fbpx
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: แก้ไขผู้กระทำผิด ฟื้นฟูชีวิตผู้ถูกกระทำ

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: แก้ไขผู้กระทำผิด ฟื้นฟูชีวิตผู้ถูกกระทำ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีบางประเทศในแถบสแกนดิเนเวียได้นำเอากระบวนการดังกล่าวมาปรับใช้กับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักของตน รวมถึงมีการตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลการไกล่เกลี่ยโดยเฉพาะ แต่ในช่วงหลายปีมานี้ที่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเริ่มเกิดปัญหาและโดนตั้งคำถาม หลายประเทศเจอปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และอัตราการกระทำผิดซ้ำไม่ได้ลดลง เรื่องนี้จึงได้รับการพูดถึงมากขึ้น ด้วยหวังว่าจะเป็นหนทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาข้างต้น

ขณะที่ในประเทศไทย มีการนำเอาแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้โดยเฉพาะที่ศาลเยาวชนและครอบครัว จากสถิติพบว่า ในปีพ.ศ. 2562 มีคดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยมากกว่าร้อยละ 80 แต่ถึงกระนั้น การปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็ยังต้องเจอกับอุปสรรคและความท้าทายบางประการอยู่

ด้วยตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จึงได้จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานในแวดวงยุติธรรมมาร่วมบรรยาย อภิปราย และแลกเปลี่ยนความรู้ กรณีศึกษาที่น่าสนใจ รวมถึงโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

แน่นอนว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ที่จะใช้แก้ปัญหาทุกอย่างในระบบยุติธรรมได้ แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นเหมือนก้าวเล็กๆ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมมือกัน เพื่อหาทางไปสู่สังคมที่ดีกว่า แม้ไม่ใช่สังคมในอุดมคติที่ไม่มีผู้กระทำผิดเลย แต่เป็นสังคมที่มีอัตราผู้กระทำผิดซ้ำลดลง และเป็นสังคมที่ผู้กระทำผิดได้รับการแก้ไข และผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง

 

 

หลักปฏิบัติและการปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

 

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการปรับเอากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในประเทศไทยบ้างแล้ว ทว่า Dr.Matti Joutsen ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในระบบยุติธรรมทางอาญา จะต้องมีการตรวจสอบและติดตามผล เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่มีอยู่สามารถใช้ได้จริง

“ข้อท้าทายคือ บางคนอาจจะยังไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จึงจะต้องมีการทดสอบ ฝึกอบรม และจัดสรรทรัพยากรให้ใช้ได้อย่างแพร่หลายในขอบเขตกฎหมายไทย และยังต้องผสมผสานเรื่องนี้ให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยด้วย”

 

 

Dr.Joutsen ยังกล่าวถึงความท้าทาย 3 ประการเกี่ยวกับการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ดังนี้

ประการแรก กระบวนการนี้มักจะถูกมองว่าเป็นปลายน้ำ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมักจะจัดการกับเรื่องเหล่านี้เอง โดยที่ไม่ให้ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง การจะใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงอาจจะต้องพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การเลือกทางที่ดีที่สุด

ประการที่สอง เรื่องชุมชนกับการก่ออาชญากรรม โดยเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชุมชนในไทยทำหน้าที่ระงับข้อพิพาท หรือไกล่เกลี่ยกันเองภายใน แต่เมื่อมีระบบกฎหมายเข้ามาแทนที่ หลักการดังกล่าวก็หายไป Dr.Joutsen ระบุว่า ในตอนนี้ แม้แต่ละชุมชนอยากจะทำการไกล่เกลี่ยกันเองเหมือนแต่ก่อน แต่เราจะทำสิ่งเดียวกับที่ทำเมื่อหลายร้อยปีก่อนไม่ได้ เราต้องมองหาจุดแข็งหรือระบบที่เข้ากับบริบทของประเทศ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากัน

ประการสุดท้าย บางคนอาจวิพากษ์วิจารณ์ว่าเมื่อนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ จะทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเร็วเกินไป Dr.Joutsen ตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละคนก็มีมุมมองแตกต่างกันออกไป การชดเชยที่เหมาะสมของคนหนึ่ง อาจจะไม่เท่ากับอีกคนหนึ่ง ตนเองมองว่า อาชญากรไม่ใช่คนที่ดำสนิท แต่เป็นคนที่มีสีเทา และก่อนที่เขาจะทำอะไรรุนแรงไปมากกว่านี้ เราอาจจะนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาช่วยแก้ปัญหาได้ก่อน

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นวิธีที่ได้ผล และใช้เสริมกับกระบวนการที่เป็นทางการได้ ผู้เสียหายพอใจในผลลัพธ์ ผู้กระทำผิดก็เปลี่ยนทัศนคติของตน ซึ่งเท่ากับว่าอนาคตของพวกเขาก็จะเปลี่ยนไปด้วย พวกเขาจะรู้สึกรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนทำลงไป ชุมชนก็จะสามารถรับมือกับปัญหา และเป็นการทำให้ชุมชนปลอดภัยมากขึ้นด้วย” Dr. Joutsen กล่าวปิดท้าย

 

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: กระบวนการที่คำนึงถึงทุกคน

 

“ทำไมเราต้องนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ ใช้แค่แนวคิดการเบี่ยงเบนออกจากกระบวนการยุติธรรม (Diversion) ไม่พอหรือ?”

รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มตั้งคำถามถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า มีการประชุมและสรุปประเด็นหลักที่บอกว่ากระบวนการยุติธรรมกระแสหลักกำลังมีปัญหา ดังนี้

ประการแรก ความแออัดของเรือนจำ กล่าวคือกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก หรือการแก้แค้นทดแทน จะทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความแออัดได้

ประการที่สอง นิยามของความเป็นอาชญากรรมในแต่ละช่วงเวลา นั่นคือ การกระทำหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งอาจจะเป็นอาชญากรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป การกระทำดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เช่น ยาเสพติด หรือกัญชาในบริบทร่วมสมัย ซึ่งต้องมีการพิจารณาตรงนี้ และปรับให้เข้ากับบริบทปัจจุบันด้วย

ประการที่สาม การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะช่วยลดภาระรัฐ และเพิ่มบทบาทชุมชนให้มากขึ้นและประการที่สี่ กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักถูกมองว่า อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยคืนความเป็นมนุษย์ให้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักด้วยวิธีการที่นุ่มนวลยิ่งขึ้น

 

 

“ในปี พ.ศ. 2554 มีผู้หญิงชาวอิหร่านคนหนึ่งถูกแฟนเก่าของเธอเอาน้ำกรดสาดหน้า ศาลตัดสินให้เธอเอาน้ำกรดสาดหน้าผู้ชายคนนั้นคืนได้ แต่ลองคิดดูว่า ถ้าคุณสาดน้ำกรดไปแล้ว คุณจะได้อะไร นอกจากได้แก้แค้น ได้ความสะใจ และได้คนตาบอดเพิ่มหนึ่งคน แต่ผู้หญิงก็จะไม่ได้หายเสียโฉม เธอจึงตัดสินใจไม่แก้แค้นด้วยการสาดน้ำกรด แต่ให้คู่กรณีจ่ายเงินชดใช้เพื่อนำไปรักษาใบหน้าของเธอแทน นี่เป็นจุดเปลี่ยน (turning point) ที่ทำให้เปลี่ยนมุมมองไปว่า ในประเทศที่ใช้กฎหมายชารีอะห์ (Shariah law) ยังมีเรื่องแบบนี้ นี่ก็อาจจะนับเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในทางหนึ่งได้”

รศ.ดร.จุฑารัตน์ ยังอธิบายถึงกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพิ่มเติมว่า กระบวนการดังกล่าวจะคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ และคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขยายขอบเขตไปพิจารณาเหยื่ออาชญากรรมซึ่งเป็นคนที่มีอำนาจน้อยหรือคนชายขอบ รวมถึงเหยื่อทางอ้อมที่เคยถูกกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักมองข้ามไป

“การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ควรจะเน้นใช้กับกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน รวมถึงใช้กับประชาสังคมและชุมชน และยังสามารถนำมาใช้กับอาชญากรรมร่วมสมัย เช่น การก่อการร้าย หรือการคุกคามทางไซเบอร์ (cyber bullying) และต้องมีการบริหารจัดการเชิงระบบในระดับสังคมโลก สร้างเครือข่ายข้ามประเทศ และให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมผู้ประสานงานการไกล่เกลี่ย (Facilitator) ส่วนการวัดผล เราต้องพิจารณาจากอัตราการกระทำผิดซ้ำ เพื่อทบทวนดูว่าเราประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว และเราต้องแก้ที่อะไร”

 

ประสบการณ์การปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศชิลี

 

วงสัมมนาขยายขอบเขตไปสู่ประเทศในละตินอเมริกาอย่างชิลี โดยมี Dr.Daniela Bolivar ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Pontificia Universidad Católica de Chile (UC) มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศชิลี ซึ่งเริ่มเมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมา

ประเทศชิลีเริ่มปฏิรูประบบกฎหมายในปี พ.ศ.2537 และพยายามปรับปรุงระบบยุติธรรมให้ทันสมัยในปี พ.ศ.2543 ต่อมาในปี พ.ศ.2550 จึงมีกฎหมายยุติธรรมสำหรับเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิเพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองเยาวชนให้มากที่สุด แต่ปัญหาที่ท้าทายคือ ชิลียังไม่มีผู้พิพากษา อัยการ และเจ้าหน้าที่เฉพาะจำนวนมากพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในแง่ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เรามีโครงการนำร่องที่เพิ่งเริ่มทำ เรียกว่า ‘โครงการ 2+1’ โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องในเมืองสองแห่ง และอีกแห่งจะเริ่มในปีนี้ โดยเราพยายามจะปฏิรูประบบยุติธรรมที่เกี่ยวกับผู้เยาว์ และนำเอาแนวคิดเรื่องการไกล่เกลี่ยเข้ามาร่วมด้วย ถ้าทำได้ ก็จะขยายผลดำเนินการไปทั่วประเทศ”

Dr.Bolivar อธิบายว่า กลุ่มแรกที่จะเริ่มดำเนินการคือ กลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยมีโครงการนำร่องที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งถือเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีความพยายามให้อัยการและผู้พิพากษาเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการทำงานร่วมกัน มีคณะกรรมการดำเนินงานในระดับชาติและระดับภูมิภาค โดยมีการจัดประชุมทุกสัปดาห์เพื่ออภิปรายกันเรื่องคดีต่างๆ ตัวคณะกรรมการจะมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของทั้งอัยการและทนายความของจำเลย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาก

 

 

“โมเดลการทำงานสำหรับการไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายคือ การหาความสมดุล เราต้องมีกระบวนการที่เน้นผลประโยชน์ของผู้เสียหาย มีการประเมินโครงการนำร่องในช่วงปีหนึ่ง มีการสัมภาษณ์ผู้เยาว์และผู้เสียหาย ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย

“4 ปีที่แล้วเราเริ่มจากศูนย์ ตอนนี้เรามีโครงการนำร่องในสามเมือง และเราสามารถจะผลักดันแผนที่สองออกมาได้ นี่นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของเราในแง่กฎหมาย ขณะที่ในแง่กระบวนการ มีหลายปัจจัยที่ช่วยสนับสนุน คือมีกระทรวงยุติธรรมที่มาช่วยดูแลและสนับสนุนเรื่องนี้ ร่วมมือกับนักวิชาการและนักวิจัย คอยดูเรื่องกระบวนการและผลสะท้อนกลับ ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การสนับสนุนจากนานาชาติ และเงินจากสหภาพต่างๆ ในการทำกิจกรรม สุดท้ายคือ ความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยประเทศในแถบละตินอเมริกาจะมีการสร้างเครือข่ายกัน ถ้ามีกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน”

แม้การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชิลีจะมีพัฒนาการไปในทางที่ดี แต่ก็ยังต้องเจอกับความท้าทายบางประการ เช่น การดึงเอาผู้เสียหายเข้ามามีส่วนร่วมในช่วงโครงการนำร่อง เพราะการติดต่อผู้เสียหายค่อนข้างยาก บางคนก็ยังมีอคติอยู่ หรือเหยื่อบางคนอยู่ในสภาวะเสี่ยงและไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่คณะทำงานต้องหาทางแก้ปัญหาต่อไป

 

กรณีศึกษา: การปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศฟินแลนด์และออสเตรีย

 

ตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้แก่ ฟินแลนด์ และออสเตรีย โดย Ms.Jee Aei Lee เจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและป้องกันอาชญากรรม จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้นำกรณีศึกษาจากทั้งสองประเทศมาร่วมอภิปรายในวงสัมมนาด้วย

ประเทศฟินแลนด์ ใช้รูปแบบการไกล่เกลี่ยเหยื่อกับผู้กระทำความผิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยออกเป็นพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาและทางแพ่ง และมีการขยายขอบเขตและผลลัพธ์ออกไป นอกจากนี้ รัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติยังได้ออกกฎหมายมาสนับสนุนการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาปรับใช้ในคดีอาญาทุกขั้นตอน

“ในฟินแลนด์ จะมีอาสาสมัครไกล่เกลี่ยอยู่ทั่วประเทศ โดยเราจะให้การอบรมและการศึกษา เพื่อจะรับประกันคุณภาพทั้งการให้บริการและการเข้าสู่บริการว่าได้มาตรฐานเท่ากันทั่วประเทศ”

Ms.Jee Aei Lee เสริมว่า ปัจจุบัน ฟินแลนด์มีหน่วยงานดูแลเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ทุกฝ่ายร่วมกันก่อตั้งประมาณ 100 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และมีอาสาสมัครอีกประมาณ 1,200 คนอยู่ทุกพื้นที่ ทั้งนี้ บทบาทของเจ้าหน้าที่มืออาชีพกับอาสาสมัครจะมีความแตกต่างกัน โดยมืออาชีพจะได้รับค่าจ้าง ได้รับการอบรม และมีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยคดีรุนแรงหรือคดีวิกฤต ขณะที่อาสาสมัครจะไม่ได้รับจ้างรายเดือน และต้องผ่านการอบรม 54 ชั่วโมง

“การทำงานผสมผสานกันระหว่างมืออาชีพกับอาสาสมัคร ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพดี และยังมีการจัดทำโครงการนำร่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐขึ้นมา เพื่อจะเพิ่มการเข้าถึงการให้บริการ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบท แต่โครงการที่ว่าอาจจะยังไม่ยั่งยืนนัก จึงต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างมืออาชีพและอาสาสมัครต่อไป”

 

 

แม้ฟินแลนด์จะดูประสบความสำเร็จในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แต่เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ที่ต้องเจอกับปัญหาและความท้าทายด้วยเช่นเดียวกัน โดยความท้าทายประการแรกคือ เรื่องการขาดแคลนทรัพยากรและงบประมาณ ซึ่งนำไปสู่การที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในบางพื้นที่ได้ ปัญหานี้อาจแก้ไขได้โดยการที่รัฐเพิ่มงบประมาณมากขึ้น ประการที่สองคือ ปัญหาการให้บริการ ตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่บางคนอาจส่งต่อคดีไปไม่ถูกตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และประการสุดท้ายคือ ประชากรหรือหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ได้รับรู้ถึงบริการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในวงกว้าง จึงอาจต้องมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้การศึกษาและความรู้แก่ประชาชนเพื่อเสริมความตระหนักรู้ด้วย

อีกประเทศหนึ่งที่นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้คือ ประเทศออสเตรีย โดยใช้ในกรณีที่ความผิดนั้นมีโทษจำคุกน้อยกว่า 5 ปี ตามหลักการแล้ว ออสเตรียสามารถนำการไกล่เกลี่ยเข้ามาใช้ได้ในทุกขั้นตอนของคดี แต่ในทางปฏิบัติ การส่งเรื่องไปสู่การไกล่เกลี่ยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของคดี

หน่วยงานที่ให้บริการการไกล่เกลี่ยคือ Neustart (Newstart) ซึ่งเป็นสมาคมไม่สังกัดรัฐบาลที่คอยดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีอำนาจบริหารงานเอง ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรม หน้าที่หลักคือเน้นการควบคุมความประพฤติ ปัจจุบัน Neustart มีสำนักงาน 35 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ประสานงาน (Facilitator) 600 คน และอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน

Ms.Jee Aei Lee อธิบายถึงแนวทางปฏิบัติงานของ Neustart ในคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงจากคู่ครองว่า จะต้องมีผู้ประสานงานที่เข้าใจคดีเป็นอย่างดีมาทำหน้าที่ และต้องมีการเตรียมตัวก่อนทำการไกล่เกลี่ย อีกทั้งต้องทำการประเมินความเสี่ยงอย่างระมัดระวังโดยผู้มีประสบการณ์ โดยทุกคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงประเภทนี้จะมีผู้ไกล่เกลี่ยสองคน เป็นเพศชายและเพศหญิงอย่างละหนึ่งคน ซึ่งผ่านการฝึกอบรมมามากกว่า 2 ปี หากไกล่เกลี่ยสำเร็จก็จะทำข้อตกลงกัน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องมีการสังเกตการณ์และการประเมินผล เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง

“ในกรณีของการกระทำผิดต่อคู่ครอง เราจะต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างระมัดระวัง เพราะบางครั้ง การใช้กระบวนการนี้อาจจะก่อให้เกิดข้อกังวลหลายประการ เช่น เรื่องความปลอดภัยของเหยื่อ หรือการตกเป็นเหยื่อซ้ำ (Revictimisation) แต่ก็มีหลักฐานที่แสดงว่า ถ้าเราใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างเหมาะสม เหยื่อจะรู้สึกพึงพอใจ มีพลัง และอัตราการกระทำผิดซ้ำในเรื่องนี้จะลดลง โดยในปี พ.ศ. 2561 มีคดีมากกว่า 5,300 คดีที่ถูกส่งเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย และ 21% เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อคู่ครอง” Ms.Jee Aei Lee กล่าวเพิ่มเติม

ถึงออสเตรียจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ Ms.Jee Aei Lee ก็ย้ำในตอนท้ายว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ควรจะเป็นกระบวนการทางเลือกที่ถูกใช้ หลังผ่านการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม และดำเนินการโดยผู้ไกล่เกลี่ยที่มีประสบการณ์เท่านั้น

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save