fbpx
ขอความรักบ้างได้ไหม : Rocketman

ขอความรักบ้างได้ไหม : Rocketman

 ‘นรา’ เรื่อง

 

 

เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะกล่าวถึง Rocketman โดยไม่นำไปเทียบเคียงกับ Bohemian Rhapsody เนื่องจากมีหลายสิ่งหลายอย่างคลับคล้ายใกล้เคียงกันมาก

ทั้งจากระยะเวลาในการสร้างและออกฉายทิ้งช่วงห่างไม่นานนัก ความเป็นหนังเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงานของศิลปินเพลงระดับตำนาน ซึ่งเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน คือ เอลตัน จอห์น กับ เฟรดดี เมอคิวรี เส้นทางชีวิตที่หนังนำมาบอกเล่า เริ่มที่พื้นฐานครอบครัวในวัยเด็ก การค้นพบศักยภาพของตนเอง การเข้าสู่วงการเพลงและสร้างชื่อจนประสบความสำเร็จ ช่วงเวลาวิกฤตประสบปัญหาหนักหน่วงจนชีวิตพังพินาศ และการฟื้นฟูตนเองจนสามารถกลับมายืนหยัดขึ้นใหม่อีกครั้ง

กล่าวได้ว่า เป็นพล็อตเรื่องเดียวกันเป๊ะ

ตรงนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปตามขนบของหนังเกี่ยวกับชีวิตศิลปิน (ทั้งที่สร้างจากเหตุการณ์จริง หรือแต่งขึ้นใหม่) ซึ่งหนีจากโครงสร้างดังกล่าวได้ยาก แต่อีกส่วนหนึ่งคือ รายละเอียดในชีวิตของเอลตัน จอห์น กับ เฟรดดี เมอคิวรี ก็มีความพ้องพานอยู่ในรูปรอยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กที่ปราศจากความสุข ปัญหาเพศสภาพที่ต้องซ่อนเร้นปิดบังไม่ให้ใครอื่นล่วงรู้ การพบเจอรักลวงมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่หวังกอบโกยฉกฉวยผลประโยชน์ จนชักนำพาให้ชีวิตมุ่งสู่หายนะ

ปัจจัยต่อมาที่ทำให้หนัง 2 เรื่องนี้เกี่ยวโยงกันคือ ทีมงานผู้สร้าง Rocketman กำกับโดยเด็กซ์เตอร์ เฟล็ทเชอร์ ซึ่งมีเครดิตเป็นโปรดิวเซอร์ใน Bohemian Rhapsody ด้วย

ข้อมูลซึ่งผมยังพิสูจน์ยืนยันไม่ได้ว่าเท็จจริงประการใด เล่าไว้ว่า หลังจากที่ไบรอัน ซิงเกอร์ โดนไล่ออกระหว่างการถ่ายทำ Bohemian Rhapsody เด็กซ์เตอร์ เฟล็ทเชอร์คือผู้ที่เข้ามาสานต่อกำกับหนังประมาณหนึ่งในสามที่เหลือ จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้น แต่เครดิตผู้กำกับยังคงเป็นของไบรอัน ซิงเกอร์ ส่วนเฟล็ทเชอร์ก็ได้เครดิตทางอ้อมในฐานะโปรดิวเซอร์

ถ้าข้อมูลเป็นไปตามนี้จริง ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า ตรงไหนส่วนใดใน Bohemian Rhapsody เป็นฝีมือกำกับของเด็กซ์เตอร์ เฟล็ทเชอร์นะครับ เพราะการถ่ายหนังนั้นไม่ได้เรียงหนึ่ง สอง สาม ตามลำดับเหมือนเวลาที่เราดูเมื่อสำเร็จเสร็จแล้ว แต่ถ่ายโดยยึดคิวว่างของนักแสดงและโลเคชัน ซึ่งสลับก่อนหลังไปมาไม่เป็นระเบียบ

อย่างไรก็ตาม เครดิตการข้องเกี่ยวกับตำแหน่งสำคัญในหนัง 2 เรื่องนี้ ก็พอจะยืนยันได้ว่าเด็กซ์เตอร์ เฟล็ทเชอร์นั้น คงมีความสันทัดจัดเจนในการทำหนังเพลงหรือหนังประวัติชีวิตศิลปินเพลงอยู่

เสียงตอบรับคำวิจารณ์ของ Bohemian Rhapsody และ Rocketman อยู่ในเกณฑ์ดีทั้งคู่ แต่ที่แตกต่างตรงข้ามคือ เรื่องแรกประสบความสำเร็จทำเงินถล่มทลายไปทั่วโลก รวมทั้งกวาดรางวัลไปเยอะแยะมากมาย ขณะที่เรื่องหลัง ล้มเหลวในด้านรายได้ และน่าจะส่งผลต่อโอกาสการลุ้นรางวี่รางวัลในอนาคต (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหลือเกิน)

ปัจจัยเงื่อนไขกว้างๆ ก็คงเป็นด้วยว่า หนังออกฉายระยะใกล้กันเกินไป  Rocketman ในฐานะผู้มาทีหลังจึงเสียเปรียบตกเป็นรองทุกประการ และมีทีท่าว่าจะเข้าข่าย ‘แห่ตาม’ ความสำเร็จของผู้มาก่อน  อีกประการหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะใช่เหตุผลที่เป็นรูปธรรมกว่าก็คือ Rocketman เลือกที่จะสร้างความแตกต่าง ด้วยการเล่นท่ายาก (ตรงนี้ไม่ได้แปลว่า หนังดูยาก เข้าใจยากนะครับ แต่หมายถึงหนังใช้วิธีเล่าเรื่องที่ซับซ้อนผิดแผกจากขนบและความคุ้นเคยของผู้ชมมากกว่า)

การเล่นท่ายากนี้ ส่งผลให้ผู้ชมจำนวนไม่น้อยรับมุกไม่ทัน หรืออาจจะผิดไปจากความคาดหวัง ไม่ได้พบสิ่งที่ตนเองอยากจะเห็นจากหนัง และกลับได้รับอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปไกล จนนำไปสู่การต่อต้านปฏิเสธ หรือพูดง่ายๆ คือ ‘ไม่ซื้อ’

Bohemian Rhapsody เลือกวิธี ‘จำลอง’ เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเฟรดดี เมอคิวรี โดยพยายามทำให้ภาพที่ปรากฏในหนังใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง แม้จะโดนตำหนิจากแฟนพันธุ์แท้และผู้รู้ประเภทเคร่งครัดอยู่บ้าง ในแง่ความคลาดเคลื่อนไม่แม่นยำเรื่องลำดับเวลา แต่ก็สามารถเข้าใจและแก้ต่างแทนได้ว่า เป็นการปรุงแต่งเพื่อมุ่งหวังผลทางด้านการสร้างอารมณ์ร่วม ในลักษณะเดียวกับที่ศัพท์วรรณกรรมเรียกว่า poetic license หรือ artistic license (แปลคร่าวๆ ก็คือ สิทธิพิเศษของกวีหรือศิลปิน ซึ่งมีอิสระในการนำเสนอสร้างงาน ซึ่งในบางครั้งอาจปรุงแต่งจนออกนอกกรอบ แหวกขนบแบบแผน กฎเกณฑ์ หรือผิดไปจากความจริงโดยเจตนา เพื่อผลทางด้านความงาม มิใช่ทำไปด้วยความอ่อนด้อยหรือขาดความรู้ ตัวอย่างเช่น สำนวนเพรียวลมไม่เป็นไปตามหลักไวยากรณ์ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือบทกวีที่มีอิสระไม่ถือเคร่งตามฉันทลักษณ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์)

อย่างไรก็ตาม poetic license นี้ ก็มีเกณฑ์กำกับอยู่บ้างเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนทำงานศิลปะจะสามารถปู้ยี่ปู้ยำทำอะไรชุ่ยๆ ได้ตามใจชอบ จนเหลวไหลเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะ หลักยึดเหนี่ยวมีอยู่ง่ายๆ แค่ว่า ทำแล้วควรจะได้ผลลัพธ์ออกมาดี เกิดเป็นความงาม หรือบ่งชัดถึงความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน

กลับมาต่อที่ Rocketman นะครับ การเล่นท่ายากที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ก็คือ หนังเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องในรูปแบบ ‘คำให้การ’ ของเอลตัน จอห์น ขณะสภาพจิตใจกำลังตกต่ำดำดิ่ง จนต้องเข้าบำบัดรักษาตัวให้หายจากอาการติดเหล้าและยาเสพติด

พูดง่ายๆ คือ ช่วงตอนบำบัดนี้เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันของหนัง จากนั้นก็ตัดสลับย้อนกลับไปสู่อดีต ซึ่งเป็นการบอกเล่าปัญหาของเอลตัน จอห์น ต่อสมาชิกในกลุ่มผู้ป่วย

และในการตัดสลับเล่าย้อนเหตุการณ์ครั้งแรก ขณะกำลังพูดถึงชีวิตตั้งแต่เมื่อครั้งวัยเด็ก จากคำบอกเล่าตามปกติ จู่ๆ หนังก็ให้ตัวละครลุกขึ้นมาร้องเพลง กลายเป็น musical ในลีลาดั้งเดิม

คำว่า musical มีความหมายครอบคลุมกินขอบเขตค่อนข้างกว้าง เบื้องต้นสุดเป็นศัพท์ใช้เรียกประเภท (genre) หนึ่งของหนัง

รูปแบบ ‘หนังเพลง’ นั้น พอจะแบ่งคร่าวๆ ได้ 2-3 กลุ่ม

อย่างแรกเป็นหนังเพลงที่อิงอยู่กับความสมจริง (หนังเพลงส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นิยมใช้วิธีการนี้) ตัวอย่างเช่น Bohemian Rhapsody หรือ A Star is Born (เวอร์ชันล่าสุดที่แสดงโดย แบรดลีย์ คูเปอร์ และ เลดี้ กากา) หนังเพลงกลุ่มนี้ การปรากฏของเพลง มักแสดงให้ผู้ชมทราบถึงที่มาที่ไปของเพลง ผ่านฉากซ้อมดนตรีหรือการแสดงคอนเสิร์ต บางครั้งอาจจะมีข้อยกเว้น ด้วยการใช้ในลักษณะเพลงประกอบ คล้ายๆ มิวสิควิดีโอ

กลุ่มต่อมาเป็นหนังเพลงแบบดั้งเดิมแผนโบราณ อย่าง The Sound of Music, Singin’ in the Rain, West Side Story หรือ La La Land ตัวละครสามารถลุกขึ้นมาร้องเพลงเต้นรำได้ทุกเมื่อ มีบรรยากาศพาฝัน ไม่คำนึงถึงความสมจริง และมีกลิ่นอายเป็นแฟนตาซี

กลุ่มสุดท้าย มีให้เห็นกันไม่มากนัก คือ หนังที่ใช้วิธีเล่าด้วยเพลงตลอดทั้งเรื่อง โดยแทบจะไม่มีบทสนทนาตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นการดัดแปลงมาจากละครเวที เช่น Evita, The Phantom of the Opera และ Les Miserables

ฉากร้องเพลงและเต้นรำใน musical แผนโบราณนั้น ทำหน้าที่สำคัญอยู่ 2-3 ประการ อย่างแรกเป็นการสร้างสีสันแรงดึงดูดให้กับเรื่องที่จะเล่า ถัดมาคือ ใช้เพื่อเล่าเรื่องดำเนินเหตุการณ์ตามปกติทั่วไป

แต่ประโยชน์ใช้สอยสำคัญสุดของฉากร้องเพลงใน musical แบบดั้งเดิมก็คือ มันเป็นเสมือนเสียงสะท้อนถึงความคิด ความในใจ หรือความใฝ่ฝันความปรารถนาของตัวละคร ว่ากำลังตกอยู่ในภาวะอารมณ์เช่นไร ซึ่งถ้าหากให้ตัวละครพูดจาออกมาตรงๆ อาจแลดูจงใจและดูล้นเกิน ขาดชั้นเชิง และให้ความรู้สึกเหมือนฟังละครวิทยุ

การใช้เพลงอธิบายความในใจของตัวละครนี้ จึงมีกลิ่นอาย ‘เหนือจริง’ มีความเป็นแฟนตาซี  ห่างไกลหลุดพ้นจากความสมจริง (จนถือกันว่า หนังเพลงแบบนี้ เป็นงานจำพวกที่นำพาผู้ชมหลีกหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริงชั่วขณะ) แต่ด้วยความที่สร้างและทำกันมานาน มีจำนวนปริมาณเยอะแยะมากมาย จึงเกิดเป็นขนบอันคุ้นเคยที่ผู้ชมยอมรับ (ในความไม่สมจริง ไม่สมเหตุสมผล) ได้ง่าย

ผมคิดว่า ความน่าสนใจเบื้องต้นสุดของ Rocketman อยู่ตรงนี้ครับ ตรงที่นำเอาวิธีของหนัง musical ในแบบที่เป็นแฟนตาซี มาบรรจุลงในหนังประวัติชีวิตของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง จนเกิดเป็น contrast เป็นภาพตัดแย้งหรือส่วนผสมที่แปลก

กล่าวอีกนัยหนึ่ง Rocketman ประกาศแสดงตัวเด่นชัดว่าไม่ได้มีเจตนาจะเล่าเรื่องชีวิตของเอลตัน จอห์น อย่างถี่ถ้วนสมจริง หลายๆ เหตุการณ์ (หรืออาจจะพูดได้ว่าทุกช่วงตอน) นำเสนออย่างรวบรัดพอให้ผู้ชมรับทราบแต่พอประมาณ ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพความเป็นมาช่วงวัยเด็กของตัวละคร  เบื้องหลังจุดกำเนิดของผลงานเพลงชิ้นสำคัญ ชีวิตการแต่งงานของเอลตัน จอห์นที่เกิดขึ้น-จบลงในเวลาอันรวดเร็ว ฯลฯ

หนังเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่มีรายละเอียดบางๆ ทำนองนี้อยู่เยอะแยะเกลื่อนกลาด จนเหมือนเป็นเศษเสี้ยวชิ้นส่วนที่ไม่ครบถ้วน มองในแง่นี้ Rocketman ก็เป็นหนังประวัติชีวิตเอลตัน จอห์นที่มีช่องว่างรูโหว่ และเล่าเรื่องบกพร่อง

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายเจตนาของคนทำหนัง ดูเหมือนจะทะเยอทะยานไปไกลกว่านั้น คือมุ่งที่จะลงลึกไปยังการอธิบายถึงสุขทุกข์ในใจอันสลับซับซ้อนของเอลตัน จอห์นมากกว่าการเล่าเหตุการณ์

ในแง่นี้ หนังประสบความสำเร็จน่าประทับใจ

 

 

Rocketman ใช้วิธีการของหนังเพลงทั้ง 2 แบบ คือแสดงให้เห็นที่มาที่ไปของฉากร้องเพลงด้วยลีลาสมจริงตามปกติ และฉากร้องเพลงที่เป็นแฟนตาซีแบบหนังเพลงยุคเก่า โดยที่น้ำหนักความโดดเด่นอยู่ที่อย่างหลัง

หนังใช้ประโยชน์จากลีลา musical แบบที่จู่ๆ ตัวละครลุกขึ้นมาร้องเพลงเต้นรำ (รวมกระทั่งตัวละครอื่นๆ ที่ร่วมฉาก พร้อมใจกันร้องเพลงทุกคน) อย่างคุ้มค่า ตั้งแต่การทำหน้าที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน แสดงการเปลี่ยนผ่านจากช่วงเวลาหนึ่งไปสู่อีกช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่ต่อเนื่องกันอย่างลื่นไหล ไม่เกิดอาการสะดุดติดขัด การสลับคั่นข้ามฟากไปมาและจำแนกแยกแยะระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งความฝันอย่างแนบเนียน

แต่ที่สำคัญสุดคือ ฉากที่เป็น musical เหล่านี้ค่อยๆ นำพาผู้ชมเข้าไปร่วมรับรู้ความรู้สึกนึกคิดและปัญหาชีวิตของเอลตัน จอห์นอย่างใกล้ชิด

ที่น่าทึ่งก็คือ คำอธิบายที่ใช้แจกแจงด้านลึกอันซับซ้อนทั้งหมดของตัวละคร เป็นเนื้อร้องในบทเพลงเด่นๆ ของเอลตัน จอห์น (เขียนคำร้องโดยเบอร์นี เทอร์ปิน ซึ่งการจับคู่ทำงานร่วมกันของเขากับเอลตัน จอห์น เป็นหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของหนัง)

พูดอีกแบบคือ เพลงต่างๆ ทั้งหมดที่ใช้ในฉาก musical ไปไกลเกินกว่าแค่การเป็นบันทึกหรือนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของศิลปิน แต่เป็นการร้อยเรียงจัดลำดับ (โดยไม่คำนึงถึงช่วงเวลาที่สร้างงานออกมาแบบซื่อตรงตามข้อเท็จจริง) เสียใหม่ เพื่อเล่าขยายความประวัติชีวิต และเป็นการนำบทเพลงที่มีอยู่แล้วมา ‘ตีความใหม่’ ให้ความสลับซับซ้อนในใจของเอลตัน จอห์น กลายเป็นภาพในเชิงรูปธรรม

ฉาก musical ในหนัง ยังมีการนำเสนอแบบจัดลำดับไล่โทนหนักเบาทางอารมณ์ด้วยนะครับ เริ่มแรกก็เป็นฉากร้องเพลงเต้นรำในหนังเพลงที่ไม่ซับซ้อน เป็นเพลงหวาน เพลงเศร้า เพลงสนุกตามปกติ แต่เมื่อเรื่องราวขมวดเข้มยิ่งขึ้น การปรากฏของฉาก musical ก็ยิ่งทวีความเป็นแฟนตาซี หน่วง หลอน และก้าวล่วงจากโลกภายนอกรอบๆ ตัว เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดภายในใจของตัวละครมากขึ้นเรื่อยๆ (จนถึงขีดสุดในเพลง Rocket Man ซึ่งนำมาใช้เป็นชื่อหนัง แต่สะกดโดยเว้นวรรคต่างกัน)

 

 

เป็นเรื่องยากสำหรับผมอยู่สักหน่อยในการจับใจความสาระสำคัญของหนัง ผ่านเนื้อร้องในบทเพลงที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากจำคำร้องได้เพียงน้อยนิด แต่สรุปใจความกว้างๆ ในแง่ภาพรวมได้ว่า สาระสำคัญหลักๆ ของ Rocketman มีอยู่ 2 แง่มุม

ประเด็นแรกคือ มันสะท้อนเรื่องราวของคนผู้หนึ่ง ซึ่งมีชีวิตวัยเด็กย่ำแย่ เติบโตมาในครอบครัวที่ปราศจากความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ จนกระทั่งไม่พึงพอใจต่อตัวตนที่เป็นอยู่ และเมื่อค้นพบศักยภาพความสามารถพิเศษที่มีอยู่ ก็ใช้พรสวรรค์ดังกล่าวสร้างอีกตัวตนหนึ่ง เป็น ‘คนในแบบที่อยากเป็น’ ขึ้นมา จากนั้นก็ต้องพบกับความขัดแย้งขับเคี่ยวระหว่างตัวตนทั้งสองแบบเป็นเวลายาวนาน

พูดอีกแบบคือ เป็นเรื่องของคนที่พยายามสร้างชีวิตตนเองเป็นเอลตัน จอห์น เพื่อสลัดให้หลุดพ้นจากความเป็นเรจินัลด์ ดไวท์ที่ไม่พึงปรารถนา

ประเด็นต่อมาคือ ตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาของเรจินัล ดไวท์หรือเอลตัน จอห์น ขาดแคลนความรัก จึงต้องพยายามดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อให้ได้มา แต่ยิ่งประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเงินทอง เป้าหมายนั้นก็ยิ่งห่างไกล และกลายเป็นเรื่องยากขึ้น จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตหนักหน่วงสาหัส

ทั้งหมดที่เล่ามา อาจชวนให้ท่านที่ยังไม่ได้ดูหนัง นึกและเข้าใจไปได้ว่า Rocketman เป็นหนังหนักอึ้งตึงเครียดหรือดูยากนะครับ แต่ความเก่งกาจของคนทำหนัง ทั้งผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดง (รวมถึงการเลือกใช้วิธีแบบ musical) ก็ทำให้เรื่องเล่าว่าด้วยชีวิตอันหดหู่หม่นหมอง ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างเข้มข้น ดำเนินเรื่องกระชับฉับไว สนุกชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ มีความบันเทิงอยู่เต็มเปี่ยม และเข้าข่ายเป็นอีกตัวอย่างที่ดีของ ‘การเล่าเรื่องยาก ให้เข้าใจง่าย’

พร้อมๆ กับความโดดเด่นของวิธีลีลาทางภาพยนตร์ การแสดงของทารอน เอเกอร์ตันก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ โดยรูปลักษณ์หน้าตา (ซึ่งผ่านการแต่งหน้าแล้ว) ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า  ไม่เหมือน-ไม่มีความละม้ายคล้ายเอลตัน จอห์นเลย เมื่อเขาปรากฏตัวในฉากแรก ความรู้สึกนี้ก็ยิ่งชัด แต่ครั้นติดตามไปเรื่อยๆ ผม (เชื่อว่ารวมทั้งผู้ชมส่วนใหญ่ด้วย) ก็ค่อยๆ รู้สึกคล้อยตามจนยอมรับสนิทใจตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่ทราบว่า นี่คือ เอลตัน จอห์น

ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ ทารอน เอเกอร์ตัน ร้องเพลงในหนังทั้งหมดด้วยตนเอง ไม่ใช่การแสดงแบบลิปซิงค์ รวมถึงในการร้องแต่ละบทเพลง ยังบ่งชัดถึงการตีความเพลงและตีความสภาวะขณะนั้นของตัวละครด้วย

เป็นการแสดงที่เข้าลักษณะ ‘ไม่เหมือน แต่ใช่’ โดยแท้

สำหรับคนที่เป็นแฟนของเอลตัน จอห์น Rocketman เป็นหนังที่ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง สำหรับคนที่ไม่รู้จักและไม่เคยฟังเพลงของเอลตัน จอห์นมาก่อน นี่คือหนังที่จะทำให้คุณรักเอลตัน จอห์น และซาบซึ้งดื่มด่ำประทับใจกับผลงานเพลงอันเยี่ยมยอดของเขา

กระซิบดังๆ ตรงนี้แบบไม่ได้มีเจตนาจะเทียบเคียงว่าหนังเรื่องไหนดีกว่ากันนะครับ

ผมชอบ Rocketman มากกว่า Bohemian Rhapsody เยอะเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save