fbpx
รจเรข วัฒนพาณิชย์ : จากชั่วโมงมืดมิดในค่ายทหาร สู่วันที่ Book Re:public ย้ายกลับบ้าน

รจเรข วัฒนพาณิชย์ : จากชั่วโมงมืดมิดในค่ายทหาร สู่วันที่ Book Re:public ย้ายกลับบ้าน

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

สุภาวดี กลั่นความดี ภาพ

มันเป็นห้องมืดๆ สลัวๆ เปิดแอร์เย็นมาก เรามีแต่ชุดที่ใส่ไปทะเล ส่วนพวกเขาใส่สูทกัน ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องตอบให้มันผ่านไป เพื่อให้เราได้ออกจากที่นี่…

22 ตุลาคม 2011 ชื่อของ Book Re:public ปรากฏขึ้นครั้งแรกในฐานะร้านหนังสืออิสระ ปักหมุดอยู่บนถนนเลียบคลองชลประทาน ตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งขายหนังสือประเภทวิชาการเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเสวนาประเด็นแหลมคม

‘อ้อย’ รจเรข วัฒนพาณิชย์ เอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ คือเรี่ยวแรงสำคัญที่ปลุกปั้นพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมา ร่วมกับเพื่อนพ้องนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวในเชียงใหม่อีกหลายชีวิต

จากวิกฤตการเมืองเหลือง-แดง สู่การสลายการชุมนุมใจกลางกรุงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2010 จุดประกายให้เธออยากสร้างพื้นที่พบปะเสวนา ยกความรู้ลงมาจากหิ้ง ค้นหาความจริงของหลายคำถามที่ยังคลุมเครือ

วันเวลาผ่านไป Book Re:public กลายเป็นชุมชนเล็กๆ ของกลุ่มคนที่สนใจสังคมการเมืองในเชียงใหม่ หลากความคิดในวงเสวนา-เวิร์คช็อป แพร่กระจายผ่านโซเชียลมีเดียไปสู่คนวงกว้าง สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมีนัยสำคัญ

22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาสาเข้ามาควบคุมความสงบของบ้านเมือง เปิดฉากด้วยการประกาศชื่อผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระด้างกระเดื่องต่อรัฐ เรียกเข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร — รจเรขคือหนึ่งในนั้น

“เป็นร้านขายหนังสือที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ ปลุกระดมคน ปั่นสมองคน และกิจกรรมที่ร้านเราจัดก็เป็นการล้างสมองเยาวชน” คือเหตุผลที่เธอได้รับจากเจ้าหน้าที่

หลังจากถูกปล่อยตัว เธอปิดร้านหนังสือชั่วคราว และกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในทำเลใหม่ย่านกองบิน 41

ไม่ใช่ว่าไม่เข็ด ไม่ใช่ว่าไม่กลัว เหตุผลของการกลับมาเปิดร้านนั้นเรียบง่าย คือเธอไม่ได้ทำอะไรผิด

ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 Book Re:public ประกาศปิดตัวชั่วคราวอีกครั้งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ พร้อมส่งท้ายด้วยงานเสวนา ‘ชาติที่เรา(จะ)รัก : 79 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์’

ไม่ทิ้งช่วงให้รอนาน หลังจากใช้เวลาปลุกปั้นงานเวิร์คช็อปกับกลุ่มศิลปินและเยาวชนรุ่นใหม่มาสักระยะ รจเรขตัดสินใจกลับมาทำร้านอีกครั้ง–ที่บ้านของเธอเอง

ก่อนได้ฤกษ์เปิดร้านช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ 101 นัดสนทนากับเธอยาวๆ ไล่เรียงตั้งแต่ประสบการณ์หดหู่ในค่ายทหาร มุมมองต่อการทำงานเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมหลังรัฐประหาร การทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และความหวังที่เธอมีต่อสังคมไทยในฐานะ ‘คนรักชาติ’ คนหนึ่ง

รจเรข วัฒนพาณิชย์

ก่อนหน้านี้ที่คุณย้ายร้านมาหลายครั้ง แต่ยังไม่คิดที่จะย้ายมาอยู่ที่บ้านตัวเอง เพราะอะไร

เราตั้งใจว่าจะไม่ย้ายไปไหนอีกด้วยการย้ายมาอยู่ในที่ของตัวเอง เพราะทุกทีเราจะไปเช่าพื้นที่คนอื่น ย้อนไปตอนที่มีปัญหาช่วงหลังรัฐประหาร ก็คิดว่าจะย้ายร้านมาบ้านตัวเองเลยดีมั้ย หลายคนก็ค้าน หลายคนก็บอกว่ามาเลย เรารู้สึกเกรงใจเพื่อนบ้านด้วย ถ้าจัดกิจกรรมแล้วทหารมาที่บ้าน เพื่อนบ้านคงไม่สบายใจ

แต่พอถึงจุดนึง บริเวณรอบบ้านเรากลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่บริเวณบ้านที่อยู่อาศัย 100% แล้ว มีอะไรเพิ่มขึ้นมาเยอะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แล้วเพื่อนบ้านเองก็บอกให้กลับมาอยู่ที่บ้านนี่แหละ ก็คิดว่าได้เวลาแล้ว ลงแรงกับมันอีกสักตั้ง ข้างหน้าห้องหนังสือจะทำเป็นบริเวณที่นั่ง กินน้ำชา นั่งอ่านหนังสือได้ และจะทำสวนอีกเล็กน้อย มีต้นไม้เพิ่ม ทำที่จอดรถด้านหน้าร้าน ในร้านก็เหลือแค่จัดของให้ลงตัวเท่านั้นเอง

พอจะกลับมาเปิดร้านหนังสืออีกครั้ง ความกังวลต่างๆ ที่เคยมีลดน้อยลงมั้ย

ถ้าเรื่องการโดนสอดส่อง หลังๆ ไม่ค่อยมีแล้ว เขาไม่ค่อยมาแล้ว อย่างช่วงที่เปิดร้านครั้งที่สอง เขาก็ยังมากันอยู่ มาทุกครั้ง จัดเรื่องอะไรก็มา มาเพื่อจดโน้ต แล้วส่งให้นาย แต่ช่วงหลังเขาก็เปลี่ยนเป้าใหม่ อาจไปที่อื่นบ้าง เพราะมันมีเยาวชนกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเต็มไปหมดที่ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับความเป็นไปของ คสช.

ถามว่าเรายังเป็นที่จับตามองมั้ย ก็ยังคงเป็นอยู่ แต่ก็ไม่น่าจะหนักเท่าเดิมแล้วค่ะ เพราะจริงๆ แล้วเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะทำแบบนั้น ถ้านับว่าหลังเลือกตั้งแล้วนะ เขาไม่ควรมีสิทธิ์แล้ว

เรื่องการจัดกิจกรรม ถ้าคุณมองว่าเขาไม่มีสิทธิ์มาสอดส่องหรือคุกคามแล้ว เพดานของหัวข้อการเสวนา สิ่งที่อยากนำเสนอ สามารถไปได้ไกลแค่ไหน ยังไง

ปัญหาตอนนี้คือมันมี พ.ร.บ.คอมฯ อยู่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแล้วจะหายไปทั้งหมด ถ้าย้อนไปช่วงก่อนรัฐประหาร ถือว่าเป็นช่วงเบ่งบานของการจัดเสวนามาก ตอนนั้นพวกเราอยากจัดเสวนาเพื่อสร้างความรู้ชุดใหม่ให้กับสังคม ตั้งคำถามกับบางเรื่องที่เคยแต่ซุบซิบกันอยู่ลับๆ ทำยังไงจะพูดถึงมันในที่สาธารณะได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นวิชาการ

ถ้าให้กลับไปทำแบบนั้นในตอนนี้ เราต้องกลับมาดูว่าจริงๆ แล้วมันราบคาบจริงมั้ย รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลของพลเรือนจริงหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่ ฉะนั้นการคุยกันก็ยังต้องระวังตัวอยู่ เรายังไม่อยู่ในสถานะที่จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงคุกเพียงเพราะทำเรื่องแค่นี้ ซึ่งถ้าเกิดเราโดนจับจริง มันอาจไม่ได้ส่งผลหรือเกิดประโยชน์อะไรกับสังคมเลยก็ได้ เลยไม่รู้ว่าจะต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงแบบนั้นทำไม

พูดง่ายๆ ว่าก็มีเส้นอยู่

ทุกคนมีเส้นหมดแหละค่ะ ความกล้าเป็นคนละเรื่องกับความบ้าบิ่น เวลาจะทำกิจกรรมอะไรมันต้องผ่านการคิดมาก่อนอยู่แล้ว ว่าทำไปเพื่ออะไร มีปัจจัยแวดล้อมอะไรบ้างที่ต้องคำนึง ความเสี่ยงเป็นยังไง ข้อจำกัดคืออะไร นี่คือเครื่องมือในการคิดของนักกิจกรรมทุกคนด้วยซ้ำเวลาจะทำอะไรสักอย่าง

แต่ในแง่หนึ่ง ก็มีเส้นบางๆ อยู่ระหว่างการคิดให้รอบคอบ กับการเซ็นเซอร์ตัวเอง

ถ้าเราเซ็นเซอร์ตัวเองเราอาจเลิกทำร้านหนังสือไปเลย ถ้าย้อนไปตั้งแต่ตอนรัฐประหาร แล้วเราโดนกดดัน จนต้องปิดร้านไปในช่วงนั้น พอเรากลับมาเปิด ทุกคนจะพูดทำนองเดียวกันว่ายังกลับมาเปิดอีกเหรอ ซึ่งเราก็ยืนยันว่าจะเปิด

คำถามคือที่ผ่านมาเราทำอะไรผิด ถ้าเรายอมปิดถาวร แปลว่าเรายอมรับโดยปริยายว่าการที่เขามากดดันเรา เราทำผิดจริง ถึงต้องปิดตัวไป แต่เรายืนยันที่จะเปิด ต่อให้เขาไปกดดันเจ้าของที่ เพื่อไม่ให้เราทำต่อ เราก็จะย้ายไปหาที่ใหม่ แม้มันจะเล็กลง แคบลง เป็นห้องแถวแค่ห้องเดียว เราก็จะทำ

ตอนที่เรากลับมาเปิดครั้งที่สอง วันแรกเขาก็ส่งคนมาเลย พูดมาประโยคหนึ่งว่า ข้างบนรู้แล้วนะว่าคุณเปิดร้านใหม่อีกรอบ เราก็อ๋อค่ะ แล้วไง มันคือการยืนยันว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ผิด

ถ้าเราเซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่แรก ถ้าเราโดนคุกคามแล้วเรากลัวจนเกินไป เราคงไม่กลับมาทำต่อแล้วค่ะ คงไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่ทุกวันนี้เราคิดว่าทุกคนไม่เว้นใครก็เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว จะน้อยจะมาก หรือจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ย้อนไปช่วงหลังรัฐประหาร ช่วงไหนที่คุณเจอการคุกคามหนักที่สุด

ช่วงหลังรัฐประหารไม่กี่วัน มีรถ GMC กับรถตำรวจหลายคันมาที่หน้าร้าน และมาที่บ้านด้วย บางวันมีเจ้าหน้าที่เข้ามาในร้าน ขอดูบัตรประชาชนของลูกค้าทุกคนที่อยู่ในร้าน บางวันก็ส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาดูหนังสือแต่ละเล่ม เช็คว่ามีเล่มไหนสุ่มเสี่ยงมั้ย มันคุกคามและละเมิดอย่างถึงที่สุดแล้ว

ตอนนั้นก็มีคนเตือนว่าให้เราออกจากบ้าน ถ้าไม่ออกเราก็คงถูกหิ้วออกไป เป็นช่วงที่หนักสำหรับเรามาก ในชีวิตไม่เคยต้องมาหนีหัวซุกหัวซุนแบบนี้

พอเจอคุกคามแบบนี้รู้สึกกลัวมั้ย

บอกไม่ถูกว่ารู้สึกกลัวมั้ย แค่คิดว่าเราต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร ทุกคนบอกว่าหนีออกไปก่อน อย่าเพิ่งให้ถูกจับ จากนั้นพอเรารู้ว่าคนที่ถูกจับไป จะถูกปล่อยตัวภายใน 7 วัน พอออกมาแล้วต้องเซ็น MOU ว่าห้ามเกี่ยวข้องทางการเมือง ออกนอกประเทศต้องขออนุญาต ฯลฯ ตอนนั้นก็ยังไม่กลัวนะ แค่กังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเราต้องทำอะไรยังไงต่อ

ระหว่างที่หนีอยู่ตอนนั้น เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากเช็คข่าวสารจากมือถือ ว่าเราควรตัดสินใจยังไงกับตัวเอง จะกลับมาเชียงใหม่ หรือจะอยู่ที่นั่นต่อไป เราออกไปแบบมีเป้ใบเดียว ทุกอย่างทิ้งไว้ที่เชียงใหม่หมด ขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างก็ยังอยู่ในความดูแลของเรา ทั้งเรื่องร้าน เรื่องครอบครัว แล้วเราจะทิ้งไปได้ยังไง

ผ่านไปสักระยะ ฝุ่นเริ่มจาง เราเริ่มเห็นสถานการณ์ว่าเป็นยังไง รู้ว่าเขามีสิทธิ์จับเราขังได้ 7 วัน ก็คิดว่าเอาวะ กลับไปรายงานตัวซะ ถึงจะโดนจับไปปรับทัศนคติสัก 7 วันก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ขอให้ได้กลับเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ ก่อน เลยตัดสินใจกลับมา

พอกลับเข้ามารายงานตัวที่เชียงใหม่ รายงานตัวเสร็จก็ไม่มีอะไร ปรากฏว่าอีกสองอาทิตย์ถัดมา มีชื่อเราอยู่บนทีวี ว่าให้ไปรายงานตัวที่กรุงเทพฯ ภายในวันรุ่งขึ้น ตอนนั้นเรากำลังพาน้องๆ ที่ร้านไปผ่อนคลายที่ทะเลแถวปราณบุรี เราไม่ได้ดูทีวี แต่มีเพื่อนกระหน่ำหลังไมค์มาเยอะมาก บอกว่ามีชื่อเราอยู่บนทีวี เรียกให้ไปรายงานตัวที่กรุงเทพฯ

เราต้องรีบออกจากปราณบุรีตั้งแต่ตี 5 โดยรถตู้ เพื่อที่จะมารายงานตัวให้ทัน ตอนนั้นแหละที่มันหนัก พอถึงกรุงเทพฯ ไปรายงานตัวในค่าย ช่วงดึกประมาณสี่ทุ่ม เขาก็พาเราขึ้นรถตู้ ในรถมีเราเป็นผู้หญิงคนเดียว นอกนั้นคือทหาร 5-6 คน แต่ละคนดูขึงขังมาก อย่างกับคุมตัวอาชญากร เราไม่รู้หรอกว่าพาไปไหน กรุงเทพฯ กลางคืนมันมืดหมด พาเราวนไปที่ไหนไม่รู้ แล้วก็ไปเข้าค่ายอีกค่ายนึง

พอไปถึง เราถูกขังอยู่ในห้องๆ หนึ่ง มีห้องน้ำในตัว เหมือนเป็นห้องทำงานของผู้บริหารสักคน แล้วเขาก็ล็อคประตูจากด้านนอก บอกว่าถ้ามีอะไรให้เคาะประตู มีพัดลม มีแอร์ให้ แต่ประตูหน้าต่างปิดหมด เปิดอะไรไม่ได้สักอย่าง วันรุ่งขึ้นตอนสายๆ เขาก็มารับไปค่ายเดิมที่ไปมาเมื่อวาน เพื่อนั่งรอเรียกอีกเกือบทั้งวัน

ในที่สุดเขาก็เรียกเราให้เข้าไปเจอคนในห้องประมาณ 10 กว่าคน มีทั้งชุดทหารและชุดดำนั่งล้อมรอบ เขาใช้วิธี good cop – bad cop ซักถามปรับทัศนคติอยู่ประมาณเกือบ 3 ชั่วโมง คุยเสร็จก็ต้องไปเซ็นรับคำให้การ ซึ่งตำรวจก็นั่งเทศนาเราอีกประมาณครึ่งชั่วโมง นึกว่าเสร็จแล้ว แต่ก็ยัง ต้องไปเข้าห้อง DSI อีก เป็นผู้ชาย 2-3 คนใส่ชุดดำ เป็นห้องมืดๆ สลัวๆ ให้เรานั่งโซฟาเหมือนจะสบายแต่ไม่สบาย แล้วเปิดแอร์เย็นมาก พวกเขาก็ใส่สูทกัน แต่เราไม่ได้เตรียมตัว มีแต่ชุดที่ใส่ไปทะเล บรรยากาศเย็นยะเยือก ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องตอบให้มันผ่านไป เพื่อให้เราได้ออกจากที่นี่

พอออกจากห้อง DSI ก็ต้องมาเซ็น MOU เราถามว่าไม่เซ็นได้มั้ย เขาก็ตอบว่า จะให้ผมต่อสายพูดกับพลเอก XXX มั้ยล่ะ คุณต่อรองกับท่านเอง แล้วก็บอกว่าถ้าไม่เซ็นก็ไม่ต้องออก ทุกคนเซ็นหมดแหละถึงจะถูกปล่อยออกไป พอเซ็นเสร็จเขาก็ให้เราขึ้นรถตู้ มีนายทหารคุมมาบนรถเหมือนเดิม ไปส่งเราที่ที่พักในกรุงเทพฯ พอไปถึงก็ต้องถ่ายรูปด้วย ว่ามาส่งถึงจุดหมายแล้ว ไม่ได้หนีหายหรือโดนทำร้ายกลางทาง

รจเรข วัฒนพาณิชย์

เนื้อหาที่เขาพยายามจะซักถามเราคืออะไร เขาอยากรู้อะไร

เขาคิดไปเองว่าเราเป็นร้านขายหนังสือที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ ปลุกระดมคน ปั่นสมองคน และกิจกรรมที่ร้านเราจัดก็เป็นการล้างสมองเยาวชน

มีประโยคนึงที่เราจำได้ติดหัวเลย แต่ถือว่าเป็นคำชม เขาบอกว่าสิ่งที่คุณรจเรขทำมันมีอิทธิพลต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ของประเทศมาก เราก็อึ้ง จะขอบคุณดีมั้ยเนี่ย (หัวเราะ) มันแปลว่างานที่เราทำก็อาจมีผลอยู่บ้าง เราก็ถามเขากลับว่า ถ้าเราทำอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย แล้วมันผิดอะไรต่อประเทศที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย เขาก็บอกว่ามันไม่ได้ผิดอะไรหรอก แต่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แล้วก็ยกนิ้วชี้ขึ้นไปข้างบน เป็นอันเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ก็อยากถามต่อว่าเป็นภัยอย่างไรเพราะเราไม่เข้าใจ แต่เหนื่อยแล้วล่ะ พูดไปก็ไม่มีประโยชน์

แต่ละอย่างที่เขาชี้แจงหรือพยายามพูดให้เราฟัง มีอะไรที่ฟังขึ้นหรือพอเข้าใจเขาได้บ้างมั้ย

ถ้าพยายามทำความเข้าใจ ก็จะเข้าใจได้ว่าเขากำลังป้องกันความมั่นคงให้กับชนชั้นนำ เขากลัวว่ามันจะสั่นคลอน การที่เราทำให้เด็กลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เข้าใจว่าประชาธิปไตยอะไร คนเท่ากันคืออะไร

เขาคงกลัวด้วย เพราะตอนที่เราทำ ‘ห้องเรียนประชาธิปไตย’ มีนักเรียนสองรุ่นแรกที่เขารวมตัวกันเป็นกลุ่ม ‘วันใหม่’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเยอะ เช่น ไปรณรงค์เรื่องการปล่อยนักโทษการเมืองบ้าง ไปเดินชูป้ายรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยที่ถนนคนเดินแถวท่าแพบ้าง เขาคงมองว่าเราเป็นคนสั่งการให้เด็กพวกนี้ไปทำโน่นนี่นั่น

แล้วคุณมีอิทธิพลกับเด็กๆ อย่างที่เขากล่าวหารึเปล่า

มันไม่มีใครสั่งใครได้หรอกค่ะ เด็กพวกนี้เขาฟอร์มตัวกันเองด้วยความสมัครใจ เราชี้นิ้วบอกใครไม่ได้ เราไม่ใช่ค่ายทหารหรือตำรวจที่มีการสั่งการเป็นลำดับชั้นลงไป

เหมือนเขายังมีความเข้าใจผิดว่าต้องมีการสั่งการตั้งแต่ระดับหัวลงมา แบบในหน่วยงานของเขา แล้วคงคิดว่าถ้ามาคุยกับเราแล้วเด็กจะเลิกทำกิจกรรม ซึ่งไม่ใช่ เพราะเด็กๆ เขาทำกันเอง เขาเห็นความสำคัญ เห็นความจำเป็นที่จะต้องรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยให้หนักขึ้น แล้วมันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่หมายถึงระบอบการปกครองอย่างเดียว แต่เป็นประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน เราคุยกันทุกเรื่อง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทุนนิยม ไปจนถึงเรื่อง Gender เรื่อง LGBT

เวลาพูดถึงคำว่าประชาธิปไตย หลายคนจะคิดแค่ว่าเป็นระบอบการปกครอง แต่จริงๆ มันอยู่ในวิธีคิดเรื่องความเท่าเทียม วิธีคิดเรื่องสิทธิของคนอื่นด้วย เราไม่ได้ต้องการล้างสมองให้เด็กเป็นอะไร เป้าหมายเราคือต้องการส่งเสริมสนับสนุนแนวคิดหลักของสิทธิมนุษยชนกับความเป็นประชาธิปไตยให้กับคนรุ่นใหม่

ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้มีความสำคัญกับสังคมไทยยังไง

เริ่มมาจากตัวเราเองนี่แหละ ที่ได้ยินว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่เกิด แต่พอเกิดรัฐประหารมาเรื่อยๆ เกิดเหตุการณ์นองเลือดปี 2010 ที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยในเมืองไทย

เรากับเพื่อนๆ ก็เลยจัดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา ลองมาคุยกันสิว่าประชาธิปไตยมันคืออะไร ซึ่งทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ว่ามันไม่ใช่แค่ระบอบการปกครอง แต่มันอยู่ในเนื้อในตัว ในความคิด ในทัศนคติของคน ได้เห็นว่าเวลาอุดมการณ์ทางการเมืองของคนมันแตกต่างกัน มันไม่ได้แตกต่างแค่ว่าเราต้องการการปกครองแบบไหน แต่มันลงลึกไปในทุกๆ เรื่องเลย ฉะนั้นเมื่อพูดถึงความเป็นประชาธิปไตย เราอยากตีความให้มันอยู่ในทุกมิติ

ถึงวันนี้ ได้พบคำตอบที่อยากรู้หรือยั

ก็ยังไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตย 100% เป็นยังไง แต่ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้สัก 20 ปี เราว่ามันดีกว่านี้นะ ช่วงหลังรัฐธรรมนูญ 2540 แต่พอผ่านไปสักระยะ มันคงไปสั่นสะเทือนหรือสั่นคลอนสถานะบางอย่างของชนชั้นนำ จนทำให้มันต้องหยุดชะงัก

สิ่งที่เราเห็นชัดมากคือ ประเทศไทยมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ฝังรากลึกมาก โดยเฉพาะเรื่องระบบอุปถัมภ์ ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ สิ่งนี้ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้ทุกคนไม่สามารถยืนขึ้นได้เต็มสองฝ่าเท้า เพราะถ้าเรายืดตัวตรงปุ๊บ เราก็เท่าผู้ใหญ่แล้ว นี่พูดแบบเปรียบเปรยนะ ซึ่งเขาคงไม่อยากให้ยืดตัวได้เต็มที่เท่าไหร่

แล้วในภาวะแบบนี้ คุณมีหวังหรือหมดหวังยังไง

เราไม่เคยหมดหวัง อาจเพราะเราได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ก็ได้ เรายังเห็นความหวังในตัวพวกเขา ทุกยุคทุกสมัยมันจะมีคนแบบนี้ มีคนที่ขบถเสมอ

ถ้าไม่มีนักศึกษาที่ออกมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้านี้ มันอาจยังเป็นแบบเดิมอยู่ก็ได้ การที่มีคนยุคใหม่ที่กล้าตั้งคำถาม กล้าขบถ มันทำให้เกิดความหวังกับคนที่อยากเห็นประเทศเคลื่อนไปข้างหน้า เวลาเราได้ทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราเห็นความคิดเขา เห็นความอยากเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นอยู่ เขาตั้งคำถามเยอะมากนะ ยิ่งช่วงหลังตั้งแต่ คสช. เข้ามา สิ่งหนึ่งที่ คสช. ทำได้ดีคือทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ กระทั่งคนทั่วไปเกิดการตื่นรู้ ลุกขึ้นมาตั้งคำถามมากขึ้นว่ามันเป็นแบบนี้ได้ด้วยหรือ
เราเห็นความหวังในตัวพวกเขาอยู่ ซึ่งทำให้เราไม่หมดหวังเหมือนกัน แม้จะมีเรื่องให้รู้สึกหงุดหงิดอยู่ทุกวันก็ตาม (หัวเราะ)

คุณมองว่าคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ไม่ได้ไร้เดียงสา ขณะเดียวกันชนชั้นนำเอง ก็ไม่ได้ไร้เดียงสาเหมือนกันรึเปล่า แม้บางสิ่งบางอย่างที่ทำจะดูไร้เดียงสา ล้าหลัง กระทั่งตกยุคก็ตาม

ใช่ เราว่าเขาไม่โง่นะ เขาอาจฉลาดในแง่ที่ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สถานะของตัวเองยังคงอยู่ เขาพยายามจะสตาฟฟ์ทุกอย่างไว้ ซึ่งเป็นการสตาฟฟ์คนอื่น ยกเว้นตัวเอง แต่ถึงสุดท้ายแล้วไม่มีใครที่อยู่ยั้งยืนยงหรอก

ปัญหาคือการอยู่ในเมืองไทยทุกวันนี้ มันบีบบังคับให้ทุกคนรู้สึกว่าต้องมีเงิน มีสถานะ ถึงจะอยู่ได้ คนชั้นกลางระดับล่างจึงอยากเป็นคนชั้นกลางระดับบน คนชั้นกลางระดับบนจึงอยากถีบตัวเองขึ้นไปเป็นชนชั้นสูง แต่การดิ้นรนเอาตัวรอดของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองมีเงิน มีสถานะ อาจทำให้เผลอลืมไปว่าเราเคยอยู่ตรงไหนมาก่อน มัวแต่คิดว่าต้องขึ้นไปข้างบนเพื่อให้คนยอมรับให้ได้ แล้วก็กดคนข้างล่างต่ออีกทีหนึ่ง เราว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้ด้วย ก็เลยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหนสักที

ฟังดูแล้วไม่ค่อย healthy เท่าไหร่

ไม่เลย ตอนนี้มันเป็นประเทศที่ป่วย เป็นประเทศที่แปลก

ป่วยยังไง แปลกยังไง

เอาง่ายๆ คือตรรกะมันกลับด้านกันไปหมด วิบัติไปหมด เราไม่ค่อยได้ฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเท่าไหร่ นี่คือปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาเลย คือไม่ได้สอนให้คนคิด แต่สอนให้คนท่องจำเพื่อนำไปสอบ สอบเสร็จก็จบเลย ทิ้งเลย

พูดง่ายๆ ว่าความรู้ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างที่ควรเป็น

ใช่ การมีความรู้ก็เรื่องนึง แต่การจัดการความรู้ก็อีกเรื่อง หมายความว่าแม้คุณจะมีความรู้ แต่ถ้าคุณไม่มีการจัดการเพื่อให้มันนำไปปฏิบัติได้จริงในสังคม ก็ไม่มีประโยชน์ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราอยากทำร้านหนังสือ เพราะเรารู้สึกว่าความรู้ทุกอย่างมันขึ้นหิ้งหมด

ถามว่าบ้านเรามีองค์ความรู้มั้ย เรามีเยอะแยะมากมาย ปัญหาคือจะทำยังไงให้งานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่คนทำออกมาแล้ว ได้เอามาใช้ประโยชน์ เราถึงจัดวงคุยวิทยานิพนธ์ของคนนั้นคนนี้บ้าง คุยเรื่องหนังสือที่คนหลงลืมไปแล้วบ้าง เอามาคุยเพื่อให้เห็นว่ามันมีชุดความรู้อะไรบ้างที่ผ่านการทำงานมาอย่างลึกซึ้ง ดึงสิ่งที่อยู่บนหิ้งมาพูดคุยกัน

เราอยากผลักดันให้ความรู้อีกชุดหนึ่งมันขึ้นมาคู่ขนานกับชุดความรู้กระแสหลัก ที่พร่ำสอนและครอบงำสังคมมายาวนาน แล้วก็ตั้งอยู่บนหิ้ง ห้ามแตะต้อง เราควรมีสิทธิ์ตั้งคำถามกับตุลาการ ตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามกับมาตรา 112 ตั้งคำถามกับทุนนิยม ตั้งคำถามกับทุกเรื่องที่มันแวดล้อมกับชีวิตและสังคมของเรา

รจเรข วัฒนพาณิชย์

สองพาร์ทที่คุณทำอยู่ ทั้งการทำร้านหนังสือ กับการทำกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ แง่หนึ่งก็เป็นจุดเล็กมากในสังคมนี้ แน่นอนว่ากับคนที่มาเข้าร่วม ย่อมเห็นผล เห็นความเปลี่ยนแปลง คำถามคือมันส่งผลหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรในภาพใหญ่บ้างไหม

เราเป็นจุดเล็กๆ แน่นอน แต่ถามว่ามันมีจุดเล็กๆ จุดอื่นอีกมั้ย ก็มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ รู้จักกันบ้าง ไม่รู้จักกันบ้าง แต่เราพอเห็นกันอยู่ว่ามีใครบ้างที่กำลังทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ควรเป็

เรารักชาติมากนะ เราเป็นพวกที่รักประเทศนี้มากๆ ไม่ใช่พวกชังชาติอย่างที่ใครเขาว่า แต่เพราะรักไง มันถึงต้องออกมาพูด ออกมาทำ เพื่อดูว่ายังมีจุดบกพร่องอะไรบ้าง

แน่นอนว่าสิ่งที่เราทำ คงไม่ใช่สิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างฉับพลันทันที แต่ถามว่ามันแทรกซึมเข้าไปในอณูต่างๆ ในสังคมมั้ย ก็อาจจะใช่ อย่างตอนที่ถูกเรียกตัวช่วงหลังรัฐประหาร แล้วเขาให้เหตุผลว่าเพราะเรามีอิทธิพลต่อเยาวชน มันหมายความว่าอะไร พวกเราอยู่เชียงใหม่ แต่ถูกเรียกไปที่ส่วนกลางของประเทศ แล้วเขาก็พูดเองว่าสิ่งที่เราทำ มันกำลังสร้างอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่

เราอยู่ในยุคออนไลน์ สิ่งที่เราทำมันอยู่ที่เชียงใหม่ก็จริง แต่เราก็เอาลงโซเชียลมีเดีย คนอาจมาฟังที่ร้านประมาณ 50 คน แต่พอเราลงยูทูป คนอาจดูเป็นพันเป็นหมื่นก็ได้ ตรงนี้แหละที่เขาอาจจะกลัว เพราะมันแทรกซึมไปทั่ว ยังไม่นับว่าบางคนขอเอางานที่เราลงไว้ในยูทูป ไปสอนในมหาวิทยาลัยต่อ

ทำไม คสช. ถึงกลัวไผ่ ดาวดิน ทำไมถึงต้องไปตีหัวจ่านิว ตีหัวเอกชัย หงษ์กังวาน มันสะท้อนว่าเวลาที่คนทำอะไรสักอย่างแล้วเกิดแรงกระเพื่อม ทำให้คนเกิดคำถาม เกิดผลกระทบต่อความคิดคนในสังคม เราว่าเขากลัวนะ

การไปตีหัวจ่านิว เพราะเขาต้องการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ควบคุมแอคชั่นของคนที่จะออกมาต่อต้านเขา ต้องเขียนเสือให้วัวกลัว ต้องเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อให้คนไม่กล้าแสดงออก

ชนชั้นนำหรือ คสช. ไม่ได้กลัวกองกำลังอะไรหรอก กองทัพเขาใหญ่ขนาดนั้น ใหญ่ที่สุดแล้วในประเทศทั้งในแง่กำลังพลและอาวุธ แต่เขาจะกลัวแต่คนที่ต่อสู้ทางความคิด กลัวคนที่ต่อสู้เชิงสัญลักษณ์

ที่ผ่านมาเขาใช้ propaganda ทำให้คนเชื่อถือในบางสิ่งมาตลอด แต่วันหนึ่งสิ่งที่เขาทำเริ่มถูกคนตั้งคำถาม เริ่มมีความรู้คู่ขนานเกิดขึ้นมาใหม่ และมีคนที่เชื่อในความรู้ชุดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมของเอ็นจีโอ คุณมองความเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอทุกวันนี้ยังไง ยังมีพลังในการขับเคลื่อนสังคมเหมือนแต่ก่อนมั้ย

เดี๋ยวนี้เอ็นจีโอไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว พูดง่ายๆ คือแตกกระจายกันไปตั้งแต่ช่วงหลังความขัดแย้งสีเสื้อ ทั้งที่ยุคก่อนหน้านั้นแทบจะมีเป้าหมายเดียวกันด้วยซ้ำว่าเราจะเดินหน้าไปสู่อะไร สิ่งนั้นก็คือการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยยึดถือเรื่องความเป็นธรร

ตั้งแต่เราเริ่มทำงานเอ็นจีโอมา นี่เป็นมอตโต้ของเราเลยด้วยซ้ำจนถึงทุกวันนี้ แต่เราไม่แน่ใจว่าเอ็นจีโอบางกลุ่มยังยึดถือเป้าหมายนี้อยู่หรือเปล่า เพราะเราก็เห็นหลายคนที่เข้าไปเพิ่มอำนาจรัฐ ไปเป็นแขนขาให้อำนาจรัฐไปแล้ว

ถ้าเป็นเมื่อก่อนเอ็นจีโอค่อนข้างมีอิทธิพลสูง เพราะมีเครือข่ายที่โยงใยกัน และมีเป้าหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีนี้เมื่อเป้าหมายใหญ่มันไม่ใช่อันเดียวกันไปแล้ว เกิดความแตกต่างแล้ว พวกเราที่ยังอยู่กับเป้าหมายเดิมว่าต้องลดอำนาจรัฐให้ได้ ก็ต้องมาเกาะเกี่ยวกันใหม่ ขณะเดียวกันก็มีความหวังว่าจะมีกลุ่มอื่นๆ หรือกลุ่มใหม่ๆ ที่ยึดเป้าหมายนี้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนหนึ่งที่ภาคประชาสังคมดูอ่อนพลังลง โดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหาร เป็นเพราะมาตรการควบคุมของ คสช. ด้วยหรือเปล่า

ถ้านับเฉพาะเอ็นจีโอ เราว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องว่าเขาสมาทานชุดความคิดไหนมากกว่า ถ้าเขารู้สึกว่าเห็นด้วยกับพลังประชารัฐ เขาก็จะไปอยู่พลังประชารัฐ เพราะเห็นว่าตรงนั้นคือทางออกของเขา ในการจะทำให้ประชาชนในเขตการทำงานของเขาอยู่ดีกินดีมากขึ้น จะเป็นความผิดของเขาหรือไม่ ไม่แน่ใจ อยู่ที่ว่าเขายึดถือมอตโต้อะไรในการทำงาน

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเขายึดหลักของความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เขาก็จะไปอีกทางหนึ่งแน่นอน ยังไงก็ต้องต่อต้านอะไรที่มาจากอำนาจที่ไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

ถามว่าอ่อนกำลังมั้ย อาจไม่ได้อ่อนมาก เพียงแต่มันแยกกันไปคนละทาง ตอนนี้มันไม่ได้สู้กันเรื่องสีเสื้อแล้ว มันสู้กันแค่เรื่องเดียวคือ คุณจะสนับสนุนรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย หรือจะสนับสนุนความเป็นเผด็จการ

ตอนนี้เอ็นจีโอไม่ได้ต่างจากใคร เอ็นจีโอไม่สามารถบอกว่าตัวเองเป็นผู้ที่ทำความดีเพื่อประเทศชาติ ไม่สามารถบอกว่าฉันทำเพื่อประชาชนได้อีกต่อไปแล้ว เอ็นจีโอเคลมตัวเองแบบนั้นไม่ได้แล้ว เอ็นจีโอก็เหมือนประชาชนทั่วไป เหมือนนักเขียน เหมือนนักธุรกิจ เหมือนนักศึกษา เหมือนนักวิชาการ ว่าสุดท้ายแล้วคุณโปรอะไร ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

บางทีเราก็ตกใจนะ ตั้งแต่เราทำร้านหนังสือมา 7-8 ปี ไม่ค่อยได้ไปทำงานในหมู่บ้านเหมือนแต่ก่อน พอช่วงหลังเราก็คิดถึง อยากไปหาเพื่อนเก่า ก็ขึ้นดอยไปเจอเพื่อนปกาเกอะญอที่เราเคยทำงานด้วย พบว่าบางคนที่เคยหัวก้าวหน้ามาก แต่ตอนนี้กลับคิดอีกแบบแล้ว ก็งงเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นวะ (หัวเราะ)

หลังปี 2010 เราเคยตั้งคำถามนี้กับเพื่อนๆ ในเมืองที่ทำกิจกรรมกับเรา แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเพื่อนเราที่อยู่รอบนอก ซึ่งเป็นผู้คนที่เคยได้รับกระทบโดยตรงจากนโยบายของรัฐ กลับมีความคิดไม่ต่างจากประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยกับเผด็จการ พอไปเจอเราก็ตกใจ

ได้ถามเขาไหมว่าทำไม

เขาบอกว่ามันไม่ต่างกันหรอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน เรียกร้องอะไรไปก็เหมือนเดิม ซึ่งมันดูเป็นคำพูดของคนในเมืองมากๆ

เราก็บอกเขาว่ามันไม่เหมือนนะ ยิ่งตอนนี้ยิ่งชัดเจนเลยว่าไม่เหมือน ถ้าเราใช้ประโยคนี้ตอนอยู่ในรัฐบาลพลเรือนเมื่อสิบปีก่อน มันยังพอพูดได้ รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สุดท้ายก็เหมือนกันหมด แบบนั้นพอพูดได้

แต่พอเอามาพูดในยุคของรัฐบาลทหารที่เข้ามาแบบไม่ชอบธรรม คุณพูดไม่ได้แล้วนะ เพราะมันคือประชาธิปไตยกับเผด็จการทหาร จะเหมือนกันได้ยังไง

มันต้องคิดให้มากกว่านั้นนิดนึง จะคิดแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เราต้องรู้ว่ากำลังต่อสู้กับอะไร มากกว่าที่จะบอกว่าตอนนี้เราได้อะไรแล้ว หรือยังไม่ได้อะไร เพราะมันเกี่ยวข้องกับคนในภายภาคหน้าด้วย หรือถ้าคุณไม่ได้คิดถึงคนในภายภายหน้า อย่างน้อยก็คิดถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เคยต่อสู้ด้วยกันมา ที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ที่เขาถูกจับกุม ที่ถูกเอาเปรียบอยู่ตอนนี้

อีกเรื่องนึงที่อยากฝากถึงภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชน คือจะทำยังไงให้สามารถนำชุดความรู้ต่างๆ ที่เรามี มาใช้เปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีพลัง

ช่วงหลังๆ เราสังเกตว่าหลายคนทำงานเพราะแค่ความชอบ รู้สึกว่ามันสนุก มันสบาย การเป็นเอ็นจีโอไม่ต้องมีเวลาเข้าออกงาน คุณจะลงพื้นที่เมื่อไหร่ก็ไป ชอบคุยกับชาวบ้านกลุ่มนี้เพราะเขาดี เขาน่ารัก เฮ้ย แต่คุณต้องทำงานด้วยมั้ย ต้องใช้ความรู้หน่อยมั้ย ไม่ใช่เอาแค่ความรู้สึก เอาแค่ความงดงาม หรือกระทั่งความเห็นใจ อย่างน้อยควรยึดชุดความรู้ชุดใดชุดหนึ่งไว้ ไม่งั้นมันเป๋ไปหมด

ตอนที่เราทำเรื่องป่าชุมชน แล้วประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพราะเราเก่งในการหาคอนเนคชั่น แต่เพราะเรานำชุดความรู้ที่พวกนักวิชาการได้ทำไว้ เอามาย่อย ทำข้อมูลให้มีพลัง

สิ่งสำคัญคือทำยังไงให้ข้อมูลมีพลัง นี่คือโจทย์ของเราเลย แล้วเราเห็นเลยว่าการทำงานรณรงค์ในเมืองไทย จริงๆ มันมีชุดข้อมูลอยู่เยอะมาก แต่จะเอาข้อมูลความรู้เหล่านั้นมาใช้ยังไง คุณจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายก็ได้ เอาไปขับเคลื่อนนโยบายก็ได้ หรือเอาไปใช้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนก็ได้

ประเด็นคือคุณต้องเอาความรู้ออกมาใช้ด้วย ไม่ใช่เอาแต่ความรู้สึก

รจเรข วัฒนพาณิชย์

ถ้าบ้านเมืองไม่ตกอยู่ในภาวะแบบนี้ ไม่มีรัฐประหาร คิดว่าแวดวงวิชาการ แวดหนังสือ จะคึกคักหรือแหลมคมเท่านี้ไหม

จริงๆ ถ้าย้อนไปก่อนรัฐประหาร มันก็คึกคักและแหลมคมมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2010 จังหวะที่เราเปิดร้านเมื่อปี 2011 หนึ่งปีหลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นเราคิดว่าเราทำเรื่องธรรมดามากๆ ไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะบูม คนทั่วประเทศรู้จัก แต่เป็นเพราะคนมันอยากรู้จริงๆ อยากค้นคว้า อยากหาคำตอบ ซึ่งภาวะแบบนี้เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2011 กระทั่งช่วงก่อนรัฐประหารก็ยังพีคอยู่

ตอนนั้นเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังสนุก เพราะมันมีหลายเรื่องให้พูดให้คิด ถ้าไม่เกิดรัฐประหารก็น่าจะจัดต่อไปยาว ประเทศไทยมีเรื่องให้คุยกันเยอะ

เราเคยจัดเวิร์คชอปเรื่องการดีเบตให้กับเยาวชนที่สนใจ วีธีการดีเบตที่ดีที่ถูกต้อง ต้องทำยังไง เรื่อยมาถึงการจัดดีเบตในร้าน เช่นเรื่องพุทธศาสนากับรัฐ เชิญพระไพศาล วิศาโล กับ วิจักขณ์ พานิช มาดีเบตกัน จัดเรื่องทุนนิยม เอาธนาธรกับศศินมาคุยกัน

นั่นคือช่วงใกล้รัฐประหารแล้ว เราเตรียมหัวข้อไว้เยอะแยะเลย แต่จัดไปได้สามหัวข้อ ก็รัฐประหารซะก่อน ความเบ่งบานของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็เลยถูกตัดตอนไป

มีรูปแบบดีเบตในฝันที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำมั้ย

เราอยากจัดดีเบตที่ผู้ฟังสามารถย้ายข้างไปมาได้ สมมติมีดีเบตเรื่องนึง แล้วคนฟังนั่งย้ายข้างได้ ในตอนแรกคุณก็นั่งอยู่ในฝั่งที่คุณเห็นด้วยก่อน แต่พอฟังไป ถ้าฝั่งที่คุณไม่เห็นด้วย เขาเสนอความคิดเห็นที่มีเหตุผล หรือทำให้เราเห็นแง่มุมบางอย่างที่ไม่เคยคิด คุณสามารถย้ายมานั่งฝั่งนี้ได้ เพื่อแสดงออกว่าเราเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ประเด็นนี้

นี่คือการฝึกคนให้สามารถอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้ง เป็นการฝึกให้เราได้ฟังกันจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อโต้ตอบ แต่ฟังเพื่อที่รู้ว่า อ๋อ เรื่องนี้มันมีความรู้ชุดนี้อยู่ด้วยเหรอ เฮ้ย อันนี้เราไม่เคยรู้เลย มันเป็นแบบนั้นจริงเหรอ ต้องไปค้นคว้าต่อ อะไรทำนองนี้

ที่สำคัญคือมันทำให้เราไม่ยึดตัวบุคคล ไม่ใช่ว่าฉันอยู่ฝั่งธนาธร ฉะนั้นธนาธรพูดอะไรถูกหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอก ธนาธรอาจผิดในบางเรื่องก็ได้ หรือคนที่เราไม่ชอบ ก็อาจถูกในบางเรื่องก็ได้ แล้วในที่สุดเมื่อดีเบตจบ ก็จะมีข้อสรุปกันว่า ตกลงใครพูดเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า ตรรกะถูกต้องมากกว่า

เราอยากจัดดีเบตแบบนี้ เพราะมันคือการสร้างความคิดอีกแบบ สร้างพฤติกรรมอีกแบบที่ไม่ต้องยึดกับตัวบุคคลมากนัก แต่ยึดจากความคิดและเหตุผลที่แต่ละคนพูด เราไม่ได้ต้องการหาผู้ชนะที่ได้คะแนนเยอะสุด หรือคารมดีสุด แต่ชนะเพราะคนฟังเห็นว่าเหตุผลชุดนี้ ความคิดชุดนี้ถูกต้องมากกว่

แล้วทำไมถึงยังไม่ได้จัด ติดปัญหาอุปสรรคอะไร

ยังไม่พร้อมมากกว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่ตอนนี้ คือการสร้างหลักสูตรหรือคู่มือเรื่อง critical thinking ขึ้นมา เพราะหัวใจสำคัญที่จะทำให้ดีเบตแบบที่เราอยากทำสำเร็จได้ ก็คือคนต้องฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ มีกระบวนการคิดแบบมีเหตุมีผลให้เป็นก่อน แล้วคุณค่อยไปดีเบต

ถ้าเป็นหลักสูตรดีเบตของเมืองนอก เขาจะไม่เน้นเรื่อง critical thinking มาก เพราะเขาฝึกทักษะนี้กันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอเอามาใช้ในเมืองไทย มันไม่เวิร์ก เพราะเราเรียนแบบท่องจำมาตลอด ตอนนี้เราเลยพยายามสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาให้กับครู พัฒนาทีมเทรนเนอร์ที่ใช้ critical thinking เป็น แล้วให้เขาเอาไปเวิร์คช็อปต่อในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย เราว่าคนไทยต้องฝึกเรื่องนี้กันเยอะๆ แล้วมันน่าจะนำไปสู่สังคมที่เราอยากเห็นได้

คิดว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ หรือต้องรออีกนานแค่ไหน

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องรอนิดนึง ในแง่ที่ว่าอย่าให้อะไรมาตัดตอนเราได้อีก ถ้าช่วงที่ผ่านมาประชาธิปไตยไม่ถูกตัดตอนด้วยรัฐประหาร กระทั่งว่าถ้าทักษิณไม่ถูกรัฐประหาร ป่านนี้ทักษิณก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ด้วยข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นมาเยอะแยะไปหมด ถึงจุดหนึ่งคนก็อาจไม่เอาทักษิณแล้วก็ได้

แต่พอคุณไปตัดตอน นักการเมืองเองก็ไม่ได้เรียนรู้ คิดว่าคนยังโปรตัวเองอยู่ ถ้าไม่มีรัฐประหาร ทั้งประชาชนและนักการเมืองจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นักการเมืองจะเรียนรู้ว่าเสียงประชาชนมีผลต่อเขาจริง ประชาชนก็จะเรียนรู้ว่าสิทธิ์และเสียงของเขามีความหมายจริงๆ

ประเด็นคือการเรียนรู้ต้องใช้เวลา แต่เราไม่ค่อยเกิดการเรียนรู้เพราะมีคนมาตัดตอนเกือบทุกครั้ง

สุดท้ายแล้วนิยามของ Book Re:public ในแบบของคุณคืออะไร เป็นแค่ร้านหนังสือ เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความเห็น เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย ฯลฯ

Book Re:public ด้วยตัวของมันเองไม่เคยเป็นแค่ร้านขายหนังสือมาตั้งแต่แรก และไม่เคยนิยามตนเองว่าเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยอะไรขนาดนั้น เราไม่สามารถบอกได้ตายตัวว่า Book Re:public ต้องเป็นแบบไหน เพราะโลกนี้มีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังคงไว้คือการดำเนินงานใดๆ จะอยู่บนหลักการของการเคารพสิทธิของเพื่อนมนุษย์ และยืนอยู่ข้างความเป็นธรรม

ถ้าย้อนไปถึงที่มาของคำว่า Book Re:public ตอนจะเปิดร้านเรามีคอนเซ็ปต์ว่าเราต้องการมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดและจินตนาการให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ผ่านวรรณกรรม ผ่านหนังสือต่างๆ รวมทั้งวงเสวนาที่พูดถึงเรื่องราวของสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์

คำว่า Re: มีความหมายว่า ‘ที่ว่าด้วยเรื่อง’ ส่วน public แปลว่าสาธารณะ Book Re:public จึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เป็นประเด็นสาธารณะและผู้คนในสังคม

รจเรข วัฒนพาณิชย์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save