fbpx
เกิดมาเพื่อเป็นเกย์ : สำรวจงานวิจัยชายรักชายในอุษาคเนย์

เกิดมาเพื่อเป็นเกย์ : สำรวจงานวิจัยชายรักชายในอุษาคเนย์

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

 

“ทุกวันนี้ งานวิจัยหลายชิ้นจากทั่วโลกยืนยันแล้วว่า ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนรักเพศเดียวกัน คุณจะไม่มีทางเปลี่ยนอัตลักษณ์ได้เลย เพราะความเป็นคนรักเพศเดียวกันมันอยู่ในตัวคนนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เขาจะมีโอกาสแสดงออกมาหรือเปล่า เพราะถึงที่สุดแล้วเราก็อยากเป็นตัวของเราเอง

“พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วงว่า คนที่เป็นเกย์จะทำให้เด็กคนอื่นลอกเลียนแบบ เพราะขนาดพี่น้องแฝดเหมือนสายเลือดเดียวกัน คนหนึ่งเป็นเกย์ อีกคนไม่ได้เป็นเกย์ก็มี มันไม่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู แต่มันคือความเป็นตัวตนที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ไม่มีใครลอกเลียนแบบใครได้ หากคนนั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเกย์”

ข้างต้นเป็นบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ เอ แจ็คสัน จาก Australian National University (ANU) ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับชายรักชายในสังคมไทยในมานานกว่า 30 ปี ความคิดเห็นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว เพศสภาพบนร่างกายมนุษย์อาจมีเพียง “เพศหญิง” และ “เพศชาย” แต่ “รสนิยมทางเพศ” เป็นเรื่องของ “จิตใจ” มิใช่ “ร่างกาย” ดังนั้น ความรักจึงออกแบบไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะ “รักต่างเพศ” “รักร่วมเพศ” หรือ “รักหมดทุกเพศ” เพียงแต่พวกเขาจะกล้า “เปิดเผย” ตัวตนที่แท้จริง หรือ “ปกปิด” ซ่อนเร้นเอาไว้เพื่อดำรงชีวิตให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมของสังคม ซึ่งกำหนดให้ “รักต่างเพศ” เท่านั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม

เมื่อ “รักร่วมเพศ” กลายเป็น “สิ่งต้องห้าม” ของสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยในอดีต ชายรักชายหรือเกย์บางคนจึงตัดสินใจแต่งงานเพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่าเป็น “คนวิปริต” แต่หลังจากทำหน้าที่สามีและพ่อของลูกตามความคาดหวังของครอบครัวแล้ว เมื่อถึงบั้นปลายชีวิต บางคนไม่อาจทนเสียงเรียกร้องที่ซ่อนอยู่ก้นบึ้งของจิตใจได้อีกต่อไป พวกเขาจึงเลือกเดินตามเสียงหัวใจของตนเอง ด้วยการเปลี่ยนสถานะจาก “สามีของเธอ” เป็น “ภรรยาของเขา” แทน และนี่คือบทพิสูจน์ความรักที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงของคนที่เกิดมาเพื่อเป็นเกย์นั่นเอง

 

 

“เพศสภาพ” และ “ความเป็นอื่น”

 

มิเชล ฟูโก นักทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศสได้ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความจริงเรื่องเพศถูกอธิบายโดยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เชิงชีววิทยาเป็นเกณฑ์ตัดสิน อวัยวะเพศถูกกำหนดให้เป็นเครื่องชี้วัด “เพศหญิง” และ “เพศชาย” เพียงแค่สองเพศเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มี “รสนิยมทางเพศ” ตรงกันข้ามกับ “เพศสภาพภายนอก” เช่น กายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง หรือกายเป็นหญิงแต่ใจเป็นชาย จะถูกตีตราว่าเป็นพวก “จิตวิปริตผิดเพศ” นำไปสู่การออกกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานในการกีดกันคนกลุ่มนี้ให้กลายเป็น “คนนอกคอก” ของสังคม และตกอยู่ในสถานะ “ความเป็นอื่น” ที่ไม่เข้าพวกกับสังคมส่วนใหญ่

การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเพศโดยใช้อวัยวะเพศเป็นตัวชี้วัดดังกล่าวได้นำไปสู่อคติมากมายในสังคมตามมาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้ว่าในยุคหลังจะมีนักวิจัยรุ่นใหม่พยายามมองหาทฤษฎีอื่นๆ มาต่อสู้กับองค์ความรู้เดิม จนสังคมของหลายประเทศเริ่มยอมรับกลุ่มรักร่วมเพศมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังมิอาจยอมรับ“ความเป็นอื่น” ของคนกลุ่มนี้ได้

ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้ติดตามงานวิจัยกลุ่มชายรักชายในไทยและประเทศแถบอุษาคเนย์มานานกว่า 30 ปี กล่าวถึงมุมมองของสังคมไทยต่อสถานภาพชายรักชายในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาว่า

“เมื่อสามสิบปีที่แล้ว การวิจัยเรื่องชายรักชายในเมืองไทยที่เป็นภาษาไทย ส่วนมากเป็นการวิจัยทางแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งมีพื้นฐานความคิดต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศ โดยมองว่าเป็นพวกจิตวิปริตผิดเพศ ดังนั้น เป้าหมายของการวิจัยจึงเป็นไปเพื่อหาทางบำบัดรักษาหรือแนวทางกำจัดพฤติกรรมรักร่วมเพศให้หมดไปจากสังคม

“งานวิจัยยุคนี้จะเริ่มมีข้อสรุปตั้งแต่ก่อนลงมือวิจัยว่า เกย์หรือชายรักชายเป็นสิ่งไม่ดี เนื่องจากสื่อมวลชนไทย ช่วงประมาณ พ.ศ 2520 มีข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเผยแพร่เรื่องเกย์เป็นปัญหาสังคม หลังจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านกลุ่มเกย์กันมากขึ้น ส่งผลให้งานวิจัยในยุคแรกๆ มีเป้าหมายเพื่อบำบัดรักษากลุ่มรักร่วมเพศเป็นหลัก

“งานวิจัยในยุคที่สองหลังจาก พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น งานวิจัยเกี่ยวกับชายรักชายเริ่มบูมและเพิ่มมุมมองเป็น 2-3 มิติ ทั้งมนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ บริบทของวัฒนธรรมไทย เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมของสังคมที่หล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมชายรักชาย และสร้างการยอมรับคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการวิจัยทางด้านแพทย์ ซึ่งเปลี่ยนมุมมองจากการบำบัดและกำจัดเป็นมุมมองด้านปัญหาสุขภาพ เพราะหลังจากโรคเอดส์แพร่ระบาด เรื่องนี้ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตของเกย์และกระเทย งานวิจัยจึงเปลี่ยนทิศทางเป็นการพยายามประสานงานระหว่างฝ่ายแพทย์กับชุมชนรักร่วมเพศให้มากขึ้นแทน รวมทั้งมองหาระบบสุขภาพที่จะช่วยเหลือชีวิตของเกย์ให้ดีขึ้น”

แม้ว่างานวิจัยในระยะหลังจะเริ่มเปลี่ยนแนวคิดจากการกำจัดรักษาเป็นยอมรับมากขึ้น แต่พื้นฐานความคิดต่อกลุ่มรักร่วมเพศก็ยังถูกกล่าวถึงเชิงอคติว่าเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาให้สังคม ทำลายศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ เห็นได้จากมีนักวิชาการด้านเด็กและวัฒนธรรมไทยออกมาแสดงความหวั่นวิตกว่า เยาวชนไทยกำลังมีพฤติกรรม “รักร่วมเพศ” ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีงาม โดยกล่าวโจมตีรายการโทรทัศน์และสื่อที่นำเสนอพฤติกรรมของกลุ่มรักร่วมเพศมากขึ้น นักวิชาการกลุ่มนี้เชื่อว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศสามารถเลียนแบบกันได้ผ่านการดูสื่อโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การเลี้ยงดูของครอบครัวส่งผลต่อการเบี่ยงเบนทางเพศของเด็ก ดังนั้น พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงมีความกังวลใจว่า ลูกชายอาจกลายเป็นเกย์ ถ้าอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีแต่เพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นต้น

ดร. ปีเตอร์ แสดงความเห็นต่อประเด็นการลอกเลียนแบบผ่านสื่อต่างๆ ว่า

“การเป็นคนรักเพศเดียวกันมันอยู่ในตัวคนนั้นอยู่แล้ว ไม่ได้มาจากการเลียนแบบ เพียงแต่เขาจะมีโอกาสได้แสดงออกมาหรือเปล่า การที่มีกระเทยหรือเกย์ออกสื่อมากขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะกลายเป็นเกย์หรือกระเทยมากขึ้น ทุกวันนี้ คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า จำนวนเกย์เพิ่มมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไปต่างหาก เพราะสังคมไทยยอมรับและสร้างโอกาสให้คนที่รักเพศเดียวกันมากขึ้น พวกเขาก็เลยกล้าเปิดเผยตัวเองออกมา ถ้าตัวคุณไม่ได้เป็นคนรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะดูเกย์หรือกระเทยออกสื่อมากมายแค่ไหน คุณก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคุณเองไปรักเพศเดียวกันได้เลย”

 

“พื้นที่” และ “อัตลักษณ์” ของชาวเกย์

 

แม้ว่าสังคมไทยจะยังไม่อาจยอมรับคนรักเพศเดียวกันได้อย่างเต็มใจ แต่ในเมื่อความรักระหว่าง “เขา” และ “เขา” ไม่อาจเปลี่ยนแปลง กลุ่มชายรักชายจึงสร้าง “พื้นที่สำหรับชาวเกย์” ขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยอัตลักษณ์ของตนเองอย่างอิสระเสรีเหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ของสังคม และภายในอาณาจักรที่พวกเขาประดิษฐ์สร้างขึ้นมานี้ บรรดา “เพศหญิงแท้” (ร่างกายและจิตใจเป็นผู้หญิง) จะถูกกีดกันให้ตกอยู่ในสถานะ “ความเป็นอื่น” แทน เพราะในดินแดนแห่งนี้มีเพียง “เขา” และ “เขา” เท่านั้นเอง

บทความเรื่อง “การศึกษาเกย์ในสังคมไทย : 5 ทศวรรษของการสร้างความรู้” โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ แสดงตัวเลขให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในปี พ.ศ. 2547 มีสถานประกอบการของเกย์ในกรุงเทพฯ จำนวน 101 แห่ง และเพิ่มขึ้นเป็น 196 แห่งในปี พ.ศ. 2552 หรือมีอัตราการเพิ่มสูงถึงร้อยละ 95 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ทางสังคมของเกย์ขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบที่ “คนภายนอกสังคมเกย์” คาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ข้างต้นเป็นเพียง “พื้นที่พบปะ” ของชาวเกย์แบบเห็นหน้าค่าตากันเท่านั้น ยังมิได้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ อาทิ โลกออนไลน์ ซึ่งมีเฟสบุ๊คของชาวเกย์หลากหลายชมรม นอกจากนี้ยังมี “พื้นที่วรรณกรรมชาวเกย์” ให้เลือกซื้อมากขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากสำนักพิมพ์หนังสือแนวชายรักชาย และหนังสือการ์ตูนแนว “Yaoi” หรือ Boy’s Love ของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในตลาดการ์ตูนวัยรุ่นไทยช่วง 15 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าร้านหนังสือทั่วไปจะไม่อนุญาตให้หนังสือแนวนี้ปรากฏอยู่บนชั้นหนังสือของร้าน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาในการเข้าถึงสื่อเหล่านี้ เพราะผู้อ่านสามารถสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์สำนักพิมพ์โดยตรงและซุกตัวอ่านในซอกมุมไหนก็ได้ที่พวกเขามีความสุข

 

 

งานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์ให้เห็นว่า การแสดงอัตลักษณ์ของชาวเกย์เป็นสิ่งที่เลื่อนไหลไปตามสภาพแวดล้อมที่พวกเขาดำรงอยู่ รวมทั้งระดับการแสดงออก

“ความเป็นเกย์” จะแตกต่างกันไปตามระดับความสัมพันธ์ของคนที่คุยด้วย ถ้าอยู่ใน “พื้นที่เฉพาะเกย์” ความเป็นเกย์จะแสดงออกมาอย่างเต็มที่ แต่ถ้าอยู่ในสถานที่ทำงาน การแสดงออกก็จะลดลงไปตามอาชีพของแต่ละคน อาทิ อาชีพช่างแต่งหน้าที่มีกระเทยหรือเกย์เป็นส่วนใหญ่ การแสดงออกความเป็นเกย์ก็ทำได้เต็มที่ แต่ถ้าอาชีพที่ต้องการความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะคนในเครื่องแบบ อย่างตำรวจ ทหาร หรือแพทย์ การแสดงออกก็ต้องลดลงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออาชีพการงาน เป็นต้น

งานวิจัยของปุรินทร์ นาคสิงห์ เรื่อง “เกย์ : กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการพัฒนาเอกลักษณ์ความเป็นเกย์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่ามีอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นที่หนึ่ง เริ่ม “รู้สึก” ว่าตนแตกต่างจากผู้ชายคนอื่น ขั้นที่สอง เริ่ม “สงสัย” ว่าตนเป็นเกย์ ขั้นที่สาม เริ่ม “ยอมรับ” และเปิดเผยตัวเองต่อชุมชนชาวเกย์  หลังจากนั้นจึงพัฒนาไปสู่ความคาดหวังเรื่องคนรักและชีวิตคู่ระหว่างชายรักชายด้วยกัน

แม้ว่าทุกวันนี้ สังคมไทยจะยอมรับสถานภาพของชายรักชายมากขึ้น แต่ถ้าถามพ่อแม่ที่มีลูกชายว่า หากลูกโตขึ้นเป็นเกย์จะยอมรับได้ไหม เชื่อว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้ เพราะหากสามารถเลือกคำตอบสุดท้ายได้เอง พ่อแม่ทุกคนคงอยากให้ลูกมีความรักต่างเพศมากกว่ารักเพศเดียวกัน

ดร.ปีเตอร์ กล่าวสรุปในเรื่องนี้ว่า

“ทุกวันนี้ ยังไม่มีสังคมไหนที่ยอมรับชายรักชาย 100 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่า ปัญหาของเกย์ในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องการทำร้ายรุนแรงทางร่างกาย แต่ปัญหาการทำร้ายจิตใจ จากการไม่ยอมรับของพ่อแม่ และถูกคนรอบตัววิจารณ์ด้วยอคติต่างหากที่ทำให้เกิดปมด้อยกับคนกลุ่มนี้”

 

การค้นพบเกย์ยีนคู่ที่ Xq28 

 

อาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้ของกลุ่มรักร่วมเพศเพื่อให้พวกเขามีตัวตนอยู่ในสังคมเป็นมหากาพย์ที่ชวนติดตามเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว สิ่งที่นักเคลื่อนไหวชาวเกย์นำมาใช้ต่อสู้เพื่อลบล้างอคติของคนในสังคม คือ ผลการวิจัยในหลากหลายแง่มุม ซึ่งที่ผ่านมา งานวิจัยหลายชิ้นทำให้ชาวรักร่วมเพศได้มีที่ยืนในสังคมมากยิ่งขึ้น

งานวิจัยในยุคหลังที่กลุ่มชาวเกย์เลือกหยิบขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้คนในสังคมยอมรับก็คือ งานวิจัยเรื่อง Gay Gene หรือ การค้นพบยีนที่กำหนดความเป็นเกย์บนตำแหน่งโครโมโซมคู่ที่ Xq28 โดย Dean Hamer นักพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล ในปี ค.ศ. 1993

การวิจัยนี้ได้เลือกกลุ่มตัวอย่างชาวเกย์ 114 ครอบครัวในสหรัฐอเมริกา และพบว่า ตำแหน่งบนโครโมโซม Xq28 ของพี่น้องที่เป็นเกย์มีความเหมือนกัน หลังจากงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่สู่สังคมทั่วโลก ได้ส่งผลทั้งทางบวกและทางลบกับชุมชนชาวเกย์ โดยในทางบวก ชาวเกย์เลือกนำผลการวิจัยไปใช้เพื่อสนับสนุนความเป็นเกย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในทางลบ ผู้มีอคติกับชาวเกย์ได้นำผลการวิจัยมาใช้สนับสนุนความคิดของตนเองว่า กลุ่มรักร่วมเพศเป็นผู้มี “ความบกพร่องทางพันธุกรรม” หรือเป็น “พวกคนพิการทางจิต” นั่นเอง

 

 

หลังจากงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ออกไปจนสั่นสะเทือนวงการเกย์ กระแสความคิดสนับสนุนและโต้แย้งได้ทำให้เกิดงานวิจัยอีกหลายชิ้นตามมา ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครได้ข้อสรุปว่า โครโมโซมคู่ที่ Xq28 คือ ตัวบ่งชี้ความเป็นเกย์ได้ 100% หรือไม่ เพราะถึงที่สุดแล้ว งานวิจัยก็คือ “การเลือกศึกษา” ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้ศึกษานั่นเอง รวมไปถึงการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยต้องการทำการศึกษา ซึ่งในโลกความเป็นจริงอันกว้างใหญ่ มีกลุ่มตัวอย่างชาวเกย์อีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการวิจัย

เมื่อเปรียบเทียบสถานะของเกย์ไทยกับเกย์ในประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ นักวิจัยผู้คว่ำหวอดในวงการศึกษาชายรักชายสรุปให้ฟังว่า

“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการยอมรับเกย์มากที่สุดในภูมิภาคนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับลาว เขมร เวียดนาม พม่า ยังมีข้อมูลน้อยมาก เพราะมีปัญหาเรื่องทุนการวิจัย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากวงวิชาการ เพราะยังเป็นพวกอนุรักษนิยม เนื่องจากนับถือศาสนาอิสลาม หรือวัฒนธรรมจีนโบราณ รัฐบาลสิงคโปร์ถึงขนาดมีกฎหมายห้ามเป็นเกย์เลยด้วยซ้ำ ส่วนเวียดนามกำลังยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมีปัญหาเรื่องโรคเอดส์ นักวิชาการเวียดนามเริ่มเก็บข้อมูลงานวิจัยทำให้สังคมเกย์เริ่มเปิดตัวมากขึ้น ส่วนสังคมพม่าเพิ่งเปิดประเทศจึงยังไม่มีการวิจัยในเรื่องนี้ แต่มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนทรงเจ้าในพม่า ซึ่งต้องเป็นกระเทยเท่านั้นถึงจะได้รับตำแหน่งนี้ ทำให้กระเทยมีพื้นที่ของตนเองอยู่ในวัฒนธรรมโบราณของพม่ามาตั้งแต่อดีตเช่นกัน”

ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของงานวิจัยต่อการยอมรับกลุ่มชายรักชายในแต่ละสังคมว่า

“ถ้ามีงานวิจัยมากขึ้นก็จะทำให้คนในสังคมของประเทศนั้นยอมรับชายรักชายได้มากขึ้นเพราะว่ากลุ่มเอ็นจีโอที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนจะต้องเอาข้อมูลมาจากผลการวิจัย หรือจากบทความของสื่อมวลชน มาช่วยเปิดเผยชีวิตที่แท้จริงของเกย์ การวิจัยจะมีประโยชน์ในการสร้างความคิดที่กว้างขึ้นในสังคมทั่วไป และสร้างโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีที่ยืนในสังคมมากขึ้น”

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเกิดมามีร่างกายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง

ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเกิดมาพร้อมโครโมโซมคู่ที่ Xq28 หรือไม่

ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร เราก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมเดียวกับเราโดยปราศจากอคติทางเพศ เพราะเมื่อเขาเกิดมาเพื่อเป็นเกย์แล้ว …

รักของ “เขา” และ “เขา” ย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save