fbpx
101 Round Table “จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2021”

จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2021 : วัคซีน-รอยต่อระเบียบโลก-เศรษฐกิจปั่น-การเมืองป่วน

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

YouTube video

 

คงมีไม่บ่อยครั้งนักในประวัติศาสตร์โลกที่จะเปิดปีใหม่ด้วย วิกฤตสุขภาพ วิกฤตการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจ

โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างหนักทั่วโลก แม้วัคซีนจะเป็นความหวัง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากรอคอยอยู่ การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ยังคงเข้มข้นรุนแรง แม้สหรัฐฯ จะได้ผู้นำใหม่ที่หลายคนคาดหวังมากกว่าคนก่อน ส่วนการเมืองไทยมาถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับตั้งแต่ปี 2020 และไม่มีใครรู้ว่า ปลายทางของวิกฤตรอบนี้คืออะไร

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฝ่าฟันความวุ่นวายผันผวนนี้ได้อย่างไร

เป็นธรรมเนียมเปิดปี 101 เปิดวง Round Table ชวน อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 และ จีน-เมริกา พร้อมด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มอง 2021 ฝ่าวิกฤตที่อาจเรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

 

2021 – ปีแห่งภาคต่อของ ‘โลกทวิภพ’ จีน-สหรัฐฯ และทศวรรษแห่งความเปลี่ยนแปลง

 

อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โลกอยู่กับความไม่แน่นอนผันผวนอย่างที่มากเมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก อย่างที่อาร์ม ตั้งนิรันดร เรียกว่าเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ในทุกๆ มิติของโลก รวมทั้งดุลอำนาจระหว่างสองมหาอำนาสหรัฐฯ-จีน เข้าสู่ปี 2021 ความไม่แน่นอนก็ยังเป็นสิ่งที่แน่นอนอีกกว่าอะไรสำหรับปีนี้ ความรุนแรงของการระบาดจะยังคงเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” และความเป็นไปได้ในอนาคต แม้ว่าสิ่งที่ต่างไปจากปีที่แล้วคือวัคซีน

ฉะนั้น โลกปี 2021 จะยังหนีไม่พ้นโรคระบาด ส่วนอีกสองเรื่องที่ต้องจับตามองคือ สงครามการค้าและการกลับมาของประเด็นภาวะโลกร้อนหลังโจ ไบเดนชนะศึกทำเนียบขาวไปเมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา

อาร์มคาดการณ์ว่า ในแต่ละประเด็น จะมีฉากทัศน์ความเป็นไปได้ 3 ฉากทัศน์

“ฉากทัศน์แรกคือ จะเกิดความร่วมมือระดับโลกผ่านองค์กรระหว่างประเทศ อย่างที่โลกเคยใช้เวทีพหุภาคีแก้ไขปัญหาระดับโลก ไม่ว่าจะผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรการค้าโลก (WTO) หรือความตกลงปารีส (Paris Agreement)”

“ฉากทัศน์ที่สองที่มีความเป็นไปได้คือ มีความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่จะเป็นความร่วมมือที่มีลักษณะ แตกกระจาย (fragmented) ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับจีนจะร่วมมือกับจีน ส่วนประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ก็จะร่วมมือกับสหรัฐฯ”

“หากระบบพันธมิตรเป็นเช่นนี้ เราจะเห็น ‘การทูตวัคซีน’ ในการจัดการปัญหาโรคระบาด จะมีประเทศที่ใช้วัคซีนของสหรัฐฯ ร่วมมือกับสหรัฐฯ และจะมีประเทศที่ร่วมมือกับค่ายจีน ใช้วัคซีนจากจีน หรือว่าต่างฝ่ายต่างพยายามสร้างพันธมิตร ทำการทูตวัคซีนเชิงรุก ในประเด็นการค้า แทนที่องค์กรการค้าโลกจะเป็นเวทีความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ เราจะเห็นจีนและสหรัฐฯ ต่างฝ่ายต่างสร้างห่วงโซ่การค้าของเชื่อมกับพันธมิตรของตนเอง ส่วนประเด็นโลกร้อน เราจะเห็นสหรัฐฯ และจีนออกมาแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นนโยบายหลักสำคัญของทั้งรัฐบาลไบเดนและแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีน”

สำหรับอาร์ม ในบรรดาสนามการเมืองระหว่างประเทศ Highlight เด่นที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ ‘การทูตวัคซีน’ การที่วัคซีนของทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และจีนมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ รวมทั้งประสิทธิภาพความปลอดภัยยังไม่ลงตัวดีและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นั้นจะส่งผลให้การทูตวัคซีนเป็นประเด็นร้อนแรงในปีนี้อย่างแน่นอน

“ส่วนฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเช่นกันคือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างวุ่นวายกับการควบคุมการระบาดภายในประเทศแบบปี 2020 ที่ผ่านมา ปีที่แล้วเราเห็นได้ชัดเลยว่าไม่มีความร่วมมือ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างวุ่นวายกับการจัดการวิกฤตการระบาดภายในประเทศ”

แน่นอนว่าความเป็นไปได้ของแต่ละฉากทัศน์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไวรัส และความรุนแรงของการระบาดในแต่ละประเทศ

“ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะจัดการการระบาดให้อยู่หมัดได้เมื่อไหร่ ในหกเดือนแรกของปี 2021 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนจะยังไม่มีพลังออกมาเล่นในสนามการเมืองระหว่างประเทศหรือปะทะกับจีน หากยังจัดการปัญหาการระบาดภายในประเทศที่ตกค้างมาจากสมัยทรัมป์ได้ไม่เรียบร้อย แต่หากจัดการได้เร็ว เราน่าจะได้เห็นสหรัฐฯ กลับมาเล่นบทผู้นำโลก รวมทั้งหากวัคซีน Pfizer และ Moderna ของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพและสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นการทูตเชิงรุกจากสหรัฐฯ”

“ขณะเดียวกัน หากจีนต้องกลับมาเผชิญการระบาดระลอกใหม่ ก็อาจจะได้เห็นฉากทัศน์ที่คล้ายๆ ปีที่แล้วคือ สหรัฐฯ ยังง่วนอยู่กับการจัดการการระบาด ส่วนจีนก็จัดการกับการระบาดระลอกใหม่ ทุกประเทศระบาดระลอกใหม่ ไวรัสกลายพันธุ์ ทุกคนต่างสนใจว่าจะจัดการกับสถานการณ์การระบาดภายในประเทศตัวเองอย่างไร”

ในสายตาของอาร์ม ฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นมากที่สุดคือ ฉากทัศน์ที่ 2

“ฉากทัศน์ที่ 2 จะเป็นความต่อเนื่องของทิศทางดุลอำนาจโลกจาก 2 ปีที่ผ่านมา คือเป็น ‘โลกทวิภพ’ โลกเริ่มแตกเป็นค่าย ไม่ใช่ทุกคนที่คบค้าหรือเป็นมิตรกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนขึ้นมา ก็จะมีค่ายสหรัฐฯ เชื่อมโลกกับค่ายจีนเชื่อมโลกขึ้นมา”

ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีนที่แม้แต่วิกฤตโรคระบาดก็หยุดยั้งไม่ได้ อีกสองเรื่องที่น่าจับตามองจากทางฝั่งจีนคือ วาระครบรอบ 100 ปีก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับใหม่ ซึ่งอาจช่วยให้เราเห็นร่องรอยที่ทางของจีนบนโลกและสมรภูมิความขัดแย้งต่อไปในอนาคต

“ปีนี้จะเป็นปีสำคัญของจีน ฉะนั้น จีนจะต้องมองเรื่องเสถียรภาพภายในประเทศมาเป็นอันดับหนึ่งอย่างแน่นอน”

“หลายคนมักมองว่าจีนวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีเพื่อที่จะให้จีนกลายเป็นผู้นำโลก แต่ผมมองว่าหัวใจสำคัญของแผน 5 ปีฉบับใหม่ที่คือ จีนจะยืนด้วยลำแข้งของตนเองได้อย่างไรถ้าเกิดว่าวันหนึ่งขัดแย้งกับโลกสหรัฐฯ และโลกตะวันตกอย่างหนักจนถูกโดดเดี่ยว หลักๆ ถ้าสหรัฐฯ จะไม่ให้จีนใช้เทคโนโลยี หรือจะจัดการจีนเต็มที่ จีนจะต้องยืนบนลำแข้งของตนเองให้ได้ ฉะนั้น จะเห็นว่าหัวใจสำคัญหนึ่ง เลยก็คือต้องพึ่งพาตัวเองเรื่องเทคโนโลยีและพลังงานให้ได้”

 

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยที่มืดมิด ไร้สัญญาณความเปลี่ยนแปลงในปี 2020 และอาจเป็นเช่นนี้ต่อไปในปี 2021 อาร์มชวนตั้งข้อสังเกตแบบ ‘outside-in’ หรือ ‘จากโลกสู่ไทย’

“มองในภาพกว้างระดับโลก ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่ปัญหาเฉพาะ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกันในสหรัฐฯ และโลกตะวันตก สังคมเอียงขวาคือเทรนด์ของโลก ซึ่งเป็นความท้าทายที่สะท้อนให้เห็นว่าระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มีปัญหา”

“อีกจุดเด่นร่วมสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมสหรัฐฯ และสังคมจีนคือ ความขัดแย้งระหว่างคนที่ต้องการจะหยุดยั้งโลกที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและคนที่ต้องการให้โลกหมุนต่อไปอย่างรวดเร็ว อย่างสีจิ้นผิงต้องการจะหยุดพรรคคอมมิวนิสต์ หยุดระบอบของจีนไว้ให้เป็นแบบโลกเก่า ส่วนทรัมป์ก็ต้องการนำสหรัฐฯ แบบเก่ากลับคืนมาท่ามกลางโลกของความหลากหลาย การยอมรับ และการเปิดกว้าง นี่คือปัญหาของ generational gap และการเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงวัฒนธรรม”

แม้ว่าการเมืองและเศรษฐกิจในปี 2021 ดูเหมือนไร้ความหวัง แต่อาร์มชวนมองโลกและไทยให้ไกลไปตลอดทศวรรษ เพราะ 2021 คือหมุดหมายของการก้าวสู่ทศวรรษใหม่เช่นกัน

“หากมองสถานการณ์โลกในระยะ 10 ปี ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ภูมิทัศน์โลกจะเปลี่ยนไป เพราะคนรุ่นใหม่และคนรุ่นกลางมีจุดร่วมกันหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ต้องการจะเคลื่อนโลกไปต่อ” และอาร์มมองว่า เราต้องมองการสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบยาวๆ อย่างมีแผนและยุทธศาสตร์

“แน่นอนว่าระยะที่ผ่านมา คนกล่าวถึงคุณค่าของการผลักเพดาน อย่างในสหรัฐฯ เบอร์นี แซนเดอร์สหรือนักการเมืองสายก้าวหน้าในพรรคเดโมแครตก็เชื่อเรื่องการผลักเพดาน นำเสนอนโยบายที่สุดขั้วไปทางหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ลืมคุณค่าของการแสวงหาจุดร่วม แสวงหาคนที่เห็นด้วยกับเราให้มากขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงระยะยาว”

“ผมว่าสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน ต้องมีศิลปะในการบาลานซ์ เพราะหากสุดขั้วเกินไปข้างหนึ่ง ก็จะเกิดปฏิกิริยาสุดขั้วอีกข้างหนึ่งตีกลับ”

นอกจากความหวังจากพลังคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาเปลี่ยนโฉมไทยและโลก อีกหนึ่งอย่างที่จะเปลี่ยนทศวรรษใหม่นี้คือเทคโนโลยี

“สิ่งหนึ่งที่แน่นอนในตอนนี้คือ 10 ปี ข้างหน้าจะเป็น 10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งสุดท้ายแล้วจะเปลี่ยนโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ดุลอำนาจการเมืองระหว่างประเทศและการดำเนินธุรกิจอย่างมหาศาลและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย 5G หรือว่า AI” ฉะนั้น อาร์มบอกว่าเราอาจสนใจเพียงแค่ถกปัญหาเก่าๆ วนเวียนอยู่กับวิธีคิดเก่าๆ ต่อไปไม่ได้แล้ว หลังจากวิกฤตโควิด จะเริ่มเห็นแล้วว่าคนที่อยู่รอดหลังวิกฤต คือคนที่กระโดดขึ้นขบวนรถไฟแห่งความเปลี่ยนแปลงทันเวลา

เทคโนโลยีเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในเวลาเดียวกันเสมือนดาบสองคม อาร์มแสดงความเห็นว่า เทคโนโลยีคือความหวังของไทยที่จะ transform ความสามารถในการแข่งขันอย่างก้าวกระโดด และไทยต้องกระโดดขึ้นขบวนรถไฟแห่งความเปลี่ยนแปลงให้ทัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีก็อาจช่วยให้รัฐบาลอำนาจนิยมกุมอำนาจทางการเมืองได้แน่นขึ้นอย่างที่เกิดขึ้นในจีน รวมทั้งต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน

“ทั้งหมดนี้ ถ้ามองด้วยสายตาระยะยาว เราจะเห็นตรงจุดนี้ชัดเจนขึ้น และผมคิดว่าสำคัญมากต่อความอยู่รอดในอนาคต”

 

วัคซีน – การกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความหวังของเศรษฐกิจไทยและโลกในปี 2021

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

ท่ามกลางการคาดเดาว่าปีนี้จะเป็นปีที่โหดร้ายในด้านเศรษฐกิจ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ได้ชี้ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ว่า “วัคซีนน่าจะเป็น The beginning of the ends” หรือจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดวิกฤต

อย่างที่เราทราบกันว่าการระบาดของโควิดเล่นงานเศรษฐกิจจนอยู่หมัด เนื่องจากโรคระบาดจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากการติดเชื้อยังอยู่ คนยังกังวล และหากประเทศต่างๆ มีขีดจำกัดด้านทรัพยากรสาธารณสุข กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ปี 2021 จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านจากปีของ ‘ไวรัส’ มาเป็นปีของ ‘วัคซีน’

หากมองภาพกว้างทั่วโลกในตอนนี้ จะเห็นว่าทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีนอนุมัติวัคซีนไปแล้ว 3-4 ตัว ขณะที่ฝั่งตะวันตกยังไม่อนุมัติ ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนว่าการเมืองเรื่องวัคซีนกลายเป็นประเด็นสำคัญของโลก ประเทศที่มีทรัพยากรเข้าถึงวัคซีนได้ก่อนก็จะมีความสามารถในการเปิดเศรษฐกิจก่อน

“วันนี้คนตั้งคำถามเต็มไปหมดเลยว่าวัคซีนจะใช้ได้ผลหรือเปล่า ถ้าได้ผล จะได้ผลนานแค่ไหน ต้องฉีดซ้ำหรือเปล่า เหล่านี้เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ก็ยังไม่รู้คำตอบ ที่สำคัญคือเอฟเฟกต์เป็นยังไง ฉีดแล้วปลอดภัยหรือไม่ ถ้าเราสันนิษฐานไปก่อนว่าวัคซีนที่ผลิตมามีตัวที่ใช้ได้และฉีดแล้วปลอดภัย ก็แปลว่าใครที่ฉีดได้ครบก่อนจะมีความสามารถในการเปิดประเทศก่อน ประเทศใหญ่ๆ ในวันนี้แย่งชิงและได้วัคซีนกันในปริมาณที่เยอะมาก ผมมองว่าในไตรมาสที่ 2 บางประเทศน่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรได้มากในระดับที่พอจะเปิดเมืองได้ คือฉีดให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงจนการแพร่ระบาดไม่ได้เป็นประเด็น” พิพัฒน์กล่าว

ขณะเดียวกันพิพัฒน์ได้คาดการณ์กรณีเลวร้ายที่สุดไว้ว่า ถ้าวัคซีนมีผลข้างเคียงที่รุนแรงจนคนไม่กล้าฉีด ก็จะทำให้จุดจบของวิกฤตโรคระบาดที่หลายประเทศวางแผนไว้ยิ่งห่างไกลออกไปด้วย

เมื่อกลับมามองที่ประเทศไทย จากการประกาศว่ารัฐจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้าน โดส รวมกับอีก 2 ล้านโดสจากประเทศจีน พิพัฒน์กล่าวว่าปริมาณดังกล่าวเพียงพอสำหรับประชากรไม่ถึง 20% เท่านั้น ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ ที่จะฉีดได้เกือบทั้งประเทศในไตรมาสที่ 2-3 ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งที่จะพึ่งพากลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรม เช่น COVAX ก็อาจจะประสบปัญหาเช่นกัน เพราะประเทศใหญ่ๆ เริ่มจะไปไล่ซื้อวัคซีนกันแล้ว

ประเด็นสำคัญอีกย่างที่มีผลกับการเปิดเศรษฐกิจในปี 2021 คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพิพัฒน์ได้ยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในสหรัฐอเมริกา หรือการเปลี่ยนประธานาธิบดีจาก โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็น โจ ไบเดน ทำให้นโยบายหลายอย่างของสหรัฐเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของรัฐบาล นโยบายภาษี นโยบายสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงนโยบายความสัมพันธ์กับจีน และสิ่งสำคัญที่พิพัฒน์สังเกตเห็นจากสหรัฐคือการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล จนทำให้ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐอาจโตได้ถึง 5-6%

“จากที่สหรัฐติดลบปีที่แล้ว จะฟื้นกลับขึ้นมาได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากวัคซีนที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจเปิดได้เร็ว ส่วนที่สองมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ปีที่แล้วสหรัฐขาดดุลการคลังไปถึง 17% ของจีดีพี ขณะที่เมืองไทยประกาศการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6% แต่ยังใช้ไม่หมดเลย การที่สหรัฐใช้ไปมหาศาลแสดงว่าเขาทุ่มเต็มที่ ตรงนี้จะช่วยให้ประเทศใหญ่ๆ ที่มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นก่อนคนอื่น ประเทศไทยก็อาจจะต้องตามหลังเขา” พิพัฒน์กล่าว

จากตัวอย่างมาตรการของสหรัฐอเมริกา พิพัฒน์มองว่าเป็นการใช้นโยบายที่ฉีกตำราเศรษฐศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายหลายอย่างที่ในภาวะปกติจะเป็นนโยบายที่รับไม่ได้ กลายเป็นนโยบายที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องทำ โควิดได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในเชิงนโยบายอย่างที่หลายคนจินตนาการไม่ถึง

“สหรัฐทำ QE หรือการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบ ในปริมาณเงินที่มากกว่าการทำ QE สามครั้งรวมกัน โดยทำทั้งหมดในระยะเวลาแค่ 3 เดือน ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การขาดดุลการคลังของสหรัฐใหญ่กว่าตอนที่สหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อีก ถ้าย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว ฝั่งรีพับลิกันก็จะต้องออกมาเถียง ต้องมีกลุ่มคนที่กังวลเกี่ยวกับการขาดดุลและหนี้สาธารณะ แต่วันนี้ไม่มีใครห่วงเลย ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องทำ”

หลังจากโลกอยู่กับการระบาดมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี เศรษฐกิจของบางประเทศค่อยๆ เริ่มฟื้นคืน แต่ประเทศไทยดูจะฟื้นช้ากว่าที่อื่นๆ พิพัฒน์เล่าว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ติดลบประมาณ 6.7% ในปีที่แล้ว ปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นคืนแค่ 2-3% หรือกลับขึ้นมาไม่ถึงครึ่งของปีที่แล้ว เนื่องมาจากการปิดการท่องเที่ยว นอกจากนี้สถานการณ์โควิดยังซ้ำเติมให้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความสามารถในการแข่งขัน ทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย

“การท่องเที่ยวเคยเป็น 11-12% ของ GDP ไทย วันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าทั้งปีนี้นักท่องเที่ยวจะมาได้หรือเปล่า แปลว่า GDP หรือเศรษฐกิจที่เคยมีหายไปเลย คนที่ได้รับผลกระทบคือคนที่อยู่ในภาคบริการ คนหาเช้ากินค่ำ และแรงงานต่างชาติ ชัดเจนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น เพราะแรงงานที่ได้รับผลกระทบเยอะๆ ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ยังไม่นับถึงเด็กนักเรียนที่ถูกบังคับให้เรียนที่บ้าน หลายคนเกิดคำถามว่าแล้วเด็กนักเรียนทั่วประเทศมีคอมพิวเตอร์ใช้ทุกคนหรือ สามารถจะเรียนจากที่บ้านได้จริงหรือ”

“โควิดเป็นปัญหาระยะสั้นที่ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยทวีคความรุนแรงขึ้น ขณะที่เราแก้ปัญหาระยะสั้นไป เราก็ต้องคิดด้วยว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอย่างไร”

ในบรรดาปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ปีนี้ประเทศไทยได้เจอกับเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงปัญหาความสามารถในการแข่งขัน นั่นคือการควบรวมเทสโก้ โลตัส โดย ซีพี พิพัฒน์ชวนตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทยมักเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในโอกาส และโอกาสในการเข้าถึงโอกาส หลายครั้งทุนที่มีอำนาจเหนือตลาดได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศไม่เกิดขึ้น และยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น

“รัฐและคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็มีหน้าที่ในการส่งเสริมการแข่งขัน ถ้าการควบรวมทำให้การแข่งขันลดลง รัฐจะต้องเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้คงต้องเป็นประเด็นทางการเมือง ทำยังไงให้ประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นมาและได้รับความสนใจ ทำยังไงให้คนมองว่านโยบายเรื่องการแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ” พิพัฒน์กล่าว

แม้สถานการณ์การระบาดรอบสองในไทยจะรุนแรง มีปริมาณผู้ติดเชื้อสูงกว่ารอบที่แล้ว แต่พิพัฒน์ชี้ให้เห็นข้อดีในสถานการณ์ดังกล่าว คือทั้งรัฐบาลและประชาชนรู้จักหรือเคยชินกับโรค ทำให้คนไม่แพนิกเท่าการระบาดรอบแรก นอกจากนี้มาตรการของรัฐยังผ่อนคลายกว่า ซึ่งอาจทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเบากว่า ขณะที่มาตรการต่างๆ ก็อาจกินระยะเวลามากกว่าเช่นกัน

“หลังจากการติดเชื้อเคสแรกในการระบาดรอบแรก เราเคยประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศซึ่งส่งผลรุนแรงมาก แม้แต่จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยก็ติดเคอร์ฟิวไปด้วย แต่ถ้าสังเกตรอบนี้น่าจะมีการเจรจาพอสมควร ทำให้มาตรการที่ออกมาดูผ่อนคลายขึ้น มีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามพื้นที่ ตามธุรกิจ และตามความเสี่ยง ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่ค่อนข้างน่าสนใจ” พิพัฒน์กล่าว

แม้มาตรการในการระบาดระลอกใหม่จะผ่อนคลายกว่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงเรื้อรัง หายนะทางเศรษฐกิจจากการระบาดรอบแรกยังคงหลอกหลอนผู้คน และแม้รัฐบาลจะกู้เงินมาเพื่อเยียวยาปัญหา ก็ยังสร้างความกังวลให้หลายคนว่า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อชีวิตคนไทยอย่างไรในอนาคต ในประเด็นดังกล่าวพิพัฒน์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า คำถามสำคัญไม่ใช่ “เราสร้างหนี้เท่าไหร่” แต่เป็น “เราใช้เงินอย่างคุ้มค่าที่สุดแล้วหรือยัง”

“ถ้าเราดูไซซ์ของทรัพยากรที่รัฐบาลใส่เข้าไป จริงๆ ผมมองว่าใส่น้อยไปด้วยซ้ำ เพราะเรายังเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนทั่วไปค่อนข้างเยอะ จำนวนคนว่างงานและคนที่เสียโอกาสไปมีเยอะมหาศาล พอประกาศใช้เงินหนึ่งล้านล้าน ผ่านไปหนึ่งปีรัฐใช้เงินเกินครึ่งไปนิดเดียว แสดงว่าอัตราการใช้ช้า

“เมื่อมีปัญหาโควิดเข้ามา สิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลต้องทำคือการจัดลำดับความสำคัญในการใช้เงินก่อนที่จะไปกู้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้เกิดขึ้นหรือเปล่า นโยบายการคลังมีหน้าที่ลดผลกระทบของเศรษฐกิจ ถ้าเรารู้ว่ามีสถานการณ์ช็อกใหญ่ๆ การใส่เงินลงไปก็ทำให้ภาวะช็อกนั้นไม่ใหญ่จนเกินไป ถ้าการใส่เงินลงไปถูกทำอย่างคุ้มค่า เผลอๆ จะทำให้ GDP ไม่ลดลงมากเกิน หนี้ต่อ GDP อาจจะไม่เพิ่มขึ้น แต่การไม่ทำอะไรเลยหรือทำช้าเกินไปจะทำให้ GDP ร่วง หนี้ต่อ GDP อาจจะเพิ่มขึ้นเยอะกว่าด้วยซ้ำ

“ถ้าเราดูหนี้ต่อ GDP ก่อนเกิดโควิดจะอยู่ที่ประมาณ 42% ของ GDP ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันหากไปดูในเว็บไซต์ของสํานักงานบริหารหนี้สาธารณะก็อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP ซึ่งผมเชื่อว่าจะขึ้นไปอีกอยู่ที่ประมาณ 55-56% ของ GDP ใกล้กับจำนวนข้อกำหนดว่ารัฐบาลห้ามก่อหนี้สาธารณะ เกิน 60% ของ GDP”

ในความกังวลที่ว่าหนี้สาธารณะจะโตขึ้นเร็วเกินไปไหม พิพัฒน์ได้อธิบายว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยลดลงมาค่อนข้างเยอะ สมัยก่อนเวลารัฐบาลกู้เงิน ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ 3-4% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงกว่า 1% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ ความสามารถในการใช้หนี้ของเมืองไทยสูงขึ้น

“สิ่งสำคัญคือการคิดว่าถ้าจะนำเงินไปใช้ จะใช้อย่างไรให้คุ้มค่า ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกจ่ายหนี้สาธารณะหมด ขอแค่ให้ฐานรายได้โตเร็วกว่าหนี้ และอย่างสร้างหนี้เร็วเกินไปจนควบคุมไม่ได้ก็พอแล้ว”

ในห้วงเวลาที่ยากลำบากของปี 2021 ปีซึ่งน้อยคนจะรอดพ้นจากความทุกข์ยาก คำถามสำคัญคือ รัฐควรคำนึงถึงอะไรบ้างในการออกนโยบายเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ อะไรเป็นความเร่งด่วนที่รัฐต้องใส่ใจเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งพิพัฒน์ได้ตอบคำถามนี้โดยกล่าวถึงสิ่งที่รัฐต้องคำนึงถึงไว้ 3 ประเด็น

“ประเด็นที่ 1 หน้าที่ของรัฐในภาวะวิกฤตเช่นนี้คือการทุ่มทุนไปกับสาธารณสุข เพราะทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ได้ผลที่สุดคือการทดสอบวัคซีนเยอะๆ เพื่อที่เราจะสามารถป้องกันกลุ่มเสี่ยงได้เยอะๆ และไม่ต้องปิดเมืองทั้งเมือง

“ประเด็นที่ 2 รัฐต้องเยียวยาคนที่ได้ผลกระทบจากวิกฤต โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง โดยใช้เงินให้คุ้มค่าไปกับคนที่เดือดร้อนและต้องการจริงๆ

“ประเด็นที่ 3 คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าโควิดทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในทางลบ รัฐอาจจะเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้มันฟื้นกลับมาได้ ดังนั้นเงินที่ใช้ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ การแจกเงินอย่างเดียว อาจไม่ใช่วิธีที่ได้ผลที่สุด หน้าที่ของรัฐคือต้องหาโครงการที่มีประโยชน์ ทำแล้วเงินไม่หายไป สร้างงานและสร้างความยั่งยืนให้ได้”

 

การเมืองโลกปั่นป่วน – การเมืองไทยไม่แน่นอน

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

เมื่อกวาดมองภาพรวมของสังคมโลกตั้งแต่เริ่มต้นปี 2021 ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ให้นิยามว่า เราอยู่ในยุคที่ “ไม่มีระเบียบโลกเป็นที่ยอมรับร่วมกัน” เป็นสาเหตุให้เกิดความผันผวนสูงตลอดเวลา และถ้าย้อนกลับไปบนหน้าประวัติศาสตร์ อาจสังเกตได้ว่าสังคมขณะนี้ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับช่วงรอยต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ราวทศวรรษ 1920-1930 กล่าวคือ เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำ กระหน่ำซ้ำด้วยความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองและระดมต่อเนื่องด้วยโรคระบาด

ยิ่งผนวกรวมเข้ากับสิ่งที่ยุคสมัยนั้นไม่มี คือโซเชียลมีเดีย และสื่อต่างๆ ที่แพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกตื่นตระหนก เหนื่อยล้ากับปีที่ผ่านมา และหวาดวิตกกับอนาคตข้างหน้าในปีนี้

เหนือสิ่งอื่นใด อาจไม่ใช่แค่คนทั่วไปเท่านั้นที่หวั่นใจกับความไม่แน่นอน เพราะประจักษ์มองว่าแม้แต่มหาอำนาจทั้งสองประเทศอย่างอเมริกาและจีนต่างก็ได้รับผลกระทบรุนแรงจากความปั่นป่วนของการเมืองและโรคระบาด สั่นคลอนไปถึงความเข้มแข็งในฐานะผู้นำโลก

“ก่อนเกิดโควิด จีนเป็นต้นแบบที่ประเทศกำลังพัฒนาอยากเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะหลายๆ ด้านดูเข้มแข็งกว่าระบบเสรีประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ ที่มีความขัดแย้งสูง แต่พอเกิดโควิด หลายคนเริ่มไม่แน่ใจ เพราะจีนเป็นต้นกำเนิดของโรคนี่แหละ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาในระบบอำนาจนิยมที่ไม่มีการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และการเซนเซอร์ของข้อมูลข่าวสารในช่วงต้น นำมาสู่การระบาดของโรคนี้ ตรงนี้จีนปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้” ประจักษ์กล่าว “และเราไม่รู้เลยว่าวิธีควบคุมโรคที่ดูเหมือนมีประสิทธิภาพของจีนมีต้นทุนเรื่องชีวิตคนและสิทธิเสรีภาพแค่ไหน”

“ส่วนสหรัฐฯ ไม่ต้องพูดถึง วันนี้เรายิ่งเห็นว่าความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ ลดลง เพราะวิธีที่ทรัมป์ใช้จัดการโควิด รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น

“พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้ไม่มีระบบการเมืองไหนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก” ประจักษ์สรุป พร้อมเสริมว่าในทางเศรษฐกิจเองก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน คนอาจไม่เชื่อถือแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) อีกต่อไป ดังนั้น ข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดรัฐสวัสดิการ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ อาจจะกลับมาโลดแล่นให้เห็นกันอีกครั้ง

“ตอนนี้เป็นยุคที่โลกเปิดกว้าง ทั้งในแง่โมเดลทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงอุดมการณ์ต่างๆ มันแข่งขันกันอย่างเข้มข้นอีกครั้ง และในภาวะที่ไม่มีใครเป็นหัวหอก (hegemony) นำเสนอภาวะผู้นำที่จะพาเราออกจากวิกฤตนี้ ไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ก็ตาม มันทำให้ปี 2021 เราจะยังอยู่ในโลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน”

ขณะเดียวกัน ประจักษ์เชื่อว่ากระแสการแข่งขันและความเป็นชาตินิยมจะยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่วัคซีนต้านโรคระบาดคือทรัพยากรหายาก ภาพที่เขาเห็นจึงเป็นภาพการแข่งขันระหว่างประเทศเพื่อแย่งชิงวัคซีนมาดูแลประชาชนของตนเอง มากกว่าภาพการร่วมมือกันระดับโลก วางแผนจัดสรรให้คนทั้งหมดก้าวข้ามวิกฤต กระทั่งความคาดหวังว่ากระแสหันขวาในโลกจะคลี่คลายหลังโจ ไบเดน เอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประจักษ์ก็บอกว่าอาจกลายเป็นความผิดหวังได้

“เพราะปัญหาของสังคมการเมืองสหรัฐฯ ตอนนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลึกมาก มีทั้งความแตกแยกเชิงชนชั้น สีผิว หรือพูดง่ายๆ คือทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทางการเมืองก็มีช่องว่างด้านนโยบายและอุดมการณ์ของพรรครีพับลิกันกับเดโมแครตสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” ความแตกแยกนี้กล่าวได้ว่าทำให้คนอเมริกา ‘แบ่งขั้ว’ กันแบบ ‘Great divide’ อย่างชัดเจน เห็นได้ชัดจากคะแนนเสียงของทรัมป์ ที่แม้จะพ่ายแพ้แต่ก็ถือว่าสูง และเหตุการณ์บุกรัฐสภา ซึ่งประจักษ์เรียกว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่เคยเกิดปัญหาการเปลี่ยนผ่านอำนาจประธานาธิบดีเลยสักครั้ง

“มันไม่ใช่แค่เป็นเพราะทรัมป์ไปปลุกเร้า หรือแค่คนไม่กี่คนไปบุก แต่มันสะท้อนถึงช่องว่างและความแตกแยกทางความคิดที่สูงมากในสังคมอเมริกาตอนนี้

“ฉะนั้น ฝ่ายขวาไม่ได้หายไปไหน กระแสขวาจัดไม่ได้หายไปไหนในสหรัฐฯ มันเข้มแข็งขึ้นด้วยซ้ำ” และไม่ได้เข้มแข็งขึ้นแค่ในสหรัฐฯ แต่ยังพบเห็นได้ในบราซิล ฟิลิปปินส์ ฮังการี ฯลฯ ฉะนั้น โลกจะยังอุดมไปด้วยกระแส ‘หันขวา’ จากประเทศมหาอำนาจและประเทศอื่นๆ อยู่เนืองๆ แน่นอน

อีกด้านหนึ่ง ภาพความแตกแยกทางความคิดของสังคมสหรัฐฯ ยังสะท้อนมาถึงสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่มีปัญหาทับถมพะเนิน ไม่มีฉันทามติ มิหนำซ้ำยังไม่เห็นสัญญาณว่าความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางการเมืองจะได้รับการแก้ไขภายในปีนี้  ทั้งหมดทำให้ประจักษ์ทำนายว่า “จะเป็นปีที่ยากลำบากอีกปีสำหรับสังคมการเมืองไทย”

“ถ้ามองผ่านองค์ประกอบ 4C คือ Conflict – ความขัดแย้ง Consensus – ฉันทามติ Compromise – การประนีประนอม และ Constitution – รัฐธรรมนูญ ผมค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย คือคิดว่าปีนี้จะยังไม่เห็นสัญญาณการประนีประนอมและการปรับตัว โดยเฉพาะจากฝั่งชนชั้นนำ ดังนั้นการประนีประนอมจะไม่เกิด

“เมื่อการประนีประนอมไม่เกิด การแก้รัฐธรรมนูญที่หลายคนฝันว่าจะเป็นตัวแก้ความขัดแย้ง เชื่อว่าถ้าเรามีกติกาที่ดีน่าจะช่วยแก้ความขัดแย้งได้เปลาะหนึ่งจากการที่ทุกสังคมต่างประนีประนอมผ่านการร่างกติการ่วมกันซึ่งทุกฝ่ายยอมรับ เมื่อไม่เห็นสัญญาณแบบนี้ การแก้รัฐธรรมนูญก็คงไม่ง่าย

“เมื่อไม่กติกาที่ยอมรับร่วมกัน สภาเองดูแล้วก็ไม่มีความหวัง เราจะเห็นได้ว่าสภาไม่ใช่กลไกที่แก้ปัญหาได้สักเท่าไหร่ และปรับตัวช้ามาก ฉะนั้น ความขัดแย้งที่ไม่ถูกแก้ไขด้วยการประนีประนอมและพูดคุยกันในระบบ มันจะทะลักออกมาบนท้องถนนอยู่แล้ว เมื่อโควิดหาย การเมืองบนท้องถนน ความขัดแย้งจะกลับมาแน่นอน”

ประจักษ์มองว่าการกลับมาในรอบนี้อาจกลับมาอย่างร้อนแรงกว่าเดิมอีกด้วย เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือ ปี 2565 พลเอกประยุทธ์จะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีซึ่งอาจทำให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ นานเท่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การครองอำนาจในช่วงท้ายของพลเอกเปรมก็สั่นคลอนอย่างหนักจากความเบื่อหน่าย อยากเปลี่ยนผู้นำจากประชาชน

“อีกเรื่องหนึ่งคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คนบอกว่าอย่าเพิ่งรีบแก้เลย เพิ่งใช้ได้แปบเดียว ปีหน้าจะครบ 4 ปีแล้ว ซึ่งเป็นอายุขัยของรัฐธรรมนูญไทยพอดี รัฐธรรมนูญไทยโดยเฉลี่ยผ่านไปแค่ 4 ปีก็หมดอายุใช้งานแล้ว ไม่มีรัฐธรรมนูญไหนอยู่ยาว ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้โดยไม่ได้คิดถึงโควิด ไม่ได้เตรียมสังคมการเมืองไทยและรัฐบาลให้พร้อมรับมือกับโควิด

“ตอนนี้คนไม่ได้ดูแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการได้ดีกว่ากัน บทเรียนหนึ่งที่เราได้ในทางรัฐศาสตร์ คือไม่สำคัญว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการเท่ากับการมีสมรรถภาพของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสร้างให้เรามีรัฐบาลที่เข้มแข็งหรือรัฐมีสมรรถภาพสูง และเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยไม่ได้คิดถึงความต่างระหว่างวัย ทำให้ไม่ได้คำนวณการชุมนุมหรือข้อเรียกร้องแบบคณะราษฎรอยู่ในสมการเช่นกัน

“ฉะนั้น ผมคิดว่าความขัดแย้งอย่างไรก็กลับมาที่เรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีกติกาซึ่งสร้าง 1.รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กับ 2.รัฐบาลที่อ่อนแอเพราะสร้างรัฐบาลผสมจากพรรคจำนวนมาก มันเป็นส่วนผสมที่แย่ที่สุดในทางรัฐศาสตร์ จนได้รัฐเผด็จการแบบไม่มีสมรรถภาพสูง มันไม่ใช่กติกาที่ดีที่จะพาสังคมไทยไปต่อข้างหน้า และรองรับมหาวิกฤตที่ต้องแก้ไข ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสุขภาพ ดังนั้นชนวนความขัดแย้งอย่างไรก็ต้องกลับมาที่เรื่องรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ประจักษ์ให้ความเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยบ้างนั้นอาจจะต้องรอดูกันไปก่อน “เพราะการเมืองไทยเปลี่ยนได้ทุกเดือน” ถ้าให้มองในระยะยาวก็คงยากที่จะเห็นภาพชัดเจน เพียงหวังว่าปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องน่าจะคลี่คลายได้ตามกาลเวลา

และถึงแม้โควิด-19 อาจทำให้ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองในไทยปะทุสลับกับหยุดชะงัก แต่ในภาพรวม โรคระบาดก็ได้สร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับการเมืองทั่วโลกอยู่ไม่น้อย

“มีปรากฏการณ์ใหม่ 2-3 อย่างในทางมิติการเมืองและสังคม คือเราจะเห็นว่าโควิดผลักให้ digitalization ทางการเมืองไปเร็วขึ้น และทำให้เห็นว่าหลายสิ่งสามารถทำได้ เช่น หลายรัฐบาลและรัฐสภาประชุมกันทางออนไลน์ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านระบบ E-Voting ที่คนคัดค้าน แต่พอเกิดโควิดก็บีบให้คนทดลองใช้  สุดท้ายก็ทำได้ ในแง่นี้แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีสามารถสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการทำงานการเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

“อันที่สองคือ จะเห็นว่าหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในแง่นโยบายสาธารณะ เป็นเพราะเขาดึงพลังจากสังคม ภาคประชาสังคมหรือ grass roots มาใช้ ทำให้เห็นว่า ในภาวะแบบนี้ พลังจาก grass roots สำคัญ ถ้ารัฐเข้มแข็ง รู้จักใช้ประโยชน์ และเกิดความไว้วางใจกัน หลายอย่างมันบรรเทาภาระของรัฐได้มาก ชุมชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยมีรัฐไปหนุนเสริม ทำให้ภาพของชุมชนและภาคประชาสังคมหลายที่มีพลังเชิงบวกขึ้นมาก

“อันที่สาม หลายคนเริ่มสนใจว่าประเทศที่มีผู้นำหญิงสามารถรับมือได้ดีอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทั้งนิวซีแลนด์ ไต้หวัน ไอซ์แลนด์ เยอรมนีสามารถรับมือโควิดได้ดี ทุกคนเลยพูดถึงภาวะผู้นำแบบใหม่เรียกว่า empathic leadership ในภาวะวิกฤต”

สิ่งที่ประจักษ์ทิ้งท้ายเปิดปี คือวัคซีนต้านโควิด-19 ยังคงเป็นความหวังสำคัญ หลังผ่านวิกฤตสุขภาพไปได้น่าจะเป็นหมุดหมายเริ่มต้นแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อไป และถึงแม้จะเกิดความวุ่นวายอย่างทรัมป์ปลุกม็อบบุกรัฐสภาสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี แต่มองในมุมกลับ อาจจะเป็นการดีที่ความโกลาหลทำให้ใครหลายคนตัดสินใจเลิกสนับสนุนผู้นำสุดโต่งแบบทรัมป์

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save