fbpx

คลี่ปม ‘เมือง’ จากโควิด พลิกวิกฤตสร้างเมืองแห่งอนาคต

วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เปิดแผล-คลี่ปมให้เราเห็นปัญหาอะไรบ้างที่ซุกซ่อนอยู่ในเมือง?

มันอาจทำให้เราเห็นปัญหาการบริหารจัดการเมืองที่เทอะทะเชื่องช้าของระบบราชการ ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในเมืองเดียวกันที่นับวันจะทวีความสาหัส ระบบคมนาคมขนส่ง แรงงาน และอีกมากมายที่ทำให้เมืองเปราะบางต่อโรคระบาด แต่เพราะเราไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของเมืองได้ คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เมืองในอนาคตสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ พร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤตใหม่ที่อาจเข้ามาท้าทาย

101 จึงตั้งวงคุยรสเข้มก่อนนอน เพื่อมองปัญหาในเมืองท่ามกลางโควิด-19 และค้นหาหนทางพลิกวิกฤตโรคระบาดให้กลายเป็นโอกาสวาดฝันถึงเมืองที่ดีกว่าเดิม ผ่านศาสตร์ทั้ง 4 แขนงและผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 คน ได้แก่

ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยผู้ใช้ systems thinking วิเคราะห์ปัญหาระบบสาธารณสุขไทย ผู้ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาโรคระบาดเชิงสาธารณสุขเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งและโรงพยาบาลไม่ใช่คำตอบของวิกฤตนี้

รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มาตอบคำถามผ่านแว่นตาผู้ประกาศตัวสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและนักบริหารจัดการเมืองว่าเราจะจัดการเมืองเพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาดอย่างไร

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) มาร่วมมองว่าจะใช้ศาสตร์แห่งการออกแบบเมืองสร้างเมืองใหม่ที่รับมือทั้งปัญหาภายในและวิกฤตใหญ่แบบไหน

สุดท้าย คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และแกนนำกลุ่ม ‘เปลือกส้ม’ สู้โควิด-19 ผู้มองว่าการใช้เทคโนโลยีจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบจะช่วยให้เมืองผ่านพ้นวิกฤตไปได้ดีขึ้น แต่การจัดการข้อมูลที่ได้ประสิทธิภาพต้องอาศัยความเชื่อมั่นทั้งของรัฐต่อประชาชนและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐ


YouTube video


เปิดปมชุมชนแออัดกลางเมืองในวิกฤตโควิด


“กรณีคลองเตยเป็นกรณีที่ดีในการทำให้เห็นว่ามายาคติบางอย่างของชนชั้นกลาง เช่นการมองว่าถ้าเราให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แยกตัวอยู่บ้านจะปลอดภัย ทำไม่ได้กับคนหลายคนในเมืองโดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ”

นพ.บวรศมเริ่มต้นสนทนาด้วยกรณีของการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดใจกลางเมืองอย่างคลองเตย ซึ่งกระแทกมายาคติของชนชั้นกลางเข้าอย่างจัง เพราะ “ให้หยุดอยู่บ้านก็อดตาย หรือต่อให้ตั้งใจจะอยู่บ้านก็ไม่มีพื้นที่มากพอให้แยกตัว”

สภาพชุมชนแออัดใจกลางเมืองจึงท้าทายต่อวิธีคิดด้านการควบคุมโรคแบบเดิมอย่างการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ และทำให้รัฐต้องคิดเผื่อคำถามที่ว่า ถ้าคนในชุมชนเหล่านี้ต้องกักตัว ครอบครัวของเขาจะอยู่อย่างไร และมีการเตรียมสถานที่ให้พวกเขาแยกกันกักตัวอย่างเพียงพอหรือไม่

“คำตอบอาจเป็นเรื่องการบูรณาการการเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้ากับเรื่องการควบคุมโรคโดยตรง” นพ.บวรศมเสนอ โดยกล่าวว่าที่ผ่านมารัฐมักแยกสองเรื่องนี้ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องรอให้โรคระบาดซาลงแล้วค่อยไปเยียวยา แต่ต้องใช้โอกาสนี้เข้าไปช่วยเหลือให้คนในชุมชนแออัดกลางเมืองอยู่ได้และสามารถกักตัวเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเขาและชุมชน นอกจากนี้ การใช้คนตกงานเป็นขุมพลังในการควบคุมโรคในพื้นที่ชุมชนของตัวเองถือว่าเป็นทั้งโอกาสในการสร้างงานให้คนในชุมชนและทำให้การควบคุมโรคง่ายขึ้นอีกด้วย “เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว”

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การมอบพื้นที่ให้คนเหล่านี้กักตัวและเยียวยาทางเศรษฐกิจเท่านั้น การเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจเชิงรุกในชุมชนแออัดก็เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนเกิดการระบาดระลอกใหญ่ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเพียงทางออกวิกฤตในระยะสั้น สำหรับทางออกวิกฤตในระยะยาว นพ.บวรศม เสนอว่า

“เราต้องใช้การคาดการณ์จากแบบจำลองเชิงระบาดวิทยาให้มากขึ้นเพื่อบริหารความเสี่ยงและทำให้เราวางแผนปรับเปลี่ยนนโยบายได้ดีพอ มากกว่าการแถลงตัวเลขจริงในแต่ละวันซึ่งอาจฉายภาพได้ไม่ครบ”

และอีกหนึ่งข้อสังเกตที่คุณหมอทิ้งท้ายไว้ คือวิธีคิดในเชิงเศรษฐกิจของเราที่ยังติด ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ (middle-income trap) ซึ่งเน้นแรงงานราคาถูกตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นแรงงานจากต่างจังหวัดหรือกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านเอง โดยแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะได้ พวกเขาจำเป็นต้องอยู่แบบแออัดหนาแน่น และหากเรายังปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ดำเนินต่อไป ปัญหาแบบที่เป็นอยู่ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ครั้งนี้เป็นโควิด-19 ครั้งหน้าอาจจะเป็นอย่างอื่นเกินกว่าที่เราจะทราบได้

“การแก้ปัญหาเชิงสาธารณสุขจึงเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น” นพ.บวรศมปิดประเด็น


เมื่อโรคระบาดท้าทายศาสตร์แห่งเมือง


ขณะที่การแก้ปัญหาเชิงสาธารณสุขอาจเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ การออกแบบและวางผังเมืองซึ่งมีโจทย์ด้านสาธารณสุขเป็นโจทย์หลักก็กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์แบบที่นิรมลเรียกว่าเป็น “Point of no return”

“โควิดกำลังท้าทายแนวคิดของเมืองที่ดีซึ่งเราสมาทานกันอยู่ตอนนี้ ทั้งหลักการ หลักเกณฑ์ มาตรฐานการออกแบบวางผังในตอนนี้ยังไม่เพียงพอสำหรับเมืองแห่งยุคหลังโควิด” นิรมลกล่าว

ไม่เพียงนักวางผังเมืองในประเทศไทย แต่นักวางผังเมืองทั่วโลกต่างก็เฝ้าสังเกตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมตั้งคำถามแห่งยุคสมัยว่า ‘ทำไมเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบการวางผังเมืองสุขภาวะถึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการระบาดของโรค’ ทั้งญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส หรือแม้แต่เยอรมัน

นั่นแปลว่าไวรัสกำลังสั่นสะเทือนแนวคิดเรื่องความหนาแน่น (Density) และ การเชื่อมต่อของเมือง (Connectivity)

เมืองที่ดีคือเมืองที่มีความหนาแน่น (Density) เป็นหลักการพื้นฐานของการสร้างเมือง เพราะความหนาแน่นย่อมหมายถึงความประหยัดในการลงทุนสาธารณูปโภค อีกทั้งยังนำมาซึ่งความมีชีวิตชีวา การพบปะสังสรรค์โอกาสในแง่เศรษฐกิจและสังคม แต่เมืองที่ยิ่งแน่น คนยิ่งเยอะ กลับเป็นจุดอ่อนในการบริหารจัดการระยะห่างระหว่างคน (proximity) จนทำให้มีผลต่อการติดโรคระบาดได้ง่าย

ส่วน การเชื่อมต่อของเมือง (Connectivity) ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงการเปลี่ยนถ่ายจุดสัญจรจากรถไฟฟ้าถึงสนามบิน ศูนย์กลางการค้าหรือแหล่งท่องเที่ยว เพราะมันคือสถานที่รวมตัวของผู้คน ทุน ทรัพยากรและความมั่งคั่ง แต่กลายเป็นว่ายิ่งเมืองมีจุดเชื่อมต่อมาก ก็ยิ่งเสี่ยงติดโรคมาก

แต่ “ไม่ว่าอย่างไรเมืองหลังโควิดก็ต้องเป็นเมืองที่หนาแน่น” นิรมลยืนยัน “เราไม่สามารถย้อนกระแสนี้ได้ แต่ที่สำคัญคือมันต้องหนาแน่นแค่ไหนอย่างไร เชื่อมต่อแค่ไหนอย่างไร และเกณฑ์มาตรฐานจะเป็นอย่างไร ตอนนี้นักวิชาการก็กำลังมองว่ามันจะหมุนไปในทิศทางไหน”

หากย้อนกลับมาดูกรุงเทพมหานคร ทั้งการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่เปราะบางหรือสร้างผังเมืองสุขภาวะก็ยังดูเหมือนเป็นเป้าหมายที่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม ชัชชาติ ได้ชวนเรามองเมืองให้ชัดขึ้นผ่าน 4 คาแรกเตอร์ของเมืองที่ทำให้ตอบคำถามได้ว่า ‘ทำไมเมืองถึงเปราะบางต่อวิกฤตการณ์โควิด’

“เมืองต้องการให้คนอยู่แน่นเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นคนจึงจำเป็นต้องอยู่ใกล้งาน” ชัชชาติแจง เพราะความจำเป็นของคนและงานนี้เองที่ทำให้เมืองหนาแน่น (Density) เชื่อมต่อติดกัน (Connectivity)  จนทำให้โรคระบาดถึงกันรวดเร็ว

คาแรกเตอร์ต่อมาคือเมืองมีความ ‘specialized’ มากขึ้น ชัชชาติยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ว่า เราทุกคนต่างก็เป็นเฟืองตัวนึงของเมือง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถเมล์ แม่บ้านหรือพนักงานรักษาความปลอดภัย หากมีใครหยุดงาน คนในเมืองจะเกิดปัญหาทันที นี่คือความ ‘specialized’ ที่ทำให้การอยู่รอดของคนเมืองทวีความยากขึ้น

“พอเมืองมีความ specialize คือต้องมีเฟืองหลายตัวในการขับเคลื่อนเมือง ดังนั้นมันจึงมีคนที่รายได้น้อยรายได้มาก มีคนที่ต้องอยู่ในพื้นที่แออัด อยู่คอนโดหรือบ้านเดี่ยว เราคงไม่มีคนที่คลาสเดียวกันหมด แต่หน้าที่ของรัฐคือดูแลให้เขาเข้าถึงโอกาสได้เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ”

ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาของเมือง แต่เป็นคาแรกเตอร์ของเมือง และการบริหารจัดการเมืองที่ดีคือหัวใจสำคัญของเมืองที่ดี เมืองที่สามารถนำทรัพยากรมากระจายและดูแลความเหลื่อมล้ำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม

ชัชชาติยังย้ำว่า วิกฤตโควิดกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเปิดแผลให้เราเห็นปัญหาการบริหารจัดการเมืองอยู่หลายข้อ เรื่องแรกคือเมืองของเราแต่สโลแกนแต่ไม่มียุทธศาสตร์ ทำให้เรารัฐต้องคอยวิ่งตามปัญหาอยู่เรื่อยๆ รอให้ปัญหาเกิดค่อยหาทางแก้ เมื่อเราไล่ตามปัญหาก็จะแก้ปัญหาได้ยาก

เรื่องที่สองคือปัญหาการทำงานร่วมกัน (synergy) ของรัฐและเอกชนเกิดขึ้นน้อยมาก นำมาสู่การที่เราไม่สามารถรวบรวมและจัดการทรัพยากรทั้งหมดของจังหวัดได้ เช่น ปัญหาเรื่องเตียงโรงพยาบาลที่โดยรวมทั้งจังหวัดมีมากกว่า 30,000 เตียงแต่ไม่สามารถนำมารวมกันบริหารจัดการได้

สุดท้ายคือเรายังขาดผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าทีมในด้านต่างๆ “เราต้องการทีมอเวนเจอร์ในแต่ละด้าน ด้านวัคซีน ด้านโลจิสติกส์ เรามีคนเก่งอยู่เยอะ แต่รูปแบบการจัดการของเมืองของประเทศเราไม่ได้ให้คนเก่งมาดำเนินการ พอไม่มีคนเก่งมานำทีมมันก็เกิดความไม่ไว้ใจขึ้น สุดท้ายเราไม่รู้จะฟังเรื่องวัคซีนจนต้องให้ดารามารีวิว” ชัชชาติอธิบาย

ความไม่ไว้ใจที่ชัชชาติกล่าวถึงนั้นกระทบถึงความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐ และความเชื่อมั่นที่รัฐมีต่อประชาชน ซึ่งทางณัฐพงษ์เสนอว่า การแก้ปัญหาคือรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงต่อประชาชน

“ผมพยายามเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเท่ากันแล้วนำไปปรับใช้ได้ ถ้าคุณเชื่อมั่นต่อประชาชน คุณจะเปิดเผยข้อมูลและประชาชนก็จะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ถูกต้อง”

ณัฐพงษ์ยกตัวอย่างการตรวจเชิงรุกในต่างประเทศ เช่นอังกฤษตอนนี้มีการส่ง Rapid Test ไปให้ประชาชนเพื่อตรวจโควิดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระจายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพและกระจายคนดำเนินการออกไป รัฐมีหน้าที่แค่อุดหนุนค่าชุดตรวจและจัดการเรื่องมาตรฐานชุดตรวจเพียงเท่านั้น แต่เท่าที่เห็น ฝ่ายบริหารในประเทศไทยยังไม่เปิดรับเรื่องนี้มากนัก เพราะอาจกังวลเรื่องการแปรผลที่ผิดพลาด

“แต่ในเชิงปฏิบัติไม่มีการตรวจใดๆ ที่ได้ผลแม่นยำ 100% แม้แต่ Real-time PCR ดังนั้นผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าวิธีการตรวจแบบไหนตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ดีที่สุด” ณัฐพงษ์เสริม และแสดงความเห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ “เป็นตัวอย่างเรื่องความเชื่อมั่นที่รัฐมีต่อประชาชน”


ออกแบบเมืองใหม่ในอนาคตยุคหลังโควิด


“กุญแจของการออกแบบเมืองหลังโควิดคือความไว้วางใจ หรือผมใช้คำว่า Trust Economy เศรษฐกิจของความไว้วางใจ” – และไม่ใช่แค่ในระดับพื้นที่เมืองเท่านั้น แต่มันต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ – ชัชชาติจุดประเด็น

ไม่ว่าในระดับ Trust Nation – เราจะทำอย่างไรให้โลกรู้ว่าสามารถไว้ใจเมืองไทยได้? จะมีมาตรการอย่างไรที่จะนำนักท่องเที่ยวกลับคืนมา และในระดับ Trust City เราจะไว้ใจเมืองกรุงเทพของเราเองได้อย่างไร? ทั้งหมดเป็นโจทย์สำคัญของการออกแบบการบริหารจัดการหลังจากนี้ โดยชัชชาติขยายความว่า หัวใจของการสร้าง Trust Economy ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ต้องมีทีมที่เก่ง มีคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน (core value) และสุดท้ายต้องมี Synergy หรือความร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน ฝ่ายวิชาการและประชาชน  

“การออกแบบเมืองในอนาคตต้องสร้างเกลียว 4 เส้นนี้ที่ประสานกัน ให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งและดึงพลังออกมา” ชัชชาติกล่าว

นอกจากการสร้างความไว้ใจต่อกันและรวมพลังกันกลายเป็น 4 ประสานอย่างที่ชัชชาติบอกแล้ว นิรมลยังเสริมว่าเมืองที่ดีควรเป็นเมืองที่ ‘Ready for crisis’ หรือควรเป็นเมืองที่ช่วยไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อโรค หากเกิดการระบาดขึ้นก็ต้องพร้อมรับมือและกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางและกลายเป็นวาระสำคัญของหลายเมือง คือ Micro mobility

“การที่เราใช้ขนส่งสาธารณะ ความใกล้ชิดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากเกิดวิกฤตขึ้นอีก คนจะต้องมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น เช่น ยานพาหนะที่มีความเร็วไม่เกิน 20-25 กม./ชม. เดินทางไกลไม่เกิน 10 กม. เช่น การปั่นจักรยานหรือการดิน”

ขณะที่อีกเรื่องที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงอย่างจริงจังคือการวางผังย่านละแวก สำหรับคนกรุงเทพมักรับรู้ความเป็นเมืองเพียง 2 ระดับ คือบ้านหรือห้องของตัวเอง และกระโดดไปที่ตัวเมือง แต่นับจากนี้ สิ่งที่เราทุกคนต้องคิดร่วมกัน คือการวางผังย่านละแวกที่เราอยู่

“ความเป็นย่านละแวกรอบบ้านจะกลับมามีบทบาทอีกครั้งในโลกหลังโควิด เพราะขณะที่เกิดโรคระบาด เมืองจะหดเหลือแค่บ้านของเรา ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ห้องหรือบ้านแต่หมายถึงย่านรอบตัว เพราะรัศมีการใช้ชีวิตของเรามันหดตัวลง ย่านละแวกจึงกลายเป็นเมือง” นิรมลอธิบาย

เมื่อย่านกลายเป็นเมืองของเรา การวางผังย่านให้เป็นย่านน่าอยู่จึงเป็นเรื่องสำคัญ นิรมลให้นิยามลักษณะของย่านที่น่าอยู่ คือ ร่มรื่น มีสาธารณูปการเพียงพอ มีพื้นที่สาธารณะ รวมถึงบริการสาธารณสุข จบครบในย่าน ความทุกข์ความสุขจึงอาจจะเฉลี่ยกันได้ในเวลาที่เกิดโรคระบาด

อย่างไรก็ดี ถึงแม้เราจะฝันถึงเมืองที่เตรียมพร้อมต่อวิกฤต มีย่านละแวกบ้านที่ดีพอต่อคุณภาพชีวิต แต่ในความเป็นจริงก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับเมืองอย่างกรุงเทพ ด้วยความที่มีขนาดใหญ่เกินไปที่จะจัดการและท้องถิ่นไม่มีอำนาจมากพอ นพ.บวรศรมจึงเสนอให้เราฝันถึงกรุงเทพที่เล็กลง

“กรุงเทพเป็นโครงสร้างที่ใหญ่มากสำหรับการดูแลความเป็นอยู่ของผู้คน ดังนั้นกรุงเทพต้องเล็กกว่านี้โดยการซอยย่อยเป็นเทศบาลนครเล็ก ๆ โซนหนึ่งอยู่แถวฝั่งธน โซนหนึ่งอยู่กรุงเทพเหนือ อีกโซนคือย่านเมืองเก่าหรือย่านธุรกิจ ซึ่งมันอาจจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนได้แตกต่างกัน”

อีกประเด็นน่าสนใจซึ่งถูกหยิบยกมากล่าวถึงโดยณัฐพงษ์คือการออกแบบเมืองที่ตอบสนองความต้องการของคนเมือง เขาเล่าว่าต่างประเทศมีการออกแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการเมืองเพื่อให้เมืองสามารถตอบสนองความต้องการคนได้อย่างสูงสุดโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เช่น มหานครปารีสได้จัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมจากประชาชน ในแต่ละปีงบประมาณจะมีการแบ่งงบประมาณกว่า 10% หลักหลายพันล้านบาทมาให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าอยากทำโครงการอะไรหรือพัฒนาสิ่งไหน ผ่านแพลตฟอร์มที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม

“การสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมลักษณะนี้จะทำให้ทุกคนรู้สึกว่านี่เป็นบ้านเราเมืองเรา แล้วทุกคนจะอยากรักษา ไม่ใช่เราอยู่แต่ในบ้าน ดูเฉพาะบ้านเรา ออกจากบ้านก็ขับรถ ไม่ได้ดูส่วนไหนของเมือง ผ่านไปอีกทีก็ถึงที่ทำงานเลย”

นอกจากการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อเมืองของตน ณัฐพงษ์ยังเสนอไกลไปถึงการสร้างฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียเวลาแจ้งข้อมูลทุกครั้งที่ทำธุรกรรมกับราชการ โดยเขาเสนอว่าสิ่งแรกที่รัฐควรทำคือควบคุมมาตรฐานกลาง เช่นในประเทศเอสโตเนียมีการบัญญัติกฎหมาย Public Information act หรือพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อคอยคัดกรองการของบประมาณจัดซื้อจัดจ้างระบบสารสนเทศของรัฐว่าเป็นการสร้างฐานข้อมูลที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ หากซ้ำกัน สิ่งที่หน่วยงานต้องทำคือการบูรณาการรวมกันกับข้อมูลชุดเดิม เช่น ข้อมูลทะเบียนราษฎร์

“ถ้าแก้ปัญหาถูกจุด ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่การพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่มันจะค่อยๆ เข้ามา ระบบเก่าที่ล้าสมัยจะค่อยๆ ตายไป ระบบใหม่ๆ ก็จะเข้ามา แต่ว่ากฎหมายปัจจุบันมันยังเห็นไม่ชัด” และถ้าทำได้ จะไม่ใช่แค่การยกเครื่องเปลี่ยนเมืองใหม่ แต่ยังทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นจริงและเป็นไปได้ ณัฐพงษ์สรุป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save