fbpx

พระเจ้ากรุงสยาม The King and I: โครงการอารยธรรมของ ส.ธรรมยศ ในห้วงคำนึงถึงอัจฉริยบุคคล

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันในวัฒนธรรมป็อปในรุ่นแรกๆ ไม่ใช่พัทยาและอาชีพขายบริการ หรือวัดพระแก้ว แต่เป็นเรื่องราวชีวิตอันแปลกประหลาดของของฝาแฝดตัวติดกันอย่างอิน-จันซึ่งทำให้คำว่า ‘แฝดสยาม’ กลายเป็นคำศัพท์ที่ใช้กันในระดับโลก และอีกหนึ่งก็คือกษัตริย์และกรุงสยามที่ถูกเล่าผ่านปากกาของแอนนา เลียวโนเวนส์ ในหนังสือชื่อ The English Governess at the Siamese Court (1870/2413) และ The Romance of the Harem (1873/2416) เรื่องหลังให้ภาพราชสำนักสยามในฐานะดินแดนตะวันออกห่างไกลอันสุดแสนน่าตื่นตาตื่นใจ อีกร้อยกว่าปีผ่านมามันถูกผูกเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง Anna and the King of Siam (1944/2487) โดยมากาเร็ต แลนดอน ความโด่งดังของนิยายทำให้ถูกผลิตเป็นหนัง ละครเวที กระทั่งแอนิเมชัน!

เฉพาะแค่ภาพยนตร์ก็แบ่งได้เป็น 3 รุ่นแล้ว สำหรับคนไทย หนังและความบันเทิงที่พาดพิงไปถึงกษัตริย์เป็นเรื่องที่แสนละเอียดอ่อน และเป็นความบังเอิญเหลือเกินที่ Anna and the King of Siam (1946/2489) ฉายที่สหรัฐอเมริกาหลังกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 เพียง 11 วัน ที่น่าสังเกตคือ ครั้งนั้นมีคนไทยที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคจนกลับมาเขียนหนังสือ แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ที่เกี่ยวข้องกับเบื้องหลังการทำงานและคำแปลบทภาพยนตร์อีกด้วย[1] ขณะที่ The King and I  (1956/2499) เป็นเวอร์ชันที่ถูกจดจำอย่างกว้างขวางด้วยตัวแสดงนำอย่างยูล บรินเนอร์ที่โกนหัว เปลือยกายท่อนบน ทำท่าทางขึงขัง พูดภาษาอังกฤษสำเนียงแปลกแปร่ง ที่สำคัญยังเป็นภาพยนตร์ประเภทมิวสิคัล นักแสดงที่สวมบทรัชกาลที่ 4 ร้องไปเต้นไปอย่างที่คนไทยทั้งหลายคงไม่คิดว่าเหมาะสมนัก ส่วน Anna and the King (1999/2542) ที่นำแสดงโดยดาราเอเชียคนแรกคือโจวเหวินฟะ ประกบด้วยโจดี้ ฟอสเตอร์ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่ครั้งที่รัฐบาลไทยไม่อนุมัติให้ถ่ายทำกระทั่งฉายในประเทศ ช่วงนี้ตรงกับพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของในหลวงรัชกาลที่ 9

เราไม่รู้ชัดว่า แสน ธรรมยศ (ที่เรียกกันในนาม ส.ธรรมยศ) มีโอกาสดูหนังตอนไหน ในยุคที่หนังจากเมืองนอกเข้ามาฉายอย่างล่าช้าด้วยข้อจำกัดหลายประการ แต่การที่เขามีอายุถึงเพียงแค่ปี 2495 ย่อมแสดงให้เห็นว่า เวอร์ชันแรกนั่นเองที่เขาได้รับชม ส.ธรรมยศ ได้แรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้จนนำไปสู่การเขียนหนังสือเล่มสุดท้ายของเขาคือ พระเจ้ากรุงสยาม (Rex Siamen Sium 2495) เขากล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อเทียบกับหนังสือภาษาไทยแล้ว “ไม่เคยมีหนังสือภาษาไทยเล่มใดทำให้เกิดความศรัทธาเทียบเท่าในกาลก่อน ‘ข้าพเจ้า’ รู้สึกซาบซึ้งในความเป็นคนไทยและประเทศสยามหาที่เปรียบมิได้ และรู้สึกจงรักภักดีต่อความเป็นพระมหากษัตริย์เยี่ยง ‘พระเจ้ากรุงสยาม’ อย่างที่สุด กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของกำลังความคิดในการค้นคว้าเรียบเรียงเอกสารนี้”[2]

ส.ธรรมยศ (ต่อไป ขอเรียกว่า ส.) เป็นนักเขียนที่หมกมุ่นอยู่กับการผลักดันให้เกิดวิชาการและวิทยาการใหม่ๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะวิชาปรัชญาที่เขาไปเรียนต่อมาในระดับปริญญาจากเวียดนาม แม้ว่าเราจะย้อนอ่านข้อเสนอของเขาใน พ.ศ. ปัจจุบันจะเห็นว่า งานเขียนทางวิชาการของเขานั้นออกจะพิลึกอยู่สักหน่อย เพื่อนและคนร่วมรุ่นเขามักจะวิจารณ์เขาในแง่ลบ เช่น สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์ “เป็นประเภทเอาหลักไม่ได้ เป็นคนเจ้าอารมณ์” หรือ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้สอนด้านวรรณกรรมวิพากษ์ว่า “เป็นคนรีบร้อนเกินไป ไม่ได้ศึกษาให้กว้างขวางเสียก่อน” กระทั่ง ลาวัณย์ โชตามระ นักเขียนสารคดียังชี้ว่า “เขาไม่ใช่คนเก่งประวัติศาสตร์…ไม่เรียนซ้ายขวามาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาข้อยุติที่ถูกต้อง”[3] จากปากคำเหล่านี้ ทำให้เราเห็นว่าบุคลิกของ ส. มีลักษณะที่ไม่ได้เป็นบุรุษผู้น่ายกย่องมากนัก

โครงการอารยธรรมของ ส.ธรรมยศ

ส. เป็นคนที่ไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่ในสังคมไทยอย่างยิ่ง ทั้งในด้านลักษณะทางกายภาพและสติปัญญาของสังคม จริงอยู่ว่าหลังปฏิวัติ 2475 จนถึงปีที่เขาเขียน พระเจ้ากรุงสยาม ไทยจะมีมหาวิทยาลัยแล้วถึง 4 แห่ง แต่สถานการณ์ด้านความรู้ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะการที่นักวิชาการมีสังกัดมีความเป็นข้าราชการมากกว่า เขายกคำวิจารณ์คนไทยเมื่อ 100 ปีที่แล้วของหมอแมลคัม สมิธว่า “ในประเด็นความฉลาดนั้น คนไทยเป็นเด็กตั้งแต่เกิดจนวันตาย” ส. จึงสรุปว่า “ตลอด 100 ปีที่มีคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ในประเทศสยามนั้น ชาติไทยไม่เคยได้ให้กำเนิด ‘นักวิทยาศาสตร์ของโลก’ แม้ 1 คน ในทางศิลปะ การประพันธ์ กวี การทูต ทางศาสนา จาก ปี 2400-2494 ไม่เคยมีอัจฉริยบุคคล ‘นอกจากจะสรรเสริญกันเอง’”[4]

ส. ยังย้ำว่า บทสำคัญที่สุดใน พระเจ้ากรุงสยาม คือบทที่ 7 อารยธรรมอันไม่ใช่อารยธรรม[5] สำหรับเขา ศาสนาในทวีปเอเชีย คือการสอนให้ชาวเอเชีย “หยุดความรู้”, “สะกดความงอกเงยทั้งปวง”[6] และยังย้ำว่า “ศาสนาที่ไม่มีวิทยาและปรัชญาประคับประคองนั้น จะเป็นศาสนาที่มีค่ามีประโยชน์แก่มนุษยชาติไม่ได้”[7] ไม่เพียงเท่านั้น ส.ยังย้อนไปในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาว่า การที่ชาวไทยในอยุธยา “ตัดหัวกันเองทุกรอบ 10 ปี” ทำให้เราอ่อนแอมากเพียงใด[8]  เขาชื่นชมความเจริญรุ่งเรืองในยุคพระนารายณ์ และต่อต้าน “นโยบาย ‘ปิดสยาม’ (seclusion)” ของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์[9] จนถึงขนาดเสนอว่า แม้ไทยจะเพลี่ยงพล้ำและตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสครั้งนั้น เราอาจจะกลายเป็น “’ปารีสตะวันออก’ ที่ใหญ่โตกว่าหลายร้อยเท่าของอินโดจีนฝรั่งเศส” ก็เป็นได้[10] เพื่อแสดงให้เห็นอันตรายที่มากกว่าเนื่องมาจากการปิดประเทศ

สาเหตุที่เขาเสนอกึ่งประชดก็เพราะเขาเห็นลักษณะเด่นของ ‘ชนผิวขาว’ ที่จะส่งผลต่อความเจริญของประเทศ นั่นคือ “ก.สมรรถภาพทางการอำนวยงาน ข.ความเป็นพหูสูตร ค.การรักษาเวลา”[11] สิ่งเหล่านี้ต่างจากคติคนไทยที่มักสอนกันด้วยคำสอนว่า ‘นกน้อยทำรังแต่พอตัว’ ทำให้ไม่สนใจในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ “ยิ่งรู้มากเพียงใดยิ่งพูดน้อยเพียงนั้น” จึงไม่ก่อให้เกิดการยืนยันความรู้และการเป็นผู้สร้างความรู้ใหม่ๆ ทำให้คนไทยเป็น ‘คนของโลก’ น้อยมาก ส่วนเรื่องการตรงต่อเวลา เห็นได้จากที่เทียนวรรณวิจารณ์ว่า “คนไทยทั้งปวงนั้นไม่มีนาฬิกา ถ้ามีก็เป็นนาฬิกาเสียทุกเรือนไป”[12]

“เราไม่รู้จัก ‘อารยธรรม’ และแม้การค้นคว้าเราก็ไม่เข้าใจกันดีพอ”[13] ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เขาจะมองว่า “คนไทย ‘ไม่ให้’ อะไรแก่มนุษยชาติเลย” [14] ส. ยังอ้างคำวิจารณ์ว่า “ประเทศสยามได้ถูกขนานนามว่าเป็นประเทศที่มี ‘อารยธรรมอันล้าหลัง’ ใน พ.ศ.2492 และเป็น ‘ภัยอย่างยิ่งของลัทธิประชาธิปไตย’” [15]

เขาถึงกับเสนอว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็น ‘เมืองขึ้น’ แต่สภาพของประเทศที่ล้าหลังอยู่เช่นนี้ การไม่ได้เป็นเมืองขึ้นมันได้กลายเป็นต้นเหตุของความล้าหลังหรือไม่ เขาถกเถียงว่า

“ประเทศที่ไร้เอกราชทางเศรษฐกิจ สมควรเป็นประเทศเอกราชหรือไม่?…ประเทศที่ออกกฎหมายปีละ 1,000 ฉบับ บนความยากจนข้นแค้นของประชาชนในนามแห่งคำว่า ‘เอกราช’ จะมีประโยชน์อะไร?…ปล่อยให้สังคมเต็มไปด้วยความพิการบู้บี้…ความล้าหลังโลกด้วยประการทั้งปวงในประเด็นอุตสาหกรรม คมนาคม เทศบาล การไฟฟ้า การประปา สังคมสงเคราะห์ ตลอดจนประกันสวัสดิภาพแก่สังคม (social-security) การศึกษาอาชีพ การค้า ฯลฯ ควรให้ประเทศ ‘เป็นเมืองขึ้น’ ดีกว่ากระมัง แม้จะเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส?”[16]

เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า เขาครุ่นคิดเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ เพื่อยกระดับประเทศ โดยหัวใจสำคัญก็คือการสร้างอารยธรรมขึ้นมา ไม่ใช่เป็นเพียง ‘นักซื้ออารยธรรม’[17] ซึ่งสิ่งที่ได้ก็จะเป็นเพียงอารยธรรมชั้นสอง อย่างเช่น ถนน ท่าเรือ สนามบิน โรงพยาบาล โรงเรียน อาคาร สิ่งเหล่านี้เป็นปลายเหตุ เพราะในที่สุดแล้ว เราก็ยังต้องมาเสียงบประมาณรักษาบูรณะ[18] และเงินที่ได้มานั้นก็มาจากการเรี่ยไร และภาษีที่เก็บจากชาวนา[19]

ตรงข้ามกับอารยธรรมประเภทมีกำลังผลิตเองเพื่อที่จะพึ่งตนเอง[20] ดังนั้นกุญแจสู่การสร้าง ‘อารยธรรม’ ก็คือ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ [21] ตัวอย่างก็คือ หากเราตั้งโรงงาน มันจะนำไปสู่การกลายเป็นเมือง เกิดตลาดเพื่อกรรมกร และอื่นๆ ในภายหลัง ส. วิจารณ์ว่ารัชกาลที่ 4 ไม่เคยสร้างรากฐานนี้[22] เช่นเดียวกับที่วิจารณ์ถึงการที่รัชกาลที่ 5 ไม่ปฏิวัติอุตสาหกรรมแบบญี่ปุ่น[23] จึงไม่ทำให้ไทยก้าวสู่การสร้างอารยธรรมได้  ส. ให้ภาพอุปมาไว้ว่า “สยามประเทศอุปมาดั่งเป็นดรุณียากจนที่แต่งกายตามสมัยนิยม เธอมีและพยายามมีอะไรอย่างทุกอย่างเช่นที่โลกมี แต่เธอมีเรือนมีที่นอนที่สกปรกโย้เย้ จวนเจียนจะพัง ทุกวันทุกมื้อเธอเสพอาหารอันทรามคุณค่า”[24] เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว “ญี่ปุ่นสร้างเฟอร์นิเจอร์เอง และอาจจะสร้างใหม่เสมอไม่มีที่สุดสิ้น”[25] นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังสอนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยทำให้ “ได้ศึกษาโลกทัศน์และการวิเคราะห์สูงสุดจากวิชาปรัชญา”[26] ขณะที่ไทยยังไม่มีวี่แววใดๆ ความเปรียบนี้ชี้ให้เห็นถึงมายาคติหนึ่งที่มักกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นนั้นพัฒนามาพร้อมๆ กันเมื่อช่วงร้อยปีที่แล้ว

นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมของ ส. ก็คือ การเสนอให้ตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค การยกระดับให้มีการสอนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเสนอให้จัดตั้ง ‘สภาการค้นคว้าแห่งชาติ’[27] เพื่อเป็นโครงสร้างสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และงานวิจัย เนื่องจากที่ผ่านมา เราเชื่อแต่การค้นคว้าของ ‘ดอกเตอร์ต่างชาติ’ [28] ส. เห็นว่าสังคมไทย “หลงเชื่อแต่ปริญญาบัตร (Naïve Rationalism) อย่างเดียว ไม่เชื่อเรื่องคนมีหัวค้นคว้าที่ไม่มีปริญญาบัตร (non academic gifted)”[29] ทำให้เราปล่อยปละละเลยผู้ที่ไม่มีการศึกษาสูง (non-academic recognition) แต่มีหัวพิเศษทางการค้นคว้าและการประดิษฐ์ให้เป็นไปตามบุญตามกรรม ไม่ช่วยเหลือ ไม่สนใจ ซึ่ง “ก่อให้เกิดความเศร้าหมองขมขื่นอย่างลึกซึ้ง”[30] เขาหวังว่าไทยจะต้องพึ่งตนเองได้ ดังที่เขาประกาศว่า “การพึ่งตนเองไม่ได้ เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าทนไม่ได้และยอมไม่ได้ตราบใดที่มีลมหายใจอยู่”[31]

คำชื่นชมและข้อวิพากษ์ต่อรัชกาลที่ 4

เมื่อ ส. ถูกจุดประกายด้วยหนัง Anna and the King of Siam บทบาทของรัชกาลที่ 4 ทำให้เขาซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ว่าไว้ว่า “สิ่งที่เราอาจจะค้นพบเป็นทองบริสุทธ์ใน ‘พระเจ้ากรุงสยาม’ ในที่สุดเป็นสิ่งที่น่าตื้นตันมาก สิ่งอันนั้นคือ “ความกระหายอย่างแรงกล้าในการศึกษา”[32] และ “บุคคลชนิดนี้ไม่เคยมีในชาติไทยมาแต่กาลก่อน เป็นอัจฉริยสมบัติประหลาดที่ทำให้ข้าพเจ้าจ้องมองดูด้วยน้ำตา บุคคลที่รักการศึกษาเล่าเรียนอย่างแท้จริง ทุกคนจะต้องเคารพยกย่องบุคลิกลักษณะชนิดนี้อย่างสูงสุด ยิ่งได้ชมภาพจำลองในภาพยนตร์ยิ่งใจหาย เราจะหาอัจฉริยสมบัติที่เกี่ยวกับความกระหายใคร่รู้ใคร่เห็นในระดับ ‘พระเจ้ากรุงสยาม’ ได้ที่ไหนอีก”[33]

ส. ชื่นชมรัชกาลที่ 4 ผ่านสุ้มเสียงของแอนนาว่า “ทรงเป็นมนุษย์ปุถุชนคนเดียว ‘เท่านั้น’ ในประเทศสยามที่ทรงศึกษาวิชาการของโลกอย่างมีหลักเกณฑ์ (systematic)” พระองค์ยังทรงเป็นนักอ่านตัวยง ทั้งยังวิเคราะห์อย่างละเอียดลออจนบางครั้งแอนนารู้สึกรำคาญ[34] และเป็นกษัตริย์ผู้ทำงานหนักเพื่อประเทศชาติ[35] นอกจากนั้น ส. ยังระบุว่า พระเจ้ากรุงสยาม ‘เปิดอก’ เงี่ยหูฟังผู้มีความรู้ตำหนิติเตียนพระองค์ได้เต็มที่ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งเขาเห็นว่า “ลักษณะอย่างนี้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”[36] ราวกับกระทบกระเทียบกับรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามขณะนั้น

กระนั้น ส. ต่างจากฝ่ายอนุรักษนิยมยุคหลังที่ชื่นชมเจ้าเพียงด้านเดียว เขาไม่ลังเลที่จะวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ที่เขาชื่นชมนั้นด้วย (ทุกวันนี้ฝ่ายนี้อาจจะมีไม่กี่คน หนึ่งในนั้นก็คือ คนที่นามปากกานำด้วย ส. เหมือนกัน) เขาแสดงให้เห็นความคับแคบของสังคมไทยที่ไร้ทัศนวิพากษ์โดยเฉพาะต่อองค์กษัตริย์ ส. เห็นว่า “กษัตริย์สยามจะต้องได้รับการวิจารณ์ผลงานที่ทรงกระทำทุกด้านทุกมุมยิ่งกว่ากษัตริย์อังกฤษ เพราะมีกฎหมายอยู่ใต้พระอำนาจ” ซึ่งขัดแย้งกับทัศนะชายไทยชั้นสูงสมัยก่อนและจนยุคของ ส. ว่า เราไม่ยอมรับการวิจารณ์และชีวิตของคน และเห็นเพียงว่า “พระเจ้าแผ่นดินต้องทำอะไรไม่มีผิด…ต้องถูกต้องหมด และต้องอยู่เหนือคำวิจารณ์ทั้งหมด!!!” ดังนั้นหนังสือของแหม่มแอนนาจึงถูกมองว่า ต้องผิดทุกคำ ต้องมีไว้ในหอสมุดแห่งชาติไม่ได้ ต้องเป็นหนังสือของคนชั่ว คนขอทาน คนที่ไม่รู้อะไรเลย คนเลว ต่างๆ นานา[37] คติที่ว่า “เรื่องความไม่ดีของคนอื่นนั้นไม่ใช่ธุระของเรา” [38] ก็สะท้อนให้เห็นถึงการขาดทัศนวิพากษ์ต่อบุคคลต่างๆ ในสังคมไทยได้อย่างดี เขาถึงกับเห็นว่า “วิสัยคนโง่ที่ต้องการจะอ่านแต่หนังสือที่สดุดีตน” [39] ดังนั้น “เรามีความรู้มากที่สุดคือ ความรู้ไม่แท้…ใครก็ไม่กล้าเขียนเรื่องของใคร” [40]

ส. จึงสนับสนุนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ต่อบุคคลที่อาจนับว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในประเทศ กรณีของหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ได้แสดงข้อมูลและความเห็นต่อรัชกาลที่ 4 ที่ขัดแย้งกับความรับรู้เดิมๆ ของคนไทยว่า “เป็นเทพเจ้า เป็นเทพบิดร เป็นคนเหนือคน ต้องอยู่เลยหรืออยู่พ้นคำตำหนิใดๆ ของมนุษย์”[41] เขาเห็นว่ามีคนไทยที่อาจใช้อำนาจซื้อและทำลายหนังสือเพราะ “มีข้อความบางตอนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เช่น ฉากเผาเจ้าจอมมารดาทับทิมทั้งเป็น[42] แต่เขาก็เผยว่าเป็นวิธีการที่ไม่ต่างจากจิ๋นซีฮ่องเต้ เพราะเขาเชื่อว่า “วิธีทำลายหนังสือแบบจิ๋นซีฮ่องเต้วิชิตราชผู้โฉดเขลาที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นจะนำมาใช้อีกมิได้แล้ว” เพราะ “ความเป็นจริงย่อมลอยขึ้นเหนือน้ำเหนือฟ้าเสมอ” [43] ดังนั้นเขาจึงเห็นว่า “พระมหากษัตริย์ไทยแต่อดีตสมัยทรงอยู่เหนือกฎหมายก็แต่ในเมืองไทย มิใช่อยู่เหนือกฎหมายทั่วโลก” และเห็นว่าจะปิดปากแอนก็ต้องให้คนไปประหารนางแบบสตาลินใช้กับลีออนทรอตสกี้[44] แต่เขาคงนึกไม่ถึงว่าความเลวร้ายของการเซ็นเซอร์และกำจัดสิ่งพิมพ์จะแย่ยิ่งกว่านั้นในยุคที่การปราบคอมมิวนิสต์กลายเป็นกระแสธารที่ไหลอย่างเชี่ยวกราก โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519

ไม่แปลกที่ ส. ชี้ข้อบกพร่องให้เห็นว่า “พระองค์ทรงถูกปีศาจแห่งวิชาโหราศาสตร์เข้าสู่สิง ซึ่งทำให้พระปรีชาสามารถเกี่ยวกับการสร้างประเทศสยามไม่ดีไปกว่าความฝันที่จะให้เมืองหลวงกลายเป็นเพียง ‘พระราชวังหลวง’ เท่านั้น” ‘พระองค์ไม่ทรงรู้จักอารยธรรมที่แท้จริง’”[45] ไม่เช่นนั้นควรจะตั้งมหาวิทยาลัยภาคที่เชียงใหม่ อุดร อุบล นครศรีธรรมราช ตั้งแต่รัชกาลที่ 4[46] ไปแล้ว สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการสนับสนุนโครงการอารยธรรมของเขา ส. ยังวิจารณ์ด้วยแผนผังระดับความฉลาด[47] โดยชี้ให้เห็นหน่วยที่เสียของพระองค์ก็คือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทำให้ “เสียเขมรส่วนใหญ่” “พ่ายแพ้สงครามไทยใหญ่” “เสียดินแดนปักษ์ใต้” “การใช้คำว่า ‘ลาว’ อย่างเจาะจง” (กับคนเหนือและอีสาน) การไม่เข้าใจอารยธรรม ทำให้เกิดสังฆเภทแยกนิกายคณะสงฆ์ออกเป็นสอง ขาดมารยาททางใจ อิจฉาริษยาและประเด็นเกี่ยวกับอิสตรี[48] นี่คือความพยายามจะวิพากษ์ของเขาต่อรัชกาลที่ 4 ในฐานะปุถุชนที่มีดีมีเสียมีผิดพลาด ขณะที่ ส. ก็บูชารัชกาลที่ 4 เป็นอย่างยิ่ง ดังที่เขากล่าวไว้ว่า “แต่การที่คนไทยแท้ๆ เกิดมาหารู้จักพระมหากษัตริย์ที่ตนรักตนบูชา ต้องรอให้ผู้หญิงมาเขียนเป็นความรู้ให้ศึกษาให้รู้จักตามความเป็นจริงที่สุดเท่าที่สติปัญญาของผู้หญิงคนนั้นจะมีได้นั้น ข้าพเจ้าละอายแก่ใจ ข้าพเจ้าแพ้นาง” [49]

ส. อาจเป็นตัวแทนนักคิดนักเขียนฝ่ายขวา ท่ามกลางการเรืองอำนาจของนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายที่มุ่งมั่นบุกเบิกการต่อสู้ในเขตเมืองท่ามกลางตลาดสิ่งพิมพ์ที่ค่อนข้างเปิดกว้าง บนเวทีที่เปิดกว้าง ส. ในฐานะผู้วิจารณ์ฝีปากกล้าชี้ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ทะลุไปถึงการวิพากษ์กษัตริย์ แม้จะเป็นในอดีตก็ตาม

อันที่จริง พระเจ้ากรุงสยาม ถูกเขียนขึ้นบนเตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลวัณโรค ปีที่หนังสือได้วางแผงเป็นปีเดียวกันกับที่เขาจากไป โชคดีที่เขายังทันเห็นหนังสือที่ออกมาจากแท่นพิมพ์ ถ้อยคำหนึ่งที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความรู้สึกที่เขามีต่อผู้เขียนถึงก็คือ ตัวหนังสือที่รำพันว่า “ทำไมข้าพเจ้าไม่เกิดมาร่วมยุคร่วมสมัยกับพระองค์” [50] ส่วนหนึ่งก็เพราะเขารู้สึกว่า “รอบตัวข้าพเจ้า ในชีวิตของข้าพเจ้าได้พบปะแต่บุคคลที่คล้ายกับเดินตามขบวนแห่ศพไปสุสาน…ความเฉื่อยชา ความไม่มีเวลา ความแล้วแต่บุญแต่กรรม อา! ชีวิตเหมือนยามอร์ฟีนที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายของข้าพเจ้า เมื่อป่วยหนัก ทุกอย่างเนือยทุกอย่างช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม…ทุกอย่างพึ่งตนเองไม่ได้ ทุกอย่างล้าหลัง!” [51]


[1] หลง ใส่ลายสือ. “รู้จักคนไทยคนแรกในกองถ่ายหนัง Anna and the King of Siam และความขัดแย้งเรื่องบท”. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_20044 (17 ธันวาคม 2564)

[2] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 121

[3] โลกหนังสือ, 2 : 7 (เมษายน 2521)

[4] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 418

[5] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 296

[6] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 255

[7] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 255

[8] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 82

[9] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 270

[10] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 272

[11] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 157

[12] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 160

[13] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 306

[14] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 302

[15] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 304

[16] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 422

[17] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 333

[18] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 324

[19] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 329

[20] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 317

[21] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 322-323

[22] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 324

[23] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 325

[24] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 329

[25] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 329

[26] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 328

[27] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 264

[28] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 310

[29] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 311

[30] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 312

[31] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 417

[32] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 423

[33] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 423

[34] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 182

[35] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 211

[36] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 146

[37] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 182-183

[38] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 183

[39] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 129

[40] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 185

[41] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 210

[42] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 210

[43] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 210

[44] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 185

[45] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 417

[46] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 379

[47] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 414

[48] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 415

[49] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 348

[50] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 424

[51] ส.ธรรมยศ, พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 423

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save