fbpx

กาลครั้งหนึ่งในอินเดีย RRR (Rise Roar Revolt)

พูดด้วยความมั่นใจนะครับว่า ในบรรดาหนังทั้งหมดที่ผมเลือกนำมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์นี้ RRR เป็นหนังที่สนุกมากสุดแบบไร้คู่แข่งที่สูสีใกล้เคียง

ใช้คำว่าสนุกยังไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก ต้องเป็นอภิมหาสนุกคูณสองเติมไม้ยมก ตบท้ายด้วยเครื่องหมายไปยาลใหญ่ จึงจะเหมาะสมกว่า

RRR เป็นผลงานปี 2022 กำกับโดยอาส. อาส. ราจาโมลลี (S.S. Rajamouli) คนทำหนังอินเดียพูดภาษาเตลูกู หรือที่เรียกกันว่า Tollywood ที่โดดเด่นสุดคนหนึ่งในปัจจุบัน ผลงานก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง Baahubali: The Beginning (2015) และ Baahubali2: The Conclusion (2017) ประสบความสำเร็จถล่มทลาย ทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ ติดอันดับหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของอินเดีย (The Beginning อยู่อันดับห้า ส่วน The Conclusion อยู่อันดับหนึ่ง)

RRR ออกฉายในอินเดียเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา (ส่วนในบ้านเราเพิ่งเผยแพร่ใน Netflix ราวๆ ครึ่งเดือนที่ผ่านมา) จนถึงปัจจุบันอยู่อันดับ 3 ของหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล ในทางตรงกันข้าม หนังเรื่องนี้ก็ทำสถิติเป็นหนังลงทุนสูงสุดในประวัติศาสตร์หนังอินเดียด้วยเช่นกัน (ประมาณ 72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

แนวทางของหนังเป็นแอ็กชันอิงประวัติศาสตร์ (หรือจะเรียกว่าปลอมประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะหนังแสดงเจตนาชัดเจนว่าเป็น ‘เรื่องแต่ง’ เพื่อความบันเทิง และไม่คำนึงถึงข้อมูลเหตุการณ์จริงสักเท่าไร)

หนังเล่าเรื่องของ 2 วีรบุรุษนักปฏิวัติ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง คือ อัลลูริ สิตาราม ราจู (Alluri Sitarama Raju) และ โกมารัม ภีม (Komaram Bheem)

ในความเป็นจริง ราจูกับภีม (มีคนตั้งข้อสังเกตไว้นะครับว่า ชื่อของทั้งคู่ผูกโยงกับตัวเอกใน 2 มหากาพย์ของอินเดีย คือ ราม จากรามายณะ และภีมะ จากมหาภารตะ) มีชีวิตโลดแล่นเคลื่อนไหวต่อสู้ ต่างช่วงเวลา ต่างพื้นที่ และมีช่วงเหลื่อมซ้อนตรงกันเพียงแค่เล็กน้อย ยิ่งไปกว่านั้นทั้งคู่ไม่เคยพบปะเจอะเจอกันเลย แต่หนังก็จินตนาการแต่งเติมให้วีรบุรุษทั้งคู่มาคลุกคลีสนิทสนมเป็นเพื่อนรักกัน

2-3 ย่อหน้าข้างต้นอาจแลดูน่าเกรงขามสักหน่อยนะครับว่าหนังจะอุดมไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไกลตัวสำหรับผู้ชมบ้านเรา แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง เพราะหนังมุ่งเน้นความบันเทิงเหนือสิ่งอื่นใด มีเรื่องราวประวัติศาสตร์เพียงน้อยนิด และเล่าให้เข้าใจง่ายอย่างถึงที่สุด

RRR มีความยาว 3 ชั่วโมง 6 นาที แต่ทุกคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ น่าจะเห็นพ้องตรงกันว่ามันสนุกชวนติดตามมากๆ จนกระทั่งรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน

หนังเริ่มต้นด้วยฉากเปิดเรื่อง 3 ฉาก (ประมาณ 20 นาที) เหตุการณ์แรก ผู้ว่าเดลีชาวอังกฤษชื่อสก็อต บักซ์ตัน เดินทางไปล่าสัตว์ในป่าที่อดิลาบัด ระหว่างนั้นแคทเธอรีน ภรรยาของเขา นั่งรออยู่ที่หมู่บ้านชาวกอนด์ ซึ่งทำการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี จนเมื่อได้เวลากลับ แคทเธอรีนต้องการตัวเด็กหญิงชื่อมัลลี (ซึ่งมีความสามารถในการร้องเพลงและวาดภาพ) ไปเป็นเครื่องประดับบารมี จึงหยิบโยนเศษเงินเป็นการซื้อตัว และพรากเด็กหญิงไปจากครอบครัวอย่างโหดร้าย

เหตุการณ์ต่อมา ที่สถานีตำรวจชานเมืองเดลี ฝูงชนมหาศาลรุมล้อมประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อการจับกุมตัวลาลา รัชปัต ราย (Lala Lajpat Rai) นักเขียน นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และนักการเมือง การจับกุมเกิดขึ้นที่กัลกัตตา แต่สร้างความโกรธแค้นมาถึงเดลี และมีทีท่าว่าการประท้วงจะบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจล ตำรวจเกือบทั้งโรงพักอกสั่นขวัญแขวนด้วยความหวาดกลัว ยกเว้นเพียงหนึ่งเดียวที่ยืนทะนงองอาจ และเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาชาวอังกฤษให้จับกุมตัวคนที่เป็นหัวโจกก่อเรื่องวุ่นวาย ตำรวจหนุ่มผู้นั้นก็ออกไปลุยสู้กับคนนับพันตามลำพัง และปฏิบัติภารกิจอันเหลือเชื่อสำเร็จลุล่วง

ตำรวจหนุ่มผู้นั้นคือ อัลลูริ สิตาราม ราจู ผลงานของเขาเป็นความดีความชอบที่ควรได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนยศเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษ แต่เมื่อประกาศรายชื่อออกมา ราจูกลับตกสำรวจ ยังผลให้เขาผิดหวังคับแค้นใจ (ถึงตรงนี้ หนังก็ผูกปมให้ผู้ชมทราบว่าราจูมีความปรารถนาอยากเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษอย่างแรงกล้า และพร้อมจะทำทุกสิ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย)

ฉากที่สาม นิซาเมตแห่งไฮเดอราบัด เดินทางมายังเดลีเพื่อเตือนภัยสก็อต บักซ์ตัน เกี่ยวกับพรากเด็กหญิงมัลลีมาจากชนเผ่าของเธอ โดยกล่าวว่าชาวกอนด์นั้นไม่มีปากเสียงใดๆ ต่อการกดขี่ย่ำยีกระทำทารุณ แต่เมื่อใดก็ตามที่สมาชิกหรือคนในครอบครัวของถูกพรากจับกุมตัว พวกนี้จะลุกขึ้นสู้ติดตามคนของเขากลับคืนมา และเป็นการสู้ชนิดกัดไม่ปล่อย

ควบคู่กับคำบอกเล่าข้างต้น หนังเปิดตัวละครโกมารัม ภีม และพวกพ้อง ซึ่งตระเตรียมวางแผนชิงตัวเด็กหญิงกลับคืน

เป็นฉากเตรียมตัว วางแผน ซึ่งในเบื้องต้นผู้ชมไม่ทราบหรอกนะครับว่าเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงเด็กหญิงจากเงื้อมมือกองทัพอังกฤษได้อย่างไร ฉากดังกล่าวเป็นการดักจับสัตว์ในป่านอกเมืองเดลี แสดงให้ผู้ชมเห็นถึงความเก่งกาจของภีม ซึ่งสามารถสยบเสือลายพาดกลอนด้วยมือเปล่า

หลังจากฉากเกริ่นนำทั้ง 3 ฉากจบลง หนังก็เริ่มเรื่องด้วยการที่ฝ่ายอังกฤษตระเตรียมรับมือ ออกคำสั่งให้ตำรวจสืบหาผู้เตรียมก่อเหตุร้าย และหาวิธียับยั้ง แต่ปัญหาก็คือไม่มีแฟ้มประวัติอาชญากรรมใดๆ ให้เป็นเบาะแส ไม่ทราบแม้กระทั่งร่องรอยหน้าตาว่าเป็นใครบ้าง เป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง จนแคทเธอรีน ภรรยาของสก็อตต์ บักซ์ตัน ต้องป่าวประกาศว่าตำรวจคนใดก็ตามที่สามารถสืบและจับตัวชาวกอนด์ จะได้รับการเลื่อนยศเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษ

เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ราจูรับอาสากระทำภารกิจอย่างไม่ลังเล แต่ก่อนที่เขาจะเริ่มต้นสืบเสาะหาคู่อริ ก็เกิดเหตุบังเอิญ (ขบวนรถไฟบรรทุกน้ำมันระเบิดกลางสะพาน จนทำให้เด็กชายคนหนึ่งตกอยู่ในอันตราย) ชักนำให้ราจูกับภีม ต้องร่วมมือกันเสี่ยงตายช่วยชีวิตเด็ก จนเกิดรักใคร่ชอบพอ นับถือน้ำใจและความสามารถของอีกฝ่าย และคบหาจนกลายเป็นเพื่อนรักเพื่อนตาย โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ทราบว่าเป็นศัตรูคู่อริที่มีเป้าหมายขัดแย้งกัน

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องย่อประมาณ 40 นาทีแรกของหนัง ที่เหลือต่อจากนั้นคือการลุ้นว่าความลับของตัวละครทั้ง 2 ฝ่ายจะเปิดเผยเมื่อใด และเมื่อเปิดเผยแล้ว ทั้งสองจะจัดการรับมืออย่างไร และนำพาไปสู่บทสรุปลงเอยเช่นไร

บทวิจารณ์จำนวนมากที่เขียนถึง RRR สรุปย่นย่อได้ว่า หนังโดดเด่นมากในส่วนของงานสร้าง ซึ่งยิ่งใหญ่ตระการตา การแสดง ความบันเทิงระดับเอกอุ และบทภาพยนตร์

อย่างหลังสุดนี่ทำให้ผมทึ่งมากนะครับ

บทภาพยนตร์ของเรื่องนี้มีคุณสมบัติและองค์ประกอบมากมายที่โดยปกติทั่วไปแล้ว เป็นสิ่งที่คนเขียนบทพยายามหลีกเลี่ยง เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหนังเลว อาทิ ตัวละครในลักษณะขาวจัด-ดำจัด ผู้ร้ายที่เลวเกินคำว่าระยำไปหลายขีดขั้นชนิดไม่มีเหตุผล (ตัวละครชาวอังกฤษเกือบทั้งหมด) มีความบังเอิญประจวบเหมาะอยู่เต็มไปหมด การใส่คำอธิบายความเป็นเหตุเป็นผลเข้ามาแบบจับยัด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม บทหนังที่เขียนโดยอาส. อาส. ราจาโมลลี ร่วมกับอัล วีเจนดรา ปราสาด (V. Vijayendra Prasad) มือเขียนบทคู่ใจ ก็อยู่ในเกณฑ์ดีแบบไร้ข้อสงสัย และเขียนออกมาได้อย่างชาญฉลาด

ผมคิดว่าเป็นบทหนังที่ออกแบบมาอย่างประณีตเพื่อความบันเทิงนะครับ และสนุกเกือบจะเข้าขั้น non-stop มีช่วงตื่นเต้นลุ้นระทึกซึ่งผู้ชมต้องเฝ้าเชียร์กันอย่างใจหายใจคว่ำ มีช่วงผ่อนให้พักหายใจ (เพื่อเล่าเรื่องราวส่วนอื่นๆ) มีดราม่าเข้มข้นสะเทือนใจสลับฉากในจังหวะอันเหมาะสม ดำเนินเรื่องอย่างกระชับฉับไว มีการจัดเรียงลำดับและการตัดสลับอดีต-ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดปมน่าสนใจชวนติดตาม

และประการสำคัญคือ การดุ่มเดินหน้าเข้าหา ‘ความไม่สมจริง’ แบบตั้งใจพุ่งเข้าชน แทนที่จะหลีกเลี่ยงหรือหาวิธีกลบเกลื่อนอำพราง หนังกลับสร้างโลกของเรื่องแต่งที่มีบุคลิกเฉพาะตัวโดดเด่น โม้สะบั้นหั่นแหลกเกินจริง

พูดได้อีกแบบนะครับว่า ในความเป็นหนังที่ห่างไกลจากความสมจริง บทหนังสร้างและใส่ความเป็นเหตุเป็นผลอย่างหลวมๆ เข้ามาอธิบายเรื่องราวได้อย่างฉลาดเป็นกรด ตรงไหนส่วนใดที่จำเป็นต้องบอกเล่าอธิบาย ก็หาวิธีตีเนียนใส่เข้ามาได้ถูกที่ถูกเวลา ตรงไหนที่ขาดเหตุผลไปแล้วไม่กระทบกระเทือนเสียหายมากนัก ก็พร้อมที่จะละเลยข้ามผ่านไปอย่างไม่แยแส

มีหลายฉากหลายตอน เมื่อดูจบแล้วนึกทบทวนย้อนหลัง พอจะมองเห็นแผลและรูรั่วนะครับ แต่ความสนุกในระหว่างติดตามชมก็ทำให้มองข้ามหรือไม่เห็นจุดอ่อนต่างๆ เหล่านั้น หรือกระทั่งว่าจับได้คาหนังคาเขาหลังจากดูหนังจบ ผู้ชม (เอาเป็นว่าตัวผมเองก็แล้วกัน) ก็สนุก ชื่นชอบ และต้องเสน่ห์เล่ห์กลของหนังเรื่องนี้เข้าไปเต็มๆ จนกระทั่งยินดีไม่ถือสาหาความ

ความเก่งของหนังเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำให้ผู้ชมยอมรับสรรพความโอเวอร์มากมายโดยไม่ตะขิดตะขวงใจเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ชมคล้อยตามในความไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีอยู่โจ่งแจ้งตำตาเต็มไปหมด เหนือสิ่งอื่นใดคือทำให้ผู้ชมรัก ‘การเล่นใหญ่’ ที่มีอยู่ในหนัง ถึงขั้นเฝ้ารอและคาดหวังว่าจะหวือหวาโลดโผนโจนทะยานไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ และเมื่อมันปรากฏขึ้นจริงๆ หนังก็มอบบรรณาการแก่คนดู จนสมหวังเต็มอิ่มไปตามๆ กัน

ตัวอย่างที่เด่นชัดในการยืนยันข้อความย่อหน้าที่แล้วก็คือ การออกแบบคิวบู๊และฉากแอ็กชัน ซึ่งเป็นจุดเด่นลำดับต้นๆ ที่ผู้คนจะนึกถึงและเป็นที่กล่าวขวัญ

RRR เป็นหนังแอ็กชันที่ตัวละครไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่มีเวทมนตร์อำนาจพิเศษ ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์หรือสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุค แต่ความสามารถอันเก่งกาจของตัวละครนั้น อาจพูดง่ายๆ ได้ว่าสามารถเข้าไปร่วมทีม Avengers ในหนังซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลได้สบายๆ

กุญแจสำคัญน่าจะอยู่ที่ 3 ฉากเปิดเรื่องช่วง 20 นาทีแรกนะครับ นอกจากจะสนุกและเร่งเร้าความกระหายใคร่รู้ให้อยากดูหนังที่เหลือไปจนจบครบทั้งเรื่องแล้ว ฉากเกริ่นดังกล่าวยังเป็นเหมือนการตั้งกติกาบางอย่าง และทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างคนทำหนังกับผู้ชมเกี่ยวกับฉากแอ็กชันที่เข้าขั้นโม้หลุดโลก หากไม่ซื้อก็เป็นอันจบข่าว แต่ถ้าหากยินดียอมรับเงื่อนไข เวลาสามชั่วโมง หนังก็จะปรนเปรอผู้ชมด้วยสิ่งเหล่านี้กันอย่างเต็มเปี่ยมเพียบแปล้

ฉากแอ็กชันการต่อสู้ในช่วง 20 นาทีแรกนั้น ทำได้ดีถึงขีดสุดจนสามารถนำไปบรรจุเป็นฉากไคลแมกซ์ในหนังบู๊ล้างผลาญวินาศสันตะโรทั่วไปได้สบายๆ เลยนะครับ

มีหนังมากมายเลยทีเดียวที่เริ่มต้นด้วยฉากแอ็กชันถึงพร้อมคะแนนเต็มสิบประมาณนี้ แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยคือหลายเรื่องขึ้นต้นสนุกสนั่นหวั่นไหว แล้วไปต่อไม่ได้เทียบเท่า กระทั่งเกิดอาการแผ่วปลาย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ RRR ก็คือ หลังจากผ่าน 2 ฉากแอ็กชันเปรียบมวยให้เห็นถึงความเก่งกาจของตัวเอกทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ฉากแอ็กชันที่ติดตามมาถัดจากนั้น จนกระทั่งถึงไคลแมกซ์ตอนจบ ยังสามารถสร้างสรรค์และเสนอจินตนาการบู๊มหัศจรรย์พันลึกต่อไปได้อีกในระดับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ฉากแอ็กชันของ RRR ยังจำแนกแยกย่อยออกได้หลายรส ตั้งแต่ดุเดือดเลือดพล่าน บ้าระห่ำ ตื่นตาตื่นใจ บรรลัยวายป่วง ฮึกเหิม สง่างาม และเท่สุดๆ

แน่นอนว่าหลายตอนโม้กระจายจนดูตลกและน่าขบขัน (แต่ก็เป็นความตลกที่ผมดูแล้ว อยากลุกขึ้นยืนปรบมือด้วยความถูกอกถูกใจนะครับ)

พ้นจากอารมณ์ขันแล้ว RRR ยังมีความบันเทิงครบรส ทั้งฉากสะเทือนใจ น่ารักรื่นรมย์ โหดร้ายรุนแรง  รวมความแล้วมีทุกสิ่งที่หนังเพื่อการค้าระดับตลาดจ๋าจะพึงมีพึงเป็น

ควบคู่ไปกับความบันเทิงรสจัดแล้ว หนังก็สะท้อนเนื้อหาสาระแทรกอยู่ตลอดทาง และพูดชัดเจนตรงไปตรงมาทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่และการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การเสียสละส่วนตัวเพื่อจุดมุ่งหมายยิ่งใหญ่ต่อส่วนรวม ทั้งหมดนี้ดีตามมาตรฐาน ตามเนื้อผ้า

มี 2 ประเด็นที่โดดเด่นออกมาเป็นพิเศษ อย่างแรกคือมิตรภาพระหว่างราจูกับภีม อย่างต่อมาคือการทำให้อังกฤษแลดูเลวร้ายน่ารังเกียจ แง่มุมหลังนี้ทำได้ระดับเดียวกับหนังอินเดียปี 2001 เรื่อง Lagaan: Once Upon a Time in India ซึ่งมีเหตุการณ์และฉากหลังคล้ายๆ กัน (ใน Lagaan เรื่องเกิดขึ้นประมาณช่วงทศวรรษ 1890) และสะท้อนเนื้อหาประเด็นเดียวกัน คือการกดขี่ข่มเหงที่อังกฤษกระทำต่อชาวอินเดีย

ทั้ง RRR และ Lagaan วาดภาพชาวอังกฤษออกมาเลวร้ายผิดมนุษย์มนา เหี้ยมโหด หยิ่งยโส เจ้ายศเจ้าอย่าง ที่เหมือนกันอีกอย่างคือท่ามกลางตัวละครชาวอังกฤษที่เป็นผู้ร้าย หนังก็สร้างตัวละครหญิงสาวชาวอังกฤษที่แตกต่าง เป็นคนดี และคอยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือชนพื้นเมืองอย่างลับๆ

Lagaan เป็นหนังที่เปิดโลกให้ผมรู้จักกับความยอดเยี่ยมของหนังอินเดีย (หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ) เช่นเดียวกับที่ RRR ส่งผลต่อผู้ชมบ้านเราในปัจจุบัน และควรได้ดูคู่กันเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นในทางเนื้อหา

มีใน Netflix ทั้ง 2 เรื่องนะครับ

เรื่อง Lagaan มีความยาว 3 ชั่วโมง 44 นาที แต่ก็คุ้มและควรค่าแก่การดูเป็นที่สุด

ข้อแตกต่างหนึ่งเดียวที่เด่นชัดระหว่าง 2 เรื่องนี้คือ RRR เป็นหนังแอ็กชันดุเดือดเลือดพล่าน ขณะที่ Lagaan เป็นหนังเกี่ยวกับการแข่งกีฬา (ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมเคยดู)

ความมหัศจรรย์ของ Lagaan นั้นอยู่ที่ว่า ประเภทของกีฬาที่แข่งกันในหนังคือคริกเก็ต ซึ่งผมดูไม่เป็น ไม่รู้กติกา และไม่รู้สึกว่าสนุกตรงไหน แต่หนังเรื่อง Lagaan ทำให้การแข่งขันคริกเก็ต กลายเป็นเกมหยุดโลก ระทึกใจ ตื่นเต้น และสนุกสุดๆ

ผมคิดว่าเป็นความสนุกและบันเทิงครบรสระดับเดียวกับ RRR นะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save