กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวคิด ‘ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative justice)’ เป็นแนวคิดที่กำลังถูกพูดถึงในระดับโลก เนื่องด้วยเป็นแนวคิดที่เน้นหลักความสมานฉันท์ มุ่งบรรเทาทั้งผู้กระทำผิดและผู้เสียหาย ผ่านทางการเจรจาไกล่เกลี่ยกันระหว่างทั้งสองฝ่ายและครอบครัว ในกรณีที่เหมาะสม และยังสามารถใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ด้วย
ในกรณีของประเทศไทย แม้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยอยู่แล้ว แต่เรื่องดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ยังใหม่สำหรับระบบยุติธรรมไทย เพราะที่ผ่านมา เราจะพบการปรับใช้หลักการดังกล่าวในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นหลัก การจะนำความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความเข้าใจในหลักการและแนวคิด รวมถึงเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เพื่อจะนำกระบวนการทางเลือกนี้ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้บรรลุเป้าหมาย ‘สังคมปลอดภัย’ ดังที่ตั้งไว้ได้
จากการจัดการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เป็นเจ้าภาพร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติงานและเกี่ยวข้องกับแวดวงกฎหมายมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด และร่วมอภิปราย เพื่อหาแนวทางการนำความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้กับสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ ได้นำมาสู่แนวทางการนำหลักความสมานฉันท์มาใช้ในหลากหลายด้าน ดังสรุปต่อไปนี้
จากกระแสหลักสู่ทางเลือก: ผู้เสียหายได้รับการเยียวยา ผู้ทำผิดได้รับการแก้ไข
หลายคนมองว่า ถ้าพูดถึงศาล มักติดภาพว่าเป็นเสมือนป่าช้า หรือเป็นสุสานที่มีไว้ฝังคนทำผิด แต่ สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ไม่คิดเช่นนั้น
ในความคิดของเขา ศาล โดยเฉพาะศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นเหมือนโรงพยาบาลสังคมที่มีหน้าที่แก้ไข รักษาเด็กและเยาวชนที่เจ็บป่วยด้วยการให้อภัยและให้โอกาส เพื่อให้ผู้ที่เคยหลงผิดได้กลับไปมีอนาคตที่สดใสอีกครั้ง ซึ่งนี่ถือเป็นการคุ้มครองสังคมควบคู่กันไปด้วย
สิทธิศักดิ์เริ่มเท้าความไปถึงสมัยตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 ในตอนนั้น หากเยาวชนทำผิด จะถูกอัยการฟ้องเป็นจำเลยเพื่อให้ศาลตัดสินลงโทษ ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า มาตรการดังกล่าวเป็นทางเดียวที่จะเป็นประโยชน์กับเด็กหรือไม่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 เริ่มมีการเห็นถึงความสำคัญของการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ จึงมีการริเริ่มให้แยกศาลเยาวชนและครอบครัวออกจากกระทรวงยุติธรรม รวมถึงออกพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ที่ให้มีมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
“มาตรการพิเศษจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ตำรวจกับสถานพินิจจะหันเหคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมไปสู่การทำแผนบำบัดฟื้นฟู หากเด็กทำได้ตามแผน ก็ยุติคดีไปในอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์คือ เด็กต้องสำนึกผิด โทษไม่ร้ายแรง และผู้เสียหายได้รับการชดใช้ตามสมควร ถ้าเป็นตามนี้ ศาลไม่ต้องสืบพยาน แต่ใช้การบำบัดฟื้นฟูแทนได้”
สิทธิศักดิ์อธิบายเสริมว่า กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้จริงในปี พ.ศ. 2554 โดยกรมพินิจพร้อมทั้งศาลเยาวชนและครอบครัว ได้นำมาตรการนี้มาใช้กับคดีอาญาที่เข้าองค์ประกอบความผิดจากมากไปน้อย และยังมีข้อบังคับเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้นำหลักการเรื่องการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน (Family and Community Group Conferencing) มาปรับใช้ด้วย
“จากสถิติ 5 ปีย้อนหลังพบว่า ในปี พ.ศ. 2557 มีคดีที่ใช้หลักการนี้ 406 คดี จาก 458 คดี สูงถึงร้อยละ 88 ขณะที่ในปี พ.ศ. 2562 คิดเป็นร้อยละ 80.68 มีเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดจำนวน 2,463 คน ที่ได้รับการบำบัด เท่ากับว่ามีครอบครัวผู้เสียหายจำนวนเท่ากันที่ได้รับการชดใช้เยียวยา และได้รับการขอขมา นอกจากนี้ ชุมชนยังเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย”
ถึงแม้การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีอุปสรรคบางประการ เช่น การที่ผู้พิพากษาบางท่านไม่ได้นำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้อย่างเต็มที่ หรือมาตรการที่ไม่เท่ากันของศาลแต่ละแห่ง ซึ่งจะต้องมีการประชุมและออกเป็นแนวนโยบาย รวมถึงมีการถอดบทเรียนเพื่อนำมาจัดทำคู่มือนำร่อง และมีการติดตามรายงาน เพื่อจะเป็นต้นแบบให้ศาลอื่นต่อไป
“กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเคยละเลยผู้เสียหาย และใช้การพิพากษาคดีเป็นผลลัพธ์สุดท้าย กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อาจเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมและบุคลากร แม้เด็กจะมีมลทินไปแล้ว แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มุ่งคุ้มครองผู้เสียหาย แก้ไขผู้กระทำผิดตามแผนบำบัดฟื้นฟู และทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน เน้นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ผลลัพธ์สุดท้ายคือคดีอาญาระงับสิ้น และเด็กก็จะไม่มีมลทิน” สิทธิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
บริบทของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในความร่วมมือระหว่างประเทศ
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญแค่ในระดับประเทศ แต่ในระดับระหว่างประเทศก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดย Dr. Eduardo Vetere รองประธานและเลขาธิการ สมาคมหน่วยงานต่อต้านการทุจริตระหว่างประเทศ (International Association of Anti-Corruption Authorities: IAACA) ได้กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาคองเกรสแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ในปี พ.ศ. 2548 ว่า มีแนวคิดสำคัญหลักๆ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การให้ประเทศสมาชิกนำกฎหมาย soft law มาใช้ และเรื่องที่สองคือ การเยียวยาทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดในคดีอาญา
“จากการประชุมในครั้งนั้น ได้มีการจัดทำวิธีแก้ไขราว 190 วิธี และตรวจสอบดูว่าจะนำไปใช้ได้ไหม ในทุกๆ 2 ปี เราจะมาตรวจกันว่า มาตรการที่ถูกนำไปใช้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นี่ไม่ใช่การประชุมเพื่อที่จะทำงานร่วมกันเท่านั้น แต่เป็นการประชุมเพื่อจะนำมาซึ่งนโยบายที่มีประสิทธิภาพสำหรับกระบวนการยุติธรรมด้านอาชญากรรม”
Dr.Vetere กล่าวว่า คณะทำงานได้ปรับปรุงมาตรการไปเรื่อยๆ และอยากสนับสนุนให้ทุกประเทศนำไปใช้ เพราะกระบวนการยุติธรรมกำลังเจอกับปัญหานักโทษล้นคุก และในคุกก็ไม่มีสภาพแวดล้อมที่จะช่วยบำบัดเยียวยานักโทษได้ ซึ่งตัวเขามองว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีกว่าการนำกระบวนการยุติธรรมเข้ามาใช้ เพราะจะช่วยทั้งลดจำนวนนักโทษ และทำให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญในการเยียวยาได้
ขณะที่ในประเทศไทย Dr.Vetere มองว่า การนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับเด็กและเยาวชนเป็นวิธีที่น่าสนใจ และสามารถขยายผลไปสู่ภาคส่วนอื่นได้ แต่ก็ยังต้องพิจารณาตัวแสดงที่หลากหลายในกระบวนการยุติธรรมไทยด้วย ซึ่งถ้าเราสามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ให้เป็นหลักการได้ ก็จะนำมาซึ่งความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันของทุกฝ่าย
“การจะนำหลักการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ จะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เจ้าหน้าที่ตุลาการ และทั้งสังคมก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราต้องมีการพัฒนาและประยุกต์ระบบให้ยั่งยืน เพื่อจะนำไปสู่สังคมที่อิสระ มีสันติสุข และมีอัตราอาชญากรรมลดลง”
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ กับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
“ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional justice) คือ วิธีที่ประเทศจะใช้รับมือกับข้อพิพาทหรือความขัดแย้งในวงกว้าง มีอาชญากรรมร้ายแรงเยอะ ระบบยุติธรรมแบบดั้งเดิมไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ จึงต้องมองหาทางเลือกอื่นมาใช้แก้ปัญหาแทน”
Mr. Howard Varney ที่ปรึกษาอิสระ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน อธิบายถึงความหมายของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า เมื่อระบบยุติธรรมอาจไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาทั้งหมดได้อย่างครบวงจร จึงมีการนำแนวคิดอื่นเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งก็คือการนำความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาใช้
“ขั้นตอนการทำงานหลักๆ ที่เราทำในกระบวนการมีหลายวิธี เช่น การทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) ที่เป็นการสัมภาษณ์ผู้เสียหาย ให้เขาได้พูดออกมา บอกว่าตนเจ็บปวดอย่างไร สร้างพื้นที่ที่จะทำให้ผู้เสียหายรู้สึกปลอดภัยพอที่จะเล่าเรื่องของตนออกมา”
Varney ได้ยกตัวอย่างของประเทศที่นำเอาความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ โดยประเทศแรกคือโคลัมเบีย ที่นำเอากระบวนการดังกล่าวมาใช้อย่างครอบคลุม มีการตั้งคณะกรรมการสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเพื่อหาข้อเท็จจริง และดูเรื่องความสำคัญของผู้เสียหาย ขณะที่อีกฝ่ายดูเรื่องทางฝั่งตุลาการ หากผู้กระทำความผิดออกมาสารภาพความจริง ก็จะได้รับการผ่อนผันโทษ ไม่ต้องเข้าคุก แต่อาจจะต้องทำงานบริการสังคมแทน
อีกตัวอย่างที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกับไทยคือ ประเทศติมอร์ตะวันออก ที่ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อการสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน มีคณะกรรมการซึ่งเปิดให้ทางหมู่บ้านมามีส่วนร่วม หากผู้กระทำผิดยอมรับผิด ชุมชนจะให้ทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดมาตกลงกัน ซึ่งผู้กระทำผิดอาจต้องทำงานบริการชุมชน เพื่อที่จะกลับสู่สังคมได้
“โปรแกรมที่เกิดขึ้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ทำผิดเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยพิจารณาดูว่าที่ตนเองทำไปก่อให้เกิดผลอย่างไร และจะปกป้องสิทธิผู้เสียหายที่ต้องทุกข์ทนอย่างไร เรื่องนี้ต้องใช้ความกล้าหาญ มุ่งมั่น และปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงต้องให้เกียรติและเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนด้วย ซึ่งไทยก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้” Varney กล่าวสรุป
การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้ในทางปฏิบัติ
“สิ่งสำคัญคือเรื่องของภาษา หลายครั้งที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรในระบบ ใช้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือใช้คำที่คนส่วนมากไม่ได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน อันที่จริง เราควรจะต้องรับฟังภาษาที่คนทั่วไปใช้ ยึดหลักคนเป็นศูนย์กลาง ดูว่าเขาเข้าใจภาษาที่เราสื่อออกไปหรือไม่”
Sandro Calvani ที่ปรึกษาอาวุโสด้านแผนยุทธศาสตร์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มต้นด้วยเรื่องการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้ เขาเสริมว่า กระบวนการนี้เป็นกระบวนการของชุมชน เพราะบางทีเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ปัญหานั้นก็เป็นปัญหาของชุมชนด้วย เพราะฉะนั้น หากจะยึดแต่หลักสมานฉันท์อย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องพิจารณาหลักการที่เคยใช้ปฏิบัติกันมาของแต่ละประเทศ รวมถึงพิจารณาตัวแสดงต่างๆ ในระบบด้วย
“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะไม่มีทางมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่มีการทบทวนว่า เราได้ทำอะไรผิดพลาดไปหรือไม่ และเราจำเป็นจะต้องรับฟังว่าชุมชนต้องการอะไร และทำตามที่พวกเขาต้องการ ถ้าชุมชนบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ก็อย่าเพิ่งปฏิเสธความจริงนั้น ความยุติธรรมกับสันติภาพไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะถ้าแยก ก็เท่ากับว่าคุณมองเหรียญแค่ด้านเดียว ถ้าไม่มีการยอมรับสันติภาพ ก็ไม่มีทางเกิดความยุติธรรม และถ้าเราละทิ้งความยุติธรรม ก็จะไม่เกิดความสันติภาพ”
Calvani เสนอว่า กระบวนการยุติธรรมต้องมีคนที่มาจากองค์การอื่นๆ ภายนอกด้วย เพื่อจะเป็นการปรับความเข้าใจให้ตรงกัน และต้องมีการพูดคุย รวมถึงสร้างความเชื่อใจกัน เขาย้ำว่า ความสันติจะเกิดขึ้นไม่ได้หากคนไม่ไว้ใจกัน และการจะทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ จะต้องมาจากการพูดความจริง และความจริงจะช่วยเยียวยาทุกคนที่เกี่ยวข้องเอง
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world