fbpx
อันเป็นที่รัก Roma

อันเป็นที่รัก Roma

นรา เรื่อง

ชื่อหนังเรื่อง Roma หมายถึงถิ่นย่านหนึ่งในเม็กซิโกซิตี้ คำนี้เมื่อเรียงลำดับตัวอักษรจากหลังมาหน้า จะกลายเป็น amor ตรงกับคำในภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า ‘ความรัก’

ย่อหน้าข้างต้นอาจเป็นแค่ความบังเอิญ แต่ผมคิดว่าสอดคล้องกันดีกับแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้ของอัลฟองโซ กัวรอน เพื่ออุทิศให้แก่ลิโบ พี่เลี้ยงและสาวใช้ในวัยเยาว์ ผู้เป็นต้นแบบของเกลโอ (ตัวเอกในเรื่อง) รวมทั้งการหวนย้อนกลับไปรำลึกถึงช่วงเวลาระหว่างปี 1970-1971 ซึ่งเป็นความทรงจำที่ติดตรึงฝังใจของกัวรอน

พูดอีกแบบหนึ่ง Roma มีความเป็น ‘หนังส่วนตัว’ ของกัวรอนปรากฏเด่นชัดในทุกรายละเอียด ตั้งแต่เหตุการณ์เรื่องราว ผู้คน (ตัวละคร) ฉากหลังสถานที่ต่างๆ และบรรยากาศของยุคสมัย

Roma

หนังเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของเกลโอ สาวใช้ในครอบครัวชนชั้นกลาง และเป็นเรื่องเล่าที่ออกแบบอย่างประณีตพิถีพิถันให้มี 3 ระยะ คือ ระยะใกล้ ปานกลาง และไกล ดำเนินไปอย่างทับซ้อนเกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา

เรื่องราวในระยะใกล้ชิดกับผู้ชมมากสุด คือเรื่องชีวิตของเกลโอ แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ภาระและหน้าที่การงานของเธอ ความผูกพันกับสมาชิกครอบครัวนายจ้าง การคบหามีความสัมพันธ์กับชายหนุ่มชื่อเฟอร์มิน จนกระทั่งตั้งท้อง แล้วโดนฝ่ายชายทอดทิ้ง การสูญเสียอันหนักหน่วงสาหัส จนกระทั่งจมปลักอยู่กับความโศกเศร้า และการคลี่คลายตนเองให้หลุดพ้นจากทุกข์ระทมขมขื่น เพื่อลุกขึ้นก้าวเดินใช้ชีวิตต่อไป

เรื่องราวระยะห่างปานกลาง พูดถึงครอบครัวนายจ้าง ซึ่งดูเผินๆ เหมือนมีความสุข แต่ไม่นานนักปัญหาชีวิตสมรสที่ไม่ราบรื่นระหว่างคู่สามีภรรยา (ดร.อันโตนิโอกับโซเฟีย) ก็ค่อยๆ เผยแสดงออกมาตามลำดับ ตั้งแต่การที่ฝ่ายชายเดินทางไปประชุมที่แคนาดา จนครบกำหนดแล้วก็ไม่มีวี่แววว่าจะกลับบ้าน  จนกระทั่งเหตุการณ์บ่งชัดในเวลาต่อมาว่า เขาทอดทิ้งภรรยาไปมีหญิงอื่น

ท้ายสุดคือ ระยะไกล ซึ่งสะท้อนถึงเหตุการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน การเดินขบวนประท้วงของนักศึกษา จนบานปลายไปสู่การใช้กำลังปราบปรามสังหารหมู่

Roma

Roma เป็นหนังที่มีความโดดเด่นและมีแง่มุมหลากหลาย จนสามารถหยิบยกนำเอาทฤษฎีการวิจารณ์แบบต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือพิจารณาทำความเข้าใจได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี auteur ซึ่งเน้นไปยังการค้นหาจุดร่วมพ้องพานกับผลงานชิ้นก่อนๆ เพื่ออธิบายถึงลักษณะเฉพาะตัวของคนทำหนัง ทฤษฎีเฟมินิสต์ เพื่ออธิบายถึงความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือทฤษฎีการวิจารณ์ที่มุ่งตรวจสอบจับความหมายประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ปรากฏในหนัง

ทุกทฤษฎีที่กล่าวมา ผมพอจะมองเห็นภาพคร่าวๆ กว้างๆ อยู่บ้าง แต่ไม่สู้จะชัดเจนนัก เพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลายๆ อย่าง เช่น ดูหนังของกัวรอนไม่ครบถ้วน ไม่ละเอียดถี่ถ้วนเพียงพอ ปราศจากพื้นเพความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของเม็กซิโกในช่วงทศวรรษ 1970

สิ่งที่ผมเห็นชัดในหนังเรื่อง Roma คือ คุณงามความดีระดับที่โดดเด่นยอดเยี่ยมมากๆ อันเกิดจากวิธีบอกเล่าและลีลาการนำเสนอนะครับ

พูดอีกแบบคือ Roma เป็นหนังที่ไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญกับพล็อตเป็นหลักใหญ่ เส้นเรื่องนั้นมีอยู่เบาบางหลวมๆ และค่อนข้างเรียบง่าย ขณะที่ฉากหลังเกี่ยวกับเหตุการณ์สังคมการเมือง ก็นำพาผู้ชมไปสัมผัสพร้อมๆ กับตัวละคร (และมีโอกาสรับรู้เท่าๆ กับตัวละคร) ในลักษณะเหมือน ‘ผ่านไปพบเจอ’ โดยไม่เล่าอธิบายลงลึกถึงที่มาที่ไปใดๆ เลย และที่สำคัญยิ่งคือ เป็นการสะท้อนภาพที่ปราศจากทัศนะความเห็นของคนทำหนัง ไม่ว่าจะในเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ

มีนิยามหนึ่งซึ่งผมอ่านเจอแล้วชอบมาก พูดถึงสถานะของตัวละครเกลโอในหนังเรื่องนี้ว่า เธอเป็น ‘พยานเงียบในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์’

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ผมปักหมุดการทำความเข้าใจแก่นเรื่องของหนัง อย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อเรื่องเอาไว้เพียงแค่ เป็นหนังที่พูดถึงตัวละครฝ่ายหญิง 2 คน ซึ่งแตกต่างกันมากในด้านชีวิตความเป็นอยู่และสถานะทางสังคม แต่สิ่งที่ทั้งคู่พบเผชิญนั้นใกล้เคียงกัน คือ การเผชิญวิกฤติในชีวิต อันเนื่องมาจากถูกผู้ชายทอดทิ้ง กระทั่งตกอยู่ในสภาพทุกข์ระทม จิตตกถึงขีดสุด จากนั้นก็เป็นเรื่องของการสะสางคลี่คลายความรู้สึกเบื้องลึกในใจ จนสามารถลุกขึ้นมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

ผมควรต้องออกตัวอีกครั้งนะครับ ว่าหนังมีเนื้อหาแง่คิดในลักษณะ ‘ความนัยระหว่างบรรทัด’ อยู่ และมีในปริมาณเยอะด้วย เพียงแต่ผมขออนุญาตละเว้นข้ามผ่านไม่กล่าวถึง

เลี้ยวกลับมาว่ากันต่อจากที่ค้างไว้ แก่นเรื่องง่ายๆ นี้ เมื่อผ่านวิธีการเล่าเรื่องชั้นยอด ก็เกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าประทับใจมาก ทั้งการเล่าร้อยเรียงแสดงรายละเอียดเป็นลำดับขั้นตอนอย่างแนบเนียนเปี่ยมด้วยชั้นเชิง เกิดความหนักแน่นสมจริงและน่าเชื่อถือ สามารถสะกดตรึงสร้างอารมณ์ร่วมแบบเรียบลึก แต่ได้ผลสะเทือนใจสูง รวมทั้งมีความงามและเป็นงานศิลปะอยู่ครบครัน

หนังมีรายละเอียดในเชิงเปรียบเปรยทางอ้อมอยู่หลายสิ่งหลายอย่าง หรือจะพูดให้ขลังขึ้นก็คือ มีการใช้สัญลักษณ์เพื่อช่วยสื่อความหมาย ตัวอย่างเช่น การเล่นกับภาพเงาสะท้อนอยู่เนืองๆ ทั้งเงาในน้ำหรือบานกระจก (ผมยังไม่ได้คิดอย่างจริงจังว่า มีความหมายเช่นไร? แต่การปรากฏบ่อยแบบเจตนาเน้นให้เด่นชัด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า รายละเอียดเหล่านี้น่าจะมีเจตนาสื่อสารทางอ้อมกับผู้ชม นอกเหนือไปจากการออกแบบภาพให้สวยสะดุดตา)

การเปรียบเปรยที่เห็นชัดและทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า คือ รถยนต์ฟอร์ดแกแลคซีของครอบครัวนายจ้าง แรกเริ่มมันสะท้อนถึงความไม่สอดคล้องลงตัว ระหว่างขนาดใหญ่โตเทอะทะกับทางเข้าออกในบ้านที่คับแคบ เมื่อโดนสามีทอดทิ้ง โซเฟียก็ขับรถคันนี้ แทรกผ่านรถ 2 คันบนท้องถนนไม่พ้น กลายเป็นอุบัติเหตุรถชน หนักข้อยิ่งกว่านั้น เมื่อสถานการณ์ชีวิตคู่ใกล้อับปาง เธออยู่ในสภาพเมามาย ขับรถดังกล่าวเข้าบ้าน ชนกับผนัง จนสภาพรถยับเยิน (เช่นเดียวกับสภาพจิตใจของตัวละคร) ท้ายที่สุดเมื่อโซเฟียพบหนทางแก้ไขปัญหาชีวิต เธอก็ตัดสินใจขายรถ เปลี่ยนเป็นคันใหม่ขนาดกะทัดรัด เหมาะสมกับที่ทางภายในบ้านมากกว่า

รถยนต์ฟอร์ดแกแลคซีนี้เป็นภาพเปรียบขยายความเพิ่มเติม จากสิ่งที่หนังบอกเล่าผ่านเนื้อเรื่องนะครับ ผู้ชมอาจไม่จำเป็นต้องถอดรหัสตีความ แต่ในระหว่างดู รายละเอียดเหล่านี้ก็แสดงบทบาทหน้าที่ขับเน้นอยู่ลึกๆ ตลอดเวลาจนสามารถสัมผัสรับรู้ได้

ที่สำคัญคือ เป็นการใส่เข้ามาที่เนียนและกลมกลืนไปกับเนื้อเรื่อง คล้ายๆ กับรายละเอียดอย่างขบวนดนตรีบนท้องถนน ซึ่งปรากฏในหนัง 2 หน ครั้งแรกเมื่ออันโตนิโอออกจากบ้านแบบไม่คิดหวนกลับ และในตอนท้ายที่โซเฟียพร้อมลูกๆ และเกลโอ กลับจากเที่ยวทะเลมาถึงบ้าน ในสภาพ ‘ผ่านพ้นและทำใจได้’

รายละเอียดตรงนี้ ไม่ได้มีความหมายอันใดสลับซับซ้อน เป็นแค่ระเบียบวิธีหรือลูกเล่นทางศิลปะในการทำซ้ำ แต่ประโยชน์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือให้ผลลัพธ์แตกต่างผิดกันไกล

เสียงบรรเลงดนตรีแบบเดียวกันนี้ เมื่อปรากฏครั้งแรก ฟังดูเอะอะอึกทึกรบกวน แต่ในครั้งหลังความรู้สึกกลับกลายเป็นผ่อนคลาย (เหตุการณ์ในเรื่องและภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร มีส่วนทำให้ความรู้สึกของผู้ชมผิดแผกแตกต่างจากรายละเอียดคล้ายๆ กัน)

หนังมีชั้นเชิงลีลาทำนองนี้อยู่แพรวพราวเต็มไปหมด มากเกินกว่าที่ผมจะจับสังเกตหรือจดจำได้หมดครบถ้วน จากการดูแค่ไม่กี่รอบ

Roma

แล้วก็มาถึง สิ่งที่ผมคิดว่าโดดเด่นสุดในหนังเรื่อง Roma นั่นก็คือ กลวิธีของหนัง ซึ่งสามารถผสมผสานระหว่าง 2 ส่วนที่ตรงกันข้าม และไม่น่าจะอยู่ร่วมกันหรือเข้ากันได้ ออกมาได้อย่างเหมาะเจาะกลมกลืนเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน

ส่วนผสมนั้นคือ การปรุงแต่งประดิดประดอยแบบพิถีพิถันกับการขับเน้นความสมจริงเป็นธรรมชาติอย่างเคร่งครัด

อย่างแรกนั้น ฉายชัดผ่านงานสร้างอันประณีตวิจิตร โดยการเลือกทำเป็นหนังขาว-ดำ ขนาดภาพแบบจอกว้าง เป็นหนังที่ยกย่องกันทั่วทุกปากว่าสวยทุกเฟรม

ยิ่งไปกว่านั้น การถ่ายภาพของหนังยังสร้างความตื่นตาตื่นใจสารพัดสารพัน ตั้งแต่ความงามของแสงเงา การจัดองค์ประกอบภาพ การเคลื่อนกล้องแบบแพนไปมา การเคลื่อนกล้องติดตามความเคลื่อนไหวของตัวละคร การตั้งกล้องนิ่งถ่ายชัดลึก เห็นทั้งบริเวณใกล้และฉากหลังไกลตัว ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน การถ่ายทำแบบลองเทคยาวหลายนาทีโดยไม่ตัดภาพ (ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมาย ทั้งการแสดงของตัวละครหลัก และตัวประกอบรายล้อม ที่ยุ่งยากวุ่นวายในการถ่ายทำ) ฯลฯ

พูดง่ายๆ คือ หนังมี ‘ฉากจำ’ เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นฉากเกลโอคุยกับแฟนหนุ่มในโรงหนัง (พร้อมๆ กับที่เห็นผู้ชมมีปฏิกิริยาตอบโต้ไปกับภาพเรื่องราวบนจอ) ฉากความวุ่นวายโกลาหลจากการประท้วงของนักศึกษาและการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ ฉากไฟไหม้และการดับไฟในคืนส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่) ฉากการคลอดลูกที่ทำออกมาได้อย่างทรงพลัง หรือฉากริมทะเลที่เป็นไคลแม็กซ์สำคัญของเรื่อง

นี่ยังไม่นับรวมความโดดเด่นของงานสร้างส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานกำกับศิลป์ ซึ่งจำลองบรรยากาศช่วงทศวรรษ 1970 ได้อย่างมีชีวิตชีวาหรือการออกแบบเสียงประกอบและการใช้เสียง ซึ่งผมประทับใจมากเป็นพิเศษ

ตลอดเรื่องใน Roma ไม่มีดนตรีประกอบที่เป็นสกอร์แต่งขึ้นใหม่เลยนะครับ เพลงที่ได้ยินในหนัง ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นถึงที่มาของเสียง จากวิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง โทรทัศน์ ฯลฯ แต่ความเก่งของกัวรอนก็คือ การเล่าเรื่องและเร้าอารมณ์คนดู โดยไม่ใช้ดนตรีประกอบ (ซึ่งปกติแล้วจะเป็นปัจจัยสำคัญในการโน้มน้าวผู้ชมให้คล้อยตามไปสู่อารมณ์ต่างๆ ที่หนังต้องการให้เกิดขึ้น) มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ ‘เกือบ’ จะใช้ดนตรีประกอบ คือ ฉากรถติดในอุโมงค์ ซึ่งได้ยินเสียงบีบแตรรถดังระงม จนฟังดูคล้ายๆ เครื่องเป่า และเกือบๆ จะเป็นท่วงทำนองที่ให้ความรู้สึกหลอนและอึดอัดกดดัน แต่แตรรถที่ได้ยินก็เป็นการปรุงแต่งออกแบบเสียงประกอบ ด้วยความจงใจ ‘ไม่ซื่อ’ โดยที่ยังคงเกาะเกี่ยวอยู่กับความสมจริง

อีกฉากหนึ่งที่ออกแบบเสียงประกอบ เพื่อทำหน้าที่แทนดนตรีในการเร้าอารมณ์ตื่นเต้นระทึกขวัญได้เด่นมาก คือ เสียงคลื่นในฉากริมทะเลตอนท้ายเรื่อง

รายละเอียดมากมายในภาพและรายละเอียดของเสียง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายปากกล่าวตรงกันว่า นี่คือหนังที่สมควรดูในโรงมากกว่าทาง Netflix เนื่องจากอรรถรสที่ได้รับนั้นผิดแผกแตกต่างกันลิบลับ

ขณะที่งานสร้างเต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจง บทหนัง เหตุการณ์ ฉากสนทนา รวมถึงลำดับและวิธีการดำเนินเรื่อง กลับมุ่งมาทางตรงข้าม เน้นความสมจริงเป็นธรรมชาติ จนมีการนำไปเทียบเคียงกับหนังในแนวทางนีโอเรียลิสม์ (รายละเอียดของหนังในท่วงทำนองนี้ สามารถอ่านได้จากบทความย้อนหลังเรื่อง The Bicycle Thief)

ผมคิดว่า Roma แค่มีประพิมประพายคล้ายกันกับหนังแบบนีโอเรียลิสม์ แต่เนื้อแท้นั้นไม่ใช่ และมุ่งเน้นไปที่การเล่าเรื่องเหตุการณ์ผ่านมุมมองของตัวละครเกลโอ อย่างเคร่งครัดและเป็นระเบียบแบบแผนมาก

กล่าวคือ พ้นจากส่วนที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวละครนี้โดยตรงแล้ว เรื่องราวอื่นๆ อย่างปัญหาในครอบครัวนายจ้างหรือเหตุการณ์ฉากหลังทางสังคม ทุกสิ่งถ่ายทอดสู่การรับรู้ของผู้ชม โดยที่เกลโอจะต้องมีส่วนร่วมอยู่ด้วยเสมอ ไม่มีตรงไหนตอนใดที่หนังเล่าเกินขอบเขตการรับรู้หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของตัวละคร (พูดง่ายๆ คือไม่มีฉากใดที่เล่าเรื่องโดยปราศจากเกลโอ)

เรื่องราวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเกลโอถือเป็นศูนย์กลางหรือใจความหลักของหนัง ความโดดเด่นในส่วนนี้ อยู่ที่การเล่าแสดงรายละเอียดแบบกำหนดให้คนดูเป็นผู้สังเกตการณ์ รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไป ผ่านสิ่งที่พบเห็นภายนอก แต่ไม่ลงลึกเข้าใกล้ถึงขั้นล่วงรู้ความในใจของตัวละครโดยกระจ่าง (ยิ่งไปกว่านั้น บุคลิกของตัวละครยังเป็นคนเงียบเก็บงำอารมณ์ความรู้สึกอีกต่างหาก) ความใกล้ชิดผูกพันที่ผู้ชมมีต่อเกลโอ เป็นผลจากการที่หนังใช้เวลาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด โฟกัสไปยังเรื่องราวของเธอ

ในลำดับขั้นต่อมา คือ เรื่องเกี่ยวกับครอบครัวนายจ้าง เป็นส่วนที่หนัง ‘เล่นท่ายาก’ และทำออกมาได้ดีมากๆ โดยให้ผู้ชมสดับรับรู้ ผ่านเกลโอซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อีกทอดหนึ่ง ด้วยการได้ยินคู่สามีภรรยาที่เป็นนายจ้างทะเลาะเบาะแว้งกันโดยไม่ตั้งใจบ้าง แอบฟังด้วยอารมณ์อยากรู้อยากเห็นบ้าง พบเห็นด้วยตนเองอย่างตรงไปตรงมาบ้าง (บางขณะก็จับใจความได้กระท่อนกระแท่นไม่ครบถ้วน บางขณะก็มีความแจ่มชัด)

ภาพและเสียงมีบทบาทสำคัญในการเล่าเรื่องส่วนนี้ ด้วยวิธีแพนกล้องไปมา และให้ผู้ชมได้ยินเสียงที่อยู่นอกเฟรม

ส่วนสุดท้ายคือ เหตุการณ์ทางสังคม ซึ่งหลักๆ แล้วสะท้อนผ่านการเดินทางไปมายังที่ต่างๆ เมื่อออกนอกบ้านของเกลโอ บทสนทนาที่เธอได้ยินบนโต๊ะอาหารของครอบครัวนายจ้าง

มีฉากหนึ่งที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ทางสังคมเอาไว้ผ่านรายละเอียดปลีกย่อยทางอ้อม แต่ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาทางสังคมได้เด่นชัด ในฉากดังกล่าวเกลโอพร้อมทั้งครอบครัวนายจ้าง เดินทางไปยังบ้านพักหรูหราในชนบทเพื่อร่วมฉลองปีใหม่ เกลโอสนทนากับสาวใช้ในบ้านเจ้าภาพ ซึ่งชี้ชวนให้ดูฝาผนังที่เรียงรายประดับด้วยหัวหมาสตัฟฟ์ พลางอธิบายว่า บางตัวโดนวางยาพิษโดยพวกชาวบ้านที่กำลังมีปัญหาขัดแย้งเรื่องที่ทำกิน (เมื่อประกอบรวมกับฉากไฟไหม้ถัดจากนั้นไม่นาน ผู้ชมก็พอจะคาดคะเนได้ว่าปัญหากระทบกระทั่งระหว่างฝ่ายนายทุนกับชนชั้นล่างนั้นรุนแรงเพียงไร)

เรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม ในช่วงระหว่างปี 1970-1971 มีบทบาทหน้าที่โดยตรงต่อตัวหนังในแง่เป็นการระบุถึงยุคสมัย แต่หนังก็แสดงออกให้เห็นถึงผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อตัวละครเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดก็คือ ตัวละครเฟอร์มิน ซึ่งทำให้เกลโอท้องแล้วทอดทิ้งไม่ใยดี

หนังไม่ได้เล่าระบุชัด แต่ก็ชวนให้คิดและมีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่า การฝึกฝนต่อสู้ที่เฟอร์มินสาธิตให้เกลโอดู รวมถึงเมื่อครั้งที่ฝ่ายหญิงเดินทางไปตามหา และพบว่าเขากำลังฝึกร่วมกับผู้คนจำนวนมาก อาจเป็นการฝึกของกองกำลังลับนอกกฎหมายที่เรียกว่า Los Halcones (The Falcons) ซึ่งมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่นักศึกษาที่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลในช่วงกลางปี 1971

Roma

ความยอดเยี่ยมประการสุดท้ายของ Roma ก็คือ ความวิจิตรบรรจงของงานสร้าง ความสมจริงของเนื้อหาเรื่องราว เมื่อผสมผสานกันแล้ว ยังส่งผลมีประสิทธิภาพอย่างร้ายกาจ ในการทำให้ผู้ชมสั่นสะเทือนสุขโศกคล้อยตามไปกับชะตากรรมของตัวละครได้อย่างวิเศษ

เป็นประสบการณ์การดูหนังที่มีรสชาติเฉพาะตัว เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังของศิลปะภาพยนตร์ จับอกจับใจผมเอามากๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save