เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2021 พลโท ฮุน มาเนท ผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพกัมพูชา บุตรชายคนโตของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการกลางพรรคประชาชนกัมพูชาให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในอนาคต[1] ตามที่คาดหมายกันโดยทั่วไปและรับรู้กันมาระยะหนึ่งแล้วว่า บุรุษผู้มีอำนาจมากที่สุดในกัมพูชาในเวลานี้ต้องการให้ลูกชายของเขาสืบทอดตำแหน่ง อำนาจ และสมบัติในประเทศนี้ ราวกับเป็นการสืบราชสมบัติของระบอบราชาธิปไตย
หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศอื่นอาจจะเกิดคำถามมากมายว่า พรรคการเมืองเสนอชื่อนายทหารประจำการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และหลักปฏิบัติว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือ? แต่ในกัมพูชาดูเหมือนประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่คำถามสำคัญ เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คนที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศในเวลานี้คือฮุน เซนพ่อของมาเนทเองต้องการให้เป็นเช่นนั้น
ฮุน เซน อดีตนักรบปฏิวัติ ส่งลูกชายไปเรียนโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 หลังจากกัมพูชาสิ้นสุดยุคสงครามและได้เข้าสู่ยุคใหม่ของประวัติศาสตร์ไปแล้ว เพื่อปูทางให้เขากลับมาเป็นผู้นำประเทศแทนเมื่อยามที่พ่อมีความจำเป็นต้องวางมือทางการเมืองด้วยเหตุผลใดก็ตาม ตอนที่มาเนทเรียนหนังสือในสหรัฐฯ นั้น อำนาจทางการเมืองของฮุน เซนไม่ได้มั่นคงเท่าใดนัก พรรคประชาชนกัมพูชาไม่ได้มีที่นั่งมากเป็นอันดับหนึ่งในสภาและไม่ได้เป็นแกนนำในรัฐบาลหากแต่อยู่ในแบบรัฐบาลผสม จนกระทั่งเขาตัดสินใจใช้กำลังยึดอำนาจจากสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 1 จากพรรคฟุนซินเปก ในปี 1997 และจัดการเลือกตั้งใหม่ในปีต่อมา จึงทำให้พรรคประชาชนกัมพูชาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ หลังจากนั้นฮุน เซนจึงสามารถมีอำนาจนำทางการเมือง รวมศูนย์อำนาจในกองทัพและเครือข่ายทางธุรกิจเข้าหาตัวเองได้จนถึงปัจจุบัน พร้อมๆ กับมาเนทก็เติบโตอย่างรวดเร็วในกองทัพจนทำท่าว่าจะสามารถส่งต่ออำนาจทางการเมืองเป็นมรดกตกทอดให้ทายาททางสายเลือดได้
กองทัพเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการเมืองกัมพูชามาโดยตลอด แม้จะปรากฎว่ากองทัพกัมพูชาไม่ได้ทำรัฐประหารบ่อยนักเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพไทย บทความนี้จะอธิบายความสัมพันธ์ชนิดพิเศษของกองทัพกับผู้นำและการเมืองในราชอาณาจักรกัมพูชาว่ามีลักษณะอย่างไรและมีพื้นฐานมาอย่างไรจึงสามารถทำให้ฮุน เซน ครอบครัวและเครือข่ายของเขาสามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน
กองทัพประชาชนและพรรคการเมือง
กองทัพแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในปัจจุบันแม้จะมีชื่อว่า ‘กองยุทธพลเขมภูมินทร์’ (Royal Cambodia Armed Forces) และรัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับปัจจุบัน (มาตรา 23) บัญญัติให้กษัตริย์เป็นจอมทัพแต่ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะได้กำหนดชัดเจนว่ากองทัพกัมพูชาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหาร (ไม่ใช่กษัตริย์) และในความเป็นจริงกองทัพแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาแม้จะได้ชื่อว่าเป็นกองทัพพระราชา (royal army) เหมือนกองทัพไทย แต่ต่างกันอย่างยิ่งในสาระสำคัญและการก่อกำเนิด เพราะกองทัพกัมพูชาในยุคปัจจุบันไม่ได้สืบเนื่องมาจาก Royal Khmer Armed ที่ตั้งขึ้นในปี 1953 เมื่อได้เอกราชจากฝรั่งเศสและเคยมีกษัตริย์นโรดม สีหนุเป็นจอมทัพ หากแต่เป็นกองทัพที่มีรากเหง้ามาจากกองทัพปฏิวัติ (Revolutionary Army of Kampuchea) ซึ่งเขมรแดงตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองกำลังในการปฏิวัติปลดปล่อยให้กัมพูชาเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของลัทธิเหมา
อาจจะมีข้อโต้แย้งในทางประวัติศาสตร์ว่ากองทัพปฏิวัติกัมพูชาของเขมรแดงนั้นแตกสลายไปเมื่อกองทัพเวียดนามบุกยึดกัมพูชาและขับไล่เขมรแดงซึ่งนำโดยพลพต นวลเจียให้ถอยร่นมาอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศใกล้ชายแดนไทย แต่ต้องไม่ลืมว่ากองกำลังส่วนหนึ่งภายใต้การบังคับบัญชาของเฮง สัมริน เจีย ซิม และฮุน เซน ทางภาคตะวันออกของประเทศที่ร่วมมือกับกองทัพเวียดนามขับไล่เขมรแดงก็คือทหารเขมรแดงของกองทัพปฏิวัติกัมพูชานั่นเอง เพียงแต่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชา (Kampuchea People’s Revolutionary Armed Forces) ในเวลาต่อมา เมื่อสิ้นสถานการณ์ปฏิวัติ (แต่ไม่ได้สิ้นสงคราม) จึงเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพประชาชนกัมพูชา (Cambodia People’s Armed Force) เพราะเป็นกองทัพที่ร่วมกับกองทัพเวียดนามสู้รบกับกองกำลังเขมรแดงของพลพต กองกำลังขนาดเล็กของกลุ่มสมเด็จนโรดม สีหนุ และกลุ่มซอน ซาน อดีตนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ใกล้ๆ ชายแดนไทยแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว และจันทบุรี
กองทัพกัมพูชาได้รับการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่หลังสนธิสัญญาปารีสปี 1991 เมื่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านพนมเปญยกเว้นเขมรแดงยอมวางอาวุธและผนึกกำลังเข้ากับกองทัพแห่งชาติที่เปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติในปี 1993
ในขณะที่กลุ่มเขมรแดงซึ่งถูกจัดให้เป็นกองกำลังนอกกฎหมายยอมวางอาวุธและเข้าสวามิภักดิ์กับกองทัพแห่งชาติหลังจากอสัญกรรมของพลพตในเดือนเมษายน 1998 ซึ่งนั่นก็เป็นเวลาที่ฮุน เซนยึดอำนาจทางการเมืองจากสมเด็จรณฤทธิ์แล้ว แต่การประสานกำลังของฝ่ายต่อต้านเข้ากับกองทัพแห่งชาติไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ต้องแบ่งปันอำนาจระหว่างฮุน เซนกับรณฤทธิ์ระหว่างปี 1993-1997 เพราะกองกำลังของฟุนซินเปกนั้นภักดีกับฝ่ายเจ้าคือกษัตริย์สีหนุและสมเด็จรณฤทธิ์ ในขณะที่กำลังหลักในกองทัพภักดีต่อฝ่ายต่างๆ ในพรรคประชาชนกัมพูชามากกว่าจะคำนึงถึงความเป็นเอกภาพของกองทัพแห่งชาติโดยรวม[2]
จนกระทั่งเมื่อฮุน เซนยึดอำนาจสำเร็จจึงได้มีการล้างบางพวกที่ภักดีกับฟุนซินเปกกันอย่างขนานใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามภายในกองทัพก็ไม่ได้เป็นเอกภาพหรือยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจของเขาไปเสียทั้งหมด เหล่าทัพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบกรวมถึงกองทัพภาคและกองพลต่างๆ กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสารวัตรทหาร ดูเหมือนจะมีอิสระโดยสัมพัทธ์ในระดับหนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง และแสดงความสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายการเมืองภายในพรรคประชาชนกัมพูชาแตกต่างกันออกไป เช่น เฮง สัมริน เจีย ซิม สายชุม ไม่จำเป็นจะต้องภักดีต่อเตีย บัณห์ รัฐมนตรีกลาโหมตลอดกาลเสมอไป ในขณะที่ตำรวจนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือซอร์ เคง ผู้ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทหารและอยู่ในตำแหน่งยาวนานมาตั้งแต่ปี 1992
ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและพรรคประชาชนกัมพูชานั้นเป็นสิ่งที่จะต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ โดยพื้นฐานแล้วทหารในกองทัพกัมพูชาคุ้นเคยกับโครงสร้างของสายการบังคับบัญชาและความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองผ่านพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวตามระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีมาตั้งแต่การปลดปล่อยในปี 1975 ระบอบนี้ได้รับการตอกย้ำให้แข็งแกร่งอย่างมากระหว่างที่กองทัพเวียดนามอยู่ในกัมพูชาปี 1979-1989
หลังการเลือกตั้งปี 1993 กัมพูชาอาจได้ชื่อว่ามีการเมืองในระบอบพหุนิยมที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ ก่อนที่จะฮุน เซนจะยึดอำนาจในปี 1997 ที่ทหารในกองทัพมีเส้นสายทางการเมืองนอกพรรคประชาชน แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทหารที่มีความสัมพันธ์กับพรรคฟุนซินเปกก็คือทหารของฟุนซินเปกที่มีอยู่แต่เดิมก่อนการเลือกตั้ง ไม่มีทหารที่เคยมีความสัมพันธ์กับพรรคประชาชนเปลี่ยนไปสวามิภักดิ์ต่อพรรคฟุนซินเปกหลังจากที่พรรคนี้ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
ในระบอบคอมมิวนิสต์แบบเวียดนามที่กองทัพกัมพูชาคุ้นเคยนั้น ผู้บัญชาการทหารจะมีตำแหน่งในกรรมการศูนย์กลางพรรคและกรรมาธิการทหารของพรรคจะเป็นผู้มีอำนาจคัดคานกับผู้บัญชาการทหาร ในกรณีของพรรคประชาชนกัมพูชานั้น สร้างความสัมพันธ์กับกองทัพด้วยการตั้งนายทหารให้มีตำแหน่งในพรรคและส่งเสริมให้นายทหารที่แสดงความภักดีต่อพรรคหรือผู้นำในพรรคให้ได้เลื่อนตำแหน่งที่ดี หรือคล้ายๆ กับกองทัพไทยคือให้นายทหารที่ภักดีหรือใกล้ชิดการเมืองเหล่านั้นได้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการให้มีหุ้นหรือควบคุมบริษัทธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของพรรค
ดังนั้นการที่ฮุน มาเนท ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกในกรรมการกลางและดำรงตำแหน่งกรรมาธิการเยาวชนของพรรคประชาชนกัมพูชาก่อนการได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนคิเดตนายกรัฐมนตรีในอนาคตของพรรค จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเป็นหลักปฏิบัติของพรรคประชาชนกัมพูชาที่รับมาจากระบอบคอมมิวนิสต์แบบเวียดนาม อีกทั้งสถานะของพรรคประชาชนในปัจจุบันที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์เพียงพรรคเดียวทำให้บุคลิกของอำนาจทางการเมืองกัมพูชาในเวลานี้แทบจะไม่แตกต่างอะไรกับการเมืองในระบอบคอมมิวนิสต์หรือสภาพก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 1993 เลยแม้แต่น้อย
ในระบบคอมมิวนิสต์นั้น กองทัพจะทำหน้าที่คุ้มครองและรักษาความมั่นคงให้กับพรรคคอมมิวนิสต์และระบอบ แต่ในกัมพูชากองทัพตอบแทนพรรคประชาชนด้วยการช่วยควบคุมคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง รักษาฐานเสียงหรือแม้แต่ข่มขู่คู่แข่งทางการเมืองให้กับพรรค
กองกำลังส่วนตัว
แม้ว่าฮุน เซนจะเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นแกนนำพรรคประชาชนกัมพูชามาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้มีอำนาจเหนือกองทัพทั้งหมดสามเหล่าทัพและสารวัตรทหารอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น หากแต่มีวิวัฒนาการเรื่อยมา นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าในระยะแรกๆ นั้นอาจจะมีทหารแค่เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเท่านั้นที่ภักดีต่อฮุน เซนจริงๆ[3] นอกนั้นโดยเฉพาะกำลังพลในระดับล่างล้วนแล้วแต่ภักดีต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพวกเขา
ดังนั้นฮุน เซนหาทางออกในหลายทาง เริ่มจากการตั้งกองกำลังพิเศษซึ่งภักดีต่อเขาเป็นการเฉพาะ ซึ่งรวมถึงหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ที่เมื่อแรกตั้งนั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฮุน มาเนท หน่วยรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี กองพล 70 และ กองพลรบพิเศษ 911 และหน่วยที่เพิ่งตั้งใหม่เมื่อฮุน เซนมีอำนาจแข็งแกร่งมากขึ้น คือกองกำลังรักษาพระนครที่ตั้งขึ้นในปี 2003 และที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามการประท้วงที่สวนเสรีภาพเมื่อปี 2014[4] ควรจะกล่าวด้วยว่า ลูกชายคนที่สองของฮุน เซนคือ ฮุน มานิต นั้นเป็นนายทหารสายข่าว ซึ่งทำหน้าที่หาข่าวกรองเพื่อเสริมอำนาจและบารมีของพ่อด้วยเช่นกัน
ประการต่อมาคือเปลี่ยนผู้บัญชาการทหาร โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2009 เมื่อมีการปลดเกกิมยานผู้ภักดีต่อประธานพรรคประชาชน เจียซิม ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสุงสุดของกองทัพกัมพูชาแทนด้วยพอล ซาเรือน ผู้ภักดีต่อฮุน เซนมากกว่า[5]
พอล ซาเรือน อยู่ในตำแหน่งเสริมอำนาจบารมีให้ฮุน เซนนานถึง 9 ปี พร้อมด้วยนายทหารสำคัญอีก 2 คนคือ คุน คิม เสนาธิการทหาร และเมี๊ยะ โสเพีย ผู้บัญชาการทหารบก ที่ช่วยควบคุมกองทัพและกำราบฝ่ายต่อต้าน จนกระทั่งฮุน เซนมั่นใจอำนาจเหนือกองทัพ นายทหารทั้งสามคนจึงลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ในนามพรรคประชาชนกัมพูชา แต่เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีตำแหน่งอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นก่อนที่ผู้บัญชาการทหารทั้งสามคนจะลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นจึงส่งมอบตำแหน่งให้นายทหารระดับรองรักษาการโดยพอล ซาเรือนมอบให้เสา สุขขา รักษาผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วนคุน คิม มอบให้ฮุน มาเนท รักษาการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเสนาธิการทหาร
ผลการเลือกตั้งในคราวนั้น พอล ซาเรือนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในเขตจังหวัดพระสีหนุ และคุน คิม เป็นผู้แทนจังหวัดเมียนเตียเมียนเจย ส่วน เมี๊ยะ โสเพีย เป็นผู้แทนจังหวัดพระวิหาร แต่ทั้งสามไม่ได้ปฏิบัติหน้าในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีอาวุโสในรัฐบาลที่มีฮุน เซนเป็นนายกรัฐมนตรี
นักสังเกตการณ์จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า ความจริงแล้วพอล ซาเรือนและนายทหารใหญ่ที่คุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพกัมพูชาไม่ได้ประสงค์จะจากกองทัพไปเป็นผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด แต่เนื่องจากระบบการเกษียณอายุราชการในกัมพูชาไม่แน่นอน และฮุน เซนก็ไม่อยากจะใช้อำนาจปลดเขา แม้ว่าพอล ซาเรือนจะได้ชื่อว่าเป็นคนในโอวาทก็ตาม ดังนั้นจึงต้องใช้วิถีทางที่นิ่มนวลแบบการทูตด้วยให้ตำแหน่งทางการเมืองแก่พวกเขาเพื่อเป็นการให้เกียรติและรักษาหน้ากัน
เมื่อนายทหารคนสำคัญทั้งสามคนขยับออกไป จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งในกองทัพกัมพูชา โดยผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทนพอล ซาเรือนไม่ใช่เสา สุขขาที่รักษาการ แต่กลับเป็นคนที่ฮุน เซนไว้ใจที่สุดคนหนึ่งคือ พลเอกวง พิเสน รองผู้บังคับการสารวัตรทหารขึ้นรับตำแหน่งแทน และในการโยกย้ายแต่งตั้งในเดือนกันยายน 2018 นั่นเองที่ทำให้ฮุน มาเนท ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก แทนเมี๊ยะ โสเพีย และอิท ซารัท ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการทหารแทนคุน คิม[6]
แม้ว่าเสา สุขขาจะไม่ได้รับตำแหน่งสูงสุดในกองทัพ แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการสารวัตรทหารก็เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากในสารบบของทหารกัมพูชา และเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ฮุน เซนไว้วางใจและสยบยอมต่ออำนาจฮุน เซนโดยไม่ตั้งคำถามว่าเขาสมควรจะรับใช้ฮุน เซนในตำแหน่งใด ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ปัจจุบันกองทัพกัมพูชาทั้งหมดอยู่ในความควบคุมของฮุน เซนอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือวง พิเสน ก็เป็นคนของฮุน เซน และผู้บัญชาทหารบก เหล่าทัพที่มีกำลังพลและอำนาจมากที่สุดก็อยู่ในมือของฮุน มาเนทลูกชายของเขาเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกิจการทหารกัมพูชาหลายคนเชื่อว่า ปัจจุบันผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชาที่แท้จริงไม่ใช่วง พิเสน หากแต่เป็นฮุน มาเนท เพราะจะสังเกตได้ว่าหน่วยทหารสำคัญๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็น elite squad ทั้งหลาย บัดนี้ได้ย้ายเข้าไปสังกัดเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกหมดแล้ว
นอกจากนี้ฮุน มาเนทยังทำงานทางด้านการทูตทหาร (military diplomacy) เขาจะเป็นผู้แทนกองทัพกัมพูชาในการเดินทางเยือนต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารในการประชุมเจรจากับต่างประเทศรายการสำคัญเสมอ ล่าสุดเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฮุน มาเนทได้รับเชิญจากกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นให้เดินทางไปเยือนโตเกียวเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีที่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นไปรักษาสันติภาพในกัมพูชา และระหว่างการเยือนเขาได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลญี่ปุ่นหลายคน รวมทั้งโยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นผู้ซึ่งบอกกับทายาทฮุน เซนว่า ญี่ปุ่นปรารถนาจะเห็นการเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2023 ซึ่งคนจำนวนมากคาดหวังว่ามาเนทจะลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยนั้นจะเป็นไปตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่เคารพเจตจำนงของประชาชน[7]
เศรษฐศาสตร์การเมืองของกองทัพกัมพูชา
แม้ว่ากัมพูชาจะเพิ่มงบประมาณทางทหารอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารโลกรายงานว่างบประมาณในการป้องกันประเทศของกัมพูชาเพิ่มจาก 82.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 0.78 % ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศในปี 2010 จนเป็น 647 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2.44 % ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศในปี 2020 แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงกำลังพล 191,000 คน (ปี 2019) และตามกฎหมายแล้วกองทัพกัมพูชาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองเหมือนกองทัพอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่ได้หมายความว่านายทหาร กำลังพล หรือหน่วยทหารของกัมพูชาจะไม่ใช้ช่องว่างของกฎหมายและอิทธิพลส่วนตัวหรือแม้แต่แอบอ้างอิทธิพลของพรคประชาชนหรือของฮุน เซนเองในการสร้างรายได้เข้าพกเข้าห่อ
กองทัพกัมพูชาเข้ายึดที่ดินและทรัพยากรของประเทศเช่น ป่าไม้ และแหล่งแร่มาตั้งแต่ปลดปล่อยประเทศจากเขมรแดงในปี 1989 เมื่อมีการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ บรรดานักลงทุนทั้งหลายจึงจำเป็นต้องพึ่งพิงกองทัพ นายทหาร และหน่วยทหารในการหาที่ดินเพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งในการใช้ที่ดินกับประชาชนและการใช้กำลังทหารในการกวาดล้างและขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินจึงเป็นปัญหาใหญ่ตลอดมาในกัมพูชาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้นายทหารและกำลังพลส่วนหนึ่งของกองทัพกัมพูชามักหาลำไพ่พิเศษด้วยการรับจ้างเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยหรือทำหน้าที่อื่นๆ ในบริษัทเอกชน มีรายงานว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงของรัฐไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจมีงานพาร์ตไทม์ในบริษัทเอกชน และประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของกำลังพลในกองทัพทำงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทเอกชนหรือทำหน้าที่เป็นองครักษ์ส่วนตัวให้กับนักธุรกิจใหญ่ๆ ในกัมพูชา[8]
เป็นที่ทราบกันดีว่าฮุน เซนและพรรคประชาชนกัมพูชามีเครือข่ายอุปถัมภ์กลุ่มธุรกิจเอกชนจำนวนมากในกัมพูชา จนอาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจกัมพูชานั้นเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมพวกพ้อง (crony capitalism) และฮุน เซนมักจะขอให้บริษัทธุรกิจเอกชนเหล่านี้หรือกลุ่มทุนภายใต้อุปถัมภ์ของเขาหรือครอบครัวของเขาให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่นายทหารและหน่วยทหารอยู่เสมอๆ
กลุ่มธุรกิจสำคัญของกัมพูชาภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของฮุน เซนและพรรคประชาชนกัมพูชา เช่น รอยัลกรุ๊ปของกิจ เม้ง หรือกลุ่ม ลี ยงพัด มักจะเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ที่คอยสนับสนุนด้านการเงินให้กับหน่วยทหารในกัมพูชาในการทำกิจกรรมทางทหารหรือกิจกรรมอื่นเสมอ
นายทหารของกัมพูชาล้วนแล้วแต่มีธุรกิจเป็นของตัวเองมากบ้างน้อยบ้าง มีทั้งถูกและผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น สมาชิกในครอบครัวของพอล ซาเรือนถูกทางการออสเตรเลียสอบสวนในปี 2019 เพราะลูกสาวของเขาสองคนคือพอล พิสัยและพอล สุเทวี ต้องสงสัยว่าอาจจะมีส่วนกับการฉ้อโกงประชาชนในการลงทุน land bank ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนมากถึง 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 เมื่อทั้งสองคนรับเป็นนอมินีถือหุ้น 5 ล้านหุ้นของบริษัท Aviation 3030 บริษัทของชาวออสเตรเลียเชื้อสายกัมพูชาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง land bank ที่อ้างว่าซื้อที่ดินประมาณ 600 ไร่ที่เมลเบิร์น ที่เป็นปัญหาในทางกฎหมายออสเตรเลียคือ ทั้งสองพี่น้องนั้นซื้อหุ้น 5 ล้านหุ้นด้วยเงินแค่ 50 ดอลลาร์ออสเตรเลียแทนที่จะเป็น 1 ล้านดอลล่าร์ออสเตรเลีย ที่สุดก็ถูกจับได้ว่าเป็นนอมินีและอาจจะมีความผิดเพราะหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการซื้อขาย อีกทั้งบริษัทนี้ก็มีปัญหาว่าจดทะเบียนไม่ถูกต้องในออสเตรเลียจนถูกปิดไปในปี 2019
เรื่องนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ชวนสงสัย ครอบครัวพอล ซาเรือนมีธุรกิจหลายอย่างในกัมพูชา ภรรยาของเขาคือนุป ศรีดารา เป็นเจ้าของและผู้จัดการธุรกิจเหมืองแร่และอีกหลายอย่างที่หมิ่นเหม่ว่าอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย สุเทวี ผู้เป็นลูกสาวและสามีของเธอ ก็มีบริษัทในออสเตรเลียและสหรัฐฯ อีกด้วย[9] นายทหารคนอื่นๆ ของกองทัพกัมพูชาก็ดูจะไม่แตกต่างกัน
สรุป
ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกัมพูชากับการเมืองนั้น เป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ตามหลักพลเรือนเป็นใหญ่ แม้ว่าฮุน เซนจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เขาพัฒนาตัวเองมาจากนักรบที่ถ้าจะเปรียบไปแล้วเหมือนพวกขุนศึกมากกว่านักการเมืองทั่วไป ส่วนพรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลจะได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาก็ตาม แต่พรรคการเมืองพรรคนี้มีลักษณะเป็น ruling party โดยแท้จริง เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์มากกว่าจะเป็นพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภาทั่วๆ ไป
ตัวนายกรัฐมนตรีฮุน เซนนั้นขึ้นสู่อำนาจโดยอาศัยกำลังทางทหารมากกว่าจะผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ เขาสามารถบังคับบัญชาทหารได้ในปัจจุบันเพราะอาศัยอำนาจและบารมีที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นเวลานาน ปรับเปลี่ยนโยกย้ายคนที่ภักดีต่อเขาให้มีอำนาจในกองทัพมากกว่าจะได้รับการเคารพเชื่อฟังในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้อาณัติประชาชนผ่านการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่ในประเทศที่ระบบการเมืองแบบรัฐสภาเข้มแข็ง
สิ่งที่ค้ำจุนอำนาจของฮุน เซนในปัจจุบันคือ ความสัมพันธ์แบบสามขาหยั่งระหว่าง พรรคประชาชนกัมพูชา กองทัพ และกลุ่มทุนที่เป็นแกนกลางในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบัน โครงสร้างแบบนี้ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1997 จนเข้มแข็งมากพอที่จะทำให้ฮุน เซนวางแผนที่จะส่งมอบให้ทายาทของเขาคือลูกชายของเขาเอง คือฮุน มาเนท ดุจเดียวกับกษัตริย์โอนราชสมบัติให้รัชทายาท
ฮุน เซนใช้เวลาและความพยายามไม่น้อยในการแผ้วถางเส้นทางให้กับลูกชายของเขา เริ่มจากส่งเสียให้ไปเรียนวิชาทหารชั้นสูงในประเทศที่เจริญแล้วและมีอำนาจทางทหารมากอย่างสหรัฐฯ สร้างฐานอำนาจในกองทัพและทำให้บรรดานายทหารทั้งหลายยอมรับนับถือฮุน มาเนท ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่ความสามารถที่แท้จริงมากกว่าจะมองว่าเขาเป็นคุณหนูที่รับมรดกจากพ่อง่ายๆ
คนที่รู้จักฮุน มาเนท มักจะพูดถึงเขาอย่างชื่นชมว่าเป็นคนมีความสามารถและที่สำคัญ ‘สะอาด’ กว่าผู้เป็นพ่อมากมาย เขาไม่ได้มีความรู้ทางทหารอย่างเดียว หากแต่เรียนจบเศรษฐศาสตร์ทั้งปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และอังกฤษ เรียกได้ว่ามีความเป็นผู้นำที่พร้อมมูล
ข้อมูลจำเพาะกองทัพกัมพูชา
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด | วง พิเสน |
เสนาธิการทหาร | อิท ซารัท |
ผู้บัญชาการทหารบก | ฮุน มาเนท |
กำลังพล | 191,000 |
งบประมาณ | 646.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.44 % ของ GDP) |
รถถัง | 539 |
ยานยนต์หุ้มเกราะ | 449 |
ปืนใหญ่ | 200 |
เครื่องยิงจรวด | 97 |
เครื่องบินลำเลียง | 4 |
เฮลิคอปเตอร์ | 19 |
เรือลาดตระเวน/ตรวจการณ์ | 20 |
ที่มา: ธนาคารโลกและ Global Firepower
[1] “Hun Manet unanimously elected to be the future Prime Minister” Khmer Times 24 December 2021 (https://www.khmertimeskh.com/50994699/hun-manet-unanimously-elected-to-be-the-future-prime-minister/)
[2] Paul Chambers Khaki Clientelism: The Political Economy of Cambodia’s Security Force in Khaki Capital edited by Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat (Copenhagen: NIAS, 2017) pp.161-217
[3] David Hutt “Hun Sen launches risky military maneuver” Asia Times 14 May 2019 (https://asiatimes.com/2019/05/hun-sen-launches-risky-military-maneuvers/)
[4] Paul Chambers, Ibid. pp.178-180
[5] “Ke Kim Yan removes from post” Phnom Penh Post 23 January 2009 (https://www.phnompenhpost.com/national/ke-kim-yan-removed-post)
[6] Khy Sovuthy “Shak up in top RCAF military brass” Khmer Times 7 September 2018 (https://www.khmertimeskh.com/531461/shake-up-in-top-rcaf-military-brass/)
[7] “Japan FM tells Cambodia to hold 2030 Election in democratic way” Kyodo News 14 February 2022 (https://english.kyodonews.net/news/2022/02/eca58f670413-japan-fm-tells-cambodia-to-hold-2023-election-in-democratic-way.html?phrase=Hun%20Manet&words=Hun,Manet)
[8] Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat (ed) Ibid. p191
[9] Jack Davies “Top Cambodia General’s Family Tied to $ 100 million Australian Fraud” Radio Free Asia 30 September 2020 (https://www.rfa.org/english/news/cambodia/australia-general-fraud-09302020161441.html)