fbpx
Futurising Thailand : ยกระดับคนไทย ในยุคอุตสาหกรรม 4.0

Futurising Thailand : ยกระดับคนไทย ในยุคอุตสาหกรรม 4.0

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน ที่ต้องร่วมมือกันหาแนวทางพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญคือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งต้องปรับวิถีชีวิตและรูปแบบการทำงานให้เท่าทัน ผ่านการเรียนรู้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ในยุค 4.0

ทั้งนี้ หนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุค 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาของเทคโนโลยีอันรวดเร็ว ที่ส่งผลโดยตรงต่อตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ในงานสัมมนา Futurising Thailand สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก ครั้งที่ 2 หัวข้อ “โลกใหม่ ทักษะใหม่ : ยกระดับคนไทยในโลก 4.0” จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และภาคอุตสาหกรรม มาร่วมกันอภิปรายในประเด็นดังกล่าว เพื่อค้นหาคำตอบว่าคนไทยต้องเตรียมพร้อมและรับมืออย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

Futurising Thailand : ยกระดับคนไทย ในยุคอุตสาหกรรม 4.0

การปรับตัวเป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ ไม่ใช่เลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ

รศ.ดร.พีระ เจริญพร

 

รศ.ดร.พีระ เจริญพร
รศ.ดร.พีระ เจริญพร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.พีระ เจริญพร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนในมุมของผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมว่า ในภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นรากฐานของการสร้างรายได้ให้กับประเทศ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่ทั่วโลกใช้คำว่า Industry 4.0 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิวัติพัฒนาอุตสากรรม ประเทศไทยกลับเน้นย้ำแต่คำว่า Thailand 4.0 แต่กลับไม่มีมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

คำถามคือ ในเชิงปฏิบัติถ้าเราอยากเปลี่ยนเป็น Thailand 4.0 จริงๆ เราต้องทำอะไร คำตอบของรศ.ดร.พีระ คือการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับบริบทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

“ประเด็นคือการส่งเสริมการลงทุนในยุคใหม่ จะมีผลต่อการจ้างงานที่เปลี่ยนไป หนึ่งคือมีการอัพเกรดสายการผลิตที่ดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น สอง เมื่อโรงงานใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แรงงานจึงต้องมีทักษะที่สูงขึ้นด้วย โดยกลุ่มแรงงานที่ไม่มีทักษะก็จะถูกกีดกันออกไป หรือลดความสำคัญลง สาม ค่าแรงจะมีความสัมพันธ์น้อยลงต่ออุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ตอนปรับค่าแรงเป็น 300 บาท กลุ่มธุรกิจที่เป็น SME จะเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นรายใหญ่ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่รัก และเมื่อเป็นเช่นนี้ การพัฒนาในกลุ่มนี้จึงอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดความเหลื่อมล้ำสูง”

ทั้งนี้ คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเทคโนโลยีทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน แล้วเราจะรับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร

“คำตอบคือ เราต้องมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี เราต้องสามารถที่จะเชื่อมโยงได้ เราต้องสามารถ customization ได้ โดยต้องไม่ลืมว่าคำว่า นวัตกรรม ไม่ได้มีแต่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องการตลาด การบริหารจัดการด้วย ดังเห็นได้ว่าในปัจจุบันการสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น มาจากการให้ความสำคัญกับ service มากขึ้น”

ในแง่ของเทคโนโลยี รศ.ดร.พีระ ชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยถือว่าปรับตัวได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะในแง่เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นนัก ทว่าจุดที่ยังเป็นข้อด้อย คือการเปลี่ยนแปลงของบ้านเรามักเกิดขึ้นช้ากว่าที่อื่นเสมอ และมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะในบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่าบริษัทเล็กๆ จะไม่ต้องปรับอะไรเลย พร้อมย้ำว่าการฝึกสอนทักษะใหม่ๆ ให้พนักงาน เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วน ‘ต้องทำ’ ไม่ใช่ทางเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่แค่ไหน

นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระ ยังมีข้อเสนอด้านนโยบายว่า การให้รัฐเป็นผู้นำอย่างเดียวเหมือนในอดีตนั้น น่าจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และจะยิ่งทำให้ปรับตัวไม่ทัน “คนที่ปรับตัวทันและคล่องตัวกว่า ก็คือภาคเอกชน ดังนั้นการดำเนินนโยบายในอนาคต จึงควรตั้งจากฐานที่ว่า รัฐและเอกชนสามารถร่วมกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาได้”

สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าคนที่ปรับตัวไม่ทัน ควรทำอย่างไร รศ.ดร.พีระ ชี้ว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องบอกให้กลุ่มคนนี้รู้ตัวก่อน เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ส่วนคนที่พร้อมอยู่แล้ว ควรเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการสนับสนุน

อย่าแข่งในสนามที่รู้ว่าแพ้

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงภาพรวมของผลกระทบด้านแรงงานในยุค 4.0 ว่า การเข้ามาของหุ่นยนต์และ A.I. จะกระทบต่อทั้งแรงงานที่ต้องใช้ทักษะ (skill) และไม่ใช้ทักษะ (unskill) กล่าวคืองานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง เช่น นักกฎหมาย หรือแพทย์ ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่สามารถทำแทนได้ในหลายๆ ส่วนแล้ว

ส่วนงานประเภทที่ไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง โดยเฉพาะในระบบอุตสาหกรรม แน่นอนว่าจะถูกกระทบและแทนที่อย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบทางบวกด้วย เช่นการเกิดอาชีพทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย

ทั้งนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ระบบการศึกษาของไทยจะปรับตัวอย่างไรให้สอดรับกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป โดย ศ.ดร.พิริยะชี้ว่า ปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย คือ fixed mindset ที่ถูกปลูกฝังมายาวนาน โดยเฉพาะการเรียนการสอนและการวัดผลสอบแบบเน้นการท่องจำ มากกว่าจะเน้นทักษะอื่นๆ ที่จำเป็น โดยในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่

“แม้กระทั่งทักษะด้านภาษาอังกฤษ หรือทักษะด้านคณิตศาสตร์ ที่ควรจะเป็นทักษะพื้นฐาน ก็ยังเป็นทักษะที่ตลาดแรงงานยังขาดแคลนอยู่เลยครับ ฉะนั้นจึงยังไม่ต้องพูดถึงทักษะใหม่ๆ อย่างการ Coding หรือ Active Learning”

อีกปัญหาของระบบการศึกษาในยุคปัจจุบัน คือการปรับตัวอันเชื่องช้าของสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่นเดียวกับองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ความท้าทายสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ภาคการศึกษาปรับตัวตามเทคโนโลยีได้ทัน โดยเฉพาะการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ศ.ดร.พิริยะ ชี้ว่าหัวใจสำคัญคือการมองให้ออกว่า อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ทำได้ แต่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือการกลับไปสู่ ‘ความเป็นมนุษย์’

“เราอย่าไปแข่งในสนามที่รู้ว่าเราจะแพ้ สิ่งที่มนุษย์ได้เปรียบหุ่นยนต์คือความมีชีวิตจิตใจ เช่น การยิ้ม การเอาใจใส่ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการทำสิ่งต่างๆ ที่เกินความคาดหวังในระดับทั่วไป พร้อมทิ้งท้ายว่าหัวใจสำคัญที่สุดในการรับมือกับโลกยุค 4.0 คือการปรับเปลี่ยน mindset ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

องค์ความรู้ใหม่ ความท้าทายใหม่

ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล

ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามา ‘เขย่า’ พวกเราในทุกมิติ ซึ่งการถูกเขย่านี้เป็นทั้งโอกาสใหม่ ความท้าทายใหม่ ความเป็นไปได้ใหม่ ที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็หมายถึงความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งนอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โลกของเรายังมีความเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนในอีกหลายมิติ ตั้งแต่ระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมที่เริ่มวิกฤตอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ไร้เสถียรภาพ

“เรามักได้ยินว่า ตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 ทุกอย่างกำลังจะมุ่งสู่ความเป็นอัตโนมัติ เช่นเดียวกับ Big Data ที่ข้อมูลทุกอย่างถูกเก็บไว้อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิต ธุรกิจ เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คำถามใหญ่คือ เราจะเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออย่างไร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทยและประเทศไทย

“เชื่อว่าปัจจัยต่างๆ ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ทุกคนพอจะทราบกันอยู่แล้ว ดังนั้นคำถามจึงไม่ใช่ว่า ‘เราต้องทำอะไร’ แต่คำถามที่ยากกว่าและไม่มีคำตอบที่แน่ชัดคือ คำถามที่ว่า ‘เราต้องทำอย่างไร’ ไล่ตั้งแต่การพัฒนาคน สถานประกอบการต่างๆ ภาคเอกชน ไปจนถึงภาครัฐ”

ในฐานะตัวแทนของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เธอจึงอยากชวนทุกคน ทุกภาคส่วน มาช่วยกันระดมสมองว่าเรามีทางออกและทางเลือกอะไรบ้าง อะไรคือองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เรามีและสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งการจัดงานนี้ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามหาคำตอบดังกล่าว พร้อมชี้สิ่งที่สภาพัฒน์ฯ กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือการทำให้ทุกคนตระหนักว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ควบคู่ไปกับการผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ พร้อมทิ้งท้ายว่า

“สิ่งที่พูดกันมากคือ คนไทยต้องปรับตัวให้เร็ว คำถามคือทำอย่างไร ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ฯ ได้ผลิตและรวบรวมองค์ความรู้ไว้ไม่น้อย และจะยิ่งทำมากขึ้นอีกในอนาคต โดยมีโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนไทยเก่ง ว่องไว และปราดเปรียว ภายใต้โลกสมัยใหม่ที่ทุกคนต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา”


ชมคลิปฉบับเต็มได้ที่นี่ :

MOST READ

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save