fbpx

กองทัพไทย-พม่า: ความเสี่ยงภายใต้ความไว้วางใจและการทูตเชิงป้องกัน

เครื่องบินรบแบบ MIG 29 ของกองทัพพม่าหรือตัดมาดอว์ บินล้ำเขตไทยเข้ามาราว 5 กิโลเมตร ด้านบ้านวาเลย์เหนือและวาเลย์ใต้ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกาของวันที่ 30 มิถุนายน 2022 ทั้งหมด 4 รอบ กินเวลาประมาณ 15 นาที เพื่ออ้อมไปโจมตีกองกำลังของฝ่ายต่อต้านที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนในบริเวณดังกล่าว พร้อมๆ กับประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่า

หลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว กองทัพอากาศไทยแถลงว่า ได้ตรวจพบ ‘อากาศยานไม่ทราบฝ่าย’ บินล้ำแดนบริเวณอำเภอพบพระ จังหวัดตาก โจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อยบริเวณแนวชายแดนและบินล้ำแดนเข้ามายังพื้นที่ประเทศไทย ก่อนเป้าหมายจะจางหายไปจากระบบเรดาห์เฝ้าตรวจการณ์ของกองทัพอากาศในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังได้ตรวจพบเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติภารกิจอยู่ห่างชายแดนบริเวณดังกล่าว ระยะทางประมาณ 5 ไมล์ทะเล แต่มิได้ล้ำแดนมายังพื้นที่ประเทศไทยแต่อย่างใด

กองทัพอากาศไทยตอบสนองด้วยการมีคำสั่งให้เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 หรือ F 16 จำนวนสองเครื่องขึ้นบินลาดตระเวนรบทางอากาศทันที และได้สั่งให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพม่าเพื่อแจ้งเตือนและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของไทย บอกกับสื่อมวลชนว่า ได้มีการประสานงานไปทางพม่าแล้ว เขา (พม่า) ยอมรับแล้วว่ารุกล้ำ พร้อมขอโทษมาแล้ว ระบุว่าไม่ได้ตั้งใจจะมีปัญหา แต่เขาต้องตีวงเลี้ยวจึงล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทยเล็กน้อย “นี่เป็นเรื่องที่มองดูอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำให้เรื่องใหญ่ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีกหรือไม่ ซึ่งวันนี้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมีอะไรก็พูดคุยหารือกัน”

พลอากาศเอก นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พูดในทำนองเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีว่า การบินล้ำแดนในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เพราะได้มีการประเมินแล้วว่า เครื่องบิน MIG 29 ลำดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาโจมตีประเทศไทย แต่พม่าคือเพื่อน “ถ้าเพื่อนบ้านพลั้งเผลอเดินตัดสนามหญ้าหน้าบ้านแล้วเราจะไปยิงเขาตายเลยหรือ นั่นก็เกินไป เพราะฉะนั้นการปฏิบัติการที่เหมาะสม ขอให้อยู่บนพื้นฐานเพื่อนปฏิบัติต่อเพื่อน”

ความจริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครื่องบินรบของตัดมาดอว์ล้ำแดนเข้ามาในเขตไทย พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ บอกกับสื่อมวลชนว่า เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น 4-5 ครั้งในรอบปี แต่ดูเหมือนว่าทางการไทยจะไม่เห็นเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยแต่อย่างใด อีกทั้งเสมือนเป็นการแสดงความเข้าอกเข้าใจสถานการณ์ของตัดมาดอว์เป็นอย่างดีว่ากำลังปฏิบัติการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก Janes Terrorism and Insurgency Center ของนิตยสารเจนซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลทางด้านความมั่นคงที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่งของโลกรายงานว่า  ตัดมาดอว์ ได้ปฏิบัติการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรงนับแต่การรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว นับจากเดือนมิถุนายน 2021 เป็นต้นมา กองทัพพม่าได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศแล้วทั้งสิ้น 22 ครั้ง โดยอากาศยานที่ใช้ส่วนใหญ่เป็น MIG 29, YAK 130 และ เฮลิคอปเตอร์ MI 35[1]

ปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนระหว่างไทยและพม่าก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกเช่นกัน ประเทศที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาตลอดประวัติศาสตร์ที่มีชายแดนติดกันย่อมหลีกเลี่ยงเรื่องการกระทบกระทั่งไม่พ้น กองทัพจึงกลายเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบายในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ แม้ว่าปัจจุบันอาจจะดูเหมือนว่ากองทัพไทยสยบยอมและอ่อนข้อให้กับตัดมาดอว์อย่างมาก แต่หากมองจากมุมของการทูตเชิงป้องกัน (Defense diplomacy) การที่กองทัพของสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีกลไกที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย ทำให้ป้องกันความเข้าใจผิดต่างๆ ได้ ก็ย่อมนำมาซึ่งสันติสุขเพราะจะไม่มีความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น

แต่กองทัพของไทยและพม่าไม่ได้มีความเข้าอกเข้าใจหรืออะลุ่มอล่วยให้กันแบบนี้เสมอไป ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตัดมาดอว์-กองทัพไทย-กองกำลังของฝ่ายต่อต้าน กองทัพทั้งสองมักจะแสร้งว่า มีความสัมพันธ์ฉันมิตรและให้ความร่วมมือที่ดีต่อกันก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หรือใช้เป็นกันชนเพื่อประโยชน์ของความมั่นคงของตนเองแต่ฝ่ายเดียว

บทความนี้ต้องการที่จะโต้แย้งว่า ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการรัฐประหารจะทำให้ความสัมพันธ์ที่จอมปลอมเช่นนี้เปราะบางทั้งต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีของสองประเทศ และความสัมพันธ์ของไทยต่อนานาชาติ

ประวัติศาสตร์ย่อของความ(ไม่)ไว้วางใจ

ด้วยความที่ทั้งไทยและพม่าถูกครอบงำและแทรกแซงโดยทหารเป็นเวลานาน ทำให้กองทัพมีบทบาทสำคัญในการกำหนดและดำเนินนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป้าหมายทางด้านความมั่นคงเป็นหลัก ในช่วงทศวรรษ 1960s-1980s กองทัพทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เนื่องจากพม่าดำเนินนโยบายปิดประเทศ ส่วนไทยมีความหวาดระแวงเพื่อนบ้านอันเนื่องมาจากภัยคอมมิวนิสต์ จึงสนับสนุนและติดอาวุธให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขัดแย้งกับตัดมาดอว์มาตั้งแต่พม่าได้เอกราชเพื่อใช้เป็นกันชนและคอยสอดแนมความเคลื่อนไหวของพม่า ในยามที่กองทัพไทยติดพันกับสิ่งที่เชื่อว่าเป็นภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านด้านตะวันออก

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 1980 เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น รัฐบาลไทยในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ประกาศนโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้า ยุติความสัมพันธ์กับฝ่ายต่อต้านของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งก็อ่อนกำลังลงมาแล้วในเวลานั้น) เพื่อเปิดสัมพันธ์กับรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ในเมืองหลวงโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

แต่กรณีของพม่านั้นอาจจะแตกต่างจากเพื่อนบ้านทางด้านตะวันออกเพราะฝ่ายต่อต้านอันได้แก่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากยังคงเข้มแข็ง ทั้งยังได้กำลังสนับสนุนจากนักศึกษาและประชาชนพม่าที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านระบอบเน วินในปี 1988 กองทัพไทยจึงจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่นกับกองกำลังที่มีฐานที่มั่นอยู่ใกล้ชายแดนไทย เช่น กะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ และคะยา เป็นต้น ในขณะเดียวกันกองทัพไทยก็ดำเนินนโยบายด้านเปิดในแนวทางเดียวกับรัฐบาลชาติชาย โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เดินทางเยือนพม่าในเดือนธันวาคม 1988 เพื่อสร้างความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับพลเอกซอ หม่อง ผู้นำสูงสุดของพม่าในเวลานั้น และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความไว้วางใจระหว่างสองกองทัพ เพราะฝ่ายไทยส่งนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากลับไปรับการลงทัณฑ์โดยไม่ยี่หระต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ[2]

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพหลังจากยุคชวลิตก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะผู้นำตัดมาดอว์รู้ดีว่ากองทัพไทยยังคงมีความสัมพันธ์กับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ และเปิดทางให้ภาคเอกชนของไทยเข้ารับสัมปทานป่าไม้จากเขตยึดครองของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นผ่านแดนไทย เกิดความตึงเครียดตามแนวชายแดนหลายครั้งโดยครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1992 ระหว่างที่พลเอก สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร ตัดมาดอว์ส่งกำลังทหารขับไล่กองกำลังกะเหรี่ยงและเข้ายึดเนิน 491 ซึ่งฝ่ายไทยเห็นว่าอยู่ในเขตแดนไทยด้านอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ความขัดแย้งนำไปสู่การปิดด่านชายแดนและการยกเลิกสัมปทานป่าไม้บางส่วนของนักธุรกิจไทย เหตุการณ์นี้ยืดเยื้ออยู่นานจนกระทั่งกองทัพบกไทยเปลี่ยนผู้บัญชาการเป็นพลเอกวิมล วงศ์วานิช จึงเจรจาคลี่คลายปัญหาในจุดนั้นในปี 1993

ความพยายามของตัดมาดอว์ในการปราบปรามกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะกะเหรี่ยงภายใต้การนำของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในช่วงทศวรรษ 1990 ได้สร้างความตึงเครียดตามแนวชายแดนเสมอมา ในหลายกรณีกองกำลังที่เป็นหุ่นเชิดของตัดมาดอว์ เช่นกะเหรี่ยงพุทธบุกโจมตีกะเหรี่ยงคริสต์แล้วเลยเข้ามาปล้นสดมภ์ประชาชนไทยตามแนวชายแดน ก็สร้างความตึงเครียดให้ได้มาก ประกอบกับเขตแดนระหว่างสองประเทศยาวกว่า 2,400 กิโลเมตรนั้นยังไม่ได้มีการปักปันให้ชัดเจน การกล่าวหาและประท้วงว่ามีการลุกล้ำเขตแดนเพื่อปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จึงเกิดขึ้นเนืองๆ

ในห้วงเวลานั้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะไม่สู้ดีนัก ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง เช่นสมัยของชวน หลีกภัย และบรรหาร ศิลปอาชา แต่ความสัมพันธ์จะแนบแน่นเมื่อฝ่ายไทยมีผู้นำรัฐบาลที่มีพื้นฐานมาจากทหาร เช่น สมัยชวลิต แม้ว่าที่มาของรัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งและอยู่ในรูปพลเรือนก็ตาม อาจจะกล่าวได้ว่า กองทัพไทยสามารถกระชับความสัมพันธ์กับตัดมาดอว์ได้แนบแน่นมากเมื่อชวลิตเป็นนายกรัฐมนตรีและพลเอก เชษฐา ฐานะจาโร เป็นผู้บัญชาการทหารบก นายทหารทั้งในและนอกราชการในฐานะที่แตกต่างกันต่างพยายามใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำตัดมาดอว์ มีเยือนกันบ่อยครั้งในช่วงนั้น เชษฐาสามารถเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและพม่าจนนำไปสู่การเปิดสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเมยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เชื่อมกับจังหวัดเมียวดีของพม่าในปี 1997 อีกทั้งเขายังสามารถเจรจาขอให้ทางการพม่าปล่อยตัวลูกเรือประมงไทย 99 คนที่ถูกจับก่อนหน้านั้นเพราะไปจับปลาในน่านน้ำพม่า โดยที่การดำเนินการเจรจาโดยกระทรวงต่างประเทศก่อนหน้านั้นไม่เป็นผล[3]

ความสัมพันธ์ระหว่างตัดมาดอว์และกองทัพไทยเลวร้ายถึงขีดสุดระหว่างปี 2000-2001 เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลในเวลานั้นภายใต้การนำของชวน หลีกภัย ครั้งที่สองที่มีแนวนโยบายต่างประเทศไปแนวทางแบบตะวันตกที่วิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างรุนแรง และกองทัพบกภายใต้การนำของพลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ ได้ดำเนินการปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดนอย่างรุนแรงและเห็นว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้การนำของกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army) เกี่ยวข้องกับการผลิตและค้ายาเสพติด ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของตัดมาดอว์ ส่วนตัดมาดอว์ก็มองว่า กองทัพไทยให้การสนับสนุนกองกำลังไทใหญ่ (Shan State Army) ซึ่งเป็นปรปักษ์กับตัดมาดอว์และกองทัพว้า ในการปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดในเขตชายแดนไทยในส่วนที่ติดกับรัฐฉาน อีกทั้งเห็นว่าสุรยุทธ์ โดยส่วนตัวแล้วมีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และรับการสนับสนุนจากวอชิงตันในการปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดอีกด้วย ทหารของตัดมาดอว์และทหารไทยปะทะกันตามแนวชายแดน ด้านบ้านป่าซางนาเงิน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2000 และครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่ฐานปางหนุน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และเนินกูเตงนาโยง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2001 ซึ่งทหารไทยถูกทหารพม่าจับตัวเป็นเชลยศึกได้ 1 นายก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

กองทัพลดบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าระหว่างปี 2001-2006 กล่าวให้ชัดเจนคือ ระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเน้นบทบาทของรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งและให้อำนาจกระทรวงต่างประเทศเป็นองค์กรนำในการดำเนินนโยบายซึ่งเน้นความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ของไทยในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสำคัญ กองทัพเกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับพม่าเฉพาะด้านเทคนิคที่กำหนดเอาไว้ตามกลไกของความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคง เช่น คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee-RBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee-TBC) และชุดติดต่อประสานงานไทยพม่าที่ประจำอยู่ในท้องถิ่นและจุดชายแดนเท่านั้น

พันธมิตรต่อต้านประชาธิปไตย

แม้ว่าทหารไทยจะเข้าควบคุมการเมืองในปี 2006 แต่ยังไม่ทำให้กองทัพทั้งสองไปนั่งในแกนกลางของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้ เนื่องจากคณะรัฐประหารของไทยภายใต้การนำของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อยู่ในอำนาจเพียงปีเศษๆ ก็จัดการเลือกตั้ง อนุญาตให้พรรคการเมืองในเครือข่ายของทักษิณจัดตั้งรัฐบาลและดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องความมั่นคง ประการต่อมา ตัดมาดอว์เองก็กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวถอยฉากทางการเมืองเปิดโอกาสให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีกระบวนการปฏิรูปจะนำโดยนายทหารคือพลเอกเต็ง เส่ง แต่ตัดมาดอว์ก็ลดอำนาจทางการเมืองจากที่เคยควบคุม 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ในรัฐสภาและกระทรวงสำคัญๆ ทางด้านความมั่นคงเท่านั้น

แต่การรัฐประหารของประยุทธ์ในปี 2014 นั้นต่างออกไปมาก กองทัพไทยเข้าควบคุมการเมืองอย่างเข้มข้น รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานถึง 5 ปีก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งทำให้คณะนำในการรัฐประหารครั้งนั้นสามารถอยู่ในตำแหน่งในคราบของรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้อีกต่อไป อีกทั้งผู้นำตัดมาดอว์อย่างมิน อ่อง หล่าย ซึ่งแอบสานสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำในกองทัพไทยเอาไว้เงียบๆ ก่อนหน้านั้น ดูเหมือนจะรู้ว่าเวลาของทหารในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่ามาถึงแล้ว เขาเดินทางเยือนไทยในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2014 พบกับพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกรณ์ ผู้บัญชาการกองทัพไทยในเวลานั้นและมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลทหาร มิน อ่อง หล่าย ได้ออกปากชื่นชมความสำเร็จกองทัพไทยในการยึดอำนาจ แต่ก็ยังไม่วายคุยทับกองทัพไทยว่า ไม่ได้เจอสถานการณ์ที่ร้ายแรงเท่ากับพม่าในปี 1988[4] ซึ่งเผชิญกับการต่อต้านจากนักศึกษา ประชาชนอย่างกว้างขวาง และเหตุการณ์จบลงด้วยการนองเลือดโดยที่ตัดมาดอว์ยังคงรักษาอำนาจได้ต่อไปอีกนาน

มิน อ่อง หล่าย ไม่เคยปิดบังความทะเยอทะยานของเขา นักสังเกตการณ์บางรายกล่าวเอาไว้เมื่อ 8 ปีก่อนว่า เขาน่าจะได้เป็นผู้นำสูงสุดของพม่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง[5] (การรัฐประหารเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ในพม่า) และเขาได้เตรียมตัวในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำในกองทัพไทย ในปี 2012 เขาได้เอ่ยปากขอเป็นบุตรบุญธรรมพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีในเวลานั้นผู้เป็นเสมือนพ่อทูนหัวของกองทัพไทยและผู้นำทางทหารของไทยหลายคน เมื่อเปรมตกปากรับคำก็หมายความว่า ผู้นำตัดมาดอว์เอาชนะใจทหารไทยได้ โดยที่ฝ่ายไทยก็เชื่อโดยสนิทใจว่า ผู้นำตัดมาดอว์จะไม่มีทางทรยศต่อพ่อบุญธรรมของเขาได้

เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า มิน อ่อง หล่ายได้แรงบันดาลใจจากการทำรัฐประหารของประยุทธ์ ทำให้เขาตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของอองซาน ซูจีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เขาเคยบอกกับนายพลของไทยว่า “ผมจะทำรัฐประหารก็ต่อเมื่อพลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย”[6] นั่นหมายความว่า เขาจะปลอดจากการวิพากษ์วิจารณ์ของไทยและแถมยังได้ใช้ไทยเป็นเกราะกำบังแรงเสียดทานจากนานาชาติได้อีกด้วย รัฐบาลประยุทธ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาคิดถูก

มิน อ่อง หล่ายใช้ประโยชน์จากความไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าวอย่างเต็มที่ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2022 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เครื่องบิน MIG 29 ของตัดมาดอว์ล่วงล้ำเขตแดนไทย หนังสือพิมพ์โกลบอล นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลลงข่าวหน้า 1 เต็มหน้าว่า มิน อ่อง หล่ายได้ให้การต้อนรับคณะนายทหารจากกองทัพบกไทยนำโดยพลโทอภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่สาม ซึ่งได้นำคณะนายทหารไทยไปประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนฝ่ายภูมิภาคในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ในเนื้อหาของการประชุมนั้น หนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานว่าทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับมิตรภาพและความร่วมมือของกองทัพทั้งสอง การสร้างเสถียรภาพตามแนวชายแดน การเพิ่มความร่วมมือในหลายด้านรวมทั้งเรื่อง การบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมยาเสพติด พัฒนาการทางการเมืองในพม่า ความพยายามของกองทัพในการปราบปรามการก่อการร้าย เป็นต้น ภาพประกอบข่าวหน้าหนึ่งนั้นเป็นภาพของนายทหารไทยและพม่ายืนเรียงแถวพร้อมกับมิน อ่อง หล่าย และในหน้า 3 ก็ได้อุทิศเนื้อที่ให้กับภาพมิน อ่อง หล่ายนั่งเก้าอี้โซฟาตัวใหญ่ ส่วนพิเชษฐ์นั่งเก้าอี้ตัวเล็กกว่าสนทนากับผู้นำตัดมาดอว์ด้วยท่าทีพินอบพิเทาเป็นพิเศษ และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพนายทหารทั้งสองแลกเปลี่ยนของตัวกันตามธรรมเนียมของการเยี่ยมเยือน[7]

ปกติแล้วการประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนฝ่ายภูมิภาคจะมีระดับแม่ทัพภาคของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม และประชุมความร่วมมือทางด้านเทคนิคตามแนวชายแดนเสียเป็นส่วนใหญ่ สื่อมวลชนทั้งไทยและพม่าไม่สู้จะให้ความสำคัญมากนัก ยกเว้นบางปีที่มีปัญหาชายแดนระหว่างกัน แต่หนังสือพิมพ์ทางการพม่าอุทิศพื้นที่ให้มากและจัดให้เป็นข่าวสำคัญ ตัวมิน อ่อง หล่ายก็ให้ความสำคัญกับการเยี่ยมคำนับของคณะผู้แทนไทยค่อนข้างมากก็เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความแนบแน่นของกองทัพทั้งสอง ที่สำคัญในเนื้อหาของข่าวนั้นพูดถึงการประชุมทั้งสองฝ่ายที่พูดถึงความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย แต่ความหมายของการก่อการร้ายสำหรับตัดมาดอว์แล้ว ไม่ใช่การก่อการร้ายสากล หากแต่หมายถึงกองกำลังของฝ่ายต่อต้าน เฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้ก่อการร้ายไปเรียบร้อยแล้ว นั่นอาจจะทำให้ตีความได้ว่า กองทัพไทยจะให้ความร่วมมือกับตัดมาดอว์ในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านไม่ว่าจะเป็นกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปฏิเสธจะเข้าร่วมแผนการสันติภาพของมิน อ่อง หล่าย

ในทำนองเดียวกันกองทัพไทยดูเหมือนจะตอบสนองในทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตัดมาดอว์ ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มมีการปฏิบัติการโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้านตามแนวชายแดน ไทยไม่เพียงผ่อนปรนให้เครื่องบินรบของตัดมาดอว์อ้อมเข้ามาในเขตไทยเพื่อที่จะได้โจมตีเป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังช่วยผลักดันให้ผู้ลี้ภัย (ซึ่งในบริเวณชายแดนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์) ให้กลับออกไป ทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังคงคุกรุ่นอยู่ ในขณะที่ผ่อนปรนให้ทหารตัดมาดอว์ข้ามแดนมาหาเสบียงฝั่งไทยได้ ไม่นับว่ามีรายงานข่าวว่าข้าวสารและเสบียงอาหารจำนวนหนึ่งถูกขนไปส่งที่ฝั่งพม่าด้วย (แต่กองทัพไทยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้จัดส่งให้) [8]

            สรุป

หากเป็นความสัมพันธ์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์แบบดั้งเดิม การที่กองทัพไทยและตัดมาดอว์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเช่นนี้ ก็น่าเชื่อได้ว่า ไทยและพม่าจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อกันและกัน กองทัพทั้งสองจะไม่กระทบกระทั่งกันด้วยเหตุที่ไม่จำเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันตัดมาดอว์ได้ระบุว่า ภัยคุกคามความมั่นคงของตนเองคือประชาชนของพม่าเองที่ต่อต้านการปกครองเผด็จการทหาร และกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของรัฐบาลทหารและปรารถนาจะมีอำนาจในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงกับแยกตัวออกจากสหภาพพม่าเลยก็ตาม ความร่วมมืออันดีที่ตัดมาดอว์ต้องการจากกองทัพไทยคือ ช่วยระมัดระวังไม่ให้ฝ่ายต่อต้านเหล่านั้นหนีเข้ามาหลบภัยในเขตแดนไทย และถ้าเป็นไปได้ให้ช่วยจัดการผลักดันกลับไปสู่เอื้อมมือของตัดมาดอว์ ความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้ฝ่ายไทยมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

ประการแรก ถ้าไม่ถูกตัดมาดอว์ใช้ก็กลายเป็นการสมรู้ร่วมคิดในการปราบปรามประชาชนผู้ต้องการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งขัดกับหลักสากลที่โลกส่วนใหญ่กำลังยึดถืออยู่ในปัจจุบัน ประเทศไทยโดยรวมมีความเสี่ยงที่จะเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ เช่นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้มนุษยธรรมในกรณีที่กองทัพไทยเร่งผลักดันผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนกลับไปในขณะที่สถานการณ์ยังไม่มีความปลอดภัย ซึ่งดูเหมือนเป็นการทำลายชื่อเสียงที่เคยมีมาแต่ในอดีตของไทยไป

ประการที่สอง ความอะลุ่มอล่วยต่อการปฏิบัติการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์ของตัดมาดอว์ จะทำให้ภารกิจในการป้องกันประเทศและปกป้องประชาชนไทยในเขตชายแดนในส่วนที่ติดกับพม่าย่อหย่อน ผลโดยตรงคือ ประชาชนไทยเองจะได้รับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการปฏิบัติการของตัดมาดอว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่เกิดจากการถูกลูกหลงก็เกิดจากการที่กองกำลังที่เป็นพันธมิตรของตัดมาดอว์บุกรุกพื้นที่หรือเข้ามาปล้นสดมภ์ฝั่งไทยได้ง่ายๆ

ประการที่สาม  ความสัมพันธ์ที่ดีกับตัดมาดอว์ทำให้กองทัพไทยต้องละทิ้งกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์หรือกองกำลังของฝ่ายต่อต้านที่เคยเป็นกันชนระหว่างกองทัพทั้งสองไป ผลของมันคืออาจจะทำให้กองกำลังเหล่านั้นต้องมองว่ากองทัพไทยเป็นศัตรูไปด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนของไทยเอง

กลไกความสัมพันธ์ระหว่างตัดมาดอว์และกองทัพไทย

กลไกองค์ประกอบ
คณะกรรมาธิการระดับสูง (High Level Committee)ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
คณะกรรมาธิการชายแดนฝ่ายภูมิภาค (Regional Border Committee)แม่ทัพภาค
คณะกรรมาธิการชายแดนฝ่ายท้องถิ่น (Township Border Committee)นายทหารระดับพันเอกผู้บังคับหน่วยประจำเมืองชายแดน
หน่วยประสานงานชายแดนประจำพื้นที่นายทหารผู้บังคับหน่วยในพื้นที่
ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร (ประจำเมืองหลวง)นายทหารยศพันเอก, นาวาเอก, นาวาอากาศเอก
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] Akhil Kadidal “Myanmar MiG 29 violates Thai airspace” Janes July 2, 2022 (https://www.janes.com/defence-news/news-detail/myanmar-mig-29-violates-thai-airspace)

[2] Aung Zaw “Thai Premier’s ‘Flashback’ Visit to Burma” Irrawaddy Vol 16 No.4 April 2008 (https://www2.irrawaddy.com/article.php?art_id=11204)

[3] สิริมนต์ อติแพทย์ ทหารกับการต่างประเทศไทย: ศึกษาบทบาทกองทัพบกไทยในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า (2539-2541) วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตร์มหาบัณทิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2544 หน้า 14

[4] Wassana Nanuam “Myanmar army chief hails Thai coup” Bangkok Post July 4, 2014 (https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/418896/general-approval-from-myanmar)

[5] Nirmal Ghosh “Thailand-Myanmar: Traditional rivals now brother in arms” Straits Times July 14, 2014 (https://www.straitstimes.com/asia/thailand-and-myanmar-traditional-rivals-now-brothers-in-arms)

[6] Dominic Faulder, Gwen Robinson and Marwaan Macan-Markar. “Failed state: Myanmar collapse into chaos” Nikkei Asia April 14, 2021 (https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Failed-state-Myanmar-collapses-into-chaos)

[7] “State Administration Council Chairman, Commander in Chief of Defense Service Senior General Min Aung Hlaing receives Thai delegation headed by Lt. Gen. Apichet Suesat of Royal Thai Army” The Global New Light of Myanmar June 30, 2022 p. 1,3

[8] Butho Thwee “Thailand shuns refugees as it quiet cooperates with Myanmar junta” Myanmar Now May 3, 2021 (https://www.myanmar-now.org/en/news/thailand-shuns-refugees-as-it-quietly-cooperates-with-myanmars-junta)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save