ามเดินทางร่วมกับโจรหรือพ่อค้าผู้หนีภาษี (6) ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ (7) ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น (8) ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่ (9) จักไม่หัวเราะดังเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น (10) จักไม่เอามือค้ำกาย (เดินเท้าเอว) ฯลฯ

​สังคมไทยรู้จัก “สมบัติของผู้ดี” ซึ่งเรียบเรียงเป็นหนังสือในปี พ.ศ. 2455 โดยเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) “กฎกติกา” สำหรับผู้มีกาย วาจา ใจ อันสุจริต (ความหมายของผู้ดี) ชุดนี้ แบ่งออกเป็น 10 บท โดยแต่ละบทกล่าวถึงหลักปฏิบัติแยกย่อยลงไปอีก ​

บทที่ 1 : ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย / บทที่ 2 : ผู้ดีย่อมไม่ทำอุจาดลามก (หลักปฏิบัติย่อย เช่น ย่อมใส่เสื้อผ้าแต่งตัวอันสะอาดและแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง ย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ประชุมชน ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ประชุมชน ฯลฯ) / บทที่ 3 : ผู้ดีย่อมมีสัมมาคารวะ / บทที่ 4 : ผู้ดีย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก / บทที่ 5 : ผู้ดีย่อมเป็นผู้มีสง่า / บทที่ 6 : ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี / บทที่ 7 : ผู้ดีย่อมเป็นผู้ใจดี / บทที่ 8 : ผู้ดีย่อมไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว / บทที่ 9 : ผู้ดีย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง / บทที่ 10 : ผู้ดีย่อมไม่ประพฤติชั่ว ​

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุมีผลอย่างเป็นที่ยอมรับกันว่างดงามเหมาะสมในบริบทของสังคมไทยอย่างกลมกลืนกับมาตรฐานสากล

​มนุษย์โดยทั่วไปไม่ชอบคนมีกิริยาไม่สุภาพ ชอบสบถสาบาน ดูถูกผู้อื่น คุยโตโม้อวด มีทัศนคติเป็นลบต่อผู้อื่น ฯลฯ ฉันใด เราก็ไม่ควรเป็นคนฉันนั้น

คำพูดของฝรั่งที่ว่า “style is more important than substance” (ท่วงท่าสำคัญกว่าน้ำยา) ใช้ได้กับเรื่องของ civility คนๆ หนึ่งอาจมีความรู้เก่งกาจ (มีน้ำยา) แต่หากไร้มารยาท ไร้ความสุภาพ ไร้สัมมาคารวะ ไร้การให้เกียรติผู้อื่น (ไม่มีท่วงท่า) แล้ว ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมไทย

ดังนั้น civility จึงนำไปสู่การสร้าง “กฎกติกา” แห่งความงดงามและเหมาะสมในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มิใช่เรื่องโบราณที่ควรมองข้ามไปอย่างเด็ดขาด ​

อีกความหมายของ civility ก็คือสถานการณ์ที่พลเมือง (ที่ดี) ทั้งหลายพึงกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันก็ตาม โดยการให้เกียรติกันอย่างเคารพความแตกต่าง ในความหมายนี้ civility ไปไกลกว่าความสุภาพและการให้เกียรติกัน เนื่องจากกินความถึงการเคารพคนที่เห็นไม่ตรงกับเราด้วย

​“กฎกติกา” แห่งความงดงามและเหมาะสมในการเข้าสังคมเกิดขึ้นภายในตัวบุคคล ไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ยกเว้นตนเอง บ่อยครั้งที่เจ้าตัวมองข้ามความสำคัญของ civility และถึงไม่มองข้ามก็มักมองไม่เห็นตัวเอง การมีทัศนคติฝังใจ (mindset) ที่ไม่คับแคบเท่านั้นที่จะช่วยให้ “กิริยาเป็นที่รัก” เกิดขึ้นได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save