fbpx
ประตูแดง: การย้ายออกจากสถานที่ของความทรงจำ

ประตูแดง: การย้ายออกจากสถานที่ของความทรงจำ

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่องและภาพ

 

วันที่ 24 กันยายน 2519 หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับรายงานข่าวการเสียชีวิตของชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกศศรีพงษ์ศา อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตนครปฐม และสมาชิกแนวร่วมประชาชน ทั้งสองคนออกไปติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับเข้ามาในเมืองไทยของ ‘สามเณรถนอม’ (จอมพลถนอม กิตติขจร) ก่อนจะถูกพบเป็นศพแขวนอยู่ที่ประตูเหล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลแห่งหนึ่งในย่านสามแยกกระบือเผือก ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ปัจจุบันประตูเหล็กบานดังกล่าวถูกสนิมกัดกร่อนจนเปลี่ยนสีไปตามกาลเวลา และกลายเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ประตูแดง’

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับ ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา’ ค่อยๆ ขยายตัวขึ้น ถึงแม้ว่าชุมพรและวิชัยจะไม่ได้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลาคม แต่เรื่องราวของพวกเขาก็ถูกนำมาเล่าขานกันใหม่ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง สองพี่น้อง (The Two Brothers, 2560, กำกับโดยธีรวัฒน์ รุจินธรรม และภัทรภร ภู่ทอง) ภายใต้การผลิตของโครงการบันทึก 6 ตุลา (Documentation of Oct 6) มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดดารจัดวางที่ทางในประวัติศาสตร์ของทั้งสองคนเสียใหม่ โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของเหยื่อ 6 ตุลา

สองพี่น้อง ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 24 กันยายน 2560 วันเดียวกับที่มีการพบศพชุมพรและวิชัยเมื่อปี 2519 ในงานเปิดตัวเว็บไซต์โครงการบันทึก 6 ตุลา ได้ขยายกรอบเวลาของเหตุการณ์ 6 ตุลาให้ครอบคลุมไปถึงเหยื่อแขวนคอสองรายแรก ผู้เป็นชนวนให้เกิดละครแขวนคอที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามมาด้วยการฆาตกรรมหมู่ครั้งใหญ่ที่มีผู้ถูกแขวนคออีกอย่างน้อยห้ารายในอีกสองสัปดาห์ต่อมา

43 ปีผ่านไป พื้นที่รอบประตูแดงยังคงความรกร้างว่างเปล่า เป็นทุ่งหญ้าสลับกับต้นไม้น้อยใหญ่ เจ้าของที่ดินผืนที่ประตูแดงตั้งอยู่ยังคงอาศัยอยู่ภายในรั้วที่ตัวบ้านตั้งห่างออกไป แต่ทว่า ความเปลี่ยนแปลงที่อาจมาถึงในอนาคตอันใกล้จากการตัดถนนและการสร้างหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ ในพื้นที่ นำไปสู่ความกังวลว่าประตูแดงอาจจะต้องถูกรื้อถอน กลายเป็นเศษเหล็กที่ไม่มีคุณค่า ทางโครงการบันทึก 6 ตุลาจึงตัดสินใจขออนุญาตเจ้าของที่ ทำการเคลื่อนย้ายประตูแดงเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ในฐานะวัตถุทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ

การเคลื่อนย้ายประตูแดงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เป็นความพยายามในการเก็บรวบรวมวัตถุที่เป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เป็นสมบัติสาธารณะ ปัจจุบันประตูแดงถูกเก็บรักษาไว้ในโกดังของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ โดยจะถูกนำออกมาจัดนิทรรศการชั่วคราวตามวาระ และจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยความรุนแรงของรัฐในอนาคต

“ผมคิดว่าตำรวจเป็นคนทำ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันสายเกินไปแล้ว พยานบางคนก็ตายไปแล้ว เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ถ้าเป็นฆาตกรรมธรรมดาควรจะจบในที่เกิดเหตุ ไม่เอามาประจานแบบนี้หรอก แต่นี่เขาประจานด้วย เขาทำได้ยังไง ทำแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ชุมพล ทุมไมย พี่ชายของชุมพร กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไท[1] เขาเดินทางมาจากอุบลราชธานีเพื่อมาเยี่ยมประตูแดงครั้งสุดท้ายก่อนถูกรื้อถอน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการประจานของเขา ชวนให้คิดถึงหลายกรณีที่ความรุนแรงโดยรัฐเป็นเรื่องของการประจานเพื่อข่มขู่ เพื่อทำให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง ตรงข้ามกับอีกหลายกรณีที่ศพถูกอำพรางอย่างการถ่วงน้ำหรือเผาทำลาย ศพแขวนคอเป็นความสยดสยองที่ต้องเห็น เป็นความจงใจให้ศพได้ปะทะกับสายตาของสาธารณะ ในแง่นี้ การเลือกพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่ตั้งของประตูแดงเป็นที่ลับตาคน โดยเฉพาะในยามกลางคืน แต่ก็ไม่ลึกลับจนเกินไป ศพไม่ได้ถูกหมกในพงหญ้า แต่แขวนไว้รอคอยสายตาที่จะมาเห็น…

ปัจจุบันคดีหมดอายุความ โดยไม่ได้ตัวผู้กระทำผิด 

ถึงแม้ว่าจะอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสนามหลวง หากแต่ไกลออกไปถึงอีกจังหวัดหนึ่ง การผนวกรวมชุมพรและวิชัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเหยื่อ 6 ตุลา ก็ทำให้ประตูแดงที่นครปฐมกลายเป็นวัตถุแห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำ และทำให้พื้นที่โดยรอบกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลานอกกรุงเทพฯ

ผู้เขียนมีโอกาสไปสังเกตการณ์การรื้อถอนและเคลื่อนย้ายประตูแดง และได้พูดคุยกับเจ้าของบ้าน รวมทั้งชาวบ้านในละแวกนั้นที่เข้ามาดูเหตุการณ์ ในความทรงจำของพวกเขา พื้นที่รอบประตูก็รกร้างคล้ายกันกับในตอนนี้ มีทางเดินเล็กๆ ที่ชาวบ้านใช้สัญจรในยามกลางวัน ประตูแดง ซึ่งในขณะนั้นเป็นบานเหล็กสีเทาอมฟ้า จึงน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นจุดเด่นที่สุดของพื้นที่ที่ดูแทบจะไม่มีอะไรเลย และแน่นอนว่าในยามเช้าตรู่ ศพที่แขวนอยู่บนบานประตูย่อมจะโดดเด่นปะทะกับสายตาของใครก็ตามที่ผ่านมาในยามนั้น ประตูแดงและพื้นที่รอบๆ เป็นตำแหน่งแห่งเหตุสยองขวัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเคลื่อนย้ายประตูแดงออกจากพื้นที่นำไปสู่อะไร? ในเมื่อประตูแดงคือหมุดหมายของเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นประหนึ่งอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่เพื่อเป็นเครื่องเตือนให้รำลึกถึงสองศพที่เคยถูกแขวนคออยู่ ณ ตรงนั้น การหายไปของประตูแดงจึงทำให้เรื่องเล่าที่ผูกติดอยู่กับวัตถุ (มากกว่าสถานที่ที่ไม่มีอะไรอื่นให้จดจำ) อาจค่อยๆ เลือนหายจากพื้นที่ไปด้วยตามกาลเวลา พื้นที่โดยลำพังไม่อาจบอกเล่าหรือปลุกเร้าจินตนาการให้หวนนึกถึงเหตุการณ์ใด ปราศจากประตูแดง ทุ่งหญ้าแห่งนั้นก็ไม่แตกต่างจากทุ่งหญ้าอื่นๆ เป็นท้องทุ่งว่างเปล่าทั้งในทางกายภาพและความหมาย เป็นที่ว่างที่รอคอยถนนที่จะตัดเข้ามาใหม่ รอคอยหมู่บ้านจัดสรรที่จะเข้ามาสร้างความเป็นชุมชนในอีกรูปลักษณ์หนึ่ง เรื่องเล่าขานจะกลายเป็นตำนานที่ค่อยๆ ห่างไกลออกไป

การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนย้ายประตูแดงออกไปเก็บรักษาไว้เพื่อการตั้งพิพิธภัณฑ์ในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่ควร ตรงกันข้าม การตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้องอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่อนุสาวรีย์และวัตถุอันเนื่องมาแต่ความทรงจำทางการเมืองของฝ่ายประชาชนหลายแห่งถูกรื้อถอนออกไปไม่หยุดหย่อน ความเสี่ยงของประตูแดงอาจไม่ได้มีเพียงแค่ทุนนิยมที่กำลังจะคืบคลานมาถึงท้องทุ่ง แต่รวมถึงอุดมการณ์อันเป็นปฏิปักษ์

เมื่อวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างถูกทำลาย ในระยะยาว ความทรงจำก็จะลบเลือนหายตามไปด้วย การเสียสถานะความเป็นภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ของย่านสามแยกกระบือเผือกเป็นสิ่งที่ต้องแลกกัน เพื่อที่ความทรงจำจะถูกเคลื่อนย้ายไปพร้อมกับวัตถุเพื่อลงหลักปักฐานในพื้นที่ใหม่

 

 

 

 

 

หมายเหตุ : ประตูแดงจะถูกนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกใน นิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00-17.00 น.


[1] “รื้อประตูแดงชนวนเหตุ ‘6 ตุลา’ รอแสดงนิทรรศการบันทึกความรุนแรงรัฐต่อ ปชช.” ประชาไท, เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562, เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 , https://prachatai.com/journal/2019/06/83050

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save