fbpx

ทำไมสื่อจึงควรปฏิเสธไม่ให้พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรส่ง ‘ตัวแทน’ มาดีเบต

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้มาร่วมวงดีเบตกับ ‘ตัวเต็ง’ นายกรัฐมนตรีอื่นๆ ในรายการของคุณสรยุทธ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทั้งที่ทั้งสองเป็นแคนดิเดตของพรรครวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้ และรายการนี้น่าจะเป็นเวทีสาธารณะที่มีคนดูมากที่สุด

แม้คุณพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของรวมไทยสร้างชาติและมีสิทธิที่จะขึ้นเวทีนี้อย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สังคมรับทราบกันโดยทั่วไปว่า เขา ‘ไม่ใช่ตัวจริง’

สิ่งที่เกิดขึ้นหลายคนอาจไม่พอใจ เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนและพรรคอื่น แต่ในแง่หนึ่งก็อาจคิดได้เหมือนกันว่า ถ้าเขาเลือกแบบนี้ ก็เป็นสิทธิของเขา ถ้าจะเอาแบบนี้ก็ดี ให้ประชาชนเห็นแล้วไปตัดสินกันเอง

ผมเดาว่าฝั่งสื่อเองก็คงคุยกันมาเยอะอยู่ว่าจะให้ตัวแทนเหล่านี้ขึ้นเวทีสาธารณะหรือไม่ แต่สุดท้ายคงมองว่าไหนๆ มีตัวแทนมาพูดก็ยังดีกว่าไม่มีใครมาเลย เพราะอย่างน้อยก็มีข้อมูลให้ประชาชนพิจารณามากขึ้น

รวมๆ แล้วคือเป็นความหวังดีต่อสังคม ปนเสียดาย

แม้มุมมองข้างต้นจะเข้าใจได้ แต่แท้จริงแล้วมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่อาจยังไม่ได้พูดถึงมากนัก แต่ผมคิดว่ามีความสำคัญถึงขนาดที่จะใช้สนับสนุนว่า ‘ทำไมรายการดีเบตจึงไม่ควรให้ตัวแทนขึ้นดีเบตกับหัวหน้าพรรคอื่น’

เหตุผลที่ว่าก็คือ การอนุญาตให้ตัวแทนขึ้นดีเบตนั้นทำลาย ‘ความเป็นกลางทางการเมือง’ และวางแต้มต่อในการดีเบตให้พรรคที่ส่งตัวแทน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบสถาบันและความเป็นมืออาชีพของสื่อเสียเอง

ยังไง?

ลองมาดูตัวอย่าง

ย้อนไปเมื่อปี 2019 มีการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร คู่แข่งสำคัญในขณะนั้นคือนายบอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และเจเรมี คอร์บิน จากฝั่งพรรคแรงงาน

เมื่อการแข่งขันหาเสียงดำเนินมาจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน BBC Four สื่อสาธารณะอันดับหนึ่งจัดการดีเบต เชิญหัวหน้าพรรคมาร่วมถกเถียงในประเด็นสำคัญอย่างปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถึงวันนัด บอริส จอห์นสันแจ้งไปยัง BBC ว่าเขาไม่สามารถไปร่วมการดีเบตได้ แต่ขอส่งไมเคิล โกฟ หนึ่งในสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมปีกกลางไปร่วมวงแทน

BBC ตอบกลับทันที ว่าไม่รับตัวแทน ก่อนแถมว่าดีเบตในวันนั้น หากบอริสไม่มา รายการจะเอาเก้าอี้เปล่าไปวางไว้ในตำแหน่งพรรคอนุรักษ์นิยม

และบีบีซีก็ทำเช่นนั้น

ทำไม?

เหตุผลก็คือ การอนุญาตให้ตัวแทนขึ้นเวทีจะส่งผลให้พรรคนั้นได้เปรียบพรรคอื่นทางเกมดีเบต เพราะในแง่หนึ่ง หากตัวแทนพรรคดีเบตดีก็ได้คะแนนนิยม มากกว่านั้นคือได้ภาพลักษณ์ว่า ขนาดแค่ลูกพรรคยังเอาแคนดิเดตพรรคอื่นอยู่

ในอีกแง่หนึ่ง หากตัวแทนดีเบตไม่ดี หรือพูดอะไรโป๊ะแตกไป หัวหน้าพรรคของเขาสามารถลดทอนความเสียหายได้ด้วยการปฏิเสธความรับผิดรับชอบ

สรุปคือได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ว่ากันว่าสาเหตุที่บอริสไม่ยอมไปรายการ BBC ก็เพราะเช่นนี้ ตอนนั้น BBC ต้องการให้บอริสไปพูดจุดยืนเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว กล่าวคือถ้าพูดว่าจะไม่แก้โลกร้อน ก็จะเสียคะแนนเสียงจากคนหนุ่มสาวที่อินกับเรื่องนี้

กลับกัน หากเขาบอกว่ารัฐบาลจะเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อลดโลกร้อน ก็จะต้องเจอแรงต้านจากภาคธุรกิจกับฐานเสียงเอียงขวาสุดโต่งที่ไม่เชื่อในเรื่องโลกร้อน

เขาจึงตัดสินใจไม่ไปมันเสียเลย ส่งไมเคิล โกฟไปแทน

ที่เลือกไมเคิล โกฟก็ไม่ได้มั่วซั่ว แต่เป็นเพราะคนอังกฤษรู้กันดีว่า คนนี้ไม่ใช่ตัวละครหลักที่จะมีอิทธิพลในปีกการเมืองของบอริส

สมมติโกฟพูดอะไรไป เกมของบอริสก็ไม่ยาก คือไปบอกฝั่งที่ไม่พอใจกับคำตอบของโกฟในเวทีขนาดเล็กว่า นั่นไม่ใช่ความเห็นของผม

ในขณะที่หัวหน้าพรรคอื่น พูดอะไรออกไปจะกลายเป็นสัญญาประชาคมที่ผูกมัดตลอดไป

ย้อนมารายการช่อง 3 ก็จะเห็นประเด็นนี้ได้ เมื่อคุณสรยุทธิ์ถามคุณพีระพันธุ์ ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติว่า สิ่งที่เขาพูดวันนี้ ถือเป็นการพูดแทนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดและแคนดิเดตนายกตัวจริงของพรรคหรือไม่

คุณพีระพันธุ์ตอบว่า “อยู่ที่ว่าเรื่องอะไร”

เห็นความได้เปรียบตรงนี้ไหมครับ

ถ้ามีพูดอะไรผิดพลาด พลเอกประยุทธ์ก็บอกได้ว่าปัดโธ่ว ผมไปพูดตอนไหน ส่วนพลเอกประวิตรก็สามารถตอบได้ว่า “ไม่รู้ๆๆๆๆ ผมไม่ได้เป็นคนพูด”

ในขณะที่พรรคอื่นทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะ ‘ตัวจริง’ ของพรรคมาพูดเอง เล่นเอง เจ็บเอง

บางคนอาจเถียงว่าถ้าเขาไม่มา เขาก็เสียคะแนนเอง เพราะประชาชนก็อาจตีความได้เหมือนกันว่า เขาไม่เก่งพอ หรือไม่กล้าพอที่จะขึ้นเวทีดีเบต หรือกระทั่งไม่ให้เกียรติประชาชน เราจะไปคิดมากทำไม

ใช่ครับ เรื่องนี้ก็ถูกต้องเลย เหล่าบรรดา ‘ตัวจริง’ ทั้งหลายก็ต้องคิดคำนวณ รับความเสี่ยงเมื่อตัดสินใจเลือกส่งตัวแทน พูดง่ายๆ ก็คือเกมนี้มีต้นทุนความเสี่ยง และการจะส่งใครไปต้องคิดมากพอสมควรเหมือนกัน

แต่ประเด็นของผมคือ สื่อไม่ควรโอนอำนาจการตัดสินใจนี้ให้หัวหน้าพรรคเหล่านี้ตั้งแต่ต้น รายการจะอนุญาตให้เฉพาะ ‘ตัวจริง’ เป็นคนเลือกเล่นหรือไม่เล่นเกมนี้ไม่ได้

โดยหลักการ ทุกพรรคก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่ส่ง ‘ตัวจริง’ และส่งตัวแทนมาทั้งนั้น แต่ผมคิดว่าในสถานการณ์จริง สื่อน่าจะพอเห็นอยู่ว่า แต่ละพรรคจะเลือกทางไหน การโอนอำนาจไปให้พรรคการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจจึงเป็นการสร้างความได้เปรียบไปโดยปริยาย

เรื่องนี้จะชัดขึ้นหากมีบริบทอื่นมาเสริม เช่น หัวหน้าพรรคอาจกำลังเผชิญวิกฤตหรือข้อครหาทางการเมืองอะไรอยู่ ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ก็จะยิ่งชัดว่า การไม่มาดีเบตและตอบคำถามในข่วงนั้น สร้างความได้เปรียบให้พวกเขาได้จริงๆ อย่างน้อยโดนด่าว่าไม่มา ก็ยังดีกว่าไปโดนยิงคำถามตายกลางเวที

ดังนั้นการไม่มาของพลเอกประยุทธ์และประวิตรจึงไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องทางเลือก แต่เป็นเรื่องความเป็นกลางของเวที

สำหรับผม นี่เป็นเรื่องซีเรียสทางการเมือง เวทีต่างๆ ที่จะจัดดีเบตต้องยืนหลักปฏิเสธไม่ให้ตัวแทนทั้งสองพรรคเข้าร่วมเวที เพื่อรักษาบทบาทความเป็นกลางและความแฟร์ในการแข่งขันทางการเมือง

หากรายการทีวีไม่ทำอะไร พรรคอื่นต้องรักษาผลประโยชน์ตัวเองด้วยการเลือกปฏิเสธส่งหัวหน้าพรรคไปร่วมรายการ

มีอีกหนึ่งประเด็นที่ผมอยากทิ้งท้ายไว้ครับคือ การที่ยอมให้มีตัวแทนจากพรรคการเมืองมาขึ้นเวทีดีเบต ด้วยเหตุว่าอย่างน้อยประชาชนก็มีข้อมูลในการตัดสินใจ เพราะมีใครมาบ้างก็ดีกว่าไม่มาเลย (และคนที่มาก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ เป็นระดับนำ) จริงผมไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่

ถ้าพรรคการเมืองมี ‘ตัวจริง’ ที่ไม่ต้องการสื่อสาร ไม่ทำสัญญาสาธารณะและไม่แคร์ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานตามครรลองประชาธิปไตย ผมก็ไม่เห็นว่ามีเหตุผลอะไรที่ประชาชนหรือสื่อจะต้องแคร์และให้พื้นที่กับพรรคเหล่านี้เลย

วางเก้าอี้เปล่าให้พรรคเหล่านั้น ให้เห็นว่าพรรคนี้ไม่มีคน ไม่มีถ้อยคำ ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีสัญญา

ทำแบบนั้นแหล่ะครับ สะท้อนจุดยืนของพรรคเหล่านี้ได้ชัดเจนที่สุดแล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save