fbpx
‘ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ ทางเลือกในการระงับข้อพิพาทที่ ‘ยุติธรรม’ สำหรับทุกคน

‘ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ ทางเลือกในการระงับข้อพิพาทที่ ‘ยุติธรรม’ สำหรับทุกคน

ณัฐธิดา ดวงวิโรจน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

ในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ผู้กระทำผิดทุกคนต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ว่าสถานะหรือเพศใด หรือมีแรงจูงใจอะไรในการกระทำความผิด การปฏิบัติกับผู้กระทำความผิดทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเช่นนี้ หากมองในมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็น ‘ความยุติธรรม’ ตามแนวคิดที่ว่า คนทุกคนเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย

แต่อีกมุมหนึ่ง การปฏิบัติแบบเดียวกันต่อคนที่มีเงื่อนไขต่างกัน โดยไม่พิจารณาถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหานั้น เรียกว่ายุติธรรมได้จริงหรือ? การลงโทษที่ผูกขาดอยู่กับผู้ออกกฎหมายและผู้พิพากษา โดยไม่ฟังเสียงที่แท้จริงของผู้เสียหายนั้น ตอบสนองความต้องการของผู้เสียหายได้มากน้อยเพียงใด?

ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative justice) เป็นแนวคิดที่มุ่งให้มีการระงับและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแทนการดำเนินคดี โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชน เข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการจำคุกหรือการกำหนดโทษโดยคำพิพากษา แต่เป็นกระบวนการที่ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยา และผู้กระทำผิดจะได้รับการแก้ไข

ในต่างประเทศ เช่น แถบสแกนดิเนเวียและออสเตรเลีย แนวคิดเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีพัฒนาการมาแล้วกว่า 20-30 ปี แต่ในประเทศไทย แนวคิดเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลายมากนัก ทั้งๆ ที่สังคมไทยนับแต่โบราณกาลมา เป็นสังคมเอื้ออาทร มีความเชื่อเรื่องการให้อภัยและให้โอกาสคนที่สำนึกในความผิด มีการโอนอ่อนผ่อนปรนกัน จึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับนักกฎหมายและผู้ที่สนใจ ร่วมกันสำรวจความเป็นไปได้ในการขยายผลการนำแนวคิดนี้มาใช้ในไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เป็นเจ้าภาพร่วมกันจัด ‘การประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (National Symposium on Restorative Justice)’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้มีการใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มากขึ้น โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับความยุติธรรม มาร่วมอภิปรายเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในหลายมิติ ตั้งแต่ความสำคัญและหลักการพื้นฐาน การริเริ่มในการนำความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้เพื่อประสานความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย ไปจนถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจในต่างประเทศ

 

 

‘นักโทษล้นคุก’ โจทย์ใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันว่า กำลังเผชิญกับปัญหานักโทษล้นคุก โดยไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

กิตติพงษ์ กล่าวว่า ปัญหานี้มีสาเหตุจากระบบกฎหมายที่กำหนดโทษจำคุกมากเกินไป เน้นการลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่ให้ความสำคัญต่อการเยียวยาผู้เสียหายเท่าที่ควร ทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมของสังคมในกระบวนการต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาการกระทำผิดซ้ำ และยิ่งทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้น

ด้วยเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการยุติธรรม กิตติพงษ์จึงเสนอว่า แนวคิดเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อาจเป็นตัวเลือกหนึ่ง ที่จะเป็นทางออกให้กับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้

“ในกรณีของคดีอาญาที่เข้าเกณฑ์ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเข้ามาเสริมกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก โดยจะช่วยให้การดำเนินคดีอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น ความยุติธรรมเป็นความยุติธรรมอย่างแท้จริง อีกประการหนึ่งคือ กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักมีความเป็นทางการสูง ซึ่งความเป็นทางการนี้อาจไปบดบังชีวิตและเรื่องราวของคนที่อยู่ในกระบวนการ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงจะเข้ามาช่วยให้เรามองเห็นชีวิตและเรื่องราวที่ถูกซ่อนไว้มากขึ้น” กิตติพงษ์ กล่าวปิดท้าย

 

 

ขณะที่ วันชัย รุจนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวเสริมถึงปัญหาของการใช้โทษจำคุกเกินความจำเป็นว่า “ไม่มีอะไรทำลายทรัพยากรมนุษย์ได้มากกว่าการจำคุก การถูกจำคุกไม่ว่าจะกี่วัน ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เมื่อพ้นโทษออกมา อดีตผู้ต้องขังก็จะโดนกฎหมายจำกัดการกระทำต่างๆ เพราะสังคมไทยไม่ไว้ใจนักโทษ ฉะนั้นถ้าไม่ใช่คดีร้ายแรงจริงๆ ยังมีวิธีแก้ในสังคมเยอะมาก และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็เป็นหนึ่งในนั้น”

 

‘ผู้เสียหายเป็นหลัก’ และ ‘ขอโทษจากใจจริง’

 

Dr.Yvon Dandurand ที่ปรึกษาในการร่างคู่มือความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และผู้ช่วยอาวุโสแห่งศูนย์ปฏิรูปกฎหมายอาญาและนโยบายทางอาญาระหว่างประเทศ (ICCRL) ได้อธิบายถึงความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ว่า แบ่งออกเป็นสองส่วน คือกระบวนการและผลลัพธ์

กระบวนการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนจากการมุ่งเน้นการ ‘ลงโทษ’ ผู้กระทำความผิด มาเป็นการ ‘เยียวยา’ ทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ เพื่อจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย และยังทำให้พวกเขาสามารถกลับสู่ชุมชนได้อย่างราบรื่นด้วย

Dr.Dandurand กล่าวต่อว่า ในกระบวนยุติธรรมกระแสหลัก ผู้เสียหายมักถูกกีดกันออกจากกระบวนการ แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในการกำหนดโทษหรือวิธีการระงับข้อพิพาทมากขึ้น ผ่านทางการเจรจาระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด ซึ่งการเจรจาจะทำให้ผู้กระทำผิดรับรู้ เข้าใจผลของการกระทำของตนเอง และทำให้มีโอกาสสำนึกผิด และได้ขอโทษผู้เสียหายด้วยความจริงใจ มากกว่าการฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักที่เป็นระบบกล่าวหา ซึ่งมุ่งให้ทั้งสองฝ่ายกล่าวโทษกัน

 

 

ในช่วงที่ผ่านมา มีการพัฒนาและนำแนวคิดความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การเจรจาระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด (victim-offender mediation) การล้อมวงตกลงโทษ ​(sentencing circle) โดยเน้นที่การกลับสู่สังคมของผู้กระทำผิด

ทั้งนี้ Dr.Dandurand ยอมรับว่า การสรุปแก่นของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่พอจะสรุปองค์ประกอบสำคัญได้ดังนี้

  1. การเข้าร่วมโดยสมัครใจ (Voluntary participation) ทั้งจากผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย และชุมชน
  2. ผู้ประสานที่มีความเชี่ยวชาญ (Trained and professional facilitators) เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อช่วยให้เกิดการปรับความเข้าใจ การสำนึกผิด และป้องกันการไม่เท่ากันของอำนาจต่อรองระหว่างผู้กระทำความผิดและผู้เสียหาย
  3. การขออภัยและให้อภัย เพื่อแก้ไขความสัมพันธ์ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้ง

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีหลักการที่ช่วยแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการที่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และยังทำให้ผู้เสียหายมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ในขณะที่ไม่มีใครกล่าวขอโทษเขาด้วยซ้ำในกระบวนการปกติ การทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จะทำให้เราสามารถพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้” Dr.Dandurand กล่าวปิดท้าย

 

ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ (SDGs)

 

 

Ms.Valerie Lebaux หัวหน้างานส่วนยุติธรรม กองปฏิบัติการ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวถึงแนวคิดเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ว่า เป็นแนวคิดสำคัญในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ (SDGs) ในเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมและสันติภาพ

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2545 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ได้ออกมติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แม้มติดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่ในทางระหว่างประเทศก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นถึงฉันทามติของนานาประเทศที่มีต่อเรื่องนี้

นอกจากความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในบริบทเวทีโลกแล้ว Ms.Lebaux ยังกล่าวถึงความเหมาะสมในการนำความแนวคิดนี้มาใช้ในระบบกฎหมายไทยว่า เธอเชื่อมั่นว่าแนวคิดเรื่องนี้สามารถนำมาใช้ในระบบกฎหมายไทยได้อย่างเหมาะสม เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญเรื่องการปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเชื่อว่ามีอยู่ในทุกสังคมอยู่แล้ว

 

‘ทางออก’ หรือ ‘ทางเลือก’

 

 

ด้าน Dr.Brian Steels ผู้อำนวยการสถาบันความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เน้นย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกเท่านั้น และสามารถใช้ได้เฉพาะในกรณีที่เปิดช่องให้ใช้ได้ เช่น กรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเยาวชน หรือกรณีความผิดเล็กน้อย ส่วนในกรณีที่เป็นความผิดร้ายแรง จำเป็นจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

“ทฤษฎีเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ถือว่าได้รับการยอมรับในทางวิชาการระดับหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติต้องมีระบบมารองรับ ต้องมีคนเข้าไปทำและกำกับดูแล ถ้าหากเราเห็นว่าระบบนี้ดี เราต้องมาช่วยทำให้เรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นประโยชน์สูงสุดในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริงในสังคม”

 

โอกาสและความท้าทายของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย

 

เมื่อจบการบรรยายของวิทยากร มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังร่วมแสดงความคิดเห็นและซักถาม ซึ่งมีผู้หยิบยกประเด็นเรื่องความท้าทายของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทยไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็น

หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือเรื่องการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย ในทางปฏิบัติมีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กันอยู่แล้ว ทั้งในขั้นตอนรับเรื่องและสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือในชั้นศาลที่ศาลมักเปิดโอกาสให้คู่กรณีไกล่เกลี่ยกันก่อนจะนำบทกฎหมายมาใช้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นคดีแพ่ง และสามารถยอมความได้ จนอาจกลายเป็นการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เกินจำเป็นเสียด้วยซ้ำ

ในประเด็นนี้ กิตติพงษ์ ยอมรับว่า ในปัจจุบันมีการใช้วิธีไกล่เกลี่ยประนีประนอมในกระบวนการยุติธรรมจริง แต่การกระทำเหล่านั้นไม่มีความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือเป็นการไกล่เกลี่ยแบบ ‘ใต้โต๊ะ’ ที่มีผู้ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่คน ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นการนำเรื่องนี้ขึ้นมา ‘บนโต๊ะ’ และออกแบบกระบวนการกำกับดูแลที่ชัดเจนเพื่อให้กระบวนการนี้เป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่ใช่เพียงกลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองมากในสังคม

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือปัญหาเรื่องข้อจำกัดของกฎหมาย ระบบกฎหมายของไทยซึ่งเป็นระบบกฎหมายแบบประมวล ซึ่งยังไม่เปิดช่องให้ผู้ใช้กฎหมาย เช่น อัยการหรือศาล ยกเว้นไม่ใช้ตัวบทกฎหมายตัดสินคดี ในกรณีที่อัยการมีพยานหลักฐานครบถ้วนแต่ไม่สั่งฟ้อง จะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา

วิทยากรได้ตอบข้อสงสัยในประเด็นนี้ว่า ปัญหาข้อกฎหมายเป็นประเด็นที่ผู้ทำเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เห็นว่าเป็นปัญหาเช่นกัน แต่ในปัจจุบันเพิ่งมีการออกกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ซึ่งจะเปิดช่องให้พนักงานอัยการและศาลสามารถเบี่ยงคดีโดยการไกล่เกลี่ยได้อย่างชอบด้วยกฎหมายหากเข้าตามเงื่อนไข ปัญหาเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายจึงน่าจะลดน้อยลง

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save