fbpx
รังสิมันต์ โรม "เราคือคนไม่กลัวอนาคต"

รังสิมันต์ โรม “เราคือคนไม่กลัวอนาคต”

วรัญญา บูรณากาญจน์ เรียบเรียง

“วันที่ผมต้องไปอยู่เรือนจำ ครอบครัวผมเสียใจมาก แม่ผมนอนร้องไห้ พอออกมาได้คุยกัน เขาถามว่าหยุดได้ไหม ผมบอกว่า ถึงที่สุดผมต้องอยู่กับประเทศนี้อีกนาน เราจะมีอนาคตแบบไหน ถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้”

นี่คือคำพูดของ รังสิมันต์ โรม นักเคลื่อนไหวหนึ่งใน ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’  ผู้ยืนยันว่าโรดแมปการเลือกตั้งไม่ควรถูกเลื่อนออกไป และคนไทยไม่ควรกลัวอนาคต

อนาคตของพวกเราจะเป็นอย่างไรหากไม่ได้ตัดสินใจอนาคตของประเทศไปด้วยกัน ? เมื่อเดือนมีนาคม 2561 รายการ 101 One-On-One ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ชวน รังสิมันต์ โรม มาร่วมวิเคราะห์การเมืองและอนาคตประเทศไทย ในฐานะนักกิจกรรมที่ต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ

และนี่คือบทสนทนาระหว่าง รังสิมันต์ โรม และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

รังสิมันต์ โรม

นอกจากบทบาททางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว โรมมีสถานะอะไรอีกบ้าง

ตอนนี้ผมเรียนปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในช่วงการเขียนวิทยานิพนธ์ สิ่งที่ผมเรียนหลักๆ คือเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง นิติปรัชญา ซึ่งเรียนมากกว่ากฎหมาย แต่เรียนไปถึงวิธีคิดของกฎหมาย

กว่าจะเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง มีภูมิหลังที่ย้อนไปตั้งแต่กรีก-โรมัน  ผมเป็นคนสนใจเกี่ยวกับความคิด ว่ากว่าจะเป็นสิ่งสิ่งหนึ่ง มีอะไรเป็นภูมิหลังอยู่ เพราะเวลาเราเห็นทุกเรื่องในสังคม เหมือนเราเห็นยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ถ้าสามารถเข้าใจถึงรากฐานของภูเขาน้ำแข็ง เราจะเข้าใจความเป็นมาของมัน

ทุกวันนี้มีรายได้เลี้ยงตัวเองจากทางไหน

รายได้เลี้ยงตัวเองหลักๆ ของผมตอนนี้ มีเงินจากที่บ้าน และการทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครอบครัวผมเป็นคนภูเก็ต ที่บ้านผมไม่ได้มีฐานะยากจน เขาอยากให้ผมเรียนจบปริญญาเอกด้วยซ้ำไป ผมเคยคุยกับคุณแม่นะครับว่าอยากเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ว่าตอนนี้ต้องดูอีกที เพราะผมติดพันอยู่กับการเมือง ในด้านหนึ่งเราก็อยากเห็นประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา

 

โรมเติบโตมาอย่างไร ทำไมถึงสนใจการเมืองจนออกมาเคลื่อนไหวนำหน้าขบวน

ผมเกิดและใช้ชีวิตอยู่ภูเก็ตมาโดยตลอด เวลาเราพูดถึงสังคมคนใต้ นี่คือสังคมที่บ้าการเมืองมาโดยตลอด ผมจำได้เลยวันที่ทักษิณชนะเลือกตั้งครั้งแรก ผมเห็นแม่กับยายผมจับเข่าคุยกันเรื่องทักษิณ  ดังนั้นผมจึงเติบโตมากับครอบครัวที่คุยเรื่องการเมืองอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งพ่อผมเอง ซึ่งเป็นคนอเมริกันที่ย้ายมาอยู่ไทย เขาก็เป็นคนที่สนใจการเมือง เขาเรียนจบมาด้านประวัติศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา เวลาผมคุยกับแม่ สิ่งที่คุยจะเป็นการเมืองที่เป็นปรากฏการณ์ แต่เวลาคุยกับพ่อ เราจะคุยกันถึงความเป็นมาหรือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทย

ผมคิดว่าสังคมคนใต้มีอิทธิพลต่อผมมาก เพราะเป็นสังคมที่มีความรักพวกพ้องสูง เราเป็นชาวใต้เหมือนกัน เราต้องเป็นแบบนี้ นอกจากนี้ยังเป็นสังคมที่คุยกันเรื่องการเมืองตลอดเวลา เมื่อผมตั้งคำถามว่าสิ่งที่สังคมรอบตัวเชื่อ เป็นสิ่งที่ถูกหรือเปล่า คำตอบที่ได้จะคือการตั้งคำถามของผมผิด เพราะหมายความว่าเราไม่เชื่อแบบเดียวกับเขา

พอมันมากเข้า ผมเริ่มรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง ยิ่งพอตอนเข้ามหาวิทยาลัย เสรีภาพในการแสวงหาความรู้กว้างขึ้นแบบคนละเรื่องเลย ทำให้ผมมองย้อนกลับไปในวันวานที่ผมเติบโตมา ผมคิดได้ว่ามีบางอย่างในสังคมที่ผิดปกติ ผมถูกบังคับให้เชื่อ แต่ยิ่งถูกบังคับให้เชื่อ ยิ่งทำให้ผมลุกขึ้นมาแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ในด้านหนึ่งทำให้ผมเป็นอิสระจากกรอบความคิดของครอบครัว แม้ว่าครอบครัวจะบังคับหรือพยายามให้เราเชื่อบางอย่างก็ตาม

 

สนใจในสาขานิติศาสตร์มาตั้งแต่เด็กเลยไหม

ในระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยแนะนำอะไร ผมรู้อย่างเดียวตอนนั้นคือผมชอบการเมือง สนใจระบบการเมืองและประวัติศาสตร์ แต่ผมไม่รู้ว่าผมอยากเรียนอะไร ผมรู้แค่ว่าอยากเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะดูเป็นมหาวิทยาลัยการเมือง ถ้าเราเข้าไปเราน่าจะคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง เพราะตอนผมเรียนมัธยมปลายในกรุงเทพฯ ผมคุยกับใครไม่ได้เลย

ทีนี้มีคนแนะนำว่า ถ้าคุณสนใจด้านนี้แล้วคุณเรียนรัฐศาสตร์ จบมาจะทำอะไร แล้วไปปกครองใคร คำแนะนำออกมาในลักษณะนี้ ผมเลยเลือกเข้านิติศาสตร์ดีกว่า เพราะยังมีแนวทางไปต่อ เช่น เป็นผู้พิพากษา เป็นทนาย ถึงแม้สุดท้ายแล้วผมจะไม่ได้เลือกทางนั้นอยู่ดี

 

พอเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วเป็นอย่างที่คิดไหม

ตอนแรกเหมือนไม่มีอะไร ตอนงานรับเพื่อนใหม่ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มาเล่นกีตาร์ แล้วมีการฉายภาพการต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษาธรรมศาสตร์ แม้ผมจะไม่อินกับภาพพวกนั้นเพราะเป็นเรื่องที่ผมรู้อยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่าเราเลือกถูก เพราะอย่างน้อยน่าจะมีคนที่คุยกับเราได้ แต่พอผ่านไปหนึ่งเทอมไม่เจออะไรเลย จนกระทั่งบรรยากาศเริ่มคุกรุ่น มีการห้ามคณะนิติราษฎร์เคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย ผมเริ่มติดตาม ทำให้เจอคนที่คิดเหมือนกันและสนใจการเมืองมารวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยกัน

ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกรู้สึกอย่างไร

ตอนแรกผมกลัวมากเลย ผมก็เหมือนกับคนอื่น กลัวที่บ้านด่า กลัวมหาวิทยาลัยไล่ออก กลัวโดนสอบวินัยนักศึกษา ไม่เคยคิดภาพตัวเองว่าจะมาเป็นนักกิจกรรม มาเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าเราอยากเรียนจบไปเป็นผู้พิพากษา ไปเป็นทนายเหมือนหลายๆ คน ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมาขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง ผมอยากใช้ชีวิตเหมือนคนอื่น แต่สนใจตรงนี้ด้วย

ผมสนใจกิจกรรมมากขึ้น เหมือนค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป แต่ผมพบว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสักที เรื่องใกล้ตัว เช่น ชุดนักศึกษา เสรีภาพของนักศึกษา การรับน้อง ฯลฯ แม้ว่าธรรมศาสตร์จะบังคับน้อยกว่าหลายที่ แต่ยังมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพและใช้ความรุนแรง

ตอนนั้นพวกเราได้เรียนวิชาสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน แต่พอเราเรียนแล้วเดินออกจากห้องปุ๊ป ความจริงกลายเป็นอีกแบบ ผมรู้สึกเหมือนการเรียนในคณะนิติศาสตร์เป็นโลกเสมือน เป็นเกม ROV ของชีวิต ซึ่งเราต้องแยกชีวิตออกมา แต่มันไม่ควรเป็นแค่เกมไง เราควรเอาสิ่งที่เราเรียนไปใช้บ้าง เราคิดว่าเราเริ่มไม่ไหวแล้ว เราคุยกันกับเพื่อน พอเราเริ่มทำ ก็มีคนอีกมากเห็นด้วยและร่วมด้วยกับเรา ค่อยๆ เติบโตขึ้นมา

รังสิมันต์ โรม

ทำกิจกรรมในนามกลุ่มไหน

ตอนนั้นทำในนาม ‘กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย’ (League of Liberal Thammasat for Democracy : LLTD) เริ่มทำกิจกรรรมการเมืองในมหาวิทยาลัย แล้วค่อยเริ่มวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐ แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในสมัยคุณยิ่งลักษณ์เพราะผมจำได้ว่าผ่านช่วงน้ำท่วมใหญ่มาด้วย นักศึกษาก็อยากจะแสดงออกว่าเขาคิดอย่างไรจากสิ่งที่เขาเผชิญทางการเมือง เราเลยแสดงออกในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัย

 

จากประเด็นมหาวิทยาลัย สังคม ไปจนถึงการเมือง กระทั่งการรัฐประหารปี 2557 โรมเริ่มออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นเมื่อไหร่

ตอนรัฐประหารผมคิดคล้ายเดิม ผมอยากแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย เวลาเรียนกฎหมาย ผมจะเห็นคำพิพากษาหนึ่งว่า “ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐประหารนั้น เขาก็เป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย” คำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่มีอิทธิพลต่อผมมาก ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ต้องต่อต้านสิ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เขาก็ไม่น่าจะเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย

จากรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันรุ่งขึ้นวันที่ 23 พวกเราเริ่มเดินขบวนเลย ตอนนั้นรวมเพื่อนนักศึกษาได้ประมาณ 50 คน ตั้งใจเดินจากธรรมศาสตร์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ไปไม่ถึง เพราะระหว่างทางมีกลุ่มอื่นชุมนุมอยู่ พวกเรากลัวเกิดการทะเลาะเลยหยุด

ผมไม่อยากให้สิ่งที่เราเรียนเป็นแค่การเรียนในโลกจำลองที่ไม่มีวันเป็นจริงในประเทศไทย เราอยากเห็นโลกที่เราเรียนมาเป็นจริง เราอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้น เรารู้ว่าเราเป็นแบบนั้นได้ เรามีศักยภาพที่จะเป็น คนไทยไม่ได้โง่กว่าใคร เราเป็นมนุษย์ เรามีศักยภาพ ผมอยากเอาสิ่งที่เรียนมาทำในสิ่งที่ทำได้ ในฐานะฟันเฟืองเล็กๆ ของสังคม

 

หลังรัฐประหาร โรมถูกจับมาแล้วกี่ครั้ง โดนคดีมาแล้วกี่คดี เข้าคุกมาแล้วกี่รอบ

ถูกจับมาแล้วกี่ครั้งนี่ไม่แน่ใจ แต่มี 7 คดี ศาลตัดสินรวมทุกคดีเต็มที่โทษสูงสุด 32 ปี เข้าคุกมาแล้ว 3 รอบ

รังสิมันต์ โรม

ชีวิตในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้าง

ผมได้ไปทำหน้าที่ให้คำแนะนำทางกฎหมายกับเพื่อนในเรือนจำ คนส่วนใหญ่จะมาปรึกษาเรื่องคดี ซึ่งเวลาผมแนะนำเขาไป เขาไม่เคยทำตามเลย อย่างมีคนเวียดนามมาเป็นพนักงานเสิร์ฟแล้วโดนเรื่องรับของโจร เขาบอกว่าเขาไม่ได้ทำ ผมถามว่ามีทนายความไหม เขาบอกว่าไม่มี ผมบอกไปว่าสิ่งแรกที่ต้องทำถ้าจะสู้คือต้องหาทนาย จะได้สู้คดีกันได้ ไปว่ากันในศาล ปรากฏว่าวันต่อมาเขากลับมาบอกผมว่าไม่เอาทนายแล้ว รอให้คดีสิ้นสุดดีกว่า เวลามีประกาศพระราชทานอภัยโทษเขาจะได้ลดโทษ

ตอนนั้นผมช็อคนะ เพราะเราเรียนกฎหมายมาแต่เราไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย กลายเป็นว่าสภาพเรือนจำบังคับให้คนต้องจำนนต่อกระบวนการยุติธรรม ผมไม่รู้หรอกว่าใครถูกใครผิด แต่วิธีคิดของเขาง่ายมากเลยคืออยากกลับบ้านให้เร็วที่สุด ถ้าเขายอมปล่อยให้คดีสิ้นสุด ไม่อุทธรณ์ ทุกอย่างจะเร็วขึ้น ถ้าเขารับได้ เขาก็เลิกสู้คดี ผมคิดว่า เฮ้ย! นี่คือกระบวนการยุติธรรมของไทยเหรอ ผมถามว่าเขาไม่ประกันตัวเหรอ เขาบอกว่าจะเอาเงินจากไหนประกันตัว ถึงเขาเป็นคนต่างชาติ แต่เขาก็เป็นแค่คนเล็กคนน้อย

ผมงงว่าประเทศของเราเกิดอะไรขึ้น มีนักโทษอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีเยอะมาก เยอะกว่าคนที่ถูกตัดสินว่าผิดแล้ว แต่หลายคนยอมจำนนต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะสภาพของกระบวนการยุติธรรมทำให้เราเป็นอย่างนี้ ผมท้อแท้ใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกว่าเป็นเชื้อไฟ ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนประเทศให้ได้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ดีกว่านี้

ชีวิตในเรือนจำทำให้ผมเห็นชีวิตคนมากขึ้น ผมรู้สึกว่าเวลาคนข้างนอกมองมา นักโทษดูเลวร้าย แต่อยู่ที่นั่นทุกคนถอดหัวโขนกันหมด ผมรู้สึกได้ถึงความเป็นคน ผมเห็นคนสักลายเต็มตัว เขามาคุยกับเราดี มาให้ความช่วยเหลือเรา ผมว่าถ้าเราอยากเห็นคน เราต้องไปในจุดตกต่ำที่สุด ในเรือนจำไม่ได้มีอะไรทำเป็นพิเศษ บางทีผมยืมหนังสือในห้องสมุดมานั่งอ่าน แน่นอนว่าเราก็คิดว่าเรามาอยู่ตรงนี้ทำไม นี่มันเรือนจำนะ มองขึ้นไปบนเพดาน เห็นพัดลมหมุนๆ เกิดอะไรขึ้นกับเรา คนอะไรวะ เรียนจบได้แป๊บเดียว จบนิติฯ ด้วยนะ อาชีพแรกที่ได้ดันเป็นนักโทษ

ชีวิตในเรือนจำมันลอยมาก เหมือนเราเป็นวิญญาณ ทุกอย่างเหมือนแช่แข็งเวลาเลย สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผมมีอยู่สองอย่างในตอนนั้น คือเวลา 20 นาทีที่มีคนมาเยี่ยม ทำให้ผมรู้ว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ได้ฟังความเป็นไปของสังคมต่างๆ จากการบอกเล่า กับอีกอย่างหนึ่งคือหนังสือ ทำให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังมีความหวังอยู่ หนังสือเล่มแรกที่ผมอ่านในเรือนจำคือ The Hunger Game แม้ว่าจะเป็นเรื่องแฟนตาซี แต่ทำให้มีหวังจะปลดแอกตัวเอง คิดเสมอว่าเราอยู่ตรงนี้แค่ชั่วคราว สิ่งที่รอเราทำคือสิ่งที่อยู่ข้างนอก

 

ได้ยินว่าครอบครัวไม่ค่อยสนับสนุนการต่อต้าน คสช. เขาว่าอย่างไรบ้างเมื่อโรมเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

เขาเป็นห่วง อย่างแม่จะบอกว่าเสียใจ แต่เข้าใจว่าเราสู้เพื่ออะไร เขาอาจตั้งคำถามกับผมบ้างเพราะสิ่งแวดล้อมเขาเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ลึกๆ เขารู้ดีว่าผมทำสิ่งเหล่านี้ไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ และผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหน

วันที่ผมต้องไปอยู่เรือนจำ ครอบครัวผมเสียใจมาก แม่ผมนอนร้องไห้ พอออกมาได้คุยกัน เขาถามว่าหยุดได้ไหม ผมบอกว่า ถึงที่สุดผมต้องอยู่กับประเทศนี้อีกนาน เราจะมีอนาคตแบบไหนถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้

ถ้าผมกลับบ้านแล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอคิดถึงสิ่งที่ได้เรียน คิดถึงภาษีของประชาชนทำให้เรามาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าเราจ่ายค่าเทอมก็จริง แต่เราไม่ได้จ่ายทั้งหมดตามความเป็นความจริง ผมทำใจไม่ได้ถ้าต้องหยุดและเลือกเดินหันหลังให้กับสิ่งที่ทำ

ผมเลยบอกไปว่า ถึงที่สุดแล้วหม่ามี้ก็ไม่ได้เลี้ยงผมไปได้ตลอดเวลา ผมจำเป็นต้องอยู่กับสังคมแบบนี้ไปอีกนาน เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยถ้าเราได้ทำอะไรบางอย่าง มันอาจเปลี่ยนได้ เขาก็เข้าใจ แต่ด้วยความเป็นแม่คงไม่มีใครอยากเห็นลูกโดนจับหรอก

 

ถ้าการเมืองไม่ได้มีปัญหา โรมมีความฝันอยากจะทำอะไร

ผมมีความสนใจอยู่สองเรื่อง แต่คนอาจไม่ค่อยรู้ คือเรื่องการศึกษากับคมนาคม เวลาเราพูดถึงการศึกษา สิ่งที่เกี่ยวกับความรู้ความคิด หรือการเตรียมตัวคนให้พร้อมเข้ามหาวิทยาลัย ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่กรุงเทพฯ เป็นเหตุผลทำให้ผมต้องมาเรียนที่นี่ เพราะถ้าผมอยู่ที่อื่น ผมจะไม่มีโอกาส ผมมั่นใจได้ว่าถ้าผมเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ผมจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ผมต้องการได้

แน่นอนว่ามีคนต่างจังหวัดที่มาเรียนธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ได้ แต่ถ้าเราลองคิดเป็นสัดส่วนจากจำนวนนักศึกษาทั้งหมดในประเทศ จะมีเด็กต่างจังหวัดสักกี่คนเข้ามาตรงนี้ได้ เทียบกับเปอร์เซ็นต์ของเด็กกรุงเทพฯ มันคนละเรื่องกัน ผมรู้สึกว่าทำไมการศึกษากลายเป็นเรื่องของโชคชะตา กลายเป็นว่าเด็กจำนวนมากโชคร้ายที่เกิดต่างจังหวัด ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งโชคดีที่ได้เกิดในกรุงเทพฯ แม้บางทีสถานะทางการเงินไม่ได้ต่างกันมากด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ไม่แฟร์สำหรับผม แต่ด้วยความที่ผมเปลี่ยนอะไรไม่ได้ในตอนแรก ก็เอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วค่อยพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นให้ได้

อย่างที่สองที่ผมสนใจคือเรื่องคมนาคม ผมมาจากภูเก็ต ถ้าผมจะกลับบ้าน ผมกลับได้ 2-3 ทาง ทางที่หนึ่งคือทางรถยนต์ ขับรถกลับ 12 ชั่วโมง ทางที่สองคือเครื่องบิน ทางที่สามคือเรือ แต่เรือคงไม่มีคนใช้แล้ว เพราะต้องนั่งอ้อม แต่ถ้าเราเทียบกับเชียงใหม่ เราไปรถไฟได้ แต่ผมสงสัยว่าทำไมภูเก็ตไม่มีรถไฟ เกาะนี้เป็นเกาะที่จ่ายภาษีให้ประเทศนี้ตั้งเยอะ

ผมเติบโตมากับความคิดที่ว่าเราอยากเห็นภูเก็ตเป็นเขตพัฒนาพิเศษเหมือนพัทยา เหมือนที่ฮ่องกงเป็นจังหวัดพิเศษ ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราได้รับโอกาส เราจะพัฒนาตัวเองได้ ผมเชื่อว่ามีศักยภาพมากพอ เชื่อว่าเราจะไปได้ไกลกว่านั้น ถ้าสามารถเชื่อมกับพังงา หรือพื้นที่อื่นในจังหวัดอื่นๆ ได้ ดังนั้นความฝันที่ผมอยากเห็นมาตลอดคือ ผมอยากเห็นจังหวัดของผมเจริญ อยากเห็นการพัฒนา การก่อสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนาความเจริญของจังหวัดตัวเอง ผมอยากกลับบ้านได้ง่ายๆ เหมือนที่คนอื่นกลับบ้านได้

 

ประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไหม

เกี่ยวครับ คนคงคิดว่า ทำไมผมถึงพูดเรื่องนี้น้อย ทั้งที่ผมสนใจ เพราะผมรู้ว่าถ้าเราไม่พูดเรื่องใหญ่กว่านั้น อย่างเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าเราอยากมีส่วนร่วมในนโยบายรัฐเพราะมันมีผลกระทบต่อคนส่วนมาก หรือกระทบความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่เราพูดไม่ได้ จะมีความฝันอะไรกับประเทศนี้ ถ้าคนไทยยังพูดความต้องการของตัวเองไม่ได้ ความฝันเราก็ไม่มีทางมีได้ เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

รังสิมันต์ โรม

เห็นว่าสนใจประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา โรมคิดว่าสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรจากสภาพการศึกษาที่ล้มเหลวอย่างมากในปัจจุบัน

ผมจะเปรียบเทียบประเทศไทยกับอินโดนีเซีย เนื่องจากผมมีโอกาสไปอินโดนีเซียบ่อย ตอนนี้ประชากรอินโดนีเซียที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานคิดเป็นสัดส่วนประชากร 51% ซึ่งเยอะมาก หมายความว่าหากรัฐบาลสร้างงานเพียงพอกับประชากรวัยทำงานได้สำเร็จ ประเทศเขาจะก้าวหน้าไปไกลมาก แต่ประชากรวัยทำงานของไทยมีสัดส่วนแค่ประมาณ 18%

นอกจากสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่น้อยแล้ว คนรุ่นใหม่ยังไม่ได้รับการศึกษาดีพอ เรายังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะต้องมารับมรดกความขัดแย้งทางความเชื่อของคนรุ่นเก่า ว่าเราต้องเกลียดทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแมลงสาบ ถ้าเราต้องคิดอยู่อย่างนี้ ประเทศนี้ไม่มีอนาคตหรอกครับ ยังมีเรื่องภาษาอังกฤษที่เราเป็นรองกว่าเพื่อนบ้าน ประเทศจะไปทางไหนล่ะครับ

 

คำว่า คนรุ่นใหม่ในมุมมองโรมเป็นอย่างไร

เมื่อเราพูดถึงคนรุ่นใหม่ คนมักโฟกัสที่คนอายุน้อย แต่ความเห็นของผม คนรุ่นใหม่หมายถึงคนที่มี ‘ความคิดใหม่’ ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของสังคมไทย ยิ่งถ้าสังคมไทยจะออกจากความขัดแย้งระหว่างเสื้อสองสีให้ได้ เรายิ่งจำเป็นต้องพึ่งพาคนที่มีความคิดใหม่ๆ เพราะตลอดสิบปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเราหาข้อยุติความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อไม่ได้ ถ้าเกิดทั้งสองฝ่ายไปด้วยกันไม่ได้และจมอยู่กับความขัดแย้ง สังคมก็จะย่ำอยู่กับที่ สังคมควรไปด้วยกันทั้งหมดได้ ผมคิดว่าเราต้องหวังพึ่งคนมีความคิดใหม่ๆ เพื่อก้าวผ่านความขัดแย้งนี้ให้ได้

คิดอย่างไรกับการที่พรรคการเมืองชู ‘คนรุ่นใหม่’ เป็นจุดขาย

ตอนนี้เป็นเทรนด์ที่ไม่ได้มีแค่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้นชูเรื่องนี้มา ผมคิดว่าใครๆ ก็เริ่มพูดถึงคนใหม่ๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาเขาก็ชูความเป็นคนรุ่นใหม่มาเยอะ พรรคเพื่อไทยเราอาจยังไม่ค่อยเห็น แต่ด้วยกระแสและทิศทางก็อาจมาทางนี้

ถ้าถามว่าผมคิดอย่างไรกับการชูวาทกรรมคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าไม่พอ และเป็นการสร้างความหวังให้สังคมชั่วคราว ทำให้ดูเหมือนมีทางเลือกบางอย่าง แต่สังคมในเวลานี้ต้องการอะไรมากกว่าวาทกรรมคนรุ่นใหม่

อย่างพรรคอนาคตใหม่ ผมเข้าใจว่าเขาติดตรงข้อกฎหมาย ทำให้ยังพูดอะไรเยอะไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำได้คือการพูดถึงปัญหา เขาสามารถพูดได้ว่าสังคมไทยมีปัญหาอะไร ผมคิดว่าสังคมไทยต้องการเห็นสิ่งที่ทำให้สามารถวางใจให้พรรคไปเป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาของประเทศนี้ ถ้าเขาต้องการเป็นทางเลือกทำให้การเมืองไทยออกจากความขัดแย้ง เขาต้องนำเสนอมากกว่าเรื่องคนรุ่นใหม่ ถึงที่สุดถ้าวันหนึ่งคนไม่เห็นว่ามีอะไร เขาก็ไม่เลือกคุณอยู่ดี

 

สังคมมักตั้งคำถามกับการเป็นนักเคลื่อนไหวว่า มีแต่ความฝันที่ไม่เห็นความจริงหรือรูปธรรมของข้อเสนอที่ทำให้คนคล้อยตามได้ โรมเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์นี้ไหม

บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน บางคนอาจมองว่าเป็นความจริงได้ ถ้าถามว่าสิ่งที่นักเคลื่อนไหวทำเป็นเรื่องเพ้อฝันไหม ก็อาจถูก แต่เวลาที่เราพูดถึงการเคลื่อนไหว คือเรากำลังทำให้เรื่องเพ้อฝันกลายเป็นความจริง

เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเรามาทำตรงนี้ เพราะอยากให้มันเป็นจริง อยากให้โลกในมหาวิทยาลัยไม่ใช่โลกจำลอง แต่เรายอมรับว่าสิ่งที่พวกเราทำอาจผิดบ้างถูกบ้างด้วยประสบการณ์ อย่างผมเพิ่งเรียนจบ 3 ปี จะให้ผมมาพูดแบบคุณทักษิณ คุณอภิสิทธิ์ คงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่พวกเราเสนออาจไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างตอนลงประชามติ ผมออกมาอยู่ฝั่งโหวตโนตลอด สุดท้ายเราแพ้ แต่เราจะแพ้ตลอดไม่ได้ เราต้องการชัยชนะแค่ครั้งเดียว แม้ครั้งนั้นยังไม่เกิดขึ้นสักที เราก็ต้องพยายามทำต่อไป

สิ่งที่พวกเรานักเคลื่อนไหวพยายามแก้ คือเราต้องพยายามทำให้สังคมเข้ามาอยู่ร่วมกันให้ได้ ถ้าคนที่ติดตามผมจะเห็นว่า เราพยายามรวมคนทุกคนเข้ามา เราอาจยังทำไม่สำเร็จในตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่เราเสนอกับสังคมไทยคือให้มองผ่านสีเสื้อไป เมื่อมองผ่านสีเสื้อ เราจะไม่เห็นอะไรนอกจากความเป็นคนไทย ดังนั้นเราจึงพยายามก้าวข้ามผ่านการเมืองสีเสื้อ เพราะเรารู้ว่าในความเป็นประเทศไทย เราทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้หรอกครับ เราต้องเดินไปข้างหน้าให้ได้  เราต้องรวมกันเหมือนกับที่เราเคยต่อสู้ในประวัติศาสตร์ รวมกันเพื่อต่อสู้กับคนที่พรากเสรีภาพของคนไทยไป หลายคนอาจมองว่าดูนามธรรมมาก แต่นี่คือวิธีคิดที่นักกิจกรรมเริ่มคิดกัน

รังสิมันต์ โรม

ถ้าทบทวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา มองเห็นจุดอ่อนหรือความผิดพลาดของขบวนการนักศึกษาบ้างไหม

จริงๆ มีหลายเรื่อง แต่ผมอยากยกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ผมรู้ว่าทุกวันนี้เป็นสังคมเฟซบุ๊ก สังคมทวิตเตอร์ เราเห็นการโพสต์ด่าคนนู้น พูดแซะคนนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการพูดแบบนี้ ด้านหนึ่งทำลายความเป็นเพื่อน โดยเฉพาะความเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ต่อสู้มาด้วยกัน แน่นอนว่าการทำกิจกรรมไม่ได้เรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวกันอะไรขนาดนั้น เพราะสังคมปัจจุบันเป็นลักษณะที่เป็นปัจเจกชนสูง

ผมเคยได้ยินขนาดที่ว่า เพราะอย่างนี้ไง ถึงไม่มีคนร่วมด้วยกับเรา แทนที่จะมานั่งคิดช่วยเหลือกัน ทำงานกัน กลายเป็นว่าทำลายกัน หักล้างกัน แล้วเวลาคุณโพสต์อะไรไป กลายเป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้ ต้องชนะกันให้ได้ แต่สุดท้ายเราชนะไปแล้วยังไง สุดท้ายเราก็ตกนรกไปพร้อมกันอยู่ดี ตราบใดที่คุณยังไม่มีปัญญาไปอยู่ต่างประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราควรทำคือ เราควรใช้เครื่องมือเครือข่ายสังคมทำให้ขบวนการการต่อสู้เกิดขึ้นได้

ผมอยากวิงวอน ขอร้อง กราบกราน ไปยังนักเคลื่อนไหวทุกคนนะครับ การวิจารณ์หรือการให้ฟีดแบ็กเป็นเรื่องดี แต่ผมอยากให้คิดว่า เรากำลังสู้กับศัตรูที่โคตรใหญ่ยักษ์เลย ที่ไม่รู้จะชนะอย่างไรด้วย ผมอยากให้คิดว่าเรากำลังทำภารกิจที่สำคัญมาก ดังนั้นขอให้เพลาๆ กันนิดหนึ่ง โทรศัพท์หรือแชทคุยกันก็ได้ หรือถ้าจะวิจารณ์ ผมคิดว่ามีข้อวิจารณ์อีกเยอะที่ไปด้วยกันได้

 

โรมรู้สึกอย่างไรกับข้อวิจารณ์ที่ว่า นักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าทะเลาะกันเองเหนื่อยกว่าการต่อต้าน คสช. ด้วยซ้ำ

ผมรู้สึกว่าเราด่ากันเองมากกว่าด่าประยุทธ์ จนผมสงสัยแล้วว่าคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวด้วยกัน มันเลวร้ายกว่า คสช. เหรอวะ เลวร้ายกว่าคนที่ขโมยสิทธิเสรีภาพเราไปเหรอ ผมรู้สึกว่าบางทีถนอมน้ำใจกันหน่อยก็ได้ ผมโดนมาเยอะ แต่ผมพยายามจะไม่โต้ เพราะผมไม่เชื่อว่าการถกเถียงกันในเฟซบุ๊กได้ผล ผมเชื่อการมานั่งคุยกันมากกว่า

 

ในช่วงชีวิตเรา เสรีภาพความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ไหม

เวลาผมมาทำงานตรงนี้ผมรู้สึกว่าผมมีความหวังเสมอ ผมจะไม่เชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้น ผมเห็นด้วยกับ โจชัว หว่อง ว่า เวลาอยู่ข้างเรา ผมไม่เชื่อว่าคนวัยเกษียณจะทำให้เราหมดอนาคตได้ตลอดไป

การที่เราจินตนาการอนาคตไม่ออกในวันนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มี อนาคตจะมีได้ต่อเมื่อเราทำอะไรบางอย่าง ดังนั้นการไม่ทำอะไรเลยแล้วเกรงต่อไปว่าเดี๋ยว คสช. จะเจ๊งเอง เราอาจเจ๊งไปพร้อมๆ เขาหรืออาจหนักกว่าด้วย เพราะว่าเขายังมีเงิน แต่เราไม่มีอะไร

ผมคิดว่าถึงที่สุด อนาคตอยู่ข้างเรา แล้วความฝันที่เราฝันกันจะเป็นความจริง อย่างน้อยเขาน่าจะตายก่อนเรา ผมคิดในแง่ดีอย่างนั้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราฝันต้องไปได้

 

ข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งคืออะไร

ขอให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งในปีนี้ ทั้งในแง่กฎหมายและการเมือง ถ้า คสช. จะทำก็ทำได้แน่นอน เพราะเขาออกมาพูดแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และถ้าหาก คสช. มีความจริงใจที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง บรรยากาศเลือกตั้งจะต้องเปิด ด้วยการเอา คสช. ออกไป เนื่องจากจุดมุ่งหมายเดิมของการมี คสช. คือการรักษาสถานการณ์ที่ไม่สงบ แต่ในวันนี้มันไม่มีแล้ว

ข้อเสนอของเราคือยุบ คสช. ซึ่งการยุบ คสช. ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเอาพลเอกประยุทธ์ออกไป แต่ให้ท่านเป็นรัฐบาลรักษาการณ์เพื่อดำเนินการไปสู่การเลือกตั้ง เหมือนรัฐบาลปกติที่ยุบสภาก็เป็นรัฐบาลรักษาการไป ถ้าเป็นอย่างนี้คนไทยจะสามารถเชื่อมั่นได้ว่า คสช. จะทำให้มีการเลือกตั้งได้จริงๆ

ผมเห็นว่าความจำเป็นเดียวที่ คสช. ยังอยู่ คือการเป็น คสช. ได้เงินเดือน นี่คือค่าใช้จ่ายที่ประเทศนี้ต้องเสียไปในทุกเดือน ผมนึกภาพไม่ออกว่าเราได้อะไรจากการมี คสช. นอกจากผมได้คดีเพิ่ม และคนไทยไม่สามารถพูดถึงเสรีภาพได้

ผมเห็นนะครับว่าเวลามีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ มันดูมีความหวัง คนถกเถียงกันเอาเป็นเอาตายประหนึ่งเรารู้แล้วว่าเราจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีวันเลือกตั้ง ผมรู้เลยว่าคนไทยอยากเลือกตั้งแล้ว ทำไมเราไม่ทำให้การเมืองเปิด จะได้ถกเถียงเรื่องนโยบายเต็มที่ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคคุณธนาธร จะได้เดินหน้าเลยเต็มที่

 

ถ้ายุบ คสช. แล้วประกาศคำสั่งต่างๆ จะหายไปด้วยไหม

แน่นอนครับ เราควรต้องมารีวิวประกาศตรงนี้อีกครั้ง ผมเห็นว่าปัญหาของระบบศาลไทย คือศาลไทยเชื่อว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารต้องเป็นกฎหมาย แม้ว่ารัฐประหารจะสิ้นสุดไปแล้ว เป็นความคิดที่ต้องแก้ 

คิดเห็นอย่างไรกับกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้ง ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

สิ่งที่พวกเขากลัวคืออนาคต กลัวว่าเลือกไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่สำหรับผมและกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คือกลุ่มคนที่ไม่ได้กลัวอนาคต เราเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่เราจะเปลี่ยนแปลง ความล้มเหลวของอดีตไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอนาคตในประเทศนี้ ผมจะไม่ล้มเหลวและไม่ไปสู่ความขัดแย้งเหมือนคนรุ่นเก่า ผมเชื่อว่าผมเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้นได้ และผมเชื่อว่าอีกหลายคนที่มารวมกันก็เห็นอย่างเดียวกันนี้ ดังนั้นผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องตัดสินใจเลือก

ผมเชื่อว่าอนาคตต้องดีกว่าเมื่อวาน เราพร้อมเผชิญความท้าทายของโลกอนาคตไหม ถ้าเราพร้อม เราก็ลุยกัน ผมเชื่อว่าเราทำเพื่อสังคมและอนาคตที่ดีกว่า เราจะไม่เอาอนาคตตัวเองไปผูกอยู่กับความผิดพลาดในอดีต ผมเชื่อว่าผมทำได้ดีกว่าและจะไม่ผิดพลาดเหมือนที่คนในอดีตเคยทำ


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “อนาคตสังคมไทย : ความคิด ความฝัน ความจริง” ฉบับเต็ม โดย รังสิมันต์ โรม ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save