fbpx
‘คิดให้พ้นคุก’ เมื่อชีวิตหลังการคุมขังของผู้ต้องขังหญิงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ

‘คิดให้พ้นคุก’ เมื่อชีวิตหลังการคุมขังของผู้ต้องขังหญิงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ

กรกมล ศรีวัฒน์ เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ


หากพูดถึงการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นคดีอุกฉกรรจ์หรือคดีน้อยใหญ่ หลายคนคงให้ความสำคัญกับกระบวนการลงโทษ ทั้งการจับ ปรับ หรือจำคุก เพื่อลงทัณฑ์ผู้กระทำผิด ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในสังคม แต่แท้จริงแล้วปลายทางของชีวิตนักโทษไม่ได้อยู่จบอยู่ที่หลังลูกกรงเท่านั้น ทว่ายังต้องเผชิญการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรือนจำ รับโทษที่ก่อขึ้น และเตรียมพร้อมสู่ชีวิตที่ปราศจากโซ่ตรวน พร้อมกับเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมอีกครั้ง นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า จะทำอย่างไรให้กระบวนการฟื้นฟูและการคืนผู้ต้องขังสู่สังคมประสบความสำเร็จ ไม่มีผู้กระทำความผิดซ้ำจนต้องกลับมาอยู่ในวงจรชีวิตที่ปราศจากอิสรภาพ

เดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมาเป็นการครบรอบทศวรรษการเกิดขึ้นของข้อกำหนดกรุงเทพ (the Bangkok Rules) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลแรกที่พูดถึงประเด็นนักโทษหญิงและผู้กระทำผิดหญิง และการส่งเสริมระบบยุติธรรมทางอาญาที่มีความเสมอภาคทางเพศ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล (UNAFEI)  จึงได้จัดงานประชุมคู่ขนานออนไลน์ในหัวข้อ ‘การฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมของนักโทษหญิงและผู้กระทำผิดหญิง’ (Rehabilitation and Social Reintegration of Women Prisoners and Offenders) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) โดยมีจุดประสงค์ในการจุดประกาย  สร้างบทสนทนา และร่วมหานโยบายที่เป็นไปได้ใหม่ๆ เกี่ยวกับความท้าทายในการแก้ปัญหา แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมของนักโทษหญิงและผู้กระทำผิดหญิง ผ่านคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานจริงในกระบวนการยุติธรรม เพื่อมุ่งสู่กระบวนการยุติธรรมที่ละเอียดอ่อนและคำนึงถึงเพศภาวะ รวมถึงประสบความสำเร็จในการคืนผู้เคยก้าวพลาดสู่สังคม

ในงานประชุมเริ่มต้นด้วยการเปิดเผยรายงานใหม่ 2 ชิ้น ที่ TIJ ได้มีส่วนสนับสนุน ชิ้นแรกได้แก่ ‘Women’s Pathways Into, Through and Out of Prison’ และ ‘Research on the Causes of Recidivism in Thailand’ โดยมี ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของ TIJ เป็นผู้ดำเนินรายการ


เส้นทางนักโทษหญิงก่อน-อยู่-พ้นเรือนจำ

เวทีการประชุมเริ่มต้นที่ ดร. ซาแมนธา เจฟฟรี่ย์ (Samantha Jeffries) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ฉายภาพรวมของการฟื้นฟูและการคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงานการวิจัยที่มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ทำงานร่วมกับ TIJ ในชื่อ ‘Women’s Pathways Into, Through and Out of Prison’ ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) นักโทษหญิง 75 คนในเรือนจำ 3 แห่ง เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดผู้หญิงไทยจึงถูกคุมขัง โดยศึกษาตั้งแต่รากของปัญหาก่อนที่จะถูกคุมขัง ปัญหาที่ต้องเผชิญระหว่างการคุมขัง และภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว

“โครงสร้างทางสังคมยังคงส่งผลต่อการกระทำผิด การจำคุก ฟื้นฟูและกลับเข้าสู่สังคม” ดร. ซาแมนธากล่าว จากการศึกษาพบว่านักโทษหญิงที่กระทำความผิดมักมีภูมิหลังที่แตกต่างหลากหลาย พวกเธอมีประวัติต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรง ครอบครัวแตกแยก ถูกชายคนรักควบคุมข่มเหง ใช้ยาเสพติด ไม่ได้รับการศึกษาหรือมีการศึกษาระดับต่ำ ฐานะยากจน หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ จนผลักดันให้เกิดการกระทำความผิด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจึงควรมีแนวทางปฏิบัติที่เริ่มต้นตั้งแต่แนวทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมที่มีความเสมอภาคทางเพศและการดูแลสภาพจิตใจ

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการฟื้นฟูเมื่ออยู่ในช่วงการถูกคุมขัง ดร. ซาแมนธาอธิบายว่า ผู้ต้องขังหญิงจำเป็นต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาและการฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสหางานในอนาคต รวมถึงการบำบัดยาเสพติด การดูแลรักษาสภาพจิตใจ และการเชื่อมโยงสายใยในครอบครัวระหว่างแม่และลูกในกรณีที่ผู้ต้องขังหญิงมีลูกเล็ก เพราะผู้ต้องขังหญิงหลายคนอาจจะมีความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกห่างจากลูกเป็นเวลานาน

แม้ว่าทุกคนล้วนนับวันรอการพ้นโทษ แต่ความท้าทายที่แท้จริงอาจเกิดขึ้นหลังพ้นกำแพงเรือนจำไปแล้ว เพราะผู้ต้องขังหญิงยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติและการตีตราที่มากกว่าผู้ต้องขังชายเนื่องจากบรรทัดฐานทางสังคม จนนำมาสู่การหางานยากกว่า ผลกระทบที่เป็นลูกโซ่เช่นนี้ทำให้พวกเธอต้องวนเวียนกับปัญหาทางการเงินและไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก อีกทั้งยังจำต้องทำงานที่มีรายได้น้อย ไม่ปลอดภัย ไม่มีความก้าวหน้า และไม่มั่นคง 

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัยและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่มีประวัติการกระทำผิดยังผลักให้ผู้พ้นโทษต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จนนำมาสู่การกระทำความผิดอีกครั้ง ดร.ซาแมนธาชี้ให้เห็นถึงเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันด้วยว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้กระทำผิดหญิงเองแล้ว พวกเธอยังต้องการการสนับสนุนทางอารมณ์และความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย รวมถึงยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนชีวิตหลังการคุมขัง ผ่านการให้คำปรึกษา การปลอบประโลม ไปจนถึงการประสานงานเชื่อมต่อไปยังหน่วยบริการทางสังคมหรือสถานพยาบาล  เพื่อสนับสนุนชีวิตในช่วงที่เพิ่งพ้นโทษออกมา

ในช่วงท้าย ดร. ซาแมนธาได้สรุปและชี้ให้เห็นภาพชัดเจนถึงสภาพปัญหาของผู้ต้องขังหญิงว่า “หลายครั้งที่ผู้ต้องขังหญิงถูกจำกัดทางเลือก เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่เหนือการควบคุมของพวกเธอ”


ผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำด้วยเหตุผลต่างกัน

ฝั่ง ธีโอดอร์ เล็กเก็ตต์ (Theodore Leggett) จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งทำรายงานเรื่อง ‘การศึกษาสาเหตุของการกระทำผิดซ้ำในประเทศไทย’ (Research on the Causes of Recidivism in Thailand) ร่วมกับ TIJ โดยศึกษาผู้ต้องขัง 216 คน จากกลุ่มตัวอย่าง 31 กลุ่ม 9 เรือนจำ ใน 3 ประเทศ ทั้งไทย อัลเบเนีย และสาธารณรัฐเช็ก โดยใช้วิธีสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำอีกครั้งหลังได้รับการปล่อยตัว จากผลการศึกษาพบว่าเส้นทางการเข้าสู่เรือนจำอีกครั้งในแต่ละประเทศมีสาเหตุการกระทำผิดซ้ำต่างกัน

สำหรับประเทศอัลเบเนีย การกระทำผิดซ้ำเกิดจากปัญหาความยากจนและระบบคอร์รัปชัน ทำให้คนต้องกลับไปติดคุกอีกครั้ง เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายสินบนในระหว่างกระบวนการยุติธรรม ขณะที่สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศที่มีปัญหาหนี้ผู้บริโภคสูง ทำให้เมื่อผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวออกมาก็จะมียอดหนี้เกินกว่าที่จะชำระได้จึงตัดสินใจกระทำผิดซ้ำ ด้านประเทศไทย การกระทำผิดซ้ำเกิดจากนโยบายการควบคุมยาเสพติด

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ธีโอดอร์อ้างถึงข้อมูลในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งประเทศไทยมีนักโทษ 524 คนต่อประชากร 100,000 คน ถือเป็นหนึ่งในอัตราการจำคุกที่สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ไทยยังมีอัตราผู้ต้องขังหญิงประมาณ 14% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ดี ไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมค่อนข้างต่ำ สาเหตุการถูกคุมขังของผู้ต้องขังส่วนใหญ่จึงเกิดจากการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีผู้ต้องขังในไทยร้อยละ 80 เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด ซึ่งเมื่อลงลึกรายละเอียด พบว่าเป็นผู้ต้องขังที่เกี่ยวกับยาบ้าร้อยละ 78 และร้อยละ 10 เป็นผู้ต้องขังที่เกี่ยวกับยาไอซ์ ขณะที่ผู้ต้องหาจากการครอบครองโดยมีเจตนาที่จะเป็นผู้ขายมีสัดส่วนร้อยละ 76

สาเหตุที่ประเทศไทยมีผู้ต้องหาจากคดียาเสพติดค่อนข้างสูงเกิดจากพระราชบัญญัติเกี่ยวกับยาเสพติดในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งถือว่าการครอบครองยาเสพติด 5 เม็ดขึ้นไปเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย อีกทั้งในปัจจุบันเป็นช่วงที่ราคายาเสพติดถูกลง ชนิดที่ผู้ต้องขังบางคนกล่าวว่า “ยาบ้าถูกกว่าข้าวเสียอีก” การที่ราคายาบ้าถูกเช่นนี้ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีจำนวนยาเสพติดในครอบครองสูงเกินกว่าที่กำหนดว่าเป็นการเสพส่วนบุคคล ทำให้ถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ขายและถูกตัดสินจำคุก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาในเรือนจำประมาณ 1-5 ปี

นอกจากสาเหตุการกระทำความผิดที่แตกต่างกันแล้ว ทั้งสามประเทศยังมีความแตกต่างเรื่องคดีการกระทำผิดของผู้ต้องหาด้วย กล่าวคือผู้ต้องขังในประเทศไทยจะเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ด้านนักโทษในประเทศอัลเบเนียมักจะเป็นนักโทษคดีร้ายแรง อย่างคดีฆาตกรรมที่ต้องใช้เวลาการรับโทษค่อนข้างนาน ขณะที่นักโทษส่วนใหญ่ในสาธารณรัฐเช็กเกี่ยวข้องกับการขโมยของ การฉ้อโกง อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ทำให้ระยะเวลาการรับโทษค่อนข้างสั้น

ช่วงท้าย ธีโอดอร์ให้ความเห็นว่า กระบวนการฟื้นฟูและวางแผนเตรียมความพร้อมก่อนการพ้นโทษเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตหลังกรงขัง ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงอคติและการตีตราของผู้ที่พ้นโทษโดยยกตัวอย่างกรณีของประเทศไทยว่า หลายครั้งที่อคติและการตีตราของผู้ที่พ้นโทษผลักให้ผู้พ้นโทษเป็นคนนอกของสังคม จนหันกลับไปหาสิ่งแวดล้อมเดิมหรืองานที่ผิดกฎหมายอีกครั้งอย่างการค้ายาเสพติด

“ไม่ใช่เพราะพวกเขาชอบ หรือติดการใช้ยาเสพติด แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวพวกเขาที่ทำให้เขาพบการมีตัวตนของตัวเอง” ธีโอดอร์กล่าวถึงความรู้สึกของผู้กระทำความผิดซ้ำส่วนใหญ่ที่ต้องเผชิญการตีตราจากสังคม พร้อมทั้งทิ้งท้ายถึงความท้าทายของรัฐบาลไทยในการทบทวนมาตรการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดใหม่ โดยเฉพาะเกณฑ์การประเมินจำนวนของยาเสพติดของผู้กระทำผิดในฐานะครอบครองเพื่อจำหน่าย เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลหลักฐานในปัจจุบัน


กรณีศึกษาประเทศอาร์เจนตินา: 10 มุมมองสำหรับโปรแกรมฟื้นฟูผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ต้องขังหญิง

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกสั่งการผ่านทางสำนักงานส่วนกลางเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”

จูลิโอ ซีซาร์ เซเปดา (Julio César Cepeda) อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโส กรมราชทัณฑ์กลาง ประเทศอาร์เจนตินา และเป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนในการร่างข้อกำหนดกรุงเทพ เล่าประสบการณ์การนำหลักการของข้อกำหนดกรุงเทพไปประยุกต์ใช้ในนโยบายการปฏิบัติต่อผู้หญิงในเรือนจำ ประเทศอาร์เจนตินา โดยมีเป้าหมายในการรักษาสิทธิของบุคคลที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ และสร้างมุมมองรวมถึงเครื่องมือให้ผู้หญิงกลับสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมี 3 เป้าหมายย่อยที่ใช้ในการยกระดับมาตรฐาน คือ สนับสนุนการคืนสู่สังคมผ่านคุณภาพชีวิตที่ดีในเรือนจำและขจัดการเลือกปฏิบัติ สร้างการกระทำและโอกาสที่เท่าเทียมกันของผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงในเรือนจำ และสื่อสารความแตกต่างทางเพศสภาพผ่านกิจกรรมที่มีประโยชน์ เพื่อให้อดีตผู้ต้องขังสามารถใช้ชีวิตนอกเรือนจำได้

เมื่อลงลึกไปยังรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติ พบว่าโปรแกรมนี้ประกอบไปด้วย 10 มุมมองที่สามารถอธิบายอย่างกระชับ ได้ดังนี้

1. ให้ความสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบด้านถึงภูมิหลัง ปัญหา และความต้องการของผู้ต้องขังหญิง เพื่อเตรียมแนวทางการฟื้นฟูให้เหมาะสม

2. ลดความแออัดในเรือนจำ เพื่อช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังดีขึ้น นำไปสู่การจัดการและพัฒนาฟื้นฟูที่ง่ายยิ่งขึ้น

3. จัดทำข้อมูลพื้นฐานให้ผู้ต้องขังหญิงที่เข้าเรือนจำใหม่ และจัดทำเอกสารเกี่ยวกับขั้นตอนการเคลื่อนย้ายนักโทษ และกฎเกณฑ์ภายในของแต่ละหน่วยงาน โดยมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษสำหรับผู้ต้องขังที่ไม่รู้ภาษาสเปน เพื่อช่วยในการปรับตัวเข้าสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิง

4. เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้หญิงจะต้องรักษาสายใยในครอบครัว ส่วนฝั่งเรือนจำต้องเตรียมสถานที่เยี่ยมซึ่งมีความเป็นส่วนตัว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ครอบครัวอยู่ห่างไกลหรือชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ กรมราชทัณฑ์กลาง ประเทศอาร์เจนตินา ได้พยายามทำงานร่วมกับสถานกงสุลเพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างครอบครัวผ่านการตอบโต้ข้อความ

5. มีการจัดทำโปรแกรมดูแลสุขภาพและการวางแผนครอบครัวให้กับผู้ต้องขัง มีโปรแกรมสุขภาพครอบคลุมหญิงที่อายุเกิน 50 ปี มีโปรแกรมรักษาผู้ป่วย HIV คลินิกบำบัดผู้ป่วยนอกที่พึ่งพายาเสพติด รวมถึงศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา

6. จัดตั้งศูนย์ของมหาวิทยาลัยผ่านข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติบัวโนสไอเรส ทำให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงการศึกษา มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ พูดคุยกับนักแสดงจากภาพยนตร์ที่พวกเขาเพิ่งดู ไปจนถึงเปิดเวทีถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ 

7. ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยที่เรือนจำไม่ได้กำหนดงานที่เหมาะสมกับผู้ต้องขังหญิงอย่างตายตัว เช่น การทอผ้า การทำความสะอาด แต่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงได้ฝึกอาชีพที่หลากหลายตามความสนใจ จึงได้เห็นผู้ต้องขังหญิงที่ฝึกอาชีพก่อสร้าง การประกอบวงจรไฟฟ้า และการฝึกสุนัขเพื่ออำนวยความสะดวกผู้พิการ

8. การให้เครื่องมือที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง เรือนจำจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม (Coexistence Committee) เกิดจากการรวมตัวของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบริหารกลาง และได้เชิญตัวแทนของแต่ละภาคส่วน ซึ่งประกอบด้วยผู้ต้องขัง 1-2 คน นำข้อเสนอหรือปัญหาของพวกเขามา เพื่อมองหาวิธีร่วมกันในการรับฟังและหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขในประเด็นต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ  การดูแลเด็กเบื้องต้น สูติศาสตร์และความเชี่ยวชาญอื่น ๆ ทำให้ปัญหาทั้งหมดถูกมองผ่านการสนทนาที่เปิดกว้างและขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นภายในหน่วยงาน นอกจากนี้ ยังมีการใช้การไกล่เกลี่ยเพื่อจัดการความขัดแย้งด้วย

9. มีโปรแกรมสำหรับผู้ต้องขังชาวต่างชาติหรือผู้ต้องขังที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง และไม่สามารถพูดภาษาสเปนได้ ผ่านการทำงานเชื่อมโยงกับสถานกงสุลเพื่อติดต่อครอบครัวของพวกเขา นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับคณะกรรมการตรวจคนเข้าเมือง (National Directorate of Migration) เกี่ยวกับการเตรียมการย้ายนักโทษหลังจากรับโทษไปแล้วครึ่งหนึ่ง

10. จัดการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่ และทำงานประสานกับสถาบันหรือองค์กรอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการไกล่เกลี่ยความรุนแรงต่อผู้หญิง และป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่

นายจูลิโอทิ้งท้ายว่า หลังจากใช้แนวทางปฏิบัติดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการปรับใช้ข้อกำหนดกรุงเทพเพื่อให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศในระดับภูมิภาค ผ่านการประชุม Ibero-American โดยมีประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ สเปน เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก นิการากัว ปารากวัย โปรตุเกส สาธารณรัฐโดมินิกัน อุรุกวัยและอาร์เจนตินา ซึ่งแต่ละประเทศจะมีการปรับแนวทางปฏิบัติให้เข้ากับบริบทของประเทศตน โดยยึดตามเรือนจำของรัฐบาลกลางอาร์เจนตินา เพื่อเป็นกรอบสำหรับแนวปฏิบัติที่ดีในระดับภูมิภาค


‘บ้านกึ่งวิถี’ หนึ่งในพื้นที่ปลอดภัยหลังรั้วเรือนจำ

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

ทาเคชิ โมริคาวะ (Takeshi Morikawa) ผู้แทนจากสถาบันเอเชียและตะวันออกไกลว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Asia and Far East Institute for the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders – UNAFEI) บอกเล่าประสบการณ์และแนวทางการฟื้นฟูและกลับสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงในญี่ปุ่น โดยให้ข้อมูลว่าผู้ต้องขังหญิงในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกัน คือ เชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ไม่ไว้ใจใคร วิตกกังวล โดดเดี่ยว หรือมีภูมิหลังถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน และส่วนใหญ่จะถูกคุมขังในความผิดที่เกี่ยวกับการขโมยของ

แนวทางปฏิบัติที่ญี่ปุ่นดำเนินการคือเรื่องบ้านกึ่งวิถี (halfway house) เพื่อช่วยจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้เข้าสู่สังคมในอนาคต โดยรับเฉพาะผู้หญิง จากข้อมูลคือมีวัยรุ่นประมาณ 10% และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ปี ซึ่งนอกจากจัดหาที่อยู่แล้ว บ้านกึ่งวิถียังมีโปรแกรมการฟื้นฟูเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และโปรแกรมที่ช่วยเรื่องการกลับคืนสู่สังคมด้วย (the Reconnect Project)

หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดบ้านกึ่งวิถีจึงไม่ประสบความสำเร็จนักในประเทศไทย ซึ่ง ชลธิช ชื่นอุระ จาก TIJ ได้ช่วยเสริมและตอบคำถามว่า เหตุผลหนึ่งมาจากปัจจัยเรื่องสถานที่ตั้งของบ้านกึ่งวิถี ที่อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่มีครอบครัว


ความท้าทายในอนาคตของชีวิตผู้ต้องขังหญิง

วิทยากรคนสุดท้าย ทสิรา จันทาเรีย (Tsira Chanturia) ผู้อำนวยการภาคพื้นคอเคซัสใต้ องค์การปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International – PRI) เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการบังคับใช้และความท้าทายในการฟื้นฟูและคืนผู้ต้องขังกลับสู่สังคมในประเทศจอร์เจีย โดยหน่วยงาน PRI ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความต้องการเฉพาะของเพศหญิงและความท้าทายที่ผู้ต้องขังหญิงต้องเจอในกระบวนการยุติธรรม  โดยเฉพาะในเรือนจำ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ทสิรากล่าวถึงการทำงานพัฒนาโปรแกรมสำหรับการฟื้นฟู รวมถึงการสนับสนุนผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ ผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรเพื่อสังคมในท้องถิ่น และวิธีการแบบองค์รวม (the holistic approach) เพื่อช่วยคืนผู้ต้องขังสู่สังคมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ทสิรายังกล่าวถึงความท้าทายอันเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นการแยกขังเพื่อป้องกันโควิดและมาตรการเข้าเยี่ยมที่ค่อนข้างเข้มงวด ติดตั้งกระจกกั้นระหว่างผู้ต้องขังและผู้เยี่ยม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวโดยเฉพาะแม่และลูก เรื่องเหล่านี้จึงถือเป็นความท้าทายในการทำงานของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลดช่องว่างจากกระบวนการฟื้นฟูเดิมให้น้อยที่สุด

นอกจากความท้าทายของกระบวนการฟื้นฟูในช่วงโรคระบาดแล้ว ก่อนจะปิดการพูดคุย วงสนทนายังได้พูดถึงความท้าทายเรื่องการอบรมวิชาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบสนองต่อตลาดแรงงานนอกรั้วเรือนจำ โดยเฉพาะตลาดด้านงานดิจิทัลที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ

อ่านรายงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงในไทย และการกระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศไทย (ภาษาอังกฤษ) ฉบับเต็ม ได้ที่: Women’s Pathways Into, Through and Out of Prison
Research on the Causes of Recidivism in Thailand

#TIJ #crimecongress #UNODC #BangkokRules

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save