fbpx
ประชาคมโลกจะรับผิดชอบในการคุ้มครองพม่าอย่างไร

ประชาคมโลกจะรับผิดชอบในการคุ้มครองพม่าอย่างไร?

“พวกเราภูมิใจที่คณะมนตรี (ความมั่นคง) ได้พูดด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็ง ชัดเจน และเป็นเอกภาพในเรื่องนี้ แต่แถลงการณ์ทุกฉบับที่ออกไปมักจะตามมาด้วยการปราบปรามประชาชนพม่าที่รุนแรงขึ้น… ลำพังแค่แถลงการณ์คงไม่เพียงพอที่จะหยุดทหาร (พม่า) จากการคุกคามความมั่นคงในภูมิภาค… ณ จุดนี้มีแต่การกระทำที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นจึงจะเปลี่ยนแปลงแผนการของทหารได้”

                                                            ลินดา โทมัส กรีนฟิลด์

                                                            ผู้แทนถาวรสหรัฐประจำสหประชาชาติ (9 เมษายน 2021)

ในขณะที่นานาชาติกำลังดำเนินมาตรการทางการทูตและคว่ำบาตรพม่าต่อกรณีที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจรัฐบาลอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 แต่ดูเหมือนว่ากองทัพพม่าหรือที่รู้จักกันดีในนามตัดมาดอว์ ไม่ได้นำพาต่อแรงกดดันเหล่านั้น และทำการปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารอย่างรุนแรงต่อเนื่อง

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (Assistance Association for Political Prisoners) รายงานว่าจนถึงวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์ของพม่าด้วย มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปแล้ว 714 คน และ 3,054 คนถูกจับกุมคุมขังหรือดำเนินคดี โศกนาฏกรรมที่ป่าเถื่อนเกิดขึ้นทั่วประเทศและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน ทหารตัดมาดอว์สังหารผู้คนไม่เลือกหน้าไม่เว้นแม้แต่เด็กที่ไม่เดียงสาพอจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าการรัฐประหารและการประท้วงคืออะไร

พ่อลูก 4 อายุ 42 ปีที่ออกไปช่วยอาสาสมัครดับไฟ ก็กลับถูกยิงและเผาด้วยยางรถยนต์ทั้งเป็นระหว่างเหตุการณ์ประท้วงที่มัณฑะเลย์เมื่อปลายเดือนมีนาคม ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เขาร่ำร้องหาแม่เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างน่าเวทนา ก่อนจะสิ้นใจกลางกองเพลิง ร่างโดนเผาไหม้เกรียมเหลือแต่กระดูก[1]

สถานการณ์ในพม่าเลวร้ายลงทุกวัน การประท้วงแบบอารยะขัดขืนด้วยการหยุดงานกำลังทำให้ระบบเศรษฐกิจของพม่ากลายเป็นอัมพาต พนักงานธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน หรือแม้แต่ธนาคารกลางของพม่าพากันหยุดงาน ทำให้ธุรกรรมการเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือบางครั้งก็หยุดชะงักไปเลย

ธนาคารพาณิชย์ต้องลดการทำงานลงด้วยการปิดสาขาบางแห่ง เงินสดในเอทีเอ็มเหลือน้อย เพราะคนแห่กันไปถอนเงินด้วยความตื่นตระหนก แม้ว่าธนาคารกลางพม่าจะออกมาตรการจำกัดการถอนเงินสดวันละไม่เกิน 500,000 จั๊ต (อัตราแลกเปลี่ยน 45 จั๊ตต่อ 1 บาท) มาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมแล้วก็ตาม[2]  

ภายใต้คำสั่งเดียวกัน ภาคธุรกิจได้รับอนุญาตให้ถอนเงินสดจากบัญชีมาใช้จ่ายได้สัปดาห์ละไม่เกิน 20 ล้านจั๊ต ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อการทำธุรกิจ ส่งผลให้การผลิตชะลอตัวหรือหยุดไปด้วย ยังไม่นับว่าคนงานในภาคการผลิตและบริการเฉพาะอย่างยิ่งภาคขนส่ง ต่างพากันหยุดงานประท้วงด้วยเช่นกัน

กองทัพพม่าไม่เพียงพยายามจะใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อรักษาเสถียรภาพ และทำให้ระบบต่างๆ ของรัฐดำเนินต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังเปิดศึกอีกด้านหนึ่งกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการเปิดฉากโจมตีทางอากาศฐานที่มั่นของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงใกล้ชายแดนไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคม ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตและต้องอพยพหนีตายไปฝั่งไทย[3]

ปฏิบัติการของกองทัพพม่าในครั้งนั้นดูเหมือนจะจุดไฟสงครามกลางเมืองของพม่าที่ดำเนินมากว่า 70 ปีนับแต่ได้เอกราชให้คุโชนขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มพันธมิตรพี่น้อง 3 องค์กรที่มีฐานที่มั่นอยู่ชายแดนด้านเหนือของประเทศที่ใกล้ชายแดนจีน อันได้แก่กองทัพอาระกัน กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยซึ่งเป็นกองกำลังของชาวโกกั้ง และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้งของชาวปะหล่อง โจมตีสถานีตำรวจที่เมืองล่าเซี่ยวทางตอนเหนือของรัฐฉานเมื่อต้นเดือนเมษายน เพื่อพิสูจน์ว่าการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวของกองทัพพม่าเป็นคำหลอกลวง[4] นอกจากนี้กลุ่มว้า คะฉิ่น ไทใหญ่ และอื่นๆ ต่างเตรียมพร้อมที่จะใช้อาวุธปกป้องดินแดนและประชาชนของตนเอง แม้ว่าบางกลุ่มจะได้ลงนามในสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลมาแล้วก็ตาม

การที่ระบบเศรษฐกิจ การเงิน และซัพพลายเซนของพม่ากำลังเข้าสู่ภาวะอัมพาต การต่อสู้ด้วยอาวุธที่กำลังปะทุขึ้นมาอีก ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งลงความเห็นว่า พม่ากำลังยืนอยู่บนหน้าผาแห่งความหายนะ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะล้มละลายหรือกลายเป็นรัฐล้มเหลว (fail state) ในที่สุด พวกเขาเรียกร้องให้นานาชาติปฏิเสธที่จะให้การยอมรับรัฐบาลทหารที่ตัดมาดอว์ตั้งขึ้นหลังการยึดอำนาจ ห้ามการค้ายุทโธปกรณ์ให้พม่า และลงโทษคว่ำบาตรผู้นำทางทหารและธุรกิจของตัดมาดอว์ อีกทั้งขอร้องให้ชาติมหาอำนาจทั้งในเอเชียและตะวันตกที่แม้ว่าจะมีจุดยืนต่อสถานการณ์ในพม่าแตกต่างกันทำงานร่วมกันในการแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้[5]

ในขณะที่ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งและแกเรท อีแวนส์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเรียกร้องให้สหประชาชาติบังคับใช้หลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง (Responsibility to Protect) หรือ R2P ซึ่งก็หมายรวมถึงมาตรการทางทหารในการปกป้องคุ้มครองประชาชนพม่าให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรืออาชกรรมต่อมนุษยชาติที่ตัดมาดอว์กำลังก่อขึ้นในขณะนี้[6]

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผิดโดยทั่วไปที่ว่าการใช้กำลังทหารเป็นเพียงมาตรการเดียวตามหลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครองที่นานาชาติจะใช้เพื่อปกป้องพม่านั้น บทความนี้โต้แย้งว่ามาตรการสันติวิธีแบบต่างๆ ที่หลายประเทศกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักการ R2P เพียงแต่เป็นการดำเนินการแบบเอกภาคี และยังไม่เพียงพอหรือสอดประสานกันอย่างเป็นระบบมากพอที่จะทำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในการแก้ไขวิกฤตการณ์พม่าในครั้งนี้ได้  

            ชาติตะวันตกสามัคคีคว่ำบาตร

สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่แสดงปฏิกิริยาต่อการรัฐประหารในพม่าอย่างรุนแรงและรวดเร็วที่สุด เพียง 10 วันหลังการยึดอำนาจ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามในคำสั่งอายัดทรัพย์ (ถ้ามีอยู่ในสหรัฐฯ) ของผู้นำทหารพม่า 10 คน บริษัทอัญมณีของกองทัพ 3 บริษัท โดยบุคคลสำคัญได้แก่ มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้นำการรัฐประการ โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี สายทหารที่ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการหลังการยึดอำนาจ เมี๊ย ตุน อู รัฐมนตรีกลาโหม ติน อ่อง ซาน รัฐมนตรีขนส่งและการสื่อสาร อ่อง ลิน ดเว เลขาธิการสภาบริหารแห่งรัฐ และ เย วิน อู เลขาธิการร่วมสภาบริหารแห่งรัฐ ส่วนบริษัทอัญมณีคือ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade และ Cancri (Gem and Jewellery)

ในคำสั่งเดียวกันนั้นยังห้ามการส่งออกสินค้าให้กับกองทัพพม่าและหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ ซึ่งก็รวมถึงกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และหน่วยงานทางด้านความมั่นคงทั้งหมด นอกจากนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังห้ามนายทหารพม่าเหล่านั้นเข้าถึงเงินทุนรัฐบาลพม่าจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ฝากไว้ในธนาคารของสหรัฐฯ อีกทั้งยังระงับความช่วยเหลือทั้งหมดที่เคยมีให้รัฐบาลพม่าก่อนหน้านี้ แต่คงไว้ซึ่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เช่นเรื่องสาธารณสุข ในการนี้รัฐบาลสหรัฐฯ จะผันเงิน 42.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เคยให้รัฐบาลพม่าสมัย อองซาน ซู จี เพื่อใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ไปให้ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนแทน ส่วนอีก 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เคยให้กับโครงการต่างๆ ขององค์กรเอกชนก็ยังดำเนินต่อไป[7] จากนั้นเมื่อกองทัพพม่าเริ่มการปราบปรามผู้ประท้วง รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งอายัดทรัพย์นายทหารพม่าอีก 2 คนคือ โม เมี๊ยะ ตุน และ หม่อง หม่อง จ่อ ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาบริหารแห่งรัฐ[8]

วันที่ 10 มีนาคม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรอ่อง แป โซน และขิ่น ทิริ เต็ต มน บุตรชายและบุตรสาวของ มิน อ่อง หล่าย พร้อมด้วยบริษัทธุรกิจของพวกเขาอันได้แก่ A & M Mahar Co. Ltd, Sky One Construction Co.Ltd,  The Yangon Restaurant, The Yangon Gallery Everfit Co.Ldt และ Seventh Sense Co. Ltd.[9]

หลังจากนั้นในวันที่ 25 มีนาคม สหรัฐฯ ห้ามการค้าขายและอายัดทรัพย์บริษัทโฮลดิ้งของกองทัพ 2 บริษัทคือ Union of Myanmar Economic Holding และ Myanmar Economic Corporation มาตรการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการลงโทษคว่ำบาตรกองทัพพม่า เพราะเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า บริษัททั้งสองควบคุมกิจการและธุรกิจจำนวนมากที่ถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่เลี้ยงกองทัพและผู้นำทางทหารของพม่ามาเป็นเวลานาน[10]

ล่าสุดวันที่ 8 เมษายน รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามคนและบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับ Myanmar Gem Enterprise รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของพม่า ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมธุรกิจอัญมณีของประเทศ[11] และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลพม่าตลอดมา บริษัทนี้จะรับผิดชอบการประมูลอัญมณีประจำปีในกรุงเนปิดอว์ ล่าสุดระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน สามารถทำเงินให้รัฐบาลทหารได้มากกว่า 33,500 ล้านจั๊ต[12]

สหภาพยุโรปดำเนินการในแนวทางเดียวกับสหรัฐฯ คือ ขึ้นบัญชีดำผู้นำทหารพม่า 11 คนห้ามเดินทางเข้ายุโรปและยึดทรัพย์สินของพวกเขา (ถ้ามีอยู่ในยุโรป) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม บุคคลเหล่านั้นที่ถูกระบุชื่อรวมถึง มิน อ่อง หล่าย, โซ วิน, มินต์ ส่วย อดีตรัฐมนตรีกลาโหม เต็ง โซ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งคนใหม่ที่แต่งตั้งโดยสภาทหารเพื่อให้ลบล้างผลการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน 2020 และสมาชิกคนอื่นๆ ในสภาบริหารแห่งรัฐ[13] สหภาพยุโรปมีแนวโน้มจะเพิ่มรายชื่อนายทหารและหน่วยงานหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพมากขึ้นอีกเมื่อพบว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารหรือการปราบปรามผู้ประท้วง

แม้ว่าอังกฤษเจ้าอาณานิคมเก่าของพม่าจะแยกตัวออกมาแล้ว แต่ก็ดำเนินนโยบายคล้ายกับสหภาพยุโรปด้วยการขึ้นบัญชีดำนายพลพม่า ห้ามเดินทางเข้าประเทศ และยึดทรัพย์ของพวกเขาหากตรวจพบว่าอยู่ในอำนาจบังคับของกฎหมายอังกฤษ โดยเบื้องแรกนั้นคำสั่งมีผลต่อนายทหารพม่า 3 คนคือ รัฐมนตรีกลาโหม เมี๊ย ตุน อู, รัฐมนตรีมหาดไทย โซ ตุด และรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ตัน หล่าย เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้บังคับบัญชาทหารและตำรวจในการปราบปรามผู้ประท้วง[14]

ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ได้เพิ่มนายทหารอีก 6 คน ซึ่งก็รวมทั้ง มิน อ่อง หล่าย, อ่อง ลิน ดวี, เย วิน อู, ติน อ่อง ซาน, หม่อง หม่อง จอ และโม มินต์ ตุน เนื่องจากมีส่วนอย่างสำคัญในการก่อรัฐประหาร[15] ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษคือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็ดำเนินนโยบายแบบเดียวกัน โดยออสเตรเลียประกาศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ประณามการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง เรียกร้องให้ปล่อยตัว ศาสตราจารย์ แซน เทอเนล ที่ปรึกษาชาวออสเตรเลียของอองซาน ซู จี และพร้อมกันนั้นได้ระงับความร่วมมือทางทหารกับพม่า (ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าโครงการฝึกภาษาอังกฤษให้ทหารพม่า) และเปลี่ยนไปให้ความช่วยเหลือกับเอ็นจีโอแทน[16] ส่วนนิวซีแลนด์ ประเทศเล็กที่ห่างไกลและมีความสัมพันธ์กับพม่าเพียงเล็กน้อย ประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร ตัดสินใจระงับความสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงของพม่า และห้ามพวกเขาเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์[17]

อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง การประณามและมาตรการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นบัญชีดำและคว่ำบาตร ยึดทรัพย์ของกลุ่มผู้นำทหาร ที่สหรัฐฯ ยุโรป และพันธมิตรทางตะวันตกใช้นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับกองทัพพม่า และดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่ามาตรการเหล่านั้นไม่สู้จะได้ผลเท่าใดนัก

สหรัฐฯ นั้นเริ่มโดดเดี่ยวและคว่ำบาตรพม่าตั้งแต่ปี 1997 โดยรัฐบาลบิล คลินตัน ห้ามการลงทุนใหม่ของสหรัฐฯ ในพม่า เมื่อรัฐบาลทหารปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจให้พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นครั้งแรกในปี 1990 และกองทัพพม่าในเวลานั้นก็เริ่มปราบปรามฝ่ายค้านและกลุ่มชาติพันธุ์กันอย่างขนานใหญ่

หลังจากนั้นรัฐบาลต่อๆ มาของสหรัฐฯ ก็ห้ามการค้ากับพม่า ห้ามธุรกรรมทางเงินของธนาคารพม่าที่จะผ่านเข้า-ออกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการตัดขาดพม่าออกจากระบบการเงินของสหรัฐฯ[18] ส่วนสหภาพยุโรปก็เริ่มมาตรการลงโทษพม่าในเวลาใกล้เคียงกันโดยเริ่มจากการห้ามขายอาวุธให้กองทัพพม่าในปี 1996 พร้อมทั้งห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาทหารซึ่งในเวลานั้นรู้จักกันในชื่อสภาฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council) เดินทางเข้ายุโรป และห้ามการเยือนพม่าของเจ้าหน้าที่ยุโรประดับสูงอีกด้วย และในปีต่อมาก็เริ่มการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้พม่าก็เผชิญกับการคว่ำบาตรในทำนองเดียวกันจากประเทศตะวันตกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ แคนาดา นอรเวย์ และออสเตรเลีย อีกด้วย

การศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใช้กับพม่าไม่สู้จะได้ผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของรัฐบาลทหารสักเท่าใดเลย นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย

Francesco Giumelli และ Paul Evan นำเสนอในรายงานของ European Policy Center ว่าการคว่ำบาตรทำให้การค้าระหว่างยุโรปและพม่าลดลงอย่างมาก แถมยังมีส่วนผลักดันให้พม่าเปลี่ยนคู่ค้าไปหาประเทศที่เป็นมิตรมากกว่า เพราะรัฐบาลพม่าชดเชยส่วนที่ขาดหายไปด้วยการหันไปพึ่งพิงการค้าการลงทุนจากเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนแทน[19]

ในขณะที่โตชิฮิโร คูโด ผู้อำนวยการกลุ่มศึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ชี้ให้เห็นในรายงานฉบับหนึ่งขององค์การการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization- JETRO) ว่าการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2003 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของพม่าอย่างมาก โรงงานสิ่งทอ 150 แห่งต้องปิดตัวลง คนงาน 70,000-80,000 คนต้องว่างงาน[20] แต่บรรดานายพลยังสุขสบายดีและร่ำรวยขึ้นตามลำดับ

Gary Clyde Hufbauer และคณะจากสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สันในวอชิงตัน ซึ่งทำการศึกษาการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างยาวนานสรุปว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจได้ผลน้อยอาจจะเพียงแค่ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ทำการศึกษากว่า 200 กรณี เพราะเหตุผล 4 ประการคือ

ประการแรก มาตรการที่ออกมาไม่เพียงพอ

ประการที่สอง ประเทศที่ถูกคว่ำบาตรมักจะมีทางเลือกเสมอ เพราะไม่ใช่ทุกประเทศในโลกนี้ที่ร่วมการคว่ำบาตร

ประการที่สาม พันธมิตรที่ร่ำรวยและมีอำนาจของประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรมักยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อย่างเช่นในกรณีที่จีนทำกับพม่า

และประการที่สี่ การคว่ำบาตรอาจทำให้พันธมิตรทั้งภายในและต่างประเทศเกิดความแปลกแยกขึ้นมาได้ พูดให้ชัดเจนคือ บริษัทธุรกิจทั้งในประเทศที่ดำเนินมาตรการเช่นนั้น และในประเทศพันธมิตรอาจจะไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากเข้าร่วมเพราะเกรงเสียโอกาสทางธุรกิจ[21]


เพื่อนพม่าในเอเชีย: การคว่ำบาตรไม่ใช่คำตอบ

ประเทศในเอเชียเกือบทั้งหมด ยกเว้นบางประเทศในกลุ่มอาเซียนพากันท่องคาถา ‘ไม่แทรกแซงกิจการภายใน’ ไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนใดๆ เกี่ยวกับการรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วงในพม่า เฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีชายแดนติดกับพม่าไม่ว่าจะเป็นไทย จีน และอินเดีย ดูเหมือนจะระมัดระวังเป็นพิเศษในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจจะทำให้กองทัพพม่าขัดใจ หลายประเทศทำได้อย่างมากคือการออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ ด้วยเหตุผลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค แล้วตัวเองจะพลอยได้รับผลเสียหายไปด้วย

จีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่อันดับหนึ่งของพม่าและมีผลประโยชน์ในอันดับต้นๆ เพราะใช้พม่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมต่อกับมหาสมุทรอินเดียตามโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไม่เพียงแต่ไม่ประณามการรัฐประหารและความรุนแรงในพม่า หากแต่แรกๆ ยังใช้สิทธิยับยั้งเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติประณามการทำรัฐประหาร[22] ซึ่งสื่อทางการของจีนเรียกมันว่าเป็นการ ‘ปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่’[23] เท่านั้น

รัฐบาลจีนแสดงท่าทีผ่อนปรนอย่างยิ่งต่อการยึดอำนาจของตัดมาดอว์ในครั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า “จีนเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของพม่า หวังว่าทุกฝ่ายจะจัดการกับความแตกต่างทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม”[24] ท่าทีแบบนี้ของจีนประกอบกับข่าวลือว่า ทางการจีนสนับสนุนอาวุธและช่วยเหลือทางด้านเทคนิคให้กองทัพพม่าปิดกั้นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ประท้วงชาวพม่าโกรธแค้นและอาจจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คนงานชาวจีน 2 คนได้รับบาดเจ็บเมื่อโรงงาน 32 แห่งของนักลงทุนจีนถูกเผาทำลาย สร้างความเสียหายประมาณ 240 ล้านหยวนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม[25]

ทางการจีนเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนและผลประโยชน์ของจีนอย่างเพียงพอ และให้เอาตัวคนผิดมาลงโทษ หลังจากนั้นจีนแสดงท่าทีที่เอาใจใส่ปัญหาวิกฤตการณ์พม่าจริงจังมากขึ้น ยอมให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารพม่าได้ หวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แบบเรียงตัวระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน ที่ฟูเจี้ยน และบอกว่าจีนพร้อมจะสนับสนุนความพยายามของกลุ่มอาเซียนในการแก้ไขสถานการณ์ในพม่า[26]

แต่การที่หวัง ยี่ ผู้คร่ำหวอด เลือกที่จะคุยกับเฉพาะรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 4 ประเทศอาเซียน แทนที่จะเป็นทั้งกลุ่มเหมือนเช่นเคย สามารถตีความออกได้เป็นสองทาง คือ อย่างแรก อาเซียนไม่สามารถแสดงท่าทีได้อย่างเป็นเอกภาพว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อวิกฤตการณ์พม่าในคราวนี้

ที่ผ่านมาประธานกลุ่มอาเซียนเพิ่งจะสามารถออกแถลงการณ์ได้ 2 ฉบับแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ แต่ไม่กล้าแม้แต่จะเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม และรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มนี้เพิ่งจะมีโอกาสพบปะกันทางออนไลน์อย่างไม่เป็นทางการแค่ครั้งเดียวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม โดยไม่สามารถหาจุดยืนและแนวทางร่วมกันได้ เพียงแต่พยายามสร้างข่าวในสื่อมวลชนว่าอาเซียนเอาใจใส่ปัญหาของพม่าซึ่งก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย และให้ 4 ประเทศสมาชิกนำโดยอินโดนีเซียแสดงบทบาทในการวิ่งเต้นติดต่อประสานงานเพื่อหาทางเข้าไปแทรกแซงและยุติความรุนแรงในพม่า อย่างที่สอง จีนยังต้องแสดงความเป็นมิตรกับทุกรัฐบาลในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร แต่พยายามเน้นว่าจีนไม่ได้ละเลยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หรือมุ่งหวังจะแสวงหาประโยชน์จากรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่เท่านั้น และกำลังพยายามแสวงหาแนวทางในการไขปัญหาแบบฉันมิตรที่สุด โดยจะไม่แสดงอำนาจบีบบังคับให้ประเทศอื่นๆ ที่อาจจะมีจุดยืนแตกต่างกันเดินทางแนวทางของจีน

แม้ว่าอินเดียจะเคยมีจุดยืนเกี่ยวกับประชาธิปไตยชัดเจนมาโดยตลอด แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และยังคงแสดงความเป็นมิตรต่อระบอบทหารในพม่าเหมือนอย่างที่เคยเป็นตลอด 25 ปีนับแต่อินเดียออกนโยบายมุ่งตะวันออก เพื่อรักษาผลประโยชน์และเสถียรภาพความมั่นคงบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่มีกองกำลังติดอาวุธเคลื่อนไหวอยู่

ความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีกับพม่าเท่านั้นที่จะทำให้อินเดียรักษาความสงบในพื้นที่บริเวณนั้นได้ แม้ว่าอินเดียจะไม่ถึงกับขับไสผู้ที่หนีภัยการเมืองไปขอพักพิงที่ชายแดนเหมือนที่ไทยทำ แต่ก็แสดงออกชัดเจนว่า ไม่ต้องการต้อนรับผู้ลี้ภัยเหล่านั้น จึงให้สั่งให้รัฐชายแดนที่ติดกับพม่าเข้มงวดในการเข้าออก แต่อีกด้านหนึ่งอินเดียก็ปฏิเสธที่จะส่งกลับตำรวจที่แปรพักตร์ไปขอลี้ภัยในอินเดียตามคำขอของตัดมาดอว์ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาชื่อเสียงของอินเดียในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเอาไว้ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์เห็นว่านโยบายที่ผ่อนปรนกับตัดมาดอว์เกินไปแบบนี้อาจจะไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของอินเดีย และอาจจะเจอปัญหาแบบเดียวกับจีนเพราะผู้ประท้วงอาจจะไม่พอใจ ถ้าสถานการณ์ลุกลามเลวร้ายลงไปเรื่อยเช่นนี้ก็อาจจะกลายเป็นผลลบต่ออินเดียเองก็เป็นได้[27] 

แม้คนทั่วไปจะมองว่าญี่ปุ่นมักจะดำเนินนโยบายต่างประเทศตามสหรัฐฯ แต่ในกรณีของพม่าไม่เป็นเช่นนั้น ญี่ปุ่นไม่ได้ร่วมคว่ำบาตรพม่า แต่ก็ไม่ได้ดำเนินนโยบายด้วยแถลงการณ์ หากแต่ตัดสินใจระงับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance) งวดใหม่ที่จะมีให้กับพม่า

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่พม่ามากเป็นอันดับสองรองจากจีน นับแต่พม่าเข้าสู่ระบอบการเมืองแบบเลือกตั้งในปี 2011 ปีงบประมาณ 2019 ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือประเภทนี้แก่พม่าเป็นเงินทั้งสิ้น 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[28] ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายเช่นนี้ ด้านหนึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่า การยึดอำนาจทางการเมืองและการปราบปรามประชาชนนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ต่างจากประเทศตะวันตก ญี่ปุ่นไม่เลือกการคว่ำบาตรนายพลและเศรษฐกิจพม่าเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพม่าที่เคยมีมาตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลังพม่าได้เอกราช ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถรักษาผลประโยชน์ในพม่าได้พร้อมๆ กับการคานอำนาจการครอบงำทางเศรษฐกิจของจีนที่มีอยู่เหนือพม่าไปด้วยในเวลาเดียวกัน

สหประชาชาติและ R2P

ในเมื่อมาตรการไม้แข็ง เช่นการลงโทษและคว่ำบาตรอย่างที่ประเทศในตะวันตกดำเนินการต่อพม่ามาโดยตลอดไม่สู้จะได้ผลหรือได้ผลน้อยที่จะบีบบังคับให้ตัดมาดอว์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเมืองการปกครอง และลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมืองตัวเอง อีกทั้งในหลายกรณีมันกลับสร้างผลกระทบให้ประชาชนทั่วไปและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่วิธีการฉันทมิตรที่ประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือกลุ่มอาเซียน ดำเนินการนั้นไม่เพียงแต่ไม่สามารถรักษาชีวิตประชาชนชาวพม่าได้ทันท่วงทีหรือช่วยให้การเมืองพม่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้นเลย หากแต่ที่ผ่านมาก็เป็นการให้ความชอบธรรมให้ตัดมาดอว์อยู่ในอำนาจและควบคุมการเมืองพม่ามาตลอด อีกทั้งยังช่วยรักษาสถานะเดิมของอำนาจและผลประโยชน์ของตัวแสดง (actors) ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น โดยที่ประชาชนพม่าก็ถูกสังหารและกดขี่ต่อไป

ประชาชนชาวพม่าผู้ประท้วงไม่ยอมรับที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอีกต่อไปพากันชูป้ายว่า ‘เราต้องการ R2P’ มีให้เห็นหนาตาขึ้นตามที่ชุมนุมประท้วงทั้งในพม่าและต่างประเทศ นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวพม่าต้องการทางเลือกใหม่ๆ ที่ได้ผลในการเปลี่ยนแปลงการเมืองพม่า

หลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง หรือ Responsibility to Protect เป็นหลักการใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เพิ่งสถาปนาอย่างเป็นทางการระหว่างการประชุมสุดยอดของผู้นำโลก และได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในปี 2005 และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็รับรองหลักการนี้ในหลายโอกาสในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา

R2P ประกอบไปด้วย 3 เสาหลักคือ เสาแรก ทุกรัฐมีความรับผิดชอบในอันที่จะปกป้องประชาชนของตัวเองจาก อาชญากรรมสงคราม (war crimes) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) การกวาดล้างเผ่าพันธุ์ (ethnic cleansing) และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity)

เสาที่สองคือ นานาชาติต้องให้ความช่วยเหลือให้รัฐต่างๆ สร้างสมรรถนะในการปกป้องประชาชนจากภัยอันตรายทั้ง 4 ประเภทข้างต้น

และเสาสุดท้ายคือ ต้องมีการดำเนินการที่เด็ดขาดทันท่วงทีในอันที่จะปกป้องประชาชนจากภัยอันตรายดังกล่าว[29]

อีแวนส์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประธานร่วม World  Summit 2005 อธิบายว่า เสาที่สามจะเกิดขึ้นในเงื่อนไขที่เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งล้มเหลวในอันที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนของตนเองจากภัยดังกล่าว นานาชาติจะต้องดำเนินการร่วมกันอย่างเด็ดขาดทันท่วงที และถ้าจำเป็นอย่างยิ่งยวดก็สามารถร่วมกันใช้การปฏิบัติการทางทหารเข้าแทรกแซงสถานการณ์ได้ แต่ต้องเป็นไปโดยมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเท่านั้น[30]

แต่หลักการที่สวยหรูนี้ยังไม่เคยได้รับการปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จที่ไหนเลยในโลกนี้ แม้ว่าทำท่าจะประสบชัยชนะในเบื้องแรกในกรณีของลิเบียปี 2011 แต่ความหวังก็พังทลายเพราะสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ได้เปลี่ยนอาณัติของสหประชาชาติที่ให้ภายใต้หลักการ R2P เป็นปฏิบัติการโค่นล้มกัดดาฟีและเปลี่ยนระบอบการปกครอง แล้วพาลิเบียเข้าสู่ยุคสงครามกลางเมืองในที่สุด

คำถามร่วมสมัยในปัจจุบันนี้คือ สหประชาชาติสามารถดำเนินการตามหลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครองได้หรือไม่และถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะทำเช่นนั้น อีแวนส์เห็นว่า ตัดมาดอว์ซึ่งยึดอำนาจรัฐอยู่ในเวลานี้ไม่ใช่แค่ล้มเหลวที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชน หากแต่ยังกระทำการที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ว ไม่นับว่าถูกฟ้องร้องในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2017 จึงสมควรที่สหประชาชาติจะพิจารณานำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ได้ สถานการณ์ของพม่าในเวลานี้ก็เปรียบได้กับลิเบียและซีเรียในตอนต้น ชุมชนนานาชาติไม่จำเป็นจะต้องรออะไรอีกแล้ว

แม้ว่าการใช้ปฏิบัติทางทหารจะเป็นหนึ่งในมาตรการของหลักการรับผิดเพื่อคุ้มครอง แต่นั่นก็ไม่ใช่มาตรการแรกหรือมาตรการเดียวที่มีอยู่ใน toolbox ของสหประชาชาติ เป้าหมายใหญ่ของหลักการนี้คือการให้ความคุ้มครองและปกป้องชีวิตพลเรือนด้วยแนวทางสันติวิธีเป็นสำคัญ มีทางเลือกและมาตรการอื่นๆ อยู่ภายใต้หลักการนี้อีกมากมาย เริ่มจากมาตรการทางการทูต การห้ามส่งอาวุธ (อาจจะรวมถึงเสบียง) ให้กองทัพพม่า การคว่ำบาตรและลงโทษอย่างมีเป้าหมายประสงค์โดยตรงต่อตัดมาดอว์ ผู้นำและธุรกิจของกองทัพซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ไปจนถึงการนำคดีขึ้นสู่ศาลโลกหรือตุลาการระหว่างประเทศอื่นใด ก็เป็นมาตรการที่จัดอยู่ในหลักการ R2P ได้เหมือนกัน และในความเป็นจริงแล้วประเทศต่างๆ ก็ได้ดำเนินการตามแนวทางของตัวเองอยู่แล้วในต่างกรรมต่างวาระกัน แต่หากจะดำเนินการภายใต้หลักการ R2P ให้มีประสิทธิภาพแล้ว ทั้งหมดนั้นจะต้องเป็นไปภายใต้มติอย่างใดอย่างหนึ่งของสหประชาชาติ ไม่ว่าจากสมัชชาใหญ่หรือคณะมนตรีความมั่นคงก็ตาม เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการได้อย่างพร้อมเพียง เป็นระบบ เด็ดขาด และทันท่วงที

ประการสำคัญมีเสียงเรียกร้องอย่างกว้างขวางให้กลุ่มอาเซียนออกโรงเป็นตัวตั้งตัวตีในการประสานนโยบายและท่าทีของนานาชาติ เนื่องจากพม่าเป็นสมาชิกอาเซียน กลุ่มอาเซียนมีความชอบธรรมและอยู่ในฐานะที่ดีที่สุดในการติดต่อกับตัดมาดอว์ (โดยไม่จำเป็นต้องให้ความชอบธรรมหรือพินอบพิเทากับระบอบทหาร) อองซาน ซูจี พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ประท้วงและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เพื่อหาทางพาพม่าออกจากวิกฤตการณ์และปกป้องคุ้มครองประชาชนชาวพม่าอย่างจริงจัง การออกแถลงการณ์อย่างเดียวไม่เพียงพอจริงๆ


ตาราง: แสดงมาตรการของประเทศต่างๆ หลังรัฐประหารพม่า

ประเทศ/องค์กรมาตรการลงโทษมาตรการทางการทูต
สหประชาชาติ – คณะมนตรีความมั่นคงเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจีและคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังหลังรัฐประหาร

– ประธานคณะมนตรีความมั่นคงออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง และสนับสนุนกลุ่มอาเซียนให้ดำเนินการแก้ไขวิกฤต

– คณะมนตรีสิทธิมนุษย์ออกมติขอให้ยุติความรุนแรง

– ผู้แทนพิเศษเลขาธิการใหญ่เยือนประเทศเอเชียเพื่อหารือวิกฤตการณ์พม่า
อาเซียน – ประธานออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์

– ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

– เรียกประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ
สหภาพยุโรป– ห้าม 11 นายพลพม่ารวมทั้ง มิน อ่อง หล่าย และ โซ วิน เดินทางเข้ายุโรปและอายัดทรัพย์พวกเขา

– คว่ำบาตรบริษัทธุรกิจของกองทัพ
– ร่วมกับชาติอื่นๆให้เปิดประชุมสมัยพิเศษ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สหรัฐฯ– คว่ำบาตรนายทหารที่เกี่ยวกับการยึดอำนาจ ปราบปรามผู้ประท้วง และ ได้รับแต่งตั้งในสภาบริหารแห่งรัฐ

– อายัดเงินสำรองรัฐบาลพม่า 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ห้ามรัฐบาลทหารเบิกหรือถอนคืนอายัดทรัพย์นายทหารที่นำการยึดอำนาจ

– อายัดทรัพย์ครอบครัวมิน อ่อง หล่าย

– อายัดทรัพย์และห้ามธุรกรรมของบริษัท Union of Myanmar Holding และ Myanmar Economic Corporation

– ห้ามธุรกรรมของบริษัท Myanmar Gems Enterprise

– อายัดทรัพย์ธุรกิจครอบครัวมิน อ่อง หล่าย
– ประณามการรัฐประหาร
– ร่วมกับอังกฤษในการร่างแถลงการณ์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประนามการรัฐประหาร
– สนับสนุนสหภาพยุโรปในฐานะพันธมิตรในการออกมาตรการคว่ำบาตรพม่า
– เรียกร้องและกดดันจีนให้แสดงท่าทีต่อการรัฐประหารและสถานการณ์ในพม่า
– สนับสนุนกลุ่มอาเซียนในการแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาวิกฤตพม่า
อังกฤษ– คว่ำบาตร 6 นายพลพม่า ห้ามเข้าประเทศและยึดทรัพย์

– ห้ามทำธุรกิจกับบริษัทของกองทัพพม่า

– ยุติความช่วยเหลือรัฐบาลทหารพม่าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
– ประสานนานาชาติโดยเฉพาะในกลุ่ม G7 ในการสนับสนุนผู้ประท้วงและกดดันรัฐบาลทหารพม่า
ออสเตรเลีย– ระงับความร่วมมือทางทหาร

– เปลี่ยนไปให้ความช่วยเหลือแก่เอ็นจีโอแทนรัฐบาลพม่า
 
นิวซีแลนด์– ห้ามผู้นำทหารพม่าเข้าประเทศ– ยุติการติดต่อกับผู้นำทหารพม่า
– ไม่ให้การรับรองรัฐบาลทหาร
จีน – เรียกการรัฐประหารว่า ‘การปรับ ครม. ครั้งสำคัญ’

– ใช้สิทธิยับยั้งการประนามการรัฐประหารของสหประชาชาติ

– เรียกร้องให้รัฐบาลทหารรับประกันความปลอดภัยชาวจีนและผลประโยชน์ของจีนในพม่าเมื่อถูกโจมตีโดยผู้ประท้วง

– เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ

– ประกาศสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาพม่า
อินเดีย – หลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นใดๆ ต่อการรัฐประหาร
ญี่ปุ่น– ระงับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA) รอบใหม่– ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยสถานการณ์

– ร่วมกับกลุ่ม G 7 ประนามการรัฐประหารและเรียกร้องให้ฟื้นฟูประชาธิปไตย

– แสดงเจตนาร่วมกับชุมชนนานาชาติในการแก้ไขวิกฤตพม่า

ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] “Help me mother-Mandalay resident shot and burnt alive by junta’s troops” Myanmar Now 28 March 2021 (https://www.myanmar-now.org/en/news/help-me-mother-mandalay-resident-shot-and-burnt-alive-by-juntas-troops)

[2] “Myanmar central bank to limit cash withdrawal from banks, ATMs” The Straits Times 1 March 2021 (https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmar-central-bank-to-limit-cash-withdrawal-from-banks-atms)

[3] “Myanmar army launches airstrike in Karen state, group says” Reuters 27 March 2021 (https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-karen-idUSKBN2BJ0IZ)

[4] “Brotherhood alliance launches lethal attack on northern Shan state police station” Myanmar Now 10 April 2021 (https://www.myanmar-now.org/en/news/brotherhood-alliance-launches-lethal-attack-on-northern-shan-state-police-station)

[5] International Crisis Group. The Cost of the coup: Myanmar edges toward state collapse 1 April 2021 (https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/b167-cost-coup-myanmar-edges-toward-state-collapse)

[6] Gareth Evans “The responsibility to protect the people of Myanmar” Australian Institute of International Affairs 8 April 2021 (https://www.internationalaffairs.org.au/australianoutlook/the-responsibility-to-protect-the-people-of-myanmar/)

[7] White House, Factsheet Biden-Harris Administration Actions in Responding to the coup in Burma 11 February 2021 (https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/02/11/fact-sheet-biden-harris-administration-actions-in-response-to-the-coup-in-burma/)

[8] US Department of State Press release. “United States targets members of Burma’s State Administrative Council following violence against protesters.” 22 February 2021 (https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy0031)

[9] US Department of Treasury Press release “United States targets family members profiting from connection to Burmese coup leader” 10 March 2021 (https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy0051)

[10] US Department of Treasury Press release “Treasury sanctions military holding companies in Burma” 25 March 2021 (https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy0078)

[11] US Department of Treasury Press release “Treasury sanctions key gems enterprise in Burma” 8 April 2021 (https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy0115)

[12] “Ten days gem show successfully concludes. The Global New Light of Myanmar 12 April 2021 p. 5 (https://cdn.myanmarseo.com/file/client-cdn/gnlm/wp-content/uploads/2021/04/12_April_21_gnlm.pdf)

[13] European Council Press release “Myanmar/Burma: EU sanctions 11 people over the recent military coup and ensuing repression” 22 March 2021. (https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2021/03/22/myanmar-burma-eu-sanctions-11-people-over-the-recent-military-coup-and-ensuing-repression/)

[14] Foreign, Commonwealth & Development Office Press release. “UK sanctions Myanmar military general for serious human right violation” 18 February 2021 (https://www.gov.uk/government/news/uk-sanctions-myanmar-military-generals-for-serious-human-rights-violations)

[15] Foreign, Commonwealth & Development Office Press release. “UK further Myanmar military figures for role in coup” 25 February 2021 (https://www.gov.uk/government/news/uk-sanctions-further-myanmar-military-figures-for-role-in-coup-february-25-2021)

[16] Australia’s Ministry of Foreign Affairs “Statement on Myanmar” 7 March 2021 (https://www.foreignminister.gov.au/minister/marise-payne/media-release/statement-myanmar-0)

[17] “New Zealand suspending ties with Myanmar, imposing travel ban on military leaders after coup” ABC 9 February 2021 (https://www.abc.net.au/news/2021-02-09/new-zealand-suspends-ties-with-myanmar-after-military-coup/13137038)

[18] Peter Kucik Difficulties in easing sanction on Myanmar (New York: Columbia University,  2016) p 8 (https://energypolicy.columbia.edu/sites/default/files/CGEP_Difficulties%20in%20Easing%20Sanctions%20on%20Myanmar_April%202016.pdf)

[19] Francesco Giemelli and Paul Evan The effective of EU sanctions: An analysis of Iran, Belarus, Syria and Myanmar. European Policy Center Issue paper No. 76 (November 2013) (https://www.files.ethz.ch/isn/173758/pub_3928_epc_issue_paper_76_-_the_effectiveness_of_eu_sanctions.pdf)

[20] Toshihiro Kudo The impact of United States sanction on the Myanmar garment industry (discuss paper No. 42 December 2005) Institute of Development Economies. p 15

[21]Gary Clyde Hufbauer, Jeffery J Schott, Kimber Elliott and Barbara Oegg Economic Sanction Reconsidered (3rd Edition Paper June 2009 (Washington: Petersons Institute for International Economics, 2009) (https://piie.com/publications/chapters_preview/4075/01iie4075.pdf)

[22] “Myanmar Coup: China blocks UN condemnation as protest grow” BBC 3 February 2021 (https://www.bbc.com/news/world-asia-55913947)

[23] “Major cabinet reshuffle announced in Myanmar” Xinhua 1 February 2021 (http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/02/c_139713877.htm)

[24] “China ‘notes’ Myanmar coup, hope for stability” Reuters 1 February 2021 (https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-china-idUSKBN2A11P2)

[25] “Two Chinese workers injured after plants smashed, burned in Myanmar” China Global Television Network 14 March 2021 (https://news.cgtn.com/news/2021-03-14/Two-Chinese-funded-garment-factories-set-on-fire-in-Myanmar-YCP1cUIQIE/index.html)

[26] Dewey Sim and Maria Siow “Why Wang Yi hosting four Asean ministers in Fujian but meeting them individually” South China Morning Post 31 March 2021 (https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3127831/chinas-wang-yi-meets-his-asean-counterparts-will-myanmar-be)

[27] Sudha Ramachandran “India’s dangerous Myanmar policy” The Diplomat 26 March 2021 (https://thediplomat.com/2021/03/indias-dangerous-myanmar-policy/)

[28] “Japan sets to halt new Myanmar assistance following coup” Nikkei Asian Review 26 March 2021 (https://asia.nikkei.com/Spotlight/Myanmar-Coup/Japan-set-to-halt-new-Myanmar-assistance-following-coup)

[29] สนใจโปรดดู United Nation General Assembly. Implementing the responsibility to protect: Report of Secretary General A/63/677 12 January 2009 (https://www.un.org/ruleoflaw/files/SG_reportA_63_677_en.pdf)

[30] Gareth Evans “The responsibility to protect the people of Myanmar” Australian Institute of International Affairs 8 April 2021 (https://www.internationalaffairs.org.au/australianoutlook/the-responsibility-to-protect-the-people-of-myanmar/)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save