fbpx

การหลุดลอยของวงเล็บ ‘(รีปับลิก)’ ท้ายคำว่า ‘ประชาธิปตัย’ หลังการปฏิวัติ 2475

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475  นับเป็นหลักหมุดหมายสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวคือเป็นการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม และเข้าใจกันว่าคือจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยไทยนับจากนั้น ทว่าก็มีข้อสังเกตประการหนึ่งในวงวิชาการว่าศัพท์คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ก่อนการปฏิวัติ 2475 อันที่จริงนั้นสื่อความหมายถึงระบอบ ‘สาธารณรัฐ’ มากกว่าจะเป็นระบอบ ‘ราชาธิปไตย’ ตามรัฐธรรมนูญดังที่คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

บทความนี้เป็นการนำพาผู้อ่านไปสำรวจการเปลี่ยนแปลงความหมายและความเข้าใจว่าด้วยการหายไปของวงเล็บคำว่า ‘รีปับลิก’ ที่เคยต่อท้ายคำว่า ‘ประชาธิปตัย’ ในช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 อันจะช่วยทำให้เข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่าประชาธิปไตยของไทย ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์

ก่อนการปฏิวัติ 2475 ‘ประชาธิปไตย’ หมายถึง ‘รีปับลิก’

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดูจะเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ตั้งข้อสงสัยต่อความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปตัย’ ในการปฏิวัติ 2475 โดยนครินทร์ให้ข้อมูลว่าคำว่าประชาธิปตัย (ประชาธิปไตย) เป็นศัพท์ที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในพุทธทศวรรษ 2460[1]  และในช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475 คำว่าประชาธิปไตยถูกนิยามว่าหมายถึง “รัฐบาลที่มีชาวเมืองเป็นใหญ่ เป็นชื่อรัฐบาลที่มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าคู่กับราชาธิปไตย รัฐบาลที่มีราชาเป็นใหญ่[2] ขณะที่ตำราเรียนวิชาการเมืองในยุคร่วมสมัยก็กล่าวอธิบายไว้ในทำนองเดียวกันว่า “ประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองแบบรีพับลิก ตรงกันข้ามกับราชาธิปไตย”[3]

หลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าก่อนการปฏิวัติ 2475 นิยามความหมายของคำว่าประชาธิปไตยนั้นหมายถึงระบอบรีปับลิก (republic) หรือระบอบสาธารณรัฐ ก็คือประกาศฉบับใหญ่ของคณะราษฎรที่ถูกแจกจ่ายในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ดังประโยคหนึ่งในเอกสารฉบับนี้ กล่าวว่า

คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา ส่วนผู้เป็นประมุขนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์จะทำการชิงราชสมบัติ…แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน…คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว…ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนด…ก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา[4]

ทั้งนี้ควรบันทึกเล่าไว้ด้วยว่า ผู้ร่างประกาศฉบับนี้คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) แต่ทว่า คณะราษฎรบางคนมิได้มีความประสงค์ตามความเงื่อนไขในประกาศฉบับใหญ่ เพราะจากหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ในระบอบการเมืองใหม่ของพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ ปรากฏความเพียงว่า “ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์”[5] โดยมิได้มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบรีปับลิกแต่อย่างใด

น่าสนใจว่า นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ทำการตรวจสอบประกาศคณะราษฎรจากเอกสารที่ตีพิมพ์ในยุคร่วมสมัยขณะนั้น แล้วพบว่าในท้ายคำว่า ‘ประชาธิปตัย’ ของคณะราษฎรมีการวงเล็บเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำว่า ‘republic’ ไว้ด้วย นครินทร์จึงวิเคราะห์ว่า

“วัตถุประสงค์ของกลุ่มคณะราษฎรโดยรวมในสมัยนั้น จึงต้องการการปกครองในระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย ไม่ใช่ประชาธิปตัยหรือประชาธิปไตยโดยเด็ดขาด (เนื่องจากประชาธิปตัยคือรีพับลิก) ปัญหาคือการปกครองในระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายของสมัยนั้นมีความหมายเท่ากับระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ อย่างที่เราคิดหรือนิยามกันในปัจจุบันนี้หรือไม่ เรื่องนี้ควรทำการค้นคว้าวิจัยและวิพากษ์กันต่อไปในที่อื่นๆ”[6]

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคำว่าประชาธิปไตยก่อนการปฏิวัติ 2475 หมายถึง ‘ระบอบรีปับลิก’ ทว่าภายหลังการปฏิวัติ 2475 ปรากฏการณ์ของการพยายามบัญญัติศัพท์การเมือง ซึ่งได้กลายเป็นสนามของการต่อสู้ในทาง ‘การเมืองวัฒนธรรม’ ของปัญญาชนกลุ่มนักกฎหมาย นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ จึงทำให้มีความเป็นไปได้ว่าคำว่าประชาธิปไตยค่อยๆ เคลื่อนเปลี่ยนนิยามความหมายจากการหมายถึงระบอบรีปับลิก ซึ่งเกิดขึ้นโดยบริบทเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์การเมืองสยาม สองประการ คือ

ประการแรก จุดร่วมสำคัญในการปฏิวัติ 2475 ของกลุ่มคณะราษฎร มิได้ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบรีปับลิก หากแต่เป็นระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย (constitutional monarchy)

ประการสอง ตามความเห็นของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เห็นว่าการปฏิวัติ 2475 มิได้ก่อให้เกิดการแตกหักทางความคิด จิตสำนึก โครงสร้างจารีต และวัฒนธรรมแบบเก่า[7] ซึ่งความไม่แตกหักก็เห็นได้จากสภาวะการประนีประนอมทางการเมืองของคณะราษฎรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงแรกๆ หลังการปฏิวัติ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จึงทำให้พื้นที่ในการสร้างความหมายและความรู้เรื่องระบอบการปกครองใหม่เป็นไปอย่างกว้างขวางจากปัญญาชนทั้งฝ่ายที่สนับสนุนระบอบเก่าและสนับสนุนระบอบใหม่

การเคลื่อนของนิยามความหมายคำว่าประชาธิปไตยหลังการปฏิวัติ 2475 เห็นได้ตั้งแต่หลังการปฏิวัติเพียงประมาณ 1 เดือน หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์)[8] ได้เขียนหนังสือ เรื่อง ‘อธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ’ เผยแพรในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2475 ในตอนหนึ่งของหนังสือ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์อธิบายว่า

“ในประเทศราชาธิปตัยที่มีธรรมนูญการปกครองก็ดี, ในประเทศประชาธิปตัย (ริปับลิก) ก็ดี ประมุขของประเทศมักมีอำนาจแต่เฉพาะทางธุรการเท่านั้น แต่มีบางประเทศ เช่น เบลเยี่ยมและฝรั่งเศสเป็นต้น ซึ่งพระราชาและประธานาธิบดีมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาได้ คือมีอำนาจทางนิติบัญญัติปะปนอยู่ด้วย”

อย่างไรก็ตาม

การปกครองประเทศสยาม ณ บัดนี้ แท้จริงแล้วมีลักษณะเป็นประชาธิปตัย คือการปกครองโดยราษฎร (democracy) มากกว่าอย่างอื่น หากแต่เรายังคงมีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศเท่านั้น ข้อความนี้จำเลือนไป ไม่เหมือนกับในประเทศรีปับลิก ซึ่งมีลักษณะอาการทุกอย่างที่ทำให้เห็นชัดว่าอำนาจอันแท้จริงอยู่ที่ราษฎร หลักสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปตัยนี้ก็คือว่าประเทศต้องเป็นของราษฎร, ปกครองโดยราษฎร, เพื่อประโยชน์ของราษฎร[9]

ตามข้อความในหนังสือของหลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์แสดงให้เห็นว่า คำว่าประชาธิปตัยยังคงมีวงเล็บต่อท้ายเพื่อให้หมายถึงคำว่าริปับลิก หรือ republic แต่ทว่าเมื่ออ่านระหว่างบรรทัด ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์มีความเห็นว่าการปกครองของสยามก็มีลักษณะ “เป็นประชาธิปตัย คือการปกครองโดยราษฎร (democracy) มากกว่าอย่างอื่น หากแต่เรายังคงมีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศเท่านั้น” ซึ่งน่าสนใจว่า นี่อาจเป็นกระแสแรกๆ ของนิยามความหมายของคำว่าประชาธิปตัยที่เริ่มเคลื่อนให้ความหมายให้กว้างมากขึ้น กล่าวคือ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงในการใช้กับแปลศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า republic เท่านั้น และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงการที่คำว่าประชาธิปตัยเข้าไปชิดใกล้กับนิยามความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า democracy ดังที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน

ด้วยจุดมุ่งหมายของการปฏิวัติ 2475 คือการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย (constitutional monarchy) มิใช่ระบอบรีปับลิก (republic) จึงน่าจะส่งผลให้คำว่าประชาธิปตัย (รีปับลิก) ไม่เป็นที่นิยมใช้อีกต่อไป เหตุเพราะความรู้สึกต่อคำว่า republic หลังการปฏิวัติ 2475 มีนัยความหมายที่ให้ความรู้สึกในทางลบภายใต้บริบทบรรยากาศของความพยายามประนีประนอมทางการเมือง ดังที่ไพโรจน์ ชัยนาม ได้เล่าย้อนให้ฟังถึงบรรยากาศในช่วงระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม  2475 ว่า

ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเราอยู่นั้น (ฉบับ 10 ธ.ค. 2475 – ผู้เขียน) ได้มีผู้เขียนความเห็นแนะนำแก่อนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ เป็นอันมาก หลวงวิจิตรวาทการ ผู้เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ซึ่งในขณะนั้นอยู่นอกราชการได้เขียนความเห็นลงในหนังสือพิมพ์ดวงประทีป ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2475 ว่า ‘ถ้าจะเติมความลงไปอีกสักมาตราหนึ่งให้เป็นทำนองว่า สยามจะต้องมีพระมหากษัตริย์ทรงราชย์และปกครองชั่วนิรันดร์ ถ้ามีความดั่งนี้จะเป็นประโยชน์ในทางรักษาจารีตประเพณีของเราอันหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นบทบังคับอยู่ว่าเราจะเป็นรีปับลิกไม่ได้ความจริงในขณะนั้นก็ไม่มีใครคิดพิสดารที่จะให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐโดยล้มพระมหากษัตริย์เสีย ทุกๆ ฝ่ายก็ยอมรับว่าประเทศไทยจะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่แล้ว ไม่ควรเขียนถ้อยคำให้เป็นการกระทบกระเทือนใจลงไป แต่อาจจะเป็นเพราะมูลเหตุแห่งการต่อสู้ในทางการเมืองในขณะนั้นชี้ชวนให้เป็นไปก็ได้[10] 

โดยบริบททางการเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 คำว่า ‘รีปับลิก’ เป็นคำที่ให้ความรู้สึกว่าเป็น ‘ถ้อยคำกระทบกระเทือนใจ’ ด้วยเหตุนี้ จึงน่าเป็นเหตุให้การใช้คำว่าประชาธิปตัยโดยมีวงเล็บต่อท้ายว่า ‘รีปับลิก’ ไม่เป็นที่นิยมใช้และได้แยกออกจากกัน โดยเฉพาะเมื่อสภาวะการประนีประนอมทางการเมืองสิ้นสุดลงภายหลังการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เชื่อกันว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อรอยร้าวและการสิ้นสุดในความพยายามประนีประนอมทางการเมือง ดังปรากฏเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรกับคณะกู้บ้านกู้เมืองของพระองค์เจ้าบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 [11]

ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช คำว่า ‘รีปับลิก’ ได้กลายเป็นศัพท์เฉพาะที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับโจมตีทางการเมือง ดังเห็นได้ชัดจากเอกสารตอบโต้ระหว่างกันของคณะกู้บ้านกู้เมืองกับรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ของรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ชี้แจงว่า ข้อหาอีกข้อหนึ่งคือหาว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการปกครองแบบรีปับลิก ซึ่งเป็นความเท็จอย่างร้ายแรง รัฐบาลหรือบุคคลใดในรัฐบาลไม่เคยดำริเช่นนั้นเลย เพราะมีความมุ่งหมายแต่จะรักษารัฐธรรมนูญ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นองค์ประมุขของชาติ[12] ซึ่งจากการตรวจสอบประกาศของคณะกู้บ้านกู้เมือง แม้จะไม่ปรากฏคำว่ารีปับลิกโดยตรง แต่ใจความสำคัญของประกาศทุกฉบับก็คือการโจมตีรัฐบาล ดังเช่นว่า “เพิกเฉยปล่อยให้คนพาลสันดานหยาบหมิ่นหลู่ดูแคลนพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “รัฐบาลของพวกนี้มีความประสงค์จะแสวงหาอำนาจเพื่อยึดการปกครองไว้ในมือตลอดไป และคิดจะกำจัดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเปิดทางให้ดำเนินการหันเข้าหาลัทธิคอมมิวนิสต์ในภายหน้า”[13]

หลังการปฏิวัติ 2475 คำว่า ‘รีปับลิก’ จึงเป็นคำที่ให้ความรู้สึกในทางลบ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าไม่มีกลุ่มการเมืองใดๆ ต้องการเสนอหรือแสดงความต้องการระบอบที่จะส่งผลให้มีการล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ทว่าภายใต้ความเข้าใจนี้ก็มีความทับซ้อนอยู่มากโดยเฉพาะต่อความคิด/ความเข้าใจของกลุ่มปัญญาชนในระบอบเก่าว่า อันตรายของคอมมิวนิสต์เท่ากับอันตรายของสาธารณรัฐนิยม (republicanism)[14] กล่าวคือ ดูเหมือนว่าทั้งคำว่า ‘รีปับลิก’ และคำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ มีนัยความหมายที่แฝงไปด้วยอารมณ์ ความเข้าใจ ความรู้สึกในทางลบด้วยกันทั้งสองคำ และพร่าเลือนในการรับรู้และความเข้าใจของคนในสังคม เพราะทั้งสองคำต่างก็เป็นศัพท์ที่ถูกใช้โจมตีระบอบการเมืองที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครอง

หลังปฏิวัติ 2475 ‘รีปับลิก’ หมายถึง ‘สาธารณรัฐ’

ด้วยนัยความหมายที่เป็นลบ จึงเป็นเหตุให้การวงเล็บคำว่า ‘รีปับลิก’ หายไปจากท้ายคำว่า ‘ประชาธิปตัย’ และนำไปสู่การแปล/เรียกศัพท์ใหม่ ซึ่งในช่วงเวลาหลังการปฏิวัติ 2475 การบัญญัติศัพท์การเมืองและการสร้าง/อธิบายรูปคำต่างๆ ในระบบการเมืองใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะบทบาทและความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ในการบัญญัติศัพท์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างสูงในการบัญญัติศัพท์การเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นจำนวนมาก[15] ดังที่พระองค์ กล่าวว่า

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ข้าพเจ้ารู้สึกความจำเป็นที่จะต้องคิดศัพท์ใหม่ขึ้นใช้สำหรับศัพท์การเมือง คำเหล่านั้นแหละความหมายของคำเหล่านั้นจะได้ไปถึงประชาชนคนไทย ข้าพเจ้าก็ได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ ขึ้น เพื่อเผยแผ่ระบอบรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย โดยนำเอาคำที่คิดขึ้นนั้นมาใช้ด้วย”[16]

การแปลคำว่า republic เป็นภาษาไทยว่า ‘สาธารณรัฐ’ ดังที่เข้าใจกันในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งในหลายคำที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงบัญญัติขึ้น โดยกล่าวถึงเหตุผลในการแปลคำนี้เป็นภาษาไทยว่า

“รัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข อังกฤษเรียกว่า Republic ฝรั่งเศสเรียกว่า Republigue เรปึบลิค ข้าพเจ้าเคยแปลว่า มหาชนรัฐ และก็ใช้กันแพร่หลายพอใช้แล้ว แต่คำว่า ปับลิค นั้นเห็นควรยุติ ใช้คำๆ เดียวจะดีกว่า ในเวลานี้แม้ในกฎหมายก็ใช้กันอยู่ถึง 3 คำ คือ สาธารณะ ประชาชน และมหาชน…คำว่าสาธารณชนนั้น สมเด็จพระมหาสมณะไม่โปรดเพราะถ้าจะแปลตามศัพท์บาลีแล้ว ควรจะหมายความว่าคนชั่ว แต่ในภาษาไทยได้ใช้กันมาในกฎหมายแล้ว โดยหมายความว่าคนส่วนรวมหรือคนทั่วไป และในปทานุกรมก็ให้ความหมายเช่นนี้ จึงเห็นว่าเป็นอันใช้ต่อไปได้ ถึงอย่างไรก็ดี ในกฎหมายที่ร่างหรือออกใหม่ๆ ก็ยังใช้สาธารณชนอยู่…เพื่อให้ศัพท์ลงรอยกันเป็นบรรทัดฐาน จึงได้แปลรีปับลิคว่า สาธารณรัฐ”[17]

เมื่อเปรียบเทียบคำอธิบายคำว่า ‘รีปับลิก’ ในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติ 2475 น่าสังเกตว่า น้ำเสียงและมุมมองการอธิบายเปลี่ยนไปอยู่บ้าง กล่าวคือ ในช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มุมมองในการอธิบายคำนี้มักปรากฏแนวการอธิบายว่าหมายถึงระบอบที่ไม่มีหรือยกเลิกกษัตริย์ ขณะที่มุมมองในการอธิบายคำนี้ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ กล่าวว่า ‘รัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข’

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแปลคำว่ารีปับลิกเป็นภาษาไทยว่า ‘สาธารณรัฐ’ แต่โดยนัย ความหมาย ความรู้สึกของคำนี้ยังมิแปรเปลี่ยนไปมากนัก โดยเฉพาะการสื่อความหมายถึงระบอบการเมืองที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นคำว่าสาธารณรัฐจึงยังคงเป็นศัพท์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองตลอดมา รวมทั้งการสร้างนิยามความหมายของคำว่ารีปับลิกเป็นคำว่าสาธารณรัฐ ก็ส่งผลให้คำในวงเล็บท้ายต่อท้ายอย่างรีปับลิก หลุดลอยออกไปจากคำว่าประชาธิปตัย/ประชาธิปไตย ทำให้คำว่าประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทย กลายเป็นคำที่มีความหมายและสามารถเชื่อมโยงกับแนวคิดและระบอบการเมืองแบบอื่นๆ ได้ ไม่เพียงเฉพาะแต่ระบอบรีปับลิกเท่านั้น ดังจะพบว่าในกาลต่อมาประมาณ 25 ปี แม้การปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะมีลักษณะเป็นแบบเผด็จการ แต่ทว่าก็สามารถตั้งชื่อเรียกกันได้ว่าเป็นระบอบ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’


[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553), 106.

[2] กระทรวงธรรมการ, ปทานุกรมสำหรับนักเรียน, (พระนคร: โรงพิมพ์กรมตำรวจ, พิมพ์หลายครั้ง), ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2470, 428อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ :ฟ้าเดียวกัน, 2546), 49.

[3] บู่ กาญจนายน, หลักวิชชาการปกครอง (พระนคร: โรงพิมพ์บริบูรณ์อักษร, 2469) อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, 50.

[4] ดูประกาศฉบับดังกล่าวได้ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ.2417-2477 , (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2518), 209-211. (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

[5] ดู “คำกราบบังคมทูลของผู้เริ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ใน แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ, (พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2478), 148 – 149.

[6] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม 2475, 309.

[7] ดู เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, “ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา” , ใน ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา: รวมบทความและปาฐกถาว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558), 23 – 24.

[8] หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์) เป็นบุตรของเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายของไทยและเนติบัณฑิตของอังกฤษ ได้รับปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรมในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (อ้างอิงประวัติจาก ณัฐพล ใจจริง, “ความชอบด้วยระบอบ: วิวาทะว่าด้วย ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ”, ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500), (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556), 73 เชิงอรรถที่ 13.

[9] หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, อธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ, 2475), 17 ; 25. (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

[10] ไพโรจน์ ชัยนาม, การร่างรัฐธรรมนูญใหม่และบทความเรื่องรัฐธรรมนูญ, (พระนคร: โรงพิมพ์พานิชศุภผล,2488), น.140.

[11] ตามความเห็นของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เห็นว่าการเสนอเค้าโครงเศรษกิจแห่งชาติของปรีดี พนมยงค์ ในปลายเดือนมีนาคม 2476 (ปฏิทินใหม่) นำมาซึ่งผลกระทบทางการเมืองจนกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) อันได้แก่
การปิดสภาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในเดือนเมษายน 2476 การยึดอำนาจซ้ำของพระยาพหลพลพยุหเสนาในเดือน มิถุนายน 2476 การเกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 จนถึงการสละราชสมบัติของพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนมีนาคม 2578 (ปฏิทินใหม่) ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปรีดี พนมยงค์,
ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, (สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544), 3-8.

[12] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ข้ออ้างการปฏิวัติ-รัฐประหาร-กบฏในเมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2550), 117. (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

[13] เรื่องเดียวกัน, 109-113.

[14] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ร.7 สละราชย์ : ราชสำนัก การแอนตี้คอมมิวนิสต์ และ 14 ตุลา, ใน ประวัติศาสตร์
ที่เพิ่งสร้าง
, 12.

[15] ดูงานรวมเล่มการบัญญัติศัพท์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, วิทยาวรรณกรรม, (พระนคร: แพร่พิทยา, 2506).

[16] ดู งานบัญญัติศัพท์ของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราธิปพงศ์ประพันธ์, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด พิมพ์ถวายเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราธิปพงศ์ประพันธ์ 28 ตุลาคม 2519,  4.

[17] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, วิทยาวรรณกรรม, 199-200.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save