fbpx

ฟื้นใจเมือง

ขณะนี้บางประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ใช้รับมือโควิด-19 บ้างแล้ว จนเกิดความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ความหนักเบาของโควิด-19 ในแต่ละประเทศ โดยอาจมองเห็นความแตกต่างได้เป็นแบบ ‘แถบสี’ ที่หารอยต่อยาก แม้หลายประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวจะกลับมาพบกับสภาพการระบาดใหม่เป็นระลอกๆ และบางแห่งถึงต้องกลับมาประกาศควบคุมบ้างก็ยังมี

ในบ้านเราแม้ว่าจะยังวุ่นวาย เพราะความผิดพลาดในการวางแผนรับมือ รวมถึงการปรับตัวหลังเกิดความวุ่นวายจากความผิดพลาด ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

มีงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2564 มีผู้เสียชีวิตราว 4.5 หมื่นคน และ 4.3 หมื่นคน ตามลำดับ ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองเดือนดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ราวๆ 4.0 หมื่นคน และ 3.7 หมื่นคน จะเห็นว่ามี ‘อัตราการตายส่วนเกิน (excess mortality)’ อยู่เกือบประมาณ 5-6 พันคน

‘อัตราการตายส่วนเกิน’ เหล่านี้อาจจะเป็นผู้เสียชีวิตทางอ้อมจากโรคแทรกซ้อน หรือการฆ่าตัวตายจากผลกระทบทางจิตใจและปัญหาทางเศรษฐกิจ นี่ยังไม่นับการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 1.28 ล้านคน และเสียชีวิตรวมมากถึง 12,855 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2564)

การเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากขนาดนี้ ย่อมทำร้ายจิตใจของผู้คน ตลอดจนทำให้ประชาชนเกิดความกังวล หวาดกลัว และซึมเศร้าอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมาก ในต่างประเทศ ก็มีการพูดถึงผลกระทบในระดับเมืองหรือระดับประชากรและประเทศ พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันมาระยะหนึ่งแล้ว

แต่อันดับแรก ขอชวนคุณผู้อ่านมาดูกันครับว่าเรื่องนี้ส่งผลแบบไหน และเราพอจะมีทางรับมือได้อย่างไรบ้างเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา

บ้านจิตตก นรกท่วมเมือง

เมื่อประเทศหรือโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในทางลบอย่างหนักหนาสาหัสและกว้างขวางเช่น การเกิดสงคราม การก่อการร้าย การกราดยิงสังหารหมู่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หายนะภัยตามธรรมชาติ หรือโรคระบาดใหญ่ จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘บาดแผลรวมหมู่ (collective trauma)’  

จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ช่วงทศวรรษ 1930 ทำให้คนอเมริกันฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นถึง 22.8% และทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในความรู้สึกกระวนกระวายใจและอ่อนแอ ขณะที่การถดถอยทางเศรษฐกิจปี 2008 ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากการประเมินตัวเองของอาสาสมัครที่ได้ทำแบบสำรวจที่ต่างกล่าวว่า มีสุขภาพแย่ลง มีความเครียด มีอัตราการเจ็บป่วย และการฆ่าตัวตายสูงขึ้น

อันที่จริงแล้ว อัตราการการมีลูกก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เรียกว่าความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจลดความต้องการทางเพศลงด้วย

ส่วนในสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ทำให้ผู้ได้รับกระทบเกิดบาดแผลทางใจและเกิดสิ่งที่เรียกว่าที่เรียกว่า PTSD (Post Trauma Stress Disorder) หรือบาดแผลที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดหลังเกิดเหตุไปอีกยาวนานหลายทศวรรษ

แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ผลกระทบกับพ่อแม่ยังส่งผลไปยังลูกๆ ของผู้รอดชีวิตอีกด้วย

สำหรับระดับสังคมหรือประเทศ ผลกระทบบางอย่างที่อาจส่งต่อไปถึงคนรุ่นหน้ามีหลายประเภทด้วยกันเช่น เกิดความกลัวฝังใจทั้งแบบบุคคลและแบบรวมยอดของทั้งสังคม เกิดความรู้สึกอ่อนไหว หรือแม้แต่อัปยศอดสู สูญเสียความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ฯลฯ

แต่ในบรรดาทั้งหมด ผลกระทบที่สำคัญที่สุดน่าจะได้แก่ การที่ผู้คนตั้งคำถามกับอนาคตของสังคมและประเทศชาติ เกิดความสงสัยว่าเราจะอยู่รอดกันต่อไปได้อย่างไร

ยิ่งเสียเปรียบ ยิ่งลำบาก

‘บาดแผลรวมหมู่’ ไม่ได้ส่งผลกระทบกับแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้แต่คนในกลุ่มเดียวกันก็อาจมีบาดแผลเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่แม้ว่าจะได้รับผลกระทบทางใจแตกต่างกัน กระนั้นผลกระทบโดยรวมก็ยังมีลักษณะคล้ายกันคือ มีแนวโน้มจะทำให้ไวต่อผลกระทบต่างๆ มากขึ้นไปอีก และการเข้าไม่ถึงทรัพยากรและขาดความสนับสนุนที่เพียงพอ ก็ทำให้บาดแผลนั้นลึกและเจ็บปวดรุนแรงเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

นอกจากนี้ ผลกระทบอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ บาดแผลที่เกิดขึ้นยังไปกระทบกับความเชื่อต่างๆ เช่น ทำให้กลัวคนแปลกหน้า ชาวต่างชาติ หรือคนที่นับถือศาสนาแตกต่างออกไปจากเรา , มีอคติเป็นพิเศษกับกลุ่มคนบางจำพวก หรือมีความอดทนอดกลั้นต่อความเชื่อหรือกลุ่มคนที่แตกต่างออกไปได้น้อยลง

กรณีการระบาดของโรคโควิด-19 มีบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ระบุว่า การแยกตัวหรือกักกันผู้ป่วยส่งผลทางลบต่อจิตใจของ ‘เด็ก’ หลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดความสับสน ความโกรธ และเกิดบาดแผลในจิตใจ และหากมองจากประสบการณ์ที่เคยเผชิญกับโรคซาร์สและอีโบลาอาจจะทำนายผลกระทบระยะยาวได้ว่า น่าจะได้แก่ความตื่นตระหนก ความซึมเศร้า ความสิ้นหวัง ความกระวนกระวายใจ ความเครียด ความเศร้าโศก และบาดแผลในใจ 

ฝึกฟื้นใจเมือง

สำหรับการรักษา ‘บาดแผลแบบรวมหมู่’ ของคนทั้งประเทศ เพื่อลดผลกระทบทางลบนั้น นักวิจัยแนะนำว่าเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ ที่จะต้องจัดหาทรัพยากรและทำให้ช่วงเวลาที่ต้องกักตัวหรือล็อกดาวน์สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่นอกจากนี้ ก็ยังมีสิ่งที่รัฐและแต่ละคนทำเองได้ด้วย เช่น

มีรายงานว่าคนที่ชมโทรทัศน์บ่อยกว่าในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 จะเกิดผลเสียทางจิตวิทยาต่อจิตใจมากกว่าโดยคนที่ชมตั้งแต่ข่าวตลอดจนข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในระยะเวลา 4-7 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอาการทางลบมากกว่าคนที่ไม่ชมข่าวถึง 4 เท่า

ดังนั้นคำแนะนำแรกคือ ให้ลดการเสพสื่อลง

คำแนะนำที่ 2 เกี่ยวเนื่องกับข้อ 1 ได้แก่ การเชื่อถือข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ สำหรับเรื่องนี้บ้านเราอาจจะทำได้ยากนิดนึง เพราะมีความเข้าใจผิด รวมทั้งมีผู้พยายามเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เต็มไปหมด ทั้งที่เกิดจากความปรารถนาดี ความประสงค์ร้าย หรือมีวาระซ่อนเร้นต่างๆ

แต่หากเรามีข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ คนส่วนใหญ่จะตัดสินใจได้ค่อนข้างดีทีเดียว และมักเลือกทำสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง ดังกรณีศึกษาโรคอีโบลา

ดังนั้น สื่อและรัฐมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม   

คำแนะนำที่ 3 คือ ให้ติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่เรารู้จักเอาไว้ให้ดี แม้ว่าการเว้นระยะห่างทางกายภาพจะจำกัดการพบกันแบบต่อหน้า แต่ก็อย่าให้มันทำลายการเชื่อมต่อทางสังคมลง ยุคนี้เทคโนโลยีก็ช่วยให้เราติดต่อกันได้มากขึ้นผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ

ดังนั้น ให้ขยันติดต่อคนอื่นๆ ไม่ว่าจะคนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และคนรู้จักผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้มากเข้าไว้ จะสามารถช่วยลดความเครียดลงได้บ้าง

นอกจากนี้แล้ว แต่ละคนต้องมองหาวิธีการลดความเครียด ความกังวล และความกลัว วิธีการหนึ่งที่ควรทำคือ ขยับไปทำงานอดิเรก ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลง วาดรูป ออกกำลังกาย ฟังธรรมะ หรือปลูกต้นไม้ ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว จิตใจได้ผ่อนคลาย เลิกคิดเรื่องเครียดๆ ได้เป็นเวลานานๆ ก็จะเสี่ยงมีความเครียดสะสมจนเกิดเป็นบาดแผลจากโรคโควิด-19 น้อยลง

แม้ว่าจะไม่ป่วยจากการติดเชื้อ ก็อาจจะป่วยจากผลข้างเคียงจากการรับมือ เช่น การต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา การต้องกักตัว หรือการล็อกดาวน์เมืองจนประสาทจะกินแทน

พลังของความยืดหยุ่น การปรับตัว และสายสัมพันธ์ของกลุ่มคนใกล้ชิดที่เหนียวแน่นจะเยียวยาใจเรา และช่วย ‘ฟื้นใจเมือง’ ได้ การให้กำลังใจกันจะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตระดับโลกที่เลวร้ายคราวนี้ไปด้วยกันได้ดียิ่งขึ้น และมีโลกหลังยุคโควิดที่ดีกว่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save