fbpx

RETURN TO SEOUL สกินโทนที่ไม่อาจโอนสัญชาติ

ดูจากจุดขายในวงกว้างแล้ว หนังอย่าง Return to Seoul (2022) ก็อาจมีเนื้อหาที่ไม่อาจสร้างความรู้สึกร่วมกับคนดูกลุ่มใหญ่ได้มากสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ เฟร็ดดี (พัค จีมิน) หญิงสาวเชื้อชาติเกาหลีใต้ ที่ย้ายสัญชาติไปเป็นชาวฝรั่งเศสหลังพักอาศัยและอยู่ในความดูแลของครอบครัวอุปถัมภ์ในดินแดนน้ำหอม หลังจากบิดาและมารดาทางชีวภาพของเธอตัดสินใจมอบเฟร็ดดีวัยแบเบาะให้แก่สถานรับสงเคราะห์เด็กแฮมมอนด์ด้วยความยากจนข้นแค้น ซึ่งนี่คงไม่สามารถใช้เป็นภาพแทนผู้คนส่วนใหญ่ที่มักจะเกิดและเติบโตมาในครอบครัวสัญชาติใดชาติหนึ่งกันตั้งแต่ต้น

แต่ถ้าเหตุผลสำคัญของการดูหนังนานาชาติคือการเปิดโอกาสในการทำความรู้จักผู้คนที่มีพื้นเพและประสบการณ์ที่แตกต่างจากเราไป หนังอย่าง Return to Seoul (2022) ก็อาจกลายเป็นวาระพิเศษที่จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจอาการโหยหาถึงอัตลักษณ์แห่ง ‘รากเหง้า’ ของผู้คนข้ามสัญชาติหรือหลากเชื้อชาติซึ่งมิได้ผูกขาดด้วยต้นตระกูลจากเพียงว่านเครือเดียว และหนังอย่าง Return to Seoul นี่เองที่จะตีแผ่ห้วงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ ของตัวละครเชื้อสายเกาหลีแต่มีสัญชาติปัจจุบันเป็นฝรั่งเศสอย่างถ้วนทั่วในทุกแง่มุม กับการออกเดินทางตามหาบิดา-มารดาผู้เป็นเชื้อไขให้กำเนิดตัวเธอ ทั้งที่ก็มีผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสที่เลี้ยงดูเธอมาอย่างดิบดีอยู่แล้ว

เชื่อว่าแรงบันดาลใจสำคัญส่วนหนึ่งก็คงจะมาจากประสบการณ์ชีวิตการเป็นลูกหลานคนอพยพพลัดถิ่นของผู้กำกับ เดวี ชู (Davy Chou) ที่มีเชื้อสายต้นตระกูลมาจากกัมพูชา ทว่าเกิดและเติบโตขึ้นมาในฝรั่งเศสเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนั้น แม้ตัวละครจะมีเชื้อชาติเดิมเป็นชนชาติไหนก็คงไม่สำคัญเท่ากับการพิสูจน์หาว่า ‘อดีต’ สลักสำคัญกับชีวิตพวกเขาอย่างไร และความผูกพันทางกายภาพผ่านทางสายเลือดจะยังแข็งแกร่งเข้มข้นได้อยู่ไหม หากพวกเขาแทบจะไม่เคยใช้เวลาชีวิตร่วมกันเลย

Return to Seoul เปิดฉากอธิบายการจับพลัดจับผลูไม่รู้ทางทิศติดขัดพลัดหลงเดินงงในดงเกตท่าอากาศยาน เมื่อเที่ยวบินที่จะนำเฟร็ดดีเดินทางไปพักผ่อน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นตามที่วางแผนไว้มีอันต้องยกเลิกไปเนื่องจากพายุไต้ฝุ่น และไฟล์ตเดียวที่เฟร็ดดีพอจะเดินทางต่อไปคือการกลับมายังกรุงโซล ซึ่งเธอเองก็ไม่ใคร่จะเคยสนใจ หากปะเหมาะเคราะห์ดี ได้เดินทางมาแล้วพบว่าพนักงานโรงแรมที่เธอพักอาศัยนาม ทีนา (ฮัน กูคา) พูดทั้งภาษาเกาหลีและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว และเมื่อได้เรียนรู้กำพืดที่มา ทีนาจึงยุให้เฟร็ดดีลองติดต่อสถานอนุเคราะห์เด็กแฮมมอนด์ดู เผื่อจะได้ข้อมูลว่าบิดาและมารดาที่แท้จริงของเธอเป็นใคร ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และจะได้รับทราบเทือกเถาเหล่ากอของตัวเอง  เฟร็ดดีทำทีเป็น ‘no สน no care’ ในเบื้องแรก ทว่าสุดท้ายก็แอบดุ่ยๆ ไปสำนักงานแฮมมอนด์ด้วยตนเอง แม้จะมีกฎระเบียบเงื่อนไขปัจจัยกำหนดต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายแฮมมอนด์ก็ช่วยติดต่อทั้งบิดาและมารดาทางชีวภาพของเฟร็ดดีได้ แม้ในปัจจุบันพวกเขาจะแยกทางกันไปนานแล้ว เปิดโอกาสให้เฟร็ดดีได้พบบุพการีทางสายเลือด ซึ่งก็นำมาด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันยากอธิบาย จะว่าสุขสมชื่นมื่นด้วยความอบอุ่นใจก็คงไม่ใช่ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีปมอดีตที่ยังฝังลึกเอาไว้ จนไม่สามารถจะปลดคลายได้ผ่านการพบหน้าเพียงไม่กี่ครั้ง

ตลอดการเดินทาง หนังให้เวลากับผู้ชมในการทำความรู้จักตัวละครเฟร็ดดี โดยเฉพาะบุคลิกลักษณะการเป็น ‘สตรีชาวฝรั่งเศส’ ของเธอ ไม่เพียงแต่ทักษะการพูดภาษาฝรั่งเศสในระดับภาษาแม่ และภาษาอังกฤษแบบติดสำเนียงฝรั่งเศส แต่มีทั้งความรักสนุก ความมั่นอกมั่นใจในตัวเอง ความมั่นโหนกมั่นหน้าเกินหน้าเกินตาสาวๆ เกาหลี “ควียอวอโย!!!” ไปหลายปีแสง จนหนุ่มๆ ร่วมวงเหล้า อดเซ้าซี้โพล่งถามไม่ได้ว่า “เธอจะเป็นคนฝรั่งเศสไปได้อย่างไร ในเมื่อ ‘เบ้าหน้า’ ก็ฟ้องตำแหน่งเส้นขนานที่ 38 องศากันชัดขนาดนั้น!” จนทำให้เฟร็ดดีประหลาดใจว่า การจะนับเป็นคนชาติไหนเขาวัดจากจุดใดกัน และต่อให้สกินโทนเธอจะเหลืองได้ขนาดนั้น เธอกลับไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเกาหลีกับใครๆ ได้เลย! ตลอดทั้งเรื่องเฟร็ดดีจึงยืนยันอย่างมั่นใจในความเป็น ‘สาวฝรั่งเศส’ ของเธอเองอย่างไม่อาจมีสิ่งใดมาสั่นคลอนได้ เพียงแต่ช่วงตอนที่เธอเรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาทางชีวภาพของตัวเองต่างหากที่จะมากระตุกกระตุ้นว่าเธอยังมีความเป็นเกาหลีหลงเหลืออยู่ภายในตัวมากน้อยเพียงไหน เพราะทั้งสี่ห้องของหัวใจเธอได้ยกให้กับชาติฝรั่งเศสไปหมดแล้ว

ประสบการณ์ของสาวสมัยใหม่อย่างเฟร็ดดีผู้นี้ จึงมีแง่มุมที่สามารถย้อนกลับมาตั้งคำถามเตือนเราได้ว่า อัตลักษณ์ในทางสัญชาติที่ประกาศว่าเราเป็นคนชนชาติใด มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตในยุคโลกโลกาภิวัฒน์กันอย่างไร ‘กัลปพฤกษ์’ เองสมัยยังมีโอกาสได้แบกเป้ตระเวนยุโรปในสถานะนักท่องเที่ยวยาจก ระหกระเหินพักค้างอ้างแรมตามห้องพักของโฮสเทลราคาถูกอยู่เนืองๆ จนต้องมีคำถามติดปากไว้ถามเพื่อนร่วมห้องอยู่เสมอๆ ว่า เธอมาจากประเทศอะไร และคำตอบที่ได้รับครั้งหนึ่งก็ถึงกับทำให้อ้ำอึ้งไปก็คือ “I’m a citizen of the World!” หรือก็คือ “ฉันเป็น ‘พลเมืองโลก’” ไม่เห็นจะต้องสนใจว่ามาจากดินแดนไหน ถ้าอยากรู้ก็จะบอกให้ว่าเกิดและเติบโตในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ทว่า ก็ไม่เคยมองว่าเป็นดินแดนมาตุภูมิใดๆ ไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือภูมิใจในสัญชาติของตัวเอง แต่อยากเป็นพลเมืองร่วมโลกกับทุกๆ คนมากกว่า! คือคำวิสัชนาของพี่หล่อและป๋ามาก ๆ แต่อย่าลืมว่าพาสปอร์ตที่คุณพี่ถือนั้น จะไปไหนก็เข้าได้แทบทุกที่ไม่ต้องมีตราประทับวีซ่า ขณะที่ข้าพเจ้าเองหมดทีต้องขอทีเพราะมาจากประเทศโลกที่สามซึ่งประเทศอื่นไม่ยอมให้ความไว้วางใจ!

หลังจากปากอ้าตาค้างกับคำตอบไปสักพัก ก็เพิ่งจะสำนึกตระหนักว่า เออ! คนเราก็คิดอ่านอะไรแบบนี้ได้เหมือนกันนะ จะไปยึดติดสนิทแนบกันทำไมว่านี่คนไทย นี่คนเกาหลี นี่คนไอร์แลนด์แดนใต้ให้ต้องมีกำแพงปราการ ก็ถ้าเรียกขานทุกๆ ท่านว่าเป็น Citizen of the World ก็จบแล้วไหม เธอจะต้องการอะไรอีก

แต่ดูเหมือนสถานการณ์มันจะไม่ง่ายขนาดนั้นเสมอไป เพราะกลับมายังหนังเรื่อง Return to Seoul เรื่องนี้ ขนาดสตรีที่แสนจะมั่นหน้ามั่นโหนกจากประเทศโลกที่หนึ่งอย่างเฟร็ดดียังต้องมีจังหวะแห่งความหวั่นไหวเมื่อได้พบกับเลือดเนื้อเชื้อไขผู้ให้กำเนิดเธอมาจริงๆ และถึงแม้ปฏิกิริยาต่าง ๆ ของเฟร็ดดีในหนังเองก็อาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่าสถานะการเป็นคนเชื้อสายเกาหลีใต้ของเธอผูกพันกับตัวเธออย่างไร นอกเหนือไปจากรูปร่างหน้าตาและลักษณาการภายนอก เพราะแม้แต่ตัวเธอเองก็ยังบอกไม่ได้ แต่การหวนคืนกลับมายังเกาหลีใต้อีกหลายครั้ง หลังจากถูกเปลี่ยนไฟล์ตบินมาแบบงงๆ ครั้งแรกโดยไม่ได้มีเจตนา ก็คงจะฟ้องชัดแล้วว่าเฟร็ดดีได้ ‘ค้นพบ’ อะไรบางอย่างจากดินแดนมาตุภูมิแห่งนี้ และไม่ว่าปัจจุบันเธอจะผันตัวไปเป็นคนสัญชาติใด การได้เรียนรู้รากเหง้าที่มาที่ไปว่าเธอมาจากไหนก็ยังกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าใจตัวเองยิ่งขึ้น เพราะสุดท้ายเฟร็ดดีคงไม่อาจฝืนรูปลักษณ์ภายนอกผ่านสีผิวแบบคนเอเชียตะวันออกของเธอ ซึ่งแทบทุกคนที่พบเจอได้ตัดสินเอาไว้ล่วงหน้าก่อนจะเปิดปากเริ่มต้นพูดจากันด้วยซ้ำ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save