fbpx
จุดไฟสันติภาพกับ ‘รักชาติ สุวรรณ’

จุดไฟสันติภาพกับ ‘รักชาติ สุวรรณ’

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

รักชาติ สุวรรณ เพิ่งได้คะแนนโหวตให้เป็นประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา

นอกจากต้องคลุกคลีตีโมงกับโจทย์เดิมๆ อย่างการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อรับมือกับเหตุความรุนแรงอยู่แล้ว ล่าสุดเมื่อรัฐบาลต้องการเอาพื้นที่กว่า 16,000 ไร่ในอำเภอจะนะ จ.สงขลา ไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

ในฐานะที่สมาทานการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยวิถีสายพิราบเป็นทุนเดิม เขาประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังความเห็นประชาชนที่คิดต่างและขอให้หยุดคุกคามนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าเสียงประกาศจะแผ่วเบาจากมุมของคนถือและเข้าข้างอำนาจ แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงจุดยืนอันชัดแจ้ง แจ่มชัดในทัศนะประชาธิปไตยที่เชื่อในสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะเป็น 1 ใน 12 คนที่ถูก กอ.รมน. แจ้งข้อหา ป.อาญา มาตรา 116 (ความผิดฐานปลุกปั่นยุยง) จากเวทีเสวนาแก้รัฐธรรมนูญของ 7 พรรคฝ่ายค้าน เมื่อเดือนกันยายน 2562 ก็ตาม

อะไรทำให้ชาวพุทธที่เกิดและเติบโตในยะลาอย่างเขาลุกขึ้นมาจุดไฟสันติภาพท่ามกลางความมืดมน

อะไรคือภูเขาในอกนกพิราบที่ต้องการส่งสารไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทุกถ้อยคำต่อไปนี้น่ารับฟังอย่างยิ่ง…

รักชาติ สุวรรณ

“ผมคิดว่าผลงานของ IO สุดท้ายคือการสร้างความเกลียดชังเพื่อจะปกครอง แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้สุดท้ายคุณคุมไม่ได้อยู่ดี”

ยะเล 2547

ผมเป็นคนสอนกีฬาของจังหวัด ตอนเหตุการณ์ความรุนแรงปะทุครั้งแรกช่วงปี 2547 ผมไปอบรมผู้สอนกีฬาที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ระหว่างนั้นอาจารย์จากอีสานที่นอนห้องเดียวกันบอกว่าที่บ้านของอาจารย์ดวลปืนกันเหมือนในหนังคาวบอยเลย

พอผมกลับมายะลา ผลกระทบลุกลามไปหมด เด็กๆ ซ้อมกีฬาไม่ได้ เพราะผู้ปกครองไม่สบายใจที่ลูกหลานของเขาจะกลับบ้าน 2-3 ทุ่ม

จากนั้นผมเริ่มเข้าร่วมประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์กับผู้นำชุมชนทั้งชาวพุทธและมุสลิม และเริ่มเห็นว่าคนพุทธไม่ค่อยกล้าพูดในวงประชุม แต่จะมาตั้งวงคุยกันเองนอกห้อง นั่นอาจเป็นจุดที่ผมเริ่มเห็นความขัดแย้งที่ฝังลึกอยู่มาก่อนแล้ว แต่ผมมองว่าวิธีที่คนพุทธไม่กล้าพูดมันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทำไมเราไม่แสดงความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา

นานวันเข้า ช่วงปี 49 เหตุการณ์แรงขึ้นเรื่อยๆ มีตำรวจถูกยิงแถวชุมชน ส่วนคนในชุมชนไปโดนยิงข้างนอกบ้าง บางคนโดนฆ่าแล้วเผาบ้าง ผมจึงเริ่มทำกิจกรรมชุมชนเข้มแข็งด้วยการจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาขึ้นมาดูแลชุมชนตัวเอง

ช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีสอง พวกเราทั้งคนพุทธและมุสลิมมาช่วยกันดูแลพื้นที่ ชุมชนมีทางเข้าออก 6 ทาง ช่วงสองทุ่มเราปิดให้เหลือทางเข้าออกแค่ 2 ทาง และค่อยเปิดตอนเช้าตรู่ เราแบ่งเวรยามกันคืนละประมาณ 4-6 คน เพราะเวลามีเหตุอะไรเกิดขึ้น ถ้าเปิดหมด เราจะดูแลไม่ได้

พอปี 56 ที่ปัตตานีมีเหตุกราดยิงในร้านน้ำชา คนพุทธและเด็กทารกเสียชีวิตรวมประมาณ 6 ศพ ผมไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะโกรธ วันรุ่งขึ้นก็ไปแจกใบปลิวประณามคนก่อเหตุ ตอนนั้นใช้ชื่อว่าคนพุทธกลุ่มน้อย

หลังจากนั้นมาผมถูกคนถามบ่อยว่าต้องการอะไร ผมบอกว่าไม่ได้ต้องการอะไร แค่อยากให้คนพุทธในพื้นที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแลกเปลี่ยนโต้เถียงกับคนมุสลิมได้ เพราะที่ผ่านมาเวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราก็จะมานั่งด่ากันเอง ซึ่งมันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สันติภาพที่ทุรกันดาร

 

ตอนที่รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นไปเจรจาสันติภาพกันที่มาเลเซีย ผมรู้สึกเหมือนบินข้ามหัวคนในพื้นที่ไปแอบคุยกัน เราไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาไปคุยอะไรกันบ้าง พอตอนหลังรัฐบาลมาอธิบายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาว่าไปคุยอะไรกันบ้าง พวกเราถึงค่อยๆ ทราบ ในห้องประชุมราชภัฏฯ วันนั้น ผมเห็นว่าจุคนเป็นพันคน น่าจะมีคนพุทธแค่ 20 คนเข้าไปฟัง แต่ไม่มีใครกล้าโต้แย้งอะไร

จากนั้นผมเลยทำเวทีแผนที่เดินทางสู่สันติภาพกับบทบาทของคนไทยพุทธ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน นี่เป็นครั้งแรกที่คนพุทธรวมตัวกัน และมีสื่อมาทำข่าวเยอะ หลังจากวันนั้นทำให้เห็นว่าคนพุทธถ้าเขามีความรู้ ความเข้าใจ เขาจะคลี่คลายสิ่งที่เขาอคติได้ โดยเฉพาะคนที่สูญเสียญาติและครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรง

คนกลุ่มนี้จะมองว่าคนมุสลิมพยายามรุกพื้นที่ ต้องการขับไล่คนพุทธออกไป แต่ความจริงไม่ใช่ มันเป็นความรู้สึกที่ตามมาของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ถ้ารัฐแก้ปัญหาพื้นฐานให้เขาได้ ความรู้สึกพวกนี้จะหายไป

เช่นมีเสียงสะท้อนว่าทำไมครัวโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนใต้มีแต่ครัวฮาลาลอย่างเดียว นี่เป็นความรู้สึกของคนพุทธ เขาคิดว่าครัวที่ไม่ฮาลาลควรจะมีได้เหมือนกัน เรื่องพวกนี้ถ้ารัฐคลี่คลายให้ได้ชาวบ้านจะสบายใจขึ้น รัฐต้องเป็นผู้นำที่ทำให้คนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง รัฐต้องทำให้คนมีความรู้สึกที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มของเส้นทางสันติภาพที่แท้จริง

ความคิดของคนพุทธทำนองว่ามุสลิมใหญ่คับพื้นที่ ส่วนมุสลิมบางส่วนมองว่าคนพุทธมารุกรานพื้นที่ ทั้งสองความคิดนี้เป็นความคิดที่โดนกรอกหูมาตั้งแต่อดีต ผมว่าไม่ใช่ความคิดที่ดี และเราทั้งหมดเป็นพลเมืองเหมือนกัน เราจำเป็นต้องเรียนรู้และยอมรับกันให้ได้ การศึกษาต้องทำให้คนเปิดใจและยอมรับความแตกต่างกันได้

รัฐชอบใช้คำว่าพหุวัฒนธรรมแล้วเอาคนมารวมกันถ่ายรูปเสมือนว่าอยู่ร่วมกันได้ แต่นั่นไม่ใช่วัฒนธรรมที่เขาอยู่ด้วยกัน คุณปล่อยให้ประชาชนเขาคลี่คลายกันเองได้ไหม คุณอาจจะเป็นแค่พี่เลี้ยงคอยสนับสนุนพอ ชาวบ้านจะสบายใจกว่าเวลานั่งคุยกันโดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ด้วย ผมว่ารัฐต้องถอยให้มากกว่านี้

หลายเรื่องที่รัฐทำไม่เคยสรุปบทเรียน เช่น ถือปืนเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียน เด็กอาจจะมองว่าเท่ตามประสาเด็ก แต่ความเท่ตรงนั้นนานวันเข้ามันก็กลายเป็นความรู้สึกปกติได้เหมือนกัน ผมว่าไม่ใช่เรื่องปกติที่เด็กๆ จะชอบอาวุธปืน

รักชาติ สุวรรณ

“ไม่มีใครที่จะได้เปรียบอยู่ฝ่ายเดียวตลอดเวลา ถ้ารุกอย่างเดียว ธรรมชาติของคนมันจะตอบโต้กัน”

คลางแคลงและคลี่คลาย

ตอนผมเริ่มทำงานในพื้นที่ใหม่ๆ เป็นอะไรที่เครียดมาก ไม่อยากจะทำอะไรต่อ ผมเจอข้อกล่าวหาว่าเป็นมุสลิมในคราบคนพุทธ เจอด่าแบบหยาบคาย ทั้งต่อหน้าและในโลกออนไลน์

แรกๆ คนพุทธบางส่วนมองเราเป็นไอดอล คนนี้แหละต้องออกมาทำงานด้านสันติภาพ พอผมเริ่มเน้นประเด็นการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ผมเริ่มโดนด่าว่าผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าเราจะต้องต่อสู้เพื่อคนพุทธเท่านั้น แต่ผมบอกว่าผมทำแบบนั้นไม่ได้ ผมเกิดที่นี่ มีทั้งเพื่อนมุสลิมและพุทธ เราอยู่ด้วยกันแบบนี้มาตั้งแต่เกิด

ผมก็นิยามตัวเองเป็นคนมลายูพุทธ ซึ่งคนพุทธหลายคนอาจจะไม่ชอบ เพราะคนพุทธคิดว่าเป็นมลายูไม่ได้ต้องเป็นไทยเท่านั้น ผมพยายามอธิบายว่าจริงๆ แล้วเราไม่รู้รากเหง้าแท้จริงหรอกว่าเราเป็นอะไรกันมาก่อน แต่ถ้าเราอยู่ในพื้นที่เดียวกันเราก็ควรนับถือและให้เกียรติกัน

คุณจะเป็นอะไรมาก่อนไม่ใช่ประเด็น แต่เราทั้งหมดเป็นมนุษย์ คำอธิบายแบบนี้ไม่ค่อยถูกให้ค่า

บางพื้นที่เขาอยู่กันได้ พุทธและมุสลิมไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้า ถ้าไม่มีไฟฟ้ามันมืด เขาไม่ค่อยกล้าออกไปไหนกัน นี่เป็นปัญหาของรัฐไม่ใช่เหรอที่ต้องเร่งพัฒนาให้ทั่วถึง

ความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือในอดีตที่ผ่านมาคนพุทธจะได้เปรียบคนมุสลิมในแง่การติดต่อประสานงานกับราชการ เพราะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก คนมลายูมุสลิมอาจจะพูดไม่ได้หรือได้แบบกระท่อนกระแท่น บางคนอายไม่กล้าพูด กลายเป็นปมด้อยไปเลย

แต่ปัจจุบัน คนมลายูมุสลิมพูดไทยได้มากขึ้น แต่คนพุทธหัวโบราณกับภาคราชการบางส่วนยังคิดว่าที่นี่คือประเทศไทย เพราะฉะนั้นต้องใช้ภาษาไทยเท่านั้น ตัวอักษรที่ติดตามอาคารต้องเป็นอักษรไทยเท่านั้น ถ้ามีอักษรมลายูใหญ่กว่าอักษรไทยถือว่าผิด นี่เป็นความคิดของราชการและคนรุ่นเก่าที่คิดว่าตัวเองด่ารัฐได้ คนอื่นด่าไม่ได้ ถ้าคนอื่นด่ารัฐแสดงว่าไม่ใช่คนไทย เป็นศัตรูกับประเทศ

คนพุทธหัวโบราณมีความคิดแบบนี้เยอะ เวลาจะคุยกับเขาก็คุยค่อนข้างลำบาก ถ้าคุยเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนี้ คุยยาก เพราะเขาคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไปแล้ว และมองว่าคนมุสลิมเป็นเพียงผู้มาอาศัย

ถ้าถามว่าผมทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เราใช้วิธีการสื่อสารกันตรงๆ คนมุสลิมเองก็ต้องรู้จักถอยบ้าง ถ้าคุณใช้วิถีทางอิสลามเดินหน้าอย่างเดียวแล้วคนพุทธจะอยู่ยังไง วัดก็จะร้างมากขึ้น พระไม่กล้าอยู่ คนพุทธไม่กล้าอยู่

ไม่มีใครที่จะได้เปรียบอยู่ฝ่ายเดียวตลอดเวลา ถ้ารุกอย่างเดียว ธรรมชาติของคนมันจะตอบโต้กัน ซึ่งเราเห็นได้จากคนพุทธภาคอื่นพยายามรวมตัวกันปฏิเสธมุสลิมก็มี สุดท้ายก็อยู่กันแบบหวาดระแวง

เรื่องนี้มันแก้ยาก เพราะผมเองยังโดนมองว่าเป็นพุทธเทียม แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่ยกเอาเรื่องเชื้อชาติ – ศาสนาเป็นใหญ่ ปัญหามันจะง่าย นี่เป็นบทเรียนเรื่องการศึกษาของรัฐที่ต้องปรับตัวอันดับแรกเลย

รักชาติ สุวรรณ

เผชิญหน้ากับ IO (ปฏิบัติการข่าวสาร)

 

ปัญหาชายแดนใต้ ถ้าเราไม่หลงเชื่อตาม IO จะเห็นว่าพื้นที่หลายพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ตาสีตาสาคนพุทธคนมุสลิมเขาอยู่กันได้ปกติ

ผมยกตัวอย่างตอนมีเหตุลอบยิงที่ตลาดนัดปาลัส ปัตตานี มีผู้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต หลายคนโกรธแค้นกันมาก บอกว่าอยู่ไม่ได้แล้ว คนพุทธอยู่ไม่ได้ ย้ายออกบ้าง ผมไปงานศพ เห็นคนเฒ่าคนแก่ทั้งพุทธมุสลิมนั่งคุยกันปกติ ผมถามว่าคุยกันได้เหรอ เขาบอกเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก คนมุสลิมบอกว่าเวลาเบื่อๆ ก็มานั่งคุยกับเพื่อนที่วัด ส่วนคนที่บอกว่าอยู่ไม่ได้ดันไม่ใช่คนในพื้นที่ อย่างน้อยนี่แสดงว่าที่สื่อสารกันอยู่เป็นการคิดกันไปเองเสียมาก

บางคนฮาร์ดคอร์ ไม่เอามุสลิมเลย ผมไปนั่งคุยกับเขาพบว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คือธนาคารปุ๋ย ผมถามว่าแล้วธนาคารปุ๋ยมีใครเป็นสมาชิกบ้าง เขาตอบว่าเป็นคนมุสลิมส่วนใหญ่ สุดท้ายเขายอมรับว่าไปอินกับข่าวใน LINE เยอะ

ผมยกตัวอย่างกรณีกราดยิงที่ลำพญา 15 ศพ มีทั้งคนพุทธและมุสลิมเป็นเหยื่อ แต่คนในพื้นที่เขาคุยกัน เขาอยู่กันได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ไปพูดข้างนอกว่าคนพุทธอยู่ไม่ได้แล้ว ผมว่าแบบนี้ไม่แฟร์กับคนในพื้นที่

ปัญหาหลัก ผมคิดว่ารัฐพยายามจะควบคุมมากเกินไป แต่คุมด้วย IO ซึ่งมันสร้างความเข้าใจผิด ไม่เกิดประโยชน์ แทนที่จะถามว่าคนในพื้นที่เขาคิดอย่างไรโดยที่คุณไม่ต้องไปต่อรองอะไร ไม่ใช่ไปถามชาวบ้านว่าแน่ใจหรือ ทำได้หรือ อยู่ได้แน่หรือ คุณใช้คำพูดแบบนั้นไม่ได้

บางพื้นที่ชาวบ้านอยากให้เอาทหารออก คุณไปตั้งคำถามว่าเกิดปัญหาแล้วใครจะรับผิดชอบแบบนี้ไม่ได้ หน้าที่คุณต้องดูแลและปรับยุทธวิธีให้สอดคล้องกับข้อเสนอของชาวบ้าน เช่น เวลาชาวบ้านอยากให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษ มีคำถามตามมาว่าถ้ากฎหมายพิเศษไม่มีแล้วจะอยู่กันอย่างไร ผมก็เสนอไปว่าเอาอย่างนี้ไหม กฎหมายพิเศษเดี๋ยวค่อยคุยกัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องลดความแข็งกร้าวลง ไม่ใช่อ้างกฎหมายพิเศษแล้วไปถีบประตูบ้านเข้าไปรื้อค้นบ้านชาวบ้านแบบนี้ไม่ได้

บางคนไปเห็นรูปผมในโซเชียลมีเดียปนกับรูปกลุ่มบีอาร์เอ็น ยังคิดว่าผมเป็นบีอาร์เอ็นฝ่ายพุทธ ตลกมาก เขาไม่แม้จะตั้งคำถามสักนิดว่ารูปผมถูกตัดต่อหรือไม่

ผมคิดว่าผลงานของ IO สุดท้ายคือการสร้างความเกลียดชังเพื่อจะปกครองมากกว่า แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้สุดท้ายคุณคุมไม่ได้อยู่ดี

กรณีฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา ไปพูดเรื่องปัญหาการใช้ภาษามลายูกับอัตลักษณ์ของมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ที่เวที UN ก็ถูก IO ไปหาว่าเขาเป็นบีอาร์เอ็น ทั้งที่ UN บอกว่าไม่ใช่ ทำไมต้องไปผลักให้เขาไปอยู่อีกขั้ว แทนที่จะมาช่วยกันดูว่าสิ่งที่เขาสะท้อนออกมาเป็นปัญหาอย่างไรในพื้นที่

เหมือนกรณีที่คุณอังคณา นีละไพจิตร ถูก IO บิดเบือน ทั้งที่เขาลาออกจากกรรมการสิทธิมนุษยชนไปตั้งนานแล้ว ปัจจุบันยังไปหาว่าเขาเป็นกรรมการสิทธิฯ ช่วยโจร ในกรุ๊ปไลน์คนพุทธก็ไปปั่นต่อว่าเป็นเอ็นจีโอช่วยโจรอีก

 

ฝ่ามรสุมภาคประชาสังคม

ช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่เกิดใหม่เยอะขึ้น ถามว่าเยอะขึ้นเพราะอะไร ส่วนหนึ่งเพราะรัฐอัดฉีดงบประมาณลงมา และเปิดให้ภาคประชาสังคมเขียนโครงการเข้าไปขอทุน แต่ปัญหาคือภาคประชาสังคมใหม่ๆ ไม่น้อยกลายไปเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้กับรัฐ

บางเรื่องเช่นการต่อต้านความรุนแรง ผมมองว่าคนในพื้นที่ต้องทำเอง ไม่จำเป็นต้องให้รัฐมาจัดตั้งให้ทำ มันไม่ใช่ความชอบธรรมที่คนทำงานด้านนี้จะไปรับใช้รัฐในเรื่องแบบนี้ เราควรมีสำนึกถึงการไม่เอาความรุนแรงจากจุดยืนของเราเอง ไม่เช่นนั้นเสียงของชาวบ้านจริงๆ จะถดถอย แล้วงานด้านสันติภาพจะทำยากขึ้น

ตอนนี้เรากำลังอยู่ท่ามกลางการอ้างเสียงคนในพื้นที่ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็มักจะอ้างว่าเสียงของคนในพื้นที่ต้องการแบบนั้นแบบนี้ สำหรับผมมันอ้างแบบเหมารวมทั้งหมดไม่ได้ เพราะบางพื้นที่และบางกลุ่มก็ไม่ได้เห็นด้วยไปหมดทุกเรื่อง

ขบวนการบีอาร์เอ็นอาจจะเคลมว่าชาวบ้านสนับสนุนการให้ทหารถอนกำลังออกไป แต่กี่คนที่เห็นด้วยกับคุณ แล้วคนที่เขาไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง จะนับอย่างไร คุณคิดว่าคุณเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ แต่คุณระเบิดบ้าง ยิงบ้าง มันจึงดูย้อนแย้งกัน ถ้าคนในพื้นที่ไม่ได้ต้องการแบบนี้จะทำอย่างไร

ถามว่าแล้วคนในพื้นที่ต้องการอะไร อย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่าเราต้องการความปลอดภัย ไม่มีใครปฏิเสธข้อนี้

ส่วนในมุมกลับ ผมมองว่าถ้าประชาชนเปล่งเสียงของตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ จะไม่มีฝ่ายไหนเอาเสียงไปอ้างได้ แต่ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่แค่สะท้อนว่าอยากให้รัฐช่วยลงมาดูแล ขอให้มีงบประมาณลงมามากกว่านี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่รัฐต้องทำอยู่แล้ว เราอาจต้องพูดอะไรมากกว่านี้

ผมคิดว่าคนทำงานภาคประชาสังคมต้องยกระดับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ให้เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ให้ได้ เชื่อไหมว่าผมเคยไปเสวนาเรื่องไฟใต้ที่เชียงใหม่ มีนักศึกษาตั้งคำถามว่าไฟใต้นี่เหมือนไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้นในเชียงใหม่ไหม นี่ทำให้ผมเห็นว่าปัญหาชายแดนใต้ที่เราบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก มันอาจไม่จริงเสมอไป คนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกัน ไม่ได้มีความสนใจยังมีอยู่เยอะแยะ

ผมไปคุยกับภาคประชาสังคมทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน กลายเป็นว่าแต่ละคนมีประเด็นเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดนะ เขามีเรื่องเขื่อน เรื่องแม่น้ำโขง เรื่องไฟป่า เรื่องที่ดิน ป่าไม้ ความยากจน แต่ละคนมีปัญหาเป็นของตัวเอง และเราก็บอกไม่ได้ว่าการเสียชีวิตของคนกว่า 6,000 คนในชายแดนใต้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศ เอาเข้าจริงๆ แล้วก็เป็นแค่เรื่องของพื้นที่เท่านั้น นี่เป็นโจทย์ท้าทายผม จะทำยังไงให้คนมีความเข้าใจปัญหานี้ได้มากที่สุด

ในเบื้องต้นผมต้องรู้สึกร่วมและเข้าใจปัญหาของพื้นที่อื่นๆ ก่อนด้วยเช่นกัน เราต้องไปเรียนรู้ที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน เพื่อเสนอประเด็นของเราและรับประเด็นของเขามาด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนกัน  เช่น ผมไม่เคยต่อต้านเขื่อน แต่ต่อไปที่บ้านผมอาจจะมีเขื่อน จะทำยังไง จะรับมือกันแบบไหน เราก็ต้องเรียนรู้จากกลุ่มที่สู้เรื่องเขื่อนมาก่อนด้วยเหมือนกัน

ปัญหาคือที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มแต่ละองค์กรจมอยู่แต่กับโครงการของตัวเอง เพราะมันเป็นโจทย์ที่รับจากแหล่งทุนมา ทำให้มองปัญหาภาพรวมของประเทศไม่ออก

ถ้าเราต้องการสังคมที่เป็นธรรมจริงๆ ในระยะยาวก็ต้องสู้ไปพร้อมกันทุกเครือข่าย

รักชาติ สุวรรณ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save