fbpx
จับปากกาฆ่าหรือเขียน #เผด็จการ

จับปากกาฆ่าหรือเขียน #เผด็จการ

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 มีนาคมนี้เอง มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งเกี่ยวกับความขลุกขลักในการปราศรัยทางการเมืองที่จังหวัดเพชรบูรณ์ของกลุ่ม ‘ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย’ ซึ่งมีที่มาจากนักการเมืองส่วนหนึ่งของอดีตพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ความขลุกขลักนี้เกี่ยวข้องกับการที่มีทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปตรวจสอบการปราศรัย ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามใช้คำว่า ‘เผด็จการ’ บนเวทีปราศรัย

คุณจาตุรนต์ ฉายแสง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ‘ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย’ เขียนเล่าเหตุการณ์ไว้บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ Chaturon Chaisang เมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกาของวันที่ 18 มีนาคม ข้อความว่า

“ทราบจากน้องๆ ทีมงานตอนกินข้าวด้วยกันว่า ทหารที่มามีระดับพันเอกเป็นหัวหน้ามา มาบอกว่าให้ไปบอกพวกคุณให้หยุดพูด สอบถามว่าขออนุญาตรึเปล่า พอได้รับคำตอบว่าได้รับอนุญาตถูกต้องทุกอย่าง ก็บอกว่าอย่าพูดพาดพิงนายผม อย่าพูดคำว่าเผด็จการ อย่าเปรียบเทียบราคายางระหว่างรัฐบาลนี้กับรัฐบาลก่อน ถ้าหาเสียงให้พรรคการเมืองไหนจะคิดเป็นค่าใช้จ่ายนะ

น้องๆ ก็ชี้แจงไปว่าพูดถึงลุงตู่เป็นประจำอยู่แล้ว คำว่าเผด็จการก็พูดทุกเวที ส่วนราคายางพาราจะเปรียบเทียบก็เรื่องธรรมดา กลุ่มนี้ไม่ใช่พรรคการเมืองจะไปคิดค่าใช้จ่ายกับใคร ขณะที่บนเวทีก็พูดเรื่องไม่เอาประยุทธ์ๆ ไม่ขาดคำ

พอเห็นมีเฟซบุ๊กไลฟ์ก็เลยถอยทัพกลับไป

ผมฟังแล้วก็ได้แต่นึกในใจว่า ไม่น่าเชื่อที่นายทหารระดับนี้ไม่เข้าใจอะไรเลย ยังคิดว่าวันนี้ลุงตู่เพิ่งเข้ามามีอำนาจใหม่ๆ อยู่เลย

น่าสนใจว่าทำไมถึงวันนี้แล้ว ทหารจึงยังรู้สึกละเอียดอ่อนกับการใช้คำว่า ‘เผด็จการ’ ของนักการเมืองและประชาชน แล้วก็นึกเลยไปถึงคำว่า ‘รัฐประหาร’ หรือ ‘ยึดอำนาจ’ ซึ่งก็เป็นคำที่ฝ่ายเชียร์ลุงตู่พยายามที่จะเสนอคำอื่นขึ้นมาทดแทนอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสงบ การยุติความแตกแยก หรืออะไรที่มีความหมายมัวๆ เพราะต้องพยายามเลี่ยงความหมายของการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง และการใช้คำสั่งตามอำนาจพิเศษทดแทนการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ

ผมสงสัยเลยไปถึงว่า การห้ามใช้คำที่แสลงใจผู้มีอำนาจ รวมทั้งการเสนอให้ใช้คำอื่นทดแทน ถึงที่สุดแล้วมันได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ในการสร้างการยอมรับให้กับพวกท่านเหล่านั้นในสายตาของประชาชน

ผมพยายามบรรเทาความสงสัยของตัวเองในเบื้องต้น ด้วยการเข้าไปค้นดูใน Twitter.com ว่าข่าวการสั่งห้ามใช้คำว่า ‘เผด็จการ’ ที่เราได้ยินข่าวกัน จะส่งผลให้มีการใช้แฮชแท็กคำนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่

 

 

ก่อนหน้านี้ในทวิตเตอร์มีการใช้แฮชแท็ก #เผด็จการ อยู่เพียงประปรายและไม่มีความแตกตต่างกันมากนัก ถ้าสังเกตเปรียบเทียบกับแฮชแท็ก #รัฐประหาร ก็จะพบสถานการณ์ที่คล้ายกัน คือมีการใช้น้อยอย่างสม่ำเสมอ แต่ปรากฏว่า เมื่อเกิดข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์เล็กๆ ในต่างจังหวัดที่ดูไม่น่าสลักสำคัญอะไร จำนวนทวีตที่ใช้แฮชแท็กนี้ กลับเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งเท่าตัวจากวันก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาของผู้ใช้ทวิตเตอร์เมื่อรู้สึกว่าตัวเองถูกห้ามใช้คำคำนี้

ผมเจอทวีตที่มีเนื้อหาประชดแดกดันทวีตหนึ่ง ที่เขียนหลังจากมีข่าวเหตุการณ์ที่เพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ เขาเขียนข้อความไว้เพียงเท่านี้ว่า

#เผด็จการ เขาห้ามพูดคำๆ นี้เหรอ คืออะไรอ่ะ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ เผด็จการ what

ผู้ที่ทวีตข้อความนี้ไม่ได้แสดงทัศนะทางการเมืองที่เกี่ยวกับเนื้อข่าวที่เป็นประเด็นตั้งต้นแต่อย่างใด แต่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อ ‘การห้าม’ โดยตรง

เมื่อเกิดความตระหนักว่าตนเองสูญเสียเสรีภาพ หรือถูกหวงห้ามไม่ให้คิดหรือพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ความต้องการที่กระทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ถูกห้ามจึงถูกกระตุ้นให้มีพลังขึ้นมาได้อย่างชัดเจน สมมติง่ายๆ ว่าถ้าวันนี้มีใครมาสั่งห้ามใช้คำว่า ‘รัฐประหาร’ หรือคำว่า ‘ยึดอำนาจ’ โดยให้เรียกการกระทำของคุณประยุทธ์และคณะในปี 2557 ว่าการรักษาความสงบ หรือการคืนความสุขเท่านั้น มันก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนจำนวนหนึ่งอยากใช้คำว่า ‘รัฐประหาร’ มากขึ้นในช่วงเวลาที่ถูกห้าม (ยกเว้นว่าจะกำหนดโทษไว้รุนแรงมาก ขนาดที่ว่าถ้าใช้คำว่า ‘รัฐประหาร’ มีโทษประหาร ถ้าแบบนั้น เป็นผมก็คงเลิกใช้)

 

 

ผมลองเอาข้อความในทวีตที่ใช้แฮชแท็ก #เผด็จการ ออกมาปนๆ กันแบบสุ่ม เพื่อจะดูว่ามีคำสำคัญอะไรที่คนทวีตเขาใช้ร่วมกันหรือไม่ ซึ่งจะพบคำที่มีความหมายเปรียบต่างกัน หรือมีความหมายอยู่ในหมวดหมู่ปรากฏร่วมขึ้นมาด้วย เช่น การเมือง ประชาธิปไตย เลือกตั้ง ปกครอง ประชาชน ทหาร อำนาจ คสช. พรรค ฯลฯ (คำว่า ‘ธนาธร’ และ ‘อนาคตใหม่’ ที่ติดมาด้วย น่าจะเกี่ยวกับทวิตเตอร์ที่ชอบทวีตเรื่องเผด็จการ เป็นผู้มีแนวโน้มจะสนับสนุนพรรคการเมืองนี้)

เวลาที่เราพิจารณาคำสำคัญเหล่านี้โดดๆ ก็อาจเห็นเพียงปริมาณความถี่ของการใช้ที่เพิ่มขึ้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ของการใช้ภาษาที่เฉพาะเจาะจงสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง แต่คำเหล่านี้ (รวมทั้งมโนทัศน์ที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำ) มีความสัมพันธ์ทางความหมายที่ทั้งแตกต่างและคล้ายคลึงกัน และเกี่ยวโยงไปถึงความรับรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงในโลกอีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่มีความเป็นจริงในโลกเป็นฐานรองรับความหมายแล้ว ถ้อยคำก็เป็นแค่ลมเปล่าๆ

มันมีความแตกต่างอยู่จริงทั้งในด้านความหมายและข้อเท็จจริง ระหว่าง ‘เผด็จการ’ และ ‘ประชาธิปไตย’ เช่นเดียวกับที่การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองและการปกครองโดยวิธี ‘เลือกตั้ง’ และวิธีอื่น ย่อมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้ง แล้วถูกพรากสิทธิ์นั้นไป ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งในวันที่ 17 มีนาคม และในวันที่ 24 มีนาคมเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา

ในปัจจุบันมีการแบ่งฝ่ายพรรคการเมืองออกเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยใช้เกณฑ์สำคัญในการจำแนกอยู่ที่วิธีการรวบรวมอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองฝั่งหนึ่งเสนอว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งของประชาชน (=ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด) ควรเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่พรรคการเมืองอีกฝั่งหนึ่งเสนอว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนหนึ่ง แล้วนำไปรวมกับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกที่ คสช. เป็นผู้เลือก ควรเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในระหว่างสองฝ่ายนี้ก็ยังมีพรรคการเมืองที่ไม่แสดงจุดยืนแน่ชัดว่าจะเลือกฝ่ายไหน เรียกว่ารอดูผลการเลือกตั้งเสียก่อนค่อยตัดสินใจอีกที

ฝ่ายแรกบอกว่ามีความแตกต่างอยู่จริงระหว่าง ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘เผด็จการ’ ฝ่ายหลังบอกว่ามันเป็น ‘แค่วาทกรรม’ (=โวหารทางภาษาที่ปราศจากข้อเท็จจริงรองรับ) แถมยังมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากการที่มีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งไปปรับแต่งความหมายของประชาธิปไตยและเผด็จการเสียใหม่ให้กำกวมขึ้น เช่น ประชาธิปไตยมีทั้งแบบสุจริตและไม่สุจริต หรือพรรคการเมืองที่ถูกจัดว่าเป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการนั้น ถ้าเอาตัว ‘ผู้สืบทอด’ ออกไปจากสูตร ก็จะสามารถแปลงกลับมาเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้

ผมลองเชื่อมโยงคำที่มึความหมายแตกต่างกันอย่างคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ (ผู้ครองอำนาจมาจากการตัดสินใจเลือกของประชาชน) และ ‘เผด็จการ’ (ผู้ครองอำนาจไม่ได้มาจากการตัดสินใจเลือกของประชาชน) เป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยเพิ่มความหมายตรงข้ามของสองคำทั้งสองเข้าไปด้วย เพื่อให้เห็นเฉดความหมายของสองคำนี้มากขึ้น (ผู้ที่สนใจแนวคิดเบื้องหลังวิธีการนี้ ให้เสิร์ชกูเกิ้ล ‘สี่เหลี่ยมสัญศาสตร์’ หรือ ‘semiotic square’) หลังจากนั้น ผมก็จัดกลุ่มของผู้เล่นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องบางส่วนเข้าไปรอบๆ สี่เหลี่ยมความหมายภาพนี้ด้วย (ท่านผู้อ่านลองจัดเองเล่น ๆ ก็ได้)

 

 

จากภาพนี้ เราจะเห็นว่าความหมายด้านที่ตรงข้ามกันแบบทแยงมุม จะต่างกันชัดเจนที่สุด ด้านที่ตรงข้ามกันในแนวนอนอาจแตกต่างกันได้อย่างมีระดับมากน้อย (มากกว่า/น้อยกว่า) เช่น การครองอำนาจของผู้นำคณะรัฐประหาร มีความเป็นเผด็จการมากกว่าการครองอำนาจของผู้นำที่อาศัยเสียงประชาชนสนับสนุนส่วนหนึ่งและสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ตัวเองตั้งมาอีกส่วนหนึ่ง แต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าการครองอำนาจของผู้นำที่อาศัยเสียงสนับสนุนของประชาชนเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น ในมุมมองของประชาชนที่สามารถใช้อำนาจในการเลือกผู้ครองอำนาจผ่านการการลงคะแนนเลือกตั้งได้เพียงอย่างเดียว พรรคการเมืองที่อาศัยแต่เสียงประชาชนเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ย่อมเป็นตัวเลือกที่มีลักษณะความเป็นตัวแทนของเรามากที่สุด เพราะประชาชนไม่มีช่องทางอื่นในการใช้อำนาจ ในขณะที่พรรคการเมืองที่พร้อมจะให้การสนับสนุนวิธีการเข้าสู่อำนาจของผู้นำด้วยฐานอำนาจอื่น ย่อมเป็นตัวเลือกที่เป็นตัวแทนของประชาชนน้อยลงไป

ในทางตรงกันข้าม ทหารบางส่วนที่ยังคงต้องการให้กองทัพมีอิทธิพลทางการเมือง ย่อมมีความขัดแย้งโดยตรงกับพรรคการเมืองที่ต้องการผลักดันให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองยึดโยงกับประชาชนทั้งหมด (=ประชาธิปไตยสมบูรณ์) ซึ่งหมายความว่าทหารต้องไม่มีส่วนร่วมในการรณรงค์ทางการเมืองระหว่างพรรคการเมือง และระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่ต้องการเข้าครองรัฐบาลแทน ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย

ทหารจะไม่เป็นคู่ตรงข้ามทางความหมายของประชาชน หรือพรรคการเมืองที่อาศัยแต่เสียงประชาชน ถ้าหากทหารไม่เอากองทัพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการค้ำยันระบอบเผด็จการ พูดง่ายๆ ก็คือทหารไม่จำเป็นต้องเท่ากับเผด็จการ ถ้าไม่สนับสนุนระบอบที่เป็นเผด็จการ (=ทหารอาชีพ)

ช่วงเวลาก่อนถึงวันเลือกตั้งนี้ มีถ้อยคำรณรงค์ทางการเมืองข้อความหนึ่งที่ถูกสื่อสารออกมาอยู่สองเวอร์ชั่น คือ ’24 มีนา จับปากกา ฆ่าเผด็จการ’ กับ ’24 มีนา เข้าคูหา ฆ่าเผด็จการ’ ส่วนตัวผมชอบเวอร์ชั่นแรก เพราะมันมีการเล่นคำระหว่างการฆ่า ที่หมายถึงการทำให้สิ้นชีวิตหรือหมดสิ้นไป กับการ ‘ขีดฆ่า’ ซึ่งเป็นกริยาที่เราทำด้วยด้วยปากกา หมายความว่าการขีดเครื่องหมายกากบาทที่เราทำในคูหาเลือกตั้งนั้น สามารถส่งผลให้การสืบทอดอำนาจของผู้ที่ทำรัฐประหารเข้ามาปกครองประเทศสิ้นสุดไป หรือไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้

ในทางกลับกัน การทำเครื่องหมายกากบาทของเรา จะด้วยความกลัวหรือความศรัทธาก็ตาม ก็สามารถกลายเป็นการสนับสนุนพรรคการเมืองที่ไม่ลังเลที่จะช่วยให้ผู้ที่เคยทำรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ ให้สามารถธำรงอำนาจนั้นสืบต่อไปได้อย่างชอบธรรม หรือกล่าวในเชิงเปรียบเทียบ ก็เหมือนว่าเราเป็นผู้เขียนคำว่า ‘เผด็จการ’ ให้มันกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ทั้งที่มันสมควรที่จะถูกลบไปจากการเมืองไทยตั้งนานแล้ว

มีบางคนที่ผมรู้จัก นำเสนอความคิดว่าให้เลือกพรรคการเมืองไหนก็ได้ที่ทำให้บ้านเมืองสงบ บางคนก็บอกว่าเลือกพรรคไหนก็ได้ที่ทำให้ประชาชนท้องอิ่ม เลือกใครก็ได้ที่เป็นคนดี สำหรับผม ผมจะไปเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่จะทำให้บ้านเมืองสงบอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะพอใจพรรคที่สนใจความหิวของประชาชนส่วนใหญ่ และใครก็ตามที่จะไม่ทรยศประชาชน ไม่ไปร่วมกันทำพิธีชุบชีวิตเผด็จการให้ฟื้นขึ้นมาใหม่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save