fbpx
A STAR AMONG THE DUST : ส่องแสงไฟให้เห็นฝุ่นละออง ผ่านงานศิลปะของ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

A STAR AMONG THE DUST : ส่องแสงไฟให้เห็นฝุ่นละออง ผ่านงานศิลปะของ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่องและภาพ

แหงนหน้ามองขึ้นฟ้าท่ามกลางอากาศหนาวๆ ในค่ำคืนนี้ สิ่งที่คุณเห็นอาจไม่ใช่แค่แสงดาว

ท่ามกลางแสงไฟในเมืองใหญ่ ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเพลง หมอกหรือควัน ของพี่เบิร์ดเพื่อถามคำถามแสนโรแมนติก เพราะถ้าคุณได้ติดตามข่าวคราวด้านสิ่งแวดล้อมสักเล็กน้อย อาจจะได้เห็นคำเตือนปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ร่างกายไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งกำลังสูงเกินค่ามาตรฐาน จนอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือกระทั่งคนที่ไม่ได้เป็นอะไร ก็สามารถรับฝุ่นละอองนี้เข้าไปจนเกิดอันตรายได้เช่นกัน

ระหว่างที่ชาวเมืองกำลังตื่นตกใจกับป้ายคำเตือนสีแดงในหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เราอาจไม่รู้เลยว่าฝุ่นละอองที่ว่าลอยตามลมมาจากที่ไหน

อาจเป็นได้ว่าในอีกหลายพื้นที่บริเวณแหล่งอุตสาหกรรมที่เราพึ่งพิงและนำเข้าความเจริญมาบริโภค ป้ายคำเตือนสีแดงอยู่คู่กับชีวิตและสุขภาพของคนที่นั่นมาเป็นเวลานาน เมื่อถึงเวลาและสภาพอากาศที่เหมาะสม การเดินทางของฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายจึงเริ่มเข้ามาให้ชาวแคปิตอลได้สัมผัสเหมือนหนังตัวอย่าง

โจ้ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล คือศิลปินที่สนใจในการเชื่อมโยงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เข้ากับการสื่อสารด้วยศิลปะ และด้วยการสังเกตปรากฏการณ์ความเป็นไปในสังคม ประเด็นของ ‘ความไม่เป็นธรรม’ จึงเป็นสิ่งที่เขามักใช้หลักฐานเชิงประจักษ์มาจับคู่อยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นผลงานศิลปะจัดวางที่โดดเด่น สื่อสารปัญหาที่เขาอยากสื่อสารอย่างชัดเจน

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ คือหลักฐานเชิงประจักษ์ล่าสุดที่โจ้เดินทางเป็นผู้เก็บหลักฐานตามหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและความไม่เป็นธรรมในประเทศไทย กลายมาเป็นประติมากรรมชุด Memory และชิ้นใบไม้น้อยใหญ่ที่เคลือบด้วยฝุ่นละอองในผลงาน Monolith Souvenir ซึ่งถูกจัดแสดงในงาน Right to Clean Air – The Art Exhibition ที่จัดโดยองค์กร Greenpeace เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

เขาเห็นอะไรผ่านการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือส่องไฟจนเห็นปัญหาในละอองฝุ่นบ้าง

บทสนทนาชิ้นนี้มีคำตอบ

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

จุดเริ่มต้นของชิ้นงาน Memory และ Monolith Souvenir ครั้งนี้เกิดขึ้นจากอะไร

พอดีว่ามีคนรู้จักที่เค้ารู้อยู่แล้วว่าผมทำงานประเภทนี้อยู่ แล้วเห็นว่ามีศักยภาพที่จะขยับมาทำงานในโปรเจ็กต์ที่ซีเรียสมากขึ้น คืองานเก่าๆ ก็ซีเรียสล่ะนะ แต่ในแง่ของการเชื่อมโยงประเด็นกับหลายๆ คนมันเป็นคนละแบบกัน อย่างงาน ASH HEART PROJECT ที่เป็นการเอาขี้เถ้ามาทำเป็นหัวใจ อันนั้นก็พูดกับกลุ่มนักอนุกรมวิธาน หรือนักวิทยาศาสตร์กลุ่มต่างๆ มากกว่า

แต่พอเป็นงานนี้ มันพูดถึงเรื่องของสถานะของคนที่จำเป็นต้องยอมให้ตัวเองอยู่ในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง นี่ก็เกี่ยวกับเรื่องสังคมแล้ว หรือถ้าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ปัญหาเรื่องฝุ่นที่มีความเป็นพิษสูง ในงานนี้ก็พูดถึงเรื่องฝุ่นที่เป็นละอองธุลีขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เริ่มพูดถึงกันมากขึ้นพอดี แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้จัก

ภาพ : บารมี เต็มบุญเกียรติ/กรีนพีซ

เราเพิ่งได้รับรู้เองว่ากรมควบคุมมลพิษไม่นำค่า PM 2.5 มารวมในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศเหมือนกับขนาด PM 10 ทำไม? เพราะประเทศไทยยังตามหลังมาตรฐานของสังคม [โลก] อยู่ ความแตกต่างของสองขนาดนี้มันเยอะมาก อย่างที่พอจะเห็นในข่าวอยู่บ้าง ประเด็นคือฝุ่นที่ว่ามันไม่ใช่ฝุ่นปกติ มันมีสารพิษในตัวมันเองอยู่ มันมีสารก่อมะเร็งในตัวมันเอง ในเมื่อเราป้องกันตัวเองไม่ได้จากเรื่องนี้ มันเลยน่าตกใจไปใหญ่เลย

ซึ่งการจะจับมันออกมาให้เป็นชิ้นงานก็เป็นอีกความท้าทายนึง เพราะรูปแบบการนำเสนอทางศิลปะก็มีหลายรูปแบบมาก ที่ยอดนิยมคือความเรียบง่ายที่สุดของมันซึ่งสื่อสารออกมาได้มากที่สุด แต่ในเมื่องานชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งใจจะสื่อกับศิลปินมากเท่าไหร่ สารทางศิลปะก็ถือว่าน้อย เพราะผมสื่อกับประชาชนทั่วไป มันเลยต้องทำออกมาในรูปแบบที่ค่อนข้างดราม่า เพื่อให้เค้าได้เห็นภาพที่ชัดที่สุดว่าเรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่

ช่วงนี้เราก็เจอกับภาวะฝุ่นระดับอันตรายในชีวิตจริงด้วยพอดี

ผมว่ามันเป็นกระบวนการศิลปะในตัวมันเองนะ ทำให้คนรู้สึกถึงการแจ้งเตือนด้วยตัวเอง ผมเลยถือว่างานตัวเองเป็นส่วนเล็กๆ ที่บังเอิญอยู่ในช่วงขณะเวลานี้เท่านั้น

งาน Monolith Souvenirs ที่เป็นการเก็บใบไม้จากพื้นที่ที่ประสบมลพิษ นั่นคือการแสดงออกถึงสภาวะของคนที่ไม่สามารถจะหนีออกจากพื้นที่นั้นได้ คำถามที่ผมคิดหลังจากมาทำงานนี้และคิดถึงมันอยู่ตลอดก็คือ สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่เป็นผู้ดึงทรัพยากรต่างๆ เรารู้สึกอย่างไร เรามีกติกาบางอย่างที่เหมือนรับรู้กันเอง เวลาเราเห็นคนประสบปัญหา แต่เค้าไม่ได้แสดงออกชัดเจน เราจะรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นปัญหา หมายถึงว่าเราต้องปล่อยให้เค้าสาหัสมากๆ ถึงจะยอมช่วย อย่างนั้นใช่ไหม

โชคดีมากที่งานชิ้นนี้ที่ทำมันเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น เพราะฝุ่นคือสภาวะมลพิษที่เท่าเทียม มันแพร่กระจายอย่างทั่วถึงและเข้าถึงทุกบทบาท

ที่น่าสนใจคือมันก่อมะเร็ง และมะเร็งคือความเท่าเทียมของความไร้มาตรฐานทางสุขภาพของประเทศไทย ไม่ว่าจะจนหรือรวยเรามีสิทธิ์โดนเหมือนกันหมด ผมอาจจะพูดในด้านร้าย แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถจะแก้ไขเรื่องนี้ได้ มันคงมีเรื่องนี้อยู่ต่อไป คงเป็นความโชคร้ายหรืออะไรก็ตามที่ต้องพูดต่อไปเรื่อยๆ

ประเด็นที่ผมจะบอกคือทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องฝุ่น แต่มันเกี่ยวกับเรื่องของการจัดการและแนวคิดของความเป็นคนไทย มันสื่อสารในมุมกว้างถึงทัศนคติของคนไทยที่มีต่อสภาวะแวดล้อม ว่าเราจัดการกับมันอย่างไร ในเมื่อความคิด แนววิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว การเข้าถึง ความเข้าใจ ผมว่านี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องเข้าใจในบทบาทของตัวเองมากกว่านี้ ที่ผ่านมาเราใช้ชุดความคิดสมัยไหนก็ไม่รู้ แล้วก็ปล่อยเลยตามเลยมาเรื่อยๆ ซึ่งมันน่าเศร้านะ

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

เจออะไรมาบ้างระหว่างการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเพื่อมาทำชิ้นงานศิลปะ

ที่เราเห็นคือความขัดแย้งในชุมชนของพื้นที่นั้นๆ แล้วก็เรื่องทางเลือกของทางออกที่ถูกนำเสนอให้ จะพูดอย่างไรดี (นิ่งคิด) อย่างมีที่หนึ่งที่ลงไป เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงมาก แต่มีข่าวน้อยมาก ชาวประมงพื้นบ้านถูกจ้างให้เลี้ยงหอยแมลงภู่หน้าโรงไฟฟ้า มีการเอาเถ้าถ่านหินมาทำเวิร์กช็อปในวัด ให้ชาวบ้านมาช่วยกันทำอิฐ เราจะเห็นการแทรกแซงทางความคิด วัดคือพื้นที่ที่สงบ เจ้าอาวาสให้โอกาสชาวบ้านในการมาทำงานเพื่อประสานชุมชน โดยมีสปอนเซอร์จากโรงงานต่างๆ

ความขัดแย้งมันเต็มที่มาก มีคนที่มีค่าปรอทในเส้นผมสูงเกินมาตรฐานเยอะมาก ผู้นำประมงพื้นบ้านเสียชีวิตไปแล้ว ได้ข่าวว่าเป็นอัมพาตด้วย คือมันไม่มีทางออกในเรื่องนี้จริิงๆ ชาวบ้านยังเป็นชาวบ้าน ลูกจ้างยังเป็นลูกจ้าง เปลี่ยนมือไป เราตามข่าวไม่ได้หรอกเพราะคนที่เคยทำงานกับที่นั้นที่นี้ก็หายตัวไปเพราะป่วย กลับบ้านไป คนงานใหม่มาเปลี่ยน นี่คือมาตรฐานของคนไทยเหรอ? แน่นอนพื้นที่นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คนกรุงเทพไม่ได้ระแคะระคายเรื่องนี้เลย แต่นั่นหมายความว่าถ้าเราไปต่างจังหวัด ไปในพื้นที่ที่มีคนทำงานอยู่กับโรงงานแถวนี้มาก่อน ลองไปถามเค้าว่าเจออะไรมาบ้าง ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราจะเจอกับคำตอบที่น่าตกใจกว่าเดิม

ในรูปแบบของพื้นที่ส่วนกลางที่เราถูกหล่อเลี้ยง คัดกรองเอาสิ่งสกปรกออก เอาแต่สิ่งที่ถูกดูดเข้ามาหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯ ผมว่ามันไม่แฟร์มากๆ

โอเค ตอนนี้เราอาจจะพูดได้ว่ากรุงเทพฯ ก็เจอปัญหาเหมือนกัน ทั้งเรื่องมลพิษ ปัญหาคมนาคมขนส่ง แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับปัญหาที่นั่น ตอนนี้เราเจอกันกี่วันเอง แค่ไม่กี่วันยังโวยวายขนาดนี้ ที่สระบุรีเป็นเมืองคลุกฝุ่นมากี่สิบปีแล้ว กลายเป็นเมืองคลุกฝุ่นที่ทุกพื้นที่มีแต่ฝุ่นที่จัดการไม่ได้ จัดการไม่หมด มันคลุ้งมาตลอด มันค่อนข้างน่าเศร้าและเป็นดราม่าในตัวมันเอง จะไปทำหนังสารคดี เอ็มวี ทำอะไรก็ได้ ให้ศิลปินแต่ละคนเอาไปเปิดโอกาสให้ตัวเอง ชูความไม่เป็นธรรมซะ เพราะมันมีให้พูดเยอะแยะมาก

มันไม่ใช่แค่เรื่องฝุ่น มันคือความไม่ใส่ใจและความละเลย ถามว่าทำได้ไหม ได้ เทคโนโลยีก็มี การคัดกรอง การปกป้องต่างๆ การจัดการต่างๆ มันทำได้ เพราะไม่อย่างนั้น ในประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่น เยอรมันที่เค้ายังใช้ถ่านหินกัน ยังใช้สารเคมีต่างๆ โอเค มันก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแต่ก็น้อยมาก

ดูเหมือนเจอประเด็นต่างๆ เยอะไปหมด กลั่นไอเดียมาใส่ในชิ้นงานอย่างไร

ใส่ได้ไม่หมด มีแค่ส่วนนึงที่สามารถบอกได้ ผมเชื่อมโยงประเด็นมาใส่ในงานที่เป็นใบไม้ หรืองานที่เป็นรูปปั้นก็จริง แต่โดยพื้นฐานของปัญหา มันเป็นเรื่องของวิชวลที่คนต้องเห็นเอง ต้องรู้สึกเอง ซึ่ง [งานนี้] ผมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะช่วยให้คนกรุงเทพฯ เข้าใจได้มากขึ้น อาจจะรู้สึกกับมันได้บ้าง แต่มันมีองค์ประกอบนึงของงานศิลปะที่เราเข้าไปแทรกแซงมากกว่านี้ไม่ได้ ผมอาจจะไม่ถนัดเองด้วย

อย่างหนึ่งที่พูดได้คือพื้นที่แสดงงานศิลปะมันก็มีมาตรฐานของมันเองอยู่ ถ้าเราแสดงสิ่งที่อันตรายมากไปก็เหมือนเป็นการขับไล่คนดู อีกอย่างหนึ่งคือมันเป็นจริยธรรมของคนทำงานศิลปะด้วยเหมือนกัน คุณกำลังเอาสารพิษมาให้คนดู จริงๆ มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานผมเลยนะ เพราะมันเป็นความจริงอีกชิ้นหนึ่ง ถ้าคุณไม่เอาสิ่งที่เกิดขึ้นมาแสดง คนก็ไม่เห็นว่ามันมีบทบาทอะไร

ภาพ : บารมี เต็มบุญเกียรติ/กรีนพีซ

แต่ในทางกลับกัน มันคงเป็นความโหดร้ายเหมือนกันถ้าจะให้คนดูมาประสบกับสภาวะอย่างนั้นถ้าเค้าไม่จำยอม ผมเลยเห็นข้อจำกัดบางอย่างของพื้นที่แสดงงานในประเทศไทย สำหรับคนที่ทำงานศิลปะมา จะเห็นแล้วว่าในหลายพื้นที่ของโลก ขีดจำกัดมันน้อยมาก ศิลปินมีอำนาจมากพอในการต่อรอง

มีงานศิลปะหลายชิ้นมากที่แสดงบทบาทของมันได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องประณีประนอม ยกตัวอย่างเช่นงาน Domestic Tension ของ Bilal Wafaa ที่เค้าสร้างงานให้คนยิงปืนเพนต์บอลใส่เค้าทุกครั้งที่กดคลิก ตลอดหนึ่งเดือนที่เค้าอยู่ในแกลเลอรี่ วาฟาแทบไม่ได้นอน เพราะเพนต์บอลสองแสนกว่าลูกถูกยิงมาที่เค้าตลอดเวลา หรือ Death of Leviathan ของ Anish Kapoor ที่เป็นช็อคโกแลตเคลื่อนผ่านช่องประตูเล็กๆ

มันทำได้ แต่ผมก็เข้าใจว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น มันยังอีกห่างไกลมาก ที่อยากจะบอกคือศักยภาพของงานศิลปะที่เชื่อมโยงประเด็นทางสังคมมันมีมากกว่านี้ มันทำได้มากกว่านี้ ที่ผมทำอยู่เหมือนค่อยๆ แหย่ขาไปทีละข้าง กระโจนลงไปยังไม่ได้ เราไม่รู้ว่าพื้นที่ในอนาคตมันจะเป็นยังไง

แสดงว่าก่อนจะออกมาเป็นงานที่เห็น คุณคิดอยากทำอะไรมากกว่านี้

ใช่ ตอนแรกอยากทำเป็นห้องที่ไปเก็บฝุ่นมา แล้วปั๊มลมให้มันฟุ้งอยู่ตลอด แต่คนที่เข้าไปต้องใส่ชุดป้องกันอย่างดี แต่แน่นอน มันก็ยังทำไม่ได้ขนาดนั้น

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

คุณเคยบอกว่าเรามักจะไม่ค่อยเห็นปัญหา ถ้าไม่เห็นมันถูกทำให้เป็นรูปธรรม ทำไมถึงคิดอย่างนั้น

(ถอนหายใจ) เพราะเราถูกซ่อนไว้เยอะมากไงครับ ปัญหาคือเราถูกซ่อนปัญหาเอาไว้ให้ให้เห็นเยอะมาก มันอยู่ใต้บทบาททางศีลธรรม บทบาทอำนาจทางเพศ เราไม่สามารถจะตะโกนโวยวายได้ ไม่งั้นจะกลายเป็นบุคคลที่ไม่เอาไหนในสังคม

ยังมีแม้แต่ประเพณีของผู้ใหญ่ที่ว่าผู้ฉลาดต้องสงบเงียบ พูดแต่น้อย ผมขัดแย้งเรื่องนี้มาก คือพูดน้อย สำรวม แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร มันแค่เป็นการหลบหลีก ปลีกวิเวก ตัดตัวเองออกจากโลกที่วุ่นวาย ใช่ มันแก้ปัญหาให้กับตัวเค้า แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาให้สังคม

แล้วเราจะอยู่ในสังคมอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าคนปลีกตัวเองไปอยู่ในยูโทเปียของตัวเอง อยู่ในฟองสบู่ของตัวเอง ก็เห็นหลายๆ คนแหละที่พอเจอปัญหาปุ๊บก็ตัดตัวเองออก ไม่อยากยุ่งเกี่ยว มันเครียดเกินไป เดี๋ยวอะดรีนาลีนพลุ่งพล่านแล้วจะเสียสุขภาพ แต่ก็ขยันหาเรื่องอย่างนั้นมากเลย (หัวเราะ) มันคงเป็นแค่ข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองได้หลบไปจากปัญหาพวกนี้

ถ้าเราไม่เผชิญปัญหาที่มันอยู่ตรงหน้า แล้วเราจะแก้มันได้ยังไง

งานที่คุณทำเลยเป็นการทำปัญหาให้เป็นรูปธรรมแบบรูปธรรมจริงๆ

ใช่ มันถึงสำคัญมากที่ต้องเอาหลักฐานจริงๆ มาแสดง ไม่งั้นคนจะคิดว่าเราอุปโลกน์ไปเอง หลายครั้งมันก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกัน เหมือนมันเป็นเรื่องที่ถูกเขียนขึ้นมา ข้อมูลบางอย่างมันก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันเกิดในประเทศนี้จริงๆ เหรอ บางอย่างมันก็พูดได้ยาก

การทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้วย ยากกว่าการทำงานที่พูดถึงตัวเองอย่างเดียวไหม

ยากมาก ข้อแรกคือหลักฐานที่ได้ต้องชัดเจนมากพอ แล้วการสืบพยานหลักฐานเหล่านั้น เนื่องจากผมไม่ใช่คนจากแผนกสืบสวน วิธีการมันเลยค่อนข้างยาก โชคดีที่ผมพอรู้จักเพื่อนๆ ที่ติดต่อกันได้ เลยได้เริ่มแหย่เท้าเข้าไปในพื้นที่อื่นๆ มันทำให้การคุยหลายเรื่องค่อนข้างง่าย

ในบางองค์ประกอบของหลักฐาน มันเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นเยอะมาก อย่างตอนที่ทำ ASH HEART PROJECT เงื่อนไขมันง่ายมาก ทุกวันมีสิ่งมีชีวิตตายตลอดเวลา ผมจะเข้าถึงยังไงให้เร็วพอ ต้องมีเงินทุนมากพอ แต่สิ่งมีชีวิตที่ตายไป มันพูดได้หลายประเด็นมาก ซากคางคกติดถนนอาจจะพูดเรื่องการขนส่ง หรือพะยูนตาย วาฬตาย เราจะลงไปทันหรือเปล่า หรือบางอย่างถ้าตามไปก็เจอปัญหาได้

พอเรามีหลายๆ หลักฐานมารวมกัน มันสร้างเป็นภาพของประเทศนี้ได้ ความขัดแย้ง ความยากจน การเอาตัวรอดของคนด้วยวิธีการที่ไม่เลือก แต่พอมองกลับมาที่กรุงเทพฯ คนยังแฮปปี้ได้อยู่

ผมเห็นภาพนี้ซ้ำไปมาตลอดเวลา จะเป็นตอนที่ทำเรื่องสัตว์หรือเรื่องมลพิษครั้งนี้ก็ตาม ผมว่าคนในพื้นที่อดทนมากนะ อดทนสูงมาก ประเด็นคือเราเข้าใจปัญหาสูงมาก แต่เราไม่แก้ เพราะปัญหานี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเรา น่าเศร้ามากเหมือนกัน

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

อะไรทำให้เลือกทำงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์

ส่วนหนึ่งคือมันเป็นการทำให้เราไม่ได้พูดอยู่คนเดียว เรื่องสำคัญในโลกยุคสมัยใหม่คือคนแต่ละคนสามารถจะพูดอะไรก็ได้ สร้างสตอรี่ขึ้นมาได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันอ้างอิงกับความจริง มันจะมีการตรวจสอบได้ และการตรวจสอบนั้นจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นจริงๆ

งานศิลปะในประเทศเรามันถูก… จะบอกว่าเคยถูกก็ได้ มันเคยถูกพูดในแง่ของการ สมมติขึ้นมาตลอดเวลา

พอมันเป็นอย่างนั้น ผมว่ามันสร้างผลกระทบอีกแบบหนึ่งในเวลาเดียวกัน สำหรับผม การสร้างงานศิลปะที่เน้นความรื่นรมณ์ ความสุขสงบของชีวิต พูดถึงเรื่องของตัวเอง พูดถึงโลกในยูโทเปียมากๆ มันไม่ค่อยจะน่าเชื่อมากเท่าไหร่ เพราะมันขึ้นอยู่กับบริบทของศิลปินคนนั้นๆ ที่จะสถาปนามันขึ้นมา แต่หลักฐานต่างๆ ข้อเท็จจริงต่างๆ เราสามารถมองมันเป็นงานศิลปะได้เหมือนกัน แค่ลองหยิบออกมาเท่านั้นเอง

บางครั้งมันก็น่าเศร้าใจ เพราะหลักฐานต่างๆ มันเสื่อมสลายไปตามสภาพ ที่จริงแล้วหน้าที่พวกนั้นก็เป็นของนักวิจัย ตำรวจ หรือฝ่ายสืบสวนต่างๆ นั่นแหละ แต่คนทั่วไปควรตระหนักได้เหมือนกันว่าเราก็สามารถเก็บหลักฐานเหล่านั้นไว้ได้เหมือนกัน ในฐานะของ ‘วัตถุพยานระลึกส่วนตัว’ สมัยก่อนเราทำอยู่แล้วนี่ ถูกไหม จนกระทั่งมันถูกแบ่งแยกหน้าที่ว่าเป็นของคนนั้นของคนนี้

ด้วยเสรีภาพที่เพิ่มขึ้น ผมมองว่าคนทำงานศิลปะเองก็สามารถจะเก็บรูปแบบของหลักฐานไว้ได้เหมือนกัน เพื่อที่มันจะได้ถูกตรวจสอบได้ในอนาคต พอมันถูกสถาปนาในอีกรูปแบบหนึ่งแล้ว ถูกทำให้มันอยู่คงสภาพแล้ว อาจจะใกล้เคียงหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

ประเด็นก็คือ หนึ่ง เรามีสิ่งที่อ้างอิงได้ การทำงานศิลปะจะไม่ใช่การพูดคนเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะมันเป็นการพูดเชื่อมโยงกับคนอีกกลุ่มที่ทำหน้าที่เรื่องนี้อยู่ หรือแม้กระทั่งคนที่มีปัญหาเรื่องความเดือดร้อนต่างๆ เราจะไม่ใช่ผู้ที่ตะโกนโดยที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารอีกต่อไป เสรีภาพที่มากขึ้นทำให้เราสามารถเปลี่ยนหลักฐานนั้นให้เป็นวัตถุพยานทางศิลปะได้ แล้วมันก็มาเกี่ยวโยงกับวิทยาศาสตร์ได้ด้วย

เหมือนเป็นการเอาข้อมูลตัวเลขมาทำให้สื่อสารกับคน

สมัยก่อนมันไม่ค่อยได้ทำกันมากกว่า มันดูไม่เป็นศิลปะ แต่ในโลกยุคใหม่เราจะเห็นเยอะมากขึ้นว่างานศิลปะในโลกนี้มันแตกต่างและมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก แน่นอนว่ามันต้องมีผลกระทบกับผู้ที่ผลิตงานนั้นๆ ด้วยว่ามันเกิดขึ้นกับเค้า มันเชื่อมโยงกับประเด็นไหนของเค้า ซึ่งมันจะยิ่งสืบค้นเข้าไปเรื่อยๆ ได้ว่าในฐานะของมนุษย์คนนึง เค้าประสบอะไรมาถึงได้ทำเรื่องพวกนี้ แล้วการที่ยังทำต่อไปเรื่อยๆ แสดงว่าปัญหายังไม่จบหรือเปล่า

ผมว่ามันเป็นก้าวที่ลึกมากกว่าการสร้างสรรค์งานที่หลบมุมอยู่ในซอกส่วนตัวของตัวเอง เพราะมันจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนทั่วไป ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนๆ เดียว

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ถ้าอย่างนั้น คุณคิดว่างานศิลปะที่ผ่านๆ มาทั้งของตัวเองและของคนอื่นได้ทำหน้าที่ของมันแค่ไหนในการขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง

ถ้าในสายประเพณีก็อาจจะสุดของมันแล้วล่ะ ถ้าไปดูตามงานประกวดต่างๆ เราถึงได้มีนิยามมากมายขึ้นมาแต่ก็ซ้ำไปซ้ำมา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่งานศิลปะสายร่วมสมัยที่เกิดขึ้นก็มีหลายรูปแบบหลายแขนงมากกว่าเยอะ แม้กระทั่งตัวศิลปินเองก็มีศักยภาพในการผลิตชิ้นงานที่แตกต่างกันมากๆ โดยไม่ต้องสนใจสไตล์ เพราะมันเป็นลายเซ็นของแต่ละคนไปแล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีแอ็คชั่นของลายเส้น การตวัดแปรง แต่กลายเป็นรูปแบบอื่นๆ ไปแทน ซึ่งมันให้อิสระมากกับศิลปิน

ถัดมาคือศิลปินสามารถจะเป็นอะไรก็ได้ การเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ หรือการโน้มน้าวให้สาขาอื่นๆ เข้ามาจับประเด็นเหล่านี้ ผมมองว่ามันเป็นการเขยิบฐานะของศิลปิน เพราะไม่อย่างนั้นก็เป็นอย่างที่ผมบอก ก็จมจ่อมในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง คือการพูดเรื่องที่เชื่อมโยงประเด็นได้มากมายมันทำให้งานศิลปะที่ถูกผลิตเชื่อมโยง และคงอยู่ในสังคมได้ ซึ่งมันเป็นแนวโน้มที่ดีนะ แต่จะเป็นอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของแต่ละคน

แต่บางคนก็บอกว่าดูไม่รู้เรื่อง คิดว่ามันเป็นกำแพงของความเป็นศิลปะหรือเปล่า

งานศิลปะมันไม่ได้เหมือนกันหมดนะครับ มันมีทั้งงานที่ลึกซึ้งแต่เรียบง่าย ซึ่งความเรียบง่ายของมันอาจจะทำให้คนเข้าไม่ถึง หรืออาจจะมีงานที่ซับซ้อนมาก แต่พูดถึงสิ่งที่เรียบง่ายมากๆ ก็ได้ มันอยู่ที่คาแรกเตอร์ของศิลปินแต่ละคนด้วย

หนึ่งส่วนขึ้นอยู่กับศิลปินผู้สร้างงานที่เป็นคนสร้างภาษาในสไตล์ตัวเอง แต่ถ้างานมันยากมาก คนพูดควรเป็นคนอื่นที่มีน้ำหนักมากกว่า มีหลายงานมากที่ศิลปินไม่ต้องพูดเอง ให้คนอื่นพูดให้ ดังนั้นความเข้าใจทางด้านศิลปะเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็นในเวลาเดียวกัน

ถ้าเราเข้าใจเสียหมดจนไม่เหลือช่องว่างให้การคิดด้วยตัวเอง ที่เราเติมด้วยตัวเอง ผมเชื่อว่าเราไม่จำ แต่ถ้าช่องว่างใหญ่เกินไป มันก็เป็นความท้าทายว่าเรายังจะอยากหาข้อมูลจากมันอยู่หรือเปล่า แล้วจะไปถามใคร ถ้างานตรงหน้าเราไม่ให้คำตอบ

ในบ้านเรามันคงเป็นวงการที่เล็กอยู่ เพราะถ้ามันใหญ่อย่างที่ควรจะเป็น เราคงได้เห็นวิธีการคิดใหม่ๆ ที่เข้าถึงศิลปะได้ งานหลายชิ้นน่าสนใจ แต่มันถูกเก็บไว้โดยไม่ได้ให้คนทั่วไปได้เข้าใจ เพราะเราเลือกงานบางอย่างที่เข้าใจง่าย เป็นข้อเสียไหม ผมว่าเป็นข้อเสียนะ เพราะถ้าเป็นงานที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย แล้วถูกย้ำในรูปแบบนี้เรื่อยๆ มันจะพัฒนาไปได้ยังไง

มันต้องมีทั้งงานที่ยากบ้าง ง่ายบ้าง เหมือนเรากินอาหารยังกินได้หลายแบบเลย กินข้าวไข่เจียวตลอดห้าสิบปีเหรอ ไม่ใช่หรอก มันต้องมีการเตรียมใจกับการพัฒนาด้วย ประเด็นคืองานศิลปะควรจะหลุดออกจากกรอบความงามได้แล้ว เพราะเมื่อไหร่ที่พูดถึงความงาม มันจะจำกัดตัวเองอยู่อย่างนั้น แล้วในประเทศนี้ก็ยิ่งถูกสถาปนาได้ง่ายมากเลย แค่มีเครือข่ายชัดเจน เรามีความงามหลายแบบมาก แม้แต่สิ่งที่ไม่เห็นว่าเป็นความงามเลย แต่เป็นแนวคิด นั่นก็น่าสนใจ

ภาพ :  บารมี เต็มบุญเกียรติ/กรีนพีซ

ในโลกนี้มีแนวคิดอยู่เยอะมากที่พูดถึงเรื่องนี้ด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยคงสอนเยอะแล้วล่ะ แต่พอออกมา ก็เจอการครอบงำทางสังคมอยู่ดี คงเป็นหน้าที่ของศิลปินว่าจะหาวิธีจัดการกับงานที่ออกมาอย่างไร จะชี้แจงเรื่องเหล่านี้ยังไง แต่ก่อนอาจจะไม่ค่อยมีแนวร่วม แต่ทุกวันนี้มันก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว มันเลยทำให้เราได้เห็นงานที่มีสีสันมากขึ้น พูดถึงประเด็นต่างๆ มากขึ้น

งานก่อนๆ ของคุณที่ทำมาล่ะ ตอบสนองตัวคุณหรือเชื่อมโยงกับสังคมมากกว่ากัน

ถามว่าตอบสนองกับผมแค่ไหน คิดว่ามันปลดล็อกตัวผมเองได้นะ คือการที่ได้มีประสบการณ์ร่วม ได้เห็น ได้เอามันมาทำเป็นงานหนึ่งชิ้น แน่นอนว่ามันยังมีคำถามในตัวเองอยู่เหมือนกันกับเรื่องนี้ว่าเรามีสิทธิ์อะไรในการไปแทรกแซงสิ่งที่เรียกว่าเป็นวัตถุพยานนั้นๆ ในช่วงเวลานั้น อย่างงานชุด Revenge ที่ใช้กระดูกสุนัขมาทำ ที่ได้มาคือผมไปขอจากโรงพยาบาลสัตว์ ได้จากเจ้าของที่วางยาเบื่อ มันคือการแสดงทัศนคติของผมที่ไม่เห็นด้วย ผมไม่เห็นด้วยกับเจ้าของที่บอกว่าตัวเองรักสัตว์ แต่พอถึงเวลาก็พร้อมจะผละหนีไปได้ เป็นการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบ

แต่คำถามนั้นมันจะเป็นอย่างไรถ้าผมเกิดในเมืองจีน แล้วสุนัขเป็นสัตว์ที่เค้ากินกันโดยไม่ต้องมากังวล ผมจะคิดอย่างนี้ไหม แต่พออยู่ในประเทศไทย เราคิดอย่างไรกับเรื่องพวกนี้ ถ้าเราคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเราจะเห็นภาพชัดขึ้นไหมว่าแต่ละส่วนที่ประกอบขึ้นมาเป็นประเทศนี้มันแทรกแซงอะไรบ้าง ทำลายอะไรไปบ้าง

ถ้าในระดับสังคม ผมว่ามันคงขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ถูกจัดแสดง และใครที่พูดถึงอยู่ ผมก็เป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ถ้ามันถูกแสดงในพื้นที่ปิด แคบ ไม่เปิดเผย มันก็จบอยู่แค่นั้น แต่ถ้ามันถูกเปิดเผยออกไป มีการพูดถึงต่อ ประเด็นนี้ก็จะถูกเสริมขึ้นมา อาจจะเป็นการขอความเป็นธรรมต่อสัตว์ นิสัยที่ถูกเลี้ยงดูมา ความขัดแย้งเชิงสังคมอะไรอย่างนี้ มันเชื่อมโยงไปได้เยอะมาก แต่บางทีเราอาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศนี้ก็ได้ จนกว่ามันจะมีเหตุการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น

มองเห็นความเป็นไปได้อะไรที่จะเกิดขึ้นกับคนที่มาชมงานศิลปะชิ้นนี้ หรือชิ้นต่อๆ ไปของคุณ

มันมองได้หลายแง่น่ะ มีคนเคยพูดไว้ว่าถ้าเราเสนอเรื่องความขัดแย้ง แต่ไม่มีโซลูชั่นแก้ไขมาเสนอ ความขัดแย้งมันก็ยังคงอยู่ คนคิดไม่ออกหรอก แต่ผมไม่อยากดูถูกความคิดของคนไง ผมเชื่อว่าถ้าคนเริ่มเห็นว่ามันเป็นประเด็นของตัวเอง เค้าจะเริ่มเชื่อมโยงประเด็นได้ แล้วก็จะเห็นทางออกขึ้นมาเอง

ผมอาจไม่ใช่คนสร้างทางออก แต่ก็ยังเชื่อว่าคนอื่นๆ จะเริ่มสร้างมันขึ้นมาได้ ถ้าเค้าได้เห็นอะไรมากขึ้น และกล้าหาญมากขึ้น

เพราะในที่สุดแล้วเรื่องทั้งหมดทุกๆ คน ล้วนมีส่วนร่วมต่อปัญหาด้วยกันทั้งนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save