สรัลพัชร สรรพคุณ เรื่อง
กมลวรรณ ลาภบุญอุดม ภาพประกอบ
หากมองไปรอบตัวในที่สาธารณะ จะเห็นว่ามีสุนัขและแมวจรจัดอยู่ทั่วถนนจนเป็นภาพที่เคยชินของผู้คนทั้งในย่านชุมชน หรือแม้แต่ย่านใจกลางเมือง
จากการสำรวจของสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์, กรมปศุสัตว์ ในปี 2559 ประเทศไทยมีสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของอยู่จำนวน 1,232,588 ตัวทั่วประเทศ โดยสิ่งที่น่ากังวลของปัญหาสัตว์จรจัดคือผลกระทบต่อตัวสัตว์เองและผลกระทบต่อผู้คน สัตว์จรจัดที่ล้นถนนเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ ทั้งยังถูกทารุณกรรมอยู่บ่อยครั้ง ขณะเดียวกันนั้นสังคมก็ยังต้องเจอกับโรคระบาดจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างสุนัขและแมวที่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ทำให้คนเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากสัตว์ ด้วยการถูกกัด ข่วน หรือถูกน้ำลาย
การทำหมันเป็นหนึ่งเป้าหมายที่หลายหน่วยงามพยายามทำเพื่อควบคุมประชากรสัตว์ เนื่องจากสัตว์มีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วและมีจำนวนการเกิดใหม่ที่สูงมาก เช่น สุนัขตัวเมีย 1 ตัวสามารถมีลูกต่อหนึ่งคอกได้มากถึง 6 ตัว สูงสุดถึง 3 คอก
แม้ภาครัฐจะมีการออกระเบียบจัดการสวัสดิภาพสัตว์โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการกระจายอำนาจไปยังส่วนท้องถิ่นให้เป็นผู้ดูแลสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง รวมถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ให้เงินอุดหนุนในการสร้างสถานสงเคราะห์สัตว์และค่าใช้จ่ายสวัสดิภาพสัตว์ แต่ปัญหาสัตว์จรจัดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป
นอกจากภาครัฐแล้ว ยังมีหลายหน่วยงานในสังคมก็ออกมาช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสัตว์จรจัด หนึ่งในนั้นคือ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ที่ก่อตั้งโดย โรเจอร์ โลหะนันท์
ตลอด 25 ปีในการทำงานของโรเจอร์ เขาช่วยเหลือสัตว์จรจัดตั้งแต่การรักษา ทำหมัน ฉีดวัคซีน นอกจากนั้นยังงทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคประชาชนในด้านกฎหมาย เพื่อสร้างสวัสดิภาพให้กับสัตว์และหาทางออกของปัญหานี้
101 ได้มีโอกาสพูดคุยถึงบทบาทของเขา และอุปสรรคที่เขาเผชิญมาตลอด 25 ปี รวมถึงมุมมองของเขาต่อคำถามสำคัญที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาสัตว์จรจัดได้จริงๆ เสียที
ตอนนี้ภาพรวมของสถานการณ์สัตว์จรจัดเป็นอย่างไร
ถ้าเทียบกับเมื่อ 25 ปีก่อน คนเริ่มเข้าใจปัญหามากขึ้น เมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อนเป็นยุคทองของธุรกิจสัตว์ เริ่มจากคนอยากจะเลี้ยงสัตว์มากขึ้น จึงเกิดธุรกิจเพาะพันธุ์สัตว์ขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการทอดทิ้งสัตว์ไม่ว่าจะจากคนเลี้ยง หรือจากสถานประกอบการ ซึ่งในปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังอยู่
โดยส่วนตัวคิดว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งความสับสนอลหม่าน กล่าวคือมีกฎหมาย มีหน่วยงานกลุ่มรักษ์สัตว์ มีมูลนิธิ และสมาคมเต็มไปหมด แต่ทุกคนพยายามแก้ปัญหาแบบต่างคนต่างทำ ทำให้การทำงานไม่เป็นระบบ สานกันไม่ติด ส่วนของภาครัฐก็ไปเน้นเรื่องจับสุนัขออกจากถนน เอาไปไว้สถานสงเคราะห์ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีสถานสงเคราะห์มากพอ เป็นปัญหาที่กำลังพิพาทกันในตอนนี้
จำนวนของสัตว์จรจัด โดยรวมแล้วก็ไม่ได้ลดลง แต่ควบคุมได้ดีกว่าสมัยก่อน ในสมัยก่อนเขาใช้วิธีฆ่าสัตว์ จึงเกิดความขัดแย้งกันไม่สิ้นสุด สมาคมพิทักษ์สัตว์จึงเริ่มแก้ปัญหาด้วยการทำหมันขึ้น พอราชการเห็นก็หันมาทำตาม แต่ยังทำหมันได้ไม่หมดและยังทำไม่ต่อเนื่อง ทำให้จำนวนสัตว์จรจัดยังคงที่เหมือน 10 ปีก่อน แต่ก็ถือว่าสัตว์จรจัดมีความปลอดภัยมากขึ้น คนเห็นใจมากขึ้น บางส่วนได้รับการทำหมันแล้วก็ไม่คลอดลูกคลอดหลานออกมา
จากประสบการณ์การทำงานเรื่องสัตว์จรจัด สัตว์ประเภทไหนที่รับมือได้ยาก
แมวครับ เพราะแมวสามารถปีนตึกปีหลังคาได้ แต่สุนัขปีนไม่ได้ แต่ก่อนเราจะเห็นสุนัขอยู่บนถนน นอนอยู่ใต้ท้องรถ แต่เดี๋ยวนี้เราเริ่มเห็นแมวแย่งที่สุนัขนอนบนถนน เพราะพื้นที่บนหลังคาเต็มแล้ว
แมวหลายตัวโดนรถทับตาย เพราะแมวเป็นสัตว์ที่ข้ามถนนไม่เก่ง แม่แมวไม่สอนลูกเหมือนกับสุนัข พอลูกโตก็ทิ้ง ทุกวันนี้ผมต้องช่วยตัดขาแมวเพราะโดนรถทับบ่อยมาก
นอกจากนี้วิธีการจับแมวก็ยากกว่าสุนัข ในการจับแมวมีสองวิธีคือ ล่อให้แมวมากินอาหารที่บ้านคุณทุกวัน แล้วตัวอื่นๆ จะตามมากินทีละตัว ทีละตัว หลังจากนั้นก็ปิดประตูตีแมว ไม่ว่าจะด้วยการปิดล้อมหรือทำอย่างไรก็ตามให้แมวกระโดดออกไปไม่ได้ อีกวิธีหนึ่งคือใช้กรงดักแมว แต่กรงดักแมวนั้นดักได้ทีละตัวสองตัวเท่านั้น เพราะถ้าแมวเห็นอีกตัวอยู่ในกรงจะไม่เข้ามา ฉะนั้นแมวจึงเป็นสัตว์ที่จับยากมาก และไม่สามารถใช้ลูกดอกยาสลบได้ หากเราเป่ายาสลบไปที่สุนัข ยาสลบจะใช้เวลา 15 นาทีในการออกฤทธิ์ เป่าเสร็จเราต้องค่อยๆ เดินตามสุนัขจนกว่าจะหลับ เพราะถ้าวิ่งไล่ ยาจะหมดฤทธิ์ แต่เราไม่สามารถเป่ายาสลบกับแมวได้ เพราะมันจะกระโดดขึ้นตึกหายไป สุดท้ายอาจโดนมดกัดจนตายเพราะไปสลบในที่ที่เราตามไปไม่ถึง
นอกจากนี้แมวก็ไม่เข้าหาคนเหมือนสุนัข ต้องล่อจนแมวมาคลอเคลียถึงจะจับได้ แต่ถ้าจะทำหมันแมวก็ต้องล่อออกมาเยอะๆ อย่างประเทศอิตาลี เทศบาลจะจัดสถานที่ไว้ให้คนไปให้อาหารแมว พอมากันเยอะๆ เขาก็เอาแหโยนจับได้ แต่ในบ้านเราทำยากเพราะว่าพื้นที่แคบ
ปัญหาก็คือ อีกหน่อยแมวจรจัดจะมีจำนวนมากกว่าสุนัข 2 เท่า ถ้ายังไม่มีทางจัดการเรื่องวิธีจับ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่
หน่วยงานภาครัฐจัดการปัญหาสัตว์จรจัดอย่างไร อะไรที่เป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานของภาครัฐ และปัญหาความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน
ตอนนี้มีหน่วยงานมารับผิดชอบแล้วหลายหน่วยงาน ในภาครัฐคือ กรมปศุสัตว์ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลองค์การปกครองส่วนท้องท้องถิ่น ไม่ว่าจะเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และยังมีกระทรวงสาธารณสุขด้วย แต่ภาครัฐและหน่วยงานเอกชนทั้งหมดยังต่างคนต่างทำ ไม่มีการคุยกันว่าจะทำงานให้สอดคล้องไปด้วยกันอย่างไร ปัญหานี้อยู่มานานตั้งแต่ผมเริ่มทำเมื่อ 25 ปีก่อน จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม
โดยมากภาคเอกชนมักรองรับภาระแทนภาครัฐ โดยเฉพาะภาระของกรมปศุสัตว์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ปี 2557 กำหนดว่า กรมปศุสัตว์ต้องมีหน้าที่จัดสรรสวัสดิภาพให้สัตว์จรจัดรวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งแต่เดิมกรมปศุสัตว์ ทำหน้าที่ดูแลวัวควาย การปลูกไร่ทำนา เขาจึงไม่ต้องการเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาสัตว์จรจัด และยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เขาไม่มีแม้แต่โรงเรือนหรือสถานสงเคราะห์สัตว์เป็นของตัวเอง และไม่มีงบที่จะไปสร้างสถานสงเคราะห์ พอไม่มีใจ ไม่มีเงิน มันก็ทำไม่ได้
ราชการมีมุมมืดอยู่เยอะมาก เช่น ระบบเครือญาติ มีการจ้างเจ้าหน้าที่ที่เป็นญาติกับเจ้าหน้าที่ประจำ โดยที่คนกลุ่มนี้อาจไม่ได้มีใจรักสัตว์ แล้วเขาจะไปดูแลสัตว์ได้ยังไง อีกปัญหาคือการมีเรื่องเงินและผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง หลายหน่วยงานพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เขาต้องการงบประมาณ แต่ถ้าปัญหาหมด ก็จะไม่ได้งบประมาณ จึงปล่อยให้มีปัญหาต่อไป
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในภาครัฐอย่างเดียว ในภาคประชาชนก็เช่นกัน บางกลุ่มตั้งขึ้นมาด้วยเจตนาดี แต่พอมีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องก็ทะเลาะจนแยกกลุ่มกันไป สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยจึงพยายามไม่เน้นเรื่องเงินเป็นหลัก ไม่ทำศูนย์พักพิงหรือสถานสงเคราะห์ แต่จะเน้นความร่วมมือ เข้าไปช่วยเสริมและสร้างเป็นระบบให้ภาครัฐและเอกชนมาร่วมมือกัน
การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนก็เป็นปัญหาใหญ่ ภาคประชาชนบางส่วนคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด มองข้าราชการว่าไม่รักสัตว์จริง ทำงานกินเงินเดือนอย่างเดียว รัฐก็มองว่าคนรักสัตว์คุยไม่รู้เรื่อง ไม่มีเหตุผล เรียกว่าอยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจกัน ทำงานไม่เป็นระบบและไม่ต่อเนื่อง เป็นเหตุผลที่การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดยังไม่สำเร็จ
ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดอย่างไร
ตอนนี้มีสถานสงเคราะห์สัตว์หรือว่าศูนย์พักพิงเยอะมาก เกือบ 99% เป็นของภาคประชาชนทั้งหมด แต่ปัญหาคือ สถานสงเคราะห์ของภาคประชาชนยังไม่ได้มาตรฐาน จากปัญหาเรื่องเงินไม่พอ รวมถึงความใจอ่อนที่เอาแต่รับเลี้ยง ไม่ดูกำลังของตัวเอง
สถานสงเคราะห์มีสองลักษณะคือ สถานสงเคราะห์รายย่อยที่เป็นบ้านหลังเล็กๆ หรือเช่าที่ทางเป็นส่วนไว้เพื่อเก็บสัตว์รวมกัน เพราะกลัวสุนัขโดนรถชน โดนฆ่า โดนทำร้าย และสถานสงเคราะห์รายใหญ่ที่ตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ หรือสมาคม แต่ทั้งสองแบบจะมีปัญหาเดียวกันคือ ยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะยังไม่มีทุนพอที่จะสร้างให้เป็นมาตรฐานได้ และไปเน้นเรื่องการกินอยู่ของสัตว์มากกว่า
มาตรฐานของสถานสงเคราะห์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
ทางสมาคมมีการแปลเอกสารจากต่างประเทศคือ มาตรฐานสถานสงเคราะห์สากล ให้หน่วยราชการ หน่วยเอกชน หรือประชาชนที่ต้องการสร้างมาตรฐานที่ดี ซึ่งต้องทำให้สถานที่สะอาด ถูกอนามัย ปริมาณพนักงานต้องมากพอ ไม่ใช่มีแค่ 2 ตายายที่ดูแลหมา 500 ตัว แค่อาบน้ำให้หมาคุณก็ทำไม่ได้แล้ว ซึ่งจะกลายเป็นการทารุณสัตว์อีก บางตัวก็ป่วยแล้วไม่มีเงินรักษา
เรื่องสวัสดิภาพสัตว์เป็นเรื่องของมืออาชีพ สิ่งพูดมาตลอดคืออยากให้นักสงเคราะห์สัตว์ คนรักสัตว์ รวมถึงภาครัฐใช้วิธีการแบบต่างประเทศ คือการให้คนรักสัตว์เข้าไปเป็นอาสาสมัครขององค์กรที่รัฐจัดตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือสัตว์ได้เหมือนกัน นอกเหนือจากนั้นประชาชนก็สามารถตรวจสอบได้ว่าองค์กรนั้นมีความโปร่งใสหรือไม่ด้วย แต่ในประเทศเราภาคประชาชนเลือกจะเป็นผู้รับเลี้ยง ระดมทุนเอง และรณรงค์ให้คนช่วยเหลือโดยทำให้ดูน่าสงสาร จนบางทีประชาชนที่อยากช่วยเหลือก็ไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะคนไทยชอบทำบุญกับความน่าสงสาร แต่หากเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือผ่านองค์กรซึ่งมีที่อยู่ชัดเจน ก็จะสามารถตรวจสอบได้ง่าย
ผมพูดมาตลอดว่าทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนมีคนดีคนเลวปะปนกันหมดกัน แต่ก็ต้องมีคนเข้าไปตรวจสอบ และประชาชนนี่แหละที่จะเป็นผู้ที่ตรวจสอบ
การทำฟาร์มเพาะสัตว์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสัตว์จรจัด ปัจจุบันมีการจัดการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ปัญหาคือ ใครๆ ก็เพาะสัตว์ได้ แต่ไม่ได้มีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงที่ดี พอขายไม่ออกก็เอาไปปล่อย ถึงได้มีหมาลูกครึ่งเต็มประเทศ มีหมาจากฟาร์มเพาะที่อดอยากและเป็นโรคจำนวนมาก โชคดีที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสัตว์เลี้ยง จึงสั่งให้กรมปศุสัตว์ร่างระเบียบฟาร์มสุนัขกับระเบียบฟาร์มแมว เพื่อสร้างมาตรฐานให้ธุรกิจและส่งผลต่อความปลอดภัยของสัตว์ คนที่ยังทำธุรกิจต่อไปได้คือคนที่ทำฟาร์มอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจคิดว่า คู่แข่งที่ไม่สามารถทำตามมาตรฐานก็จะถูกกำจัดออกไปด้วย
ระเบียบนี้กำลังอยู่ขั้นตอนในการร่าง แต่ก็ยังต้องผ่านอีกหลายด่าน อุปสรรคอย่างหนึ่งที่พบคือ กรรมการบางส่วนไม่อยากให้มีกฎหมายขึ้นมา เพราะไปเกี่ยวข้องกับกับนักธุรกิจ
แนวทางแก้ปัญหาสัตว์จรจัดอย่างหนึ่งคือการทำ ‘สุนัขชุมชน’ หรือที่สุนัขที่คนในชุมชนร่วมกันดูแลช่วยเหลือ แนวทางนี้เป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาเรื่องสุนัขจรจัดได้จริงหรือไม่
สุนัขชุมชนเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสุนัขบนถนน ผมเป็นผู้ที่เสนอเรื่องสุนัขชุมชนเองในสมัย นายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุผลที่ว่า เราไม่สามารถเก็บสุนัขจรจัดกว่าแสนตัวเข้าศูนย์พักพิงทั้งหมดได้ เพราะไม่มีศูนย์พักพิงมากพอ ฉะนั้นก็ต้องเก็บเฉพาะสุนัขที่มีปัญหา เช่น สุนัขที่อยู่บนถนนไม่ได้ สุนัขป่วย พิการ ก้าวร้าว ดุ ต้องเอาเข้าสถานสงเคราะห์ สุนัขที่เหลือก็ให้คนในชุมชนเป็นผู้ดูแลในการทำหมัน ฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำโรค โดยที่คนในชุมชนยังสามารถเรียกให้หน่วยงานมาจับสัตว์ที่ไปทำหมันหรือฉีดวัคซีนได้
ความคิดเรื่องสุนัขชุมชนเป็นเรื่องที่ดี แต่ราชการบอกว่าทำไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนว่า เขามีหน้าที่กำจัดไม่ให้สุนัขจรจัดอยู่บนถนน กำจัดสุนัขที่ไม่มีเจ้าของต้องออกไป และแม้ว่าตอนนี้พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์จะระบุว่าห้ามทิ้งสัตว์แล้ว แต่ก็ไม่ได้บังคับใช้ คนก็ยังกล้าทิ้งอยู่ และสุนัขจรจัดก็ยังทำหมันไม่หมด
ภาครัฐอยากจะใช้สูตรเบ็ดเสร็จโดยการจับสัตว์เข้าศูนย์พักพิงให้หมด แต่ศูนย์พักพิงของรัฐหลายแห่งก็ยังสร้างไม่เสร็จ ต่อให้สร้างเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็เห็นๆ กันอยู่ว่าศูนย์ต่างๆ ของเทศบาลทุกแห่งมีข้อพิพาทหมด สัตว์อยู่แล้วอดตาย เพราะคนที่ดูแลศูนย์พักพิงไม่ได้ตั้งใจดูแล เหมือนเอาสุนัขไปเข้าคุกแล้วปล่อยให้ตายในนั้น
ปัจจุบันมีความพยายามกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นเพื่อให้มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย และประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร เห็นด้วยหรือไม่
ผมเห็นด้วยเรื่องการกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจให้กับคนที่ไม่อยากทำ ไม่พร้อม หรือการหลับหูหลับตากระจายอำนาจ ผมไม่เห็นด้วย เหมือนราชการไม่อยากทำ แล้วยังกระจายอำนาจไปให้หน่วยราชการที่ไม่ต้องการอีก ซึ่งท้องถิ่นได้บอกชัดเจนว่า หน้าที่เขาคือการดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุข สร้างถนนหนทางอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน ไม่ใช่ดูแลความสะดวกให้สุนัขจรจัด จริงๆ แล้วส่วนกลางควรจะต้องเป็นคนออกกติกา และให้ท้องถิ่นเป็นผู้ช่วย แต่ที่ประกาศออกมาคือการโยนภาระให้ท้องถิ่นไปออกกติกากันเอง ทั้งเรื่องจัดสวัสดิภาพและการตรวจสอบการทารุณสัตว์ ลำพังแค่แบ่งงบทำถนนพวกเขาก็ไม่มีเวลาแล้ว
อย่างเรื่องการขึ้นทะเบียนสัตว์ องค์กรท้องถิ่นจะทำไหวไหม เพราะคุณใช้คำว่าทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ได้ใช้คำว่าทะเบียนสุนัข สิ่งที่จะได้รับมาคือไก่ นก หนู ฯลฯ และสัตว์ทุกชนิดที่มากจาก พ.ร.บ.การป้องกันทารุณกรรมสัตว์ หากจะให้ท้องถิ่นดูแลเรื่องลงทะเบียนสุนัขก็คงจะดีกว่าหน่อย แต่ก็ไม่เห็นด้วยอยู่ดี
ปัญหาเกิดขึ้น เพราะกรมปศุสัตว์ไม่อยากทำงานนี้จึงโยนไปให้ส่วนท้องถิ่น คนหนึ่งไม่อยากได้งาน คนหนึ่งอยากได้เงินแต่ไม่อยากได้งานเหมือนกัน งานมันจึงไม่มีทางเดิน และจะเกิดเป็นความวุ่นวายกันมากขึ้นไปอีก
การประกาศให้ขึ้นทะเบียนแมว สุนัข ของรัฐบาล จริงๆ แล้วเป็นทางออกที่ดีหรือไม่
การขึ้นทะเบียนสัตว์ เป็นการขึ้นสำหรับสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ และจากฟาร์มเพาะ ส่วนสัตว์ที่อยู่สถานสงเคราะห์ ผมคิดว่าต้องขึ้นทะเบียนให้รู้ว่าสถานสงเคราะห์ที่นั้นๆ มีสัตว์เยอะเกินไปหรือไม่ มีการยกสุนัขให้ใครไป หรือระบายสัตว์ออกไปเท่าไหร่บ้าง ซึ่งการขึ้นทะเบียนต้องเริ่มทำตั้งแต่สุนัขเกิด แต่ในกรณีของสุนัขในสถานสงเคราะห์ที่ไม่รู้ว่าเกิดตอนไหน จุดเกิดของมันก็ควรเป็นที่นั่น
รัฐมีประกาศออกมาเพียงสองสามบรรทัดว่า ต่อไปเจ้าของต้องนำสุนัขต้องขึ้นทะเบียน พร้อมบอกว่าต้องเสียเงินเท่าไหร่ หลายคนพอรู้ว่าต้องเสียเงินก็ไม่ไปขึ้นทะเบียนแล้ว สำหรับผมรัฐจำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนให้ประชาชนทราบ บอกจุดประสงค์ว่าเพื่อแก้ปัญหาสุนัขจรจัดแล้ว หากสุนัขที่มีเจ้าของจะได้รับการขึ้นทะเบียน ต่อไปก็จะรู้ว่าใครปล่อยสุนัข หากบอกก่อนแล้วค่อยประกาศมาตรการ ผมคิดว่าประชาชนอาจจะยอมรับเรื่องค่าใช้จ่ายได้มากกว่านี้
พอเกิดเรื่องแล้ว สุดท้ายก็ต้องพับประกาศเก็บไป ไม่มีใครกล้าเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ปัญหานี้เกิดจากขาดการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง แต่ผมไม่เสียใจ เพราะเนื้อหาด้านอื่นๆ มีการบิดเบือนจากที่เราศึกษา เขากำลังจะโยนภาระทั้งหมดไปให้ท้องถิ่นทำ ทุกอย่างเป็นเรื่องของผลประโยชน์ในท้องถิ่นกับนักการเมือง ซึ่งควรจะให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้กำกับดูแล ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาของระบบการเมือง ระบบราชการแบบไทยๆ ซึ่งไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา เอื้อแต่การรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มเท่านั้น
หากเราต้องการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดให้ได้ในระยะยาว ควรจะมีแนวทางอย่างไร บทบาทของทั้งภาครัฐและประชาชนควรเป็นอย่างไร
เราต้องกลับไปดูประเทศที่ประสบความสำเร็จว่าเขาทำอย่างไร ส่วนใหญ่อยู่ในแถบตะวันตก ทวีปยุโรป ที่สร้างระบบให้เอื้อต่อประโยชน์สาธารณะ และให้เอกชนเข้ามามีบทบาท รัฐไม่ได้ทำเองเพราะ 1.ภาพลักษณ์ของภาครัฐไม่ดี ประชาชนไม่ไว้ใจ 2.บุคลากรไม่มีใจ ทำให้งานก็ออกมาไม่ดี เกิดช่องโหว่มากมายอย่างที่เราก็เป็นอยู่ 3.การทำงานต้องอาศัยคนที่เป็นกลาง ตรวจสอบได้ เขาจึงให้องค์กรเอกชนทำ ทั้งสถานสงเคราะห์ และตรวจสอบสวัสดิภาพสัตว์ โดยราชการมีหน้าที่ควบคุม ให้การสนับสนุนด้านการเงิน ถ้าทำไม่ดีก็ดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากเป็นราชการทำเองมันตรวจสอบไม่ได้ NGO ใช้เงินตัวเองก็ตรวจสอบไม่ได้
อำนาจหน้าที่ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน เรามีแต่ใจ และมีโซเชียลอยู่บ้างจึงสามารถชอความสนับสนุนได้ ทุกครั้งที่มีการประท้วงหรือมีกระแส ราชการก็ส่งคนออกมารับหน้าว่าจะจัดการแก้ไข เดี๋ยวจะตรวจสอบ แล้วเรื่องก็เงียบ
ถ้าต้องการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดให้จบจริงๆ ก็ต้องให้เรื่องนี้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของประชาชนด้วย แล้วราชการเป็นผู้กำกับดูแล นั่นคือทางออกที่ดีที่สุด ไม่เกิน 5 ปี 10 ปีปัญหาก็หมด
ผมต้องอยู่กับปัญหานี้มา 25 ปี บางคนอยู่มานานกว่า อยู่จนตายไปแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าคุณไม่เริ่มทำในสิ่งที่ถูกเสียที 35 ปีก่อนประเทศเราเคยใช้วิธีวางยาเบื่อกับสุนัข ปรากฏว่าทำยังไงสุนัขจรจัดก็ไม่หมด เพราะสุนัขยังผสมพันธุ์ได้อยู่ แต่พอหันมาทำหมันก็ควบคุมประชากรได้ แถมควบคุมโรคได้ด้วยซ้ำ เพราะจับมาทำหมันแล้วก็ฉีดวัคซีนไปพร้อมกันเลย นอกจากนี้ก็มีการสร้างความรู้สร้างความเข้าใจให้สังคมเพื่อลดความขัดแย้งไปพร้อมกันได้ ซึ่งก็เห็นแล้วว่า พอทำสิ่งที่ถูก เป็นวิธีตามแบบสากลมันได้ผล แต่ถ้าคุณยึดติดกับผลประโยชน์ขององค์กรของส่วนตัวทำยังไงก็ไม่ได้ผล