fbpx
บทสนทนาหน้าเขียงกับ ‘รุจิรา จารุพันธ์’ ถึง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ ในนามสามี กวี พ่อค้า และพ่อ

บทสนทนาหน้าเขียงกับ ‘รุจิรา จารุพันธ์’ ถึง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ ในนามสามี กวี พ่อค้า และพ่อ

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

5 ปี หลังกระสุนพรากชีวิต ไม้หนึ่ง ก.กุนที ไป วันนี้กระบวนการหาตัวคนลั่นไกก็ยังเงียบงัน เหลือเพียงบทกวีของเขาที่ยังคงทำหน้าที่ตั้งคำถามและวิพากษ์สังคมการเมืองทุกครั้งที่มีคนหยิบอ่าน

บางเราในนคร, รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก, สถาปนาสถาบันประชาชน ผลงานรวมเล่มบทกวีจำนวน 3 เล่ม ฟังดูน้อยสำหรับกวีที่มีผลงานต่อเนื่องเช่นเขา โดยเฉพาะบทกวีที่แต่งในช่วงขึ้นเวทีการเมืองซึ่งกระจัดกระจายไม่ถูกนำมารวมเล่ม ยังไม่รวมถึงบทกวีที่เขียนตามสมุดบันทึกข้างเขียงเป็ดที่ยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน

กวีราษฎร เป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มล่าสุดของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที จัดพิมพ์โดย ลูกชายไม้หนึ่ง (lookshine) ที่มิตรสหายช่วยกันคัดสรรเลือกหยิบบทกวีของเขาจากหลายแห่งมาตีพิมพ์ในวาระที่ผู้เขียนจากไปครบ 5 ปี

ไม้หนึ่ง ก.กุนที เป็นนามปากกาของ กมล ดวงผาสุข หรือไผ่ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อจริงเป็น อี๊ด อิสรนาวี) มีผลงาน ตีพิมพ์บทกวีต่อเนื่องในนิตยสารรายสัปดาห์ ก่อนเข้าร่วมเวทีคนเสื้อแดงและเป็นที่จดจำของมวลชนในฐานะหนึ่งในศิลปินที่แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน

แต่อีกด้านหนึ่งเขาคือพ่อค้าข้าวหน้าเป็ดที่คิดถึงกวีบทใหม่ตลอดเวลาขณะกรีดปังตอหนักแปดขีดไปบนตัวเป็ด

เมื่อสามีลาลับ จิ๋วรุจิรา จารุพันธ์ ได้ลาออกจากงานบริษัทและกลับมาช่วยงานที่ร้านข้าวหน้าเป็ดของครอบครัวย่านราชวัตร เพื่อจะได้มีเวลากับลูกเต็มที่

เธอถือปังตอยืนหน้าเขียงจุดเดียวกับที่ไม้หนึ่งฯ เคยยืนมาก่อน มองจากมุมมองเดียวกับที่สามีเคยมอง ลองเลาะสับเป็ดเสิร์ฟลูกค้า ก่อนพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

การพิมพ์กวีราษฎรในห้วงเวลานี้ไม่ใช่เพียงการรำลึกถึงสามีที่จากไป แต่ยังสร้างความหมายให้คนที่ยังอยู่ โดยเฉพาะครอบครัว ซึ่งในสายตาคนเป็นแม่มองว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้ลูกๆ ได้สัมผัสกับตัวตนและความคิดของพ่อ

“หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์-บ.ก.รวมบทกวีราษฎร) เขาทำให้ครอบครัวเรา ทำให้ลูกทั้งสองคนของเราได้รู้สึกว่าพ่อเขามีตัวตน มีผลงานบทกวี แต่ในมุมมองของคนอื่น หนึ่งเขาคงอยากให้ทุกคนรับรู้ความคิดของไผ่”

และนี่คือบทสนทนาของผู้หญิงธรรมดา แม่ลูกสอง ภรรยาที่สามีถูกฆาตกรรมในช่วงการเมืองขัดแย้งรุนแรง

รุจิรา จารุพันธ์

ทราบว่ารู้จักกับไม้หนึ่งฯ มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยกันแล้วใช่ไหม

ใช่ค่ะ ตอนนั้นเราอยู่ปี 3 คณะอักษรศาสตร์ เขาอยู่ปี 2 คณะศึกษาศาสตร์ เจอกันวิชาแคมป์ปิ้ง จำไม่ได้ว่าเขามาเริ่มคุยยังไง แต่สมัยนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จะอยู่หอในกัน พอตอนเย็นหลังเลิกเรียนเขาก็จะมากดกริ่งเรียกเราที่หอพาไปทานข้าว

เราจับสลากได้หอหญิงที่อยู่ใกล้โซนหอชาย ห้องจะอยู่เยื้องกับห้องของเขาที่อยู่อีกตึกหนึ่ง เวลา 3 ทุ่มทุกวันที่หอ ไฟมืดมาก แล้วทุกคนจะรอฟัง เขาตะโกนเรียก “จิ๋วจ๋า” แล้วตามด้วยเสียงขลุ่ย พอได้ยินก็เขิน ต้องดับไฟห้องแล้วแอบมองเขา จะเห็นตัวลางๆ อยู่นอกระเบียง เขาจีบด้วยวิธีนี้ เราก็ใจอ่อน

เรามองว่าเขาไม่เหมือนใคร จำไม่ได้ว่าช่วงเรียนหนังสือเขาเขียนหนังสือตลอดไหม แต่ตอนเราเรียนจบแล้วเขายังเรียนไม่จบ เขาเขียนบทกวีให้บทหนึ่งแล้ววาดรูปต้นไม้ ประมาณว่าคิดถึงเธออยู่นะ

แล้วไม้หนึ่งฯ มาช่วยทำร้านข้าวหน้าเป็ดที่บ้านได้ยังไง

เมื่อก่อนที่บ้านเราเป็นร้านตัดเสื้อผ้าผู้ชายอยู่ราชวัตร แต่พอเสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ามาเลยไปไม่ค่อยรอด เผอิญร้านข้าวหน้าเป็ดข้างๆ ไม่ได้ต่อสัญญาเช่าตึก พ่อเราคุยกับกุ๊กร้านนั้นว่าอยากเปลี่ยนอาชีพ เลยจ้างกุ๊กมาทำต่อที่ร้านเรา เป็นจุดเริ่มต้นของร้านข้าวหน้าเป็ดที่ราชวัตรถึงวันนี้ประมาณ 23 ปี

ช่วงกำลังจะเปิดร้าน ไผ่อยู่ในช่วงทำวิทยานิพนธ์ ป.โท เขามาช่วยทาสีร้านเลยได้ฝึกการย่างเป็ด ฝึกเลาะสับเป็ดกับกุ๊กที่เราจ้างมาไปด้วย แต่สุดท้ายเขาทำวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จ ก็อยู่ที่ร้านต่อยาวเลย ส่วนเราทำงานออฟฟิศตั้งแต่เรียนจบ เป็นเอเจนซี่โฆษณา ทำมา 3 ที่ รวม 20 ปี

รุจิรา จารุพันธ์

ภาพที่ไม้หนึ่งฯ วาดให้รุจิราตอนเรียนจบพร้อมบทกวี
ภาพที่ไม้หนึ่งฯ วาดให้รุจิราตอนเรียนจบพร้อมบทกวี

ตอนเขามาช่วยงานที่ร้าน ได้พูดคุยตกลงอะไรกันก่อนไหม

ไม่ พอมาช่วยทาสีแล้วอยู่เลย (หัวเราะ) ตอนนั้นไผ่กับพ่อเรามีปัญหากัน เราก็ไม่รู้เพราะทำงานออฟฟิศ ออกเช้ากลับดึก มาถึงก็ปิดร้านแล้ว ด้วยความที่เราเป็นคนค่อนข้างเงียบ เขาก็ไม่ค่อยพูด เลยไม่ได้แชร์ความรู้สึกกันเท่าไหร่

จริงๆ แล้วชีวิตคู่ของเราก็ไม่ได้ราบรื่น ไม่ได้มีความสุข ไม่ได้รับรู้ว่าเขาคิดอะไร แต่รู้สึกได้ว่าเขากดดัน เขามาอยู่ตอนยังไม่ได้แต่งงาน คงรู้สึกเหมือนพนักงาน ไม่ใช่แฟนเจ้าของร้าน พ่อก็ไม่ได้ให้เงินเดือน แต่บอกว่าจะเอาอะไรให้มาเบิกเงิน ไผ่ก็ไม่เคยเบิก

ไผ่เป็นคนต่อสู้ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ตอนอยู่ที่ร้านเขาเห็นอกเห็นใจลูกน้อง เพราะมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เขาปฏิบัติกับลูกน้องแบบชนชั้นเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกเจ้านายลูกน้อง ขณะที่พ่อเราเป็นคนไม่ฟังความคิดเห็นใคร ไม่ได้แคร์ลูกน้อง ไผ่จะคอยเป็นแบ็คอัพให้ลูกน้อง เขาคงอึดอัดเลยไปเปิดร้านของตัวเองที่ศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว ตรงคณะวิทยาศาสตร์ เราทำงานจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ไปนอนค้างที่บ้านเช่าเขา เลยไม่เคยเห็นร้านนั้นเลย

เขาเปิดร้านที่ทับแก้วอยู่หลายปี จนแต่งงานกันปี 2545 ตั้งแต่เขามาช่วยร้านราชวัตรก็เขียนงานส่งมติชนกับสยามรัฐตลอด เก็บเงินค่าต้นฉบับนั้นมาเป็นสินสอด 1 แสนบาท แต่งงานแล้วย้ายกลับมาอยู่ราชวัตร เราก็คลอดลูก พอ ‘นาวา’ (ลูกชายคนโต) ไม่ถึงขวบ เขาก็ไปเปิดร้านที่ท่าพระอาทิตย์ ชื่อร้าน Duck Poet Society กลางวันไผ่ขายอาหาร กลางคืนมีเพื่อนทำร้านเหล้าต่อ จากนั้นย้ายไปเปิดร้านที่สะพานซังฮี้ (ธนบุรี) ได้ไม่ถึงปี ก็ไปซื้อบ้านที่ศาลายาแล้วก็เปิดร้านใหม่

ไผ่เลี้ยงนาวามาตลอดจนเกือบ 1 ขวบถึงจ้างพี่เลี้ยง เขาชอบอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตอนนาวาเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือมาก พูดเยอะและรู้มาก ส่วน ‘นาวิน’ (ลูกชายคนที่สอง) เกิดตอนเปิดร้านที่ซังฮี้ กว่าพ่อเขาจะเก็บร้านกลับบ้านมาก็ไม่ต่ำกว่า 2 ทุ่ม เขาเลยไม่ค่อยได้ซึมซับเรื่องการอ่านจากพ่อ แต่โตมาก็ชอบอ่านหนังสือการ์ตูน

ตอนอยู่ด้วยกันเขาเคยพูดไหมว่าอยากทำงานเขียนเต็มตัว หรือว่าที่เป็นอยู่มันดีแล้ว

เขาน่าจะเคยพูดว่าโอเคกับการเป็นพ่อค้าและเขียนงานไปด้วย เขาไม่ได้เปรียบเทียบว่าเป็นนักเขียนแล้วจะสร้างครอบครัวไม่ได้ แต่พูดว่า “แบบนี้แหละ เป็นพ่อค้าด้วยเขียนหนังสือไปด้วย”

ตอนเขาอยู่ที่ร้าน ต้องมีสมุดหรือกระดาษตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ตรงเขียงหรือห้องครัว มือก็ทำงานไปแต่หัวก็สร้างสรรค์ผลงานตลอด

เวลาเขียนงานแล้วเขาเอามาให้อ่านบ้างไหม

ไม่ทุกครั้ง นอกจากว่ามีบทไหนอยากให้อ่าน แต่เราจะไม่เก็ทงานเขาเลย อ่านไม่รู้เรื่อง ด้วยความที่ภาษาไทยเราไม่แข็งแรง (หัวเราะ) เราแปลไม่ออก เราเรียนเอกภาษาอังกฤษมา ตกภาษาไทย แต่ภาษาอังกฤษก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ มีครั้งหนึ่งเขาให้ช่วยแปลงานเป็นภาษาอังกฤษก็ยังยากสำหรับเราเลย เพราะคำกวีเป็นคำที่สร้างสรรค์ ไม่ได้สื่อความตรงๆ ต้องตีความซับซ้อน

รุจิรา จารุพันธ์

ตอนเขาเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ลูกอายุเท่าไหร่แล้ว

ตอนนั้นอยู่ศาลายา คนเล็กน่าจะเกือบ 2 ขวบ เราก็ต้องนั่งรถมาทำงานที่สีลม ไผ่ทำงานหนักมากเพราะต้องเลี้ยงลูกและเปิดร้านไปด้วย เรากลับมาดึกลูกก็กินข้าวอาบน้ำปะแป้งเรียบร้อยแล้ว

ช่วงที่เขาเริ่มไปเวทีการเมือง เขาจะรอเรากลับถึงบ้านก่อนจึงออกไป สลับกันดูลูก แล้วเขาจะกลับมาดึกมาก มีครั้งหนึ่งไม่รู้ว่ากลับมาตอนไหน เราเปิดประตูบ้านมาเจอเขาหลับอยู่ในรถ เพราะไม่อยากปลุกเราให้มาเปิดประตู เขาก็นอนในรถอยู่หน้าบ้าน

พอร้านที่ศาลายาเปิดได้ 1 ปี มีการขยายถนน ฝุ่นเยอะมากจนต้องปิดร้าน ส่วนนาวาต้องเข้าป.1 โรงเรียนอยู่ย่านสามพราน ช่วงแรกเราจ้างรถโรงเรียนมารับตั้งแต่ 6 โมงเช้า ต้องปลุกลูกมากินข้าว นั่งรถตู้ไปก็อ้วกบนรถไป จนไผ่สงสารลูก ต้องขับรถไปส่งเอง พอร้านที่ศาลายาขายไม่ได้ ไผ่เลยไปเช่าบ้านตรงข้ามโรงเรียนลูกที่สามพราน กำลังซ่อมแซมเตรียมเปิดร้านใหม่ แต่เขากลับต้องลี้ภัยการเมืองไปก่อน

ช่วงอยู่ที่สามพราน ไผ่จะดูลูกตอนกลางวัน ถ้าวันไหนต้องขึ้นเวทีตอนลูกยังไม่เลิกเรียน ก็จะฝากลูกไว้กับครูสอนศิลปะใกล้ๆ บ้าน แล้วเราจึงไปรับลูกที่บ้านครู

พอเขาไปขึ้นเวทีทางการเมืองบ่อยๆ ที่บ้านได้รับผลกระทบไหม

ช่วงไปบ่อยสุดคือตอนอยู่สามพรานแล้วยังไม่ได้เปิดร้าน เลยไม่มีผลต่อการค้าขาย แต่ทำให้ต้องฝากลูกไว้กับครูบ่อย เช่าบ้านที่สามพรานไม่ถึงครึ่งปี นาวา จบป.1 ไผ่ต้องลี้ภัย เราเลยกลับมาอยู่ราชวัตร

ตอนเขาขึ้นเวทีเราไม่ได้ต่อต้าน ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่มีช่วงหนึ่งที่เขาพูดเองว่าจะเลิกแล้ว ไม่ไปแล้ว เขาคงมีความกดดันบางอย่าง แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ จนครั้งสุดท้ายเขาบอกว่า เขาถอนตัวออกมาไม่ได้แล้ว มีคนที่เขาต้องช่วยเหลืออีกเยอะ

ช่วงสถานการณ์รุนแรง ได้พูดคุยกันบ้างไหม

เราแทบไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกันเลย เพราะเราไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง วันๆ มีแต่ทำงานออฟฟิศกับลูก ไผ่จะพูดว่าเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัว เขาไม่เคยพูดเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง

ไม้หนึ่ง ก. กุนที

รุจิรา จารุพันธ์

ตอนที่ต้องลี้ภัยเขาอธิบายว่าอะไร

วันที่เขากำลังจะข้ามไปลาว เขาติดต่อมาบอกว่าจะข้ามไปแล้วนะ อยู่ไทยไม่ได้ มีคนตามล่า เราก็บอกให้เขาดูแลตัวเองดีๆ ระหว่างนั้นก็ยังติดต่อกันเรื่อยๆ คุยผ่านสไกป์ ช่วงก่อนจะข้ามไปฝั่งลาว เขาน่าจะไปมาหลายจังหวัดแล้ว เพราะตอนนั้นเขาเจอตำรวจจับ แล้วตำรวจโทรมาหาเราเพราะทะเบียนรถเป็นชื่อเรา เขาตรวจสอบว่าเป็นอะไรกับไผ่ เพื่อเช็คว่าไม่ใช่รถที่ขโมยมา ไผ่ก็ไม่เล่าว่าเขาไปเจออะไรมาบ้าง บางทีถามเรื่องการเมืองเขาก็ไม่พูด

ช่วงไผ่ลี้ภัย เราก็ไม่ได้บอกลูกว่าเกิดอะไร บอกแค่ว่าพ่อไปทำงานที่ลาวและกัมพูชา

ตอนรู้ข่าวว่าสามีโดนยิงกำลังทำอะไรอยู่

เราทำงานอยู่ออฟฟิศ น้องชายไผ่โทรมาหาว่ารู้ข่าวรึยัง เราถามว่าข่าวอะไร เขาบอกว่าพี่ไผ่โดนยิง เราก็อึ้งไป สมองเบลอ งง น้องไผ่ยังไม่เห็นข่าวในทีวี แต่มีเพื่อนโทรมาบอก เขาเลยโทรมาหาเรา ตอนนั้นพยายามเสิร์ชหา นึกว่าจะมีข่าวในเน็ตว่าอยู่ที่ไหน จนน้องชายเขาเช็คได้ว่าศพอยู่โรงพยาบาลไหน สักพักอาจารย์หวาน (สุดา รังกุพันธุ์) โทรมาหา บอกว่าต้องย้ายศพไปชันสูตร คืนนั้นเลยยังไม่เจอไผ่ แต่ต้องไปสน.โชคชัยให้ตำรวจสอบสวน เราโทรแจ้งพี่ชายและโทรบอกพ่อ พี่ชายสองคนเลยไปเป็นเพื่อน เข้าห้องสอบสวนด้วยกัน เขาถามว่าเราเป็นใคร รู้สาเหตุการตายไหม

ก่อนหน้านั้นมีสัญญาณเตือนว่าจะเกิดเหตุไหม

2-3 วันก่อนหน้านั้น มีคนโทรเข้ามือถือเรา บอกว่าไม้หนึ่งฯ อยู่ด้วยไหม จะเอาเอกสารมาให้เซ็น เราบอกว่าไม่อยู่ ส่งมาให้เราที่ออฟฟิศได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ ต้องเจอกับตัว จึงไม่ได้ติดต่อไป ตอนนั้นไผ่อยู่บ้านที่ราชวัตร เขาบอกว่าถ้าใครโทรมาอีกไม่ต้องรับ แต่เขาไม่ได้พูดให้เราฟังว่าจะเกิดอะไรขึ้น วันนั้นบ่ายๆ ไผ่ก็ไม่อยู่บ้านแล้ว แต่ยังโทรคุยกันอยู่ หลังจากนั้นก็โดนยิง

ภาพรุจิราขณะเรียนปี 4 ถ่ายโดยไม้หนึ่งฯ และเป็นภาพที่เขาใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ตลอดจนถึงวันที่ถูกยิง
ภาพรุจิราขณะเรียนปี 4 ถ่ายโดยไม้หนึ่งฯ และเป็นภาพที่เขาใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ตลอดจนถึงวันที่ถูกยิง

ตอนนั้นโกรธไหม

ไม่ได้รู้สึกโกรธ แต่เคว้ง เบลอๆ ชีวิตหายไปแล้วหนึ่งชีวิต ประกอบกับเรารู้สึกไม่แฮปปี้กับชีวิตคู่อยู่แล้ว ถามว่าเสียใจไหม บอกตรงๆ ว่าคืนแรกที่กลับจากสน. คืนนั้นนอนไม่หลับ แต่ไม่ได้ร้องไห้ นอนไม่หลับเพราะกลัวผีมากกว่า (หัวเราะ) ตุ๊กตาเฟอร์บี้ร้องตลอดเวลา จริงๆ มันต้องปรบมือให้ได้ยินเสียงมันถึงจะร้อง แล้วมันร้องตลอดตั้งแต่เรากลับถึงบ้าน เปิดประตูเข้าห้องนอนลูกหลับอยู่ ตุ๊กตาก็ร้องจนถึงเช้า เรานอนไม่หลับ มาร้องไห้เอาตอนเช้าแล้ว จำไม่ได้ว่าร้องเพราะอะไร

ทุกวันนี้ที่ไผ่ไม่อยู่ มันก็โล่ง ไม่กังวล หมดไปแล้วเรื่องความกดดันต่างๆ แต่เรื่องลูกเราก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร ถ้าเขายังอยู่อย่างน้อยก็มีคนปรึกษา ด้วยความที่ลูกชายสองคน แต่ถ้าพ่อเขายังอยู่ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไง ก็คงยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาอยู่ดี

บอกลูกๆ ตอนไหนว่าพ่อเขาถูกยิง

บอกตอนกำลังจะพาไปวัด ตอนแรกบอกแค่ว่าพ่อประสบอุบัติเหตุจากรถ แต่สองคนเขาได้ยินในงาน พิธีกรพูดว่าโดนยิง นาวากับนาวินก็มาบอกเราว่า แม่ๆ เขาบอกว่าพ่อโดนยิง เราก็บอกว่า ใช่ลูก พ่อโดนยิง

นาวินพูดถึงทุกวันนี้ว่ายังไม่มีใครจับคนที่ยิงพ่อได้เลย พอเขาเห็นข่าวในโทรทัศน์ว่าตำรวจจับคนโน้นคนนี้ได้ เขาก็บอกว่าทำไมตำรวจยังจับคนที่ยิงพ่อไม่ได้

ถามว่าเราพร้อมอธิบายลูกหรือยังว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร เราก็ไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์คืออะไร ทำไมโดนยิง เพราะข้อมูลไม่แน่นพอ ก็ไม่อยากอธิบาย ได้แต่พูดว่าพ่อคิดไม่เหมือนคนอื่น พ่ออยู่ฝ่ายประชาธิปไตย สู้เพื่อประชาธิปไตย

ทุกวันนี้ยังมีความพยายามค้นหาติดตามความคืบหน้าต่อไหม

คิดว่าไปสืบหาความคืบหน้าคงไม่ได้อะไรกลับมา ล่าสุดเขาบอกว่าคดีถูกส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดต่อ สน. ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว คิดเหมือนกันนะว่าคดีจะหมดอายุความในกี่ปี ช่วงที่ผ่านมา 4-5 ปีนี้ถามไปก็คงไม่ได้อะไรกลับมา

มีความหวังไหมว่าเรื่องจะกระจ่างขึ้นมาได้

คิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ เราคิดว่ายังไงล่ะ

สิ่งที่เจอทำให้ขยาดเรื่องการเมืองไหม ถ้ามีคนใกล้ตัวเข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองอีกจะห้ามไหม

คนในครอบครัวเราคงไม่ยุ่งการเมืองอยู่แล้ว แต่สำหรับลูกก็เป็นชีวิตเขา บางเรื่องเราเอาความคิดของไผ่มาสอนลูกเหมือนกัน เช่น เรื่องการอ่านหนังสือ เราจะสนับสนุนให้เขาอ่านหนังสืออะไรก็ได้ นาวาจะได้มาจากพ่อเต็มๆ เขาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพบ่อยมากตั้งแต่อายุ 13

เขาบอกว่าทำไมต้องบังคับเขาให้เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ เขาไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์ จนเขาไม่ไปโรงเรียนตอนจะจบ ม.1 บอกว่าพรุ่งนี้จะไป แต่ถึงเวลาก็ไม่ไป เราตีจนร้องไห้กันทั้งคู่ จนคิดว่าตีไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะยังไงลูกก็ไม่ไปอยู่ดี เขาน่าจะเหมาะกับโรงเรียนทางเลือกมากกว่า และสุดท้ายก็เรียนแบบโฮมสคูล

นาวาใช้อารมณ์ตัดสินใจในการดำรงชีวิต แต่นาวินใช้เหตุและผลในการดำรงชีวิต ถามว่าได้อิทธิพลจากพ่อไหม ก็ใช่ แต่ได้คนละอย่าง นาวินจะเอาเรื่องความถูกต้อง เรื่องหลักการความเท่าเทียมความเสมอภาค แต่นาวาได้เรื่องอารมณ์ศิลปิน

ตอนลูกเรียนประถมเรานึกถึงไผ่ตลอด ลูกมาให้เราช่วยวิชาแต่งกลอน แต่เราก็แต่งไม่ได้ (หัวเราะ)

รุจิรา จารุพันธ์

ทราบว่าลูกชายชอบเล่นดนตรี ไม้หนึ่งฯ ได้สอนดนตรีให้ลูกบ้างไหม

เปล่าค่ะ เราอยากให้ลูกเรียนเปียโน เลยส่งลูกไปเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก เราโดนไผ่ว่าเรื่องลูกประจำเลย เราเป็นคนใจอ่อน ตามใจ ไม่มีวินัยกับลูก ขณะที่เขาอยู่กับลูกทั้งวัน จะเข้มงวด ต้องตรงเวลาเป๊ะ แต่เสาร์อาทิตย์ลูกอยู่กับเราทั้งวัน จะเละเทะไปหมดเลย (หัวเราะ)

ลูกรู้ว่าแม่ตามใจ แล้วมองว่าพ่อดุ ไผ่ก็บอกว่าลูกเสียหมดเลยเวลาอยู่กับจิ๋ว ช่วงไผ่กลับจากลี้ภัย ลูกสองคนไม่กล้าอยู่กับพ่อ ต้องลงมาเล่นข้างล่างบ้าน เพราะพ่อไม่ให้เล่นโทรศัพท์ จะให้อ่านหนังสือ ซ้อมดนตรี

ไผ่เป็นคนเข้มงวด แต่ลูกจะแฮปปี้มากเวลาพ่อพาไปเที่ยว ตอนทำร้านที่ศาลายาจะหยุดวันอาทิตย์ ไผ่ก็จะพาลูกไปเที่ยวพุทธมณฑล ขี่จักรยาน ช่วงที่ไผ่ลี้ภัย ลูกปิดเทอมใหญ่ เราก็ให้ลูกไปอยู่กับเขาที่เขมรหนึ่งเดือน ลูกก็สนุกสนาน เพราะพ่อพาไปโน่นไปนี่

มีเรื่องอะไรที่สนใจตรงกันกับไม้หนึ่งฯ ไหม

ความคิดคนละอย่างกันเลย แค่เรื่องการเลี้ยงลูกหรือการดำรงชีวิต เราจะคิดแค่เรื่องตรงหน้า แต่ไผ่จะคิดไปหลายสเต็ป แต่ก็ไม่จูนกัน คุยแล้วไม่ใช่ สมัยก่อนเราไม่เข้าใจวิธีการคิดของเขา แต่พอไผ่เสียแล้วเรามาทำงานที่ร้านเต็มตัว เราก็อ๋อ เข้าใจแล้ว ในเรื่องที่ไผ่เคยเจอหรือเคยต่อสู้เรื่องร้านกับพ่อมา

เราไม่ค่อยได้คุยกัน ด้วยความที่กลางวันเราอยู่แต่ออฟฟิศ กลับมาดึกๆ ก็เห็นเขานั่งนิ่งๆ เขียนงาน เลยไม่ได้คุย เขาเป็นคนเงียบขรึม หน้าตาดุ ถามอะไรบางทีก็ไม่ตอบ

ถ้าย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ เราอยากคุยกับเขามากขึ้น จะได้เข้าใจกัน ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม เหมือนเราอยู่ด้วยกันแต่ทัศนคติ ความคิดเห็นต่างคนต่างดำรงชีวิต ถามว่าเสียใจไหม ก็เสียใจที่ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไป ถ้าย้อนกลับไปได้เราอยากกลับไปคุยไปถามเขา

อยากให้คนจดจำเรื่องไหนของไม้หนึ่งฯ มากที่สุด

ความคิดเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เราคิดว่ามันฝังลึกอยู่ในตัวตนของเขา

รุจิรา จารุพันธ์ ไม้หนึ่ง ก กุนที

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save