fbpx
“ยิ้ม” เยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ

“ยิ้ม” เยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

 

เมื่อ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จากไปในวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวคำไว้อาลัยตอนหนึ่งว่า “ชีวิตของพี่ยิ้มเป็นแบบอย่างอันประเสริฐของการคืนกำไรชีวิตดังกล่าวให้สังคม และเมื่อคิดถึงทั้งหมดที่พี่ยิ้มได้สละให้แก่โลกตลอดชีวิตที่ผ่านมาแล้ว ผมไม่คิดว่าพี่ยิ้มติดค้างอะไรแก่โลกอีก ถ้าจะมีใครติดค้างใคร โลกต่างหากที่ติดค้างพี่ยิ้มอยู่ และยังไม่ได้ใช้คืน

สอดคล้องกับที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยกย่องให้เขาเป็น “ปูชนียบุคคลร่วมสมัยของเรา”

ขณะที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวในงานฌาปนกิจของสุธาชัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ณ เมรุวัดหัวลำโพง ตอนหนึ่งว่า “อาจารย์ยิ้มมีชีวิตเกิดมาเพื่อคนอื่น … เวลาเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม อาจารย์ยิ้มได้พยายามต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นด้วยสติปัญญา ปกป้องคนที่ถูกรังแกถูกทำร้ายด้วยเกียรติของอาจารย์[1]

“ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น” คือวลีอมตะที่ศรีบูรพาได้กล่าวไว้เช่นกัน[2]

61 ปี แห่งชีวิตของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ มีอะไรต่างๆ ผ่านเข้ามามากมาย ไม่เพียงแต่เป็นนักกิจกรรม นักปฏิวัติ นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ และครูบาอาจารย์ของลูกศิษย์เท่านั้น เขายังเป็นชายผู้มีมโนธรรมสำนึกในการรับใช้ผู้อื่น และพยายามผลักดันสังคมไทยไปในทางที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนทั้งมวล บัดนี้ เขาจากเราไปแล้ว ถ้าอนุชนได้เรียนรู้จากชีวิตและงานของเขา ชีวิตเขาจะไม่สูญเปล่า

 

การศึกษาและการงาน

 

สุธาชัย เดิมชื่อ ภราดร มีชีวิตวัยเด็กอยู่ที่ตลาดบางเลน จังหวัดนครปฐม ต่อมาเข้าเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (รุ่น 88) จากนั้นจึงมาศึกษาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่เขาเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักศึกษา จึงเป็น ‘คนเดือนตุลา’ คนหนึ่งด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขาเข้าป่าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเขตงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง จึงกลับสู่เมือง มาเรียนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนจบในปี 2524 ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์ดูจะเหมาะกับเขามากกว่า ดังมีอดีตอาจารย์ประจำคณะแรกของเขากล่าวว่า “สุธาชัยไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ได้เกรดเฉลี่ยราว 1 กว่า วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่อาจารย์ทวี หมื่นนิกร สอน เขาก็ได้เพียง C เท่านั้น”

 

นักเรียนสวนกุหลาบ

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้รายละเอียดเรื่องการออกจากป่าเพิ่มเติมว่า “เมื่อถึงคราวที่เห็นได้ชัดเจนแก่ตนเองแล้วว่า การปฏิวัติที่พรรคทำอยู่ขณะนั้นจะไม่นำไปสู่การปลดปล่อยประชาชนให้หลุดพ้นไปจากการกดขี่ขูดรีดของทุนและศักดินา ท่านก็ไม่หลอกตัวเองเพื่อให้ทนอยู่กับพรรคได้ต่อไป แต่คงด้วยความเชื่อว่าความบกพร่องของพรรคที่ท่านประสบ อาจแก้ไขเยียวยาได้ ท่านจึงประท้วงพรรคอย่างออกหน้า ซึ่งเป็นการกระทำที่มีอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะในฐานะพลพรรคระดับกระจิ๋วหลิวที่ท่านเป็นอยู่ ในที่สุดท่านก็ต้องลาจากพรรคกลับเข้าเมือง”

เขาเริ่มทำงานที่หนังสือพิมพ์ มาตุภูมิ และ สยามนิกร รวมถึงไทยแลนด์ไทม์ ต่อมาจึงได้เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ บ้านเมือง และในปี 2530 สุธาชัยรับหน้าที่ในฝ่ายข่าวต่างประเทศ ในกองบรรณาธิการรุ่นบุกเบิกของหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ

สุธาชัยสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2532 โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง กระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2490–2500) และระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ ในปี 2541 โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง The Portuguese Lançados in Asia

 

นักวิชาการที่มีผลงานประจักษ์

 

นอกจากความเป็นพหูสูตในการบรรยายวิชาต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ยุโรป ประวัติศาสตร์เอเชียใต้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ฯลฯ แล้ว เขายังเป็นอาจารย์ที่เอาใจใส่นิสิตด้วย  ดิน บัวแดง เล่าว่าตนนอนหลับสนิทในเช้าวันสอบ ก็ได้อาจารย์ผู้นี้โทรศัพท์ไปปลุกให้มาสอบหลังจากที่ผ่านไป 1 ชั่วโมงแล้วเขาไม่ปรากฏตัว และในระดับบัณฑิตศึกษา เขาก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่ดูแลเอาใจใส่นิสิตของเขาเป็นอย่างดี แม้ช่วงท้ายของชีวิตที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ก็ยังเป็นห่วงลูกศิษย์ของเขาอยู่เสมอ

ผลงานทางวิชาการของเขา ส่วนมากเป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ได้แก่ แผนชิงชาติไทย กล่าวถึงเหตุการณ์หลังรัฐประหาร 2490 จนถึง 2500 สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ที่ให้ภาพรวมของการเมืองไทย และ อาชญากรรมรัฐในวิกฤตของการเปลี่ยนแปลง ที่กล่าวถึงเรื่อง 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงบันทึกเชิงนวนิยายเรื่อง น้ำป่า ซึ่งเล่าเรื่องการต่อสู้ของนักศึกษาที่เขตงานสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2520

 

 

แผนชิงชาติไทย ของเขาได้รับการยกย่องจาก สุรชาติ บำรุงสุข ว่า “เป็นงานชิ้นสำคัญที่นักประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องอ่าน” ทำนองเดียวกับ สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ที่ “ร้อยเรียงพัฒนาการการเมืองไทยจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ปัจจุบัน ทำให้เราเห็นภาพเส้นทางเดินอันลดเลี้ยวเคี้ยวคดของสังคมการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี” สำหรับเล่มหลัง ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่าเป็นหนังสือที่ตนชอบเป็นพิเศษ “เพราะอ่านง่าย เสนอประเด็นชัดเจน และทำให้คนอ่านเข้าใจว่าประชาธิปไตยสามารถตีความได้หลายแบบ”

สำหรับ น้ำป่า  ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่าเมื่ออ่านแล้ว “ทึ่งมากที่เขาเขียนถึงเหตุการณ์การทำงานและการต่อสู้ในป่าภาคใต้ได้อย่างละเอียด … ราวกับเกิดขึ้นเมื่อวาน” และขยายความว่าสุธาชัยเป็นคนที่จดบันทึกเหตุการณ์และอนุทินชีวิตแต่ละวัน ซึ่งหาได้ยากมากในสังคมไทยไม่ว่าในยุคไหน และเป็นคนที่มีความจำแม่น แม้สมุดบันทึกที่เขียนในป่าจะหายไป แต่เขาเขียน น้ำป่า ขึ้นมาใหม่ได้อย่างแม่นยำ

ผลงานทางวิชาการอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุโรปที่เขาไปเรียนมา เช่น อีกฟากหนึ่งของยุโรป ว่าด้วยประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรปตะวันออก และ ประวัติศาสตร์โปรตุเกส ซึ่งศูนย์ยุโรปศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังจะตีพิมพ์เร็วๆ นี้  สำหรับเล่มหลังนี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยกย่องว่า “อาจารย์ได้ขยายพรมแดนความรู้ไปถึงประวัติศาสตร์โปรตุเกส เข้าใจว่างานเช่นนี้ในภาษาไทยมีน้อยมากๆ หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้”

สุธาชัยมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถึงเขาจะมีความสามารถในทางวิชาการอย่างน่าจะไต่เต้าเอาดีได้ไม่ยาก แต่เขาก็พอใจที่จะยืนข้างคนส่วนใหญ่ในสังคม ดังพอใจที่จะเป็น “ราษฎรบัณฑิต” ยิ่งกว่าหวังในตำแหน่งโก้หรูใดๆ

 

กับคณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเกษียณอายุราชการของเขา

 

สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก

 

สุธาชัยมีสำนักพิมพ์เล็กๆ ของตัวเองชื่อ “6 ตุลารำลึก” จัดพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายเล่มที่น่าสนใจ เล่มที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะไม่พ้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยสมศักดิ์เล่าว่าเคยเสนอต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ให้สำนักพิมพ์หนึ่งพิจารณาแล้วก็เงียบหายไป แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งสุธาชัยติดต่อขอรวมบทความต่างๆ ที่สมศักดิ์เคยตีพิมพ์ เพื่อออกในวาระ 25 ปี 6 ตุลาฯ ทำให้ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ได้ปรากฏในบรรณพิภพ สมศักดิ์ยังให้รายละเอียดว่า สุธาชัยนำค่าเรื่องมาจ่ายอย่างรวดเร็ว และรับผิดชอบกับนักเขียนดีมาก

นอกจากนี้เขายังให้โอกาสลูกศิษย์ของเขาได้เผยแพร่ผลงาน เช่น หนังสือ หลัง 6 ตุลาฯ: ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ของ ธิกานต์ ศรีนารา และ รัฐสยามกับการจัดการธรรมชาติ: ประวัติศาสตร์ แนวคิด และความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย ของ ทิวาพร ใจก้อน

 

 

พรรคการเมืองและงานมูลนิธิ

 

ในปี 2529 สุธาชัยร่วมกับ ชาญ แก้วชูใส และ อินสอน บัวเขียว ตั้งพรรคพลังสังคมประชาธิปไตยขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพรรครวมพลังใหม่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

อีกครั้งในปี 2552 เขาร่วมกับมิตรสหายหลายคน เช่น อินสอน บัวเขียว, อุดม ขันแก้ว, ประชา อุดมธรรมานุภาพ, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และ ไม้หนึ่ง ก.กุนที พยายามรื้อฟื้นพรรคสังคมนิยม แต่ยังไม่เป็นผล อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สุธาชัยเป็นนักวิชาการที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย

สุธาชัยเคยเป็นกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา และมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เล่าว่า ได้ตั้งความหวังว่าสุธาชัยจะเป็นกำลังหลักในการดูแลมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งเรื่องที่ดินและบ้าน และเรื่องการตีพิมพ์งานนิพนธ์ของจิตร นอกจากนี้ สุธาชัยยังเป็นกรรมการโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ด้วย

 

เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทย

 

สุธาชัยประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นคนเสื้อแดง ต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้ง 19 กันยายน 2549 เขาร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย นอกจากการรับเชิญไปบรรยาย/ปราศรัยตามเวทีต่างๆ เขายังเคยจัดรายการ “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ร่วมกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข และสุดา รังกุพันธ์ ตามลำดับ ได้เขียนคอลัมน์ “ถนนประชาธิปไตย” ในหนังสือโลกวันนี้ วันสุข

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เล่าเกร็ดเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจว่า หลังรัฐประหาร 19 กันยายน มีปัญญาชนไม่มากที่ออกมาคัดค้าน ช่วงนั้นเขาได้รับเชิญไปพูดที่ขอนแก่นพร้อมสุธาชัย จึงได้ทราบว่าสุธาชัยในวัย 50 นั่งรถทัวร์ไปพูด ด้วยเหตุผลว่าอยากช่วยคนจัดประหยัดเงิน

ในปี 2553 หลังสลายการชุมนุมของ นปช. สุธาชัยถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี พร้อมกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในข้อหาจัดการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผิดต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อมาได้รับการปล่อยตัวและถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เขาพูดกับนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ หลังเหตุการณ์นี้ว่า “สบายมาก เราก็ทำงานของเราไป ไม่ให้ขาดตกบกพร่องในหน้าที่ ทำตามหน้าที่ เราคิดว่าเราเชื่อโดยไม่ต้องสิ้นหวังเหนื่อยหน่าย ที่เป็นห่วงก็ภรรยาและลูกเท่านั้น”

ในช่วงนั้น เขายังถูกป้ายสีใส่ชื่อใน “ผังล้มเจ้า” จนเขานำคดีฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งในที่สุดนายทหารผู้มีความสามารถในการพูดจานายนี้ได้ยอมรับต่อศาลว่า ผังดังกล่าวไม่เป็นจริง และสุธาชัยไม่ได้ทำผิดใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา

โดยที่ช่วงวิกฤตทักษิณ 2549 สุธาชัยก็เหมือนกับปัญญาชนนักกิจกรรมส่วนมากที่เห็นตรงกันว่าต้องขับไล่ทักษิณออกไป แต่หลังรัฐประหารครั้งนั้น คราวหนึ่งที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุธาชัยพูดบนเวทีว่า “พวกเราพลาดไปที่ไปไล่ทักษิณ และสมศักดิ์เป็นฝ่ายถูกที่ยืนยันว่าไม่ควรไล่” น้อยคนนักที่จะกล้ายอมรับในความพลาดของตนเอง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวว่า “รู้สึกซึ้งใจที่ ‘ยิ้ม’ อุตส่าห์พูดออกมา จนบัดนี้เท่าที่ผมรู้ เขาเป็นคนเดียวที่พูดออกมาตรงๆ แบบนี้”

สุธาชัยมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะช่วยเหลือคนที่ตกยาก เช่น เมื่อ “ดา ตอร์ปิโด” ถูกจำคุกด้วยข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” สุธาชัยเป็นผู้ที่ขอประกันตัวเธอ ทำนองเดียวกับที่ช่วยประกัน จิตรา คชเดช เมื่อเธอถูกจับข้อหาหมิ่นประมาท นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่รณรงค์ให้ปฏิรูปกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคณะ ครก.112

และเมื่อคณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร สุธาชัยก็เป็นนักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ดังนักวิชาการกลุ่มนี้เล่าว่า “กำลังใจที่พวกเราได้รับจากอาจารย์สุธาชัยในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้รอบรู้ เรียบง่าย และซื่อตรงต่อหลักวิชา สร้างความซาบซึ้งและอุ่นใจให้พวกเราเสมอ

พวงทอง ภวัครพันธุ์ สรุปได้เห็นภาพว่า “การร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองของประชาชนที่ถูกเหยียบย่ำรังแกในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้อาจารย์ยิ้มกลายเป็นบุคคลสาธารณะที่ได้รับความเคารพและนิยมชมชอบจากคนเสื้อแดงจำนวนมาก

ขณะที่ สุรชาติ บำรุงสุข เสริมว่า “ทุกคนยอมรับอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ยิ้มเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทย” เพราะเขาเป็น “นักต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญคนหนึ่งในยุคสมัยของเรา เขาต่อสู้ด้วยความหวังและความฝันที่จะเห็นสังคมที่ดีกว่า.. สังคมที่เป็นธรรมกว่า… สังคมที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่า”

 

 

คนธรรมดาๆ

 

แม้เขาจะเป็นนักวิชาการที่มีผลงานโดดเด่น แต่เขาก็มีชีวิตที่เรียบง่าย อย่างคนเดินถนนทั่วไป แต่งกายโดยเสื้อเชิ้ต หรือเสื้อทีมฟุตบอลต่างๆ สวมกางเกงขาลอย คาดเข็มขัดเอวสูงที่พุงอย่างเป็นเอกลักษณ์ พร้อมด้วยรองเท้าแตะ ที่ใส่เช่นนี้แม้กระทั่งในต่างประเทศ

เขาชอบดูฟุตบอล ถึงขนาดมีกลุ่ม “ฟุตบอลไม่เกรียน” เขียนวิเคราะห์กันในเฟซบุ๊ก

เขาเป็นนักอ่าน ชอบอ่านวรรณกรรม และหนังสือพวกนิยายกำลังภายในจีน ถึงกับแนะให้ลูกศิษย์ที่เขียนวิทยานิพนธ์ไปอ่านบ้าง เพื่อช่วยปรับภาษาให้น่าอ่านขึ้น

สุธาชัยชอบร้องเพลง วริศรา ตั้งค้าวานิช เล่าว่า ในการเดินทางไปทัศนศึกษาที่อีสานใต้ สุธาชัยชวนร้องเพลงปฏิวัติต่างๆ ชนิดแรงไม่ยอมหมด แต่นิสิตแทบสลบกันทั้งรถ จนเหล่านิสิตผู้เหนื่อยล้าต้องปฏิวัติยึดไมค์จากอาจารย์แทน ไม่เพียงแต่เพลงปฏิวัติเท่านั้น เขายังชอบเพลงสุนทราภรณ์ด้วย ถึงกับมีโครงการจะเขียนวิจัยเรื่อง “การเมืองในประวัติศาสตร์เพลงสุนทราภรณ์” ทีเดียว

แม้จะมีโรคประจำตัวหลายอย่างทั้งเบาหวานและความดัน จนจำเป็นต้องงดอาหารหวาน แต่สุธาชัยก็เป็นปุถุชนธรรมดา สุเจน กรรพฤทธิ์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งหลังคุยงานเสร็จ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาพาเขาไปเลี้ยงไอศกรีมที่สยามสแควร์ สุธาชัยกินถ้วยใหญ่ แล้วกระซิบสุเจนว่า “อย่าบอกภรรยาผมนะ” ก่อนหัวเราะลั่น ทำนองเดียวกับที่ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พบสุธาชัยที่ร้านคากิย่านเจริญกรุง

สุธาชัยเคยเล่าให้ ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์ร่วมคณะ ฟังว่า “อาจารย์บาหยัน (ภรรยา) ยอมให้มองสาว ดีกว่ามองของหวาน” ต่อมาเขาสามารถตัดสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเขาไปได้ เว้นแต่นมข้นหวานใส่กาแฟ ซึ่งเขาได้เตรียมข้ออ้างไว้หากภรรยาของเขามาพบว่า “จะโบ้ยว่าเป็นของภาวรรณ!”

 

 

ผู้เป็นที่รัก

 

สุธาชัยเป็นคนอัธยาศัยดี มีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก รู้จักผู้คนกว้างขวาง เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะร่วน และสนิทสนมกับผู้คนมากมาย

ธงชัย วินิจจะกูล เขียนถึงเพื่อนของเขาว่า “เราจะจดจำยิ้มที่พูดคุยจริงจังเคร่งเครียดในนาทีหนึ่ง และพร้อมจะระเบิดเสียงหัวเราะอย่างครื้นเครงสุดๆ ในนาทีถัดไป”

เขาเป็นที่รักของเพื่อนๆ ในยามที่นอนป่วยในโรงพยาบาล เพื่อนของเขา โดยเฉพาะกลุ่มโดมรวมใจได้ยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือในทุกทาง ทั้งในทางทุนทรัพย์และกำลังใจ ปฏิภาณ สานแสงอรุณ และ สุเทพ สุริยะมงคล ได้มาเฝ้าสุธาชัยทุกเย็นหลังเลิกงาน อันเป็นช่วงที่ภรรยาของเขาติดภารกิจ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าไม่รักกันจริง พวกผู้ชายจะไม่มาเฝ้าไข้ให้กันหรอก” มิพักต้องกล่าวถึง จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้สุธาชัยเดินทางกลับจากฝรั่งเศสมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมิตรสหายหลายคนซึ่งเป็นหมอที่ช่วยดูแลเขา

 

สุธาชัยกับเพื่อนฝูง

 

ความตายของสุธาชัยทำให้สังคมไทยสูญเสียนักเคลื่อนไหวที่มีอุดมคติสูงส่ง เป็นที่รักใคร่ของทั้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์และเพื่อนต่างความเชื่อ นักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกแวดวงวิชาการ และครูที่ศิษย์ต่างมีความเชื่อมั่นอย่างสูง[3] รวมถึงผู้ท้าทายเผด็จการ และสร้างสรรค์ประชาธิปไตยของประชาชน จนลมหายใจสุดท้าย[4]

ครอบครัวของเขาเอง กล่าวสรุปว่า ชั่วชีวิตของเขาแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่ประสบความสำเร็จในฐานเป็นผู้ที่มากด้วยมวลมิตร  สามารถหลอมรวมความคิดที่แตกต่างให้ดำรงอยู่ด้วยกันได้โดยปราศจากข้อขัดแย้ง และสามารถรักษาจุดยืนทางความคิดของตนเองเอาไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าเวลาหรือสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไป หามีผู้ใดทะลุทะลวงความมั่นคงทางจิตใจของเขาได้

 

สุธาชัย กับภรรยา (รองศาสตราจารย์บาหยัน อิ่มสำราญ) และลูกสาว

 

ความหวังยังคงอยู่

 

ก่อนจากไปด้วยโรคมะเร็ง ลลิตา หาญวงษ์ ได้ไปเยี่ยมและถามเขาว่า “อาจารย์เคยสิ้นหวังกับประเทศไหม”

“คุณเชื่อไหมว่าผมไม่เคยสิ้นหวังเลย” สุธาชัยตอบ[5]

ถ้ายืมคำของป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาใช้ ก็คงต้องกล่าวว่า พวกเราต้องแสดงความยินดีกับสุธาชัย ในความจริงที่ว่าการต่อสู้ของเขานั้นยุติลงแล้ว พวกเราคนข้างหลังต้องรับภาระหนักขึ้นอีกในการต่อสู้ และไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกันหรือไม่ก็ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ความจริงที่ว่าคุณกับผมเห็นพ้องต้องกันว่า อุดมการณ์นั้นมีค่าควรแก่การต่อสู้ แม้มองไม่เห็นชัยชนะ[6]

มีคำกล่าวว่า อย่าสนใจว่าใครคนหนึ่งตายอย่างไร หากให้สนใจว่าเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

ตลอด 61 ปีในชีวิตของเขา สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (หรือ “ยิ้ม” ของใครๆ) ได้ “เยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ” ตลอดมา กรุยทางให้พวกเราได้เห็นหนทางที่จะนำพาสังคมนี้ไปในทางที่ดีขึ้น บัดนี้ แม้จะเขาจะจากเราไปแล้ว แต่ผลงานของเขายังอยู่ และความคิดของเขา “ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”

 

ภาพปกหนังสืองานศพของเขา

 

ที่มา

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. เดินฝ่าความมืด. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ณ เมรุวัดหัวลำโพง วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2560.

เชิงอรรถ

[1] ดู คำกล่าวไว้อาลัยของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์

[2] จากนวนิยายเรื่อง เล่นกับไฟ พ.ศ. 2471

[3] คำของ ฉลอง สุนทราวาณิชย์

[4] คำของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

[5] เฟซบุ๊ก ลลิตา หาญวงษ์, โพสต์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 8.49 น.

[6] เทียบ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร,” ใน คนที่ผมรู้จัก (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2559), น. 140 -141.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save