fbpx

Rest(aurant) Memories – ความทรงจำสุดท้ายจาก (เจ้าของ) ร้านอาหาร ในวันที่ล้มจนไม่อาจลุก

หากย้อนไปในช่วงเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดทานอาหารในร้านและอนุญาตให้ขายได้เพียงรูปแบบใส่ห่อกลับบ้าน ส่งผลให้หลายร้านอาหารต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับยอดขายที่ลดน้อยลงทุกวัน

ส่วนที่เจ็บตัวหนักเป็นพิเศษคือธุรกิจกลางคืนที่ถูกสั่งให้ปิดก่อนและเปิดทีหลังในมาตรการแต่ละรอบ ตลอดจนกลายเป็นจำเลยสังคมและถูกบีบให้น้อมรับความผิดที่พวกเขาไม่ได้ก่อ น่าแปลกใจที่แม้กลุ่มร้านอาหารจะโดนกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากมาตรการสกัดโรค แต่การเยียวยากลับไม่ปรากฏอย่างทันท่วงที

มาวันนี้เป็นการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ครั้งที่ 4 บรรยากาศการห้ามนั่งรับประทานอาหารหวนกลับมาอีกหน แต่สำหรับเจ้าของร้านอาหารหลายคน ช่วงเวลานี้เป็นดั่ง ‘นาทีตัดสิน’ ที่ไม่อาจจะย้อนกลับมา เมื่อบาดแผลที่แบกมาตั้งแต่การล็อกดาวน์รอบก่อนๆ บีบให้หลายคนต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า “ควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้?” แม้นี่จะเป็นความคิดสุดท้ายที่เจ้าของกิจการทุกคนนึกถึง แต่การบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลก็บังคับให้ประชาชนผู้ประกอบอาชีพสุจริตต้องตัดสินใจเลือกว่าจะรักษาสิ่งใดไว้ระหว่าง ‘ร้านที่เป็นดั่งชีวิต’ กับ ‘ชีวิตที่อุทิศเรี่ยวแรงทั้งหมดให้กับร้าน’ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ล้วนเจ็บปวดไม่แพ้กันทั้งสิ้น

101 ชวนคุณท่องไปในความทรงจำครั้งสุดท้ายของ 3 (เจ้าของ) ร้านอาหาร ที่จำใจต้องปิดกิจการลงด้วยพิษโควิด-19 ทั้งในรูปแบบปิดชั่วคราวและปิดถาวร ในวันที่ร้านล้มจนไม่อาจลุกขึ้นมาได้อีกต่อไปแล้ว 

ร้านลิงกัง

สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ‘ร้านลิงกัง’ ของ ป้าแอน – ระวีวรรณ วีระวงศ์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ร้านขายขนมหวานเย็น แต่ที่นี่เป็นสถานที่แห่งความทรงจำวัยเยาว์ของเหล่านักศึกษา ที่แม้เวลาจะผ่านไปแต่รสชาติของหนุ่มสาวสามารถย้อนคืนกลับมาได้อีกครั้งเสมอผ่านการกินน้ำแข็งไสที่ร้านลิงกัง มาวันนี้ด้วยพิษของโควิด-19 และการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลบีบให้ตำนานร้านขนมหวานกว่า 13 ปีต้องปิดตัวลง ตลอดการสนทนาวันนี้ ป้าแอนยังคงมีรอยยิ้มกว้าง เสียงหัวเราะที่สดใส และทำขนม (หวานเจี๊ยบ) เหมือนเดิม แต่กระนั้นก็ตาม สถานีแห่งความสุข ณ วันนี้ ดูว่างเปล่าและไม่อาจสุขอย่างที่เคย ส่วนเป็นเพราะสาเหตุใด เรื่องราวด้านล่างนี้อาจจะพอตอบคุณได้

“เดิมทีป้าเคยเป็นพนักงานประจำ ก่อนจะตัดสินใจลาออกเพราะตอนนั้นรู้สึกอยากเป็นอิสระ อย่างว่าพอเป็นลูกจ้างเขาไปนานๆ เข้า เราก็ฝันที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ประกอบกับพี่สาวของป้าเพิ่งจะเซ้งร้านขนมหวานแถวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต่อจากนักศึกษาซึ่งเป็นเจ้าของร้านคนก่อน ป้าก็เลยไปทดลองขายขนมหวานกับพี่สาวอยู่ประมาณ 2 เดือนเพื่อดูว่าจะทำได้หรือเปล่า ปรากฏว่าทำได้ และร้านก็ตรงกับจริตของป้าที่เป็นคนชอบพูดคุยกับคนอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับลูกค้าที่เป็นนักศึกษา ได้แหย่กันไปแหย่กันมา ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ ป้าก็เลยตัดสินใจเซ้งร้านต่อจากพี่สาว” 

“ด้วยความที่ร้านเปิดมาตั้ง 13 ปี ไหนจะเคยย้ายร้านตั้ง 2 หน แน่นอนว่ามีความทรงจำดีๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แต่มีเรื่องหนึ่งที่ป้าประทับใจเป็นพิเศษ มีอยู่คืนหนึ่ง ขณะที่ป้ากำลังเก็บจานตามปกติ ก็เจอเศษกระดาษใบหนึ่งวางอยู่บนจาน ป้าหยิบขึ้นมาดูในนั้นมีภาพวาดเต่าน้อยกับหอยทากอย่างละตัว ตอนแรกป้าไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร ก่อนจะมาถึงบางอ้อตอนหลังว่าเขาคงว่าป้าทำขนมช้านี่เอง (หัวเราะ) ถ้าให้เดาป้าคิดว่าคนวาดน่าจะเป็นน้องปี 1 ที่ยังไม่เข้าใจธรรมชาติของร้านลิงกังว่าต้องรอนานหน่อย ถ้าเป็นพวกรุ่นพี่จะรู้กันดีว่าอย่างต่ำต้องรอสักหนึ่งชั่วโมงกว่าจะได้กิน เพราะบางทีก็มากัน 10-20 คน กว่าจะทำเมนูของแต่ละกลุ่มเสร็จก็ใช้เวลานาน เพราะป้าทำอยู่คนเดียว เรื่องนี้ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของร้านไป แต่น้องปี1 คงยังไม่รู้ เขาคงอยากระบายแต่ไม่กล้าด่าป้า (หัวเราะ) รูปที่เขาวาดป้าก็ยังเก็บไว้อยู่เลยนะ ป้าชอบ มันน่ารักดี”  

“วิกฤตโควิดไม่ใช่วิกฤตแรกของร้านลิงกัง ป้าเคยเจอวิกฤตใหญ่มาครั้งหนึ่งตอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนใหม่ช่วงปี 2557 ทำให้ต้องปิดมหาวิทยาลัยถึง 6 เดือนเต็มๆ ตอนนั้นป้าก็ควักเนื้อเหมือนกัน ยังดีว่าช่วงนั้นร้านยังมีรายได้ดีอยู่เลยสามารถเอาเงินมาหมุนได้ แต่วิกฤตโควิดนี่ต่างออกไป ตอนระบาดแรกๆ ป้ายังงงๆ อยู่และคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมากหรอก จนกระทั่งรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ห้ามนั่งกินอาหารในร้าน และให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียว โอ้โห ร้านลิงกังต้องปิดไปเลย 6 เดือน แต่ป้ายังต้องจ่ายค่าเช่าร้านเหมือนเดิม โชคดีที่เจ้าของตึกช่วยลดค่าเช่าให้ 3 เดือน บวกกับรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือเลยพอผ่านช่วงระบาดรอบแรกไปได้” 

“เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ป้ากลับมาเปิดร้านใหม่ รอบนี้อัดโปรโมชันลดครึ่งราคาทุกเมนู เป็นเวลาติดต่อกัน 15 วัน เพราะอยากปลอบใจทุกคนและถือว่าได้คืนกำไรให้เด็กๆ แถมยังเป็นเดือนเกิดป้าด้วย ช่วงนั้นที่ร้านมีเด็กๆ มากินขนมกันทุกคืน ยอดขายก็เริ่มกระเตื้องขึ้นจนรู้สึกว่าเดี๋ยวมันคงจะดีขึ้น แต่พอเกิดการระบาดระลอก 3 เท่านั้นแหละ รัฐบาลไม่ได้ประกาศปิดอย่างจริงจัง แต่ไม่มีลูกค้าเลย บางวันก็ได้กินไข่ มีบ้างที่จะขายได้สัก 100-200 บาท นานๆ กว่าจะได้สักพันนึง”

“รอบนี้ป้าพยายามสู้หลายวิธีมาก ไม่ได้อยู่เฉยเลย ทั้งเอาขนมนู่นนี่มาขาย ทั้งไปเรียนที่สวทช. เพื่อหาวิธีทำให้น้ำแข็งละลายช้าที่สุด เพราะต้องการจะทำเดลิเวอรีด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ เจ้าหน้าที่เขาแนะนำให้ป้าปรับปรุงแพ็กเกจจิง แต่ขนาดร้านใหญ่ๆ ที่มีแพ็กเกจจิงดีๆ น้ำแข็งยังละลายเลย แถมเขาก็มีเงินทุนที่จะทำ ป้ามันเบี้ยน้อยหอยน้อยเลยต้องพับเรื่องนี้ไป พยายามหาทางรอดหลายช่องทางแล้ว แต่มันก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ ต้องขอยืมคำพูดของนักมวยคนหนึ่ง บอกเลยว่าป้าเจ็บมาเยอะ (หัวเราะ)”

“เดือนนี้ถึงเวลาต่อสัญญาเช่ารอบใหม่ ป้าไปคุยกับเจ้าของตึกว่าขอลดค่าเช่าได้ไหม ขณะที่ถามก็กลับมาย้อนคิดในใจว่าต่อให้เขาช่วยเราจริงแต่จะช่วยได้ถึงเมื่อไหร่ แถมตอนนี้ยังมีการขยายถนนหน้าร้านที่ไม่รู้จะเสร็จวันไหนและวัคซีนก็ฉีดได้ไม่ครบทุกคน ทางเจ้าของตึกบอกว่าคงจะลดค่าเช่าให้ไม่ได้ นี่เป็นเหตุให้ป้าต้องกลับมาดูเงินในกระเป๋าตัวเองว่าสายป่านของเรายาวพอไหม ก็พบว่าหยุดก่อนดีกว่า เลยตัดสินใจไม่ต่อสัญญาร้าน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องปิดตัวร้านลิงกังลง”

“ถามว่าป้าเสียใจไหม เราเสียใจอยู่แล้ว สำหรับป้าร้านลิงกังเป็นเหมือนลูกคนหนึ่ง เวลาป้าพูดถึงเขาไม่ว่าจะในเฟซบุ๊กหรือไอจีของร้าน ป้าจะเรียกเขาว่า ‘น้องลิงกัง’ ตลอด น้องลิงกังอย่างนั้น น้องลิงกังอย่างนี้ เราคอยดูแลเขาและเขาเองก็คอยดูแลเรา เพราะฉะนั้นมันมีความรู้สึกเสียใจอยู่เต็มอกที่ไม่สามารถรักษาลูกคนนี้เอาไว้ได้ สำหรับคนอื่นเขาอาจจะไม่มีชีวิต แต่สำหรับป้าเขามีชีวิตและเป็นกำลังใจที่ดีให้กับป้าเสมอมา ป้าเสียใจจริงๆ ที่ไม่มีความสามารถมากพอที่จะพยุงน้องให้รอดปลอดภัยภายใต้วิกฤตนี้ เราผ่านวิกฤตมาด้วยกันตั้งเยอะ แต่ครั้งนี้มันสุดความสามารถของป้าจริงๆ ป้าเลยจำเป็นต้องหยุดอายุเขาไว้แค่ 13 ขวบเท่านี้ก่อน” 

“หลังจากนี้ต่อไป ป้าแอนและลิงกังก็จะต้องตกงาน (หัวเราะ) แต่เราไม่หมดกำลังใจนะ อย่างน้อยๆ หลังจากที่ข่าวออกไปว่าป้าจะปิดร้านก็มีเด็กๆ มาให้กำลังใจกันไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะรุ่นที่จบไปแล้วเป็นสิบปีหรือที่เพิ่งจบไปล่าสุด ก็คอยผลัดกันแวะเวียนมาอุดหนุนร้านลิงกัง รายได้ตรงนี้พอได้เป็นค่าเช่าของเดือนสุดท้ายและค่าขนของด้วย (หัวเราะ) ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ป้าจะได้เก็บเกี่ยวความสุขและความรู้สึกดีๆ ส่งท้ายก่อนจะจากลากัน สัญญาว่าวันไหนที่ป้ารู้สึกท้อ ป้าจะหยิบสมุดเฟรนด์ชิปที่ทุกคนเขียนข้อความไว้ให้ขึ้นมาอ่านเพื่อเติมกำลังใจ ป้าแอนและน้องลิงกังขอขอบคุณเด็กๆ ทุกคน ป้าซาบซึ้งกับน้ำใจของทุกคนมาก” 

ร้านไทยโช (Thaisho)

“ลาก่อย ถ้ามีรัฐบาลใหม่เมื่อไหร่เราคงได้เจอกันน้าทุกคน” คือข้อความแจ้งเลิกกิจการของ ‘ร้านไทยโช’ บาร์ยาดองสุดคูล ย่านสะพานควาย ที่เคยสร้างความครื้นเครงให้กับชาวอารีย์มานานกว่า 3 ปี ก่อนที่ต่อมาทางร้านจะประกาศขายอุปกรณ์ทุกอย่าง ไม่เหลือแม้กระทั่งโหลยาดอง

ไทยโชในวันนี้จึงดูแปลกตาไป แม้จะคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของ แต่บรรยากาศภายในร้านกลับเหงาพิกล เมื่อป้ายไฟนีออนโลโก้ร้านสีแดงถูกแทนที่ด้วยป้ายราคาแผ่นเล็กๆ และเสียงเพลงยุค 90 ที่เคยดังกระหึ่มกลับกลายเป็นเสียงเซ็งแซ่ของผู้คนที่ตะโกนสอบถามราคา โดยมี เอ็ม – สุภัสสร ช่อผกา คอยตอบคำถามต่างๆ ของลูกค้ากลุ่มสุดท้ายในนามเจ้าของร้านไทยโช แม้เอ็มจะขานรับลูกค้าด้วยน้ำเสียงเป็นมิตรเช่นเคย แต่แววตาของเธอกลับไร้ประกายและมีเพียงความรู้สึกหม่นๆ ที่ชวนให้ขมในใจมากกว่าเหล้าดีกรีใดๆ 

“จุดเริ่มต้นของร้านไทยโชเริ่มจากที่พวกเราแก๊งเพื่อนชาวศิลปากรชอบไปแฮงก์เอาต์สไตล์ลูกทุ่งกันบ่อยๆ เราก็เลยเกิดไอเดียอยากยกประสบการณ์ร้านเหล้าแบบลูกทุ่งๆ ที่เราเคยเจอตอนอยู่มหาลัยมาให้คนกรุงเทพฯ ได้ลองกัน ร้านไทยโชเลยเกิดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ซุ้มยาดองที่ทันสมัย เราเปิดร้านมาได้ 3 ปี กิจการก็ไปได้ด้วยดีมาโดยตลอด เรามีลูกค้าขาประจำเยอะมาก จนกระทั่งวันที่โควิดระบาด ร้านเราถูกสั่งปิด ใครจะคิดว่าจากที่มีแผนจะขยายสาขาที่สองกลายเป็นว่าเราต้องปิดร้านซะงั้น” 

“ผลกระทบที่เราโดนมาตลอดคือการโดนสั่งปิดร้าน เราเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนะ แต่ด้วยระยะเวลาเกือบ 8 เดือนที่โดนสั่งห้ามเปิด ร้านเรามีค่าใช้จ่ายตลอด ไหนจะค่าเช่าที่ ค่าแรงพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟก็ต้องจ่ายอยู่ทุกเดือน ช่วงเวลาที่ผ่านมาหนักหนากับเรามาก เราอดทนมาตลอด เขาบอกให้รอ เราก็รอ ไม่เคยเรียกร้องอะไรเลยตลอดหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในครั้งแรกหรือครั้งที่สอง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว เราแบกต่อไปไม่ไหว ก็เลยตัดสินใจว่าคงถึงเวลาที่ต้องปิดร้านไปก่อน” 

“เราปรับตัวมาตลอดและให้ความร่วมมือทุกอย่าง เราติดเครื่องพ่นแอลกอฮอล์ล้างมือไว้เต็มร้าน เครื่องวัดอุณหภูมิก็ซื้อมาหลายเครื่องมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากากและถุงมือให้เรียบร้อย เราปรับตัวตามทุกสถานการณ์จริงๆ แต่ประเด็นคือร้านเราถูกสั่งปิด ถ้ายังสามารถเปิดร้านได้บ้าง ยอดขายอาจจะน้อยลง แต่เราก็จะพอมีรายได้เพื่อช่วยพยุงร้านต่อไปได้ เชื่อไหมว่าก่อนจะปิดร้านยังมีลูกค้าโทรมาจองโต๊ะอยู่เลย แต่สิ่งที่บีบให้เราต้องเลิกกิจการวันนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทนกับสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนอย่างนี้ต่อไปถึงเมื่อไหร่ ตั้งแต่ที่โดนปิดมาทุกรอบ ไม่เคยมีใครมาช่วยอะไรเราเลย คุณพอจะออกมาตรการอะไรช่วยเหลือเราบ้างได้ไหม เช่น ช่วยเหลือเรื่องค่าเช่ากี่เปอร์เซ็นต์ก็บอกมาให้ชัด นี่เป็นสิ่งที่เราควรได้รับหรือเปล่า การสั่งปิดของคุณท่ากับการที่เราขายของไม่ได้เลยนะ ถ้ามีการช่วยเหลือเราอาจจะแบกร้านไปต่อไหวก็ได้” 

“วันที่ตัดสินใจปิดร้าน เราเสียใจมาก ลูกค้าขาประจำหลายคนทักมาว่าให้เราลองอดทนอีกนิดนึงไหม มีหลายคนที่อยากจะมาไทยโชอีกสักครั้ง แต่เราเองก็ไม่ไหวแล้ว เราเศร้าและเสียดายนะ เพราะเริ่มต้นร้านนี้มากับมือ มันคือร้านที่เราตั้งใจทำ ไทยโชสอนอะไรเราเยอะมากและให้ประสบการณ์แบบแน่นๆ เราโดนทุกอย่างมาด้วยกัน ตั้งแต่ที่ทำอะไรไม่เป็น จนตอนนี้เรามีประสบการณ์ รู้แล้วว่าหากจะเปิดบาร์สักที่ควรต้องทำอะไรก่อนหลัง การเกิดขึ้นของไทยโช ณ วันนั้นสร้างให้เราเป็นเราในวันนี้ ก็อยากจะขอบคุณมากๆ”

“นอกจากร้าน เราอยากขอบคุณลูกค้าทุกคน ขอบคุณทุกคนที่เคยมา ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้แก่กัน สำหรับเราลูกค้าหลายคนกลายเป็นเหมือนเพื่อนหรือญาติพี่น้องกันไปแล้ว บางคนถึงขั้นมีไลน์ มีไอจีของกันและกันด้วยซ้ำ เฮ้อ พูดแล้วก็เสียดาย แต่อยากขอบคุณและดีใจมากๆ ที่ครั้งหนึ่งไทยโชเคยเป็นสถานที่ที่ทุกคนได้มาสนุกไปด้วยกัน ถ้ามีโอกาสเจอกันใหม่ก็ฝากกลับมาอุดหนุนกันด้วย แต่ตอนนี้คิดว่าคงต้องขอรอดูสถานการณ์ไปก่อน ถ้าเมื่อไหร่ที่มองเห็นภาพอะไรๆ ชัดเจนกว่านี้ หรือสถานการณ์ดูเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราคงมีโอกาสได้กลับมาเจอกันอีก แต่ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้น พูดตรงๆ ว่าคงจะไม่ใช่ในเร็วๆ นี้แน่ๆ”  

ร้าน Ma-ke Inu 

ในซอยลาดพร้าว 4 ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก MRT สถานีพหลโยธิน มีร้านอิซากายะเล็กๆ แอบซ่อนตัวอยู่ ป้ายร้านสีขาวหน้าอาคารหนึ่งคูหา ปรากฏข้อความว่า ‘Ma-ke Inu’ ในภาษาญี่ปุ่นคำนี้แปลว่า ‘หมาขี้แพ้’ แต่คนขี้แพ้ที่ว่าคงไม่ได้หมายรวมถึงชายหนุ่มอย่าง เคน – กัมปนาท หล้าปาวงศ์และ ทีม – ณภัทร จันทวิรัช เจ้าของร้าน Ma-ke Inu เป็นแน่ เพราะตู้ข้าวแกงเล็กๆ ที่วางอยู่หน้าประตูทางเข้าร้านคือสิ่งที่บอกเราโดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยว่าพวกเขาได้ลุกขึ้นสู้กับวิกฤตนี้อย่างสุดความสามารถ แม้กระทั่งต้องเปลี่ยนตัวเองจากการขายอาหารญี่ปุ่นพรีเมียมมาเป็นข้าวแกงญี่ปุ่นราคาประหยัด พวกเขาก็ทำเพื่อจะรักษาสถานที่ที่เป็นดั่งหลุมหลบภัยของเหล่าผู้แพ้นี้ไว้ เผื่อสักวันหนึ่งมันอาจจะมีโอกาสพลิกกลับมาชนะได้อีกครั้ง

“ร้าน Ma-ke Inu เปิดมาถึงปีที่ 4 จุดเริ่มต้นมาจากแก๊งเพื่อนแปดคนชอบมาเจอกันในกิจกรรมตอนเย็นๆ และทุกคนมีความชอบเรื่องความเป็นญี่ปุ่นเหมือนกัน ไม่ว่าจะอาหารญี่ปุ่นหรือการ์ตูนญี่ปุ่น นอกจากนี้พวกเรายังมีปมร่วมอย่างการเป็น ‘loser’ อยู่ในใจ และไหนๆ ก็รวมแก๊งกันแล้ว พวกเราเลยอยากทำอะไรให้ประสบความสำเร็จสักอย่าง โดยมี motto ประจำใจว่า อาจจะเคยแพ้แต่ไม่ตลอดไป ก็เลยเปิดร้านอาหาร Ma-ke Inu ที่แปลว่าหมาขี้แพ้ขึ้นมา โดยวางคอนเซ็ปต์ร้านเป็น loser bar สถานที่ที่มีไว้ให้ใครที่กำลังรู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกแพ้ ไม่ว่าจะจากเรื่องอะไรก็ตาม ได้มากินอาหารมื้ออร่อยๆ ได้ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ และได้พักเพื่อเติมพลังอีกครั้ง” 

“ก่อนหน้าที่จะมีโควิด ร้านเรากำลังไปได้สวยมากๆ พวกเรามองเห็นอนาคตของร้านนี้ว่าสามารถไปต่อได้หลายๆ ทาง ไม่ว่าจะขยายสาขาหรือขายแบบ grab and go ด้วยศักยภาพของเพื่อนทุกคนและของร้าน พวกเราเชื่อมั่นมากว่าร้านของเรามีอนาคตที่ดีรออยู่แน่ๆ แต่ทันทีที่โควิดมาทุกอย่างเปลี่ยนไป ตอนที่ระบาดรอบแรก ด้วยความที่ร้านเราขายดีทำให้มีการสต็อกสินค้าไว้เยอะ พอรัฐบาลประกาศว่าห้ามทานที่ร้าน ต้องสั่งกลับบ้านเท่านั้น ไหนจะห้ามขายแอลกอฮอล์อีก พวกเราตกใจมาก เพราะทั้งชีวิตไม่เคยที่ต้องปิดร้านอาหารเป็นเดือนมาก่อน พวกเราต้องประชุมกันทุกคืนเพื่อหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

“สุดท้ายเราเลยออกสินค้าใหม่อย่าง ‘Ma-ke’ S.E.A.L อาหารญี่ปุ่นสําเร็จรูปแช่แข็ง แต่เราไม่มีเทคโนโลยีแบบอุตสาหกรรมใหญ่ทำให้อาหารของเราเก็บได้ไม่เกิน 7 วัน พอหักลบต้นทุนก็ไม่คุ้มค่า เพราะยอดซื้อมีไม่เยอะและที่ผ่านมาไม่ได้เน้นขายแบบเดลิเวอรีมาก่อน แต่พอโลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตาม ช่องทางเดลิเวอรีพอช่วยให้มียอดขายบ้าง แต่เขาเก็บค่า GP สูงมาก สมมติอาหารหนึ่งจานได้กำไร 40% แอปฯ หักเงินไป 30% เราเหลือแค่ 10% มองยังไงก็ไม่คุ้มต้นทุน สำหรับผู้ประกอบการเดลิเวอรีอาจเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าก็จริง แต่ไม่ได้เป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้เราขนาดนั้น”  

“ถัดจากระลอกแรกไปไม่กี่เดือน ช่วงปลายปีก็เกิดระบาดระลอก 2 อีกครั้ง พวกเราที่เพิ่งกลับมาเปิดร้านแบบมีแผล พูดง่ายๆ ว่าเปิดร้านเพื่อใช้หนี้ พอเจอดอกนี้เข้าไป โอ้โห ทำอะไรไม่ถูก หนี้เก่ายังจ่ายไม่หมดก็มาโดนปิดร้านอีกรอบ รอบนี้เราปรับเปลี่ยนวิธีการขายกันเยอะมาก ทั้งออกสินค้า Ma-ke box อาหารญี่ปุ่นราคาประหยัดเพื่อส่งขายทางเดลิเวอรี เพิ่มสินค้าใหม่อย่างข้าวผัดกะเพราเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผลจากการปรับตัวรอบนี้ทำให้เราพอมีรายได้ แต่ก็ไม่ครอบคลุมรายจ่ายที่เราแบกรับอยู่”

“พอมาถึงระลอก 3 ผลกระทบมันหนักมาก เพราะแผลใหญ่ขึ้นทุกรอบ รอบ 3 นี่ไม่ต้องไปคิดถึงกำไรเลย ตอนนี้แค่คิดว่าจะหาทางใช้หนี้ก้อนเก่ายังไงก็เต็มกลืนแล้ว พวกเราเลยตัดสินใจพักกิจการร้าน Ma-ke Inu ร้านอาหารญี่ปุ่นพรีเมียมไว้ชั่วคราว และเปลี่ยนมาทำ ‘ช้อนแกง’ ร้านข้าวแกงอาหารญี่ปุ่นแทน เพราะคิดกันแล้วว่าถ้ายังฝืนทำร้านต่อไป กลัวว่าแบรนด์ Ma-ke Inu จะเสียหายไปมากกว่านี้”

“พอมีหนี้สินเรื่องวัตถุดิบก็ยากที่จะคงมาตรฐานอาหารไว้เหมือนตอนที่เราพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ บวกกับการต้องปรับมาขายกลางวัน จากเมื่อก่อนที่เคยเปิดกลางคืน ก็ทำให้บรรยากาศในร้านไม่เหมือนเดิม อีเวนต์สนุกๆ ที่เคยจัด ก็จัดไม่ได้ พวกเราแคร์ลูกค้ามาก กลัวว่าถ้าเขาเปิดประตูร้านมาแล้วไม่ได้สัมผัสบรรยากาศร้านแบบที่คุ้นเคย หรือเขากินข้าวหน้าเนื้อจานเดิม แต่รู้สึกไม่อร่อยเหมือนเดิม ก็กังวลว่าถ้าเกิดภาพจำนี้ไปเรื่อยๆ ลูกค้าจะเสียศรัทธาในแบรนด์ เราเลยเลือกพักร้านไว้ก่อนชั่วคราว และรอวันที่จะได้เปิดร้านอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งดีกว่า” 

“สำหรับพวกเรานี่เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายเพื่อให้อยู่รอด เพื่อยื้อร้านไปถึงวันที่ประเทศจะมีการจัดการที่ดีกว่านี้และเห็นคุณค่ากับธุรกิจร้านอาหารอย่างพวกเรามากกว่านี้ ตอนนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายคน ไม่ว่าจะสายร้านอาหารหรือสายผับบาร์ต่างรู้สึกเหมือนกันว่า เรารู้สึกไม่ได้รับการให้ค่า พวกเราถูกทิ้งไว้ข้างหลังเป็นหมูเป็นหมา คุณสั่งให้เราปิดร้าน คุณสั่งให้เราหยุดทำงาน โดยไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรมารองรับ แล้วผู้ประกอบการอย่างเราจะเอารายได้มาจากไหน พอวันหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจทุกอย่างกลับมา แต่คนพวกนี้ตายไปหมดแล้ว คุณจะเอาใครมาขับเคลื่อนระบบนี้ต่อเหรอ” 

“แม้ว่าร้าน Make-Inu อาจจะเป็นร้านเล็กๆ แต่มันมีความหมายกับพวกเราทั้ง 8 คนมากจริงๆ มันเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเราเคยทำมา ทั้งมอบประสบการณ์ ทั้งเป็นเหมือนที่หลบภัย เป็นที่ที่พวกเราอยู่แล้วสบายใจ สมกับที่เราตั้งใจไว้ และไม่ใช่แค่พวกเราที่รู้สึกแบบนี้ ลูกค้าของเราก็เก็ตในความรู้สึกนี้เหมือนกัน เวลาเห็นลูกค้าสบายใจและมีความสุขที่ได้มากินอาหารที่ร้านเรา พวกเราเองก็มีความสุขตามไปด้วย เราทุ่มเททุกอย่างในการปั้นร้านนี้ขึ้นมา พวกเราจริงใจและตั้งใจกับมันมากๆ ถ้าวันหนึ่งมันต้องปิดตัวลงอย่างถาวร วันนั้นคงเป็นวันที่แย่มาก” 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save