fbpx

กบฏรีพับลิกัน: การสร้างความหมายใหม่แก่ประชาธิปไตยในอเมริกา

มองสหรัฐอเมริกาในรอบปี 2022 ที่เพิ่งผ่านไปเพื่อจะประเมินว่า ในอนาคตอันใกล้และไกลของปี 2023 มีเรื่องราวและบทเรียนอะไรที่จะช่วยให้เราเข้าใจความจริงของระบบทุนนิยมโลกได้ดีขึ้นบ้าง ด้วยเหตุที่ว่าสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลกนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้จะเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้สงครามพื้นที่ในดินแดนรอบนอกของระบบโลกที่เรียกว่า periphery อันได้แก่ประเทศที่ไม่มีบทบาทนำและสร้างผลสะเทือนต่อพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในระบบทุนนิยมโลกได้มากเท่ากับประเทศในศูนย์กลาง (core) และกึ่งรอบนอก (semi-periphery) เช่น สงครามเวียดนาม (1960-1975) มาถึงสงครามในอัฟกานิสถาน (2001-2021) แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงรักษาฐานที่มั่นของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองรวมถึงการทหารในโลกไว้ได้ เพราะสถานการณ์โลกมาถึงบัดนี้ยังเป็นและอยู่ในระบบโลก

ลักษณะเด่นของสหรัฐอเมริกาเมื่อเปรียบเทียบกับจักรวรรดิโบราณก่อนนี้ เช่น อียิปต์ โรม จีน อินเดีย คือการที่พวกนั้นไม่อาจสร้างระบบโลกขึ้นมาได้ แต่ยึดครองพื้นที่และเมืองต่างๆ ให้เข้ามารวมอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิ ซึ่งไม่ได้สร้างระบบโลกที่ผลักดันโดยระบบการผลิตเดียว ได้แก่ ระบบทุนนิยม ตรงกันข้ามสหรัฐฯ ขยายอำนาจอิทธิพลแต่ไม่ยึดครองพื้นที่ถาวร หากแต่สร้างระบบโลกทำหน้าที่ครอบครองโครงสร้างและสถาบันในอาณาบริเวณที่อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกแทน ด้วยเหตุนี้เองที่แม้สหรัฐฯ จะแพ้ในการยึดครองอัฟกานิสถาน แต่ก็ไม่ทำให้ฐานะของระบบทุนโลกเพลี่ยงพล้ำเสียหายไป แม้สภาพการเมืองภายในประเทศก็ไม่กระเทือน ทั้งหมดนี้ทำให้สหรัฐฯ ยังสามารถรักษาฐานะของการเป็นศูนย์กลางระบบทุนโลกไว้ได้ต่อไป การทำความเข้าใจและศึกษาความเป็นไปภายในระบบการเมืองอเมริกันจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการไปเข้าใจและยึดกุมการเดินนโยบายต่างประเทศของอเมริกาต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองอเมริกันปีที่แล้ว เรื่องที่ใหญ่โตและมีผลกระทบไปทั่วทั้งระบบ ไม่มีเรื่องใดใหญ่โตและยึดหัวข่าวในโซเชียลมีเดียได้มากไปกว่ากรณีการ ‘ก่อกบฏ’ เพื่อยึดอำนาจรัฐโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านการโฆษณาปลุกระดมเรื่อง ‘การขโมยการเลือกตั้ง’ โดยโจ ไบเดน มาถึงการตั้งกลุ่ม ‘ปฏิเสธการเลือกตั้ง’ ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนถึงความแตกแยกภายในระบบการเข้าสู่อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิกของทุกประเทศในโลก เพราะคนที่อยากได้อำนาจมีมากกว่าและไม่ค่อยยอมกันง่ายๆ

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ นับว่าโชคดีที่สามารถแก้ไขคลี่คลายปัญหาการเลือกผู้นำรัฐได้อย่างสงบและสันติมาสองศตวรรษ ยกเว้นครั้งเดียวที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง เมื่ออับราฮัม ลิงคอล์นจากพรรครีพับลิกันได้รับเสียงมากกว่าผู้สมัครพรรคเดโมแครต ซึ่งแตกออกเป็นสองพรรคด้วยนโยบายเรื่องทาสที่ไม่เหมือนกัน

จากวันนั้นในอดีตที่พรรครีพับลิกันก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองชาติด้วยการประกาศว่าจะแก้ปัญหา ‘บ้านที่แตกแยกกัน’ (House Divided) ในเรื่องระบบทาส มาถึงยุคโลกาภิวัตน์ที่พรรครีพับลิกันครองทำเนียบขาวโดยตัวแทนของทุนใหญ่และชาตินิยมผิวขาว อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ที่ไม่ได้เป็นแกนนำของพรรค แต่โหนกระแสของคณะทีปาร์ตี้ที่สร้างพื้นที่การเมืองขวาสุดขั้วให้ เขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่รีพับลิกันยึดสภาผู้แทนราษฎรกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคราวนี้ได้มาท่ามกลางความแตกแยกกันเองภายในพรรค เคียงคู่ขนานไปกับความแตกแยกร้าวฉานภายในประเทศ ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายขวาสุดขั้วและเชื้อชาตินิยมผิวขาว อันเป็นฐานการเมืองของสมาชิกส่วนไม่น้อยของรีพับลิกันโดยเฉพาะบรรดาสมาชิกหน้าใหม่ที่เข้าร่วมพรรค เพราะเชื่อว่าจะอาศัยพรรคนี้ในการบรรลุเป้าหมายการเมืองขวาสุดขั้วของพวกเขา และนี่คือเบื้องหลังของ ‘มหาภารตะ’ ฉบับอเมริกัน

สภาผู้แทนสหรัฐฯ เปิดสมัยประชุมที่ 118 วันแรกเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2023 วาระแรกสำคัญยิ่งคือการเลือกประธานสภาฯ คนใหม่ แทนนางแนนซี เพโลซี พรรคเดโมแครตที่แพ้คะแนนเสียงข้างมากในสภาไปอย่างเฉียดฉิว (10 ที่นั่ง) กิจกรรมปกติที่เคยกระทำมาอย่างเรียบร้อยนับร้อยปี คือการเปิดวาระแรกให้สมาชิกเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นประธานสภาฯ แล้วจากนั้นก็ลงคะแนนเสียงเปิดเผยว่าใครจะได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามกับความคาดหมาย เกิดความแตกแยกภายในพรรครีพับลิกันอย่างรุนแรง

ตามธรรมเนียมทั้งสองพรรคเตรียมแกนนำของตนไว้ก่อนแล้วว่าใครจะได้ตำแหน่งประธานอันทรงอำนาจนี้โดยไม่ต้องมาเจรจาอะไรกันในวันประชุม คราวนี้ก็เช่นกัน ฝ่ายรีพับลิกันยกให้แมกคาร์ธี ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าเสียงข้างน้อยของพรรคมาในสมัยก่อน ส่วนเดโมแครตก็ให้ฮาคีม เจฟฟรีส์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มนำของเดโมแตรตมาก่อน ว่าจะต้องเป็นประธานคนต่อไปแน่นอน แต่ผลการลงคะแนนพลิกกระดานอย่างไม่คาดคิด แมกคาร์ธีไม่ได้เสียงข้างมากคือ 218 เสียง แพ้ไป 20 เสียงซึ่งมาจากกลุ่ม ‘กบฏ’ จาก ‘คณะเสรีภาพ’ ทั้งนั้น ส่วนเดโมแครตไม่มีปัญหา ทุกคนลงคะแนนให้ฮาคีม เจฟฟรีส์อย่างพร้อมเพรียงไม่แตกแถวแม้คะแนนเดียว ที่ประชุมเสนอให้เลือกใหม่เพราะฝ่ายแมกคาร์ธีไม่ยอม ที่สุดต้องเลือกกันถึง 15 ครั้ง กว่าเขาจะได้เสียงข้างมากตามกฎของสภาฯ

การเกิดขึ้นของกลุ่มกบฏ ก่อรูปมาหลายปีแล้ว อย่างน้อยก็ในปี 2015 ตอนที่จอห์น โบห์เนอร์เป็นประธานสภาฯ ของพรรครีพับลิกัน พวกกลุ่มกบฏซึ่งเติบโตมากับกลุ่มทีปาร์ตี้ที่ต่อต้านรัฐบาลโอบามาและนโยบายเสรีนิยมของเดโมแครต ไม่พอใจที่โบห์เนอร์ร่วมมือกับโอบามาผ่านกฎหมาย เลยวางแผนไล่เขาออกจากตำแหน่ง ครั้งนั้นหนึ่งในแกนนำที่โค่นล้มประธานของพรรคตนเองคือเควิน แมกคาร์ธี ส.ส.ฝีปากดีจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก้าวมาเป็นดาวรุ่งของรีพับลิกันเพราะมีท่วงทำนองเข้ากับคนได้ทุกฝ่าย จุดอ่อนของแมกคาร์ธีคือคนจับได้ว่าเขาเป็นคน ‘เหยียบเรือสองแคม’ ไว้ใจไม่ได้  

คณะกบฏเติบโตมาจากคณะทีปาร์ตี้ เป็นพวกขวาสุดขั้ว เป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสทีปาร์ตี้ที่อยู่ในกายของพรรครีพับลิกันปรากฏเป็น Freedom Caucus หรือ ‘ที่ประชุมคณะเสรีภาพ’ ซึ่งเป็นแหล่งรวมบรรดาสมาชิกอนุรักษนิยมและเอียงขวาจากภาคใต้และมิดเวสต์ กลายเป็นหนามยอกอกของพวกแกนนำและหัวหน้าพรรครีพับลิกันอาวุโสที่พวกนั้นขนานนามว่า ‘ผู้ทรงอำนาจ’ (establishment) สมาชิกเหล่านี้เติบโตมาจากการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล จัดตั้งปลุกระดมมวลชน ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการโฆษณาความคิดและอุดมการณ์ของกลุ่ม ไม่ได้โตมาจากการทำงานการเมืองและการเลือกตั้งร่วมกับสมาชิกรุ่นพี่ๆ ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาตามธรรมเนียม ดังนั้นในทางความคิดและในการปฏิบัติ ‘คณะเสรีภาพ’ จึงนิยมใช้วิธีการและกลไกทุกอย่างในการบรรลุจุดหมายการเมืองของพวกเขา ไม่สนใจจารีตธรรมเนียมและระเบียบอาวุโสเท่าใดนัก

กระแสเอียงขวาที่ค่อยๆ เข้ายึดพรรครีพับลิกัน บั่นทอนอำนาจของพวกอาวุโสผู้ทรงอำนาจในพรรคลง เปิดทางให้แก่โดนัล ทรัมป์เข้ามาแย่งตำแหน่งประธานาธิบดีไปได้ในที่สุด และจากนั้นก็สร้างฐานฝ่ายขวาจัดในมลรัฐต่างๆ ทำให้กฎหมายก้าวหน้า เช่น สิทธิทำแท้ง ความหลากหลายทางเพศสภาพ ถูกยกเลิกหรือผิดกฎหมายมลรัฐแล้วออกกฎหมายใหม่ที่อนุรักษ์และทวนกระแสออกมา กระทั่งศาลสูงสุดยังต้องโหนกระแสขวาจัดไปด้วย

ก่อนถึงวันเปิดประชุมสภาฯ ครั้งแรก มีข่าวแพร่งพรายออกมาแล้วว่าจะมีคนคัดค้านไม่ลงคะแนนให้นายเควิน แมกคาร์ธี จากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งฝ่ายพรรครีพับลิกันข้างมากเตรียมมอบตำแหน่งนี้ให้แก่นายเควินแกนนำสำคัญมาหลายปี ซึ่งหมายมั่นปั้นมือมาหลายวาระแต่พลาดทุกครั้ง จนถึงครั้งสุดท้ายที่นายพอล ไรอันคว้าตำแหน่งไปเสียก่อน ในสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ความที่เขาเป็นคนนอกพรรคมีท่วงทำนองและนโยบายที่ไม่ดำเนินไปตามปกติ ทำให้พอล ไรอันไม่อาจทำงานร่วมหรืออยู่ภายใต้การบงการของทรัมป์ได้ เขาเลยลาออกจากตำแหน่งและสมาชิกสภาผู้แทนฯ ไปในปี 2018 เมื่อเดโมแครตชนะได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ในการเลือกตั้งกลางเทอม

ตอนนั่งดูการประชุม ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกๆ ก็ตื่นเต้นเพราะเราไม่เคยเห็นอะไรพรรค์นี้มาก่อน ผ่านไปครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ผลก็ยังเหมือนเดิมคือ ‘ไม่เอาเควิน’ ยังเป็นเสียงที่มาจากฝ่ายกบฏ นี่เป็นครั้งแรกหลังสงครามกลางเมืองที่การเลือกประธานสภาฯ ยืดเยื้อที่สุด และยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติได้ง่ายๆ ที่ยากคือ ‘กลุ่มกบฏ’ หรือที่พรรครีพับลิกันสายกลางและพวก ‘ผู้ทรงอำนาจ’ ขนานนามให้ว่า ‘กลุ่มตาลีบัน 19’ หรือ ‘พวกก่อกวน’ (disrupters) โดยไม่ได้มีอุดมการณ์ของกลุ่มอะไร มีแต่ยื้อเรื่องอำนาจและการได้ตำแหน่งในคณะกรรมาธิการที่พวกเขาต้องการ ถ้าจะมีอุดมการณ์อะไรได้ก็คือการยุติรัฐบาล ทำให้รัฐบาลนี้ปกครองไม่ได้ จุดหมายรูปธรรมอีกอันคือ ‘ทำให้แมกคาร์ธีเป็นประธานไม่ได้’ เจอสองข้อนี้ ผมคิดว่าการเจรจาต่อรองใดๆ ก็ยากจะเกิดขึ้นได้ เพราะเท่ากับยกอำนาจสภาฯ ให้แก่กลุ่มกบฏไปหมดสิ้น แล้วจะเป็นประธานสภาฯ ไปทำอะไร

มาถึงการเลือกครั้งที่ 14 แมกคาร์ธีและพรรคพวกเชื่อมั่นว่าจะได้ชัยชนะแน่ เพราะได้ไปพูดจาต่อรองและหาข้อตกลงกับคณะกบฏในหลายข้อที่พวกนั้นเรียกร้อง และยอมให้มากที่สุดเท่าที่ให้ได้ ครั้งสุดท้ายคิดว่าหลายคนในคณะกบฏคงเปลี่ยนใจมาลงคะแนนให้ แต่เมื่อผลออกมาปรากฏว่ายังไม่ถึงเสียงข้างมากอีก ขาดไป 4 เสียง จนฝ่ายแมกคาร์ธีคิดว่าต้องเลื่อนการประชุมไปวันจันทร์หน้า ทำให้มีเวลาในการเจรจาต่อรองกันอีก ระหว่างนั้นเองก็มีการปะทะคารมและเกือบมีการลงไม้ลงมือกันระหว่างแกนนำสองกลุ่ม ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในศตวรรษใหม่หากมีการชกต่อยกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอเมริกัน

ในอดีตมีการใช้กำลังเข้าทำร้ายสมาชิกอีกพรรคในช่วงเวลาก่อนสงครามกลางเมือง เพราะข้อขัดแย้งเรื่องทาสเป็นปัญหาใหญ่และการแก้ไขกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของนายทุนและเจ้าของทาสมาก ในประวัติศาสตร์สภาผู้แทนฯ อเมริกา มีการเลือกประธานสภาฯ มากกว่า 100 ครั้ง มี 14 ครั้งที่ต้องเลือกมากกว่าหนึ่งครั้ง ที่ยาวและยากสุดคือปี 1855-1856 ที่การเลือกประธานยืดยาวไปข้ามปีกว่าจะได้ เพราะติดปัญหานโยบายเรื่องทาสผิวดำว่าจะมีการยอมให้ขยายทาสไปยังดินแดนภาคตะวันตกไหม

คราวนี้ไม่มีระบบทาสให้เถียงกัน ไม่มีคอมมิวนิสต์ให้ป้ายสีได้ง่ายๆ พรรครีพับลิกันต้องการอะไร สำหรับเควิน แมกคาร์ธี สิ่งที่เขาต้องการคืออำนาจเป็นที่สองรองจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ พวกกบฏจากการเรียกร้องและประท้วงในการลงคะแนนครั้งนี้คือการลดอำนาจของประธานสภาผู้แทนฯ ขอตำแหน่งที่มีความสำคัญในคณะกรรมาธิการให้แก่สมาชิกคณะเสรีภาพและกบฏ แม้ว่าพวกเขามีอาวุโสน้อยกว่าก็ตาม เพิ่มเวลาในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ ส่วนมากเป็นกฎหมายการใช้เงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญคือการออกกฎหมายว่าด้วยการใช้เงินของรัฐบาล คือคนคุมกระเป๋าสตางค์ของประเทศ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะหลังโควิด-19 ระบาด สภาผู้แทนฯ สมัยเดโมแครตออกกฏใหม่ให้ประชุมพิจารณาเรื่องกฎหมายเหล่านี้แต่เพียงในที่ประชุมแกนนำสองพรรคเท่านั้น เพื่อความสะดวก ปลอดภัยและรวดเร็วทันการณ์ ทำให้สมาชิกสภาทั่วไปมีหน้าที่เพียงแค่ยกมือว่าผ่านหรือไม่ผ่านในวาระสุดท้าย ไม่มีโอกาสเสนอเปลี่ยนหรือตัดงบประมาณอะไรได้เลย อีกข้อคือการไม่ยอมขยายเพดานหนี้ของรัฐบาล และไม่ผ่านกฎหมายงบประมาณพิเศษเพื่อต่ออายุการทำงานของหน่วยงานรัฐตอนสิ้นปี ข้อเรียกร้องสุดท้ายที่สำคัญสุดคือการยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ แม้เพียงคนเดียวสามารถเสนอญัตติระงับการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ ได้ หากมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ไว้วางใจของสมาชิก

ที่ผ่านมา เควิน แมกคาร์ธีเป็นคนสนับสนุนทรัมป์ตั้งแต่ตอนหาเสียง จนได้เป็นประธานาธิบดี เขาเป็นเบอร์สองในสภาผู้แทนฯ ที่หนุนทรัมป์เต็มตัว แม้จะประณามเขาตอนก่อกบฏวันที่ 6 มกรา เมื่อพูดในสภาผู้แทนฯ ด้วยความโกรธที่มวลชนทรัมป์บุกยึดรัฐสภา แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นเขาก็ไปวิ่งไปหาทรัมป์ถึงบ้าน บอกว่ายังหนุนทรัมป์อยู่ จุดยืนแบบเหยียบเรือสองแคมของเควินเป็นมานานแล้ว รู้กันดีในหมู่สมาชิกที่ไม่ยอมจงรักภักดีเขาเต็มตัว

ในการคัดค้านเควินอย่างไม่น่าเชื่อ คนเชื่อว่าน่าจะมีผู้ทรงอิทธิพลหนุนหลัง แต่ไม่แน่ใจว่าคือใคร กระทั่งทรัมป์เมื่อตอนให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์นิวส์ ก็ยังไม่กล้าออกมาประกาศหนุนหรือบอกให้สมาชิกฝ่ายขวามาเลือกเควิน ซึ่งตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีก็เรียกเควินว่า ‘เควินของข้าพเจ้า’ (My Kevin) ให้ความรู้สึกว่าใกล้ชิดกันมาก แต่น้ำเสียงล่าสุด ที่แม้ทรัมป์เองก็ไม่กล้าออกมาหนุนเควินอย่างเปิดเผย เพราะคงรู้ว่างานนี้ชนะยาก ทรัมป์ไม่ชอบอยู่กับคนที่แพ้ แต่ในที่สุดทรัมป์โทรศัพท์ถึงแกนนำของกลุ่มกบฏว่าถึงเวลายอมให้เควินเป็นประธานสภาฯ ได้แล้ว

ในที่สุด การลงคะแนนเลือกประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ ครั้งที่ 15 ก็สำเร็จลง เควิน แมกคาร์ธีได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 216 จากการที่ฝ่ายกบฏ 2 คนยอมโหวต ‘อยู่’ (present) ทำให้ลดคะแนนผ่านลงมา 2 คะแนนได้ เขาจึงผ่านในวาระสุดท้ายนี้ อย่างทุลักทุเล ต่อรอง ยอมให้ทุกอย่าง 

ปรากฏการณ์ของความแตกแยกภายในพรรครีพับลิกันครั้งนี้ให้ข้อคิดอะไร ประการแรกคือเมื่อมองไปในระบบรัฐสภาทั่วโลก สภาผู้แทนราษฎรในศตวรรษนี้ล้วนมีปัญหาจากภายในทั้งสิ้น หาความเป็นเอกภาพได้ยาก การที่รัฐบาลจะทำงานและรักษาเสถียรภาพต่อไปได้จึงต้องอาศัยจารีต ประเพณี และสามัญสำนึกของระบบการปกครองช่วยค้ำจุนให้มันเดินต่อไปได้ เท่าที่จะไปได้ การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจการเมืองกลายเป็นจุดของความขัดแย้งแตกแยกอย่างมาก เพราะการเข้ามาของสมาชิกพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการและรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป ในกรณีของอเมริกา พรรคใหญ่ควบคุมสมาชิกของตนได้ผ่านการคุมเงินที่ใช้ในการหาเสียง และการแบ่งปันตำแหน่งคณะกรรมาธิการ แต่บัดนี้สมาชิกใหม่ๆ ที่เติบโตมาจากมวลชนเอียงข้างสามารถระดมเงินทุนในการหาเสียงและสร้างหน้าตาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยพรรคก็ได้ ผลข้างเคียงอีกอย่างคือเนื่องจากไม่มีประธานสภาผู้แทนฯ ในระหว่างการประชุม จึงไม่มีใครควบคุมการทำงานของผู้สื่อข่าวได้ว่าตรงไหนเรื่องไหนงดการถ่ายทอด วันนั้นโทรทัศน์ใหญ่ทุกช่องถ่ายทอดสดการปะทะโต้แย้ง ซึ่งสมัยก่อนกระทำกันในห้องปิดลับ เห็นสีหน้าของแกนนำสำคัญทั้งหมด ทั้งฝ่ายแมกคาร์ธีและนายแมตต์ เกตซ์กับนางลอเรน โบเบิร์ต สองแกนนำของกลุ่มกบฏ เป็นการโฆษณาชื่อเสียงสร้างความเป็นดาราให้แก่คนเหล่านี้ในการหาเสียงต่อไป

ประการต่อมา การพยายามล้มการเลือกประธานสภาฯ ครั้งนี้เป็นการคลี่คลายของอำนาจขวาจัดที่แผ่กระจายไปในสถาบันการเมืองอเมริกา ถ้าพวกนี้ยึดประธานสภาฯ ได้ อนาคตการเมืองอเมริกันจะยิ่งโกลาหลและแตกแยกขัดแย้งกันอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน สมัยของทรัมป์ที่ว่าแหลก คราวนี้จะยิ่งทรุดหนักยิ่งกว่า น่าสังเกตว่าในประวัติศาสตร์ พรรคและคณะการเมืองที่ตัดสินใจใช้กำลังในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงมักมาจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มและพรรคขวาจัดที่หันไปใช้กำลังนอกรัฐสภาเพื่อมาล้มระบบและกฎเกณฑ์ที่ทำให้พวกเขาเข้าสู่อำนาจไม่ได้

ประการสุดท้าย บทเรียนของการต่อกรยกแรกในสภาผู้แทนราษฎรอเมริกาที่ไม่เหมือนคนอื่น คือแม้จะทะเลาะกันแทบมองหน้ากันไม่ได้ก็ตาม พวกนั้นก็ยังยอมรับการทำตามความหมายของประชาธิปไตย คือการมีทางออกให้แก่ความขัดแย้งที่เหมือนทางตัน เคารพกฎจารีตของการดำเนินการ ตรงนี้เองที่ระบบพรรคการเมืองอเมริกันแตกต่างโดยพื้นฐานจากระบบพรรคการเมืองและรัฐสภาไทย พรรคการเมืองและรัฐสภาอเมริกันไม่ถูกควบคุม กำกับ และตัดสิทธิลงโทษโดยกฎหมายพรรคการเมืองและอื่นๆ ไม่ถูกกำกับควบคุมโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

ตรงกันข้าม รัฐสภาอเมริกันเป็นผู้ออกกฎหมายกำกับและตรวจสอบการทำงานของสถาบันและองค์กรของรัฐทั้งหมดรวมถึงศาลสูงสุดด้วย นั่นคือระบบพรรคการเมืองไม่ได้สร้างและพัฒนาโดยระบบกฎหมาย นั่นเองที่ในที่สุดอย่างน้อยยังมีหลังพิงสุดท้ายในสามัญสำนีกที่ทุกคนต้องยอม ไม่ใช่ใช้อำนาจหักดิบหรือการตีความตัวบทกฎหมายตามใจใครคนใดคนหนึ่งได้ ดังนั้น ท่ามกลางความโกลาหล อลหม่าน ไร้ทิศทางและความเป็นเอกภาพ ทุกคนก็ยังพูดว่า นี่คือความงดงามของประชาธิปไตยที่ยอมให้ทุกคนแสดงสิทธิ ความเห็นอย่างอิสระเสรี แล้วมาต่อรองกัน จนกว่าจะได้ข้อตกลงสุดท้ายที่เป็นมติส่วนใหญ่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save