fbpx

โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า? คุยกับ ‘ครูดา’ – รออีด๊ะ หะสะเมาะ

บนถนนสู่ความความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากการปูทางเรียกร้องสิทธิและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากคนในสังคมทั่วไปแล้ว อีกหนึ่งเส้นทางสำคัญคือความเท่าเทียมทางเพศในสถาบันการศึกษา

โรงเรียน มหาวิทยาลัย คืออากาศที่ห้อมล้อมมนุษย์ในระหว่างการเติบโต เช่นนั้นแล้ว หากสถานศึกษาปฏิเสธที่จะโอบรับความแตกต่าง หากสถานศึกษาไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะนิยามว่าสังคมไทยของเราเป็นสังคมที่เท่าเทียม เป็นไปไม่ได้ที่โลกการศึกษาจะมอบลมหายใจที่ดีสำหรับทุกคน

รูปธรรมของความเท่าเทียมทางเพศในสถาบันการศึกษาคือภาพที่ควรปรากฏชัดในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา เลยไปถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในหนังสือเรียน – นี่คือสิ่งที่ ครูดา – รออีด๊ะ หะสะเมาะ ครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย้ำกับเรา

ครูดาคือผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เกิดในครอบครัวมุสลิม เธอเติบโตโดยเผชิญความเปราะบางเกี่ยวกับมุมมองของศาสนาอิสลามที่มีต่อเพศสภาพของเธอ และในวันที่ก้าวสู่รั้วการศึกษาในฐานะครู เธอคือคนคนหนึ่งที่มองเห็นความไม่เข้าใจคละคลุ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมการศึกษาไทย

101 พาคุณสำรวจมิติความหลากหลายทางเพศในสิ่งแวดล้อมการศึกษา ผ่านสายตาของผู้มีความหลากหลายทางเพศ — ครูของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ — มนุษย์คนหนึ่งในสังคมไทย

หากมองผ่านมุมมองชีวิตประจำวัน ในฐานะที่คุณเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ประกอบอาชีพครู คุณคิดว่าสังคมเรามีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศขนาดไหน

เอาเข้าจริงๆ แล้ว สังคมไทยเหมือนจะยอมรับและรู้ว่าความหลากหลายทางเพศคืออะไร แต่ประสบการณ์ที่เราได้รับทั้งด้านการทำงานและชีวิตประจำวัน  เราคิดว่าสังคมไทยยังต้องเรียนรู้เรื่องความหลากหลายอีกเยอะ คือไม่ใช่แค่รู้จัก แต่ต้องทำความเข้าใจจริงๆ ว่าคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายเขาเป็นอย่างไร และยังขาดสิทธิอะไรบ้าง

เอาง่ายๆ ในระบบโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียนก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับอคติและความไม่เข้าใจในความหลากหลายทางเพศทั้งนั้น ที่เราเคยเจอเช่น นักเรียนบางคนไม่กล้าแสดงตัวตนเพราะถูกเพื่อนล้อ แต่อีกเหตุผลสำคัญคือเรื่องทางบ้าน ผู้ปกครองยังไม่เปิดรับ และตัวนักเรียนก็ไม่มั่นใจว่า ถูกไหมที่เขาจะแสดงตัวตนของเขาออกมา

ส่วนตัวเองในฐานะครู ก็เคยเจอลักษณะที่ว่า โรงเรียนเหมือนจะยอมรับให้เรามาทำงานได้ ให้ครูที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศพูด “ค่ะ” หรือ “ครับ” ตามอัตลักษณ์ที่เขาอยากแสดงออกได้ แต่ในเชิงปฏิบัติจริงๆ อย่างการออกนโยบายเกี่ยวกับการแต่งกายหรือกิจกรรมต่างๆ ก็ยังสะท้อนว่าเขาอาจยังไม่ได้ยอมรับหรือเข้าใจจริงๆ เช่น โรงเรียนจะมีกิจกรรมอนุรักษ์ความเป็นไทยที่ให้ครูแต่งตัวเพื่อแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เขาจะแจ้งว่าให้ครูทั้งผู้ชายและผู้หญิงแต่งตัวให้เต็มยศ แต่เขาลืมไปว่าในโรงเรียนไม่ได้มีแค่ครูที่เป็นชายและหญิงนะ เหมือนเขาไม่ได้คิดเผื่อเลยว่า แล้วคนที่ไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงล่ะ จะแต่งตัวอย่างไร เขาตัดสินเลยว่าถ้ามีเพศกำเนิดเป็นหญิง ก็ต้องใส่กระโปรงเท่านั้น

มันเป็นความรู้สึกที่แย่นะคะ เวลาเรามองออกไปแล้วเห็นคนอื่นสามารถแต่งตัวได้อย่างเต็มรูปแบบตามเพศสภาพของเขา แต่ว่าเราไม่สามารถทำได้ บางครั้งโรงเรียนก็ไม่อนุญาตให้เราแต่งตัวแบบเจอกันคนละครึ่งทางด้วยซ้ำ เช่น ในกิจกรรมอนุรักษ์ความเป็นไทย เราจะใส่กระโปรงสีดำและเสื้อแบบไทยด้านบนก็ไม่ได้ จะต้องแต่งชุดไทยแบบผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งทำให้เราลำบากใจมาก

การแต่งตัวอย่างที่ไม่เป็นตัวคุณ หรือไม่ตรงกับเพศสภาพ มีผลกับคุณยังไงบ้าง

อันดับแรกคือ ไม่ภูมิใจในตัวเองเลย ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย เวลาเราสอนนักเรียน เราจะบอกเขาให้ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เราจะบอกกับเขาเสมอว่าหนูไม่แปลก เวลามีใครมาพูดอะไร จงภูมิใจในสิ่งที่หนูเป็น จริงๆ เด็กที่เป็น LGBTQ จะเข้าหาเราตลอด เพราะเขาต้องการใครสักคนที่ซัปพอร์ตในสิ่งที่เขาเป็น และเขารู้สึกปลอดภัยกับเรา หลายครั้งที่เราสังเกตเห็นว่าเขาผิดหวังจากสังคมรอบข้าง เราก็จะพยายามย้ำกับเขาว่าให้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็นและจงภูมิใจกับมัน สิ่งนี้เป็นใจความสำคัญที่เราจะพยายามพูดเสมอ แม้กระทั่งในงานปัจฉิมนิเทศ

แต่ปัญหาคือในเมื่อเรายังเจอปัญหาความไม่เท่าเทียม หรือบางครั้งที่เราต้องแต่งกายอย่างที่ไม่เป็นตัวเรา เราเองยังไม่ภูมิใจในตัวเองเลย เท่ากับว่าเราก็พูดไม่เต็มปากกับเด็ก เพราะรู้สึกว่ายังไม่ได้สู้ในสิทธิของเราอย่างเต็มที่ นี่คือผลกระทบอย่างหนึ่ง

คุณคิดสภาพแวดล้อมในโลกการศึกษาเป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศไหม

ล่าสุดที่เพิ่งเจอเลยคือ เราไปอ่านหนังสือวิชาสุขศึกษาของนักเรียน ม.2 อ่านแล้วก็ได้แต่ตั้งคำถามว่าผลิตมาได้อย่างไร เพราะในบทเรียนเกี่ยวกับเพศ มีเนื้อหาเรื่องวิธีการแก้ปัญหาสำหรับบุคคลที่เบี่ยงเบนทางเพศ คือยังมีการใช้คำที่ตีตราอยู่ หลังจากอ่านเจอเราก็ไปแลกเปลี่ยนกับครูที่สอนวิชานั้นว่า เวลาเขาต้องสอนเรื่องนี้ เขาสอนอย่างไร และพยายามทำความเข้าใจกับเขาว่าประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมันไปไกลกว่านี้มากนะ อย่ายึดติดกับเนื้อหาที่กระทรวงให้มาจนเกินไปนะ เราเป็นครูเราต้องอัปเดตตัวเราเองด้วยตลอดเวลา เราไม่อยากให้เขาไปตอกย้ำเนื้อหาแบบนี้กับนักเรียน แค่เพราะเขาต้องสอนไปให้มันเสร็จๆ เพราะเด็กที่ได้รับเนื้อหาแบบนี้ ก็จะถูกปลูกฝังความคิดแบบนี้ไปอีกนาน หรือเวลาตัวเราเองมีโอกาสคุยกับเด็ก เราก็จะพูดตลอด และจะไม่ปล่อยผ่านเรื่องที่อาจทำให้เขาตีตราตัวเอง

ส่วนเรื่องระหว่างนักเรียน เราจะไม่ค่อยเจอการกลั่นแกล้งอย่างชัดเจน อาจเพราะเด็กนักเรียนรู้ว่าเราซีเรียสและไม่ชอบให้มีการเหยียดเพศ ล้อกัน หรือบุลลีกัน เด็กจะรู้ว่าหากมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น เราจะโกรธ แต่เราก็จะเจอวิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นอย่างเนียนๆ เช่น นักเรียนผู้ชายคนหนึ่งของเราที่ปกติเป็นคนร่าเริงมาก เขาดูเงียบๆ ไป เราเลยสอบถามว่าเป็นอะไร เกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าเพื่อนของเขาเป็นคนตอบ เพื่อนพูดว่า ‘มันอกหักครู’ โดยที่เจ้าตัวพยายามบอกว่า ‘ไม่มีอะไรค่ะ’ แต่เพื่อนคนเดิมก็แทรกขึ้นมาว่า ‘เขาไม่เอามึงหรอก เขาไม่ชอบหำ’ คำเหล่านี้ถึงแม้ไม่ใช่คำด่าทอแรงๆ แต่เป็นแผลลึกกว่านะ ตัวเราเองก็เคยเจอมาเหมือนกัน มันอาจไม่ใช่การบุลลีที่หนักหนา แต่มันกรีดความรู้สึก สุดท้ายเราก็เรียกนักเรียนทั้งคู่มาคุยหลังเลิกคลาส เรียกมาทีละคน ไม่ได้มาพร้อมกัน แต่พยายามปรับความเข้าใจกับทั้งคู่ในเรื่องความหลากหลายทางเพศและวิธีปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพ

คุณเคยรู้สึกเหนื่อยไหม เพราะในขณะที่คุณพยายามจะอธิบายเรื่องความแตกต่างหลากหลาย แต่ในแบบเรียนก็ยังปรากฏคำที่มีอคติ และยังมีเนื้อหาที่แบ่งเพศออกเป็นแค่เพศชายเพศหญิง

ไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยกายอะไรค่ะ แต่ตั้งคำถามตลอดว่า ทำไมผู้ที่เกี่ยวข้องหรือรัฐไม่พยายามทำให้เนื้อหามันอัปเดตเสียที โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่เรายังรู้สึกว่ามีคนน้อยจังที่พยายามทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่อง LGBTQ

แต่ไม่ว่ายังไง ตัวเราเองก็จะคอยสื่อสารเรื่องความแตกต่างหลากหลายกับนักเรียน และจะทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอ เพราะทุกวันนี้เราเริ่มเห็นผลของความพยายามในการสื่อสารเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ เท่าที่สัมผัสได้ เราเห็นว่านักเรียนเริ่มให้เกียรติกันมากขึ้นในเรื่องเพศ แต่การทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นก็ยังต้องสื่อสารอยู่เรื่อยๆ ตัวเราคนเดียวก็เป็นเพียงเสียงเล็กๆ เท่านั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่มาก แต่ก็จะพยายามทำในสิ่งเล็กๆ นี้ต่อไปให้ดีที่สุด

คุณเป็นหนึ่งคนที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคอันทับซ้อน นอกจากความไม่เข้าใจในสังคมแล้ว ยังผ่านประสบการณ์การเป็น LGBTQ ในศาสนาอิสลามด้วย อยากให้คุณแชร์ว่าคุณผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้อย่างไร

ก็ผ่านมาอย่างที่มันเป็นเลยค่ะ สุดท้ายแล้วชีวิตเราก็จะพาเราออกจากจุดที่มีอุปสรรคจนได้ อยู่ที่เราเลือกว่าจะศิโรราบยอมจำนนให้มัน หรือเลือกความเป็นตัวเอง

ถ้ามองในกรอบแนวคิดของสังคมไทย อาจจะดูเห็นแก่ตัว หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมเราเลือกเป็นตัวเอง ทำไมไม่เลือกครอบครัว แต่การที่เราจะต้องอยู่ตรงนั้นตลอดชีวิตโดยที่ไม่ได้เป็นตัวของเราเอง มันทรมานมากนะคะ ตอนแรกๆ เราก็รู้สึกผิด แต่พอเราทำความเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น พอปล่อยวางและลองมองอะไรกว้างๆ ขึ้น สุดท้ายแล้วเราก็พบว่าศาสนาไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต และเราไม่อาจกำหนดได้ว่าครอบครัวจะเป็นคนที่คอยซัปพอร์ตเราในเรื่องนี้หรือเปล่า ในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะอยู่เคียงข้าง ยอมรับ และสนับสนุนกันในเรื่องเพศ

ถามว่าเจ็บปวดไหม แน่นอน แต่เราก็ผ่านจุดนั้นมาโดยที่ทำความเข้าใจกับตัวเอง เราตอบตัวเองอย่างชัดเจนว่าสุดท้ายเราต้องการอะไร เราอยู่จุดไหนได้ อยู่จุดไหนไม่ได้ ถ้าอยู่ไม่ได้เราก็แค่เดินออกมา ต่อให้มันยากอย่างไร แต่ตัวตนและสมองของเราจะบอกเอง

ชีวิตเราค่อนข้างซับซ้อน มีเรื่องของศาสนาเข้ามาเป็นเงื่อนไข เราก็อยู่กับความซับซ้อนนี้จนตกตะกอนว่า จริงๆ ศาสนานี่แหละที่ทำให้เรากับครอบครัวมีปัญหากัน พูดอีกอย่างคือ ประเด็นเรื่องเพศจะมีปัญหาแน่ในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลามแบบเข้มข้น ถ้าเราลองเอาตัวเองไปอยู่ในบริบทแบบครอบครัวคนไทยพุทธ หรือครอบครัวที่ไม่ได้เข้มงวดเรื่องศาสนา อาจจะไม่เจอปัญหาเหล่านี้เลย เราอาจจะสามารถกลับบ้านได้ปกติ เราอาจจะสามารถกอดพ่อแม่ บอกรักพ่อแม่ได้เหมือนคนอื่น แต่สำหรับชีวิตเรา ศาสนากลายเป็นช่องว่างเป็นกำแพงที่หนามากสำหรับตัวเราและครอบครัว นี่คือความจริงที่เรายอมรับและก้าวต่อ

แต่ต้องบอกว่าครอบครัวอิสลามไม่ได้เป็นเหมือนกันทุกครอบครัว มีหลายครอบครัวที่เปิดรับ เราเคยเห็นคนที่ที่มีลูกเป็น LGBTQ แล้วอยู่กันได้ ประนีประนอมกันได้ ลูกสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ในบ้าน สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนว่าสังคมเริ่มเปลี่ยนไป ในสังคมอิสลามเริ่มมีการอนุญาตให้เป็นตัวเองได้มากขึ้น อาจจะอนุญาตให้คุณแต่งตัวตามเพศสภาพ ไม่สวมฮิญาบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อาจยังไม่พ้นจากกรอบที่บอกว่าสุดท้ายปลายทางชีวิตคุณต้องแต่งงานกับผู้ชายหรือผู้หญิง สุดท้ายแล้วคุณต้องกลับไปเป็นมุสลิมะห์ที่ดีของครอบครัว ของสามี

หลายคนรักในความเป็นมุสลิม แต่ขณะเดียวกันเขาก็เป็น LGBTQ ด้วย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนตกอยู่ในความทุกข์และสับสน คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

พูดอย่างตรงไปตรงมาเลยนะคะ มันค่อนข้างเจ็บปวดมากเลย แต่ถ้ายึดตามหลักศาสนามันเหมือนกับว่าคุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คุณไม่สามารถเป็น LGBTQ พร้อมกับการเป็นมุสลิมที่ดีได้ โอเค ในทางสังคม คุณสามารถเลือกตีความศาสนาให้เหมาะกับชีวิตของคุณได้ แต่ในทางหลักศาสนา เรารู้อยู่แก่ใจว่าศาสนาไม่อนุญาตให้เราเป็น LGBTQ คนเป็น LGBTQ ไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้ ไม่แม้แต่จะได้กลิ่นอายของสวรรค์ด้วยซ้ำ คุณไม่มีข้อต่อรองเลย เพราะฉะนั้นคนมุสลิมหลากคนจะตกอยู่ในจุดที่ต้องเลือกว่าจะเป็นตัวของตัวเองหรือคุณจะยอมจำนน เชื่อว่ามีหลายคนที่พยายามบอกตัวเองว่าอย่างน้อยๆ เราก็ละหมาดนะ เราถือศีลอด เราบริจาคทาน เราเป็นคนดี แต่เราเป็น LGBTQ หลายๆ ครั้งก็รู้สึกราวกับว่าเราพยายามต่อรองไปเรื่อยๆ ทั้งที่เรารู้ว่าศาสนาไม่ได้อนุญาตเราหรอก มันพูดยากมากเลย มันซับซ้อน ก็ตัวเราเป็นแบบนี้ แต่เราก็ยังรักในความเป็นมุสลิม

ส่วนตัวเราเอง เราเลือกเดินออกมาจากศาสนา เราเลือกที่จะเป็นตัวเอง หลักจากเลือกได้เราก็โล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย และสามารถตอบตัวเองและสังคมได้อย่างเต็มปากว่า เราหันหลังให้กับศาสนามานานและก้าวข้ามจุดนั้นมาแล้ว การอยู่ที่ไหนก็ตามโดยไม่สามารถเป็นตัวเองได้ สุดท้ายเราจะอยู่ได้ไม่นาน สิ่งที่ผลักดันให้เราตัดสินใจเลือกตัวตน ไม่มีอะไรนอกจากความเชื่อในตัวเอง

แม้ไม่ใช่สถานการณ์เดียวกัน แต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนคงเผชิญความไม่เข้าใจของคนในครอบครัวอยู่ แม้กระทั่งนักเรียนของคุณเอง ถ้าเป็นไปได้คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขา

ถ้าคุณเป็นบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศที่เกิดมาในสังคมนี้ มันจะมีปราการหลายชั้นมากที่คุณจะต้องผ่านไปให้ได้ ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่พร้อมที่จะเข้าใจตัวตนของคุณ ก็ถือว่าปราการด่านหนึ่งของคุณจะหายไป แต่คุณอาจต้องสู้กับปราการด่านอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ความเชื่อ และศาสนา ซึ่งเป็นปราการด่านที่ยากที่สุดที่คุณจะผ่านไปได้ ทั้งชีวิตนี้คุณอาจจะไม่สามารถผ่านมันไปได้เลยก็ได้ แต่สิ่งเดียวที่จะช่วยประคองตัวคุณท่ามกลางอุปสรรคเหล่านี้คือการยืนยันและภูมิใจในสิ่งที่คุณเป็น

ถ้าคุณจะยอมแพ้ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะ แต่อยู่ที่คุณจะมีความสุขหรืออยู่กับความพ่ายแพ้นั้นได้หรือป่าว บางทีชีวิตก็ต้องเลือก ชีวิตมันก็โหดร้ายแบบนี้แหละ ท้ายที่สุดไม่ว่าคุณจะเลือกอย่างไร จงมีความสุขกับมัน และอยู่กับมันให้ได้อย่างภาคภูมิในตนเอง

ถ้าเราตั้งหมุดหมายว่าเราอยากให้ประเทศนี้สังคมนี้ ไม่สร้างบาดแผลให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งคนที่เป็นผู้ใหญ่ และเด็กๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ในโรงเรียน เรายังขาดอะไรบ้าง และมีอะไรที่สังคมเราต้องทำบ้าง

เรายังขาดความเข้าใจค่ะ คือจริงๆ แล้ว LGBTQ ไม่ได้ต้องการอะไรพิเศษหรือนอกเหนือไปจากคนทั่วไป เราก็ต้องการเหมือนๆ กับผู้ชายผู้หญิง เราแค่ต้องการสิทธิการสมรสเท่าเทียม การใช้คำนำหน้านาม สิทธิในเรือนร่างและการแต่งกาย และการสามารถดำรงชีวิตและทำงานได้เหมือนคนอื่นโดยมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบที่เราเลือก

เราต้องการความเข้าใจและการปฏิบัติที่ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น เพศอื่น แค่นั้นเองค่ะ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save