fbpx
Futurising Thailand : พลังการเรียนรู้ในโลก 4.0

Futurising Thailand : พลังการเรียนรู้ในโลก 4.0

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ


ในโลกยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ จนดูเหมือนว่ามนุษย์กำลังจะกลายเป็นตัวประกอบ โจทย์สำคัญก็คือ เราจะ ‘เรียนรู้’ อย่างไรให้พัฒนาทันโลกที่หมุนเร็วเช่นนี้ คำตอบมีอยู่ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพราะการเรียนรู้แบบท่องจำที่เคยสอนกันมาอาจหมดอายุไปแล้วในสังคมยุคใหม่

ในงานสัมมนา Futurising Thailand สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก ครั้งที่ 2 หัวข้อ “โลกใหม่ ทักษะใหม่ : ยกระดับคนไทยในโลก 4.0” จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษา มาร่วมกันอภิปรายในประเด็นดังกล่าว เพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่า ทักษะอะไรที่จำเป็นต่อชีวิตและการทำงานในโลกยุคใหม่ และอะไรคือแก่นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในโลก 4.0

Futurising Thailand : พลังการเรียนรู้ในโลก 4.0

กลับสู่จุดเริ่มต้น

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ผศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


“โจทย์ของเราคือการพูดเรื่อง 4.0 แต่ผมอยากจะพาทุกคนกลับไปสู่โลก 0.0” ผศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเปิดประเด็น

คำถามสำคัญที่ ผศ.ดร. ปิติ ชวนคิดคือ ‘งาน’ ในยุค 4.0 จะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน ซึ่งการจะตอบคำถามนี้ได้ อาจต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจพัฒนาการในยุคก่อนหน้า ว่าลักษณะงานแบบใดที่เป็นหัวใจของยุคนั้นๆ

เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการผลิตแบบหัตถกรรม หมายถึงการที่แรงงานหนึ่งคน ทำหน้าที่ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ คือการหาวัตถุดิบ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ไปจนสิ้นสุดกระบวนการคือการขายให้ผู้บริโภค

ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงปลายศตวรรษที่ 17 หรือที่เรียกว่า Industry 1.0 การผลิตแบบอุตสาหกรรมก็เกิดขึ้น จากที่หนึ่งคนต้องทำทุกขั้นตอน กลายเป็นแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด โฟกัสเฉพาะงานที่อยู่ตรงหน้า ทำให้สร้างผลผลิตได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

ต่อมาในยุค Industry 2.0 เทคโนโลยีและเครื่องจักรได้รับการพัฒนา มีระบบ ‘สายพาน’ เกิดขึ้น แรงงานในสายการผลิตรับผิดชอบแค่งานที่อยู่ตรงหน้า หยิบมาจากด้านซ้าย ส่งต่อไปด้านขวา แน่นอนว่าสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ต้นทุนถูกลง แต่ขณะเดียวกันทักษะของมนุษย์ก็ถูกลดทอนลงด้วย

พอถึงยุค 3.0 ที่คอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้นมา มนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนบทบาทเป็นเพียงผู้ควบคุมเครื่องจักร โดยใช้หุ่นยนต์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างผลผลิตเป็นหลัก จนกระทั่งยุค 4.0 ที่เป็นยุคของ Internet of Things (IoT) ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่แรงงานแล้ว ยังทำหน้าที่ได้ดีกว่ามนุษย์ในหลายๆ ด้าน และศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. ก็แซงหน้าสมองของมนุษย์ไปหลายขั้น

“ทางรอดของแรงงานในยุคนี้ คือการย้อนกลับไปพัฒนาทักษะในยุค 0.0 หรือก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือทักษะที่เรียกว่า ‘Craftmanship’ หรือการทำงานฝีมือที่อาศัยความประณีต ละเมียดละไม และใช้เครื่องจักรทำแทนไม่ได้” ผศ.ดร. ปิติกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหา

ดังจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยมและมีมูลค่าสูงในยุคนี้ คือผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานคราฟท์ เช่น ซูชิพรีเมี่ยม กาแฟดริป ไปจนถึงคราฟต์เบียร์ ที่ต้องอาศัยความเอาใจใส่ทุกขั้นตอนการผลิต ประกอบกับการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

ผศ.ดร. ปิติ  กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของงานในลักษณะนี้ คือการทำอย่างไรให้เรามี ‘Serious Craftmanship’ หรือความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนั้นๆ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องให้เด็กไทยเดินทาง ออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ตอนนี้เราเรียนจบ ทำงาน เรียนเก่งก็เป็นหมอ วิศวะฯ เรียนไม่เก่งก็ตัวใครตัวมัน เขาไม่เคยรู้จริงๆ เลยว่า จริงๆ แล้วตัวเองชอบอะไร”

นอกจากเรื่องการเดินทาง ผศ.ดร.ปิติ ยังหยิบเอาคัมภีร์ห้าห่วงของมูซาชิ ซามูไรของญี่ปุ่น มาผนวกรวมกับหลักอิทธิบาท 4 ซึ่งเมื่อถอดออกมาในทางปฏิบัติแล้ว สรุปความได้ว่า การจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง รู้จักยืดหยุ่น ศึกษาปัญหา เรียนรู้คู่แข่ง และสุดท้ายต้องรู้ว่าควรหยุดเมื่อไหร่

“มนุษย์แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ ตรงที่รู้จักหยุด หยุดคือตัวสำเร็จ” ผศ.ดร. ปิติ  กล่าวทิ้งท้าย

ปัญหาของระบบการศึกษา

ดร. ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค

ดร. ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค
ดร. ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ด้าน ดร. ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษาว่า ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยตอนนี้อยู่ที่การผลิตคน ทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ กล่าวคือนอกจากจะไม่สามารถผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมแล้ว บุคลากรที่ผลิตออกมาก็ไม่ได้มีทักษะที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเท่าใดนัก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับตัวที่ค่อนข้างช้า ตามความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมไม่ทัน

ทั้งนี้ ดร. ภูมิศรัณย์ ได้นำเสนอผลสำรวจที่น่าสนใจว่า หากเทียบกับหลายๆ ประเทศ สัดส่วนของแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ ประเทศไทยยังถือว่าผลิตได้น้อย โดยคิดเป็นสัดส่วน 14% ของแรงงานทั้งหมด ต่างจากสิงคโปร์และอีกหลายประเทศในยุโรป ที่สามารถผลิตแรงงานทักษะสูงได้ราวๆ 50% ของแรงงานทั้งหมด โดยในผลสำรวจเดียวกันนี้ ได้มีการคำนวณว่า หากประเทศไทยต้องการก้าวไปสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง เราต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จากที่มีอยู่ 5 ล้านคนในปัจจุบัน ควรเพิ่มเป็น 18 ล้านคนจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะขั้นสูงของไทยเชิงปริมาณ

ในประเด็นเรื่องปัจจัยด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มตามหลัง เมื่อดูที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในด้านทักษะ ไทยอยู่อันดับ 66 จาก 140 ประเทศ โดยมีคะแนนความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในห้องเรียนเพียง 34.2 คะแนน อยู่อันดับ 97 จาก 140 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มท้ายตาราง

ปัจจัยด้านการศึกษา/การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในกลุ่มตามหลัง

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาเรื่องการศึกษามาโดยตลอด มีตัวเลขที่คนยากจนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นกว่าในอดีต แต่เมื่อมองถึงคุณภาพการศึกษาแล้ว ไทยยังขาดการพัฒนาผู้เรียนในด้านการคิดวิเคราะห์อยู่มาก โดยมีตัวเลขชี้ว่า 2 ใน 3 ของนักเรียนที่เข้าสอบ PISA ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ไม่มีความสามารถในการอ่าน การคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ (functionally illiterate)

ทั้งนี้ปัญหาสำคัญยังอยู่เรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งด้านคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาที่ดีระหว่างผู้เรียนที่มีฐานะแตกต่างกัน  รวมถึงคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาที่ไม่อาจตอบโจทย์แรงงาน หรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

เมื่อพูดถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ดร. ภูมิศรัณย์เล่าในอดีตเราเคยปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1990 ทว่าเป็นการปฏิรูปที่ไม่ได้ส่งผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาคนเท่าไรนัก เพราะเป็นการมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงเป็นหลัก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าคอขวดของปัญหานี้อยู่ที่ระบบราชการ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ยังคงมีอยู่ในทุกๆ ระดับ

แนวโน้มคะแนน PISA ของไทย (2000-2015)

อย่างไรก็ดี ดร. ภูมิศรัณย์ได้เสนอทางออกของปัญหาว่า ควรให้อิสระกับสถานศึกษาในการบริหารจัดการ วางระบบการเรียนการสอนด้วยตัวเอง เนื่องด้วยบริบทการศึกษาในนั้นมีความหลากหลายมาก กล่าวคือในเมืองก็เป็นแบบหนึ่ง ในชนบทก็เป็นอีกแบบหนึ่ง การไปกำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องเหมือนกันหมดจึงเป็นเรื่องยากและขัดต่อความเป็นจริง พร้อมทิ้งโจทย์ให้คิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้เด็กในทุกพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม

“โรงเรียนนานาชาติคุณภาพสูงมาก ซึ่งตรงข้ามกับโรงเรียนรัฐบาลที่ยังอยู่ภายใต้กฎระเบียบของทางราชการ ทางออกคือการให้อิสระของโรงเรียนทั้งการเงิน หลักสูตร การบริหาร สุดท้ายแล้ว กลไกลการตลาดก็น่าจะสามารถพัฒนาไปได้ด้วยตัวเอง” ดร. ภูมิศรัณย์ กล่าวสรุป

ให้คนได้ทำในสิ่งที่ชอบ

ดร. ราเชนทร์ โกศัลวิตร

ดร. ราเชนทร์ โกศัลวิตร
ดร. ราเชนทร์ โกศัลวิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์

ขยับมาที่โรงเรียนที่สามารถขับเคลื่อนหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้อย่างหลากหลายและมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนทางเลือกที่มุ่งผลิตบุคลากรที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ดร. ราเชนทร์ โกศัลวิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ได้แบ่งปันแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยชี้ว่าตอนนี้เรามาถึงจุดที่ต้องเร่งผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ มุ่งจัดการเรียนการสอนแบบ STEM โดยแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1) ระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต กล่าวคือ ใช้ให้เป็น และรู้เท่าทัน 2) ระดับที่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ และ 3) ระดับที่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศ โดยมุ่งเน้น 3 ทักษะสำคัญคือ ภาษาอังกฤษ การใช้ชีวิต และ การวิจัย โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการผลิตบุคลากรที่จะเป็น Change Agent ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

ดร. ราเชนทร์ ยังชูประเด็นเรื่องการให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบและสนใจ ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพมากกว่าการบังคับให้เรียน

“ถ้าเรียนด้วย passion ความถนัด ความรัก ทำแล้วก็ประสบความสำเร็จ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงมีโรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี หรือวิทยาศาสตร์”

อย่างไรก็ดี ดร. ราเชนทร์ชี้ว่า ทุกวันนี้แนวคิดที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย คือแนวคิด Life-long learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่ทุกคนจำเป็นต้องมี ซึ่งการเรียนรู้ที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในโรงเรียนหรือสถานศึกษาเสมอไป แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา โดยทิ้งท้ายว่าทักษะสำคัญที่สุดที่เด็กไทยควรมี เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในยุค 4.0 ก็คือ Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์

“การศึกษาอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด สื่อมวลชน พิพิธภัณฑ์ อย่าไปปักหมุดว่าการศึกษาคือโรงเรียน”

ฟังเสวนาฉบับเต็มได้ที่นี่

MOST READ

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save