fbpx

ระลึกถึง Madeleine Albright (1937 – 2022)

ในวาระอันเป็นที่สุด คิดว่าเธอคงพอใจถ้าคนแดนไกลอยู่ปลายขอบจักรวรรดิ จะเขียนบทระลึกถึงจากผลงานความคิดของเธอที่มุ่งส่งผลต่อภาคปฏิบัติส่วนที่เป็นศูนย์กลางอำนาจและระเบียบโลก จึงขอเลือกเล่มที่ใกล้ใจเธอในชีวิตการงานช่วงหลัง คือ Fascism : A Warning เขียนบทรำลึกนี้  Albright เขียนเรื่องนี้ตีพิมพ์ออกมาในจังหวะที่ Trump ได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เธอเห็นว่า ภารกิจการรักษาระบอบประชาธิปไตยให้พ้นจากฟาสซิสต์ ยิ่งเป็นภารกิจที่เร่งด่วนมากขึ้น

จาก “sense of urgency” แบบนั้น เธอจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นคำเตือน เธอเชื่อเช่นเดียวกับ Primo Levi ว่า “Every age has its own Fascism.” เมื่อเธอได้ฟังโวหาร สโลแกน และเห็นการเร้าระดมอคติในหมู่ชนของ Trump เธอทั้งตระหนักและตระหนกขึ้นมาในเวลาเดียวกัน “I find it shocking to cross the Atlantic and hear America described as a threat to democratic institutions and values.”

อยากให้ข้อสังเกตตรงนี้ว่า คนระดับเธอ และจากตำแหน่งศูนย์กลางอำนาจโลกที่เธอเคยมีส่วนดูแลอยู่ จะใส่ใจเป็นพิเศษต่อความคิดความเห็นของ “The Atlantic” world เสมอ ความเห็นแบบเดียวกันนี้ ถ้ามาจากคนในโลกฟากฝั่งมหาสมุทรอินเดีย หรือทะเลจีนใต้-แปซิฟิก หรือจากแอตแลนติกภาคใต้ คงไม่ทำให้เธอสะดุ้งสะเทือนได้ถึงขนาดนั้น

การรักษา The Atlantic World (ภาคเหนือ) ให้เป็นประภาคารฉายแสงประชาธิปไตยเป็นโครงการระยะยาว และเงื่อนไขสำคัญจำเป็นที่สุดของโครงการนี้ในศตวรรษที่ 20 คือการเปลี่ยนยุโรปออกจาก Fascism และรักษาประชาธิปไตยให้ยืนหยัดตั้งมั่น ไม่มีที่ไหนอีกแล้วจะสั่นคลอนโครงการระยะยาวทางประวัติศาสตร์นี้ได้เท่ากับยุโรป แต่ถ้าศูนย์กลางอำนาจโลกในศตวรรษที่ 21 ตกอยู่ในอันตรายจาก Fascism เสียเอง โครงการประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งนี้ก็อาจถึงกาลอวสานได้โดยง่าย

ประชาธิปไตยและ Fascism ผุดมาจากแผ่นดินผืนเดียวกัน สร้างฐานมาจากประชาชนด้วยกัน และการขึ้นเป็นผู้นำในแต่ละระบอบ หรือการเปลี่ยนออกจากระบอบหนึ่งไปเป็นอีกระบอบหนึ่ง คนเป็นผู้นำก็อาศัยทักษะในการดึงใจมวลชนที่เทียบเคียงเรียนรู้จากกัน การที่สหราชอาณาจักรยังคงได้รับเกียรติให้มีศักดิ์มหาอำนาจเหลืออยู่บ้าง แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะมาทำลายสถานะนั้นลงไป ก็เพราะการตัดสินใจยืนหยัดต่ออันตรายคุกคามประชาธิปไตยในยุโรปอย่างไม่ยอมแพ้ ในช่วงเวลาอันยากลำบากที่สุด

นักคิดฝ่ายรัสเซียร่วมสมัยที่ต้านการขยาย Atlanticism ในปัจจุบันอย่าง Aleksandr Dugin ยังเสนอให้คนที่ฟังเขาเข้าใจอยู่ว่า ความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ความจริงควรเป็นปัจจัยชี้ขาดสภาวะของยุโรป แต่คู่พันธมิตรที่ควรได้ครองยุโรปต้องหมดโอกาสนั้นไปเพราะ Operation Barbarossa [1] ในหนังสือที่ Albright เขียนเตือนภัย Fascism เล่มนี้ เธอจึงได้จัดเนื้อที่บทหนึ่งสำหรับ “Man from the KGB” ส่วนผู้นำประเทศสมาชิกของเนโต ที่ได้รับเกียรติเช่นเดียวกันนี้จาก Albright อีกคนหนึ่ง คือ “Erdoğan The Magnificent”

มองแบบรัสเซีย สงครามที่กำลังประชิดจ่อยุโรปทั้งหมดอยู่ในเวลานี้ ถ้าพิจารณาในทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้านหนึ่งคือการสู้กันระหว่าง The Atlanticists กับ The Eurasianists และ Albright อยู่ในฝ่ายที่สนับสนุนสหรัฐฯ ขยายจักรวรรดิแห่งประชาสังคมประชาธิปไตยของฝ่าย The Atlanticists ออกไปทางตะวันออก ส่วนอีกด้านหนึ่งคือความขัดแย้งแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน กับความพยายามของมหาอำนาจผู้นำฝ่าย Atlanticism ที่จะขยายแดนเข้ามายัง The Indo – Pacific โดยมี ประเทศในกลุ่ม Anglosphere ในซีกโลกตอนใต้อย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ในซีกโลกเหนืออย่างแคนาดา รวมตัวกันเป็นพันธมิตร Five Eyes กับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกันแนบแน่นในด้านความมั่นคงและงานข่าวกรอง

แต่ถ้าย้ายจากสนามภูมิรัฐศาสตร์ของสังคมระหว่างประเทศ มาสู่สนามความคิดในสังคมโลกที่มีประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด Albright เสนอว่า จากเงื่อนไขที่ผุดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมปลายสมัยใหม่ในปัจจุบัน ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องระวัง Fascism ให้จงดี โดยเฉพาะ Fascism ที่งอกและเติบโตขึ้นมาจากเงื่อนไขภายในสังคมการเมืองของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และการแบ่งแยก – แตกแยกในทางสังคม ที่สนับสนุนการพาหมู่คนแกว่งไปสู่ความสุดโต่งด้วยการยึดถือความคิดแบบมิติเดียว และการใช้แนวทางปกป้องขยับขยายความคิดที่ยึดมั่นไว้นั้นอย่างไม่ลดละผ่อนปรนต่อฝ่ายตรงข้ามที่เห็นว่าเป็นศัตรู จนกระทั่งการเมืองไม่เพียงแต่จะลดหรือหมดความสามารถเป็นพื้นที่ตรงกลางสำหรับหาข้อตกลงร่วมกันในสังคมนั้นได้ แต่ยังกลายเป็นที่ระดมพลังมาสั่นคลอนความน่าเชื่อถือในการทำงานของสถาบันทางการเมืองและสังคม จนสถาบันเหล่านั้นไม่อาจเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพไว้ได้ ความพยายามของ Trump ในการทำลายความน่าเชื่อถือของกลไกจัดการเลือกตั้งพิสูจน์ว่าความกังวลของ Albright ต่อสภาพการเมืองอเมริกันที่มีความเสี่ยงจะกลับกลายไปจากประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นเรื่องกังวลเกินจริง

มูลเหตุที่ทำให้สังคมอเมริกันกลับกลายไปเช่นนี้ Albright เน้นความสำคัญไปที่ปฏิบัติการของคนเป็นผู้นำการเมืองและกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวในสนามการเมือง ในแง่นี้ เธอคิดต่างปัญญาชนอย่าง Tony Judt ที่เสนอให้มองปัญหาประชาธิปไตยในสังคมอเมริกันที่มาจากโครงการใหญ่ทางประวัติศาสตร์โครงการเดียวกันจากอีกด้านหนึ่ง ที่ส่งให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นศูนย์กลางของการสร้างและขยายจักรวรรดิประชาธิปไตย

Judt (2015, 247) เสนอว่า

Historians and pundits who leap aboard the bandwagon of American Empire have forgotten a little too quickly that for an empire to be born, a republic has first to die. In the longer run no country can expect to behave imperially —brutally, contemptuously, illegally — abroad and at home. For it is a mistake to suppose that institutions alone will save a republic from the abuses of power to which empire inevitably leads.

ข้อวินิจฉัยข้างต้นเท่ากับ Judt ชี้ให้เห็น contradiction ภายในโครงการประวัติศาสตร์ของฝ่าย Atlanticism ที่เริ่มดำเนินการกันมาอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ที่ Roosevelt พบกับ Churchill ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และวางแผนการสร้างระเบียบโลกกันบนเรือ the U.S.S. Augusta ในอ่าวพลาเซนเทีย ชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ และกล่าวได้ว่า Albright คือผู้นำในรุ่นหลังที่เข้ามาสืบต่อบทบาทสำคัญของสหรัฐอเมริกาในการขยายจักรวรรดิประชาธิปไตย ไปพร้อมกับการหาทางดำรงสหรัฐฯ ไว้ในตำแหน่ง the indispensable nation ของระเบียบโลก

เมื่อเธอมองเห็นที่มาของปัญหาการกลับกลายไปจากประชาธิปไตยอยู่ที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนและขบวนการ ในคำเตือนทั้งหมด ส่วนสำคัญสำหรับเธอจึงอยู่ที่ข้อแนะนำภาคปฏิบัติสำหรับประชาชนคนทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเธอให้ไว้ในรูปของชุดคำถาม 10 ข้อสำหรับใช้ติดตามสังเกตและจับสัญญาณเตือนภัย Fascism ในสนามการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิบัติการทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ในการปลุกพลังและหาแรงสนับสนุนของประชาชน

ถ้าหากจะแปลแบบเรียบเรียงชุดคำถามที่ Albright เสนอว่าเป็น The Right Questions ออกมา ก็จะได้ดังนี้

> ใช่หรือไม่ว่า สิ่งที่พวกเขาจัดหามาบริการเลี้ยงดูอคติในใจเรา คือการบอกให้เราปฏิบัติต่อคนที่อยู่นอกวง ซึ่งมิได้เป็นพรรคเดียวกัน มิได้มีความคิดทางการเมืองเหมือนกัน มิได้อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์หรือมีชาติเชื้อสีผิวเดียวกัน อย่างที่คนพวกนั้นไม่ควรค่าแก่ศักดิ์ศรีที่จะต้องให้ความเคารพใด ๆ?

> ใช่หรือไม่ว่า พวกเขาต้องการให้เราบ่มเพาะความโกรธต่อคนพวกนั้น คนที่เราเชื่อว่ากระทำผิดต่อพวกเรา คอยแต่จะซ้ำเติมความทุกข์ยากของเรา และเราต้องมุ่งไปที่การคิดบัญชีทวงคืน?

> ใช่หรือไม่ว่า พวกเขากระตุ้นเราให้ดูถูกสถาบันการปกครองและกระบวนการเลือกตั้งของเราเอง?

> ใช่หรือไม่ว่า พวกเขาหาทางทำลายความศรัทธาที่เรามีต่อผู้มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบอบประชาธิปไตย เช่น คนทำงานสื่อมวลชนที่มีอิสระ และผู้พิพากษาตุลาการที่มีอาชีวปฏิญาณ?

> ใช่หรือไม่ว่า พวกเขาใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายแสดงออกถึงความรักชาติบ้านเมือง เช่น ธงชาติ และ การปฏิญาณตน ด้วยความตั้งใจที่จะมาทำให้เรากลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน?

> ถ้าหากพวกเขาเป็นฝ่ายแพ้เลือกตั้ง พวกเขาจะยอมรับการตัดสินนั้น หรือว่าพวกเขาจะยังคงยืนกรานโดยปราศจากหลักฐานว่าพวกเขาชนะ?

> ใช่หรือไม่ว่า ในการหาเสียงของพวกเขา นอกจากขอคะแนนสนับสนุนจากเราแล้ว ยังขยายไปสู่การคุยโวโอ่ความสามารถของพวกเขาว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาให้ได้ทุกอย่าง ตอบสนองได้ทุกความต้องการ และขจัดความกังวลทุกอย่างได้หมด?

> ใช่หรือไม่ว่า พวกเขาใช้การพูดจาอย่างเป็นกันเองในการเรียกเสียงเชียร์ และเร้าอารมณ์คนฟังด้วยวาจาขึงขังว่าจะขจัดศัตรูฝ่ายตรงข้ามให้พินาศไป?

> ใช่หรือไม่ว่า พวกเขาสะท้อนทัศนะแบบมุสโสลินี ที่ให้ประชาชนเชื่อฟังและเชื่อมั่นในตัวผู้นำ ยอมให้เขาเป็นคนเข้ามาจัดรูปความคิดและแผนการต่าง ๆ ให้?

หรือว่า

> พวกเขาชักชวนเราให้มาร่วมกันสร้างและร่วมกันรักษาศูนย์กลางของสังคมให้มีความเข้มแข็ง ให้เป็นที่ซึ่งสิทธิและหน้าที่ทั้งหลายได้รับการจัดอย่างเป็นธรรม สัญญาสังคมได้รับการเคารพ และมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับทุกคนที่จะฝันและเติบโต

Albright ให้แนวทางกำกับการใช้คำถามชุดนี้ของเธอว่า “For those who cherish freedom, the answers will provide ground for reassurance or a warning we dare not ignore.” (Albright 2018, 253-254)

ในต้นบทสุดท้าย Albright เตือนทุกคนที่ลงสู่สนามการเมืองด้วยคำต่อไปนี้ของ Nietzsche

Whoever fights with the monsters should see to it that in the process he does not himself become a monster.

หรือพูดอีกแบบ เมื่อท่านพากันจ้องปีศาจ ปีศาจก็จ้องท่าน … และรอ.

เชิงอรรถ

[1] https://www.washingtonpost.com/opinions/2022/03/22/alexander-dugin-author-putin-deady-playbook/

เอกสารอ้างอิง

Albright, Madeleine. (2018). Fascism: A Warning. New York: Harper.

Judt, Tony. (2015). When the Facts Change: Essays 1995 – 2010. Edited and introduced by Jennifer Homans. New York: Penguin Press. ส่วนที่อ้างมาจากบทความ “The New World Order” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The New York Review of Books ฉบับเดือนกรกฎาคม2005.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save