fbpx
#แด่คนช่างฝัน

#แด่คนช่างฝัน

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หมายเหตุ – คอลัมน์เมื่อเวลามาถึง ผู้เขียนบันทึกไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ลูกสาวอ่านในอนาคต
____________________________

 

– 1 –

 

หลายครั้งเมื่อพ่ออยู่ตรงมุมเครื่องเสียงโทรมๆ ตรงมุมบ้าน ลูกมักจะเข้ามาทำหน้าอ้อล้อแล้วขอเพลงลุงบ็อบ

ลุงบ็อบหรือบ็อบ มาร์เลย์ ศิลปินเพลงเร็กเก้ชาวจาเมกาที่ลูกชอบฟัง ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ดนตรีเร็กเก้ให้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ผลงานเพลงจากสปิริตของลุงบ็อบใช้เวลากว่า 40 ปี จึงทำให้ยูเนสโกประกาศให้ดนตรีเร็กเก้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2018

ตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของยูเนสโกระบุว่า ดนตรีเร็กเก้มีรากเหง้ามาจากประเทศจาเมกา เป็นดนตรีเพื่อการขับเคลื่อนทางสังคม ทั้งด้านความอยุติธรรม ความรัก สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ

โลกเริ่มรู้จักดนตรีเร็กเก้ที่เริ่มขยายไปทั่วแอฟริกา-แคริบเบียน ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และค่อยๆ แพร่ลามไปยังยุโรปและอเมริกา

Old pirates, yes, they rob I
Sold I to the merchant ships
Minutes after they took I
From the bottomless pit
But my hand was made strong
By the and of the almighty
We forward in this generation
Triumphantly
Won’t you help to sing
These songs of freedom?
‘Cause all I ever have
Redemption songs

เพลง Redemption song ของลุงบ็อบได้รับการขับขานจากศิลปินมากหน้าหลายตา ทั้งหญิงชายหลายเวอร์ชั่น พ่อเองยังเคยเอาไปเล่นในงานเลี้ยงที่ทำงานหนังสือพิมพ์ คนฟังก็นั่งฟังเสียงเพี้ยนๆ ของเราไป แน่ล่ะ, เพลงนี้ไม่ได้ชวนให้ใครลุกขึ้นเต้น ไม่ได้สนุก ตรงกันข้ามมันออกไปทางป่าวร้องอย่างขึงขังในท่วงทำนองอะคูสติกโฟล์คมากกว่า

อืม, ความนิยมข้ามฟ้าข้ามกาลเวลามาถึงบ้านเราจริงๆ

เพียงแต่ท่าเต้นย่อเข่าของลูกไม่ได้เหมือนที่ลุงบ็อบเต้นเท่าไหร่ ยิ่งตอนเพลง Is this love ดังขึ้นแล้วลูกเริ่มทำท่าทางชูแขนกางขา มันชวนให้คิดว่าเหมือนอุรังอุตังมากกว่า

 

– 2 –

 

‘ช็อปเปอร์’ พีรพล ภิญญศิริ แห่งวง Fyah Burning เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีเร็กเก้และบ็อบ มาร์เลย์ มาเต็มเปี่ยม

พ่อกับน้าเอ็ม เมธิชัย เตียวนะ ช่างภาพหนุ่ม มีโอกาสคุยกับเขาที่พัทยา ปลายปี 2018 หลังเทศกาลดนตรี Wonderfruit เพิ่งเลิกและเหงื่อเริ่มหมาด

เขามองว่ามนุษย์ต้องการสันติภาพในการมีชีวิตอยู่ และเพลงเร็กเก้ก็ต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงสิ่งนี้

พูดอีกแบบก็คือเพลงเร็กเก้อาจเป็นพาหนะในการพาคนไปสู่อุดมคติแบบที่คนอย่างเราๆ ต้องการ

“ผมรู้สึกว่ามันคือวิถีของการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ …มันให้มุมมองใหม่ๆ ให้โลกทัศน์ใหม่ การที่เรากลั่นกรอง วิเคราะห์ พิจารณาสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะมองเห็นมุมอื่นของสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น เวลาที่เรารู้สึกว่ามีเรื่องให้ต้องเครียดหรือต้องคิด อันดับแรก ผมจะ Give thanks for life อันดับที่สอง thinking twice อันดับที่สาม Find the light

“หัวใจของเพลงเร็กเก้คือ Rebel music Redemption music ไม่ว่าเราจะเป็นคนขาวหรือคนดำ ภายใต้เนื้อหนังแล้วเราไม่ต่างกัน” ช็อปเปอร์บีบที่ผิวแขนตัวเองแล้วบอกอีกว่า “เราต่างกันแค่สมมติภายนอก มันเหมือนการถามว่าทำไมผีเสื้อต้องทำหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้ เป็นคำถามเดียวกันว่าทำไมเร็กเก้ต้องพูดเรื่องสันติภาพ”

แต่ก็อีกนั่นแหละ ลุงบ็อบของลูกตายไปตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 1981 จนถึงวันนี้ วินาทีนี้ คนดำที่อเมริกาก็ยังถูกเหยียดหยาม

ไม่ใช่แค่ที่โลกตะวันตก แต่การเหยียดยังลามไปทั่วบ้านเมืองของเรา

เพียงแค่คนหนุ่มสาวคิดและเชื่อไม่เหมือนกับผู้มัวเมาในอำนาจ เพียงแค่มีประชาชนเคารพและศรัทธาในสิ่งที่ต่างออกไปจากโลกใบเก่า ก็มีคนพร้อมจะสาปส่งให้ไปตาย หรืออาจใช้กำลังประทุษร้ายให้ตายจริง

พ่อรู้สึกลึกๆ มาเสมอว่าเพลงบางเพลงมีพลังก็จริง ทำหน้าที่ของมันก็จริง แต่บทที่คนเราจะไม่ฟังกันแล้ว บทจะหน้ามืดตามัวกันแล้ว เสียงและความหมายเพลงก็เงียบสนิท เงียบเชียบทั้งที่เพลงยังบรรเลงอยู่

หากเรายังพอมีสติปัญญาหลงเหลือ ในความเงียบและลึกลงไป พ่อเชื่อว่าเพลงจะกลับมาสะกิดเตือนพร้อมปลุกและประโลม

 

– 3 –

 

อย่าให้ใครเขาเป็นเจ้าชีวิตเธอ… นะคนดี
เพราะเราเกิดมาในโลกแห่งเสรี
อย่าให้ใครเขาเป็นเจ้าชีวิตเธอ…นะคนดี
มองดาวบนฟ้าเราก็เป็นได้แค่ฝัน
ทุกวันไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ใจเอ๋ยใจของมนุษย์…สุดจะลึกที่จะพรรณนา

จึงอยากกู่ร้องเป็นท่วงทำนองของชีวิต
ถึงอดีตบางครั้งอย่างปวดร้าว
แม้บทเพลงที่เคยร้องรำทุกค่ำเช้า
นี่ชีวิตเราหรือใครเขาเป็นเจ้าของ

เพื่อเธอคนดีแด่คนช่างฝัน
อย่าให้มันต้องกลายเป็นฝันร้าย
มองฟ้าคืนนี้ยังมีดวงดาวดูพราวพราย
แค่อยากรู้ใครคือเจ้าของเธอ

 

เพลงแด่คนช่างฝันนั้นเป็นเพลงโฟล์คที่เรียบง่าย แต่งและร้องโดย ‘จ็อบ’ บรรจบ พลอินทร์ ศิลปินเร็กเก้ชาวตรังอีกคนที่มีผลงานให้คนฟังร้องตามได้หลายเพลง

เพลงอย่างลืมไม่ลง, ดูเธอทำ, กอดฉันไว้, แบมือ, รักติดปีก, ไร่เลย์, ปากกับใจ, พะยูน, เกาะพยาม, อยากเห็นเธอสบาย, สร้อยรัก, สุดฟ้า, Don’t Cry, กนกพงศ์, No War ฯลฯ ล้วนเล่าถึงสิ่งแวดล้อม ความรัก สันติภาพ อย่างตรงไปตรงมา

ราวปี 2007 หลังจากอัลบั้ม ‘นุ๊กกันนิคุณ’ ออกมาและมีเพลงแด่คนช่างฝันบรรจุไว้เป็นเพลงที่ 3 ของอัลบั้มซึ่งถูกเปิดผ่านสถานีวิทยุจนติดหูใครต่อใคร พ่อกับน้าแบงค์ ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพหนุ่ม นัดสัมภาษณ์เจ้าของเพลงที่บ้านเกิดริมทะเล เพื่อเอามาลงในนิตยสารฝึกหัด

ทำไมต้องเป็นเร็กเก้ เราถามอย่างคนเพิ่งเปิดหูเปิดตา เพื่อให้เจ้าของเพลงอธิบาย

“ผมว่าเร็กเก้นี่เหมาะบ้านเรา เครื่องดนตรีอะไรก็เอามาเล่นด้วยกันได้ โปงลางก็เอามาใช้ได้ ไอ้เราฟังลูกทุ่งมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าเมืองปุ๊บเริ่มมีสตริงเข้ามา หูก็เริ่มแสวงหาไปเรื่อย จนตอนที่ตัดสินใจจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพนี่แหละ ถึงมาเลือกว่าแนวไหนเป็นตัวเรามากที่สุด ก็เลยเลือกเร็กเก้เพราะมันได้อรรถรสของชีวิต

“ที่บ้านนอกเมื่อก่อน เครื่องดนตรีส่วนมากก็ใช้เคาะถัง เคาะขอนไม้กันไป อีกอย่างที่ผมชอบเร็กเก้ เพราะว่าพวกเร็กเก้จะร้อง สำเนียงฝรั่งไม่ชัด เหมือนผมพูดไทยกลางไม่ชัดนี่แหละ เอกลักษณ์ของเร็กเก้คือเสียงร้องที่เพี้ยน มันบ่งบอกความเป็นขบถ อย่างบ็อบ มาร์เลย์ เวลาเขาร้องเพลง เขาก็จะใส่ภาษาของเขาปนเข้าไปด้วย

“ผมชอบลงเรือ ไปดำน้ำ ไปดูทะเล ส่วนมากจะไปเพื่อทำกิจกรรมรณรงค์ทางสิ่งแวดล้อม จะว่าเล่นคอนเสิร์ตอย่างเดียวก็ไม่เชิง ผมพยายามเลี่ยงพวกผับบาร์ และพยายามดึงคนในเมืองให้ออกมาอยู่ตามชายหาดมากกว่า เพราะเล่นอยู่ในผับ คนฟังเขาไม่ได้อะไร ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เสียงข้างในมันอื้อ เน้นดังอย่างเดียว เราออกมาแจมกับพวกชาวเล ดนตรีพื้นบ้านดีกว่า คนฟังเขาจะได้เห็นได้ยินชัดๆ ในผับส่วนใหญ่หลายคนไม่รู้ว่าเราตั้งใจพูดเรื่องอะไร เล่นที่กรุงเทพฯ ได้ 2-3 เพลง เขาก็ขอให้เราเล่นคาราบาวแล้ว

“ป่าไม้ ทะเล อากาศ มันจะไปเหลืออะไร มีแต่คนขุดคนตัด เราทำเพลงก็อยากจะให้คนเมืองได้ฟังบ้าง ถ้าเขาได้เห็นมุมมองธรรมชาติบ้าง เขาจะมองเข้าไปในจิตใจตัวเองว่าเขาเป็นอย่างไร

“คุณลองนั่งอยู่มุมไหนสักมุมในกรุงเทพฯ เห็นแต่ตึก รถ สมองมันถูกบีบ ทุกวันนี้พื้นกรุงเทพฯ มันต่ำเกือบเท่าระดับน้ำทะเลแล้ว ยิ่งไปขุดสร้างโน่นสร้างนี่ ไม่มีการควบคุมอะไรเลย ต่อไปน่ากลัวนะ ปัญหาเก่าก็ยังเคลียร์ไม่หมด ปัญหาข้างหน้าอีกล่ะ ประเทศไทยหนักๆ ทั้งนั้นเลย แล้วคนระดับล่างเขาจะไปทางไหนได้ เหนื่อยแน่ๆ

“เสรีภาพจำเป็นกับชีวิตคน ทุกคนมีความฝัน ฝันใกล้ ฝันไกล ฝันแล้วเลือดลมมันสูบฉีด แต่ถึงแม้ว่าคุณมีความฝันแล้ว ในฝันนั้นมีใครเป็นเจ้าของหรือเปล่า เราเป็นตัวของเราเองจริงหรือเปล่า บางทีเราไม่ได้อิสระจริงๆ

“ผมมีเรื่องราวที่ต้องเจอ คุณก็ต้องเจอ และต้องเข้าใจมัน โทษตัวเองมากไปก็ไม่ได้ โทษสังคมมากไปก็ไม่ได้ ต่างคนต่างมีเหตุผลที่มาเจอกัน ถ้าเรามีความรักด้วย จะไม่มีใครลำบากกว่ากัน เพระว่าเราจะดูแลกัน ชีวิตจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเราไม่ดูแลกัน”

 

– 4 –

 

อย่าให้ใครเขาเป็นเจ้าชีวิตเธอ… นะคนดี
เพราะเราเกิดมาในโลกแห่งเสรี

สองท่อนแรกของเพลงแด่คนช่างฝันอึกทึกในความรู้สึกอีกครั้งเมื่อเสียงแห่งยุคสมัยของเราเริ่มแยกขาดจากอดีตที่พยายามฉุดรั้งและข่มเราไว้ไม่ให้ไปข้างหน้า – ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

“ให้มันจบที่รุ่นของเรา” คนหนุ่มสาวเปล่งตะโกนไม่เอาไม่ยอมรับกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ – อำนาจนิยมลุกลามกัดกร่อนจนบานปลายเกินไป

“ให้มันจบที่รุ่นของเรา” ฟังแล้วฮึกเหิมอย่างยิ่ง

แน่ล่ะ, จบไม่จบ ไม่มีใครรู้ แต่ตราบใดที่ยังฝัน และรู้ว่าใครคือเจ้าชีวิตเรา…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save