fbpx
เจ้าพลัดถิ่น : ผู้พ่ายแพ้ต่อสงครามอนุสาวรีย์ในธรรมศาสตร์

เจ้าพลัดถิ่น : ผู้พ่ายแพ้ต่อสงครามอนุสาวรีย์ในธรรมศาสตร์

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

อนุสาวรีย์กระแสหลัก/กระแสรอง ในธรรมศาสตร์

 

อนุสาวรีย์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในธรรมศาสตร์ก็คือ อนุสาวรีย์ของปรีดี พนมยงค์ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น สถานที่จัดตั้งของอนุสาวรีย์ก็จัดวางอยู่ใกล้บริเวณตึกโดม ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นมุมที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเหยียบย่างเข้ามา โดยทุกปีจะมีพิธีกรรมแสดงการระลึกถึงคุณูปการของท่านเกิดขึ้นเป็นประจำ

นอกจากปรีดีแล้ว ยังมีอนุสาวรีย์ของบุคคลซึ่งถูกสร้างขึ้นในภายหลังและจัดวางอยู่ในพื้นที่สาธารณะของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยทั้งสามคนได้รับการอธิบายว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างสำคัญต่อมหาวิทยาลัย

แต่นอกจากอนุสาวรีย์ของทั้งสามคน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นอนุสาวรีย์กระแสหลักของธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีอนุสาวรีย์ซึ่งถูกเก็บไว้อย่าง ‘เงียบเชียบ’ อีกอย่างน้อย 2 คน โดยจัดวางไว้บริเวณภายในชั้นสองของตึกโดม

ที่กล่าวว่าเงียบเชียบนั้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมิใช่พื้นที่สาธารณะที่ผู้คนจะผ่านไปมาได้อย่างสะดวก หากมิใช่เป็นบุคคลที่ทำงานอยู่ในธรรมศาสตร์ หรือกล่าวให้เจาะจงก็คือทำงานที่ตึกโดม ก็อาจไม่เคยได้มีโอกาสพบเห็นอนุสาวรีย์นี้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีงานพิธีใดๆ เพื่อแสดงการระลึกหรือเฉลิมฉลองต่ออนุสาวรีย์ดังกล่าวแต่อย่างใด

อนุสาวรีย์ทั้งสองนี้ เป็นรูปแกะสลักจากหินอ่อน เป็นรูปร่างท่อนบนในชุดที่แสดงถึงยศฐาบรรดาศักดิ์ระดับสูง หนึ่งในนั้นก็คือ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ ส่วนอีกหนึ่งซึ่งดูจากเค้าโครงหน้าตาก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามิใช่คนไทย ก็คือ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ Rolin Jaequemyns

โดยปกติแล้ว การจัดสร้างอนุสาวรีย์มักจะต้องมาพร้อมกับงานพิธีกรรมเพื่อแสดงการระลึกถึง แต่สำหรับทั้งสองอนุสาวรีย์นี้ กลับเป็นเพียงการตั้งไว้โดยไม่ได้มีพิธีกรรมอันแสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสาวรีย์ของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ที่ไม่เพียงแต่เป็นชาวตะวันตกเท่านั้น หากแต่พิจารณาในแง่มุมที่สัมพันธ์กับธรรมศาสตร์แล้ว ก็แทบจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ แม้แต่น้อย จึงยิ่งนำมาสู่คำถามว่า เพราะเหตุใดอนุสาวรีย์ของทั้งคู่จึงมาปรากฏอยู่ ณ ตึกโดม ของธรรมศาสตร์ได้

 

เจ้าพระยาฝรั่งที่ชื่อ Rolin Jaequemynes

 

เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นหนึ่งในชาวเบลเยียมที่ได้เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ตาม เขามีความแตกต่างจากที่ปรึกษาชาวต่างประเทศคนอื่นๆ เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ถึงระดับชั้น ‘เจ้าพระยา’ และถือเป็นชาวต่างประเทศคนแรกในราชวงศ์จักรีที่ได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นสูงนี้

นอกจากงานในตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไป เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ได้ปฏิบัติงานอีกหลายด้านซึ่งได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งคือ การริเริ่มการศึกษาด้านกฎหมายภายในประเทศ ปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบศาล การเจรจากับฝรั่งเศสในกรณีพิพาท ร.ศ.112 การเสนอโครงการการศึกษาแก่พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ในต่างประเทศ

ด้วยการทำหน้าที่ดังกล่าว ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากชนชั้นนำไทยเป็นอย่างมาก โดยปรากฏให้เห็นจากที่รัชกาลที่ 5 ได้เคยมีพระราชหัตถเลขาถึงท่านว่า “ขอขอบใจอีกส่วนหนึ่งในข้อราชการทั้งปวงที่ท่านได้ประฏิบัติอยู่ในเวลานี้ เป็นประโยชน์แก่ผู้ปกครองของเราเป็นอันมาก”[1] หรือกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ก็มีความเห็นในลักษณะเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ซึ่งสนองตอบรัฐบาลในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้รับความไว้วางใจในการทำหน้าที่ด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่เจ้าเมืองระแหง ได้ให้ความเห็นว่า Rolin Jaequemyns คือ ‘พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ของสยาม’[2]

แม้จะเป็นชาวตะวันตก แต่การทำหน้าที่ของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีผลกระทบต่อชาติตะวันตกที่พยายามขยายอำนาจเข้ามาในสยาม โดยเฉพาะการทำหน้าที่ปกป้องฝ่ายสยามเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นกับฝรั่งเศส จนทำให้ทางฝ่ายฝรั่งเศสประณามว่าเขาเป็น ‘ชาวเบลเยียมที่เกลียดฝรั่งเศส’ (Francophobic Belgian) และเป็น ‘คนชั่วผู้ชาญฉลาดแห่งพระเจ้าแผ่นดิน’[3]

 

กำเนิดอนุสาวรีย์เจ้าฝรั่ง

 

เมื่อมีการริเริ่มจัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาและระบบงานศาลสมัยใหม่ของไทย เมื่อ พ.ศ. 2470 ได้มีการสร้างพระรูปจำหลักของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (หรือที่ถูกยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’) และรูปจำหลักเจ้าพระยาอภัยราชาฯ (ต่อไปจะขอเรียกพระรูปจำหลักและรูปจำหลักนี้ว่า ‘อนุสาวรีย์’) ขนาดเท่าเทียมกัน โดยมีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของตัวจริง สลักจากหินอ่อนสูงราว 1 เมตร ตั้งไว้คู่กัน ณ โรงเรียนกฎหมาย และได้มีการทำพิธีเปิดเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ.2470 โดยรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จมาเปิดอนุสาวรีย์ดังกล่าว

การสร้างอนุสาวรีย์ของกรมหลวงราชบุรีไว้ที่โรงเรียนกฎหมาย อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยาก หากพิจารณาจากบทบาทของพระองค์ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มโรงเรียนแห่งนี้ รวมทั้งมีบทบาทอย่างสำคัญสืบเนื่องต่อมา แต่สำหรับการจัดสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพระยาอภัยราชาฯ กลับมีเหตุผลที่มากไปกว่านั้น แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ที่มีบทบาทในการถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ 5 ให้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น รวมทั้งมีบทบาทในการช่วยจัดระเบียบการศึกษากฎหมาย และร่วมเป็นกรรมการสอบไล่ของโรงเรียนแห่งนี้ในภายหลัง แต่บทบาทดังกล่าวอาจยังไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์ของท่านควบคู่ไปกับกรมหลวงราชบุรี

ทั้งนี้ การจัดสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สยามกำลังเจรจากับต่างประเทศ เพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่ได้กระทำไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2398 เป็นต้นมา ในการเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาเหล่านี้ ฝ่ายสยามจำต้องมีข้อแลกเปลี่ยนบางประการเพื่อให้เกิดความคืบหน้าขึ้น ดังกรณีของอังกฤษหรือฝรั่งเศส ที่สยามอาจต้องจำใจ ‘สูญเสีย’ ดินแดนบางส่วนของตนไป เพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ในกรณีของเบลเยียม เมื่อทางฝ่ายสยามต้องการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา ทางรัฐบาลเบลเยียมก็ได้ตอบสนองโดยมีข้อแลกเปลี่ยน คือ “อยากจะให้พวกไทยเรากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยว่ายังมีความรฤกถึงพระยาอภัยราชา (โรลัง ยัคมัง) ประดิษฐานอยู่” ซึ่งก็หมายถึง “ให้มีรูปเจ้าพระยาอภัยราชาประดิษฐานไว้ที่โรงเรียนกฎหมายสักรูป 1 คู่กับพระรูปพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์พระรูปหนึ่งเพื่อเป็นที่รฤกสืบไป”[4] ด้วยเหตุนี้ อนุสาวรีย์ของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ จึงถูกสร้างขึ้นและตั้งไว้เคียงคู่กับกรมหลวงราชบุรีดังที่กล่าวไป

แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับเบลเยียม ก็ไม่ได้หมายความว่าบทบาทของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ จะไม่มีอยู่ การเสนอชื่อจากทางเบลเยียมและการยอมรับโดยฝ่ายสยาม ย่อมแสดงให้เห็นถึงการยอมรับสถานะของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ต่อวงการกฎหมายไทยได้มิใช่น้อยเช่นกัน

การสร้างอนุสาวรีย์ขนาดเท่าเทียมกันของทั้งสองไว้ ณ โรงเรียนกฎหมาย ย่อมไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากการสะท้อนถึงบทบาทอันสำคัญของทั้งสองคนต่อการบุกเบิกโรงเรียนกฎหมายให้บังเกิดขึ้นในสยาม

 

ความตกต่ำหลังอภิวัฒน์สยาม

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2477 ในการจัดตั้ง มธก. นี้ ได้มีการโอนโรงเรียนกฎหมายไปรวมกับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. มธก. ก็ได้มีการโอนเอาทรัพย์สินและงบประมาณมายัง มธก.[5] อนุสาวรีย์ของกรมหลวงราชบุรี และเจ้าพระยาอภัยราชาฯ จึงได้ตกมาเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่

เมื่ออนุสาวรีย์ทั้งสองได้กลายเป็นสมบัติของ มธก. ก็ได้ถูกเก็บเอาไว้อย่างเงียบเชียบ จนกระทั่งเมื่อคราวครบรอบ 50 ปี ของมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2527 จึงจะมีการ ‘ค้นพบ’ อนุสาวรีย์ดังกล่าวอยู่ที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[6] อันหมายความว่าอนุสาวรีย์ทั้งสองที่เคยตั้งเด่นเป็นสง่าในโรงเรียนกฎหมาย กลับต้องมาอยู่อย่างเงียบเชียบในธรรมศาสตร์เป็นเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

เป็นที่เข้าใจได้ว่าการจัดวางอนุสาวรีย์ทั้งสองที่เปลี่ยนไป เป็นผลมาจากทั้งกรมหลวงราชบุรีและเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ไม่ได้มีความหมายหรือความสำคัญต่อธรรมศาสตร์แต่อย่างใด โรงเรียนกฎหมายที่บุคคลทั้งสองร่วมกันบุกเบิกขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดตั้งระบบการศึกษา เพื่อมุ่งผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัวในสมัยรัชกาลที่ 5  ขณะที่ มธก. ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการปกครองในระบอบใหม่ที่ยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจตนารมณ์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงอยู่ภายใต้แนวความคิดที่ “จำเป็นที่จะต้องเผยแพร่วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้แพร่หลาย เพื่อปวงชนจะได้รับทราบความเป็นไปในบ้านเมืองซึ่งทุกๆ คนเป็นเจ้าของ”[7]

แม้ในบางช่วงเวลาจะมีความพยายามในการสร้าง ‘ความทรงจำใหม่’ เกี่ยวกับธรรมศาสตร์ ด้วยการสร้างคำอธิบายว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากโรงเรียนกฎหมาย จนทำให้เกิดการรับรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกำเนิดของมหาวิทยาลัย  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้สะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมศาสตร์ไว้ว่า “เคยถกเถียงกันว่าธรรมศาสตร์ของเราเกิดขึ้นมาอย่างไร เราเคยละเมอว่าสงสัยกรมหลวงราชบุรีฯ ทรงตั้งมั้ง หรือไม่ก็คงเสด็จในกรมนราธิปฯ นั่นแหละ ก็ทางจุฬาฯ เขายังมีรัชกาลที่ 5 นี่นา”[8] หรือเมื่อนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้ประกาศถึงความเป็นมาของธรรมศาสตร์ ก็ได้ย้อนกลับไปถึง “อดีตของเรานับตั้งแต่ถิ่นกำเนิดโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมในรัชกาลที่ 5”[9]

แม้ความเข้าใจดังกล่าวจะแพร่หลายอยู่ไม่น้อยหลังทศวรรษ 2500  อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ และธรรมศาสตร์ในภายหลัง ทำให้มุมมองในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่ยอมรับกันอีกต่อไปในทางสาธารณะ จึงไม่น่าแปลกใจที่อนุสาวรีย์ทั้งสองจะไม่สามารถถูกตั้งแสดงในพื้นที่สาธารณะของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ เพราะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของธรรมศาสตร์

พื้นที่สาธารณะของธรรมศาสตร์จะอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่มีความสำคัญกับมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจนเท่านั้น เฉกเช่นอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ตั้งอยู่กลางสวนบริเวณตึกโดมที่ท่าพระจันทร์ หรือป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ศูนย์รังสิต

 

เจ้าฝรั่งผู้พลัดถิ่นในความเงียบ

 

เมื่อมีการค้นพบอนุสาวรีย์ทั้งสองเมื่อ พ.ศ.2527  จิตติ ติงศภัทิย์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ (สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย ก็ย่อมสันนิษฐานได้ว่า ต้องมีโอกาสพบเห็นหรือรับรู้เรื่องราวของอนุสาวรีย์ทั้งสองในคราวที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้มาก่อน) ก็ได้แสดงความเห็นว่า ควรจะต้องมีการเปลี่ยนสถานที่จัดวาง เพราะเอาไว้ที่นั่นก็มีใครไม่กี่คนรู้ว่าเป็นรูปใคร ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าท่านมีคุณกับวงการกฎหมาย”

แต่ความเห็นของจิตติ ดูจะไม่ได้รับการตอนสนองแต่อย่างใด เพราะจนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) อนุสาวรีย์ทั้งสองก็ยังคงถูกจัดวางอยู่ที่ตึกโดมต่อไป แม้จะมีความพยายามในการสร้างพิธีกรรมบางประการให้เกิดขึ้น ดังเหตุการณ์ที่คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไปสักการะอนุสาวรีย์แห่งนี้ในวันรพี (7 สิงหาคม 2561) แต่การดำเนินพิธีดังกล่าวก็จำกัดอยู่ในแวดวงแคบๆ และเป็นไปอย่างเงียบเหงาโดยคณาจารย์และนักศึกษาเพียงไม่กี่คน

ในแง่หนึ่ง ความนิ่งเฉยต่อท่าทีของจิตติ ก็สามารถเป็นที่เข้าใจได้โดยไม่ยาก ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปรีดีและธรรมศาสตร์ในช่วงหลังได้สถาปนาอำนาจและชี้ให้เห็นความไม่สัมพันธ์ หรือภาวะไม่ต่อเนื่องกันระหว่างบุคคลทั้งสองต่อคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ย่อมส่งผลให้เป็นการยากที่จะเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ทั้งสองมาไว้ที่คณะแห่งนี้

อีกด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของบิดาแห่งกฎหมายไทย นับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้กับบุคคลอื่นในการมีบทบาทร่วมกับการสร้างระบบการศึกษากฎหมายสมัยใหม่ ก็ส่งผลให้ความรู้ความเข้าใจที่มีต่อบทบาทของชาวต่างชาติในยุคปฏิรูปกฎหมายได้ขาดหายไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง การสร้างระบบกฎหมายเป็นเพียงผลงานของชนชั้นนำไทยเป็นหลักเพียงเท่านั้น นักเรียนกฎหมายในภายหลังจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดจึงจะต้องย้ายอนุสาวรีย์ ‘เจ้าฝรั่ง’ มาอย่างแน่นอน

รูปจำหลักของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ที่ระหกระเหินมาจากโรงเรียนกฎหมาย จะยังคงตั้งอยู่ที่ตึกโดม ท่าพระจันทร์ ต่อไป และจะเป็นอนุสาวรีย์แห่งหนึ่งที่คงอยู่ในความเงียบต่อไป ตราบเท่าที่ความทรงจำต่อธรรมศาสตร์หรือระบบการศึกษากฎหมายของไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง

 


 

เชิงอรรถ

[1] อ้างใน เอ็ม. วอลราเอต์, “ผลงานของชาวเบลเยียมในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19” ใน เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์ (Gustave Rolin – Jaequemyns), (กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2551) หน้า 174

[2] เพิ่งอ้าง, หน้า 149

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 170

[4] หนังสือของพระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ ถึงเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2468

[5] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, “การศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”, ใน 100 ปี โรงเรียนกฎหมาย หนังสือที่ระลึก 100 ปี โรงเรียนกฎหมาย (มปป.) หน้า 77

[6] กำธร เลี้ยงสัจธรรม, “อนุสรณ์สำคัญของนักกฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”, ใน รพี 27 (ไม่ปรากฏปีและสถานที่ตีพิมพ์) หน้า 15

[7] พระดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้าพระยานริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 7 ในวันเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477

[8] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2535) หน้า 433

[9] ประสาทศิลป์ บุญท้าว, หนี้ที่ต้องชำระ”, นิติสารฉบับพิเศษ วันรพี 7 สิงหาคม 2503

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save