fbpx
สุดสองขั้วนิติธรรมไทย

สุดสองขั้วนิติธรรมไทย

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

 

หนึ่งในสาเหตุของการเกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบล่าสุดนี้คือวิกฤตภาวะนิติธรรมของประเทศ แต่ความขัดแย้งอยู่ตรงที่ความเข้าใจและการประเมินสถานการณ์นิติธรรมของประเทศไทยที่แตกต่างกันระหว่างคนสองกลุ่ม

ถ้ากรุงเทพมหานครเป็นภาพตัวแทนประเทศไทย จากสายตาคนนอกที่มองเข้ามา ภาพของประเทศไทยนั้นดูจะขัดแย้งกันเองอย่างบอกไม่ถูก

ในแง่หนึ่ง ประเทศไทย ‘เจริญ’ ไม่น้อยหน้านานาอารยประเทศ อยากกินซูชิโอมากาเสะก็ได้กิน จะกินเชฟเทเบิล มิชลินสตาร์ก็ได้กิน ครัวซองต์ หรือสเต็กก็มีครบสิ้น ร้านอาหารใดๆ จากทั่วทุกมุมโลกก็พอจะหาสาขาที่ประเทศไทยได้ไม่ยากนัก

แต่ประเทศไทยนั้นเป็น ‘ประเทศกูมี’ ถ้าใครจะทำทัวร์เดินเท้าประวัติศาสตร์ความรุนแรงรัฐไทย เดินจากสะพานผ่านฟ้าไปจบที่ธรรมศาสตร์ หรือจากหัวมุมถนนสีลมไปจบแถวๆ สี่แยกปทุมวันก็พอจะจัดได้ มีเรื่องราวไม่น้อยให้บอกเล่า ถึง ‘ประเทศที่ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร’

ความย้อนแย้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองไปด้วย ในขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามตะโกนให้สังคมไทยตื่นขึ้นมายอมรับว่าหลักนิติธรรมประเทศนี้มีปัญหา คนจำนวนไม่น้อยยืนยันหนักแน่นว่า ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่มีปัญหาอะไร บ้านเมืองยังดี เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง คนที่โวยวายคิดมากไปเอง ประเทศที่เจริญขนาดนี้จะขาดหลักนิติธรรมได้อย่างไร นั่นต้องเกาหลีเหนือ หรือสักแห่งในแอฟริกาโน่น

แล้วใครถูก ใครผิด

แรกเริ่ม หลักนิติธรรม (Rule of Law) ถูกนำเสนอขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจผู้ปกครอง ในขณะที่กษัตริย์ในยุโรปอ้างเทวสิทธิ์ (divine right to rule) ก็มีผู้พยายามอ้างถึงสิทธิธรรมที่สูงกว่าอำนาจบนโลก ทั้งหลักธรรมศาสนา จารีตประเพณี หรือความดีงามและเหตุผลตามธรรมชาติ เพื่อปรามกษัตริย์ไว้ แต่หลักนิติธรรมอย่างที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้จริงๆ เริ่มเมื่อนักกฎหมายรัฐธรรมนูญชาวอังกฤษ Alfred Van Dicey (1885) เขียนอธิบายหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษว่าอยู่บนหลักนิติธรรมสามประการ คือ 1. บุคคลต้องไม่ได้รับโทษหากไม่ได้กระทำความผิดที่กฎหมายขณะนั้นกำหนดไว้ 2. กฎหมายใช้บังคับกับบุคคลโดยทั่วไป ทุกคนขึ้นศาลเดียวกันเสมอหน้า และ 3. รัฐธรรมนูญจึงเป็นผลมาจากจารีตประเพณีนี้ ซึ่งไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายเหมือนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

จากนั้นหลักนิติธรรมก็ได้พัฒนาคลี่คลายต่อไปอีกเป็นอันมาก ตามแต่การตีความเสริมเติมแต่งโดยนักนิติศาสตร์ทั้งหลาย จึงอาจกล่าวได้ว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่านิติธรรมเป็นสิ่งพึงปรารถนา แต่ไม่อาจตกลงกันได้ว่า นิยามชัดเจนของนิติธรรมคืออะไร

ตัวอย่างความคลี่คลายของหลักนิติธรรม อาทิ ในรัฐสภาอังกฤษปี 2006 ลอร์ดบิงแฮม (Lord Bingham) เสนอสรุปแก่นของหลักนิติธรรมไว้ 8 ประการ แปลอย่างรวบรัด คือ 1. กฎหมายที่ชัดเจน สามารถเข้าถึงได้ 2. ข้อพิพาทเรื่องสิทธิและความรับผิดต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ดุลพินิจ 3. บุคคลเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย 4. กฎหมายต้องมีหลักประกันเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน 5. กระบวนการระงับข้อพิพาทต้องไม่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินควร หรือล่าช้าเกินจำเป็น 6. รัฐบาลต้องใช้อำนาจอย่างมีเหตุผล ได้สัดส่วน สุจริต ไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด 7. กระบวนวิธีพิจารณาความต้องเป็นธรรม และ 8. รัฐต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ไม่แน่ชัดว่าระบบกฎหมายและรัฐบาลของสหราชอาณาจักรจะทำตามหลักนิติธรรมได้ครบทุกข้อไหม แต่ชัดเจนว่านี่คืออุดมคติที่รัฐนั้นอยากไปให้ถึง และคงบรรลุผลไม่น้อยไม่ต้องสงสัยเลย

ตัวอย่างสุดท้ายของหลักนิติธรรม คือ World Justice Project ที่จัดทำดัชนีเปรียบเทียบนิติธรรมทั่วโลกขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดทั้ง 8 นั้น ได้แก่ 1. ต้องมีกลไกควบคุมการใช้อำนาจรัฐ 2. ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน 3. กลไกรัฐบาลโปร่งใส 4. คุ้มครองสิทธิพื้นฐานประชาชน 5. ความสงบและมั่นคง 6. กฎเกณฑ์มีการบังคับใช้ได้ผลจริง 7. มีกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง และ 8. มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดี

ที่น่าสังเกตคือ จากตัวชี้วัดของ WJP หลักนิติธรรมไม่ใช่เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องประสิทธิภาพรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจด้วย ในตัวชี้วัดแต่ละข้อ เกณฑ์ย่อยๆ ที่ใช้ประเมิน อาทิ กฎเกณฑ์ที่ออกมามีเหตุผล ไม่เป็นอุปสรรค ไม่สร้างต้นทุนโดยไม่จำเป็น สถาบันตุลาการมีความเป็นกลาง เป็นมืออาชีพ เอกชนจะไม่ถูกยึดทรัพย์สินไปตามอำเภอใจรัฐ

เราจึงอาจสรุปได้ว่า หลักนิติธรรมปัจจุบันนั้นแบ่งเป็นสองส่วน นิติธรรมในความหมายดั้งเดิม หรือนิติธรรมในกฎหมายมหาชน กับนิติธรรมในกฎหมายเอกชน

ประเทศไทยเรามี (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เคยมี) ความสามารถในการธำรงนิติธรรมในส่วนของเอกชนไว้ได้ จึงเป็นแหล่งลงทุนของเอกชนจากนานาประเทศ และเป็นที่มาของความมั่งคั่งและความเจริญของประเทศที่เห็นกันในวันนี้ ระบบกฎหมายแพ่งและธุรกิจของเราพัฒนาทัดเทียมอารยประเทศ กฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีการรับรองกรรมสิทธิ์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการลงทุน ระบบภาษีอากรที่เข้าใจได้และไม่ขูดรีดจนเกินไป มีกระบวนการระงับข้อพิพาท ทั้งศาลและอนุญาโตตุลาการที่เป็นมืออาชีพ

แต่ความอารยะในนิติธรรมของไทยหยุดลงแค่ที่กฎหมายเอกชนขีดเส้นเอาไว้ หากก้าวล่วงเข้ามาในแดนกฎหมายมหาชน เราคาดหวังนิติธรรมได้น้อยเต็มที การรัฐประหารเป็นการทำลายนิติธรรมที่ร้ายแรงที่สุด การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร การรับรองคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ การยอมรับการใช้อำนาจฉุกเฉินที่ตัดอำนาจศาลในการตรวจสอบ การยอมรับกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การปฏิเสธกฎหมายต่อต้านการอุ้มหาย ตุลาการภิวัตน์สองมาตรฐาน ทั้งหมดนี้ทำลายนิติธรรมทั้งสิ้น นิติธรรมใดที่ยังเหลืออยู่ไม่ใช่เพราะได้รับการยอมรับเคารพ แต่เพราะผู้มีอำนาจยังเมตตาไม่ล่วงละเมิดมันต่างหาก

เพราะฉะนั้น ใครมองไปที่ภาคเอกชนก็คงเห็นแต่ความอารยะของระบบกฎหมายไทยในขณะที่ใครได้คลุกคลีกับโครงสร้างอำนาจของรัฐไทยก็ต้องเห็นความป่าเถื่อนของรัฐ เลี่ยงไม่ได้เลย

การที่นิติธรรมของไทยสองด้านต่างกันสุดขั้วอาจจะมาจากวิธีการมองโลกแบบข้างใน-ข้างนอกก็ได้ ในด้านเศรษฐกิจไทยเชื่อมกับเศรษฐกิจโลก เป็นด้านนอกที่แสดงออกสู่โลกภายนอก จึงต้องศิวิไลซ์ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ส่วนการเมืองเป็นเรื่องภายในที่ใครไม่ใช่พ่อก็ไม่ควรมายุ่งเกี่ยว โลกภายในจึงเป็นโลกโบราณที่นิติธรรมไม่ถูกนำมาพูดถึง

ความปรารถนาใฝ่ฝันของปีกอนุรักษนิยมไทย คือธำรงสภาวะสุดขั้วสองด้านของนิติธรรมไทยให้อยู่ชั่วกัลปาวสาน แต่คำถามคือ สภาพสุดทั้งสองขั้วเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน เมื่อการเมืองกับเศรษฐกิจนั้นเกี่ยวข้องกันเสมอ ผู้มีอำนาจการเมืองนั้นก็มักจะเป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากไปด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต้องเกี่ยวข้องกับทุนหรือธุรกิจใดสักอย่าง อาจจะเป็นรับเหมาก่อสร้าง เหมืองแร่ โทรคมนาคม เวชภัณฑ์ หรือค้าปลีกอะไรก็แล้วแต่ เป็นไปไม่ได้ที่อำนาจการเมืองจะไม่ถูกใช้เพื่อสนับสนุนทุนเครือข่ายเหล่านี้สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันอื่น หรือกำจัดศัตรูในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ การใช้อำนาจรัฐช่วยนายทุนเหมืองแร่ต่อสู้กับชาวบ้านท้องถิ่น

ความใฝ่ฝันของปีกอนุรักษนิยมจึงเป็นฝันเฟื่องที่ไม่มีวันเป็นจริง ฝันเฟื่องที่รังเกียจตำรวจกังฉินรีดไถ อยากปฏิรูปตำรวจให้เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่เอาหูไปนา เอาตาไปไร่กับความรุนแรงที่ตำรวจกระทำต่อผู้ชุมนุมที่เห็นต่างทางการเมืองจากพวกตน ไม่รู้สึกรู้สมอะไรเมื่อนายตำรวจออกมาพูดปดต่อหน้าสาธารณะเรื่องการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล หารู้ไม่ว่าการนิ่งเฉยต่อคำปดเช่นนี้นั่นล่ะคือใบอนุญาตจากนายให้ลูกน้องละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนพื้นฐานได้

ถ้าระบบเอื้อให้ตำรวจใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบสำหรับวัตถุประสงค์ทางการเมืองแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตำรวจย่อมหาหนทางใช้อำนาจพิเศษเช่นนี้ นอกจากเพื่อสนองนายแล้วก็ต้องหาลำไพ่พิเศษต่างๆ ซึ่งชาวอนุรักษนิยมเองนั่นล่ะที่รังเกียจหนักหนา ความปรารถนาของพวกเขาจึงเป็นเหมือนหมาที่วิ่งไล่หางตัวเองเป็นวงกลม มองเห็นอยู่ตรงหน้าแต่ไม่มีวันไขว่คว้าได้มาจริง

สุดท้ายสังคมไทยจึงมีทางเลือกสองทาง คือ ยอมให้นิติธรรมทั้งหมดพังล้มลงไป หรือยืนยันหนักแน่นว่าเราต้องยึดมั่นในนิติธรรมทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือการค้า

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save