fbpx

สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ: สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพ

ถ้าเราดูหนังฮอลลีวูดที่มีฉากการจับกุม เรามักจะได้ยินตำรวจสหรัฐฯ พูดกับผู้ถูกจับว่า

“คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด

ถ้อยคำที่พูดอาจใช้เป็นเป็นพยานหลักฐานในศาลได้

คุณมีสิทธิที่จะพบทนายความ

ถ้าคุณไม่สามารถจ่ายค่าทนายความได้ จะมีการตั้งทนายความให้คุณ

คุณเข้าใจสิทธิที่เราอ่านให้คุณฟังหรือไม่  คุณต้องการพูดอะไรหรือไม่”

ฉากในภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นถึงสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพซึ่งมีฐานะเป็นทั้งสิทธิมนุษยชนสากล สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิในการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพมีค่าเป็นสิทธิมนุษยชนสากล ในฐานะสิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม (right to a fair trial) ซึ่งได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14.3 (g)[1] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการบริหารกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม[2]  

สิทธิดังกล่าวมีค่าเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรค 4 ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้” โดยฉบับแรกที่รับรองสิทธิดังกล่าว คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาตรา 243[3]   

นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังปรากฏสิทธิดังกล่าวอยู่หลายมาตรา คือ มาตรา 83 มาตรา 84 มาตรา 134/4 มาตรา 135 มาตรา 172 วรรค 2 และมาตรา 232

เหตุที่ต้องให้ความคุ้มครองสิทธินี้กับประชาชน เนื่องจากในการดำเนินคดีอาญา รัฐมีหน้าที่พิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยรัฐจะต้องไม่นำพยานหลักฐานที่ได้รับจากผู้ถูกดำเนินคดีโดยไม่สมัครใจ เช่น จากการถูกบังคับ ถูกข่มขู่ มาเป็นหลักฐานในการลงโทษ[4]

1

ความหมายของสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพ

สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพมีความหมาย 3 ประการ คือ

1. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่นำพยานหลักฐานที่ได้จากการถูกบังคับ ถูกข่มขู่ หรือโดยไม่สมัครใจ มาใช้เป็นหลักฐานในการลงโทษผู้ต้องหาหรือจำเลย[5]

2. การถูกบังคับให้รวมถึงสถานการณ์ที่ผู้ต้องหาอาจถูกลงโทษหากไม่พูดความจริงหรือถูกลงโทษหากไม่พูด[6]

3. เมื่อตำรวจตั้งข้อหาและบุคคลตกเป็นผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับการแจ้งถึงสิทธิที่จะนิ่งและไม่ให้การปรักปรำตนเอง[7]

อย่างไรก็ดี สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองมีข้อยกเว้นบางประการ[8] เช่น

1. สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้พูด ไม่ได้ขยายไปถึงพยานวัตถุ ดังนั้น แม้วิธีการได้พยานหลักฐานจะฝืนใจผู้ถูกดำเนินคดี เช่น เอกสารที่ได้จากหมายค้นของศาล ลมหายใจ เลือด ปัสสาวะ หรือเนื้อเยื้อจากการตรวจ DNA พยานที่เป็นวัตถุดังกล่าวก็สามารถรับฟังในศาลได้[9]  

2. การพิจารณาว่าการสอบปากคำผู้ต้องหาใดเป็นการบังคับให้ผู้ต้องหาพูดหรือไม่ ให้ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป โดยคำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ลักษณะและระดับแห่งการบังคับว่ารุนแรงเพียงใด การมีอยู่ของหลักประกันสิทธิระหว่างการพิจารณาว่ามีอยู่หรือไม่[10]

3. การที่ผู้ต้องหาไม่พูดหรือไม่ให้การใดๆ ไม่ใช่จะไม่มีความหมายในทางคดี หมายความว่า ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยเพียงอาศัยเหตุเดียวว่าจำเลยไม่ยอมพูด แต่การที่จำเลยไม่พูดหรือไม่ให้การใดเลยอาจนำไปสู่ข้อสงสัยหรือข้อพิรุธเพื่อนำมาประกอบกับการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอื่นในการลงโทษจำเลยได้[11]

สิทธิตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะถูกทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ นอกเหนือจากการทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักถึงสิทธิของประชาชนแล้ว องค์กรตุลาการก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นจริง

2

การทำให้สิทธิตามตัวอักษรปรากฏเป็นจริงในสหรัฐอเมริกา

สิทธิที่เขียนในรัฐธรรมนูญจะเป็นแค่ตัวอักษร หากไม่มีกระบวนการทำให้สิทธิกลายเป็นจริง ศาลจึงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้สิทธิตามตัวอักษรปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ดังเช่น ศาลฎีกาสหรัฐในคดี Miranda v. Arizona, 384 US 436 (1966)[12] ค.ศ. 1966

แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขครั้งที่ 5 (Fifth Amendment) ได้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง (privilege against self-incrimination) และให้มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม[13] แต่ในอดีต สิทธิดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ เวลาตำรวจสหรัฐฯ จับกุมผู้ต้องหา ตำรวจก็ไม่ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหารู้ ผู้ต้องหาก็ไม่รู้ถึงสิทธิของตนเอง เมื่อตำรวจถามปากคำ ผู้ต้องหาที่ไม่ทราบสิทธิของตนก็รับสารภาพไป ต่อมาตำรวจก็นำคำรับสารภาพนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในศาล ศาลในสหรัฐก็ลงโทษโดยอาศัยคำรับสารภาพนั้นเรื่อยมา

Miranda ก็เช่นกัน Miranda เป็นผู้ต้องหาถูกตำรวจแจ้งข้อหาลักพาตัวและข่มขืนกระทำชำเราเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง Miranda ถูกควบคุมตัวและถูกสอบปากคำในห้องสอบสวนที่ตัดขาดจากโลกภายนอก ตำรวจสองคนสอบปากคำ Miranda โดยไม่ได้แจ้งให้ Miranda ทราบถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญว่าเขามีสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง หลังการสอบสวนปากคำยุติลง Miranda เซ็นรับสารภาพ บันทึกคำรับสารภาพดังกล่าวถูกนำมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก Miranda คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาพร้อมกับคดีอื่นๆ ที่มีประเด็นคล้ายๆ กัน   

ศาลฎีกาสหรัฐพิพากษาว่า

1. สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 นำไปใช้นอกศาลด้วย (หมายถึงนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตั้งแต่ชั้นตำรวจด้วย)

2. อัยการไม่อาจนำคำพูดของผู้ต้องหาที่พูดระหว่างการถูกสอบปากคำภายใต้การควบคุมตัว (custodial interrogation)[14] มาใช้เป็นพยานในศาลได้ เว้นแต่จะมีการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวอย่างมีประสิทธิผล

3. หากไม่มีกระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว เท่ากับเป็นการสร้างแรงกดดันและบังคับให้เขาต้องพูดทั้งๆ ที่เขามีสิทธิที่จะไม่พูด ดังนั้น ก่อนที่จะมีการตั้งคำถาม ผู้ถูกควบคุมตัวจึงต้องได้รับการแจ้งเตือนว่า “เขามีสิทธิที่จะไม่พูด สิ่งที่เขาพูดอาจใช้เป็นพยานในชั้นศาล เขามีสิทธิที่จะมีทนายความ และถ้าเขาไม่สามารถจ่ายค่าทนายได้ แต่เขาต้องการทนายความ เขาจะได้รับการตั้งทนายความ”[15]

ศาลจึงตัดสินว่าคำรับสารภาพของ Miranda รับฟังเป็นพยานในศาลไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งสิทธิให้ Miranda ทราบ  แม้ต่อมา Miranda จะถูกลงโทษในคดีลักพาตัวและข่มขืนกระทำชำเราเพราะมีพยานหลักฐานอื่นชี้ว่า Miranda เป็นผู้กระทำความผิดจริงก็ตาม แต่คดี Miranda v. Arizona ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงบทบาทของศาลในการทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากลายเป็นความจริงขึ้นมา และทำให้เราเห็นตำรวจอเมริกาพูดกับผู้ต้องหาเสมอว่า “คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด…”

    3

การทำให้สิทธิตามตัวอักษรปรากฏเป็นจริงในประเทศไทย

ศาลฎีกาไทยก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองปรากฏเป็นจริง โดยศาลพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่ก่อนที่สิทธินี้จะถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเสียอีก   

1. ผู้ต้องหาไม่ตอบคำถามพนักงานสอบสวน หรือแม้แต่ผู้ต้องหาพูดเท็จ ย่อมไม่มีความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2528[16] เรื่องราวในคดีนี้คือ ท. เป็นคนต่างด้าวต้องอยู่ในเขตควบคุม แต่ ท.หลบหนีออกจากเขตควบคุม ท. จึงถูกจับดำเนินคดีอาญาในข้อหาเป็นคนต่างด้าวหลบหนีจากเขตควบคุม ในขณะที่อยู่ในความควบคุมของตำรวจ ท. พูดเท็จกับจ่าสิบตำรวจ ส. ว่าตนไม่ใช่คนต่างด้าว ต่อมา ท. ถูกฟ้องศาลหลายคดี และถูกพ่วงข้อหาแจ้งความเท็จกับจ่าสิบตำรวจ ส. ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 อีกด้วย เพราะจริงๆ ท. เป็นคนต่างด้าวแต่ไปพูดกับจ่าสิบตำรวจ ส. ว่าตนไม่ใช่คนต่างด้าว

ศาลฎีกาพิพากษาว่า การที่ ท. พูดกับจ่าสิบตำรวจ ส. เป็นการที่ ท. ให้การปฏิเสธในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาจะให้การรับหรือปฏิเสธอย่างใดก็ได้ เมื่อกฎหมายให้สิทธิแก่ ท. ในฐานะผู้ต้องหาไว้เช่นนี้ แม้ข้อความที่ ท. ให้การนั้นจะเป็นเท็จ ก็ย่อมจะเอาผิดแก่ ท. ฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่ลงโทษ ท. ข้อหาแจ้งความเท็จ

หากคดีนี้ ศาลฎีกาไปลงโทษ ท. ฐานแจ้งความเท็จอีกข้อหาหนึ่ง เท่ากับว่า ท. ในฐานะผู้ต้องหาต้องถูกบังคับให้ต้องพูดสิ่งที่เป็นผลร้ายกับตัวเอง เพราะเกรงจะถูกลงโทษอาญาฐานแจ้งความเท็จ และสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองก็จะไม่มีอยู่จริง

2. หากเจ้าพนักงานทรมานหรือข่มขู่ให้ผู้ต้องหารับสารภาพ คำรับสารภาพก็ไม่อาจรับฟังเป็นพยานในชั้นศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6651/2538[17] จำเลยถูกฟ้องข้อหาร่วมกับผู้อื่นลักทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ปรากฏว่าคำรับสารภาพของจำเลยแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่พยานผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวหลายเรื่อง จำเลยอ้างต่อศาลว่าที่จำเลยยอมให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย

ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยถูกตำรวจขู่ให้สารภาพจริง ศาลจึงพิพากษาว่า คำให้การชั้นสอบสวนที่เกิดจากการขู่เข็ญจึงไม่ชอบ ไม่อาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และ 135 ลำพังเพียงพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยได้ ศาลจึงยกฟ้อง

ในคดีนี้เช่นกันที่ศาลฎีกาทำให้สิทธินี้กลายเป็นจริง เพราะหากศาลเชื่อว่าจำเลยถูกขู่ให้รับสารภาพแล้วยังยอมรับฟังคำรับสารภาพในชั้นศาล เท่ากับเปิดทางให้การขู่ผู้ต้องหาให้รับสารภาพนั้นสามารถทำได้ในคดีอื่นๆ อีกนั่นเอง

3. พนักงานสอบสวนไม่แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง ถ้อยคำของผู้ต้องหาไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานในศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2498[18]  บ. ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกปล้นทรัพย์และทำร้ายผู้อื่น พนักงานสอบสวนไม่ได้ตักเตือน บ. เสียก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 จึงรับฟังเป็นคำรับสารภาพชั้นสอบสวนยัน บ. ไม่ได้ ศาลพิพากษายกฟ้อง บ.

คดีนี้แม้เป็นคดีเก่า แต่ก็เป็นบรรทัดฐานได้ว่า เมื่อพนักงานสอบสวนไม่เตือนให้ บ. ทราบก่อนว่าถ้อยคำที่ บ. พูดกับพนักงานสอบสวนอาจใช้เป็นพยานในศาลได้ บ. พูดอะไรไว้กับพนักงานสอบสวน ศาลก็จะไม่รับฟัง ซึ่งคล้ายกับที่ศาลฎีกาสหรัฐอเมริกาสร้างหลักไว้ในคดี Miranda v. Arizona จนทำให้ตำรวจต้องปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ดี มีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องหนึ่งที่วินิจฉัยต่างออกไป คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2560[19] ข้อเท็จจริงคือจำเลยถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยรับสารภาพโดยไม่มีการแจ้งสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง เพราะกฎหมายฉุกเฉินต่างๆ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิใดๆ ประเด็นคือคำรับสารภาพโดยไม่มีการแจ้งสิทธิรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยในศาลอาญาได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การสอบปากคำจำเลยจึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใดๆ ให้จำเลยทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1

ผลของคำพิพากษาฉบับนี้ คือ ถ้าเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง แต่หากเป็นผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายฉุกเฉินหรือกฎหมายอื่นก่อนที่จะเป็นผู้ต้องหา ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว

การแยกกฎหมายที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินออกจากกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีอาญาคดีก่อการร้ายหรือคดีความมั่นคงน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ หากเจ้าหน้าที่สอบถามผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายฉุกเฉินต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการระงับเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ป้องกันอาชญากรรม รักษาความสงบ หรือรักษาความมั่นคง ก็ไม่จำเป็นที่จะแจ้งสิทธิ แต่หากเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายฉุกเฉินเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ได้กระทำความผิดแล้วในอดีต ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่แจ้งสิทธิที่บุคคลมีตามรัฐธรรมนูญ

4

บทสรุป

อำนาจตุลาการในฐานะองค์กรอิสระมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของปวงชนชาวไทยพร้อมกันกับการคำนึงถึงการรักษาประโยชน์สาธารณะอย่างสมดุล ซึ่งบทบาทของอำนาจตุลาการดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญในการทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายปรากฏเป็นจริง รวมทั้งสิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพ ดังคำกล่าวในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสมาตรา 66 วรรค 2 ที่ว่า L’autorité judiciaire, gardienne de la liberté individuelle, …  หรือ “อำนาจตุลาการ, ผู้พิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน…”


[1] ICCPR 14.3 “In the determination of any criminal charge against him, everyone shall be entitled to the following minimum guarantees, in full equality: … (g) Not to be compelled to testify against himself or to confess guilt.”

[2] Human Rights Committee, General Comment No.32, CCPR/C/GC/32, 23 August 2007, para.2.

[3] รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 243  “บุคคลย่อมมีสิทธิไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนถูกฟ้องคดีอาญา”

[4] Saunders v. the United Kingdom [GC], § 68; Bykov v. Russia [GC], § 92 in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31 December 2019, para. 184.

[5] Saunders v. the United Kingdom [GC], § 68; Bykov v. Russia [GC], § 92 in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31 December 2019, para. 184.

[6] Saunders v. the United Kingdom [GC], Brusco v. France, Heaney and McGuinness v. Ireland; Weh v. Austria in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31 December 2019, para. 186.

[7] Ibrahim and Others v. the United Kingdom [GC], § 272 in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31 December 2019, para. 183.

[8] ปกป้อง ศรีสนิท, สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน,2563), หมายเลข 195.

[9] Saunders v. the United Kingdom [GC], § 69; O’Halloran and Francis v. the United Kingdom [GC], § 47 in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31 December 2019, para. 188.

[10] European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31 December 2019, para. 194.

[11] John Murray v. the United Kingdom [GC], § 47 in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31 December 2019, para. 195.

[12] Miranda v. Arizona :: 384 U.S. 436 (1966) :: Justia US Supreme Court Center

[13] Amendment V “No person…shall be compelled in any criminal case to be a witness against himself,….”

[14] การสอบปากคำภายใต้การควบคุมตัว (custodial interrogation) เริ่มตั้งแต่ที่เจ้าหน้าที่ถามผู้ต้องหาขณะที่ผู้ต้องหาถูกลิดรอนเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งน่าจะหมายถึงเมื่อผู้ต้องหาถูกจับกุม ไปไหนมาไหนไม่ได้โดยอิสระ ก็เป็นการเริ่มต้นของการสอบปากคำภายใต้การควบคุมแล้ว

[15] A defendant must be warned prior to any questioning that he has the right to remain silent, that anything he says can be used against him in a court of law, that he has the right to the presence of an attorney, and that if he cannot afford an attorney one will be appointed for him prior to any questioning if he so desires.” In Facts and Case Summary – Miranda v. Arizona | United States Courts

[16] สืบค้นฎีกา 2015

[17] สืบค้นฎีกา 2015

[18] สืบค้นฎีกา 2015

[19]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2560 สืบค้นฎีกา 2015 , “การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวมทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save