fbpx

ทำความรู้จักพลาสติก rPET เมื่อการลดใช้พลาสติกเป็นเรื่องยาก

กอปรทิพย์ ตู้จินดา เรื่อง

รัตนากร หัวเวียง ภาพประกอบ

 

ช่วงต้นปีที่แล้ว กระแสการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single used plastic) เริ่มจุดติดและ ‘แมส’ จนกระทั่งห้างร้านและหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เริ่มตระหนักและมีโครงการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก และแก้วน้ำพลาสติก หันมาสนับสนุนให้ใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ ไม่ว่าจะเป็นถุงผ้า หลอดกระดาษ หรือซิลิโคน หรือให้นำแก้วน้ำส่วนตัวมาเติมเอง แถมยังมีแรงจูงใจเล็กๆ น้อยๆ เป็นส่วนลดค่าเครื่องดื่มอีก เป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้คนรักษ์โลกทั้งหลายชื่นใจเป็นยิ่งนัก สร้างความหวังว่าทะเล ภูเขา แม่น้ำจะมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนน้อยลงได้แน่ๆ ถ้าทุกคนตระหนักรู้และลงมือทำอย่างพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

แต่อยู่ๆ กระแสนี้ก็ต้องแผ่วไปพร้อมกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากไวรัสตัวนี้ แพร่ระบาดผ่านละอองของเหลวของสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ป่วย ที่อาจจะตกลงบนภาชนะหรือฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศบริเวณนั้น ทำให้คนกลัวว่าการใช้ของที่ใช้ซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นแก้ว จานชาม ช้อนส้อม จะทำให้ติดไวรัสได้

ร้านกาแฟส่วนใหญ่ ยกเลิกโครงการให้นำแก้วส่วนตัวมาเองในทันที แล้วกลับไปใช้แก้วกระดาษหรือแก้วพลาสติกเหมือนเมื่อก่อน ร้านอาหารบางร้านต้องห่อจานชามช้อนส้อมที่ทำความสะอาดแล้วด้วยถุงพลาสติก ร้านอาหารหลายร้านเลิกใช้จานชามช้อนส้อมที่ล้างได้ไปเลย แล้วเปลี่ยนไปใช้จาน กล่องข้าว และช้อนส้อมพลาสติก เพราะกลัวว่าเวลาที่ต้องล้างจานจะติดเชื้อโรค สำหรับเราๆ ถุงผ้าที่เคยเอาไปจ่ายตลาดอาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค แก้วน้ำที่เคยพกไปเติมน้ำที่นู่นที่นี่ก็ให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

นอกจากนั้น มาตรการล็อกดาวน์หรือการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ทำให้คนมีพฤติกรรมสั่งของและอาหารออนไลน์มากขึ้น บริษัทให้คำปรึกษาด้านการตลาดและข้อมูลเชิงลึก คันทาร์ เวิร์ลพาแนล (Kantar Worldpanel) เผยว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคชาวไทยซื้ออาหารผ่านบริการ food delivery มากขึ้นถึง 38% แน่นอนว่าเมื่อเราสั่งของออนไลน์ ปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ห่อของหรืออาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ The Los Angeles Times ระบุว่าในระยะเวลาแค่ 8 สัปดาห์ที่สิงคโปรล็อกดาวน์ประเทศ แค่ขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารเดลิเวอรีอย่างเดียวก็เพิ่มขึ้นถึง 1470 ตัน

ความหวังของคนรักษ์สิ่งแวดล้อมเมื่อต้นปีก่อนดูจะเลือนลางลงไปทุกที เมื่อการรักษ์โลกต้องแลกกับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส เราจะปรับตัวอย่างไร หรือมีทางเลือกอะไรบ้างเมื่อเราต้องอยู่กับ ‘new normal’ ที่ดูเหมือนจะอยู่กับเราไปอีกนาน

 

ทางเลือก?

 

อันที่จริงแล้ว ในระหว่างที่กระแสลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งกำลังได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือผู้ผลิตสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายแห่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ บ้างก็โต้แย้งด้วยข้อมูลอีกด้าน บ้างก็พยายามหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้

หนึ่งในความพยายามใหม่ๆ อันหนึ่งก็คือ การพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า rPET (Recycled polyethylene terephthalate) หรือพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลตที่รีไซเคิลมาแล้ว หลายคนคงเริ่มคุ้นๆ ว่าต้องเคยได้ยินชื่อพลาสติกชนิดนี้มาก่อนแน่ๆ เพราะพลาสติกชนิดนี้นิยมนำมาผลิตเป็นขวดน้ำ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘ขวดเพ็ต’ หรือ ‘ขวดพีอีที’ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นขวดชาเขียว ขวดน้ำวิตามิน ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำเปล่า แก้วพลาสติก กล่องพลาสติกใส่อาหาร ส่วนใหญ่ก็ผลิตมาจาก PET ทั้งนั้น

การผลิตขวดหรือบรรจุภัณฑ์จาก PET ที่พูดถึงมาทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เม็ดพลาสติกใหม่ๆ ที่เรียกกันว่า virgin plastic เมื่อผลิตมากขึ้นก็ยิ่งสร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้จบ ดังนั้นคงไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อลดการใช้ virgin plastic และนำ PET มารีไซเคิล จะช่วยลดขยะพลาสติกได้มหาศาลขนาดไหน

 

กระบวนการผลิต rPET

 

เมื่อเราทิ้งขวดหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกลงในถังขยะ หากเรามีระบบการรีไซเคิลขยะที่ดีพอ ขยะจาก PET เหล่านี้จะถูกคัดแยกออกจากพลาสติกชนิดอื่นและส่งไปยังโรงรีไซเคิล PET โดยเฉพาะ เพื่อล้างทำความสะอาดสารที่อาจปนเปื้อนออก แยกสี และบดให้เป็นเกล็ดหรือเม็ด ซึ่งเกล็ดหรือเม็ด rPET นี้ สามารถนำไปขายเป็นวัสดุเพื่อผลิตเป็นเสื้อผ้า พรม ฉนวน หรือแม้กระทั่งนำไปผลิตเป็นขวดนำ้เพื่อใช้ซ้ำแล้วก็นำมารีไซเคิลต่อไปได้อีกเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ศึกษาเปรียบเทียบอีกว่า rPET น่าจะเป็นตัวเลือกที่ยั่งยืนและอาจดีกว่าพลาสติกย่อยสลายได้หรือพลาสติกที่ทำจากพืช (Polylactic acid: PLA) โดยบอกว่า PLA ส่วนใหญ่ทำจากข้าวโพด ต้องใช้ที่ดิน น้ำ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อปลูกข้าวโพดขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เสียรูปได้ง่าย สร้างมลภาวะมากกว่า ราคาแพงกว่า ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และยังแตกตัวออกเป็นไมโครพลาสติกได้อยู่ดี

 

ภาพจากเว็บไซต์ waiakeasprings.com

ใครใช้ rPET บ้าง?

 

การนำ rPET มาใช้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคงเคยได้ยินแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงอย่าง Adidas และ Nike ประกาศเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนและ circular design แล้วผลิตรองเท้าและเสื้อกีฬาที่มาจาก rPET และขยะพลาสติกอื่นๆ จากทะเลกันมาหลายปีแล้ว รวมทั้งบริษัทชั้นนำด้านความยั่งยืนอย่าง Patagonia ที่นำ rPET มาผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬากลางแจ้ง

หรือจะเป็นผู้บุกเบิกเรื่องความยั่งยืนอย่างบริษัท Interface ที่นำแหจับปลาเก่าที่ลอยอยู่ในทะเลและ rPET มาผลิตเป็นพรมรีไซเคิล ภายใต้ภารกิจที่ว่าพรมของ Interface จะไม่ไปจบที่กองขยะอีกต่อไป

สำหรับกรณีที่คนไทยเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ ก็คือการนำ rPET มาผลิตเป็นขวดและบรรจุเครื่องดื่มอีกครั้ง เช่น กรณีของบริษัท Nestleในอเมริกาเหนือ ที่เพิ่งประกาศว่าจะใช้ขวดที่ทำจาก rPET 100% ผลิตน้ำดื่ม 3 แบรนด์ โดยหวังว่าภายในปี 2025 ทั้งบริษัทจะสามารถเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์จาก rPET ให้ได้มากกว่า 50% หรือบริษัท Danone เจ้าของน้ำแร่ชื่อดังอย่าง Avian ที่เริ่มผลิตน้ำแร่ธรรมชาติในขวดที่ผลิตจาก rPET 100% ขายในประเทศอังกฤษ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท PepsiCo ก็เริ่มใช้ขวดที่ทำจาก rPET บรรจุน้ำผลไม้สมู้ตตี้แบรนด์ Naked หรือบริษัทคู่แข่งอย่าง Coca-Cola ที่เริ่มบรรจุโค้ก แฟนต้า สไปรท์ในขวดที่ผลิตจาก rPET 50% และมีแผนจะขยับไปใช้ rPET 100% ต่อไปในปีนี้ ซึ่งบริษัทอ้างว่าจะสามารถลดการใช้ virgin plastic ไปได้กว่า 21,000 ตันเฉพาะในประเทศอังกฤษ

หากบริษัททั้งหมดที่กล่าวถึงเหล่านี้ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จริง อาจเปลี่ยนภาพลักษณ์จากที่เคยถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างขยะพลาสติก มาเป็นฮีโร่ที่แก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างพุ่งกระฉูด โดยเฉพาะในยุคโควิดที่เหมือนกึ่งบังคับให้คนต้องสร้างขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลแบบนี้ก็เป็นได้

 

 

ความท้าทายของไทย

 

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลหลายอย่างแล้ว แต่กฎหมายของประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำ PET มารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับการใส่อาหาร โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” แม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะเคยตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว ก็ยังสรุปความเห็นได้ว่าต้องมีการศึกษาสภาพปัญหาและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริงก่อน

ความท้าทายที่มีก็เนื่องมาจากลักษณะของขวด PET ที่มีโครงสร้างค่อนข้างแข็งแรง คนจึงมักนำไปใช้ซ้ำหลายรูปแบบ บางคนก็นำไปใส่สารเคมีหรือสารทำความสะอาด ซึ่งหากระบบการรีไซเคิลหรือการทำความสะอาดไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ ก็อาจมีสารปนเปื้อนลงไปในวัสดุรีไซเคิลได้ นอกจากนั้นระบบการคัดแยก PET เกรดที่ใช้กับอาหาร (food grade) และเกรดอื่นๆ ในประเทศไทยก็ยังไม่ค่อยสมบูรณ์

ดังนั้นการจะเริ่มผลักดันให้สามารถใช้ rPET ในประเทศไทยได้ นอกจากฝั่งผู้ผลิตวัสดุรีไซเคิลที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการคัดกรองและทำความสะอาดขจัดสารปนเปื้อนแล้ว เราก็ควรจะพัฒนาระบบคัดแยกขยะพลาสติกให้ดี โดยเริ่มตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างตัวเราในบ้านของเรา โดยเฉพาะในยุคที่เราต้องกักตัวหรือทำงานอยู่ที่บ้าน เชื่อว่าจะมีขยะพลาสติกหลายประเภทให้เรียนรู้และทดลองคัดแยก อย่างน้อยในช่วงที่เราไม่สามารถลดการใช้พลาสติกได้ เราก็ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ขยะพลาสติกเหล่านี้ ไม่ไปจบที่บ่อขยะให้เป็นภาระลูกหลานต่อไป

 

อ้างอิง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save